เรื่องเด่น โอวาทปาติโมกข์ มาฆบูรณมีบูชา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 17 กุมภาพันธ์ 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    0b8b2e0b895e0b8b4e0b982e0b8a1e0b881e0b882e0b98c-e0b8a1e0b8b2e0b886e0b89ae0b8b9e0b8a3e0b893e0b8a1.jpg
    มาฆบูชา ย่อมาจาก มาฆปุณณมีบูชา หรือ มาฆบูรณมีบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน 3

    วันเพ็ญเดือน 3 นี้เป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนา คือเป็นวันที่พระพุทธองค์ประทานโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมพระสาวก ซึ่งประกอบด้วยองค์ 4 ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต เพื่อให้พระสาวกเหล่านั้นมีหลักการร่วมกันในการประกาศพระศาสนา คือสั่งสอนธรรมแก่ประชาชนตามท้องถิ่น บ้านเมือง และประเทศต่างๆ ทั่วไป

    การประชุมเช่นนี้มีครั้งเดียวในศาสนานี้ เป็นการประชุมครั้งสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ การประชุมครั้งสำคัญที่สุดในสมัยพุทธกาลที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาตนี้ได้มีขึ้น ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงใกล้กรุงราชคฤห์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ เริ่มแต่ตะวันบ่ายก่อนค่ำของวันเพ็ญเดือน 3 ในปีแรกที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือหลังจากวันตรัสรู้ไป 9 เดือน

    คำว่า โอวาทปาติโมกข์แปลว่า โอวาทที่เป็นประธานหรือคำสอนที่เป็นหลักใหญ่หมายถึงธรรมที่เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา สาธุชนนิยมเรียกโอวาทปาติโมกข์นี้ว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา

    ความในโอวาทปาติโมกข์ แบ่งออกเป็น 3 ตอน พระพุทธองค์ตรัสเรียงลำดับกันเป็น 3 คาถาครึ่ง

    คาถาแรกว่าด้วยความอดทน คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธะทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่ายอดเยี่ยม ผู้ทำร้ายผู้อื่น เป็นบรรพชิตไม่ได้ทีเดียว ผู้เบียดเบียนผู้อื่น เป็นสมณะไม่ได้

    คาถาที่สองว่าการไม่ทำบาปทั้งปวง ๑ การยังกุศลให้ถึงพร้อม ๑ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑ นี่คือคำสั่งสอนของท่านผู้ตรัสรู้แล้วทั้งหลาย

    คาถาที่สามว่าการไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑

    นี่คือคำสั่งสอนของท่านผู้ตรัสรู้แล้วทั้งหลาย

    ความในคาถาแรก พระพุทธเจ้าตรัสเพื่อแสดงหลักการและแนวทางที่เป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้สามารถแยกจากลัทธิศาสนาที่พระพุทธศาสนาไม่ยอมรับ

    ตอนแรกที่ตรัสว่า ความอดทนคือทานไว้ยืนหยัดอยู่ได้เป็นตบะอย่างยิ่ง พระองค์ตรัสเพื่อแสดงให้เห็นว่า การบำเพ็ญตบะของนักบวชทั้งหลายที่นิยมทรมานตนเองด้วยวิธีการต่างๆ นั้น ไม่ใช่เป็นวิธีการเผาผลาญบาปชนิดที่พระพุทธศาสนายอมรับ สาระสำคัญของตบะที่พระพุทธเจ้า ทรงยอมรับหรือตบะที่ถูกต้อง ก็คือ ขันติธรรม ความอดทนที่จะดำเนินตามมรรคาที่ถูกต้องไปจนถึงที่สุด มีความเข้มแข็งทนทานอยู่ในใจ ดำรงอยู่ในหลักปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น ไม่ระย่อท้อถอย

    สิ่งที่จะพึงอดทน ที่สำคัญ คือ

    1.ความเหนื่อยยากลำบากตรากตรำในการปฏิบัติกิจหน้าที่การงาน รวมทั้งความหนาวร้อน หิวกระหาย และสิ่งรบกวนก่อความไม่สบายต่างๆ

    2.ทุกขเวทนา เช่น ความเจ็บปวดเมื่อยล้า ความเสียดยอกระบม บาดเจ็บที่เกิดแก่ร่างกายในยามป่วยไข้ เป็นต้น

    3.อาการกิริยาท่าทีวาจาของผู้อื่น ที่กระทบกระทั่งหรือไม่น่าพอใจ เช่น ถ้อยคำที่เขาพูดไม่ดี เป็นต้น

    ความอดทน อดกลั้น หรืออดได้ทนได้หมายถึงการยอมรับได้ต่อสิ่งกระทบกระทั่งหรือไม่สบายฝืนใจเหล่านั้น ไม่ขึ้งเคียดขัดเคือง ไม่แสดงอาการผิดปกติสามารถดำรงไมตรีคงอยู่ในเมตตา หรือรักษาอาการอันสงบมั่นคงในการทำกิจหรือบำเพ็ญกุศลธรรมทำความดีงามสืบต่อไป

    ในหลายถิ่นและหลายยุคสมัย มนุษย์ทั้งหลายอดไม่ได้ ทนไม่ได้แม้ต่อการที่มนุษย์กลุ่มอื่นพวกอื่นมีความเชื่อถือ สั่งสอน และปฏิบัติกิจพิธีตามประเพณีนิยมและ ลัทธิศาสนารวมทั้งอุดมการณ์ที่แตกต่างจากตน มนุษย์เหล่านั้นไม่สามารถสัมพันธ์กันด้วยวิธีการแห่งปัญญา เช่น พูดจากันด้วยเหตุผลจึงทำให้เกิดการขัดแย้งทะเลาะวิวาทตลอดจนสงครามมากมาย

    การขาดขันติธรรมได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ หากมนุษย์ปฏิบัติตามหลักโอวาทปาติโมกข์ข้อแรกนี้ก็จะช่วยให้โลกดำรงอยู่ในสันติ และมนุษย์แต่ละพวกนั้นก็มีโอกาส พัฒนาชีวิตและสังคมของตนไปสู่ความดีงามที่สูงขึ้นไป

    ตอนที่สองที่ตรัสว่า พระพุทธะทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่า ยอดเยี่ยมนั้น ตรัสเพื่อชี้ชัดลงไปว่าจุดหมายของพระพุทธศาสนาคือ นิพพาน อันได้แก่ความดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงได้ หรือความเป็นอิสระหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลสคือ โลภะ โทสะ และโมหะ ไม่ใช่สวรรค์ ไม่ใช่การเข้ารวมกับพระพรหมผู้เป็นเจ้า เป็นต้น

    ตอนที่สามที่ตรัสว่า ผู้ทำร้ายผู้อื่น เป็นบรรพชิตไม่ได้ทีเดียว ผู้เบียดเบียนผู้อื่นเป็นสมณะไม่ได้ นี้ตรัสเพื่อแสดงลักษณะของนักบวชในพระพุทธศาสนา คือชี้ให้เห็นว่า ความเป็นสมณะหรือนักบวช มิใช่อยู่ที่การประกอบพิธีกรรมเป็นเจ้าพิธีหรืออยู่ที่ความศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์สามารถบันดาลผลให้แก่คนที่อ้อนวอนปรารถนา มิใช่อยู่ที่การบำเพ็ญตบะประพฤติเข้มงวด หรือการปลีกตัวออกไปอยู่ในป่าในเขาตัดขาดจากผู้คน มิใช่อยู่ที่การทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง คอยบอกแจ้งข่าวสารและความต้องการระหว่างสวรรค์กับหมู่มนุษย์ แต่อยู่ที่ความเป็นผู้ไม่เบียดเบียน ไม่ก่อความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่ใครๆ มีแต่เมตตากรุณา บำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งปวง พูดสั้นๆ ว่า นักบวชหรือพระภิกษุสงฆ์ในความหมายของพระพุทธศาสนา คือเครื่องหมายของความไม่มีภัย เป็นสัญลักษณ์แห่งความร่มเย็นปลอดภัย และการชี้นำมรรคาแห่งสันติสุข

    ความในคาถาที่สาม พระพุทธองค์ตรัสเพื่อเป็นหลักความประพฤติและการปฏิบัติตน หรือหลักปฏิบัติในการทำงาน สำหรับผู้ที่จะไปประกาศพระศาสนา หมายความว่า ทรงวางระเบียบในการไปสั่งสอนธรรมแก่ประชาชน ว่าผู้สอนต้องเป็นผู้ไม่กล่าวร้าย ต้องเป็นผู้ไม่ทำร้าย คือ ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ไม่ว่าด้วยกายหรือวาจา มีวจีกรรมและกายกรรมบริสุทธิ์สะอาด พูดและทำด้วยเมตตากรุณา มีความสำรวมในพระปาติโมกข์คือประพฤติเคร่งครัดในระเบียบแบบแผน รู้จักประมาณในภัตตาหาร ที่นอนที่นั่งก็ให้สงบสงัดเหมาะแก่สมณะ คือ ต้องไม่เห็นแก่กินแก่นอน และต้องมีใจแน่วแน่ เข้มแข็งไม่ท้อถอยฝึกอบรมจิตใจของตนอยู่เสมอ

    รวมความว่าไปทำงานก็ให้ไปทำงานจริงๆ ทำงานเพื่องานมุ่งประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ใช่ไปหาความสุขสนุกสบาย

    เนื้อความ 3 คาถาของโอวาทปาติโมกข์นี้ แสดงให้เห็นวิธีสั่งงานของพระพุทธเจ้า การที่พระองค์ทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนานั้น ก็คือพระองค์ส่งพระสาวกให้ไปทำงาน ความจริงพระองค์เคยส่งพระสาวกออกไปแล้ว 2 รุ่น

    รุ่นแรกเป็นพระอรหันต์ล้วน มีจำนวน 60 องค์ รุ่นที่สองเป็นพระอริยบุคคลชั้นเสขภูมิคือ ยังไม่เป็นพระอรหันต์มีจำนวน 30 องค์ พระองค์ทรงส่งไปอย่างธรรมดา คือ ตรัสสั่งเพียงว่า “จงจาริกไปประกาศพระศาสนา เพื่อประโยชน์และความสุขของพหูชน” และลงท้ายว่า “เพื่อเมตตาการุณย์แก่ชาวโลก” มิได้มีพิธีการพิเศษแต่อย่างใด แต่ในการซักซ้อมงานคราวนี้พระสาวกมีจำนวนมากถึง 1,250 องค์ซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่และครั้งสำคัญ พระองค์จึงทรงสั่งงานอย่างชัดเจน และละเอียดถี่ถ้วน พระองค์ทรงสั่งงานอย่างนี้ศาสนาของพระองค์จึงแพร่หลายไพศาลอย่างรวดเร็ว และยั่งยืนอยู่อย่างมั่นคงจนทุกวันนี้

    โอวาทปาติโมกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการสั่งงาน เพราะในการสั่งงานนั้น ถ้าผู้สั่ง สั่งให้ชัดลงไปว่า ทำอะไร เพื่ออะไร ทำอย่างไร ดังนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติย่อมปฏิบัติสะดวก และงานก็จะสำเร็จเป็นผลดีตามความมุ่งว่า ทำอะไร เพื่ออะไร ทำอย่างไร ดังนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติย่อมปฏิบัติ สะดวก และงานก็จะสำเร็จเป็นผลดีตามความมุ่งหมายเสมอ

    จากหนังสือ ความรู้เกี่ยวกับวันสำคัญของไทย โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

    ขอขอบคุณที่มา
    https://mgronline.com/daily/detail/9620000016808
     
  2. Norawon

    Norawon สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 กุมภาพันธ์ 2018
    โพสต์:
    197
    ค่าพลัง:
    +208
    สาธุครับ
     
  3. NuchabaGreenmonkeys

    NuchabaGreenmonkeys สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    54
    ค่าพลัง:
    +132
    น้อมกราบสาธุ
     

แชร์หน้านี้

Loading...