ขบวนการอรหันต์ดิบ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 25 กุมภาพันธ์ 2010.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    ขบวนการอรหันต์ดิบ

    พุทธศาสนา ทรรศนะและวิจารณ์

    ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก / ราชบัณฑิต



    มีนิทานจีนอยู่เรื่องหนึ่งเล่าว่า อาแป๊ะคนหนึ่งมีลูกชายคนหนึ่ง ตอนยังเล็กก็ไม่มีอะไรผิดแปลกไปจากเด็กทารกทั่วไป แต่พอโตขึ้นหน่อยก็ผิดสังเกต

    เสียงเพลงที่ไพเราะเพราะพริ้ง ไอ้ตี๋ฟังเป็นเสียงร้องไห้ เวลาใครร้องไห้กลับได้ยินเสียงเป็นเสียงหัวเราะ

    สีที่คนทั้งโลกเห็นว่าขาว ไอ้ตี๋มันเห็นเป็นสีดำ ที่เขาว่าดำมันไพล่ว่าขาว

    เรื่องกลิ่นและรส ก็เช่นเดียวกัน ที่ใครๆ เขาเหม็น ปิดจมูกฟิตๆ แกกลับหอม รสขมขนาด ใครๆ ถ่มน้ำลายปิ้ด แกกลับชอบอกชอบใจ บอกว่าหวานดี

    ประสาทสัมผัสของแกกลับตาลปัตร ผิดเพี้ยนไปจากสามัญคนธรรมดาไปหมด

    คนที่เดือดร้อนก็คือพ่อของแก ไม่รู้จะทำยังไง ได้แต่นั่งกลุ้มอกกลุ้มใจที่มีลูกไม่สมประกอบเหมือนคนอื่นเขา พอดีมีคนเขาแนะนำว่า

    "มีคนเก่งๆ หลายคนที่แคว้นลู่ บางทีเขาอาจรักษาลูกชายคุณได้ ทำไมไม่ไปปรึกษาเขาล่ะ"

    อาแป๊ะตกลงใจเดินทางไปแคว้นลู่ตามคำแนะนำของผู้หวังดี ในระหว่างทาง เขาได้พบท่านเหลาจื้อ เขาได้เล่าอาการแปลกประหลาดของลูกชายให้ท่านฟังบอกท่านเหลาจื้อว่า ตนกำลังพาลูกชายไปให้คนเก่งที่เมืองลู่รักษา

    เหลาจื้อกล่าวว่า

    "คุณรู้ได้อย่างไรว่าลูกชายคุณผิดปกติ ลูกชายคุณเพียงแต่มีอะไรไม่เหมือนคุณหรือคนอื่นเท่านั้น สมมติว่า คนทั้งหมดยกเว้นคุณเป็นเหมือนลูกชายคุณหมด คุณนั่นแหละจะกลายเป็นคนผิดปกติอยู่คนเดียว

    วงการพระศาสนาในเมืองไทยกำลังตกอยู่ในสภาพเช่นที่กล่าวในนิทานจีนเรื่องนี้เข้าทุกที คือคนที่ผิดปกติมีมากขึ้นจนกลายเป็นไม่ผิดปกติกันแล้ว คนที่ปฏิบัติถูกต้องตามหลักศาสนากลายเป็นคนผิด คนนอกรีตนอกรอยกลับได้รับยกย่องสรรเสริญ

    ท่านคงสงสัยว่าผมพูดถึงเรื่องอะไร?

    ผมกำลังพูดถึงขบวนการอรหันต์ดิบ อาถรรพณ์พระศาสนาที่แก้ไม่ได้ ซึ่งหมายถึงใคร มีพฤติกรรมอย่างไร รายละเอียดเอาไว้พูดกันทีหลัง ในขั้นแรกนี้ขอพูดถึงที่มาของคำคำนี้ก่อน

    คำว่า อรหันต์ เป็นคำเก่าแก่มีใช้ก่อนสมัยพุทธกาล ใช้เรียกคนที่มีคุณวิเศษเหนือสามัญชนทั่วไป ความหมายเดิมแปลว่าผู้ควรบูชา ใครมีคุณธรรมสูงส่ง ควรบูชา เรียกว่าอรหันต์ทุกคนไม่ว่าบรรพชิต ฆราวาส ผู้หญิง หรือผู้ชาย

    ครั้นพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ทรงยืมคำนี้มาใช้เรียกบุคคลที่บรรลุจุดหมายปลายทางของชีวิตตามหลักคำสอนของพระองค์ นั่นคือผู้หมดกิเลสตัณหาโดยสิ้นเชิง

    อรหันต์องค์แรกก็คือ พระพุทธองค์นั่นเอง ดังบทสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัยบทแรกว่า อรหัง สัมมาสัมพุทโธ...พระผู้เป็นอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง

    ต่อมาพระอรรถกถาจารย์ (อาจารย์ผู้อธิบายคัมภีร์) ท่านได้ให้นิยามคำว่า อรหันต์ ไว้ ๕ ประการ ตามประสานักวิชาการผู้ทรงภูมิความรู้ผมจะคัดลอกมาให้อ่านปวดหัวเล่นดังนี้

    ๑. อรหันต์ แปลว่า ผู้ไกลจากกิเลส อาจหมายถึงวิ่งหนีกิเลสซะไกลสุดกู่ จนกิเลสไม่มีปัญญาไล่ทัน หรือถือเอ็ม ๑๖ คอยขับไล่จนกิเลสมันกลัวลนลาน วิ่งหนีหัวหดตดหาย สรุปแล้วไม่ว่าใครจะหนีใคร เป็นอันว่า อรหันต์อยู่ไกลกิเลส ไม่คลุกคลีกับกิเลสว่างั้นเถอะ

    ๒. อรหันต์ แปลว่า ผู้ทำลายข้าศึก ข้าศึกในที่นี้มิได้หมายถึง ผกค.หรือเขมรแดงญวนแดงที่จ้องเขมือบเมืองไทยอยู่ดอกนะครับ หมายถึงกิเลสตัณหาร้อยแปดที่มีหัวโจกอยู่สามตัวคือ เจ้าโลภะ เจ้าโทสะ และเจ้าโมหะพระอรหันต์ท่านทำลายมันเรียบไม่เหลือซาก

    ๓. อรหันต์ แปลว่า ผู้หักกำแห่งล้อสงสาร ความหมายนี้เป็นนัยเปรียบเทียบครับ คือเปรียบสงสารวัฏ คือการเวียนตายเหมือนรถที่วิ่งวนอยู่ในวงกลมไม่รู้จักหยุด ท่านลองนึกดูซิว่า ล้อรถน่ะมันมีกำหรือซี่ยึดอยู่จึงหมุนไปได้ ถ้ากำหรือซี่ล้อมันหักป่นปี้หมดล้อก็ไม่ทำงาน รถวิ่งต่อไปไม่ได้ เมื่อพระอรหันต์ทำลายกิเลสซึ่งเปรียบเสมือนกำหรือซี่ล้อรถได้แล้ว ก็ย่อมไม่เวียนเกิดเวียนตายอีกต่อไป

    ๔. อรหันต์ แปลว่า ผู้ควรบูชา ความหมายนี้ได้กล่าวถึงแล้ว

    ๕. อรหันต์ แปลว่า ผู้ไม่มีความลับในการทำชั่ว ว่ากันว่าปุถุชนคนมีกิเลสมักมีฉากหน้าฉากหลัง ต่อหน้าคนอื่นทำตัวดีไม่ทำชั่ว เพราะกลัวคนเขาเห็นและตำหนิติเตียนได้ แต่เวลาลับหลังคน อาจแอบทำความชั่วบางอย่าง โดยคิดว่าไม่มีใครเห็น ไม่มีใครรู้ แต่พระอรหันต์ท่านงดเว้นจากการทำชั่วเด็ดขาดไม่ว่าจะมีคนเห็นหรือไม่ก็ตาม

    การจะเป็นอรหันต์ให้สมบูรณ์ตามความหมายที่ ๕ ประการมิใช่ของง่าย จะต้องปฏิบัติตามครรลองที่ถูกต้อง ซึ่งเรียกตามหลักศาสนาว่า อริยมรรคมีองค์แปด หรือมัชฌิมาปฏิปทา

    มรรค แปลว่า ทาง หรือวิถี สำหรับพาเราไปยังจุดหมายปลายทาง ไม่ใช่ตัวจุดหมายปลายทางเอง มรรคจึงเป็นจุดเริ่มต้น

    จุดเริ่มต้นจึงต้องเริ่มให้ถูก พระพุทธองค์ทรงกำชับด้วยคำว่า "สัมมา" (ถูกต้อง) ทุกหัวข้อคือ

    ทรรศนะถูกต้อง

    ดำริหรือคิดถูกต้อง

    พูดถูกต้อง

    ทำงานถูกต้อง

    ดำเนินชีวิตถูกต้อง

    พยายามถูกต้อง

    ตั้งสติถูกต้อง

    ตั้งใจมั่นถูกต้อง˹ѧ
     
  2. j-lim

    j-lim สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    46
    ค่าพลัง:
    +17
    ขอขอบคุณ คุณวัชรพล ที่นำเอาข้อเขียนดี ๆ มาให้ได้อ่าน
     
  3. tong5959

    tong5959 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    2,056
    ค่าพลัง:
    +6,082
  4. BlueNude

    BlueNude เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 กรกฎาคม 2005
    โพสต์:
    139
    ค่าพลัง:
    +871
    อ่านแล้วเหมือนว่าน่าจะยังไม่จบ.. มีต่อรึเปล่าครับ ?
     

แชร์หน้านี้

Loading...