เรียบง่าย สงบงามตามแบบวิถีพุทธ “Slow City” ที่ลำพูน

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 19 ตุลาคม 2018.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    0b988e0b8b2e0b8a2-e0b8aae0b887e0b89ae0b887e0b8b2e0b8a1e0b895e0b8b2e0b8a1e0b981e0b89ae0b89ae0b8a7.jpg
    ในห้วงยามแห่งเหมันต์ฤดูเช่นนี้ เป็นเวลาของการท่องเที่ยวได้ดียิ่งนัก ไม่เพียงแต่อากาศที่หนาวเย็นเย้ายวนให้ผู้คนพากันออกเดินทางเข้าหาธรรมชาติกันมากขึ้น ทว่าสภาพป่าในเหมันต์ฤดูก็ดูสดชื่นสบายตาด้วยแมกไม้พากันออกดอกสีสวยระลานตาสร้างสีสันให้กับผืนป่า 988e0b8b2e0b8a2-e0b8aae0b887e0b89ae0b887e0b8b2e0b8a1e0b895e0b8b2e0b8a1e0b981e0b89ae0b89ae0b8a7-1.jpg หากใครที่มีเวลาว่างในช่วงวันหยุด ด้วยไม่รู้จะออกไปเที่ยวไหน ผมขอแนะนำว่าลองขับรถไปเที่ยวเมืองลำพูน ซึ่งในช่วงเวลานี้ลำพูนได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวและพักผ่อนที่เหมาะที่สุดสำหรับผู้รักความสงบ หลีกหนีจากความวุ่นวายของเมืองใหญ่ ปั่นจักรยาน เที่ยวชมวิถีชีวิตอันสงบเรียบง่าย แวะไหว้พระสำคัญคู่บ้านคู่เมืองลำพูน อิ่มบุญอุ่นใจ ภายใต้สโลแกน “Slow City”ลำพูน เมืองเล็ก ๆ แต่แฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมล้านนามายาวนานหลายร้อยปี เมืองแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในอาณาจักรล้านนา เมืองลำพูน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1439 ถือได้เป็นเมืองที่ตั้งขึ้นก่อนเมืองอื่นในอาณาจักรล้านนา เมื่อมาเที่ยวลำพูน นักท่องเที่ยวต้องแวะไปนมัสการองค์พระธาตุหริภุญชัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองโดยใช้เส้นทางรถจักรยาน เริ่มต้นจากแวะนมัสการอนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี ผู้สร้างเมืองลำพูนก่อนปั่นจักรยานไปตามเส้นทางสายตะวันตก ลำพูน-สันป่าตอง ถึงวัดจามเทวี ซึ่งวัดนี้มีภาพวาดประวัติการก่อสร้างนครหริภุญชัยภายในพระวิหารหลวง ซึ่งเป็นวิหารหลังสุดท้ายที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สร้างไว้ในปี พ.ศ.2479 ก่อนที่ท่านจะมรณะภาพ ภายในวัดจามเทวีมีเจดีย์ “กู่กุด” หรือ “สุวรรณจังโกฏเจดีย์” ตำนานกล่าวว่า พระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์


    แห่งเมืองหริภุญชัย โปรดให้สร้างพระบรมธาตุสุวรรณจังโกฏ พร้อมทั้งได้สถาปนาวัดจามเทวี ส่วนเอกสารบางแห่งกล่าวว่า พระราชโอรสของพระนางจามเทวี คือ เจ้ามหันตยศและเจ้าอนันตยศ โปรดให้สร้างวัดจามเทวีขึ้นเพื่อถวายพระเพลิงพระศพของพระนางจามเทวีและภายหลังจากถวายพระเพลิงพระศพของพระนางจามเทวีแล้ว จึงโปรดให้สร้างเจดีย์เหลี่ยมมียอดหุ้มด้วยทอง เรียกชื่อว่า “สุวรรณจังโกฏ”
    988e0b8b2e0b8a2-e0b8aae0b887e0b89ae0b887e0b8b2e0b8a1e0b895e0b8b2e0b8a1e0b981e0b89ae0b89ae0b8a7-2.jpg ออกจากวัดจามเทวีเดินทางต่อไปนมัสการพระรอดหลวงที่วัดมหาวัน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่คนลำพูนให้ความเคารพศรัทธา จากวัดมหาวัน ปั่นจักรยานไปตามถนนเลียบสันเหมืองจนถึงวัดพระคงฤาษี วัดนี้ถือเป็นวัดที่สำคัญอีกวัดหนึ่งของลำพูน เป็นวัดที่ประดิษฐานพระคง ซึ่งเป็นพระเครื่องชื่อดัง
    ตำนานเมืองลำพูนกล่าวไว้อีกว่า เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จขึ้นครองเมืองหริภุญชัยแล้ว พระองค์จึงได้ชักชวนอาณาประชาราษฏร์ให้ร่วมกันสร้างพระอารามใหญ่น้อยเพื่อถวายแด่พระรัตนตรัย ทั้งยังเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ที่มาจากกรุงละโว้ ซึ่งวัดต่างที่พระนางจามเทวีได้ทรงสร้างขึ้นมีอยู่ 5 วัด ได้แก่
    988e0b8b2e0b8a2-e0b8aae0b887e0b89ae0b887e0b8b2e0b8a1e0b895e0b8b2e0b8a1e0b981e0b89ae0b89ae0b8a7-3.jpg วัดอรัญญิกรัมมาราม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ปัจจุบันคือวัดดอนแก้วรวมกับวัดต้นแก้ว
    วัดมูลการาม อยู่ทางทิศใต้ คือวัดกู่ละมัก (ลมักกัฏฐะ) ปัจจุบันคือวัดรมณียาราม
    วัดอาพัทธาราม อยู่ทางทิศเหนือ ปัจจุบันคือวัดพระคงฤาษี
    วัดมหาลดาราม อยู่ทางทิศใต้ ปัจจุบันคือวัดประตูลี้
    วัดมหาวนาราม อยู่ทางทิศตะวันตก ปัจจุบันคือวัดมหาวัน

    เมื่อสร้างวัดขึ้นทั้ง 5 วัดแล้ว พระนางจามเทวีก็ได้สร้างพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ทั้ง 5 วัด ส่วนวาสุเทพฤาษีและสุกกทันตฤาษี จึงได้มาปรารภกันว่าเมืองหริภุญชัยนครนี้มีสตรีเป็นเจ้าผู้ครองนคร ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีข้าศึกมารุกราน ทั้งสองจึงได้ปรึกษาหารือที่จะสร้างเครื่องลางของขลังไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชารักษาบ้านเมืองและเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารและอาณาประชาราษฏร์ จึงได้ผูกอาถรรพ์ไว้ตรงใจกลางเมืองแล้วจัดหาดินลำพูนทั้ง 4 ทิศพร้อมด้วยว่านอีกหนึ่งพันชนิดและเกสรดอกไม้มาผสมเข้าด้วยกันกับเวทย์มนต์ คาถา จากนั้นคลุกเคล้ากันจนได้ที่จัดสร้างพระพิมพ์ขึ้น 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเรียกว่า “พระคง” เพื่อความมั่นคงของนครหริภุญชัยอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “พระรอด” เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็สุมไฟด้วยไม้มะฮกฟ้าหรือป่ารกฟ้า เป็นเวลานาน 7 วัน 7 คืน แล้วจึงนำพระ
    คงที่เผาแล้วไปบรรจุไว้ที่วัดพระคงฤาษี นำพระรอดไปบรรจุไว้ที่วัดมหาวัน

    ออกจากวัดพระคง มุ่งหน้าไปแวะนมัสการ “กู่ช้าง กู่ม้า” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอีกแห่งหนึ่ง กู่ช้าง หรือ ศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง โบราณสถานที่ชาวลำพูนให้ความเคารพสักการะ ด้วยความเชื่อที่ว่า “กู่ช้าง” เป็นเจดีย์บรรจุซากช้างพลายคู่บารมีของพระนางจามเทวีที่มีฤทธิ์ในการทำศึก ดังนั้นเมื่อมีเหตุต้องเดินทางไกลชาวบ้านจึงมักมากราบไหว้ขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ช่วยปกป้องคุ้มครอง กระทั่งปัจจุบันกู่ช้างได้กลายมาเป็นที่พึ่งทางใจของชาวลำพูนในการบนบานช่วยให้สอบได้ หรือแม้แต่ขอให้สมหวังในสิ่งที่คิดไว้
    988e0b8b2e0b8a2-e0b8aae0b887e0b89ae0b887e0b8b2e0b8a1e0b895e0b8b2e0b8a1e0b981e0b89ae0b89ae0b8a7-4.jpg ลักษณะของกู่ช้างเป็นสถูปที่มีรูปทรงแปลกแตกต่างไปจากสถูปที่พบเห็นโดยทั่วไปในภาคเหนือ เพราะเป็นสถูปทรงกลมตั้งอยู่บนฐาน 3 ชั้น องค์สถูปมีลักษณะเป็นทรงกระบอกปลายมน (ทรงลอมฟาง) เหนือสถูปขึ้นไปมีแท่นคล้ายบันลังก์ของเจดีย์ ตามประวัติและความเป็นมากล่าวว่า เมื่อสมัยของพระนางจามเทวีพระองค์ทรงมีช้างคู่บารมีชื่อ “ผู้ก่ำงาเขียว” เป็นช้างที่มีฤทธิเดชมาก เมื่อช้างเชือกนี้หันหน้าไปทางศัตรูก็จะทำให้ศัตรูอ่อนกำลังลงทันที ช้างผู้ก่ำงาเขียวเชือกนี้ มีบทบาทในฐานะช้างศึกของเจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ เมื่อครั้งทรงออกศึกสงครามต้านทัพของหลวงวิรังคะ

    จนกระทั่งช้างเชือกนี้ล้มลงซึ่งตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 เหนือ เจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศจึงได้นำสรีระของช้างใส่ลงไปในแพไหลล่องไปตามลำน้ำกวง แต่พระองค์ก็ได้ทรงเปลี่ยนพระทัยที่จะนำสรีระของช้างกลับขึ้นมาฝังบนฝั่ง เพราะว่าช้างเชือกนี้เป็นช้างศักดิ์สิทธิ์คู่บุญบารมีของพระนางจามเทวี หากว่าปล่อยให้ล่องลงไปกับแพแล้ว จะทำให้ประชาชนที่อยู่ทางทิศใต้ลงไปได้รับความเดือดร้อน จึงได้อัญเชิญร่างของช้างลากกลับขึ้นมายังบริเวณท่าน้ำวัดไก่แก้ว แล้วลากมาฝังไว้ที่บริเวณกู่ช้างในปัจจุบัน

    จากกู่ช้าง ปั่นจักรยานต่อไปยังวัดพระยืน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองลำพูน วัดพระยืนในอดีตเคยรุ่งเรืองมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมืองหริภุญชัย ด้วยวัดพระยืนเป็นวัดสำคัญทางทิศตะวันออกของเมืองมีบ้านเรือนศรัทธาผู้อุปฐากประมาณ 70 หลังคาเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา พระภิกษุที่จำพรรษาที่วัดนี้ส่วนใหญ่มาจากถิ่นอื่นเพื่อพำนักศึกษาเล่าเรียน

    โบราณสถานที่สำคัญในวัดพระยืนได้แก่เจดีย์วัดพระยืน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1606 สมัยพระเจ้าอาทิตยราช ซึ่งพระองค์ได้หล่อพระมหาปฏิมากรทองสัมฤทธิ์สูง 18 ศอกแล้วอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระยืน ต่อมาปี พ.ศ.1912 พระยากือนา กษัตริย์นครพิงค์เชียงใหม่ ได้นิมนต์พระสุมณะเถระจากเมืองสุโขทัยมาจำพรรษาที่วัดพระยืน จากนั้นจึงได้ก่อสร้างพระพุทธรูปยืนเป็นศิลาแลงขนาดเท่าองค์เดิมขึ้นอีก 3 องค์ และต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2447 พระคันธวงศ์เถระ (ครูบาวงศ์) ภายหลังที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูศีลวิลาศ เจ้าคณะจังหวัดลำพูนพร้อมด้วยเจ้าหลวงอินทยงยศ เจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ก่อสร้างสถูปที่พังทลายแล้วแต่องค์พระปฏิมากรสมัยที่พระเจ้าอาทิตยราชและพระสุมณะเถระกับพระยากือนาสร้าง 4 องค์นั้นยังอยู่ การก่อสร้างขึ้นใหม่ได้ก่อหุ้มพระปฏิมากรทั้ง 4 องค์เดิมไว้ภายในและได้สร้างก่อสร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่อีก 4 องค์

    ออกจากวัดพระยืนมุ่งหน้าสู่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร พระอารามหลวง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัย หนึ่งในแปดจอมเจดีย์ที่สำคัญของประเทศ สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าอาทิตยราช (ราชวงศ์รามัญ) ซึ่งครองเมืองหริภุญชัยราว พ.ศ.1590 เพื่อให้เป็นหลักฐานแห่งความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา พระเจ้าอาทิตยราชทรงเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา ตอนแรกได้สร้างเป็นมณฑปขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุสูง 3 วา มีซุ้มทั้ง 4 ด้าน ครอบโกศทองคำสูง 3 ศอก บรรจุพระธาตุไว้ภายใน เมื่อมาถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ โปรดให้เสริมพระบรมธาตุสูงขึ้นอีกเป็น 23 วา เอาทองจังโกฏก์ (ทองแดงปนนาคทำเป็นแผ่น) หุ้มตลอดทั่วทั้งองค์ตั้งแต่ฐานถึงยอด สิ้นทองจังโกฏก์ 15,000 แผ่น

    ในสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว ได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระมหาธาตุนี้อีกได้เรี่ยไรเงินจากชาวบ้านได้ 225,000 บาทเอาไปซื้อทองแดงและทองคำแผ่นหุ้มบุองค์พระเจดีย์ จนกระทั่งถึง พ.ศ.2348 พระเจ้ากาวิละจึงโปรดให้เจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น) และเจ้าศรีบุญมา ผู้น้องนำบริวาร 1,000 คนและครอบครัวไปตั้งที่เมืองลำพูน ซึ่งเป็นเมืองร้างเนื่องจากถูกพม่าเข้าครอบครองเป็นเวลากว่า 200 ปี จากนั้นจึงได้มีการบูรณะองค์พระธาตุนี้เรื่อยมาเป็นไงบ้าง จากข้อมูลทั้งหมดลองแวะมาเที่ยวเมืองลำพูน ปั่นจักรยานไปไหว้พระสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองในช่วงวันหยุดสิ้นปีนี้ที่ลำพูน รับรองได้ว่าอิ่มบุญอุ่นใจตามแบบวิถีพุทธ ส่วนใครที่ไม่อยากไปไหนอยากพักผ่อนอยู่กับบ้านก็ขอให้มีความสุขในวันหยุดพักผ่อนกันนะครับ

    บทความโดย
    จักรพงษ์ คำบุญเรือง



    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/824916
     

แชร์หน้านี้

Loading...