สานต่อบูรณะ ‘วัดสุวรรณดาราราม’ มรดกล้ำค่ากรุงศรีอยุธยาสืบ ‘รัตนโกสินทร์’

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 30 พฤศจิกายน 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    0b89ae0b8b9e0b8a3e0b893e0b8b0-e0b8a7e0b8b1e0b894e0b8aae0b8b8e0b8a7e0b8a3e0b8a3e0b893e0b894e0b8b2.jpg
    ที่มา เสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน
    ผู้เขียน พรรณราย เรือนอินทร์
    เผยแพร่ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2562

    ท่ามกลางผืนแผ่นดินแห่งประวัติศาสตร์อันมากมายด้วยโบราณสถานงดงามล้ำค่าเป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติ ‘วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร’ คือหนึ่งในอารามสำคัญยิ่งต่อในยุคกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องกรุงรัตนโกสินทร์ เหตุเพราะประวัติความเป็นมา ถือเป็นวัดต้นบรมราชวงศ์จักรี ด้วยผู้สร้างคือพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

    ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ภายในเกาะเมืองทางทิศใต้ ใกล้ป้อมเพชร มีพื้นที่ 71 ไร่ 3 งาน ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนการค้าชาวจีน ย่านเศรษฐกิจสำคัญของกรุงศรีอยุธยา

    ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478

    อารามแห่งนี้ เดิมชื่อวัดทอง สร้างโดยสมเด็จพระปฐมบรมชนก พระนามเดิมว่า ‘ทองดี’ ตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา

    ในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวถึงการสร้างวัดแห่งนี้ว่า

    “ครั้งหนึ่งพระบรมมหาไปยกาธิบดีพร้อมด้วยความคิดพระบรมมหาไปยิกาธิบดี ท่านทั้งสองมีศรัทธาบริจาคทรัพย์สร้างอารามแห่งหนึ่งในกำแพงพระนครที่ใกล้เคหนิวาศน์ฐาน เสร็จแล้วตั้งนามว่า วัดสุวรรณดาราราม”

    ครั้นกรุงศรีอยุธยาพ่ายแก่พม่าเมื่อพุทธศักราช 2310 วัดแห่งนี้ถูกปล่อยให้ทิ้งร้างเกือบ 2 ทศวรรษ กระทั่งรัชกาลที่ 1 สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์อารามแห่งนี้ทั้งหมดเมื่อ พ.ศ.2328 โดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้า) ทรงเข้าร่วมด้วยพร้อมทั้งยกนิวาสสถานเดิมหลังป้อมเพชรให้เป็นเขตวัดและขุดคลองผ่านกำแพงเมืองจากหน้าวัดทางแม่น้ำป่าสักเข้าถึงหน้าพระอุโบสถเพื่อความสะดวกของภิกษุสงฆ์ และโปรดให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘วัดสุวรรณดาราราม’ นับแต่นั้นมา

    89ae0b8b9e0b8a3e0b893e0b8b0-e0b8a7e0b8b1e0b894e0b8aae0b8b8e0b8a7e0b8a3e0b8a3e0b893e0b894e0b8b2-1.jpg
    จิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีน้ำมัน ถ่ายทอดพระราชประวัติ “สมเด็จพระนเรศวรฯ” อย่างโดดเด่นทั้งเทคนิค วัสดุ และเรื่องราวจากฝีมือพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ในสมัยรัชกาลที่ 7

    พระอุโบสถงดงาม บอกเอกลักษณ์ศิลปะยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลายด้วยฐานแอ่นโค้งอย่าง ‘ท้องสำเภา’ ซุ้มประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นลงรักปิดทองร่องกระจก หน้าบันประกับด้วยไม้สักจำหลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค ใบเสมาคู่แบบกรุงเก่ารายรอบพระอุโบสถ

    ส่วนพระวิหารอีกทั้งเจดีย์ประธานทรงระฆัง สร้างขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    จิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารโดดเด่นแปลกตาด้วยพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ กระทั่งทรงกระทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แห่งหงสาวดี รวม 21 ตอน ฝีมือมหาเสวกตรี พระยาอนุศาสตร์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

    วัดสุวรรณดาราราม ได้รับการปฏิสังขรณ์เรื่อยมาในทุกรัชกาลแห่งราชจักรีวงศ์

    89ae0b8b9e0b8a3e0b893e0b8b0-e0b8a7e0b8b1e0b894e0b8aae0b8b8e0b8a7e0b8a3e0b8a3e0b893e0b894e0b8b2-2.jpg
    ภาพเก่าท่าน้ำหน้าวัดอันงดงามในความทรงจำ

    กระทั่งระหว่าง พ.ศ.2547-2548 ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) สนับสนุนงบประมาณกว่า 19 ล้านบาทเพื่อบูรณะโบราณวัตถุสถานในวัดแห่งนี้เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปีการก่อตั้ง กรมศิลปากรได้ปรับปรุง ซ่อมแซมหลังคาพระอุโบสถ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน อีกทั้งส่วนประกอบสถาปัตยกรรมอื่นๆ นอกจากนี้ ได้เสริมความมั่นคงให้ผนัง กำแพงแก้ว รวมถึงใบเสมาที่รายล้อมบอกเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

    ส่วนพระวิหารซึ่งเคยบูรณะมาก่อนแล้วโดยความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้อนุรักษ์และเพิ่มเติมส่วนที่ขาดหายให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการบูรณะส่วนอื่นๆ ของวัดอย่างงดงามดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ อาทิ จิตรกรรมฝาผนัง,เจดีย์ประธาน,เจดีย์ราย,กำแพงวัด,พื้นที่ทางเดินโดยรอบ อีกทั้งทำการขุดค้นซึ่งทำให้พบโบราณวัตถุต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องถ้วยจีนและส่วนประกอบสถาปัตยกรรม มีรายละเอียดและภาพสวยงามใน ‘หนังสือที่ระลึกวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา’ ตีพิมพ์เผยแพร่หมาดๆ เมื่อเดือนตุลาคม 2562

    89ae0b8b9e0b8a3e0b893e0b8b0-e0b8a7e0b8b1e0b894e0b8aae0b8b8e0b8a7e0b8a3e0b8a3e0b893e0b894e0b8b2-3.jpg
    ภาพถ่ายเก่าพระอุโบสถวัดสุวรรณดาราราม อารามสำคัญในย่านการค้าชาวจีนใกล้ป้อมเพชร

    ล่วงมาถึงวันนี้ มีการตระเตรียมการบูรณะปฏิสังขรณ์อีกครั้ง โดยมีการระดมสรรพกำลังทางความคิดไปเมื่อช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ วัดสุวรรณดาราราม โดยมี พระเทพปฏิภาณวาที แห่งวัดสุทัศนเทพวราราม นั่งเป็นประธาน พร้อมด้วย พระมหาเวชยันต์ เวชยนฺโต ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน), อนุรุทธ บูรณพงศ์ กรรมการมูลนิธิวัดสุวรรณดาราราม อีกทั้ง หน่วยงานราชการในพื้นที่ อาทิ ประดับ โพธิกาญจนวัตร ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา พระนครศรีอยุธยา, ทศพร ศรีสมาน ผอ.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ในฐานะผู้แทนผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา, ชนิดา กันภัย ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, นริศรา จันทร์อี่ และ ภานุพงษ์ แพ่งกุล จาก ททท.สำนักงานพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีภาคเอกชนในท้องถิ่น อย่าง ดลหทัย ธารีสืบ แห่งร้านก๋วยเตี๋ยวผักหวานอันเลื่องชื่อ

    งานนี้ ‘มติชน’ ซึ่งร่วมกับมูลนิธิ ดร.โกวิทย์ วรพิพัฒน์ และบรรจง พงศ์ศาสตร์ ดำเนินโครงการแบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง ต่อเนื่องยาวนาน รับเป็นสื่อกลางในการประสานเมื่อ กฤตย์ รัตนรักษ์ หัวเรือใหญ่ ‘ช่อง 7’ มีดำริสนับสนุนการบูรณปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้

    89ae0b8b9e0b8a3e0b893e0b8b0-e0b8a7e0b8b1e0b894e0b8aae0b8b8e0b8a7e0b8a3e0b8a3e0b893e0b894e0b8b2-4.jpg
    การร่วมหารือและลงพื้นที่เพื่อวางแผนการบูรณะตามดำริของ กฤตย์ รัตนรักษ์ หัวเรือใหญ่ “ช่อง 7” โดย “มติชน” เป็นสื่อกลางประสานร่วมด้วยภาคส่วนต่างๆ
    89ae0b8b9e0b8a3e0b893e0b8b0-e0b8a7e0b8b1e0b894e0b8aae0b8b8e0b8a7e0b8a3e0b8a3e0b893e0b894e0b8b2-5.jpg
    ประชุมครั้งแรกเมื่อศุกร์ที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี พระเทพปฏิภาณวาที แห่งวัดสุทัศนเทพวราราม นั่งเป็นประธาน พร้อมด้วย พระมหาเวชยันต์ เวชยนฺโต ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมด้วยหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

    บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่น พร้อมเดินหน้าวางแผนตามหลักวิชาการ ซึ่งไม่เพียงให้ความสำคัญกับโบราณวัตถุสถานภายในวัด หากแต่ยังเห็นพ้องกันว่า ‘ภูมิทัศน์’ คือสิ่งสำคัญที่ไม่อาจละเลย

    ความสะอาด เส้นทางน้ำ คูคลอง ต้นไม้ใบหญ้า ต้องได้รับการเอาใจใส่ เพื่อเสริมให้อารามอันงดงามแห่งนี่งามสง่ายิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน การประชาสัมพันธ์ข้อมูล ความรู้สู่สังคมก็ต้องดำเนินควบคู่

    เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญในการธำรงไว้ ซึ่งมรดกล้ำค่าจากอดีตกาลเพื่อรังสรรค์ปัจจุบันที่งดงามและเดินหน้าสู่อนาคตอย่างมั่นคง

    89ae0b8b9e0b8a3e0b893e0b8b0-e0b8a7e0b8b1e0b894e0b8aae0b8b8e0b8a7e0b8a3e0b8a3e0b893e0b894e0b8b2-6.jpg
    เส้นทางน้ำบริเวณหน้าวัด ซึ่งเห็นพ้องกันว่าควรดูแลความสะอาด ขุดลอก ปรับภูมิทัศน์ให้กลับมาร่มรื่นเย็นฉ่ำ

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_1774940
     

แชร์หน้านี้

Loading...