“รักษาใจ” หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย J.Sayamol, 24 มิถุนายน 2009.

  1. J.Sayamol

    J.Sayamol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2008
    โพสต์:
    6,190
    ค่าพลัง:
    +21,530
    [​IMG]

    “รักษาใจ” หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

    บันทึกโดย :พระธรรมวิสุทธิมงคล (พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน)

    ------------------------------------------------------------------------

    พอรถไฟถึงกรุงเทพฯ เข้าพักวัดบรมนิวาสตามคำสั่งทางโทรเลขของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์(ติสโส อ้วน) วัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร ที่บอกไปว่าให้ท่าน( ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ) ไปพักวัดบรมฯ ก่อนเดินทางไปอุดรฯ ในระยะที่พักอยู่ที่นั้นปรากฏว่ามีคนมาถามปัญหากับท่านมาก มีปัญหาของบางรายที่แปลกกว่าปัญหาทั้งหลายจึงได้นำมาลง มีใจความว่า

    ได้ทราบว่า ท่านรักษาศีลองค์เดียว มิได้รักษาถึง ๒๒๗ องค์เหมือนพระทั้งหลาย ที่รักษากันใช่ไหม

    ท่านตอบว่า ใช่ อาตมารักษาเพียงอันเดียว

    เขาถามว่า ที่ท่านรักษาเพียงอันเดียวนั้น คือ อะไร

    ท่านตอบว่า คือ " ใจ "

    เขาถามว่า ส่วน ๒๒๗ นั้นท่านไม่ได้รักษาหรือ

    ท่านตอบว่า อาตมารักษาใจไม่ให้คิด พูด ทำ ในทางผิด อันเป็นการล่วงเกินข้อห้ามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ จะเป็น ๒๒๗ หรือมากกว่านั้นก็ตาม บรรดาที่เป็นข้อทรงบัญญัติห้าม

    อาตมาก็เย็นใจว่า ตนมิได้ทำผิดต่อพุทธบัญญัติ ส่วนท่านผู้ใดจะว่าอาตมารักษาศีล ๒๒๗ หรือไม่นั้น สุดแต่ผู้นั้นจะคิด จะพูดเอาตามความคิดของตน
    เฉพาะอาตมา ได้รักษาใจอันเป็นประธานของ กาย วาจา อย่างเข้มงวดกวดขันตลอดมา นับแต่เริ่มอุปสมบท

    ถามว่า การรักษาศีลต้องรักษาใจด้วยหรือ

    ท่านตอบว่า ถ้าไม่รักษาใจ จะรักษาอะไรถึงจะเป็นศีลเป็นธรรมที่ดีงามได้ นอกจากคนที่ตายแล้วเท่านั้นจะไม่ต้องรักษา แม้กายวาจาก็ไม่จำต้องรักษา แต่ความเป็นเช่นนั้นของคนตาย นักปราชญ์ท่านไม่ได้เรียกว่าเขามีศีล เพราะไม่ได้มีเจตนาเป็นเครื่องส่อแสดงออก ถ้าเป็นศีลได้ควรเรียกได้เพียงว่าศีลคนตาย
    ซึ่งไม่สำเร็จประโยชน์ตามคำเรียกแต่อย่างใด

    ส่วนอาตมามิใช่คนตายจะรักษาศีลแบบคนตายนั้นไม่ได้ ต้องรักษาใจให้เป็นศีลเป็นธรรม สมกับใจเป็นผู้ทรงไว้ทั้งบุญทั้งบาปอย่างตายตัว

    เขาถามว่า ได้ยินในตำราว่าไว้ว่า รักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อยเรียกว่า ศีล
    จึงเข้าใจว่าการรักษาศีลไม่จำเป็นต้องรักษาใจก็ได้ จึงได้เรียนถามอย่างนั้น

    ท่านตอบว่าที่ว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อยเป็นศีลนั้นก็ถูก แต่ก่อนกาย วาจาจะเรียบร้อยเป็นศีลได้นั้น ต้นเหตุเป็นมาจากอะไร ถ้าไม่เป็นมาจากใจผู้เป็นนาย คอยบังคับกาย วาจาให้เป็นไปในทางที่ถูก

    เมื่อเป็นมาจากใจ ใจควรปฏิบัติอย่างไรต่อตัวเองบ้าง จึงจะควรเป็นผู้ควบคุมกาย วาจาให้เป็นศีลเป็นธรรมที่น่าอบอุ่นแก่ตนเอง และน่าเลื่อมใสแก่ผู้อื่นได้

    ไม่เพียงแต่ศีลธรรมที่จำต้องอาศัยใจเป็นผู้คอยควบคุมรักษาเลย แม้กิจการอื่น ๆ จำต้องอาศัยใจเป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่โดยดี การงานนั้น ๆ จึงจะเป็นที่เรียบร้อยไม่ผิดพลาด และทรงคุณภาพโดยสมบูรณ์ตามชนิดของมัน

    การรักษาโรคเขายังค้นหาสมุฏฐานของมัน จะควรรักษาอย่างไรจึงจะหายได้เท่าที่ควร ไม่เป็นโรคเรื้อรังต่อไป

    การรักษาศีลธรรมไม่มีใจเป็นตัวประธานพาให้เป็นไป ผลก็คือความเป็นผู้มีศีลด่างพร้อย ศีลขาด ศีลทะลุ ความเป็นผู้มีธรรมเป็นที่น่าสลดสังเวช ธรรมพาอยู่ธรรมพาไปอย่างไม่มีจุดหมาย ธรรมบอ ธรรมบ้า ธรรมแตก ซึ่งล้วน เป็นจุดที่ศาสนาจะพลอยได้รับเคราะห์กรรมไปด้วยอย่างแยกไม่ออก ไม่เป็นศีลธรรมอันน่าอบอุ่นแก่ผู้รักษา และไม่น่าเลื่อมใสแก่ผู้อื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องบ้างเลย อาตมาไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก บวชแล้วอาจารย์พาเที่ยว และอยู่ตามป่าตามเขา
    เรียนธรรมก็เรียนไปกับต้นไม้ใบหญ้า แม่น้ำ ลำธาร หินผาหน้าถ้ำ เรียนไปกับเสียงนกเสียงกา เสียงสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ตามทัศนียภาพที่มีอยู่ตามธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง ไม่ค่อยได้เรียนในคัมภีร์ใบลาน พอจะมีความรู้แตกฉานทางศีลธรรม

    การตอบปัญหา จึงเป็นไปตามนิสัยของผู้ศึกษาธรรมเถื่อน ๆ รู้สึกจนปัญญาที่ไม่สามารถค้นหาธรรม ที่ไพเราะเหมาะสม มาอธิบายให้ท่านผู้สนใจฟังอย่างภูมิใจได้

    เขาถามท่านว่า คำว่าศีลได้แก่สภาพเช่นไร และอะไรเป็นศีลอย่างแท้จริง

    ท่านตอบว่า ความคิดในแง่ต่าง ๆ อันเป็นไปด้วยความมีสติ รู้สิ่งที่ควรคิดหรือไม่ ควรระวังการระบายออกทางทวารทั้งสาม คอยบังคับกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในขอบเขตของศีลที่เป็นสภาพปกติ

    ศีลที่เกิดจากการรักษาในลักษณะดังกล่าวมาแล้วชื่อว่ามีสภาพปกติ ไม่คะนองทางกาย วาจา ใจ ให้เป็นกิริยาที่น่าเกลียด

    นอกจากความปกติดีงามทางกาย วาจา ใจ ของผู้มีศีลว่าเป็นศีลเป็นธรรมแล้ว ก็ยากจะเรียกให้ถูกได้ว่าอะไรเป็นศีลเป็นธรรมที่แท้จริง เพราะศีลกับผู้รักษาศีลแยกกันได้ยาก

    ไม่เหมือนตัวบ้านเรือน กับเจ้าของบ้านเรือน ซึ่งเป็นคนละอย่าง ที่พอจะแยกกันออกได้ไม่ยากนัก ว่านั้นคือตัวบ้านเรือน และนั่นคือเจ้าของบ้าน

    ส่วนศีลกับคนจะแยกจากกันอย่างนั้น เป็นการลำบาก เฉพาะอาตมาแล้วแยกไม่ได้ แม้แต่ผลคือความเย็นใจที่เกิดจากการรักษาศีลก็แยกกันไม่ออก

    ถ้าแยกออกได้ ศีลก็อาจกลายเป็นสินค้ามีเกลื่อนตลาดไปนานแล้ว และอาจจะมีโจรมาแอบขโมยศีลธรรมไปขายจนหมดเกลี้ยงจากตัวไปหลายรายแล้ว

    เมื่อเป็นเช่นนี้ ศีลธรรมก็จะกลายเป็นสาเหตุก่อความเดือดร้อนแก่เจ้าของ เช่นเดียวกับสมบัติอื่น ๆ ทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเอือมระอา ที่จะแสวงหาศีลธรรมกัน เพราะได้มาแล้วก็ไม่ปลอดภัย

    ดังนั้นความไม่รู้ว่า “อะไรเป็นศีลอย่างแท้จริง” จึงเป็นอุบายวิธีหลีกภัยอันอาจเกิดเกิดแก่ศีล และผู้มีศีลได้ทางหนึ่งอย่างแยบยล และเย็นใจ

    อาตมาจึงไม่คิดอยากแยกศีลออกจากตัวแม้แยกได้ เพราะระวังภัยมาก แยกไม่ได้อย่างนี้รู้สึกอยู่สบายไปไหนมาไหน และอยู่ที่ใด ไม่ต้องเป็นห่วงว่าศีลจะหาย ตัวจะตายจากศีลแล้วกลับมาเป็นผีเฝ้ากองศีล เช่นเดียวกับคนเป็นห่วงสมบัติ ตายแล้วกลับมาเป็นผีเฝ้าทรัพย์ ไม่มีวันไปผุดไปเกิดได้ฉะนั้น

    คัดลอกจาก หนังสือรอยธรรม พระวิหารหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
    จัดพิมพ์เนื่องในพิธียกช่อฟ้าและฉลองพระวิหาร หลวงปู่มั่นภูริทัตโต
    ณ. วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่
    วันศุกร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖


    ��ѡ��㨔 ��ǧ������� ���Էѵ�� - �����͡�����
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 มิถุนายน 2009
  2. สังสารวัฏ

    สังสารวัฏ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    562
    ค่าพลัง:
    +5,382
  3. J.Sayamol

    J.Sayamol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2008
    โพสต์:
    6,190
    ค่าพลัง:
    +21,530
    ใจมีค่าที่สุด อย่านำไปแลกกับสิ่งใด

    [​IMG]

    ญาติโยมผู้หนึ่งเทิดทูนพระพุทธภาษิตที่ว่า “ใจของเรามีค่าสูงสุด เหนือค่าของสิ่งอื่นใดทั้งปวง ไม่พึงนำไปแลกกับสิ่งอื่นใดทั้งนั้น”

    ได้อัญเชิญไปปฏิบัติสม่ำเสมอ ตั้งแต่ล้มลุกคลุกคลาน คือได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง จนมาถึงวันที่รู้สึกว่าได้รับผลเต็มที่แล้ว เพราะเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายกาจรุนแรง แทบจะทำให้เบื่อโลกเบื่อมนุษย์ แต่สามารถรับเหตุร้ายมากมายทั้งนั้นได้อย่างดียิ่ง ไม่เศร้าหมองไม่หวั่นไหว ไม่เร่าร้อน ไม่โกรธแค้น

    ได้กล่าวอยู่เสมออย่างปีติโสมนัสในบุญบารมียิ่งใหญ่นักหนาของตนว่า พระพุทธเจ้าทรงเลี้ยงมาดีที่สุดแล้ว ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์เลวร้ายรุนแรงมากมายที่ไม่น่าเกิดขึ้นกับชีวิตที่มุ่งมั่นทำ แต่คุณงามความดี คงทำให้เศร้าโศกเสียใจถึงเป็นบ้าเป็นบอไปก็ได้

    แต่เหตุการณ์เลวร้ายทั้งหลายที่ประดังเข้าสู่ชีวิต อย่างหาเหตุผลไม่ได้ กลับรับได้อย่างสบาย เหมือนไม่มีอะไรที่เหลือเชื่อเหล่านั้นเกิดขึ้นกับชีวิต “เพราะพระพุทธเจ้าทรงเลี้ยงเรามาแล้วอย่างดีที่สุด” นี่คือความมั่นใจ ที่เต็มไปด้วยความปีติโสมนัส พ้นจะกล่าวของญาติโยมผู้นั้น

    การที่คนพยายามทำแต่บุญกุศล ทำแต่ความดี มาทั้งชีวิต ดังที่ญาติโยมผู้นั้นเล่าถึงตัวเอง ว่าบรรดาผู้ทำร้ายเธอด้วยเจตนาทำลายเพราะ ความโลภบ้าง เกลียดบ้าง บ้างเชื่อคำของผู้มุ่งร้ายคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง

    มีข้อสงสัยว่า เช่นนี้จะไม่เป็นบาปหนักอยู่หรือ เพราะการทำร้ายผู้มิได้ชั่วร้าย น่าจะเป็นบาปไม่น้อย บาปกว่าทำร้ายผู้ที่มีความผิดความเลวร้าย ที่ก่อทุกข์โทษภัยอยู่

    พิจารณาปัญหาที่ถูกนำมาปรารภนี้แล้ว ก็ต้องยอมรับ ว่าควรเป็นจริงเช่นนั้น ทำคนดีมีศีลมีธรรม ต้องเป็นบาปกรรมยิ่งกว่าทำ คนมีความผิดความไม่ดี

    อย่างไรก็ตาม ดีที่สุดคือพยายามรักษากาย วาจา ใจของตนให้มีสติควบคุม และไม่ทำใครทั้งนั้น ใครจะดี ใครจะชั่ว อย่าใช้อำนาจเข้าจัดการ แต่ควรใช้เมตตาธรรมเข้าช่วยเหลือจะถูกต้องกว่า

    พูดกันดี ๆ เตือนกันดี ๆ สอนกันดี ๆ แต่ถ้าไม่แน่ใจ คือไม่รู้จริงในความไม่ดีของผู้ใดผู้หนึ่งก็ตาม ก็ควรรอบคอบในการตัดสิน ไม่ควรคิดว่าเขาผิดร้าย และลงโทษเขาเช่นด้วยการกล่าวโทษให้รู้ทั่วกันไป โดยมุ่งให้เป็นการช่วยคนนั้นบ้าง คนนี้บ้างให้ไม่ต้องได้รับทุกข์โทษภัยจากผู้ที่คิดว่าเขาไม่ดี

    ตั้งใจช่วยให้เป็นบุญ จะได้ผลตรงกันข้าม แม้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนเลว มิได้เป็นเช่นนั้นจริง ทั้งยังเป็นคนดี บาปเกิดตรงนี้ ตรงกรรมที่ทำไปแล้วเพราะหลงผิด คิดผิด เข้าใจผิด

    : แสงส่องใจ เมษายน ๒๕๕๐
    : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

    http://board.agalico.com/showthread.php?t=13579
     
  4. Jochatu

    Jochatu สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    16
    ค่าพลัง:
    +6
    ศีลหนึ่ง
    (รักษาศีลเพียงข้อเดียวพ้นทุกข์ได้)

    พระเถระแนะอุบายพ้นทุกข์แก่เศรษฐีบุตร

    ดังได้สดับมา เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี บุตรเศรษฐีผู้หนึ่งเข้าไปหาพระเถระผู้เป็นชีต้น (ภิกษุที่คุ้นเคย ซึ่งเขาเคารพนับถือเป็นอาจารย์ เป็นที่ปรึกษา เรียกอีกอย่างว่ากุลุปกะ - ธัมมโชติ) ของตน เรียนว่า "ท่านผู้เจริญ กระผมใคร่จะพ้นจากทุกข์, ขอท่านโปรดบอกอาการสำหรับพ้นจากทุกข์แก่กระผมสักอย่างหนึ่ง."

    พระเถระกล่าวว่า "ดีละ ผู้มีอายุ ถ้าเธอใคร่จะพ้นจากทุกข์ไซร้, เธอจงถวายสลากภัต (อาหารที่ทายกถวายตามสลาก คือผู้ประสงค์จะทำบุญแต่ละคนจะจับสลาก ว่าตนจะได้ถวายอาหารแก่ภิกษุรูปใด - ธัมมโชติ) ถวายปักขิกภัต (ภัตที่ทายกถวายในวันปักษ์ คือทุก 15 วัน - ธัมมโชติ) ถวายวัสสาวาสิกภัต (ภัตที่ทายกถวายแก่ภิกษุผู้จำพรรษา) ถวายปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น, แบ่งทรัพย์สมบัติของตนให้เป็น ๓ ส่วน ประกอบการงานด้วยทรัพย์ส่วน ๑ เลี้ยงบุตรและภรรยาด้วยทรัพย์ส่วน ๑ ถวายทรัพย์ส่วน ๑ ไว้ในพระพุทธศาสนา."

    เขารับว่า "ดีละ ขอรับ" แล้วทำกิจทุกอย่าง ตามลำดับแห่งกิจที่พระเถระบอก แล้วเรียนถามพระเถระอีกว่า "กระผมจะทำบุญอะไรอย่างอื่น ที่ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกเล่า ? ขอรับ."

    พระเถระตอบว่า "ผู้มีอายุ เธอจงรับไตรสรณะ (คือยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง - ธัมมโชติ) (และ) ศีล ๕." เขารับไตรสรณะและศีล ๕ แม้เหล่านั้นแล้ว จึงเรียนถามถึงบุญกรรมที่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น.

    พระเถระก็แนะว่า "ถ้ากระนั้น เธอจงรับศีล ๑๐." เขากล่าวว่า "ดีละ ขอรับ" แล้วก็รับ (ศีล ๑๐). เพราะเหตุที่เขาทำบุญกรรมอย่างนั้นโดยลำดับ เขาจึงมีนามว่า อนุปุพพเศรษฐีบุตร.

    เขาเรียนถามอีกว่า "บุญอันกระผมพึงทำ แม้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ยังมีอยู่หรือ ? ขอรับ" เมื่อพระเถระกล่าวว่า "ถ้ากระนั้นเธอจงบวช," จึงออกบวชแล้ว.

    ภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรมรูปหนึ่งได้เป็นอาจารย์ของเธอ, ภิกษุผู้ทรงพระวินัยรูปหนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์, ในเวลาที่ภิกษุนั้นได้อุปสมบทแล้วมาสู่สำนักของ (อาจารย์ของ) ตน อาจารย์กล่าวปัญหาในพระอภิธรรมว่า "ชื่อว่าในพระพุทธศาสนา ภิกษุทำกิจนี้จึงควร, ทำกิจนี้ไม่ควร."

    ฝ่ายพระอุปัชฌาย์ก็กล่าวปัญหาในพระวินัย ในเวลาที่ภิกษุนั้นมาสู่สำนักของตนว่า "ชื่อว่าในพระพุทธศาสนา ภิกษุทำสิ่งนี้ควร, ทำสิ่งนี้ไม่ควร; สิ่งนี้เหมาะ สิ่งนี้ไม่เหมาะ."

    อยากสึกจนซูบผอม

    ท่านคิดว่า "โอ ! กรรมนี้หนัก; เราใคร่จะพ้นจากทุกข์จึงบวช, แต่ในพระพุทธศาสนานี้ สถานเป็นที่เหยียดมือของเราไม่ปรากฏ, (คือมีข้อห้ามและข้อปฏิบัติมากมายเต็มไปหมด จนแทบทำอะไรตามความพอใจไม่ได้เลย - ธัมมโชติ) เราดำรงอยู่ในเรือนก็อาจพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะได้ เราควรเป็นคฤหัสถ์ (ดีกว่า)."

    ตั้งแต่นั้น ท่านกระสัน (จะสึก) หมดยินดี (ในพรหมจรรย์) ไม่ทำการสาธยายในอาการ ๓๒, (การพิจารณาส่วนประกอบต่างๆ ของร่างกาย 32 อย่าง เพื่อคลายความยึดมั่น - ธัมมโชติ) ไม่เรียนอุเทศ (หัวข้อธรรม บางครั้งหมายถึงปาฏิโมกข์ คือศีล 227 ข้อ - ธัมมโชติ) ผอม ซูบซีด มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ถูกความเกียจคร้านครอบงำ เกลื่อนกล่นแล้วด้วยหิดเปื่อย.

    ลำดับนั้น พวกภิกษุหนุ่มและสามเณรถามท่านว่า "ผู้มีอายุ ทำไม ? ท่านจึงยืนแฉะอยู่ในที่ยืนแล้ว นั่งแฉะในที่นั่งแล้ว ถูกโรคผอมเหลืองครอบงำ ผอม ซูบซีด มีตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น ถูกความ เกียจคร้านครอบงำ เกลื่อนกล่นแล้วด้วยหิดเปื่อย, ท่านทำกรรมอะไรเล่า ?"

    ภิกษุ. (นั้นตอบว่า) ผู้มีอายุ ผมเป็นผู้กระสัน.

    ภิกษุหนุ่มและสามเณร. (ถามว่า) เพราะเหตุไร ?

    ภิกษุนั้นบอกพฤติการณ์นั้นแล้ว, ภิกษุหนุ่มและสามเณรเหล่านั้นบอกแก่พระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของท่านแล้ว. พระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ได้พากันไปยังสำนักพระศาสดา.

    รักษาจิตอย่างเดียวอาจพ้นทุกข์ได้

    (คำว่าอาจ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่า 1. กล้า, ห้าวหาญ 2. มีคุณสมบัติเหมาะแก่การจัดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง 3. คำช่วยกริยาบอกการคาดคะเน ในที่นี้น่าจะเป็นความหมายที่ 2. มากกว่าความหมายอื่น - ธัมมโชติ)

    พระศาสดาตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมาทำไมกัน ?"

    อาจารย์และอุปัชฌาย์. (ทูลว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปนี้กระสันในศาสนาของพระองค์.

    พระศาสดา. ได้ยินว่า อย่างนั้นหรือ ? ภิกษุ.

    ภิกษุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

    พระศาสดา. เพราะเหตุไร ?

    ภิกษุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ (เพราะ) ข้าพระองค์ใคร่จะพ้นจากทุกข์จึงได้บวช, พระอาจารย์ของข้าพระองค์นั้นกล่าวอภิธรรมกถา, พระอุปัชฌาย์กล่าววินัยกถา. ข้าพระองค์นั้นได้ทำความตกลงใจว่า 'ในพระพุทธศาสนานี้ สถานเป็นที่เหยียดมือของเราไม่มีเลย, เราเป็นคฤหัสถ์ก็อาจพ้นจากทุกข์ได้, เราจักเป็นคฤหัสถ์' ดังนี้ พระเจ้าข้า.

    พระศาสดา. ภิกษุ ถ้าเธอจักสามารถรักษาได้เพียงสิ่งเดียวเท่านั้น, กิจคือการรักษาสิ่งทั้งหลายที่เหลือ ย่อมไม่มี.

    ภิกษุ. อะไร ? พระเจ้าข้า.

    พระศาสดา. เธอจักอาจรักษาเฉพาะจิตของเธอ ได้ไหม ?

    ภิกษุ. อาจรักษาได้ พระเจ้าข้า.

    พระศาสดาประทานพระโอวาทนี้ว่า " ถ้ากระนั้น เธอจงรักษาเฉพาะจิตของตนไว้, เธออาจพ้นจากทุกข์ได้" ดังนี้เเล้ว จึงตรัสพระคาถานี้​
    สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ ยตฺถ กามนิปาตินํ
    จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ.

    "ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิต ที่เห็นได้แสนยาก
    ละเอียดยิ่งนัก มันตกไปในอารมณ์ตามความใคร่,
    (เพราะว่า) จิตที่คุ้มครองไว้ได้ เป็นเหตุนำสุขมาให้."
    (ในที่สุดภิกษุรูปนี้ก็บรรลุเป็นโสดาบัน สำหรับมรรคผลขั้นสูงกว่านี้ไม่ได้กล่าวถึงเอาไว้ในเรื่องนี้ - ธัมมโชติ)

    อรรถกถาธรรมบท จิตตวรรควรรณนา เรื่องอุกกัณฐิตภิกษุ
     
  5. buakwun

    buakwun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 กุมภาพันธ์ 2012
    โพสต์:
    2,830
    ค่าพลัง:
    +16,612
    ดีที่สุดคือพยายามรักษากาย วาจา ใจของตนให้มีสติควบคุม และไม่ทำใครทั้งนั้น ใครจะดี ใครจะชั่ว อย่าใช้อำนาจเข้าจัดการ แต่ควรใช้เมตตาธรรมเข้าช่วยเหลือจะถูกต้องกว่า
    ยึดมั่นเอาไว้ทั้งการรักษาใจ รักษาศีล และมีสติทุกเมื่ออยู่เสมอ ขอกราบอนุโมทนาในธรรมทาน
     
  6. itemnoi

    itemnoi เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มกราคม 2013
    โพสต์:
    440
    ค่าพลัง:
    +323
    ความมีสติ รู้สิ่งที่ควรคิดหรือไม่ ควรระวังการระบายออกทางทวารทั้งสาม คอยบังคับกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในขอบเขตของศีลที่เป็นสภาพปกติ
     

แชร์หน้านี้

Loading...