ผู้นำชาวพุทธในปากีสถานขอให้ช่วยพัฒนาพุทธสถานโบราณ

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย aprin, 11 พฤษภาคม 2010.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    เมื่อศึกษาข้อมูลที่ท่านในฐานะชาวพุทธพูดและเสนอต่อองค์กรต่างๆ ในปากีสถาน ก็พบว่าท่านอยากเห็น UNESCO ขึ้นทะเบียนพุทธสถานโบราณในปากีสถาน เป็นมรดกโลกต่อไป

    เมื่อคณะผู้แทนองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลปากีสถานให้เยี่ยมชมพุทธสถานที่สำคัญในปากีสถาน ระหว่างวันที่ 22-28 มี.ค. ปี พ.ศ. 2553 นั้น ทั้งคณะซึ่งมีพระสงฆ์ 4 รูป นำโดย พระธรรมวราจารย์ (หลวงปู่แบน) พระ ดร.อนิล ธมฺมสากิโย พระครูวินัยธรสะท้าน พระติดตามอีก 1 รูป พร้อมด้วย พัลลภ ไทยอารี เลขาธิการ พ.ส.ล. และภรรยา และผู้สื่อข่าว 2 คน ได้ไปเยี่ยมครอบครัว Raja Tridiv Roy ครอบครัวชาวพุทธครอบครัวหนึ่งในจำนวน 2,000 ครอบครัวที่อยู่ในประเทศปากีสถาน นอกจากท่านได้บำเพ็ญกุศลกับพระแล้ว ท่านขอให้ พ.ส.ล. เป็นผู้นำในการพัฒนาและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่นสร้างเกสต์เฮาส์ตามพุทธสถานสำคัญ เพื่อชาวพุทธที่มาแสวงบุญได้พัก

    เมื่อศึกษาข้อมูลที่ท่านในฐานะชาวพุทธพูดและเสนอต่อองค์กรต่างๆ ในปากีสถาน ก็พบว่าท่านอยากเห็น UNESCO ขึ้นทะเบียนพุทธสถานโบราณในปากีสถาน เป็นมรดกโลกต่อไป ซึ่งปัจจุบันพุทธสถานที่ปากีสถานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมี 2 แห่ง คือ วัดเจาเลียน ตักสิลา และตัก-อิ-ไบ ที่จังหวัด N.W.F.P. ที่เหลืออีกอย่างน้อย 7 แห่งยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน

    ราชาผู้นำชาวพุทธ

    [​IMG]
    Raja Tridiv Roy อดีตราชาจักมา ผู้นำชาวพุทธในปากีสถาน

    อย่างไรก็ตาม เมื่อพวกเราได้พบท่านที่บ้านตามที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลปากีสถานนัดหมายให้นั้น ได้พบว่าครอบครัวนี้เป็นครอบครัวชาวพุทธที่เคร่งครัด ยึดมั่นในพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เมื่อได้พบพระสงฆ์ Raja Tridiv Roy ผู้นำครอบครัว ซึ่งเป็นถึงราชา อดีตรัฐมนตรีและอดีตเอกอัครราชทูตประจำประเทศอาร์เจนตินา ไม่ยอมปล่อยเวลาให้ผ่านไปแม้แต่นาทีเดียว ท่านได้นิมนต์พระสงฆ์นั่งบนอาสนะที่เตรียมไว้เสร็จแล้ว ตัวท่านเองนำไหว้พระและอาราธนาศีล เพื่อให้สมกับการที่ไม่ได้เห็นพระมานาน ประหนึ่งว่าบุคคลที่เดินทางในทะเลทราย กระหายน้ำ เมื่อพบโอเอซิส ไม่รอช้าดื่มน้ำดับกระหายทันที ทั้งนี้การจะพบพระสงฆ์ในประเทศปากีสถานนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะที่ประเทศนี้มีเพียงพุทธสถานโบราณอายุนับพันปี แต่บุคคลที่นับถือศาสนาพุทธนั้นหายไปจากประเทศนี้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี หลังจากฮั่นขาวมาบุกรุกและทำลายพระพุทธศาสนาจนหมดสิ้นเมื่อปี พ.ศ. 1040 หรือคริสต์ศตวรรษที่ 5

    ฝ่ายพระสงฆ์ไทยได้ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วน ตั้งแต่บอกไตรสรณาคมน์ ให้ศีล 5 นำสวดพระปริตร เพื่ออวยชัยให้พรจบแล้ว สนทนาธรรมกับเจ้าบ้าน โดยพระ ดร.อนิล ธมฺมสากิโย ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้นำในการสนทนา และตอบคำถามเกี่ยวกับธรรมะและการปฏิบัติศาสนา

    เมื่อปรนนิบัติพระสงฆ์เป็นที่พอใจแล้ว สมาชิกครอบครัวและบุตรหลานได้สนทนาธรรมกับพระสงฆ์ต่อ ส่วนท่าน Raja Tridiv Roy ได้มานั่งสนทนากับพวกเราที่เป็นฆราวาส นำโดย พัลลภ ไทยอารี เลขาธิการ พ.ส.ล.

    ท่านคุยให้ฟังเรื่องเกี่ยวกับพุทธสถานในปากีสถานและการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทย โดยมาเที่ยวที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เมื่อสังเกตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่สมาชิกในครอบครัวของท่านราชา ทั้งหญิงและชายสวมใส่ เห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากเมืองเหนือเป็นส่วนมาก ถ้าไม่ฟังเสียงพูด ก็คิดว่าเป็นคนไทย เพราะรูปร่างหน้าตาไม่ต่างจากคนไทย

    ราชาแห่ง Chakma
    เมื่อดูประวัติของครอบครัวท่านผู้นี้พบว่าท่านเป็นอดีตพระราชาแห่งชนชาติจักมา Chakma เมืองจิตตะกอง ประเทศบังกลาเทศ ต่อมาย้ายไปอยู่ประเทศปากีสถาน วิกิพีเดีย เอนไซโคลปีเดียเสรี พูดถึง Raja Tridiv Roy ว่าเป็นอดีตราชาจักมา เป็นนักเขียน และเป็นนักการเมือง พร้อมกับบอกว่า ท่านเป็นรัฐมนตรีอยู่ในกรุงอิสลามาบัด เป็นผู้นำชุมชนชาวพุทธ เป็นผู้ก่อตั้ง All Pakistan Buddhist Association

    [​IMG]
    พิธีสงฆ์ที่บ้าน Raja Tridiv Royในกรุงอิสลามาบัด

    ส่วนประวัติที่ท่านแจกจ่ายให้มีรายละเอียดว่าท่านเกิดที่ราชบารี รังคมาติ จิตตะกอง ในปี ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476) จบการศึกษาจากสถาบันต่างๆ หลายสถาบันด้วยกันในอนุทวีป และได้ศึกษาจากสำนักลินคอล์น อินน์ กรุงลอนดอน และได้ขึ้นครองตำแหน่งราชาจักมา ในปี ค.ศ. 1953 (พ.ศ. 2496)
    ในปี ค.ศ. 1956 หรือปี พ.ศ. 2499 เป็นผู้แทนประเทศปากีสถานเข้าประชุมสภาชาวพุทธโลกครั้งที่ 6 ที่ย่างกุ้ง ประเทศพม่า ปี พ.ศ. 2500 เป็นผู้แทนประเทศปากีสถานประชุมฉลอง 25 ศตวรรษ ที่กรุงนิวเดลี ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมชาวพุทธนานาชาติที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา 2 ครั้ง คือปี พ.ศ. 2515 และปี พ.ศ. 2541 ในการประชุมแต่ละครั้งได้เสนอแนะที่สำคัญ จนกระทั่งที่ประชุมนำไปใช้เสมอ

    นักเขียนนักบรรยายพุทธศาสนา
    ในฐานะนักวิชาการชาวพุทธ ได้บรรยายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในที่ประชุมทางวิชาการในประเทศปากีสถาน และต่างประเทศ รวมทั้งแต่งหนังสือเกี่ยวกับพะพุทธศาสนาอีกด้วย

    เรื่องที่บรรยายเช่น ข้อคิดบางประการในพระพุทธศาสนา ที่บรรยายให้กลุ่มเอเชียศึกษา ที่กรุงอิสลามาบัด เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ปี ค.ศ. 1998 โดยท่านพูดถึงไตรลักษณ์ การรักษาศีลของฆราวาสและพระสงฆ์ ซึ่งมีต่างๆ กัน เช่นศีล 5 ศีล 10 และข้อปฏิบัติเมื่อบวชเป็นพระอีกกว่า 200 ข้อ โดยท่านบอกว่าครั้งหนึ่งในชีวิต ผู้ชายควรบวชอย่างน้อย 1 สัปดาห์ แล้วท่านเล่าถึงสถานที่สำคัญที่ชาวพุทธควรไปบูชา 4 แห่ง คือ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือที่ประสูติในประเทศเนปาล สถานตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และสถานที่เสด็จปรินิพพานในประเทศอินเดีย นอกจากนั้นได้กล่าวถึงผลงานยิ่งใหญ่ที่เกิดในปากีสถาน คือ เรื่องมิลินทปัญหา ที่พระยามิลินท์ถามปัญหาต่างๆ จากพระนาคเสนเถระ

    อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ปี ค.ศ. 2001 ท่านได้บรรยายพุทธปัญญาสำหรับปัจจุบันสมัย (Buddhist Wisdom for Present Times) โดยเน้นถึงพุทธปัญญาในอดีต ที่สามารถประยุกต์เข้ากับฟิสิกส์และภาวะแวดล้อม ในชีวิตประจำวันได้ โดยท่านได้กล่าวถึงเหตุให้เกิดทุกข์ ว่ามาจากอะไร และแนวทางแก้ไขตามแนวพุทธไว้อย่างแยบยล และเรื่องรายละเอียดตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาอีกหลายประเด็นด้วยกัน

    นอกจากเรื่องเหล่านี้ ท่านยังได้บรรยายพุทธศิลปะคันธาระ ในงานสัมมนานานาชาติเรื่อง ปากีสถานแหล่งกำเนิดอารยธรรมโบราณ ที่กรุงอิสลามาบัด เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ปี ค.ศ. 2005 โดยเน้นเรื่องพระพุทธศาสนากับอารยธรรมคันธาระให้ที่ประชุมฟัง

    ในเรื่องนี้ ท่านลำดับประวัติความเป็นของพระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่ประสูติ อภิเษกสมรส เบื่อหน่ายชีวิตครองเรือน เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์เมื่อพระชนมายุ 29 พรรษา บำเพ็ญเพียร อย่างสุดโต่งอยู่ 6 ปี ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงเปลี่ยนมาบำเพ็ญเพียรทางสายกลางแล้วตรัสรู้ จากนั้นพระองค์เทศนาสั่งสอนเวไนยสัตว์อยู่ 45 ปี เมื่อพระชนมายุ 80 ปี จึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน

    ท่านเล่าหลักธรรมและวิวัฒนาการพระพุทธศาสนา เช่น การแบ่งเป็นเถรวาทและมหายาน การสังคายนาพระธรรมวินัย ในท้ายสุดท่านได้กล่าวถึงตัวแทนพระพุทธเจ้าหลังปรินิพพานคือต้นโพธิ์ หรือไม่ก็รอยพระพุทธบาท จนกระทั่งลุถึงสมัยพระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งทรงปกครองแคว้นคันธาระ มีเมืองหลวงตั้งอยู่จังหวัด N.W.F.P. ในปัจจุบัน ได้สร้างพระพุทธรูปโดยใช้รูปเทพเจ้า Apollo ของกรีกเป็นต้นแบบขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 1 หรือประมาณปี พ.ศ. 600

    พระพุทธรูปที่รู้จักและยกย่องกันมากในแง่ศิลปะ กระทั่งเป็นงานชิ้นเอก ได้แก่ พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองละฮอร์
    ศิลปะคันธาระนั้นคืออารยธรรมทางพระพุทธศาสนา มีอิทธิพลในการสร้างพระพุทธรูปกระจายไปทุกหนทุกแห่งในโลก ความงดงาม ศิลปะคันธาระได้พรรณนาว่า ดังบทกวีที่สลักลงบนแท่งศิลาทีเดียว

    ให้ยูเนสโกขึ้นทะเบียน
    ตอนท้ายท่านเรียกร้องให้องค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนพุทธสถานที่พบในปากีสถานอีก 7 แห่ง นอกจากที่ขึ้นทะเบียนเจาเลียนและตัก-อิ-ไบ ที่ N.W.F.P. เป็นมรดกโลกไปแล้ว 7 แห่งที่ว่านี้ ได้แก่ 1.Ranigat 2.Jamal Garhi 3.Kashmir Smast 4.But Kara III 5.Shingardar Stupa 6.Najigram Stupa and Monastery และ 7.Hund

    ประวัติส่วนตัวของท่านที่ปากีสถานยกย่องคือเป็นรัฐมนตรีกระทรวงว่าด้วยชนกลุ่มน้อย ในปี ค.ศ. 1971 ซึ่งเป็นการเข้าร่วม ครม.ครั้งแรก ต่อมาในปี ค.ศ. 1975 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษากระทรวงด้านการท่องเที่ยว ชนกลุ่มน้อย ซึ่งฐานะเช่นเดียวกับรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งนี้ถึงปี ค.ศ. 1981 เมื่อได้รับตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศอาร์เจนตินา (และมีอำนาจเต็มในประเทศชิลี เปรู เอกวาดอร์ และอุรุกวัย)

    ในการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนานั้น ท่านมีผลงานดีเด่น ประธานาธิบดีศรีลังกา ได้มอบรางวัล Sri Lanka Ranjana ให้เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ปี ค.ศ. 2005 รัฐบาลพม่ามอบตำแหน่ง Saddhamma Jotikadhaja ให้เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ปี ค.ศ. 2007 และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงว่าด้วยชนกลุ่มน้อยในรัฐบาลรักษาการระหว่างวันที่ 16 พ.ย. ปี ค.ศ. 2007 ถึงวันที่ 24 มี.ค. ปี ค.ศ. 2008

    ผลงานด้านการเขียนที่ตีพิมพ์เป็นเล่มแล้วทั้งในประเทศปากีสถาน และต่างประเทศ คือเรื่องสั้น 2 เล่ม บันทึกความจำเรื่อง The Departed Melody และ South American Diaries บางเล่มแปลเป็นภาษาอูระดู

    นี่คือประวัติและข้อมูลบางตอนของผู้นำชาวพุทธ ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามเกือบ 100%

    ผู้นำชาวพุทธในปากีสถานขอให้ช่วยพัฒนาพุทธสถานโบราณ
     
  2. มุ่งเต็มใจ

    มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,467
  3. theliger

    theliger เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2007
    โพสต์:
    735
    ค่าพลัง:
    +219
    เห็นชอบด้วยครับ
     
  4. นายสาธิต

    นายสาธิต ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 กันยายน 2008
    โพสต์:
    409
    ค่าพลัง:
    +1,066
    เรื่องการให้ทานนี้คนไทยนี้เป็นที่หนึ่ง ให้ไม่มากน่ะ แต่ให้กันมากมายหลายคน จึงทำให้ผูกน้ำใจกันไว้ได้เป็นไทยมาจนทุกวันนี้ อย่างหลวงพ่อทำไมต้องตะเวณแจกของทั่วไปก้อสาเหตุนี้เอง
     
  5. yommatood

    yommatood เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    624
    ค่าพลัง:
    +1,298
    อนุโมทนาสาธุ ขอให้ศาสนาพุทธดำรงอยู่ในปากีสถานไปอีกนานเช่นเดียวกับเมืองไทยด้วยเทอญ
     
  6. Heureuse

    Heureuse เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 กันยายน 2008
    โพสต์:
    857
    ค่าพลัง:
    +3,446
    สาธุขอให้ศาสนาพุทธปรากฎขึ้นเป็นศาสนาของสาธุชนทั่วโลก
     
  7. nanodent

    nanodent เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    1,730
    ค่าพลัง:
    +943
    เพชรในทะเลทรายเจอโอเอซีสจริงๆครับ...สุดยอดครับ
     
  8. ถิ่นธรรม

    ถิ่นธรรม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    1,828
    ค่าพลัง:
    +5,414
    เห็นอดีตเมืองพุทธแล้วสังเวชใจ เราต้องช่วยกันรักษาอย่าให้เมืองไทยกลายเป็นอดีตเมืองพุทธ
     

แชร์หน้านี้

Loading...