เรื่องเด่น ทำไม!?..พระพุทธเจ้าถึงให้พระเทวทัตบวช ทั้งที่รู้ว่าจะทำสังฆเภท

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 5 มิถุนายน 2019.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,487
    ถามเรื่องโปรดให้ พระเทวทัตบรรพชา


    NhofljQFzcCYSqgZuZFsS-b_uuaHIOWeTCDwmkPSSTuKWkL6GO-Bf2PHXIhQSLEWjt4kMv_Q&_nc_ht=scontent.fnak1-1.jpg


    “ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า พระตถาคตเจ้าเป็นผู้มีพระมหากรุณา เป็นผู้แสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นผู้อนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลายอย่างนั้นหรือ”?”
    “อย่างนั้น มหาบพิตร”

    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระเทวทัต ใครบวชให้ ขอจงว่าไปตามจริง ?”

    “ขอถวายพระพร สมเด็จพระชินวรเจ้าทรงบวชให้พร้อมกับ พระภัททิยะ พระอนุรุทธ พระอานนท์ พระภัคคุ พระกิมพิละ พระอุบาลี ”

    “ข้าแต่พระนาคเสน พระเทวทัตบวชแล้วจึงทำสังฆเภทได้ เพราะคฤหัสถ์ หรือภิกษุณี นางสิกขมานา สามเณร สามเณรี ทำสังฆเภทไม่ได้ ทำได้แต่เฉพาะภิกษุ ผู้เป็นภิกษุอยู่ตามปกติ ยังร่วมกับสงฆ์ได้อยู่ อยู่ในเสมาอันเดียวกันกับสงฆ์เท่านั้น”

    “ถูกอย่างนั้น มหาบพิตร พระเทวทัต บวชแล้วจึงทำสังฆเภทได้”

    พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุล่วงหน้า
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทำสังฆเภทได้รับกรรมอย่างไร?”

    “ขอถวายพระพร ผู้ทำสังฆเภทต้องตกนรกอยู่ตลอด ๑ กัป”

    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระตถาคตเจ้าทรงทราบหรือไม่ว่า พระเทวทัตบวชแล้วจักทำสังฆเภท แล้วจักไปตกนรกอยู่ตลอดกัป ?”

    “ขอถวายพระพร ทรงทราบ”

    พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสต่อไปว่า

    “ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าทรงทราบ คำที่ว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีพระมหากรุณาแสวงหาประโยชน์ โปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น ก็ผิดไป ถ้าไม่ทรงทราบ พระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่พระสัพพัญญู

    ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ มีสองแง่ ได้มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแก้ไขให้สิ้นสงสัย พระภิกษุมีความรู้ดังพระผู้เป็นเจ้า ในภายหน้าโน้นจักหายาก ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงกำลังปัญญาของพระผู้เป็นเจ้าไว้”

    ทรงใช้วิธีผ่อนหนักเป็นเบา

    “ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าเป็นผู้มีพระมหากรุณาจริง เป็นพระสัพพัญญูจริง เป็นพระสัพพัสสาวี คือเห็นทุกสิ่งจริง เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงเล็งดูคติของพระเทวทัตด้วยพระสัพพัญญุตญาณ อันประกอบด้วยพระมหากรุณา ก็ได้ทรงเห็นว่า

    พระเทวทัตถ้าเป็นคฤหัสถ์ ก็จักทำบาปกรรมอันจักให้ไปตกนรก เกิดเป็นเปรต อสุรกาย เดรัจฉาน หลายกัป และทรงทราบว่า กรรมของพระเทวทัตไม่มีที่สิ้นสุด

    แต่เมื่อพระเทวทัตได้บรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็จักมีที่สิ้นสุดได้ เมื่อได้บรรพชาแล้ว ก็จักทำกรรมเพียงให้ตกนรกอยู่ ๑ กัป เท่านั้น ทรงเห็นอย่างนี้ จึงโปรดให้พระเทวทัตบรรพชา ด้วยอำนาจพระมหากรุณา”

    “ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้น ก็เป็นอันว่า พระตถาคตเจ้าทุบตีพระเทวทัตแล้วทาน้ำมันให้ ผลักให้ล้มแล้ว ดึงแขนให้ลุกขึ้น ฆ่าแล้วชุปชีวิตให้ เพราะให้ทุกข์ก่อนแล้วจึงให้สุขต่อภายหลัง”

    อุปมามารดาบิดาลงโทษบุตร

    “ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าทรงทำอย่างนั้นจริง ข้อนี้ควรทราบด้วยอุปมา เหมือนมารดาบิดาเฆียนตีบุตรแล้ว ให้ประโยชน์ทีหลังฉันใด พระตถาคตเจ้าก็ทรงทำฉันนั้น

    พระเทวทัตถ้าไม่ได้บรรพชา ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ ก็จักทำบาปกรรม อันจักให้ไปตกนรกอยู่หลายแสนกัป

    เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงทราบอย่างนี้ จึงได้ทรงพระกรุณาให้บรรพชา ได้ทรงทำทุกข์หนักให้เป็นทุกข์เบา ด้วยทรงเล็งเห็นว่า เมื่อพระเทวทัตได้บรรพชาในศาสนาของเราแล้วทุกข์ก็จักมีที่สิ้นสุด”

    อุปมาบุรุษผู้มีอำนาจ

    “มหาราชเจ้า เปรียบประดุจบุรุษผู้มีกำลังทรัพย์ ยศ ศักดิ์ ญาติวงศ์ รู้ว่าญาติหรือมิตรจะต้องได้รับพระราชอาญาหนัก ก็ช่วยให้เบาตามความสามารถของตนได้ฉันใด

    สมเด็จพระจอมไตรทรงทราบว่า พระเทวทัตจะได้รับทุกข์อยู่หลายแสนกัป จึงให้บรรพชาช่วยให้หนักเป็นเบา ด้วยอำนาจศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณฉันนั้น”

    อุปมาเหมือนหมอผ่าตัด
    “อีกอย่างหนึ่ง หมอผ่าตัดย่อมผ่าตัดโรคที่หนัก ๆ ออกเสียทำให้เบาลง ด้วยอำนาจยาอันแรงกล้าฉันใด

    พระพุทธเจ้าผู้ทรงเห็นว่า พระเทวทัตจะได้รับทุกข์หนักอยู่หลายแสนกัป จึงโปรดให้บรรพชาทำทุกข์หนักให้เป็นทุกข์เบาด้วยกำลังยา คือพระธรรม อันประกอบด้วยพระมหากรุณาฉันนั้น

    ขอถวายพระพร เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงทำพระเทวทัตผู้จะได้ทุกข์มาก ให้ได้รับทุกข์น้อย จะได้บาปอย่างใดอย่างหนึ่งหรือ ?”

    “ไม่ได้บาปอย่างใดเลย พระผู้เป็นเจ้า”

    “ขอถวายพระพร เหตุการณ์ข้อนี้ มหาบพิตรจงรับไว้ตามความจริงว่า พระพุทธเจ้าได้โปรดให้พระเทวทัตบรรพชา เพราะทรงพระมหากรุณาแท้ ๆ”

    อุปมาเหมือนผู้จับโจร

    “อีกประการหนึ่ง เมื่อมีผู้จับโจรมาถวาย พระราชอาญา พระราชาก็ตรัส สั่งให้นำไปตัดศีรษะ แต่มีผู้ที่ได้รับพรจากพระราชาทูลขอชีวิตไว้นั้น จะได้บาปอย่างไรหรือ ?”

    “ไม่ได้บาปอย่างไรเลย พระผู้เป็นเจ้า”

    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือพระพุทธเจ้า ทรงพระกรุณาให้พระเทวทัตบรรพชาด้วยทรงพิจรณาเห็นว่า

    เมื่อพระเทวทัตได้บรรพชาแล้ว กรรมของพระเทวทัตก็จักมีที่สิ้นสุด ในเวลาที่พระเทวทัตจะถึงมรณะ ก็ได้เปล่งวาจานับถือพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งด้วยคำว่า

    “ข้าพเจ้าขอนับถือพระพุทธเจ้า ผู้เป็นบุคคลอันล่ำเลิศ ผู้เป็นวิสุทธิเทพยิ่งกว่าเทพยดาทั้งหลาย ผู้ฝึกฝนบุคคลที่ควรฝึกฝน ผู้มีพระจักษุรอบพระองค์ ผู้มีลักษณะแห่งบุญอันคุณด้วย ๑๐๐ ด้วยกระดูกของข้าพระเจ้า ที่ยังมีลมหายใจอยู่อีก” ดังนี้

    ดัวยอานิสงส์เพียงเท่านี้
    “ขอถวายพระพร กัปที่ยังเหลืออยู่นี้ แบ่งออกเป็น ๖ ส่วน พระเทวทัตได้ทำสังฆเภทในส่วนแรก จักไปตกนรกอยู่ตลอด ๕ ส่วน พ้นจากนรกแล้ว จักได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า “อัฏฐิสสระ”

    ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าผู้ทรงทำอย่างนี้ ได้ชื่อว่าทรงทำสิ่งที่ควรทำต่อพระเทวทัตแล้วหรือ ?”

    “ข้าแต่พระนาคเสน พระตถาคตเจ้าผู้ทรงทำอย่างนี้ ชื่อว่าทรงประทานสิ่งทั้งปวงแก่พระเทวทัตแล้ว ข้อที่พระตถาคตเจ้าได้ทรงทำให้พระเทวทัต ได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านี้ ขื่อว่าได้ทรงทำสิ่งทั้ปวงให้พระเทวทัตแล้ว ไม่มีอะไรที่จะได้ชื่อว่า ไม่ได้ทรงกระทำ”

    “ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าจะได้บาป เพราะเหตุที่พระเทวทัตทำสังฆเภทแล้วไปทนทุกข์อยู่ในนรกบ้างหรือ ?”

    “เปล่าเลย พระผู้เป็นเจ้า เพราะพระเทวทัตไปตกนรกด้วยกรรมของพระเทวทัตเอง พระพุทธเจ้าจะได้บาปมาแต่ไหน”

    “ขอถวายพระพร แม้เหตุการณ์ดังนี้ ก็ขอมหาบพิตรจงทรงรับเถิดว่า พระพุทธเจ้าได้ให้พระเทวทัตบรรพชาด้วยพระมหากรุณาแท้ ”

    อุปมามารดาบิดาผู้ให้กำเนิด

    “ขอมหาบพิตร จงทรงสดับเหตุการณ์ให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก คือมารดาบิดาทำให้บุตรเกิดขึ้นมาแล้ว ก็กำจัดปัดเป่าสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เสีย มีแต่ทำให้เป็นประโยชน์ ทำให้บุตรเติบโตขึ้น

    แต่เมื่อบุตรเติบโตขึ้นแล้ว บุตรก็ได้ทำบาปกรรมไว้ มารดาบิดาจะพลอยได้รับบาปกรรม ที่บุตรกระทำนั้นหรือไม่ ?”

    “ไม่ได้เลยรับเลย พระผู้เป็นเจ้า มารดาบิดาผู้เลี้ยงบุตรให้เติบโตขึ้นนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีอุปการคุณมากแท้ แต่บุตรจักได้รับโทษแห่งบาปกรรมที่เขาทำด้วยตนเองต่างหาก”

    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พระพุทธเจ้าก็เสมอกับมารดาบิดา ที่ได้ให้พระเทวทัตบรรพชา ก็เพราะทรงพระมหากรุณา เหตุอันนี้ขอจงทรงรับเถิดว่า พระพุทธเจ้าให้พระเทวทัตบรรพชาด้วยพระมหากรุณาแท้”

    อุปมาหมอรักษาแผล
    “ขอมหาบพิตร จงทรงสดับเหตุการณ์ให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก คือเหมือนอย่างว่าหมอผ่าตัดจะรักษาแผล อันเต็มด้วยบุพโลหิต มีรูอยู่ข้างใน มีลูกศรฝั่งอยู่ อันเป็นที่ไหลออกแห่งของเปื่อยเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้ง

    ต้องชำระล้างปากแผลอ่อนดีแล้ว จึงตัดด้วยมีดแล้วจี้ด้วยซี่เหล็กแดง แล้วราดด้วยน้ำด่างอันแสบเค็ม แล้วทายา แล้วเนื้อที่แผลก็งอกขึ้น แผลก็หายเป็นลำดับไป

    จึงขอถามมหาบพิตรว่า จะว่าแพทย์ผ่าตัดนั้น ไม่มีจิตเมตตาหรืออย่างไร ?”

    “ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า แพทย์ผ่าตัดนั้น เป็นผู้มีจิตรเมตตาแท้ทีเดียว”

    “ขอถวายพระพร ทุกขเวทนาอันเกิดแก่ผู้บาดเจ็บนั้น ด้วยการรักษาของหมอมีอยู่ หมอนั้นจะได้บาปอย่างไรหรือไม่ ?”

    “ไม่ได้บาปอย่างใดเลย ผู้เป็นเจ้า มีแต่จะได้บุญไปสวรรค์”

    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือพระพุทธเจ้าได้โปรดให้พระเทวทัตบรรพชา ด้วยทรงพระมหากรุณา เพื่อปลดเปลื้องพระเทวทัตให้พ้นทุกข์ จึงไม่ได้บาปอะไร”

    อุปมาผู้ถูกหนามตำที่เท้า
    “ขอมหาบพิตร จงทรงสดับเหตุการณ์ให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก คือเปรียบประดุจบุรุษคนหนึ่งถูกหนามปักเข้าไปที่เท้า หรือโดนหลักตอ

    มีบุรุษคนหนึ่งมุ่งจะให้บุรุษนั้นสุขสบายจึงบ่งด้วยหนามอันแหลม หรือด้วยมีดแหลม ๆ แล้วชักหนามหรือตอนั้นออก ทั้งที่มีโลหิตไหลอยู่ จะว่าบุรุษผู้ชักหนามหรือตอออกนั้น ไม่มีจิตเมตตาหรือ ?”

    “ว่าไม่ได้เลย พระผู้เป็นเจ้า เพราะบุรุษนั้นมุ่งให้มีความสวัสดีแท้ ๆ ถ้าเขาไม่ช่วยนำหนามหรือตอนั้นออก บุรุษนั้นก็จะต้องถึงซึ่งความตาย หรือถึงซึ่งทุกข์แทบประดาตาย ”

    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือถ้าพระพุทธเจ้าไม่โปรดให้พระเทวทัตบรรพชา พระเทวทัตก็จะต้องไปไหม้อยู่ในนรกหลายแสนกัป”

    พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า

    “ข้าแต่พระนาคเสน เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงช่วยพระเทวทัต ผู้ไหลไปตามกระแสน้ำ ให้ไหลทวนขึ้นมาเหนือน้ำ ผู้ถึงซึ่งความวิบัติ ให้ถึงซึ่งความเจริญ ผู้ตกไปในเหว ให้ขึ้นจากเหว ผู้เดินทางผิด ให้มาเดินทางถูก

    ข้าแต่พระนาคเสน เหตุการณ์เหล่านี้ ไม่มีบรรพชิตอื่นจะชี้บอกให้เห็นได้ นอกจากผู้มีความรู้ดี ดังพระผู้เป็นเจ้านี้เท่านั้น”

    ฏีกามิลินท์
    ข้อที่ว่า “พระเทวทัตจักไปตกนรกอยู่หลายแสนกัปนั้น” คือพระเทวทัตไม่ได้บรรพชาในพระพุทธศาสนา ก็จักเป็นมิจฉาทิฏฐิ อันมีโทษหนักยิ่งกว่าสังฆเภท เพราะมิจฉาฏิฐินั้น ต้องตกนรกอยู่หลายแสนกัป

    ยิ่งเป็นอัจจันตมิจฉาทิฏฐิ คือเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนักด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่มีกำหนดว่าจะพ้นจากนรกเมื่อใด จักเป็นหลักตออยู่ในนรกหากำหนดมิได้

    คำว่า “ พระเทวทัตทำสังฆเภทแล้วไปตกนรกอยู่ตลอด ๑ กัปนั้น ” หมายถึง อันตรกัป คือกัปในระหว่างกัปใหญ่เท่านั้น ไม่ใช่หมายเอาตลอดกัปใหญ่ (กัปหนึ่ง ๆ แบ่งเป็น ๖๔ อันตรกัป)

    เมื่อพระนาคเสนเถระแก้ปัญหาข้อนี้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว ก็มีเทวดาตั้งแต่ภูมเทวดาขึ้นไปจนถึงชั้นอกนิฏฐพรกมโลก (พรหมชั้น ๑๖ ) เปล่งเสียงสาธุการ ดอกไม้ทิพย์ในสวรรค์ก็ตกลงมาบูชา

    พระเจ้ามิลินท์กับข้าราชบริพารทั้งหลายพร้อมกันประนมมือสาธุการ สรรเสริญว่า ยกพระสารีบุตรเถระเสียแล้ว ไม่มีผู้อื่นจะมีปัญญาเสมอเหมือนพระนาคเสน

    เมื่อพระนาคเสนกลับไปแล้ว พระเจ้ามิลินท์ก็สร้างวัดถวาย ชื่อว่า “ มิลินทวิหาร ” แล้วถวายปัจจัย ๔ แก่พระภิกษุทั้งหลายทุกวันไป

    ที่มา http://larnbuddhism.com/




    ขอบคุณที่มา
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 5 มิถุนายน 2019
  2. mrmos

    mrmos Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2016
    โพสต์:
    1,190
    ค่าพลัง:
    +1,095

แชร์หน้านี้

Loading...