ท่าทีที่พึงปฏิบัติต่อเทพ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 27 กรกฎาคม 2010.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG][​IMG]

    ท่าทีที่พึงปฏิบัติต่อเทพ
    โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก



    พระพุทธศาสนาพูดถึงเทพ 3 ประเภทคือ

    1. สมมติเทพ เทพโดยสมมติ ได้แก่ พระราชามหากษัตริย์

    2. อุปปัตติเทพ เทพโดยอุบัติ คือ เกิดเป็นเทพในกามาพจรสวรรค์ รวมถึงพรหมด้วย

    3. วิสุทธิเทพ เทพโดยความบริสุทธิ์ คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย

    ประเภทที่ 1 และที่ 3 รู้กันโดยมากแล้ว ในที่นี้จะขอพูดถึงประเภทที่ 2 คือ เทพหรือเทวดาจริงๆ มนุษย์ส่วนมากคิดว่าเทพนี้มีอิทธิฤทธิ์สามารถบันดาลความสุขความสำเร็จให้มนุษย์ จึงพากันเคารพนับถือบูชาเทพแบบสุดตัวเลย พูดอีกนัยหนึ่งว่ามอบชะตากรรมทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของเทพโดยสิ้นเชิง ไม่เหลือเผื่อให้การกระทำของตนเองแม้แต่นิดเลย

    การนับถือเทพแบบสุดชีวิตจิตใจเช่นนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าไม่ถูกต้อง เพราะเงื่อนไขใหญ่อยู่ที่การกระทำของมนุษย์เอง เทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ถ้าจะช่วยได้บ้าง ก็เป็นเพียงปัจจัยเสริมเท่านั้น ไม่ใช่ปัจจัยหลัก

    ในบางพระสูตร พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสเตือนสติมนุษย์ว่า ในบรรดาเทวดาทั้งหลายนั้น เวลามีเทวดาตนใดจะจุติ (คือตาย) พวกเขาจะพากันมาห้อมล้อม กล่าวอนุโมทนาด้วยความยินดีว่า “ยินดีที่ท่านจะตายไปเกิดในสุคติคือโลกมนุษย์”

    เท่ากับแสดงให้เห็นว่าในสายตาของเทพนั้น มนุษยโลกสำคัญที่สุด เป็น “สุคติ” ที่แท้จริง ประเสริฐกว่าเทวโลกด้วยซ้ำ แม้ว่าจะเป็นสุคติเหมือนกันก็ตาม ทั้งนี้ เพราะเทพเขาถือว่าเป็นมนุษย์มีโอกาสดีกว่าเทพ มีโอกาสพัฒนาตนตามหลักอริยมรรคบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ซึ่งเทวดาไม่สามารถทำได้ ถ้าอยากเป็นพระอรหันต์ ต้องมาเกิดเป็นมนุษย์เท่านั้น

    ในขณะที่มนุษย์กลับดูถูกศักยภาพของตนเอง หวังพึ่งแต่เทพบันดาลอย่างเดียว

    เพื่อให้เกิดอนุสติ ผมขอยกเรื่องเล่าจากชาดกบ้าง พระสูตรบ้าง อรรถกถาบ้าง มาให้ฟังสัก 2-3 เรื่องดังนี้ครับ

    เรื่องที่หนึ่ง มหาชนกชาดก พระมหาชนกโพธิสัตว์ลงเรือเพื่อไปค้าขายต่างเมือง ร่วมกับลูกเรือจำนวนมาก บังเอิญเกิดพายุใหญ่กระหน่ำกลางทะเล ขณะเรือกำลังจะจมทะเลนั้น บรรดาลูกเรือทั้งหลายต่างก็อ้อนวอนกราบไหว้ ขอพรให้เทพทั้งหลายที่ตนนับถือ ให้ช่วยเหลือ พระมหาชนกยืนดูพวกเขาเหล่านั้น ด้วยความสลดสังเวชใจ รำพึงเบาๆ ว่า มัวแต่ฝากชีวิตไว้กับเทพเจ้าทั้งหลาย ไม่คิดช่วยตัวเองเลย อย่างนี้มีแต่ตายกับตายลูกเดียว

    พระมหาชนกไม่คุกเข่าอ้อนวอนเทพเหมือนคนอื่น ใช้ปัญญาคิดแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยเริ่มกินอาหารให้อิ่ม เอาผ้าชุบน้ำมันพันกาย (เข้าใจว่าเพื่อให้ร่างกายเบาจะได้ไม่จมน้ำง่าย) เมื่อเสากระโดงเอนลงมา ก็ปีนเสากระโดงเรือ กำหนดทิศทางเมืองมิถิลานคร แล้วก็กระโดดให้ไกลที่สุด เกาะแผ่นกระดานว่ายไปในทะเล

    คนทั้งหลายที่ฝากชีวิตไว้กับเทพที่ว่าศักดิ์สิทธิ์นักหนา พากันตายหมด เหลือแต่พระมหาชนกคนเดียว เพียรพยายามว่ายอยู่ในทะเลโดยไม่หยุด จนกระทั่งนางมณีเมขลา เทพธิดาประจำมหาสมุทรได้มองเห็น และตามดูพฤติกรรมของพระมหาชนกอยู่ อยากรู้ว่าทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง ทำไมจึงเพียรพยามยามอยู่

    นางปรากฏกาย ร้องถามว่าใครนั่นน่ะ เพียรพยายามว่ายน้ำอยู่ มหาสมุทรกว้างใหญ่ไพศาล เห็นแต่น้ำกับฟ้า ฝั่งก็มองไม่เห็น ไม่มีทีท่าว่าจะถึงฝั่ง พูดง่ายๆ ว่ายก็ตาย ไม่ว่ายก็ตาย จะพยายามอยู่ทำไม

    พระมหาชนกตอบว่า “เกิดเป็นคนต้องพยายามจนถึงที่สุด เมื่อได้พยามเต็มที่แล้ว จะถึงฝั่งหรือไม่ถึงไม่สำคัญ ถ้าเราได้ทำหน้าที่ของคนที่เกิดมาแล้ว ถึงจะตายไปก็นับว่าไม่เป็นหนี้ใคร”

    นางมณีเมขลาจึงช่วยอุ้มพระมหาชนกไปวางไว้บนบก พระมหาชนกได้พูดกับนางมณีเมขลาว่า “คนในเรือตายหมด เหลือแต่เราคนเดียวพยายามแหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทร จนที่สุดได้พบท่าน และท่านก็เมตตาช่วยนำเราเข้าสู่ฝั่ง นี่มิใช่อานุภาพแห่งความเพียรหรือ”

    เล่าแค่นี้แหละ ไม่อธิบายให้มากความ เข้าใจว่าท่านผู้อ่านคงได้คำตอบด้วยตัวท่านเอง

    เรื่องที่สอง พระราชาสองเมืองรบกันแบบมาราธอน คือ ไม่มีใครชนะใคร เพราะต่างก็มีฝีมือด้วยกัน ถึงฤดูฝนก็พักรบ หน้าแล้งมาก็เริ่มรบกันต่อ

    ฤๅษีท่านหนึ่งถามพระอินทร์ว่า กษัตริย์สององค์นี้องค์ไหนจะชนะ พระอินทร์กล่าวว่า พระราชาเมือง ก.จะชนะ พระราชาเมือง ข.จะแพ้ไม่เป็นท่าเลย หลวงพ่อฤๅษีก็ถ่ายทอดคำทำนายของพระอินทร์ให้ลูกศิษย์ฟัง ไม่นานคำทำนายนั้นก็รู้ไปถึงพระกรรณของพระราชาทั้งสอง

    องค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะแพ้ แรกๆ จะถอดใจ แต่คิดอีกที ไหนๆ ก็สู้มาจนถึงป่านนี้ จะยอมแพ้ง่ายๆ ก็ดูกระไร ฝีมือเราก็มิได้เป็นรองแต่อย่างใด มันคงไม่แพ้ง่ายดายดังคำทำนายดอก จึงพยายามฝึกปรือทหารหาญของตน โดยไม่ประมาท ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจุดไหนเป็นช่องว่างช่องโหว่ พยายามปิดพยายามเสริมให้เต็มที่

    ฝ่ายพระราชาที่ได้รับคำพยากรณ์ว่าจะชนะ ก็ดีใจ จัดพิธีเฉลิมฉลองเอิกเกริก ไม่ใส่ใจฝึกปรือทหาร มัวแต่สนุกสนานเพลิดเพลิน เมาแอ่นกันทั้งกองทัพ ประมาณนั้น

    ถึงเวลารบจริง ก็แพ้อย่างไม่เป็นท่า ทั้งๆ ที่คำทำนายว่าจะชนะ จึงไปต่อว่าฤๅษีว่าหาว่าโกหกหลอกต้มตน ไหนว่าจะชนะแต่ทำไมจึงแพ้ยับเยินเช่นนี้ ฤๅษีเองก็ตกใจเหมือนกัน ที่คำทำนายกลับตาลปัตรเช่นนี้ จึงไปต่อว่าพระอินทร์

    พระอินทร์กล่าวว่า คำทำนายไม่ผิดดอก ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามวิถีทางของมัน พระราชาเมือง ก.จะชนะแน่ แต่เนื่องจากพระราชาเมือง ข.ได้พากเพียรพยายามเต็มที่โดยไม่ประมาท ในขณะที่พระราชาเมือง ข.ประมาท ผลจึงเป็นอย่างที่เห็นนี้

    แล้วพระอินทร์ก็สรุปว่า “มนุษย์ถ้าพากเพียรจนถึงที่สุดแล้ว เทวดาก็กีดกันไม่ได้”

    เรื่องนี้ก็แจ่มแจ้งแล้ว ไม่มีคอมเมนต์เพิ่ม

    เรื่องสุดท้าย อนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้สร้างพระเชตวันมหาวิหาร เป็นเศรษฐีใจบุญ สละทรัพย์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจำนวนมาก ว่ากันว่า เศรษฐีทำบุญเลี้ยงพระวันละ 500 รูปทุกวัน คราวหนึ่งเศรษฐกิจตกต่ำ การค้าขายขาดทุน แต่ท่านก็ไม่งด หรือลดงบประมาณในการทำบุญ ยังคงทำเหมือนเดิม จนเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตู ผู้หวังดีต่อเศรษฐี ทนไม่ได้ที่เห็นท่านเศรษฐีลำบาก จึงปรากฏตัว และแนะนำให้เศรษฐีเลิกทำบุญ หรือลดงบประมาณในการทำบุญลง

    เศรษฐีถามว่า ท่านเป็นใคร ได้รับคำตอบว่า เป็นเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตู จึงตวาดว่า การที่ท่านได้เกิดเป็นเทพ เป็นผลของการทำบุญทำทานมิใช่หรือ ท่านมาห้ามข้าพเจ้ามิให้ทำบุญทำทานสมควรแล้วหรือ ไม่ละอายใจหรือ ถ้าท่านไม่อนุโมทนาในบุญกุศลที่ข้าพเจ้าทำ ก็ไม่ควรอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านข้าพเจ้า

    พูดแบบสำนวนกำลังภายในก็ว่า “โน่นประตู ไสหัวไป”

    เทวดาตนนั้นเลยไม่มีที่อยู่ เพราะถูกเศรษฐีขับไล่ ต้องไปพึ่งพระมหากรุณาของพระพุทธเจ้า พระองค์รับสั่งให้มาขอขมาเศรษฐี เศรษฐีก็ยกโทษให้ และอนุญาตให้สิงสถิตอยู่ที่เดิมต่อไป

    มีอีกหลายตัวอย่างต้องการบอกว่า เกิดเป็นมนุษย์นั้นมีศักยภาพสมบูรณ์ที่จะพัฒนาตนเองให้งอกงามด้วยคุณธรรม สร้างที่พึ่งแก่ตนเองด้วยการปฏิบัติธรรม ไม่ต้องอ้อนวอนร้องขอความช่วยเหลือจากเทพาอารักษ์ใดๆ

    คำสอนพระพุทธศาสนาให้แนวคิดว่า เป็นมนุษย์อย่างเรานี้แหละ สามารถทำตนให้เป็นเทพได้ เทพที่มีคุณธรรม เทพที่พูดได้ เดินได้ สัมผัสได้ พึ่งตนเองได้ ด้วยการพึ่งธรรม ไม่จำเป็นต้องไปงอนง้อขอให้เทพภายนอกช่วยเหลือให้เมื่อย

    คุณธรรมที่ทำคนให้เป็นเทพ หรือยิ่งกว่าเทพคือ หิริ (อายชั่ว) โอตตัปปะ (กลัวบาป)

    ใครมีคุณธรรมสองประการนี้เป็นยิ่งกว่าเทพไหนๆ ไม่ว่าจตุคามฯ หรือจตุคำ

    [​IMG]
    เสฐียรพงษ์ วรรณปก


    หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
    คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
    วันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10704
     
  2. ปรานต์

    ปรานต์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 มกราคม 2009
    โพสต์:
    270
    ค่าพลัง:
    +668
    เชื่อมั่นในความดีของตนไม่ต้องไปพึ่งพาเทพเทวดาที่ไหน
     
  3. น้ำดี1

    น้ำดี1 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    13,402
    ค่าพลัง:
    +43,432
    ละอายต่อบาป เชื่อว่ากฏแห่งกรรมมีจริงเท่านี้ก็พอแล้วค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...