สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 17 สิงหาคม 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,024
    [​IMG]

    สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา
    โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


    หัวข้อ


    1. วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
    2. อุบาสกคู่ในพระพุทธศาสนา
    3. สังคายนาครั้งแรก
    4. ผู้ละเมิดทุติยปาราชิกคนแรก
    5. ผู้ละเมิดตติยาปาราชิกคนแรก
    6. ผู้ละเมิดจตุตถปาราชิกคนแรก
    7. พระธรรมทูตชุดแรก
    8. พระไตรปิฎกเกิดขึ้นครั้งแรก
    9. การเกิดนิกายครั้งแรก
    10. วัดแห่งแรกในเมืองสาวัตถี
    11. พระราชาผู้นับถือพระพุทธศาสนาองค์แรก
    12. พระสงฆ์ทะเลาะกันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งแรก

    1. วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา


    เมื่อพูดถึงวัดในพระพุทธศาสนา หลายท่านอาจนึกไปถึงวัดพระเชตวัน เพราะมีพูดถึงบ่อยในคัมภีร์พระพุทธศาสนา แต่มิใช่วัดแรกดอกนะครับ วัดแรกสุดชื่อว่า วัดพระเวฬุวัน

    เวฬุวัน แปลว่า ป่าไผ่ เป็นที่เสด็จประพาสของพระมหากษัตริย์ มิใช่เฉพาะพระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธ หากมีมาก่อนรัชกาลของพระองค์ด้วย นานเท่าใดไม่แจ้ง แต่มีประวัติน่าสนใจ

    ป่าไผ่นี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "กลันทกนิวาปสถาน" สถานเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต หรือสถานเลี้ยงกระแต แสดงว่ามีกระแตมากมายในป่าไผ่นี้

    แม่นแล้วครับ สมัยหนึ่ง พระราชาเมืองนี้พระองค์หนึ่ง กลับจากไปล่าเนื้อมาบรรทมพักผ่อนอยู่ใต้กอไผ่ในป่านี้ ขณะม่อยหลับไป ก็พลันสะดุ้งตื่น เพราะเสียงกระแตร้องกันเจี๊ยวจ๊าวๆ (เจี๊ยวจ๊าวน่าจะเป็นเสียงลิงมากกว่าเนาะ)

    อสรพิษตัวหนึ่งเลื้อยผ่านมายังที่พระราชาบรรทมอยู่ พระองค์รอดจากถูกอสรพิษกัด เพราะฝูงกระแตช่วยปลุกให้ตื่นบรรทม ทรงสำนึกถึงบุญคุณของฝูงกระแต จึงทรงประกาศให้ป่าไผ่เป็นอุทยานสงวนพันธุ์สัตว์โดยเฉพาะกระแต พระราชทานทรัพย์ตั้งเป็นกองทุนสำหรับซื้ออาหารเลี้ยงกระแต ตั้งแต่นั้นมาป่าไผ่นี้ จึงมีนามอีกอย่างหนึ่งว่า "กลันทกนิวาปสถาน" ด้วยประการฉะนี้แล

    เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดชฎิลสามพี่น้องพร้อมทั้งบริวารจำนวนรวมทั้งสิ้น (รวมทั้งสามพี่น้องด้วย) 1,003 คน ให้เห็นความเหลวไหลของการบูชาไฟ จนมีจิตเลื่อมใส ทูลขอบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์แล้วนั้น พระเจ้าพิมพิสาร พร้อมข้าราชบริพาร ผู้นับถือชฎิลสามพี่น้อง ได้เสด็จมาเพื่อฟังธรรมจากอาจารย์ของตนตามที่เคยมา ได้ทอดพระเนตรเห็นอาจารย์ของพระองค์ ปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ นั่งห้อมล้อมพระพุทธองค์อยู่

    พระราชาและชาวเมืองต่างก็สงสัยว่า ระหว่าง ทักษิณ กับเอกยุทธ เอ๊ย สมณะหนุ่มท่าทางสง่างามนั่งอยู่ตรงกลาง กับอาจารย์ของพวกตน อันมีปูรณกัสสปะเป็นประมุขนั้นใครใหญ่กว่ากัน พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของพระราชาและชาวเมือง จึงรับสั่งกับพระปูรณกัสสปะว่า เธอบำเพ็ญตบะทรมานตัวเองจนผ่ายผอมบูชาไฟตลอดกาลนาน บัดนี้เธอคิดอย่างไรจึงละทิ้งความเชื่อถือเดิมเสีย มาบวชเป็นสาวกของเราตถาคต

    พูดง่ายๆ ก็คือถือตบะเข้มงวดมานาน ทำไมตอนนี้เธอ "เปลี๊ยนไป๋" ว่าอย่างนั้นเถิด

    พระปูรณกัสสปะจึงห่มผ้าเฉวียงบ่า กราบบังคมแทบพระยุคลบาทแล้ว เหาะขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศระยะสูงเท่าลำตาล ประกาศว่า ตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดาของตน แล้วลงมากราบแทบพระยุคลบาทอีกครั้ง ทำให้ประชาชนอันมีพระพิมพิสารทรงเป็นประมุข หายสงสัยโดยสิ้นเชิง ต่างก็สดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์

    พระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุโสดาปัตติผล ทรงประกาศตนเป็นอุบาสกถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ พระองค์จึงทรงมอบถวายป่าไผ่ดังกล่าวนี้ให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์

    วัดพระเวฬุวัน จึงนับเป็นวัดแรกสุดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาด้วยประการฉะนี้แล

    มีเกร็ดเล่าขานกันมาว่า หลังจากถวายวัดแล้ว พระเจ้าพิมพิสารมิได้กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญแก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไป ตกกลางคืนมา พวกเปรตจึงมาปรากฏตัวขอส่วนบุญ พระองค์ทรงสะดุ้งตื่นขึ้นมา รีบไปเฝ้าพระพุทธองค์แต่เช้าตรู่ กราบทูลเล่าเรื่องราวให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า เปรตเหล่านั้นคือญาติของพระเจ้าพิมพิสารในชาติปางก่อน ทำบาปกรรมไว้ รอส่วนบุญฯที่ญาติจะอุทิศไปให้ แต่ไม่มีใครคิดถึง ครั้นทราบว่าพระเจ้าพิมพิสารทรงทำบุญกุศล ถวายวัดแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ จึงพากันมาขอส่วนบุญ แต่พระองค์ก็มิได้อุทิศให้

    เมื่อพระเจ้าพิมพิสารกราบทูลถามว่า จะให้ทำอย่างไร พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้กรวดน้ำตั้งใจอุทิศ พระเจ้าพิมพิสารจึงอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่พระราชวัง แล้วทรงกรวดน้ำอุทิศให้พวกเปรตเหล่านั้น

    คราวนี้พวกเขาพากันมาเป็นขบวนยาวเหยียด ยังกับขบวนติดตามอารักขานกขมิ้นสัญจรก็มิปาน ขอบบุญขอบคุณเป็นการใหญ่ ว่าที่ทรงอุทิศส่วนบุญไปให้นั้น พวกเขาได้รับแล้ว "ขอบพระทัยฝ่าบาท" ตามสำนวนหนังกำลังภายใน ถ้าพูดเป็นฮินดูก็ว่า "พหุต ธันยวาท" (ขอบคุณมาก) ประมาณนั้น

    พวกเปรตเหล่านี้ทำบาปกรรมอะไรไว้ในชาติก่อน อยากทราบไหมครับ พระเจ้าพิมพิสารกราบทูลถามพระพุทธองค์ พระองค์ทรงเล่าให้ฟังว่า ในอดีตกาลยาวนานโพ้น พระเจ้าพิมพิสารและเปรตพวกนี้เป็นชาวเมืองเมืองหนึ่ง ต่างก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พากันทำบุญเป็นการใหญ่ บางครั้งถึงกับแข่งขันกันถวายทาน ว่าใครจะถวายทานได้ประณีตกว่ากัน

    วันหนึ่งขณะที่พวกเขาตระเตรียมภัตตาหารรอถวายพระอยู่ พระสงฆ์ยังมาไม่ถึง บางพวกก็เกิดหิวขึ้นมา หยิบฉวยเอาอาหารที่เตรียมจะถวายพระมากินก่อน ด้วยบาปกรรมนี้แหละ พวกเขาจึงมาเกิดเป็นเปรตรับใช้กรรมตลอดเวลายาวนาน

    ฟังเรื่องนี้แล้ว ขนลุกไหมครับท่าน คนโบราณนั้นเขากลัวบาปกลัวกรรมมากนะครับ ของที่จะใส่บาตรแม้ว่าจะใส่ไม่หมด หรือไม่ได้ใส่ เขาจะไม่เอามากิน จะพยายามตามไปถวายพระถึงวัด เพราะถือว่าตั้งใจจะถวายพระแล้ว เป็นของสงฆ์ไม่ควรเอามากิน

    สมัยนี้หรือครับ อย่าว่าแต่แค่นี้เลย ที่ธรณีสงฆ์ที่เขาถวายสงฆ์ไปแล้ว ยังแย่งเอามาทำสนามกอล์ฟเลย แค่นั้นยังไม่พอ จะออกกฎหมายจัดรูปที่ดิน ผนวกเอาที่วัดและธรณีสงฆ์ทั้งประเทศมาจัดสรรปันแบ่งอีกด้วย โชคดีพระสงฆ์องค์เจ้ากลัวท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายจะเป็นเปรตกันทั่วหน้า จึงได้ทักท้วงมิให้ทำ ดีว่าท่านเหล่านั้นยังพอมีหิริโอตตัปปะอยู่แล้ว ได้ถอนที่วัดและธรณีสงฆ์ออกจากร่างกฎหมายดังกล่าว ดังที่ทราบกันดีแล้ว

    ไม่อย่างนั้นคงได้เห็นเปรตธรณีสงฆ์ใส่เสื้อนอกเดินเพ่นพ่านเต็มสภาแน่ โยมเอ๋ย

    2. อุบาสกคู่ในพระพุทธศาสนา


    ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา มีอุบาสกอุบาสิกา 2 คู่ คู่หนึ่งเป็นอุบาสกล้วน ถึงรัตนะ 2 คือ พระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ คู่ที่สองเป็นอุบาสกกับอุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ขอเล่าโดยย่อดังนี้

    (1) ผู้ถึงรัตนะสองคู่แรก

    อุบาสกคู่นี้มีนามว่า ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ
    ว่ากันว่าเธอทั้งสองมาจากอุกกลชนบท (หรืออุกกลาชนบท) อยู่แห่งหนตำบลใดไม่แจ้ง แต่น่าจะจากภาคเหนือของชมพูทวีป แถวตักสิลาโน่นแหละครับ

    ทั้งสองคนนี้เป็นพ่อค้าเดินทางมาค้าขายผ่านมาทางตำบลคยา สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ได้พบพระพุทธเจ้าขณะประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) ในสัปดาห์ที่ 3 หลังจากตรัสรู้ (หลักฐานฝ่ายอรรถกถาว่าเป็นสัปดาห์ที่ 7)

    เมื่อเห็นพระพุทธองค์ก็มีจิตเลื่อมใส ได้น้อมนำเอา "ข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง" (ความจริงต้องพูดสับลำดับเป็น "สัตตุผง สัตตุก้อน") ไปถวาย ขณะนั้นพระพุทธองค์ยังไม่มีบาตร ร้อนถึงท้าวโลกบาลทั้ง 4 ได้น้อมนำบาตรมาถวายองค์ละใบ พระพุทธองค์ทรงดำริว่าใบเดียวก็เพียงพอแก่เรา จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง 4 ในประสานเป็นใบเดียว ทรงรับข้าวสัตตุผงและสัตตุก้อนจากพ่อค้าทั้งสอง เสวยเสร็จแล้วก็ประทานอนุโมทนา

    สัตตุผงนั้นบาลีเรียกว่า "มันถะ" คือข้าวตากที่ตำละเอียด สัตตุก้อนบาลีเรียกว่า "มธุบิณฑิกะ" คือข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อนๆ

    พ่อค้าทั้งสองได้เปล่งวาจาถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ ไม่เปล่งวาจาถึงพระสงฆ์ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีพระสงฆ์ ทั้งสองจึงเรียกว่า อุบาสกผู้ถึงรัตนะสองเป็นสรณะ (เทฺววาจิกอุบาสก)

    ในคัมภีร์พระไตรปิฎกพูดเพียงว่า เมื่อถวายสัตตุผง สัตตุก้อน แด่พระพุทธเจ้าแล้ว พ่อค้าทั้งสองก็กลับมาตุภูมิ เรื่องจบแค่นี้ครับ

    แค่นี้จริงๆ แต่พี่หม่องไม่ยอมให้จบ ได้แต่งต่อว่า พ่อค้าทั้งสองก่อนกลับได้กราบทูลขอของที่ระลึกเพื่อไปสักการบูชาเมื่อจากพระพุทธองค์ไป พระพุทธองค์ทรงเอาพระหัตถ์ลูบพระเศียร เส้นพระเกศา 8 องค์หลุดติดพระหัตถ์มา พระพุทธองค์ประทานให้แก่พ่อค้าทั้งสอง

    พ่อค้าทั้งสองได้นำพระเกศธาตุ 8 องค์นั้นไปก่อเจดีย์บรรจุไว้บูชาที่บ้านเมืองของตน พระเจดีย์นั้นรู้กันในปัจจุบันนี้ว่า ชะเวดากอง

    ตปุสสะกับภัลลิกะจะเป็นใครไม่ได้นอกจากชาวพม่าหงสาวดี พี่หม่องอ้างปานนั้นแหละครับ ส่วนท่านจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่จะพิจารณา

    การแต่งตำนานเพิ่มเติมจากต้นฉบับเดิมทำกันทั่วไป พี่ไทยเราก็แต่งเติมครับ อย่างเรื่องนาคแปลงกายเป็นคนมาบวช ภายหลังความลับเปิดเผยขึ้น พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้ลาสิกขา แล้วบัญญัติข้อห้ามว่าสัตว์เดียรัจฉานห้ามบวชเป็นภิกษุ ถึงกับมีคำซักถามตอนจะบวชว่า "มนุสฺโสสิ = เจ้าเป็นมนุษย์หรือไม่"

    เรื่องเดิมมีแค่นี้ แต่พี่ไทยแต่งเพิ่มว่า นาคแกเสียอกเสียใจมากที่ไม่มีวาสนาบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา จึงกราบขอพรพระพุทธองค์ ขอฝากชื่อไว้ในพระพุทธศาสนา ต่อไปใครจะมาบวชขอให้เรียกว่า "นาค" เถิด พระพุทธองค์ก็ทรงรับ

    เพราะเหตุนี้แล ผู้จะเข้ามาบวชจึงเรียกว่านาค และการบวชเรียกว่าบวชนาค มิใช่บวชนาย ก.นาย ข. เห็นหรือยังครับพี่ไทยก็ "ตัดต่อ" เก่งไม่แพ้พี่หม่องเหมือนกัน

    ดีเท่าไรแล้วที่ไม่แย่งเอาตปุสสะ ภัลลิกะมาเป็นคนไทย เพราะฟังชื่อแล้วน่าจะใกล้มาทางไทยมากกว่าพม่า

    ตปุสสะ ก็ "ตาบุตร" ภัลลิกะ ก็ "ตาพัน" ยังไงล่ะครับ


    (2) ผู้ถึงพระรัตนตรัยคู่แรก

    บิดามารดาของยสกุมาร
    บิดาชื่อเรียงเสียงใดไม่แจ้ง บอกแต่ว่าเป็นเศรษฐีเมืองพาราณสี ส่วนมารดานั้น แม้พระไตรปิฎกจะไม่เอ่ยนาม แต่อรรถกถาก็โยงว่าคือนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมุปายาสแด่พระบรมโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้นั้นแล

    เมื่อยสกุมารผู้บุตร เกิดเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส มองเห็นแต่ความทุกข์ที่รุมเร้าจิตใจ จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านกลางดึก หลังจากตื่นขึ้นมาเห็นภาพอันน่าสังเวชของเหล่านางรำที่นอนหลับใหล แสดง "ทัศนะอุจาด" ต่างๆ เช่น บางนางก็นอนกรนเสียงดัง น้ำลายไหลจากปาก บางนางก็กัดฟัน ละเมอฟังไม่ได้ศัพท์ บางนางผ้าผ่อนหลุดลุ่ยเปิดอวัยวะที่ควรปิด เป็นต้น

    ถ้าสมัยที่ยสกุมารยังสนุกอยู่กับความสุขทางกาม ก็คงเห็นภาพเหล่าน่าดูน่าชมดุจน้องนัทน้องแนทอะไรนั้น แต่บังเอิญว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ยสกุมาเอือมกับความสุขทางเนื้อหนังมังสาเสียแล้ว ภาพเหล่านี้จึงปรากฏต่อเธอดุจซากศพในป่าช้าปานนั้น

    จึงเดินลงเรือนไป พลางเปล่งอุทานด้วยความสลดใจว่า "อุปทฺทูตํ วต โภ อุปสฏฺฐํ" สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงแปลว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" ถ้าจะแปลให้ถึงใจก็ต้องว่า "วุ่นวายจริงโว้ย กลุ้มจริงโว้ย" ประมาณนั้น

    เขาเดินบ่นไปจนถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ขณะพระพุทธองค์เสด็จจงกรมอยู่ พระองค์ตรัสตอบว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่สิ ยสะ เราจะแสดงธรรมให้ฟัง" เขาจึงเข้าไปกราบพระบาท สดับพระธรรมเทศนาจนกระทั่งได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ

    บิดามารดาของยสกุมารตามหาบุตรมายังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พบพระพุทธองค์ ได้ฟังพระธรรมเทศนา ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่บิดามารดาของตนนั้น พระยสะนั่งอยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์โดยต่างฝ่ายต่างก็มองไม่เห็นกัน ด้วยการบันดาลฤทธิ์ของพระพุทธองค์ เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง พระยสะได้บรรลุพระอรหันต์ บิดามารดาได้ดวงตาเห็นธรรม

    ทั้งสองได้เปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต นับเป็นอุบาสกอุบาสิกาคู่แรกที่ถึงพระรัตนตรัย


    3. สังคายนาครั้งแรก


    สังคายนา คือ การรวบรวมหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหมวดหมู่ ก่อนหน้าสังคายนาเกิดขึ้นจริงๆ พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา ได้รวบรวมหมวดหมู่แห่งธรรมะตั้งแต่หมวดหนึ่งถึงหมวดสิบ และเกินสิบไว้ก่อนแล้ว เชื่อว่าสังคีติสูตร และ ทสุตตรสูตร ที่ไม่นับเป็นสังคายนาก็เพราะยังไม่สมบูรณ์ สังคายนาครั้งแรกที่สมบูรณ์เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพานได้ 3 เดือน โดยพระอรหันต์สาวก 500 รูป อันมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

    เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยานของเหล่ามัลลกษัตริย์ แห่งเมืองกุสินารานั้น พระมหากัสสปะอยู่ต่างเมือง ทราบข่าวพระประชวรของพระพุทธองค์ จึงเดินทางพร้อมภิกษุบริวารประมาณ 500 รูป เพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ ก่อนเข้าไปยังเมืองกุสินารา ได้พักเหนื่อยอยู่ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่งขณะนั้นอาชีวกนักบวชนอกพุทธศาสนาคนหนึ่ง ถือดอกมณฑารพเดินออกนอกเมืองมา พระมหากัสสปะจึงเอ่ยถามถึงพระพุทธเจ้า อาชีวกคนนั้นกล่าวว่า ศาสดาของพวกท่านปรินิพพานได้ตั้ง 7 วันแล้ว พวกท่านยังไม่ทราบอีกหรือ

    ได้ยินดังนั้นภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ก็นั่งนิ่งปลงธรรมสังเวช พิจารณาความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ฝ่ายภิกษุที่ยังเป็นเสขบุคคล และปุถุชนอยู่จำนวนมาก ก็พากันร่ำไห้อาลัยอาวรณ์ในพระพุทธองค์ มีขรัวตารูปหนึ่งนามสุภัททะ ได้เห็นภิกษุทั้งหลายร่ำไห้อยู่ จึงปลอบโยนว่า นิ่งเสียเถอะ อย่าร้องไห้เลย พระศาสดา ปรินิพพานไปก็ดีแล้ว สมัยยังทรงพระชนม์อยู่ทรงจู้จี้สารพัด ห้ามโน่นห้ามนี่ จะทำอะไรก็ดูจะผิดไปหมด ไม่มีอิสระเสรีภาพเลย บัดนี้เราเป็นอิสระแล้ว ปรารถนาจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้

    พระมหากัสสปะได้ยินดังนั้นก็สลดใจ "โอหนอ พระบรมศาสดาสิ้นไปยังไม่ข้าม 7 วันเลย สาวกของพระองค์พูดได้ถึงขนาดนี้ ต่อไปนานเข้าจะขนาดไหน"

    ท่านรำพึงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะทรงพระชนม์อยู่ทรงมีพระมหากรุณาแก่ท่านเป็นกรณีพิเศษไปประทานบาตรและจีวรแก่ท่าน และทรงรับเอาบาตรจีวรของท่านไปทรงใช้เอง นับว่าทรงไว้วางพระทัยต่อท่านเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ถูกดูหมิ่น จ้วงจาบเช่นนี้ จะนิ่งดูดายหาควรไม่ ท่านจึงตัดสินใจทำสังคายนาโดยคัดเลือกพระอรหันต์สาวกผู้ทรงอภิญญา ได้จำนวน 499 รูป เว้นไว้ 1 รูป เพื่อพระอานนท์

    ขณะนั้นพระอานนท์ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล จะเลือกท่านด้วยก็ไม่ได้ เพราะคุณสมบัติยังไม่ครบครั้นจะไม่เลือกก็ไม่ได้ เพราะการทำสังคายนาครั้งนี้ขาดพระอานนท์ไม่ได้ เนื่องจากพระอานนท์เป็นผู้ใกล้ชิดพระพุทธองค์มากที่สุด ได้ทรงจำพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์มากกว่าใคร พระมหากัสสปะจึงให้โอกาสพระอานนท์ เพื่อเร่งทำความเพียรเพื่อทำที่สุดทุกข์ให้ได้ทันกำหนดสังคายนา อันจะมีขึ้นใน 3 เดือนข้างหน้า

    พระอานนท์จึงเร่งบำเพ็ญเพียรทางจิตอย่างหนัก แต่ยิ่งเพียรมากเท่าไร ก็ดูเสมือนว่าจุดหมายปลายทางห่างไกลออกไปทุกที จึงรำพึงว่า พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ไว้ก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานว่า เราจะทำที่สุดทุกข์ได้ไม่นานหลังจากพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน คำพยากรณ์ของพระพุทธองค์คงไม่มีทางเป็นอื่นแน่ อย่ากระนั้นเลย เราจะต้องเพียรให้มากขึ้นกว่าเดิม

    วันหนึ่ง หลังจากเพียรภาวนาอย่างหนักรู้สึกเหนื่อย จึงกำหนดว่าจะพักผ่อนสักครู่แล้วจะเริ่มใหม่ จึงนั่งลงเอนกายนอนพัก เท้าไม่ทันพ้นพื้น ศีรษะไม่ทันถึงหมอน ท่านก็ "สว่างโพลงภายใน" บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ขีณาสพทรงอภิญญาในบัดดล

    ขณะนั้นพระสงฆ์ 499 รูป กำลังนั่งประชุมกันตามลำดับพรรษาเว้นอาสนะว่างไว้หนึ่งที่สำหรับพระอานนท์ พระอานนท์ต้องการประกาศว่าท่านได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว จึงเข้าฌานบันดาลฤทธิ์ดำดินไปโผล่ขึ้นนั่งบนอาสนะ ท่ามกลางสังฆสันนิบาต ทันเวลาพอดี

    เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว พระมหากัสสปะประมุขสงฆ์ได้ประกาศให้พระอุบาลีผู้เชี่ยวชาญพระวินัยทำหน้าที่วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์ผู้เป็นพหูสูต ทำหน้าที่วิสัชนาพระธรรม โดยตัวท่านเองทำหน้าที่เป็นผู้ซักถามประเด็นต่างๆ มีพระสงฆ์ทั้งปวงช่วยกันสอบทาน

    ลักษณะของการสังคายนาคงเป็นทำนองนี้คือ

    1. พระสงฆ์ทั้ง 500 รูป คงต่างก็เสนอพระธรรมเทศนาที่ตนได้ยินมาจากพระพุทธเจ้า มากบ้างน้อยบ้าง ข้อมูลส่วนใหญ่ก็ได้มาจากพระอุบาลี และพระอานนท์

    2. พระธรรมเทศนานั้นๆ พระพุทธองค์คงทรงแสดงโดย "ภาษา" ถิ่นต่างๆ พระสงฆ์ในที่ประชุมคงตกลงกันว่าจะต้องใช้ภาษาใดภาษาหนึ่ง "ร้อยกรอง" เป็นภาษา "มาคธี"

    3. เมื่อร้อยกรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงก็ "สวดสังวัธยายร่วมกัน" คือท่องพร้อมๆ กัน เพื่อให้จำได้คล่องปาก เพราะฉะนั้นจึงเรียกกิจกรรมครั้งนี้ว่า "สังคายนา" (แปลว่าสวดร่วมกัน, สวดพร้อมกัน) ด้วยประการฉะนี้

    สังคายนาครั้งนี้กระทำ ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต นอกเมืองราชคฤห์เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ มีพระเจ้าอชาตศัตรูผู้ครองนครขณะนั้นทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ กระทำกันอยู่เป็นเวลา 7 เดือนจึงสำเร็จ

    การทำสังคายนาครั้งนี้เรียกว่า "สังคายนาพระธรรมวินัย" เนื่องจากยังไม่มีพระไตรปิฎกและได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยระบบ "มุขปาฐะ" (คือการท่องจำ)


    4. ผู้ละเมิดทุติยปาราชิกคนแรก


    พระภิกษุรูปแรกที่ลักของชาวบ้านจนเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติปาราชิกข้อที่ 2 (ห้ามลักทรัพย์) คือ พระธนิยะ ชาวเมืองราชคฤห์

    ก่อนหน้านี้อาจมีพระภิกษุลักทรัพย์หรือถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ให้ แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเท่ากับท่านธนิยะ ใหญ่ขนาดไหน ก็ขนาดลักไม้จากโรงไม้หลวงเลยทีเดียว

    เรื่องราวมีมาดังนี้ ขอรับ ท่านธนิยะนี้เป็นช่างก่อสร้างมาก่อน บวชเข้ามาแล้วก็สร้างกุฏิทำด้วยดินเผาตกแต่งภายนอกภายในสวยงามตามประสาช่าง พระสงฆ์องค์เจ้าเดินผ่านไปมาก็เข้ามาชม ต่างก็สรรเสริญในความเก่งของท่านธนิยะ แต่พระคุณเจ้าที่ท่านมีศีลาจารวัตรเคร่งครัด พากันตำหนิท่านธนิยะว่า ไม่ควรสร้างกุฏิสวยงามอย่างนี้

    ความทราบถึงพระกรรณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เสด็จมาทอดพระเนตรกุฏิอื้อฉาวนี้ด้วยพระองค์เอง แล้วตรัสเรียกพระธนิยะมาตำหนิโดยประการต่างๆ ทรงสั่งให้ทุบทำลายกุฏิดินของพระธนิยะเสีย

    เมื่อกุฏิสวยงามที่สร้างมากับมือถูกพระพุทธองค์รับสั่งให้ทำลาย พระธนิยะคิดจะสร้างกุฏิไม้แทน จึงไปยังโรงไม้หลวง บอกคนเฝ้าโรงไม้หลวงว่า จะมาขนไม้ไปสร้างกุฏิ

    "ไม้นี้เป็นของหลวงนะ ขอรับ" คนเฝ้าโรงไม้ทักท้วง

    "อาตมาทราบแล้ว" พระหนุ่มตอบอย่างสงบ

    "ไม้หลวงเป็นสมบัติของพระราชานะครับ พระองค์ทรงพระราชทานหรือยัง"

    "พระราชทานเรียบร้อยแล้ว โยม"

    เมื่อพระภิกษุหนุ่มยืนยันว่าไม้นี้ได้รับพระราชทานจากในหลวงแล้ว ก็มอบให้ภิกษุหนุ่มขนไป

    วันหนึ่งวัสสการพราหมณ์ ปุโรหิตแห่งพระราชสำนักเมืองราชคฤห์ เดินทางมาตรวจโรงไม้ เห็นไม้หายไปจำนวนมาก จึงซักถามคนเฝ้า คนเฝ้าบอกว่าพระสมณศากยบุตรรูปหนึ่งเอาไป บอกว่าได้รับพระราชทานแล้วด้วย

    วัสสการพราหมณ์จึงไปกราบทูลถามพระเจ้าพิมพิสารถึงเรื่องนี้ พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้นิมนต์พระธนิยะเข้าไปพระราชวัง ตรัสกับภิกษุหนุ่มว่า

    "นัยว่าพระคุณเจ้าเอาไม้หลวงไปจำนวนหนึ่ง เป็นความจริงหรือไม่"

    "เป็นความจริง มหาบพิตร" ภิกษุหนุ่มตอบ

    "ไม้เหล่านั้นเป็นของหลวง คนที่ได้รับอนุญาตจากโยมเท่านั้น จึงจะเอาไปได้ โยมมีภารกิจมากมายจำไม่ได้ว่าเคยออกปากถวายไม้แก่พระคุณเจ้าเมื่อใด ขอได้เตือนความจำโยมด้วยเถิด"

    "ขอถวายพระพร เมื่อพระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกนั้น พระองค์ตรัสว่า ต้นไม้และลำธารทั้งหลาย ข้าพเจ้ามอบให้แก่สมณชีพราหมณ์ผู้ทรงศีล ขอจงใช้สอยตามอัธยาศัยเถิด นี้แสดงว่าพระองค์ได้พระราชทานไม้นี้ให้แก่อาตมาแต่บัดนั้นแล้ว" พระหนุ่มอธิบาย

    ถ้าเป็นผู้มีอำนาจสมัยนี้ คงฉุนขาด ถึงขั้นสบถว่าคนอย่างนี้ไม่เอามาทำพ่อแน่นอน แต่บังเอิญคู่กรณีของพระในเรื่องนี้เป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ถึงกิเลสยังไม่หมดสิ้นจากจิตสันดาน ก็เบาบางลงมากแล้ว พระองค์ตรัสด้วยพระสุรเสียงเข้มว่า

    "คำกล่าวนั้นกล่าวตามโบราณราชประเพณี ในเวลาประกอบพระราชพิธี หมายถึงว่า สมณชีพราหมณ์จะใช้สอยน้ำลำธาร หรือต้นไม้ใบหญ้าในป่า ที่ไม่มีเจ้าของนั้นสมควรอยู่ แต่ไม้ในโรงไม้หลวงนี้มีเจ้าของ หาควรที่สมณะจะเอาไปโดยพลการไม่ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ทำอย่างนี้คงถูกลงอาญาแล้ว แต่เผอิญว่าพระคุณเจ้าเป็นสมถะ จึงไม่เอาโทษ แต่ต่อไปอย่าทำอย่างนี้อีก นับว่าโชคดีนะ ที่พระคุณเจ้า "พ้นเพราะขน""

    ตรัสเสร็จก็นิมนต์พระหนุ่มรีบออกจากพระราชวังไป พูดแบบหนังกำลังภายในก็ว่า "โน่นประตู ไสหัวไป" อะไรทำนองนั้น

    คำว่า "พ้นเพราะขน" เป็นสำนวนเปรียบเทียบ สัตว์ที่มีขนคือแพะ กับสัตว์ไม่มีขน มีชะตากรรมแตกต่างกัน เมื่อเขาจะหาสัตว์ไปฆ่าบูชายัญ เขาจะเอาเฉพาะแพะ ไม่เอาแกะ เพราะแกะมีขนที่เอามาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มได้ แกะจึงพ้นจาการถูกฆ่าเพราะขนของมัน

    ฉันใดก็ฉันนั้น พระหนุ่มลักไม้หลวง แต่พระราชาไม่เอาโทษ ปล่อยไป เพราะทรงเห็นแก่ผ้าเหลือง ด้วยเหตุนี้พระราชาจึงตรัสว่า พระหนุ่มรอดพ้นจากอาญา "เพราะขน"

    เหตุเกิดครั้งนี้ คงเป็นเรื่องอื้อฉาวพอสมควร ผู้คนคงบอกต่อๆ กันไป ผู้ที่จ้องจับผิดอยู่แล้ว ก็พากันกระพือข่าวในทางเสียหาย เช่น ไหนพระสมณศากยบุตร คุยนักคุยหนาว่าสละทุกสิ่งทุกอย่างมาบวชประพฤติพรหมจรรย์ ทำไมยังลักทรัพย์ของคนอื่น ดังเช่นโจรกระจอกภาคใต้ เอ๊ย ทั่วไป

    พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่อง จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ตรัสเรียกพระธนิยะผู้เป็นต้นเหตุมาสอบสวน ได้อย่างนี้ ไม่เหมาะที่พระสมณศากยบุตรจะพึงกระทำ เพราะไม่เป็นที่เลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส และทำให้คนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว เสื่อมศรัทธา

    จึงทรงบัญญัติทุติยปาราชิกว่า "ภิกษุใดถือเอาของที่เขาไม่ให้ราคาตั้งแต่ห้ามาสกขึ้นไป มีโทษหนักเรียกว่าปาราชิก ขาดจากความเป็นพระทันทีที่การกระทำเสร็จสิ้นลง

    เนื่องจากพระธนิยะเป็นคนทำผิดคนแรก พระพุทธองค์ไม่เอาผิด หากให้เธออยู่ในฐานะเป็น "อาทิกัมมิกะ" (ต้นบัญญัติ)

    ความหมายก็คือ เอาไว้ให้อ้างอิงในทางชั่วว่า อย่าทำไม่ดีเหมือนพระธนิยะนะ อะไรประมาณนั้น


    5. ผู้ละเมิดตติยาปาราชิกคนแรก


    คราวนี้ละมิดกันเป็นคณะเลยทีเดียว ไม่ใช่คนเดียวดังกรณีอื่น มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี พระองค์ทรงแสดงอสุภกรรมฐาน(ว่าด้วยความไม่สวยงามแห่งร่างกาย) ให้พระภิกษุสงฆ์ฟัง

    แสดงจบพระองค์ก็ตรัสว่า พระองค์จะหลีกเร้นอยู่กึ่งเดือน ห้ามใครรบกวน ยกเว้นพระภิกษุที่นำบิณฑบาตไปถวาย ภิกษุสงฆ์ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องความไม่งามของร่างกาย อาจจะ "อิน" มากไปหน่อยหรืออย่างไรไม่ทราบ ต่างก็เบื่อหน่าย ระอา สะอิดสะเอียนในความสกปรกเน่าเหม็นแห่งสรีระร่างกายของตนจนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ บ้างก็ฆ่าตัวตาย บ้างก็ไหว้วานให้คนอื่นช่วยปลงชีวิตตน

    ในวัดนั้นก็มี "สมณกุตตกะ" คนหนึ่งอาศัยอยู่ด้วย เป็นชายแก่ อาศัยข้าวก้นบาตรพระยังชีพ รับใช้พระในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นุ่งห่มด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ ? เช่นเดียวกับพระสงฆ์ (คือเอาผ้าสบงจีวรพระมานุ่งห่ม มิใช่พระ) โบราณาจารย์แปลว่า "ตาเถน"

    ภิกษุหลายรูปก็วานให้ "ตาเถน" คนนี้ช่วยปลงชีวิตให้ แรกๆ แกก็ตะขิดตะขวงใจ ที่ทำให้พระถึงแก่มรณภาพ แต่เมื่อพระสงฆ์ท่านบอกว่า เป็นการช่วยให้พวกท่านพ้นจากความทุกข์ ก็เลยเบาใจ ทำได้ครั้งหนึ่งแล้วก็ทำต่อๆ ไปโดยไม่รู้สึกผิดอะไร ตกลง "ตาเถน" คนนี้ปลงชีวิตพระไปหลายรูป จนพระอารามที่มีพระหนาแน่น เบาบางลงถนัด

    พระพุทธองค์เสด็จออกจากที่หลีกเร้น ทอดพระเนตรเห็นพระบางตา ตรัสถามพระอานนท์ ได้ทราบว่าพระสงฆ์สาวกของพระองค์เบื่อหน่ายในชีวิตพาปลงชีวิตตัวเองบ้าง วานให้คนอื่นปลงชีวิตบ้าง จึงตรัสตำหนิว่าเป็นเรื่องไม่สมควรที่สมณศากยบุตรจะพึงทำเช่นนั้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

    "อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราจะปลงชีวิตให้แก่มนุษย์นั้น ภิกษุนี้เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้"

    "หาสังวาสมิได้" ก็คืออยู่ร่วมกับหมู่คณะไม่ได้ ต้องสละเพศหรือสึกไป


    ต่อมาไม่นานก็มีภิกษุกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า "ฉัพพัคคีย์" (กลุ่มหกคน) จะเรียกว่า "แก๊งหกคน" ก็คงไม่ผิดเพราะท่านเหล่านี้มีพฤติกรรมแผลงๆ เลี่ยงอาบัติหรือ "เลี่ยงบาลี" ออกบ่อย จนเป็นที่ระอาของพระสงฆ์ผู้ทรงศีลทั้งหลาย แก๊งหกคนนี้ไปเห็นสตรีสาวสวยนางหนึ่ง ก็เกิด "ปิ๊ง" เข้า อยากได้มาบำรุงบำเรอ(จะขั้นไหน ตำราไม่บอก) แต่ติดขัดที่นางมีสามีแล้ว จึงออกเล่ห์เพทุบายเข้าไปหาสามีของนาง กล่าวพรรณนาคุณความตายให้อุบาสกสามีของนางจนเคลิบเคลิ้ม

    แสดงว่าแก๊งหกคนนี้มีวาทศิลป์พูดชักจูงใจคนไม่บันเบาทีเดียว

    "อุบาสก เท่าที่ผ่านมา ท่านก็ทำแต่กรรมดี มิได้ทำกรรมชั่วอะไรให้เป็นเหตุร้อนใจเลย ทำไมต้องมาทนอยู่ในโลกมนุษย์แสนสกปรกนี้ ควรรีบตายเพื่อไปเอาทิพยสมบัติบนสรวงสวรรค์ดีกว่า นะอุบาสกนะ" อะไรประมาณนั้นแหละครับ

    อุบาสกที่แสนดี แต่ค่อนข้างซื่อบื้อ ไม่รู้เล่ห์เลี่ยมของเจ้ากูกะล่อน ก็เชื่อสนิทใจ "จึงรับประทานโภชนะ อันแสลง เคี้ยวของเคี้ยวที่แสลง ดื่มน้ำที่แสลง" แล้วไม่นานก็ล้มป่วยลงและถึงแก่กรรมในที่สุด

    ภรรยาของมหาเฮง เอ๊ยอุบาสกผู้แสนซื่อ รู้ว่าสามีของตนตายเพราะอุบายสกปรกของเจ้ากูทั้งหก ก็ด่าว่าอย่างรุนแรง "ท่านทั้งหก อ้างว่าเป็นสมณศากยบุตร แต่มีพฤติกรรมไม่สมควรแก่สมณะ เป็นคนทุศีล ไร้ยางอาย พูดเท็จ ท่านหมดความเป็นสมณะแล้ว เพราะเป็นต้นเหตุให้สามีของฉันตาย"

    ความทราบถึงพระพุทธองค์ พระองค์จึงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ ให้ตามเจ้ากูทั้งหกเข้าเฝ้า ทรงซักไซ้ไล่เลียง จนสารภาพเป็นสัตย์ จึงตรัสตำหนิต่างๆ นานา แล้วทรงบัญญัติเพิ่มเติม ว่า

    "อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่มนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่อให้ตาย ด้วยคำพูดว่า ท่านผู้เจริญ จะประโยชน์อะไรแก่ท่าน ด้วยชีวิตอันลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าอยู่

    เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความมุ่งหมายอย่างนี้ พรรณนาคุณความตายก็ดี ชักชวนเพื่อให้ตายก็ดี โดยนัยต่างๆ ภิกษุนี้เป็นปาราซิก หาสังวาสมิได้"

    เรียกว่าบัญญัติรัดกุมจนดิ้นไม่หลุด ฆ่าเองก็ผิด ชักชวนให้ผู้อื่นฆ่าให้ก็ผิด พรรณนาคุณความตายจนเขาเชื่อตามแล้วฆ่าตัวตายก็ผิด รัดกุมขนาด แม่นกา

    พระบาลีให้คำจำกัดความไว้เสร็จ เช่นชักชวนอย่างไร พรรณนาคุณความตายอย่างไร โดยวิธีไหนบ้างจึงจะเข้าข่ายปาราชิก หรือไม่เข้าข่าย ทั้งนี้เพื่อปิดช่องโหว่ ไม่ให้พวก "ตราช้างเรียกพี่" เถียงข้างๆ คูๆ

    เล่นกับพวกชอบเลี่ยงบาลีก็ต้องรัดกุมอย่างนี้แหละครับ

    6. ผู้ละเมิดจตุตถปาราชิกคนแรก


    ที่ถูกควรเรียกว่า "กลุ่มแรก" เพราะพระคุณเจ้าที่ละเมิดปาราชิกข้อ 4 ทำกันเป็นหมู่คณะ เรื่องของเรื่องมีดังนี้ครับ

    เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคาร ในป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี เป็นระยะเวลาออกพรรษาใหม่ๆ พระสงฆ์ที่แยกย้ายกันไปจำพรรษายังเมืองต่างๆ ก็ทยอยมาเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ละรูปหน้าอิดโรยซูบซีดยังกับเพิ่งรอดชีวิตมาจากคลื่นยักษ์สึนามิพัดกระหน่ำก็มิปาน เพราะเกิดทุพภิกขภัยไปทั่ว พระสงฆ์องค์เจ้าอดอาหารกันเป็นแถว แต่มีภิกษุกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเดินทางมาจากริมฝั่งน้ำวัดคุมุทา รูปร่างอ้วนท้วน มีน้ำมีนวล อินทรีย์ผ่องใส ผิวพรรณผุดผ่อง

    พระพุทธองค์ตรัสถามว่า พวกเธออยู่จำพรรษายังต่างเมือง ยังพอยังอัตภาพให้เป็นไปอยู่ดอกหรือ พวกเธอกราบทูลว่า "อยู่ดีสบาย พระเจ้าข้า"

    พระพุทธองค์ตรัสถามว่า ภิกษุอื่นๆ ประสบความลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต จนผ่ายผอม แต่พวกเธอบอกว่าอยู่ดีสบาย เป็นไปได้อย่างไร

    ภิกษุกลุ่มนี้กราบทูลว่า "พวกข้าพระพุทธเจ้า ยกย่องกันเองให้โยมฟังว่า ท่านรูปนั้นบรรลุมรรคผลนิพพานขั้นนั้นๆ ญาติโยมเลยเลื่อมใส นำอาหารบิณฑบาตมาถวาย จึงมีอาหารขบฉันไม่อัตคัดขัดสนแต่ประการใด พระพุทธเจ้าข้า"

    ได้ฟังดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสตำหนิด้วยวาทะแรงๆ ว่า "โมฆบุรุษ" ตรัสว่า การกระทำเช่นนี้ เป็นลักษณะอาการของ "มหาโจร" แล้วตรัสถึงมหาโจร 5 ประเภทคือ

    1. มหาโจรประเภทที่ 1 คือ ภิกษุเลวทรามหลอกชาวบ้านให้เขาเคารพนับถือ ร่ำรวยลาภสักการะ ไม่ต่างกับมหาโจรทางโลกที่รวบรวมสมัครพรรคพวกเที่ยวปล้นฆ่าประชาชน

    2. มหาโจรประเภทที่ 2 คือ ภิกษุเลวทราม เล่าเรียนพุทธวจนะจากตถาคตแล้ว อวดอ้างว่าไม่ได้เรียนมาจากใคร

    3. มหาโจรประเภทที่ 3 คือ ภิกษุเลวทรามที่ใส่ความภิกษุผู้ทรงศีลด้วยข้อกล่าวหาผิดวินัยที่ไม่มีมูล

    4. มหาโจรประเภทที่ 4 คือ ภิกษุเลวทราม ที่เอาของสงฆ์ไปให้คฤหัสถ์ เพื่อประจบประแจงเขา

    5. มหาโจรประเภทที่ 5 คือ ภิกษุเลวทราม ที่อวด "อุตริมนุสสธรรม" (อวดคุณวิเศษเช่นมรรคผลนิพพาน)ที่ไม่มีในตน

    ในจำนวนมหาโจรทั้ง 5 ประเภทนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ประเภทที่ 5 เป็น "ยอดมหาโจร" เพราะหลอกลวงชาวบ้าน ปล้นศรัทธาประชาชนอย่างร้ายกาจ (โดยที่ผู้ถูกปล้นไม่รู้ตัว)

    พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุอวดอุตริมนุสสธรรมอีกต่อไป ความว่า "อนึ่งภิกษุใด ไม่รู้ กล่าวอวดอุตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นอันประเสริฐ ว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เป็นปาราชิก ครั้นต่อมาเมื่อมีผู้ซักถามหรือไม่ก็ตาม ต้องการความบริสุทธิ์ดุจเดิม จึงสารภาพว่าข้าพเจ้าไม่รู้ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จ แม้อย่างนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้"

    ความในข้อนี้ก็คือ ภิกษุใด ไม่ได้รู้ได้เห็นด้วยญาณใดๆ กล่าวอวดอ้างว่าตนได้รู้ได้เห็น เป็นปาราชิกถึงแม้ภายหลังจะสำนึกผิดว่าตนได้อวดอ้าง มาสารภาพก็ตามที ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที

    พระพุทธองค์ตรัสว่า การหลอกกินอาหารจากชาวบ้าน ด้วยอ้างว่าตนได้บรรลุมรรคผลขั้นใดๆ ก็ตามไม่สมควรทำอย่างยิ่ง ให้เธอกลืนก้อนเหล็กแดงที่ลุกโชนยังดีเสียกว่า หลอกกินข้าวชาวบ้าน เพราะกลืนเหล็กแดง อย่างมากก็ตาย แต่กลืนข้าวที่ได้มาจากการหลอกลวงชาวบ้าน ตกนรกหมกไหม้อีกต่างหากด้วย

    เจ็บแสบดีนะครับ

    ถ้าถามว่า แค่ไหนจึงจะเรียกว่าอวดอุตริมนุสสธรรม หรืออวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

    พระวินัยปิฎกพูดไว้ชัดว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺโม นาม ฌานํ วิโมกฺโข สมาธิ สมาปตฺติ ญาณทสฺสนํ มคฺคภาวนา ผลสจฺฉิกิริยา กเลสปหานํ วินีวรณตา จิตฺตสฺส สุญฺญาคาเร อภิรติ

    ต้องแปลครับจึงจะรู้เรื่อง อุตริมนุสสธรรม (คุณวิเศษที่ยิ่งยวด) ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ (การหลุดพ้น) สมาธิ สมาบัติ (การเข้าฌาน) การรู้การเห็น การเจริญมรรค การทำผลให้แจ้ง การละกิเลสได้ การเปิดจิตจากกิเลส ความยินดีในเรือนว่าง

    แปลแล้วยังไม่กระจ่าง ก็ต้องขยายอีกดังนี้ครับ ใครอวดว่าตนได้ฌานที่ 1-2-3-4 ทั้งที่ไม่ได้สักแอะนี้เรียกว่าอวดแล้วครับ

    ใครที่บอกว่า ตนหลุดพ้นแล้ว เพราะสู้รบกับกิเลสมานาน จนกระทั่งบัดนี้เอาชนะมันได้แล้ว ตนได้ "เตะปลายคาง" กิเลสมันตายแหงแก๋แล้ว อ้ายนี่ก็อวดแล้วครับ

    ใครที่บอกว่า ตนได้เข้าสมาธิจิตแน่วแน่ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดแจ๋วแหวว เข้าฌานสมาบัติได้สบาย อยู่ถึง 6-7 วันจึงออกจากสมาบัติ สบายจัง อ้ายนี้ก็อวดเช่นกัน

    ใครที่พูดว่า ตนได้วิชชา 3 แล้วคือรู้ชาติหนหลัง รู้กำเนิดจุติของสัตว์ทั้งหลายตามกรรมของแต่ละคนที่ทำมา (จนนั่งหลับตาบรรยายผ่านสื่อต่างๆ เป็นฉากๆ) รู้จนทำกิเลสให้หมดไป อ้ายนี่ อีนี่ก็อวดแล้วครับ

    ใครที่พูดว่า ตนได้เจริญสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 จนสมบูรณ์ที่สุดเหนือใครๆ แล้ว อ้ายนี่ก็อวด

    ใครที่พูดว่า ตนได้ทำให้แจ้งคือได้บรรลุโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล เป็นพระอรหันต์เตะปลายคางคนได้แล้ว อ้ายนี่ก็อวด

    ใครที่พูดว่า ตนได้เปิดจิตจากกิเลส คือจิตของตนปราศจากราคะ โทสะ โมหะ โดยสิ้นเชิงแล้ว

    สรุปแล้ว ใครที่ไม่ได้มีคุณสมบัติดังกล่าว หรือไม่ได้บรรลุคุณวิเศษดังกล่าว แล้วกล่าวอวดว่าตนมี ตนได้ ทำให้คนอื่นหลงเชื่อ ไม่ว่าจะพูด โดยตรง หรือโดยอ้อม ก็ตาม เรียกว่าอวดอุตริมนุสสธรรมทั้งนั้น

    "ใคร" ที่ว่านี้หมายถึง พระภิกษุครับ (ฆราวาสอวด ไม่ต้องปาราชิก แต่จะถูกตราหน้าว่าไอ้คนขี้โม้) พระภิกษุรูปใดอวดคุณวิเศษที่ตนเองไม่มี เช่นอวดว่าตนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นอริยะ อรหันต์ ต้องปาราชิกขาดจากความเป็นพระทันทีที่อวด ไม่จำเป็นต้องมีคนโจทก์ฟ้องร้องถึงสามศาลอย่างกรณีของชาวบ้าน

    มีข้อน่าคิดอย่างหนึ่ง คนที่อวดว่าบรรลุนั่นบรรลุนี่ มักจะไม่บรรลุจริง

    ส่วนท่านที่บรรลุจริงกลับไม่พูด และที่ประหลาดก็คือ ชาวบ้านปุถุชนคนมีกิเลส มักจะไปตั้ง "อรหันต์" กันง่ายๆ ดังมักพูดว่า พระอรหันต์แห่งอีสานบ้าง อรหันต์กลางกรุงบ้าง ตนเองก็กิเลสเต็มพุงแล้วรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นอรหันต์หรือไม่เป็น

    ที่ไม่รู้ก็อยากรู้ว่าท่านเป็นอรหันต์หรือไม่ ดังเขาเล่าว่าหม่อมคนดังคนหนึ่งไปเรียนถามท่านเจ้าคุณนรฯ ว่า ท่านเป็นอรหันต์หรือเปล่า ท่านเจ้าคุณฯ ดึงหูคนถามมาใกล้ๆ แล้ว พูดเสียงดังฟังชัดว่า "ไอ้บ้า" ฮิฮิ


    7. พระธรรมทูตชุดแรก


    พระธรรมทูตชุดแรก ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา มีจำนวน 60 รูป เหตุการณ์เกิดขึ้นไม่ช้าไม่นานหลังจากตรัสรู้ รายละเอียดมีดังนี้

    เมื่อตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ ผู้ปรนนิบัติพระองค์ตอนบำเพ็ญทุกรกิริยา พอพระองค์ทรงเลิกพระกระยาหาร ก็ผิดหวังพากันหลีกไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ดังที่ผู้เรียนพุทธประวัติทราบกันโดยทั่วไป

    พระองค์ทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันมีเนื้อหาว่าด้วยทางที่บรรพชิตไม่ควรดำเนิน 2 ทาง คือ การทรมานตนให้ลำบาก และการหมกมุ่นในกามารมณ์ เพราะมิใช่ทางนำไปสู่การพ้นทุกข์ ทรงแสดงอริยมรรคมีองค์แปด หรือ "มัชฌิมาปฏิปทา" (ทางสายกลาง) อันนำไปสู่การพ้นทุกข์ แล้วทรงบรรยายอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ เหตุเกิดเหตุ ภาวะพ้นทุกข์ และแนวทางปฏิบัตเพื่อพ้นทุกข์ โดยพิสดาร

    จบพระธรรมเทศนา โกณฑัญญะ หัวหน้าปัญจวัคคีย์ เกิด "ดวงตาเห็นธรรม" คือเข้าใจว่า สิ่งใดก็ตามที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีการดับเป็นธรรมดา

    พระพุทธองค์ทรงเปล่งพระอุทานว่า "โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ" คำว่า "รู้แล้วหนอ" บาลีว่า อาญฺญาสิ เมื่อโกณฑัญญะขอบวชเป็นภิกษุรูปแรกที่ประทานให้โดยวิธี "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"

    คำว่า อัญญา ในคำวา "อญฺญาสิ" ได้กลายมาเป็นคำต้นชื่อของท่านโกณฑัญญะท่านโกณฑัญญะจึงมีชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ แต่บัดนั้นมา

    พระพุทธองค์ประทับจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในระหว่างนั้น ยสกุลบุตร บุตรชายเศรษฐีเมืองพาราณสี ที่ได้รับการปรนเปรอด้วยความสนุกสบายสารพัดอย่าง เกิดความเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส จึงหนีออกจากบ้านกลางดึก เดินมุ่งหน้าไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พลางอุทานด้วยความสลดใจว่า "ที่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ"

    พระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ ตอนจวนใกล้รุ่ง ทรงสดับเสียงของยสกุลบุตร จึงตรัสตอบว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่สิ เราตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง"

    ยสะเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ สดับพระธรรมเทศนา จบพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วทูลขอบวช

    ฝ่ายบิดามารดายสกุลบุตร เมื่อบุตรหายไปก็สั่งให้ตามหา ผู้เป็นบิดามายังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พบพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงใช้อิทธิฤทธิ์มิให้พ่อลูกพบกัน ทรงแสดงธรรมแก่เศรษฐี จบพระธรรมเทศนาเศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วปฏิญาณตนเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต

    พระยสะนั่งฟังธรรมอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ ได้บรรลุพระอรหัต เมื่อพระพุทธองค์ทรงคลายฤทธิ์แล้วพ่อลูกได้มองเห็นกัน บิดาพระยสะขอให้บุตรชายกลับไปครองเรือนตามเดิม กล่าวว่า "ตั้งแต่เจ้าหายไป แม่เจ้าร้องไห้คร่ำครวญเป็นทุกข์มาก เจ้าจงให้ชีวิตแก่แม่เจ้าเถิด"

    พระพุทธองค์ตรัสว่า บัดนี้ยสะไม่สมควรอยู่ครองฆราวาสต่อไปแล้ว ซึ่งเศรษฐีก็เข้าใจ จึงอาราธนาพระพุทธองค์ไปเสวยภัตตาหาร ณ คฤหาสน์ของตน เมื่อบิดากลับไปแล้ว ยสกุลบุตรจึงทูลขอบวชพระพุทธองค์ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้

    รุ่งเช้ามา พระพุทธองค์เสด็จไปเสวยพระกระยาหาร ที่คฤหาสน์เศรษฐี มีพระยสะโดยเสด็จ มารดาและอดีตภรรยาของพระยสะได้สดับพระธรรมเทศนา ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ปฏิญาณตนนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

    เมื่อยสกุลบุตรออกบวช สหายสนิท 4 คน คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ และควัมปติ ตามมาบวชด้วย ไม่นานสหายของยสะที่อยู่ตามชนบทต่างๆ อีกจำนวน 50 ก็มาบวชด้วยเช่นกัน รวมทั้งหมด 54 คน เมื่อบวชแล้วก็ได้บรรลุพระอรหัตโดยทั่วกัน

    เป็นอันว่าชั่วระยะเวลาไม่นาน มีพระอรหันต์สาวกจำนวน 60 รูป

    60 รูปมาจากไหน ปัญจวัคคีย์ 5 + พระยสะและสหายพระยสะ 55 = 60 พอดิบพอดี

    เมื่อทรงเห็นว่ามีจำนวนพระอรหันต์สาวกมากพอสมควรแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสเรียกประชุมประทานพุทธโอวาทใจความว่า (ตรงนี้ขอยกบาลีมาให้อ่านเต็มๆ หน่อยครับ)

    "มุตฺตาหํ ภิกฺขเว สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา ตุมฺเหปิ ภิกฺขเว มุตฺตา สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ มา เอเกน เทฺว อคมิตฺถ เทเสถ ภิกฺขเว ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ

    ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งของทิพย์และของมนุษย์ พวกเธอก็พ้นแล้วเช่นกัน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่คนจำนวนมาก เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พวกเธออย่าไปทางเดียวกันสองคน จงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ (การดำเนินชีวิตประเสริฐ) ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ทั้งอรรถะ (ความ) และพยัญชนะ (คำ)"

    เสร็จแล้วก็ทรงส่งให้แยกย้ายกันไปเผยแผ่แนวทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐแก่ชาวโลก นับว่าเป็นคณะธรรมทูตชุดแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ด้วยประการฉะนี้แล

    8. พระไตรปิฎกเกิดขึ้นครั้งแรก


    ตั้งหัวเรื่องอย่างนี้ คล้ายจะบอกว่า พระไตรปิฎกเกิดขึ้นหลายครั้ง มีครั้งแรก ครั้งที่สองด้วย อะไรประมาณนั้น ความจริง ก็เกิดครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น

    เดิมทีเดียวพระไตรปิฎก ปรากฏอยู่ในรูปเป็น "พระธรรม-วินัย" (ธมฺมวินย) หรือ "พรหมจรรย์" (พฺรหฺมจริย) สองคำนี้ใช้เรียกสิ่งเดียวกัน คือพระพุทธศาสนาทั้งหมด

    พระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้แล้ว ก็เสด็จไปประกาศเผยแผ่ให้ประชาชนได้รับทราบ สำนวนภาษาบาลีจึงกล่าวว่า "ทรงประกาศพระธรรมวินัย" บ้าง "ทรงประกาศพรหมจรรย์" บ้าง "ทรงประกาศพระพุทธศาสนา" บ้าง (ทานโทษเพื่อให้ชัด เดี๋ยวท่านผู้รู้จะทักท้วง ท่านใช้ "ศาสนา" เฉยๆ ต่อมาได้เติมคำว่า "พุทธ" นำหน้าเพื่อให้ชัดเจนว่า ศาสนาในที่นี้คือพระพุทธศาสนา)

    ธรรมวินัย อันเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ในชั้นต้นๆ ก็มิได้รวบรวมเป็นหมวดเป็นหมู่แน่นอน จะมีบ้างที่ถูกเอ่ยถึงบ่อยๆ ก็คือแบ่งเป็น 9 หมวด เรียก "นวังคสัตุสาสน์" คือ (1) คำสอนประเภทร้อยแก้วล้วน (2) ประเภทร้อยกรองล้วน (3) ประเภทร้อยแก้วผสมร้อยกรอง (4) ประเภทอรรถาธิบาย (5) ประเภทคำอุทาน (6) ประเภทคำอ้างอิง (7) ประเภทเรื่องคุณวิเศษเฉพาะตนของพระพุทธเจ้าและพระสาวก (8) ประเภทนิทานชาดก เล่าถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้าขณะบำเพ็ญบารมีต่างๆ (9) ประเภทคำสนทนาถาม-ตอบเพื่อความรู้ยิ่งๆ ขึ้น

    มีบ้างที่เอ่ยถึงการแบ่งเป็น "วรรค" เช่นตอนเล่าเรื่องพระโสณกุฏิกัณณะ สวดธรรมที่อยู่ใน "อัฏฐกวรรค" และ "ปรายนวรรค" ให้พระพุทธเจ้าทรงสดับ

    มีบ้างที่เล่าถึงพระสารีบุตรอัครสวาสวก ได้รจนาพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่เรียกว่า "สังคีติสูตร" และ "ทสุตตรสูตร" และเล่าไปถึงว่าเมื่อท่านพระสารีบุตรรจนาเสร็จแล้ว มีโอกาส present ให้ที่ประชุมสงฆ์ฟัง โดยพระพุทธานุญาต ณ สัณฐาคาร (รัฐสภา) ที่สร้างขึ้นใหม่ ของเหล่ามัลลกษัตริย์

    ทั้งหมดนี้ ยังไม่พบการเรียกคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า "พระไตรปิฎก" ในสมัยพุทธกาล แม้หลังพุทธปรินิพพานได้ 3 เดือน เมื่อพระมหากัสสปะเรียกประชุมพระสงฆ์ 500 รูปร้อยกรอง (สังคายนา) พระพุทธวจนะเป็นหมวดเป็นหมู่ ก็ไม่เอยคำว่า "พระไตรปิฎก"

    ยังคงใช้คำว่า "สังคายนาพระธรรมวินัย" อยู่

    แม้พระพุทธศาสนาล่วงเลยมา 100 ปี หลังพุทธปรินิพพาน มีการสังคายนาครั้งที่สอง เพื่อวินิจฉัย "วัตถุ 10 ประการ" ที่กลุ่มภิกษุวัชชีบุตรนำเสนอ ก็ยังเรียกว่า "ธมฺมวินย วิสชฺชนา" (การวิสัชนาพระธรรมวินัย)

    พระธรรมวินัยได้กลายมาเป็นพระไตรปิฎกเมื่อใด ไม่มีหลักฐานที่ไหนชัดแจ๋วแหววพอที่จะชี้ลงไปได้แน่นอน คงต้องสันนิษฐานเอาตามหลักฐานเท่าที่มีนำมาปะติดปะต่อกัน

    เข้าใจกันว่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 2-3 คือหลังสังคายนาครั้งที่ 2 ถึงสังคายนาครั้งที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นเอง ได้เกิดคำว่า "ปิฎก" ขึ้นสำหรับเรียกพระธรรมวินัย โดย "ธรรม" ได้แตกออกเป็น พระสุตตันตปิฎก และ พระอภิธรรมปิฎก ส่วน "วินัย" เป็น พระวินัยปิฎก

    หลักฐานที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ก็คือ ใน "จารึกสาญจิสถูป" มีกล่าวถึงพระเถระพระเถรี ว่ามีความเชี่ยวชาญปิฎกต่างๆ หรือบางส่วนของปิฎก เช่น

    เปฏกินฺ = พระเถระผู้ทรงจำปิฎกทั้งหลาย

    สุตฺนฺตินี = พระเถรีผู้ทรงจำพระสูตร

    ทีฆภาณิกา = พระเถระ/พระเถรีผู้สวดทีฆนิกาย

    ปญฺจเนกายิกา = พระเถระ/พระเถรี ผู้ทรงจำนิกายทั้ง 5

    นอกจากนี้ เล่าถึงพระเจ้าอโศก ทรงแนะให้พระสงฆ์ศึกษาเนื้อหาของพระไตรปิฎกให้เข้าใจแจ่มแจ้ง เพื่อนำไปสอนประชาชน มีระบุถึง อริยวสานิ (ตรวจสอบแล้ว ปรากฏอยู่ใน ทีฆนิกาย สังคีติสูตร) อนาคตภยานิ (ปรากฏอยู่ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต) มุนิคาถา (ปรากฏอยู่ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต) โมเนยฺยสุตฺต (ปรากฏอยู่ใน อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย อิติวุตตกะ) เป็นต้น

    มีหลักฐานชิ้นหนึ่งว่า คัมภีร์ กถาวัตถุ ได้แต่งขึ้นในสมัยสังคายนาครั้งที่ 3 โดยพระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ และคัมภีร์นี้ได้ถูกผนวกเข้าเป็น 1 ในพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ ทำให้เนื้อหาพระอภิธรรมปิฎกสมบูรณ์

    จากหลักฐานเหล่านี้ ชี้ว่า พระธรรมวินัยได้แตกออกเป็นพระไตรปิฎกแล้วในช่วงนี้ จึงพอจะกล่าวได้อย่างกว้างๆ ว่า พระไตรปิฎกเกิดขึ้นครั้งแรก หลังพุทธปรินิพพาน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 2 ถึงที่ 3 และไม่หลังสมัยพระเจ้าอโศกแน่นอน

    9. การเกิดนิกายครั้งแรก


    อาทิตย์ที่แล้วเล่าเรื่องพระเมืองโกสัมพีทะเลาะกันครั้งแรกและครั้งยิ่งใหญ่ จนแทบจะเอาไม่อยู่ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามี "ควันหลง" เหมือนควันหลงหลังเลือกตั้ง คือไม่มีการแตกแยกนิกาย

    ความขัดแย้งกันทางความคิด ก่อรูปก่อร่างขึ้นอีกเมื่อสมัยสังคายนาครั้งที่ 1 คือ เมื่อพระมหากัสสปะรวบรวมพระอรหันต์สาวก 500 รูป ประชุมทำการสังคายนาครั้งที่หนึ่งนั้น พระอานนท์ผู้ที่ใกล้ชิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สุด และโดยเสด็จมาตลอดในวาระสุดท้ายของพระพุทธองค์ ได้เล่าเรื่องต่างๆ ที่พระพุทธองค์ตรัสกับท่านให้พระสงฆ์ฟัง

    หนึ่งในหลายเรื่องที่เล่าคือ พระพุทธองค์ตรัสว่า "ต่อไปภายหน้า ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อยบ้างก็ได้"

    ที่ประชุมสงฆ์ซักถามพระอานนท์ว่า สิกขาบทเล็กน้อยคือข้อใด พระพุทธองค์ตรัสบอกไหม พระอานนท์ตอบว่า มิได้บอก ที่ประชุมซักอีกว่า แล้วทำไมท่านไม่ทูลถาม พระอานนท์กล่าวว่า ตอนนั้นมัวแต่กังวลใจว่าพระพุทธองค์จะจากเราไปแล้ว จะทำอย่างไร เลยไม่มีกะจิตกะใจจะซักถามเรื่องต่างๆ

    ที่ประชุมสงฆ์เลยตำหนิว่าพระอานนท์ไม่รอบคอบ ไม่ตำหนิเปล่า ถึงขั้นปรับอาบัติทุกกฎแน่ะครับ (อาบัติคืออะไร ทุกกฎ คืออาบัติระดับใด ไม่บอกครับ ให้ไปเปิด พจนานุกรม พุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ ของ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ประยุทธ์ ปยุตฺโต มาอ่านแล้วกัน)

    เมื่อไม่ได้ความกระจ่าง พระสงฆ์ก็เลยแสดงความคิดเห็นแตกต่างกัน แบ่งเป็นพรรค เอ๊ย กลุ่มได้ 2 กลุ่ม

    กลุ่มหนึ่งเห็นว่า ยกเว้นปาราชิก 4 และสังฆาทิเสส 13 นอกนั้นนับเป็นสิกขาบทเล็กน้อยหมด อีกกลุ่มเห็นว่า เฉพาะสิกขาบทเกี่ยวกับมรรยาทต่างๆ เท่านั้น เป็นสิกขาบทเล็กน้อย

    เมื่อความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน พระมหากัสสปะประธานที่ประชุม จึงขอมติที่ประชุมว่าจะยกเลิกหรือไม่ เสียงข้างมากบอกว่าไม่ยกเลิก มติเสียงข้างมากนี้เรียกว่า "เถรวาท" (วาทะ หรือข้อตกลงของพระเถระทั้งหลายในที่ประชุมนั้น) ต่อมาคำนี้กลายมาเป็นชื่อนิกายหนึ่ง หลังจากมีนิกายแล้ว

    เมื่อเสียงข้างมากออกมาอย่างนี้ ฝ่ายเสียงข้างน้อยก็ต้องยอมรับ ไม่มีปฏิกิริยาอะไร แต่ก็มี "ควันหลง" จนได้ ควันหลงนี้มิได้มาจากพระเถระที่เข้าประชุม มาจากพระผู้เฒ่ารูปหนึ่งนามว่า พระปุราณะ

    พระปุราณะมิได้ถูกเลือกให้เข้าบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ เอ๊ย ให้เข้าประชุมกับเขา ได้รับทราบมติที่ประชุมดังนั้นก็กล่าวว่า ในส่วนตัวของท่านเห็นว่า เมื่อพระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธาธิบาย (คือมีพุทธประสงค์) เช่นนี้ ก็ต้องยกเลิกได้สิ

    ดังเช่นสมัยพุทธกาลเมื่อเกิดข้าวยากหมากแพงขึ้น พระพุทธองค์ยังทรงยกเลิกสิกขาบทบางข้อ เช่น อนุญาตให้พระสะสมอาหาร หรือหุงต้มกินเองได้

    เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังมาจากพระพุทธองค์อย่างไร ก็จะยึดถือตามนั้น ไม่เชื่อมติที่ประชุม ว่าอย่างนั้นเถอะ

    แต่ก็ยังไม่เกิดนิกาย มีเพียง "เค้า" ว่าจะเกิดเท่านั้น เวลาผ่านไป 100 ปี มีกลุ่มพระวัชชีบุตร เสนอให้แก้ไขสิกขาบท 10 ข้อ อันเรียกว่า "วัตถุ 10 ประการ" คือ

    1. ตะวันบ่ายคล้อยไปประมาณ 2 องคุลี ฉันอาหารได้ (เทียบประมาณบ่าย 2 โมง)

    2. เก็บเกลือไว้แล้วนำมาผสมกับอาหารอื่นฉันได้

    3. ฉันอาหารในวัดแล้วเข้าบ้าน เขาถวายอีกฉันอีกได้

    4. วัดใหญ่มีพระสงฆ์มาก จะแยกกันทำอุโบสถก็ได้

    5. เวลาทำอุโบสถ แม้ยังไม่นำฉันทะของพระรูปที่ไม่เข้าประชุมมา สงฆ์จะทำอุโบสถก่อนก็ได้
    6. ข้อปฏิบัติที่อุปัชฌาย์อาจารย์เคยประพฤติปฏิบัติมา แม้จะผิดก็ควรทำตาม

    7. ฉันนมสดที่ยังไม่แปรเป็นนมส้มได้

    8. ฉันสุราอ่อนๆ ได้

    9. ผ้านิสีทนะ (ผ้าปูนั่ง) ไม่มีชายใช้ได้

    10. รับเงินและทองได้

    พระสงฆ์จำนวน 700 รูป ได้ประชุมสังคายนา นำข้อเสนอทั้ง 10 ประการนั้นเข้าวินิจฉัย มติส่วนมากไม่ยอมรับ แต่กลุ่มภิกษุวัชชีบุตรไม่ยอมรับมติที่ประชุม คือแพ้แต่ไม่ยอมแพ้ จะกวาด 3 ที่นั่งภาคใต้สมัยหน้า เอ๊ย จะให้มีการแก้ไขสิกขาบทตามที่พวกตนเสนอให้ได้ จึงแยกตัวออกไป แสวงหาสมัครพรรคพวกได้จำนวนมากกว่าเดิมอีก ตั้งนิกายใหม่ชื่อว่า "มหาสังฆิกะ" มีจุดยืนว่า สิกขาบทใดๆ ที่ไม่เหมาะกับยุคสมัยสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

    เมื่อเกิดมีนิกายมหาสังฆิกะ พระสงฆ์ดั้งเดิม ก็กลายเป็นนิกายหนึ่งนามว่า "เถรวาท" มีจุดยืนว่า สิกขาบทใดๆ ที่ตราไว้โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องไม่แก้ไข ต้องรักษาไว้ตามเดิม

    พระสงฆ์ที่เคยสมัครสมานสามัคคีกัน ไม่แตกก๊กแตกเหล่า ก็ได้แยกออกเป็นสองนิกาย คือนิกายมหาสังฆิกะ และนิกายเถรวาท ด้วยประการฉะนี้

    เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.100 ถ้านับแบบพม่าและลังกา ก็เป็น พ.ศ.101 ครับ


    10. วัดแห่งแรกในเมืองสาวัตถี


    สมัยพุทธกาล การสร้างวัดมิได้สร้างง่ายๆ และสร้างบ่อย เหมือนในยุคหลัง วัดแห่งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา คือวัดพระเวฬุวัน พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองราชคฤห์ "วัด" ในความหมายนี้ก็คือ สวนไผ่ หรือป่าไผ่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เวฬุวัน (ป่าไผ่) เวฬุวนาราม (สวนป่าไผ่) คงยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างอะไร

    แต่เมื่อสร้างวัดที่เมืองสาวัตถีนั้นแหละ เข้าใจว่าคงมีสิ่งปลูกสร้าง มีอาคาร ปราสาท (แปลว่าเรือนชั้น หรือตึก) ด้วย คนสร้างเป็นเศรษฐี ชื่อเดิมว่า สุทัตตะ เศรษฐีที่ทำมาค้าขายโดยสุจริต ไม่ใช่เศรษฐีค้าขายผูกขาดปั่นหุ้น ท่านผู้นี้ก่อนจะรู้จักพระพุทธเจ้า ก็เดินทางไปค้าขายยังเมืองต่างๆ ตามประสาพ่อค้า คราวหนึ่งเดินทางไปเมืองราชคฤห์ พักอยู่ที่คฤหาสน์ของน้องเขย เห็นคนในบ้านตระเตรียมอย่างขะมักเขม้น ยังกับจะมีงานเลี้ยงมโหฬาร จึงซักถาม ได้ความว่า มิได้เตรียมสถานที่เพื่อจัดปาร์ตี้อะไร หากแต่เตรียมเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และภิกษุสงฆ์

    สุทัตตะได้ยินดังนั้นก็ขนลุกด้วยความปลาบปลื้มดีใจ จึงถามว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ตนอยากไปพบ น้องเขยบอกว่า พรุ่งนี้ก็จะได้พบอยู่แล้ว

    คืนนั้นสุทัตตะนอนไม่ค่อยหลับ กระสับกระส่าย เพราะอยากพบพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง ทนรอจนถึงเช้าไม่ไหนจึงตัดสินใจออกจากคฤหาสน์ไปยังสถานที่พระพุทธองค์ประทับ ก่อนรุ่งแจ้ง

    ขณะเขาเดินเข้าไปใกล้ ก็ได้ยินพระพุทธดำรัสตรัสว่า "สุทัตตะ มานี่สิ" เขาขนลุกเป็นครั้งที่สอง ประหลาดใจที่พระพุทธองค์ทรงทราบว่าเขากำลังมาเฝ้า และทรงรออยู่ จึงเข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท พระพุทธองค์ทรงแสดง "อนุปุพพีกถา" (เทศนาอันว่าด้วย ทาน ศีล โทษแห่งกาม อานิสงส์แห่งสวรรค์ และการปลีกออกจากกามารมณ์) เป็นการปูพื้นฐานจิตใจแก่เขา เขาได้สดับพระธรรมเทศนาแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล ยกระดับจากความเป็นปุถุชนขึ้นเป็นพระอริยบุคคลระดับต้น เรียกว่าได้ "เข้าสู่กระแสพระนิพพาน"

    สุทัตตะได้ประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงไตรสรณคมน์ ตลอดชีวิต โดยเสด็จพระพุทธองค์ไปยังคฤหาสน์ของน้องเขย เขาได้ขออนุญาตน้องเขยเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ที่คฤหาสน์เศรษฐีผู้เป็นน้องเขยตลอด 7 วัน แล้วทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดประชาชนชาวเมืองสาวัตถีบ้าง

    พระพุทธองค์ตรัสว่า "คหบดี สมณะทั้งหลายย่อมยินดีในสถานที่อันสงัด" เพียงแค่นี้เศรษฐีระดับดอกเตอร์ก็รู้แล้วว่า พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา และตรัสให้หาที่อันเหมาะสมให้พระพุทธองค์ประทับ ทูลลากลับเมืองสาวัตถีด้วยจิตใจอันเปี่ยมด้วยความสุขหาใดปาน

    กลับถึงบ้านก็เที่ยวสำรวจสถานที่ที่เหมาะจะสร้างวัดถวายพระพุทธองค์ ไปชอบใจสวนของเจ้านายในราชวงศ์พระองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าชายเชต จึงไปเจรจาขอซื้อ เจ้าเชตไม่อยากขาย จึงโก่งราคาแพงลิบลิ่ว แพงขนาดไหนหรือครับ เจ้าเชตบอกว่า ให้เอาเหรียญกระษาปณ์มาปูพื้นที่จนเต็มนั้นแหละคือราคาสวน

    โอโฮ สวนตั้งหลายเอเคอร์ จะใช้เหรียญสักกี่คันรถจึงจะเต็ม ไม่รู้ล่ะ เศรษฐีคิด เท่าไรก็สู้ อะไรประมาณนั้น จึงสั่งให้ขนกระษาปณ์จากคลังมาปูพื้นที่สวน ปูไปได้หมดเงิน 18 โกฏิ (มากแค่ไหน ผู้รู้คำนวณเอาก็แล้วกัน)

    เจ้าเชตเห็นเศรษฐีเอาจริงเอาจังขนาดนั้น จึงถามว่า ทำไมจึงใจถึงปานนี้ จะซื้อสวนนี้ไปทำอะไรหรือ เศรษฐีบอกว่าจะสร้างวัดถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทันทีที่ได้ยินคำว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าเชตก็เกิดศรัทธาขึ้นมาทันที บอกเศรษฐีว่า เอาเท่าที่ปูไปแล้วนี้แหละ ที่เหลือขอให้เขาได้มีส่วนในการสร้างวัดบ้าง แล้วก็บริจาคเพิ่มอีก 18 โกฏิ ช่วยกันสร้างวัดจนสำเร็จ ใช้เวลาสร้างนานเท่าไร ตำรามิได้บอกไว้ สร้างเสร็จได้ขนานนามว่า "วัดพระเชตวัน" เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าเชต ถวายให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้า และภิกษุสงฆ์

    สุทัตตะที่ว่านี้มิใช่ใครที่ไหน เป็นคนเดียวกับ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวพุทธนั้นเอง นามเดิมท่าน สุทัตตะ ครับ เพราะความที่ท่านเป็นคนใจบุญสุนทาน อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแข็งแรง สร้างโรงทานให้ทานแก่ยาจกและวณิพก ณ สี่มุมเมือง จึงได้รับขนานนามว่า "อนาถบิณฑิกเศรษฐี" อ่านออกเสียงว่า "อะนาถะบินดิกะเสดถี" นะครับ อย่าออกเสียงว่า "อะหนาด..." เป็นอันขาด แปลว่าผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถาเสมอ ฝรั่งแปลเอาความว่า "เศรษฐีใจบุญ" (benefactor, benevolent)

    ใครที่ไปไหว้สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ที่ประเทศอินเดีย และเนปาล (ลุมพินี สถานที่ประสูติ อยู่ที่เนปาลครับ) ก็จะต้องไปเที่ยวชมและนมัสการ พระเชตวัน จะเห็นว่าเป็นบริเวณกว้างขวางมาก มีซากปรักหักพัง มีฐานของตึก และกุฏิของพระสาวกต่างๆ ก่อด้วยอิฐอย่างแข็งแรง เข้าใจว่าตึกรามอะไรต่างๆ คงมีมาตั้งแต่แรกสร้างส่วนหนึ่ง สร้างเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง

    นอกนั้นก็มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ว่ากันว่าเป็นต้นโพธิ์ ที่พระเจ้าแผ่นดิน และอนาถบิณฑิกเศรษฐีปลูกไว้ โดยการอำนวยการของพระอานนท์พุทธอนุชา เพื่อเป็น "เจดีย์" กราบไหว้ แทนพระพุทธองค์ ยามเมื่อพระพุทธองค์มิได้ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ต้นโพธิ์ต้นนี้เรียกว่า "อานันทโพธิ" (ต้นโพธิ์พระอานนท์)

    วัดพระเชตวันเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับนานที่สุด นานกว่าสถานที่อื่น นางวิสาขามหาอุบาสิกา ก็ได้สร้างวัดไว้ด้านทิศตะวันออกของเมือง ชื่อ "วัดบุพพาราม" ด้วยการบริจาคทรัพย์จำนวนมากเช่นกัน แต่ก็มิปรากฏว่าพระพุทธองค์ประทับที่วัดนี้นานและบ่อยเท่าพระเชตวัน

    คัมภีร์พระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า มีพระสูตรมากมายที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาขณะประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวันนี้ เพราะฉะนั้น วัดพระเชตวันจึงมิเพียงเป็นแห่งแรกที่สร้างขึ้น ณ เมืองสาวัตถี หากเป็นสถานที่พระพุทธองค์ประทับยาวนาน และทรงแสดงพระธรรมเทศนามากที่สุดด้วย จึงนับเป็นสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง

    11. พระราชาผู้นับถือพระพุทธศาสนาองค์แรก


    ถ้าถามว่าพระราชาผู้นับถือพระพุทธศาสนาองค์แรกคือใคร นักเรียนที่เรียนวิชาพระพุทธศาสนาคงตอบได้ว่าคือ พระเจ้าพิมพิสาร แต่ถ้าใครตอบไม่ได้ก็ไม่ว่ากัน เพราะผู้ใหญ่ที่จบสูงกว่านักเรียนมัธยมก็มีมากมายที่ตอบไม่ได้

    พระเจ้าพิมพิสาร เป็นกษัตริย์ครองเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีโอกาสพบพระพุทธเจ้าตอนที่พระพุทธองค์เสด็จออกผนวชใหม่ๆ เสด็จผ่านมายังเมืองราชคฤห์ ประทับอยู่ที่ปัณฑวบรรพต หลังจากได้ทรงสนทนากับพระพุทธองค์แล้ว ได้ชักชวนให้พระพุทธองค์สละเพศบรรพชิตมาครองราชย์ด้วยกัน โดยจะทรงแบ่งดินแดนให้กึ่งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ ตรัสว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสวงหาคือโมกษธรรม หาใช่ราชสมบัติไม่

    กษัตริย์กราบทูลว่า ถ้าทรงได้บรรลุสิ่งที่ทรงประสงค์แล้ว ขอให้เสด็จมาสอนเป็นคนแรก พระพุทธองค์ทรงรับ ด้วยเหตุนี้ เมื่อโปรดปัญจวัคคีย์ โปรดยสกุมารพร้อมสหาย จนมีพระสาวก 60 รูป ทรงส่งไปประกาศพระศาสนายังแคว้นต่างๆ แล้ว พระองค์จึงเสด็จพุทธดำเนินมุ่งตรงไปยังเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ

    จุดมุ่งหมายก็คือ ทรงต้องการจะเปลื้องปฏิญญาที่ประทานไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร เมื่อครั้งนั้นนั่นเอง

    เมื่อทรงพิจารณาว่า บุคคลที่พระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองนับถืออยู่คือชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวาร พระองค์จึงเสด็จไปโปรดชฎิลสามพี่น้องก่อน เพราะว่า เมื่อชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวารนับถือพระพุทธองค์แล้ว พระเจ้าพิมพิสารพร้อมชาวเมืองก็จะนับถือตามโดยง่าย

    หลังจากโปรดชฎิลสามพี่น้องแล้ว พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ลัฏฐิวัน (แปลกันว่าป่าตาลหนุ่ม ตาลหนุ่มก็คือตาลไม่แก่นั้นแล) นอกเมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารพร้อมประชาชนจำนวนมากได้ไปยังป่าตาลดังกล่าว ทอดพระเนตรเห็นอาจารย์ของพระองค์สละเพศ ชฎิลหันมานุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ นั่งแวดล้อม "สมณะหนุ่ม" รูปหนึ่ง หน้าตาคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยรู้จักมาก่อน ก็ทรงสงสัยอยู่ครามครัน ว่าเกิดอะไรขึ้น อาจารย์ของพระองค์จึงได้ "เปี๊ยนไป๋"

    พระพุทธองค์ทรงทราบพระราชดำริของกษัตริย์หนุ่ม จึงหันไปตรัสถามพระกุมารกัสสปะ หัวหน้าชฎิลทั้งหลายว่า "เธอเห็นอย่างไร จึงสละเพศชฎิลและการบูชาไฟที่ทำมาเป็นเวลานาน หันมานับถือพระพุทธศาสนา"

    ปูรณกัสสปะกราบทูลว่า "ยัญทั้งหลายสรรเสริญรูป เสียง กลิ่น รส และสตรี ล้วนแต่เป็นมลทิน ข้าพระองค์เห็นว่ามิใช่ทางแห่งความรำงับกิเลส จึงละการเซ่นสรวงบูชา"

    "ถ้าเช่นนั้น เธอยินดีอะไร เทวโลกหรือมนุษยโลก"

    "ใจของข้าพระองค์ยินดีในการสิ้นกิเลสทั้งหลาย ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป"

    พระเจ้าพิมพิสารและประชาชนได้ยินการโต้ตอบระหว่างพระพุทธเจ้าและปูรณกัสสปะ และเห็นอาจารย์ของพวกตนคุกเข่าประนมมือต่อพระพักตร์สมณะหนุ่มเช่นนั้น ก็หายสงสัย พลอยเลื่อมใสไปตามอาจารย์ของพวกตนด้วย กษัตริย์หนุ่มก็พลอยรำลึกได้ว่า สมณะรูปนี้ก็คือผู้ที่ตนพบที่ปัณฑวบรรพตนั้นเอง บัดนี้ได้เป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แล้ว

    หลังจากทรงสดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์แล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุโสดาปัตติผล นับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต อาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่พระราชวังในวันรุ่งขึ้น หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ถวายสวนไผ่เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ชื่อว่า "วัดเวฬุวัน" ดังที่ทราบกันดีแล้ว

    พระเจ้าพิมพิสารนี้มีพระมเหสีพระนามว่า โกศลเทวี หรือเวเทหิ ซึ่งเป็นพระกนิษฐาของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้พระกนิษฐาของพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระมเหสีเช่นกัน แว่นแคว้นทั้งสองนี้จึงมีสัมพันธไมตรีกันอย่างแน่นแฟ้น ทั้งพระเจ้าปเสนทิโกศล และพระเจ้าพิมพิสาร ต่างก็ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขันจนตลอดรัชกาล

    มีเรื่องน่าสนใจก็คือ พระเจ้าพิมพิสารทรงนำแนวคิดวิธี "ดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศ" จากแคว้นวัชชีของกษัตริย์ลิจฉวี มาใช้ในเมืองราชคฤห์ของพระองค์ โดยทรงสถาปนาตำแหน่งนาง "นครโสเภณี" ขึ้น นางนครโสเภณีคนแรกชื่อสาลวดี สาลวดีมีบุตรชายด้วยความประมาท จึงสั่งให้สาวใช้เอาไปทิ้งไว้ข้างประตูวังบังเอิญเจ้าชายอภัย พระราชโอรสพระเจ้าพิมพิสาร ทรงเก็บไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม เด็กน้อยคนนี้ต่อมาได้จบการศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ได้เป็นแพทย์หลวงประจำพระราชสำนักเมืองราชคฤห์ และได้ถวายตนเป็นนายแพทย์ถวายการอุปฐากพระพุทธองค์ในเวลาต่อมา

    พระเจ้าพิมพิสารมีพระราชโอรสชื่อ อชาตศัตรู ผู้ซึ่งได้ทำ "ปิตุฆาต" เพราะหลงเชื่อคำยุยงของพระเทวทัต แม้อชาตศัตรูเองก็ถูกพระราชโอรสปลงพระชนม์ พระราชโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูก็ถูกพระราชโอรสของตนปลงพระชนม์เช่นกัน ว่ากันว่า ฆ่าติดต่อกัน 7 ชั่วโคตรทีเดียว ประชาชนทนเห็นพระราชวงศ์ปิตุฆาตต่อไปไม่ไหว จึงรวมตัวกันปฏิวัติ ล้มรัฐบาลไทยรักไทย เอ๊ย ราชวงศ์โมริยะ สถาปนาราชวงศ์ใหม่สืบต่อมา

    12. พระสงฆ์ทะเลาะกันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งแรก


    พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าทะเลาะวิวาทกัน ก็คงมีบ่อยๆ เพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จนเกิดความแตกแยกเป็นครั้งแรก และเกิดสมัยพุทธกาลด้วย ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ก็คือ การทะเลาะของภิกษุชาวเมืองโกสัมพี

    ในอรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) ได้นำมาเล่าต่อ พร้อม "ใส่ไข่" (ผมอยากจะเรียกอย่างนั้น) ทำให้เราอ่านไปมีความมันในอารมณ์ไปด้วย ขอนำมาถ่ายทอดในวันเลือกตั้ง ที่อารมณ์ของคนในสังคมไทย แตกต่างกัน เพราะสนับสนุนนักการเมืองต่างพรรค (มันเกี่ยวกันไหมเนี่ย)

    เรื่องมีอยู่ว่า ในวัดแห่งหนึ่ง เมืองโกสัมพี มีพระภิกษุอยู่ร่วมกันจำนวนมาก มีพระเถระสองรูป เป็นที่เคารพของพระภิกษุทั้งหลาย รูปหนึ่งเป็นผู้เคร่งครัดในพระวินัย มีความเชี่ยวชาญในการอธิบายพระวินัย เรียกตามศัพท์ของพระอรรถกถาจารย์ว่าว่า "พระวินัยธร" อีกรูปหนึ่งมีความสามารถในการถ่ายทอดพระธรรม เรียกว่า "พระธรรมกถึก"

    ทั้งสองรูปมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากทัดเทียมกัน ถึงในเนื้อหาจะไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกชัดเจน แต่โดยพฤตินัย ก็พอมองเห็นเป็นรูปธรรม รวมไปถึงญาติโยมด้วย พวกที่ชอบพระนักเทศน์ก็ไปหาพระนักเทศน์ พวกที่ชอบพระผู้เชี่ยวชาญพระวินัยก็ไปหาพระวินัยธร บ่อยๆ สมัยนี้เรียกว่า "ขึ้น" ทั้งสองรูป มีญาติโยมขึ้นพอๆ กัน

    ท่านเหล่านี้ก็อยู่ด้วยกันมาด้วยดี ไม่มีอะไร อยู่มาวันหนึ่ง พระวินัยธรเข้าห้องน้ำ (สมัยโน้นวัจกุฎีก็คงเป็นส้วมหลุม มากกว่าห้องน้ำในปัจจุบัน) ออกมาเจอพระธรรมกถึก ถามว่า ท่านใช่ไหมที่เข้าห้องน้ำก่อนผมพระธรรมกถึกรับว่า ใช่ มีอะไรหรือ

    "ท่านเหลือน้ำชำระไว้ครึ่งขัน ท่านทำผิดพระวินัย ต้องอาบัติทุกกฎแล้ว รู้หรือหรือเปล่า" พระวินัยธรกล่าว

    "โอ ผมไม่รู้ ถ้าอย่างนั้นผมขอปลงอาบัติ" พระธรรมกถึก ยอมรับและยินดี "ปลงอาบัติ" หรือแสดงอาบัติ อันเป็นวิธีออกจากอาบัติตามพระวินัย

    พระวินัยธรกล่าวว่า ถ้าท่านไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องอาบัติดอก แล้วก็เดินจากไปเรื่องก็น่าจะแล้วกันไป แต่ไม่แล้วสิครับ พระวินัยธรไปเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า พระธรรมกถึก ดีแต่เทศน์สอนคนอื่น ตัวเองต้องอาบัติแล้วยังไม่รู้เลย ลูกศิษย์พระวินัยธร ก็ไปบอกลูกศิษย์พระธรรมกถึก ทำนองบลั๊ฟกันกลายๆ ว่า พรรคท่านฟ้องแก้เกี้ยว เอ๊ย อาจารย์ของพวกท่านดีแต่สอนคนอื่น ตัวเองต้องอาบัติแล้วยังไม่รู้

    เรื่องรู้ถึงหูพระธรรมกถึก ก็หูแดงสิครับ ใครมันจะยอมให้กล่าวหาว่าพิมพ์สติ๊กเกอร์ เอ๊ยจงใจละเมิดพระวินัย จึงศอกกลับพระวินัยธรว่า สับปลับ ทีแรกว่าไม่เป็นไร แต่คราวนี้ว่าต้องอาบัติ พระวินัยธร ก็ต้องอาบัติข้อพูดเท็จเหมือนกัน

    เอาละสิครับ เมื่ออาจารย์ทะเลาะกัน พวกลูกศิษย์ก็ทะเลาะกันด้วย ขยายวงกว้างออกไปจนถึงญาติโยมผู้ถือหางทั้งสองฝ่ายด้วย เรื่องลุกลามไปใหญ่โต ทราบถึงพระพุทธองค์ พระองค์เสด็จมาห้ามปราบ แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เลือดเข้าตาแล้ว ไม่ยอมเชื่อฟัง

    พระพุทธองค์ทรงระอาพระทัย จึงเสด็จหลีกไปประทับอยู่ ณ ป่าปาลิเลยยกะ (หรือ ปาลิ ไลยกะ) ตามลำพัง มีช้างนามเดียวกับป่านี้เฝ้าปรนนิบัติ ทรงจำพรรษาที่นั่น ในคัมภีร์พระไตรปิฎกพูดถึงช้างตัวเดียว ไม่พูดถึงลิง แต่ในอรรกถาบอกว่ามีลิงด้วยตัวหนึ่ง

    หมายเหตุไว้ตรงนี้ ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ผู้เป็นนักปราชญ์ ท่านบอกว่า ช้างนั้น ถ้าเป็นช้างป่า ลักษณนามต้องเรียกว่า "ตัว" แต่ถ้าช้างที่ขึ้นระวางแล้วเรียกว่า "เชือก" ว่าอย่างนั้น ผมเป็นแค่ "นักปาด" ก็ต้องเชื่อท่าน

    ว่ากันว่าช้างคอยต้มน้ำให้พระพุทธองค์ทรงสรง ทำอย่างไรหรือครับ แกกลิ้งก้อนหินที่ตากแดดทั้งวันยังอมความร้อนอยู่ ลงในแอ่งน้ำเล็กๆ น้ำนั้นก็อุ่นขึ้นมา แล้วก็ไปหมอบแทบพระบาททำนองอาราธนาให้สรงสนาน พระพุทธองค์เสด็จไปสรงน้ำนั้น อย่างนี้ทุกวัน

    เจ้าจ๋อเห็นช้างทำอย่างนั้น ก็อยากทำอะไรแด่พระพุทธองค์บ้าง มองไปมองมาเห็นผึ้งรวงใหญ่ ก็ไปเอามาถวาย พระพุทธองค์ทรงรับแล้วก็วางไว้ ไม่เสวย เจ้าจ๋อสงสัยว่าทำไมพระองค์ไม่เสวย ก็ไปหยิบรวงผึ้งมาพินิจพิเคราะห์ดู เห็นตัวอ่อนเยอะแยะเลย จึงหยิบออกจนหมดแล้วถวายใหม่ คราวนี้พระองค์เสวย ก็เลยกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ ที่อีกฝ่ายจะถูก กกต.แบนเรื่องปริญญาปลอม เอ๊ยที่พระพุทธองค์เสวยผึ้งที่ตนถวาย ปล่อยกิ่งนี้จับกิ่งนั้นเพลิน บังเอิญไปจับกิ่งไม้แห้งเข้า กิ่งไม่หักร่วงลงมา ถูกตอไม้ทิ่มตูดตาย คัมภีร์เล่าต่อว่า ลิงตัวนั้นตายไปเกิดเป็นเทพบุตรนามว่า มักกฎเทพบุตร (แปลว่าเทพบุตรจ๋อ) ปานนั้นเชียว

    เมื่อพระพุทธองค์เสด็จหลีกไปตามลำพัง พวกอุบาสกอุบาสิกาที่ทรงธรรม ไม่เข้าข้างฝ่ายไหนทั้งนั้น ก็พากันแอนตี้พระภิกษุเหล่านั้น ไม่ถวายอาหารบิณฑบาต กล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์เสด็จหนีไปพวกตนมิได้เฝ้าพระพุทธองค์ พระเหล่านั้นรู้สำนึก จึงขอขมา แต่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายบอกให้ไปกราบขอขมาพระพุทธองค์

    ออกพรรษาแล้ว พระภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อขอขมา โดยมีพระอานนท์เป็นผู้ประสานงาน (แหม ใช้ภาษาทันสมัยจังเนาะ) พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษของการทะเลาะวิวาท และอานิสงส์ (ผลดี) ของความสามัคคี แก่พระสงฆ์สาวกเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นก็กลับมาสมัครสมานสามัคคีกันเหมือนเดิม

    ชาวพุทธได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นปางหนึ่ง เป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนี้คือ ปางปาลิไลยกะ (ป่าเลไลยก์) พระพุทธองค์ประทับห้อยพระบาท มีลิงถือรวงผึ้ง และช้างหมอบแทนพระยุคลบาทอย่าถามว่า สร้างสมัยไหน ผมไม่ทราบ เพราะเกิดไม่ทัน

    นี้เป็นการทะเลาะกันของพระสงฆ์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกในประวัติพระพุทธศาสนาแต่การทะเลาะกันเพราะความคิดเห็นต่างกัน ก็ไม่ถึงกับแตกนิกาย ดังสมัยหลัง เพราะอย่างไร ก็มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นจุดศูนย์กลางคอยชี้แจงไกล่เกลี่ยให้กลับคืนดีกัน ก็ไม่ถึงกับแตกนิกาย ดังสมัยหลัง เพราะอย่างไร ก็มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นจุดศูนย์กลายคอยชี้แจงไกล่เกลี่ยให้กลับคืนดีกัน สมัครสมานสามัคคีกันเหมือนเดิม


    http://www.dhammajak.net
     

แชร์หน้านี้

Loading...