ศิษย์กับอาจารย์โต้กันเรื่องนรกสวรรค์

ในห้อง 'ภพภูมิ-สวรรค์ นรก' ตั้งกระทู้โดย Mdef, 18 มิถุนายน 2021.

  1. Mdef

    Mdef เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 มีนาคม 2017
    โพสต์:
    1,367
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +1,869
    IMG_0310.JPG
     
  2. Mdef

    Mdef เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 มีนาคม 2017
    โพสต์:
    1,367
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +1,869
    ขณะที่ท่านอธิบายธรรมเกี่ยวกับเปรต ผี นรก สวรรค์ เป็นต้น มีอาจารย์องค์หนึ่งที่เป็นศิษย์ท่าน เรียนถามท่านขึ้นว่า... เมื่อคนทั้งโลกไม่รู้ไม่เห็นบาป เห็นบุญ เห็นนรกสวรรค์ ตลอดเห็นเปรต เทวบุตร เทวดา ครุฑ นาค และวิญญาณที่เป็นภพละเอียดยิ่ง แต่ท่านอาจารย์สามารถรู้เห็นได้เพียงองค์เดียวทั้งที่คนอื่นไม่รู้ไม่เห็นด้วย

    ท่านอาจารย์จะอธิบายให้คนรู้เห็นด้วยไม่ได้บ้างหรือ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าและพระสาวกท่านเวลาเห็นแล้วยังนำมาสั่งสอนโลกได้ เช่น บาป บุญ นรก สวรรค์ เป็นต้น ล้วนเป็นธรรมชาติที่พระองค์รู้เห็นแล้วนำมาสอนโลกทั้งสิ้น ไม่เห็นใครปรับโทษพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่าน นี่ก็เข้าใจว่าจะไม่มีท่านผู้ใดจะมาปรับโทษท่านอาจารย์ นอกจากเขาจะอนุโมทนาสาธุกับท่านอาจารย์เท่านั้น เช่นเดียวกับพวกกระผมเชื่อและอัศจรรย์ความรู้ความสามารถของท่านอาจารย์อยู่เวลานี้

    ท่านอาจารย์ตอบว่า... ผมยังไม่ได้คิดว่าจะพูดอย่างท่านขอร้อง แต่ผู้ขอร้องคือท่านจะหาเรื่องบ้ามาฆ่าตัวท่านและผมก่อนแล้ว ถ้าผมพูดตามความเห็นท่าน ท่านก็เป็นบ้าคนที่หนึ่ง ผมก็คือบ้าคนที่สอง ผู้ฟังที่นั่งอยู่ด้วยกันนี้ก็จะเป็นบ้าคนที่สามที่สี่ จะเป็นบ้าไปด้วยกันทั้งวัด แล้วจะมีวัดบ้าที่ไหนให้พวกเรา ซึ่งเป็นบ้ากันหมดทั้งวัดอยู่ล่ะ ศาสนาออกจากท่านผู้รอบคอบ แสดงไว้ด้วยความรอบคอบ เพื่อปฏิบัติด้วยความรอบคอบ รู้ด้วยความรอบคอบ และพูดด้วยความรอบคอบ แต่การพูดพล่ามไปดังท่านนี้จะจัดว่ารอบคอบหรือจัดว่าพวกบ้าน้ำลาย ท่านลองพิจารณาดูซิ ผมว่าเพียงคิดขึ้นเท่านั้นก็เริ่มคิดเรื่องบ้าอยู่แล้ว มิหนำยังจะขืนพูดออกมา ถ้าโลกทนฟังได้โลกไม่แตก ผู้พูดผู้ฟังเหล่านี้ก็ดีแตกและบ้าแตกหาโลกอยู่ไม่ได้แน่ ๆ

    การพูดดังที่ท่านคิดนั้นท่านมีเหตุผลอะไรบ้าง ท่านลองคิดดู แม้แต่สิ่งที่เห็น ๆ รู้ ๆ กันอยู่ทั่วไป เขายังรู้จักวิธีปฏิบัติว่าควรอย่างไรไม่ควรอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับเหตุการณ์สถานที่และความนิยมของคนในยุคนั้น ๆ ธรรมแม้จะเป็นความจริงเหนือสิ่งใด แต่ยังอาศัยโลกผู้เกี่ยวข้องกับธรรมอยู่ ซึ่งควรปฏิบัติให้เหมาะสมกับโลกกับธรรมไปตามกรณี แม้พระพุทธเจ้าที่ทรงรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ก่อนใครในโลก ทั้งสามารถจะตรัสอะไรได้ด้วยความรู้ความเห็นที่ประจักษ์พระทัย แต่ก็ทรงรอบคอบในสิ่งทั้งปวงว่าจะควรปฏิบัติอย่างไรเสมอมา หากพระองค์จะตรัสบ้างในบางเรื่อง ก็ทรงเห็นว่าเหมาะกับเหตุการณ์สถานที่และบุคคลผู้รับฟัง มิได้ตรัสโดยปราศจากพระสติปัญญาความรอบคอบอันแหลมคม

    ความรู้ความเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่ควรแก่ฐานะของตนนั้นเป็นสิทธิของผู้นั้น แต่จะพูดพล่ามออกมาเสียทุกสิ่งทุกอย่างโดยปราศจากสติปัญญาที่ควรนำใช้เป็นประจำนั้น รู้สึกจะเป็นความรู้ความเห็นที่แหวกแนว คำพูดแหวกแนว แต่ผู้รับฟังซึ่งมิใช่คนแหวกแนวก็ทนฟังอยู่มิได้ การที่ใครจะปรับโทษหรือไม่นั้นเป็นเรื่องหยาบและเรื่องนอก ๆ ซึ่งไม่สำคัญยิ่งกว่าตัวผู้รู้ผู้เห็น จะควรปฏิบัติต่อตัวโดยสามีจิกรรมอันเป็นความชอบธรรมแก่ตนและผู้เกี่ยวข้องทั่ว ๆ ไป

    ความเชื่อและความอัศจรรย์ก็มิใช่เหตุผลที่จะนำมาสนับสนุนเพื่อเสริมคนให้เป็นบ้า ความเชื่อและความอัศจรรย์ด้วยความอยากให้พูดให้คุย ก็เป็นความเชื่อความอัศจรรย์ของคนที่กำลังจะหาทางเป็นบ้า ผมจึงไม่สรรเสริญความเชื่อความอัศจรรย์แบบนั้น แต่อยากให้มีความเชื่อความอัศจรรย์ที่จะเป็นความแหลมคม สมกับที่พระพุทธเจ้าทรงสอนคนให้ฉลาดบ้าง แม้ไม่ฉลาดมากก็พอน่าชมด้วยความหวังว่าจะยังมีผู้ทรงพระศาสนา และสืบพระศาสนาไปด้วยความฉลาดรอบคอบอยู่บ้าง

    ผมขอถามท่านบ้างว่า “สมมุติว่าท่านมีเงินติดตัวอยู่จำนวนพอที่จะทำประโยชน์หรือทำความเสียหายแก่ตัวท่านได้หากไม่ฉลาด เวลาท่านเข้าในที่ชุมนุมชนท่านจะปฏิบัติต่อสมบัตินั้นอย่างไรบ้าง ถึงจะปลอดภัยทั้งสมบัติและตัวท่านเอง”

    พระอาจารย์องค์นั้นเรียนตอบท่านว่า “กระผมก็จะพยายามรักษาสมบัตินั้นเต็มสติปัญญาที่จะรักษาได้”

    ท่านถามว่า “สติปัญญาที่ท่านจะนำมาใช้ต่อสมบัติและชุมนุมชนในเวลานั้น ท่านจะนำมาใช้ด้วยวิธีใด สมบัติส่วนอื่น ๆ และตัวท่านเองจึงจะปลอดภัย”

    อาจารย์นั้นเรียนท่านว่า “ถ้ากระผมจะสงเคราะห์เขาโดยที่เห็นว่าควรสงเคราะห์ ก็จะพยายามแยกสมบัติจำนวนที่จะสงเคราะห์ออกแผนกหนึ่ง โดยมิให้เขามองเห็นสมบัติส่วนใหญ่ที่มีอยู่ของตน แล้วสงเคราะห์เขาไปเฉพาะจำนวนที่แยกออกไว้จากส่วนใหญ่เท่านั้น นอกนั้นกระผมก็เก็บไว้อย่างมิดชิดไม่ให้ใครรู้ใครเห็น เพราะกลัวจะเป็นภัยแก่สมบัติและตัวกระผมเอง”

    ท่านตอบว่า “เอาละ ทีนี้สมมุติว่าท่านรู้เห็นธรรมหรือสิ่งต่าง ๆ ดังที่ท่านยกขึ้นถามผม มีการเห็นเปรตผี เป็นต้น ท่านจะปฏิบัติต่อความรู้ความเห็นและแก่ผู้เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ถึงจะจัดว่าเป็นผู้มีความรอบคอบในสมบัติประเภทนั้นและเป็นประโยชน์แก่หมู่ชนผู้มาเกี่ยวข้องเท่าที่ควร โดยไม่มีการอื้อฉาวราวเรื่อง ซึ่งอาจเป็นความเสียหายแกท่านเองและพระศาสนาได้”

    อาจารย์องค์นั้นเรียนท่านว่า “กระผมก็จำต้องปฏิบัติทำนองเดียวกันกับการปฏิบัติต่อเงินซึ่งเห็นว่าเป็นคุณแก่ตนและผู้อื่นโดยถ่ายเดียว ไม่มีภัยเข้ามาแทรกด้วย”

    ท่านถามว่า “ก็เมื่อสักครู่นี้ท่านพูดเป็นเชิงชักนำให้ผมประกาศโฆษณาความรู้ความเห็น มีเห็นเปรตผี เป็นต้น แก่ประชาชน โดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์และความเสียหายอันจะตามมานั้น ท่านพูดมีความหมายอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าถ้าคนมีสติปัญญาพอประคองตัวอยู่บ้างดังมนุษย์ทั่ว ๆ ไป เขาคงไม่พูดอย่างท่านแน่นอน แต่ท่านเองยังพูดออกมาได้ ถ้าท่านไม่เลยขั้นคนธรรมดาก้าวเข้าขั้นไม่มีสติแล้ว จะควรชมเชยว่าท่านก้าวข้ามไปขั้น.....อะไรแล้ว ผมเองยังมองไม่เห็นจุดที่ควรชมเชยท่านบ้างเลย

    สมมุติว่ามีผู้มาต่อว่าท่านว่า เวลาท่านก้าวเข้าถึงขั้น.....แล้ว ท่านจะตอบเขาว่าอย่างไรจึงจะตรงกับความจริงที่เขาว่าท่านโดยมีเหตุผล ท่านได้คิดบ้างหรือเปล่าว่า คนในโลกมีคนฉลาดมากหรือคนโง่มาก และคนจำพวกไหนที่จะสามารถทรงพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองไปด้วยความมีเหตุผล และยั่งยืนไปนานไม่ถูกทำลายด้วยแบบท่านถามผมเมื่อสักครู่นี้”

    ท่านนั้นเรียนท่านว่า “ถ้าพิจารณาตามที่ท่านอาจารย์ว่าแล้ว ก็เป็นความผิดในการกล่าวของกระผมโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะเท่าที่กระผมกราบเรียนขอนั้น โดยมุ่งเจตนาในทางอยากให้คนทั้งหลายทราบบ้าง อย่างกระผมทราบแล้วรู้สึกซาบซึ้งและอัศจรรย์อย่างยิ่ง ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาจากท่านผู้ใดเลย เมื่อเล่าให้เขาทราบบ้าง คงจะรู้สึกซาบซึ้งไปนานและเกิดประโยชน์แก่เขามากมาย ด้วยความรู้สึกอย่างนี้จึงทำให้ความอยากนั้นหลุดปากออกมา โดยมิได้คำนึงว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้พูดและพระศาสนามากน้อยเพียงไรด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กระผมจึงขอประทานโทษได้โปรดเมตตาอย่าให้กรรมนี้ต้องติดในสันดานอีกต่อไป กระผมจะพยายามสำรวมมิให้เป็นทำนองนี้อีก

    หากมีคนมาต่อว่าว่ากระผมก้าวเข้าถึงขั้น.....ก็จำต้องยอมรับเหตุผล เพราะเราเป็นผู้ควรถูกตำหนิอย่างหาทางหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก่อนกระผมยังมิได้คิดว่าคนในโลกมีความฉลาดมากหรือคนโง่มาก เพิ่งจะมาสะดุดใจเอาขณะที่ท่านอาจารย์ถามนี่เอง เลยเดาเอาตามความรู้สึกว่า คนโง่มีมากกว่าคนฉลาดอยู่มากมาย คิดดูในหมู่บ้านหนึ่ง ๆ มีคนฉลาดและรักศีลรักธรรมอยู่เพียงไม่กี่คน นอกนั้นแทบจะพูดได้ว่า ไม่ทราบที่ไปที่มาของตัวเอาเลยว่าไปเพื่ออะไร มาเพื่ออะไร ทำเพื่ออะไร ผิดหรือถูก ดีหรือชั่ว ควรทำหรือไม่ควร เขาไม่ค่อยสนใจคิดเลย ขอแต่ให้สะดวกสบายในขณะนั้นก็พอใจแล้ว จะเป็นอะไรต่อไปก็มอบให้ยถากรรมเป็นผู้ตัดสินเอาเอง คราวนี้กระผมพอเข้าใจได้บ้างไม่มืดมิดปิดทวารเหมือนแต่ก่อน

    ส่วนผู้จะทรงพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองและยืนนานต่อไปด้วยความมีเหตุมีผลนั้น ก็เห็นจะได้แก่คนฉลาดเป็นผู้นำ และทรงไว้ด้วยความราบรื่นสม่ำเสมอมากกว่าจำพวกอื่น ๆ จำพวกนอกนั้นก็พลอยได้ประโยชน์ไปตาม ๆ กัน แต่หลักใหญ่เห็นจะอยู่ในคนจำพวกมีเหตุมีผลเป็นแน่ เพราะทางโลกทางธรรม กิจบ้านการอาชีพตลอดงานทุกแผนก รู้สึกจะหนีจำพวกฉลาดมีเหตุผลเป็นผู้นำไปไม่ได้”
     
  3. Mdef

    Mdef เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 มีนาคม 2017
    โพสต์:
    1,367
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +1,869
    ท่านอาจารย์อธิบายต่อไปว่า “งานทางโลกทางธรรมท่านยังพอคิดพอพูดได้ว่า คนฉลาดเป็นบุคคลสำคัญในวงการต่าง ๆ แต่งานของท่านเองซึ่งเป็นนักบวชและนักปฏิบัติ ทำไมจึงไม่คิดบ้างว่าควรอย่างไรไม่ควรอย่างไร งานพระศาสนาเป็นงานละเอียดมาก ยากที่จะรู้ทั่วถึง ผู้จะทรงพระศาสนาทรงธรรมทรงวินัยให้ถึงขั้นสมบูรณ์ได้ ต้องเป็นคนฉลาด ความฉลาดในที่นี้มิได้หมายความฉลาดที่ทำลายโลกให้พินาศ ทำลายศาสนาให้ฉิบหายล่มจม แต่เป็นความฉลาดในเหตุผลที่จะยังโลกและธรรมให้เจริญโดยถ่ายเดียว ความฉลาดนี่แลที่แสดงไว้ในมรรคแปดว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป คือความเห็นชอบ ความดำริคิดนึกชอบ และเป็นผู้นำกายวาจาให้ประพฤติแต่ในทางที่ชอบตามปัญญาสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นผู้นำ

    แม้แต่สมาธิที่เป็นไปในทางชอบ ก็จำต้องอาศัยสัมมาทิฏฐิองค์ปัญญาคอยตรวจตราสอดส่องอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นสมาธิหัวตอไปได้ จิตสงบจิตรวมต้องมีสติปัญญาคอยแฝงอยู่เสมอ จิตเกิดความรู้อะไรขึ้นมา จิตออกรู้อะไรบ้าง สิ่งที่รู้นั้น ๆ จะควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้องตามหลักของผู้ต้องการความรู้จริงเห็นจริงในสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง ถ้าไม่มีปัญญาแฝงอยู่ด้วยแล้ว ต้องทำให้เห็นผิดยึดผิดไปจนได้ เพราะความรู้ต่าง ๆ ทั้งข้างในทั้งข้างนอกที่เกี่ยวกับสมาธิไม่มีประมาณ สุดแต่จะปรากฏขึ้นมาและผ่านเข้ามา ในรายที่นิสัยจะควรรู้ควรเห็นเป็นต้องรู้ต้องเห็น จะห้ามไม่ให้รู้ให้เห็นย่อมไม่ได้ แต่สำคัญอยู่ที่ปัญญาจะคัดเลือกเก็บเอาเท่าที่พิจารณาเห็นว่าควร นอกนั้นก็ปล่อยให้ผ่านไปอย่างนักปัญญา ไม่ยึดถือไว้ให้ก่อกวนตัวเองอยู่ไม่หยุด

    ถ้าขาดปัญญาเพียงขั้นสมาธิก็ไปไม่ตลอด คือต้องยินดีกับสิ่งนั้น ยินร้ายกับสิ่งนี้ เพลิดเพลินกับสิ่งนั้น เศร้าโศกกับสิ่งนี้ ซึ่งล้วนเป็นอารมณ์เขย่าใจให้ลุ่มหลงไปตามทั้งสิ้น อารมณ์ที่มาปรากฏถ้าไม่กำจัดด้วยปัญญาจะตกไปได้ยาก นอกจากจะพาให้เป็นอารมณ์ก่อกวนอยู่ไม่หยุดเท่านั้น แต่ถ้าคัดเลือกด้วยปัญญาแล้วจะมีทางผ่านไปได้ ที่ยังเหลืออยู่ก็เฉพาะที่ปัญญาคัดไว้เท่านั้น ปัญญาจึงเป็นธรรมจำเป็นในธรรมทุกขั้น

    ผู้ก้าวเข้ามาบวชในศาสนา ก็คือก้าวเข้ามาหาความรู้ความฉลาด เพื่อคุณงามความดีทั้งหลายที่โลกปรารถนากัน มิได้เข้ามาสั่งสมความโง่เขลาเบาต่อเล่ห์เหลี่ยมของกิเลสตัวหลอกลวง แต่เพื่ออุบายปัญญาพลิกแพลงให้ทันเรื่องของกิเลสต่างหาก เพราะคนเราอยู่และไปโดยไม่มีเครื่องป้องกันตัว ย่อมไม่ปลอดภัยต่ออันตรายทั้งภายนอกภายใน เครื่องป้องกันตัวของนักบวชคือหลักธรรมวินัย มีสติปัญญาเป็นอาวุธสำคัญ ถ้าต้องการความเป็นผู้มั่นคงต่อสิ่งทั้งหลายไม่สะทกสะท้าน จึงควรเป็นผู้มีสติปัญญาแฝงอยู่กับตัวทุกอิริยาบถ จะคิดจะพูดจะทำอะไร ๆ ก็ตามไม่มีการยกเว้นสติปัญญาที่จะไม่เข้ามาสอดแทรกอยู่ด้วยในวงงานที่ทำทั้งภายนอกภายใน จะเป็นที่แน่นอนต่อคติของตนทุก ๆ ระยะไป

    ผมปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นบรรดาลูกศิษย์ มีความเข้มแข็งต่อแดนพ้นทุกข์ด้วยความเพียรทุกประโยค ที่เต็มไปด้วยสติปัญญาเป็นหัวหน้างาน ไม่งุ่มง่ามเซอะซะต่อตัวเองตลอดธุระหน้าที่ทั้งหลาย สมกับศาสนายอดเยี่ยมด้วยหลักธรรมที่สอนคนให้ฉลาดทุกแง่ทุกมุม แต่ไม่ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นผู้ปฏิบัติที่มาอาศัยอยู่ด้วย เป็นคนอ่อนแอโง่เง่าเต่าตุ่น วุ่นวายอยู่กับอารมณ์เครื่องผูกพันด้วยความนอนใจ และเกียจคร้านในกิจการที่จะยกตัวให้พ้นภัย ไม่ขยันคิดอ่านด้วยความสนใจในงานของตัวทุกประเภท เพราะงานของพระผู้พร้อมแล้วเพื่อข้ามโลกข้ามสงสารเป็นงานชั้นเยี่ยม ไม่มีงานใดในโลกจะหนักหน่วงถ่วงใจยิ่งกว่างานยกจิตให้พ้นจากห้วงแห่งวัฏทุกข์ งานนี้เป็นงานที่ทุ่มเทกำลังทุกด้าน แม้ชีวิตก็ยอมสละไม่อาลัยเสียดาย จะเป็นจะตายก็มอบไว้กับความเพียร เพื่อรื้อถอนตนให้พ้นจากหล่มลึกคือกิเลสทั้งมวล ไม่มีการแบ่งรับแบ่งสู้เหมือนงานอื่น ๆ จะรู้จะเห็นธรรมอัศจรรย์ที่ไม่เคยพบเคยเห็น ก็รู้และเห็นกันกับความเพียรที่สละตายไม่เสียดายชีวิตนี่แล วิธีอื่น ๆ ก็ยากจะคาดถูกได้

    การทำความเพียรของผู้ตั้งใจจะข้ามโลก ไม่ขอเกิดมาแบกหามกองทุกข์นานาชนิดอีกต่อไป ต้องเป็นความเพียรชนิดเอาตายเข้าแลกกัน เฉพาะผมเองก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์สอนหมู่คณะ มิได้นึกว่าชีวิตจะยังเหลือเดนมาเลย เพราะความมุ่งมั่นต่อธรรมแดนหลุดพ้นมีระดับสูงเหนือชีวิตที่ครองตัวอยู่ การทำความเพียรทุกประโยคและทุกอิริยาบถได้ตั้งเข็มทิศไว้เหนือชีวิตทุกระยะ ไม่ยอมให้ความอาลัยเสียดายในชีวิตเข้ามากีดขวางในวงความเพียรเลย นอกจากความบีบบังคับของจิตที่เต็มไปด้วยความหวังต่อทางหลุดพ้นเท่านั้น เป็นผู้บงการแต่ผู้เดียวว่า ถ้าขันธ์ทนไม่ไหวจะแตกตายไปก็ขอให้แตกไป เราเคยตายมาแล้วจนเบื่อระอา ถ้าไม่ตายขอให้รู้ธรรมที่พระองค์รู้เห็น อย่างอื่นไม่ปรารถนาอยากรู้อยากเห็น เพราะเบื่อต่อการรู้เห็นมาเต็มประดาแล้ว บัดนี้เราอยากรู้เพียงอย่างเดียวคือสิ่งที่เรารู้แล้วไม่ต้องกลับมาลุ่มหลงเกิดตายอีกต่อไป สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ปรารถนาอย่างยิ่งของเราในบัดนี้

    ส่วนความเพียรที่หมุนไปตามความอยากรู้อยากเห็นธรรมดวงนั้น จึงเป็นเหมือนโรงจักรที่เปิดทำงานแล้วไม่ยอมปิดเครื่อง ปล่อยให้หมุนตัวเป็นธรรมจักร ฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสวัฏฏะทั้งหลายไม่มีวันมีคืน ไม่มีอิริยาบถใดว่าได้ย่อหย่อนความเพียร เว้นแต่หลับไปเสียเท่านั้นเป็นเวลาพักงานชั่วคราว พอตื่นขึ้นมามือกับงาน คือสติปัญญาศรัทธาความเพียรกับกิเลสที่ยังเหลือเป็นเชื้อเรื้อรังอยู่ภายในมากน้อย ไม่ว่างต่อการรบพุ่งชิงชัยกันเลย จนถูกทำลายด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรให้ราบเรียบไปหมดอย่างสบายหายห่วง

    นับแต่ขณะนั้นมาส่วนที่ตายไปคือกิเลสทั้งหลายก็ทราบว่าตายไปอย่างสนิท ไม่กลับฟื้นคืนมาก่อกวนวุ่นวายได้อีก ส่วนที่ยังเหลือคือชีวิตธาตุขันธ์ ก็ทราบว่ายังพอทนต่อไปได้ไม่แตกสลายไปตามกิเลส ขณะที่เข้าสู่สงครามทำการหักโหมกันอย่างสุดกำลังทุกฝ่าย สิ่งที่ต่างฝ่ายต่างหมายยึดครองถึงกับต้องทำสงครามยื้อแย่งแข่งชัยชนะกันนั้น คือใจอันเปรียบเหมือนนางงาม ได้ตกมาเป็นสมบัติอันล้ำเลิศประเสริฐสุดของฝ่ายเรา เรียกว่าอมตจิตหรืออมตธรรม ใครค้นพบผู้นั้นประเสริฐโดยไม่มีอะไรมาเสกสรร

    แต่ธรรมนั้นอยู่ฟากตาย ถ้าใครกลัวตายเสียดายทุกข์ ชอบถือเอาความสนุกในการเกิดว่าเลิศเลอ ผู้นั้นต้องจัดว่าลืมตัวมัวประมาทและชอบผัดเพี้ยนเลื่อนเวลาว่า เช้า สาย บ่าย เย็น ไม่อยากบำเพ็ญความดีสำหรับตนในเวลาที่เป็นฐานะพอทำได้อยู่ ความประมาททั้งนี้ยังจะพาให้หลั่งน้ำตาด้วยความทุกข์ในสงสาร ไม่อาจประมาณได้ว่ายังอีกนานเท่าไร จึงจะผ่านพ้นแหล่งกันดารอันเป็นที่ทรมานไปได้ จึงขอฝากปัญหาธรรมเหล่านี้ไว้กับท่านทั้งหลายนำไปขบคิดด้วยว่า เราจะเป็นฝ่ายคืบหน้ากล้าตายด้วยความเพียรหมายพึ่งธรรม ไม่เหลียวหลังไปดูทุกข์ที่เคยเป็นภาระให้แบกหาม ด้วยความเจ็บแสบและปวดร้าวในหัวใจมาเป็นเวลานาน หรือยังจะเป็นฝ่ายเสียดายความตายแล้วกลับมาเกิดอีก อันเป็นตัวมหันตทุกข์ที่แสนทรมานอีกต่อไป รีบพากันนำไปพิจารณา อย่ามัวเมาเฝ้าทุกข์และหายใจทิ้งเปล่า ๆ ดังที่เป็นมาและเป็นอยู่เวลานี้ จะช้าทางและเสียใจไปนาน

    เพราะโรงดัดสันดานกิเลส ตัวพาให้ว่ายบกอกแตกแบกกองทุกข์ไม่มีเวลาปลงวางนั้น มิได้มีอยู่ในที่อื่นใดและโลกไหน ๆ แต่มีอยู่กับผู้ตั้งหน้าบำเพ็ญด้วยการใช้หัวคิดปัญญาศรัทธาความเพียร เป็นเครื่องมือบุกเบิกเพื่อพ้นไปนี้เท่านั้น ไม่หยุดหย่อนนอนใจว่ากาลเวลายังอีกนาน สังขารยังไม่ตายร่างกายยังไม่แก่ ซึ่งเป็นความคิดที่ทำให้แย่ลงโดยถ่ายเดียว ผู้เป็นนักบวชและนักปฏิบัติจึงไม่ควรคิดอย่างยิ่ง

    อนึ่ง ผู้จะพาให้ผิดพลาดและพาให้ฉลาดแหลมคมก็มีอยู่กับใจดวงเดียวจะเป็นผู้ผลิต ไม่มีอยู่ในที่ใด ๆ จึงไม่ควรตั้งความหวังไว้กับที่ใด ๆ ที่มิได้สนใจดูตัวเอง ตัวจักรเครื่องทำงาน คือกายวาจาใจที่กำลังหมุนตัวกับงานทุกประเภทอยู่ทุกขณะ ว่าผลิตอะไรออกมาบ้าง ผลิตยาถอนพิษคือธรรมเพื่อแก้ความไม่เบื่อหน่ายและอิ่มพอในความเกิดตาย หรือผลิตยาบำรุงส่งเสริมความมัวเมาเหมาทุกข์ ให้มีกำลังขยายวัฏวนให้ยืดยาวกว้างขวางออกไปไม่มีสิ้นสุด หรือผลิตอะไรออกมาบ้าง ควรตรวจตราดูให้ละเอียดถี่ถ้วน ไม่เช่นนั้นจะเจอแต่ความฉิบหายล่มจม ไม่มีวันโผล่ตัวขึ้นจากทุกข์ที่โลกทั้งหลายกลัว ๆ กันได้เลย”

    ท่านแสดงธรรมโดยถือเอาพระที่เป็นต้นเหตุอาราธนาท่าน ให้แสดงตามที่รู้ที่เห็นสิ่งต่าง ๆ แก่โลกอย่างไม่มีขอบเขตนั้น ปรากฏว่าท่านแสดงอย่างเผ็ดร้อนมาก ทั้งเนื้อธรรมก็ทรงรสชาติอย่างมหัศจรรย์ยากจะได้ยินได้ฟัง พระผู้เป็นต้นเหตุให้ท่านต้องแสดง ก็ไม่น่าจะผิดตามที่ท่านดุด่าขู่เข็ญ แต่อาจจะเป็นอุบายวิธีอาราธนาให้ท่านแสดงธรรมโดยทางอ้อมก็ได้

    เท่าที่เคยสังเกตท่านตลอดมา ถ้าท่านแสดงธรรมตามปกติ ไม่มีอะไรเข้าไปสัมผัสหรือกระเทือนถึงใจหรือถึงธรรมท่าน ท่านชอบแสดงไปเรียบ ๆ แม้จะแสดงธรรมชั้นสูงก็ทำนองเดียวกัน ผู้ฟังรู้สึกจะขาดอะไร ๆ อยู่บ้างไม่จุใจ

    แต่ถ้ามีรายใดรายหนึ่งก่อเหตุขึ้น เป็นเชิงเรียนถามปัญหาท่านหรือสนทนาธรรมกันเองต่อหน้าท่านแบบผิด ๆ ถูก ๆ พอให้ท่านรำคาญ หรือธรรมที่กำลังสนทนากันไปสะดุดใจท่านเข้าขณะนั้น นั่นแลเป็นขณะที่ธรรมภายในใจท่านเริ่มไหวตัวออกมาผิดปกติ และแสดงออกทางวาจาอย่างเผ็ดร้อนถึงใจ ทั้งท่านผู้แสดงและผู้ฟังอย่างเพลินใจ และทุกครั้งที่ท่านแสดงแบบนี้ ต้องเป็นที่ซาบซึ้งดื่มด่ำเหลือที่จะพรรณนาให้ถูกต้องกับความรู้สึกได้

    ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้มีนิสัยหยาบจึงชอบฟังธรรมที่ท่านแสดงแบบนี้มากกว่าแบบอื่น ๆ เพราะเห็นว่าถูกกับจริตนิสัยที่หยาบของตนมาก ฉะนั้น ท่านผู้เป็นต้นเหตุอาราธนาท่านด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ ถึงกับท่านได้แสดงธรรมแบบเผ็ดร้อนออกมานั้น จึงเข้าใจว่าเป็นความแยบคายของแต่ละองค์จะหาอุบายแสดงออกตามสติปัญญาของตน ซึ่งไม่ควรจะผิดไปทีเดียว อาจมีเจตนาเพื่อประโยชน์แก่ตนแฝงอยู่กับคำอาราธนานั้นด้วย

    ทั้งนี้ เมื่อมาถึงวาระของผู้เขียนได้สดับธรรมจากท่านจริง ๆ แล้วโดยมากได้ฟังธรรมเด็ดเดี่ยวที่ให้เกิดความอาจหาญร่าเริง มักจะเกิดจากวิธีเรียนถามปัญหาซอกแซกกับท่านมากกว่าวิธีอื่น ๆ ขณะท่านอธิบายธรรมก็ถูกกับจุดที่ต้องการ ซึ่งผิดกับการแสดงแบบแกงหม้อใหญ่เป็นไหน ๆ ดังนั้น เมื่ออยู่กับท่านนาน ๆ ไป ก็ค่อยทราบวิธีแสวงหาธรรมกับท่านกว้างขวางออกไป ไม่รอคอยให้ท่านหยิบยื่นให้ถ่ายเดียว ยังพอมีอุบายขอร้องต่าง ๆ พอให้ท่านเมตตาบ้าง โดยมิใช่วันประชุมแสดงธรรมตามปกติ
     

แชร์หน้านี้

Loading...