ลูกทุ่งในกรุง

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย พนมกุเลน, 31 กรกฎาคม 2010.

  1. พนมกุเลน

    พนมกุเลน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 เมษายน 2008
    โพสต์:
    2,455
    ค่าพลัง:
    +7,618
    "คอยรุตตั๊กวา" (ชุมชนอิสลามลำไทร) พอเพียง สงบสุข ร่มเย็น เกื้อกูล พึ่งตนเอง

    การไปเยี่ยมเยือนชุมชนคอยรุตตั๊กวาครั้งนี้ ไม่ใช่การเดินทางไปเยือนครั้งแรกของผม แต่เป็นการเดินทางย้อนเวลากลับสู่อดีตเมื่อครั้งยังรุ่น ๆ กล่าวคือ เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วเป็นอย่างไร (บ้านนอก) ปัจจุบันก็ยังคงเป็น (บ้านนอก) อย่างนั้น

    สมัยก่อน นักเรียนมัธยมต่างจังหวัดอย่างผมต้องดิ้นรนมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ อาศัยเป็นเด็กวัดมาเรียนที่โรงเรียนบางกะปิ ผมมักจะล้อเลียนเพื่อน ๆ ร่วมชั้นเรียนที่อาศัยอยู่ย่านหนองจอกว่า "พวกตะเข็บชายแดน" คือเป็นพื้นที่ตะเข็บชายแดนกรุงเทพฯ กับอำเภอบางคล้า แปดริ้ว

    จำได้ว่าผมและเพื่อน ๘ คน ตามเพื่อนคนหนึ่งที่บ้านอยู่ย่านหนองจอกกลับบ้าน การสัญจรไปมาหาสู่กันสมัยนั้นมีเพียงทางเรือเท่านั้นที่สะดวกสุด เริ่มจาก ล่องเรือจากท่าประตูน้ำ คลองแสนแสบ เวลา ๐๖.๐๐ น. ถึงท่าบางกะปิ เวลา ๐๙.๓๐ น.

    จากนั้นต้องรอเปลี่ยนเรืออีก ๒ ชั่วโมง คือรอเรือจากหนองจอกที่บรรทุกสินค้าเกษตรมาขายที่ตลาดบางกะปิ ระหว่างรอก็มีความสุขกับการรับประทานก๋วยเตี๋ยวเรือ ชามละ ๕๐ สตางค์ ขึ้นเรืออีกครั้ง เวลา ๑๒.๓๐ น.

    เรือจะแล่นและรับส่งผู้โดยสารที่สะพานสูง คันนายาว มีนบุรี ถึงมีนบุรีต้องเปลี่ยนไปนั่งเรือลำเล็กซึ่งเป็นเรือพาย สามารถล่องต่อไปคลองเจียรดับ, คลองลำไทร ถึงบ้านเพื่อน เวลา ๑๖.๐๐ น. เย็นพอดี ไม่มีโอกาสล่องเรือไปกลับในวันเดียวกัน ต้องค้างบ้านเพื่อน ๑ คืน

    วันรุ่งขึ้น ป๊ะ (พ่อของเพื่อน) และ มะ (แม่ของเพื่อน) จะเข้าสวนเก็บพืชผัก ผลไม้ และจับกุ้งจับปลาไว้สำหรับเป็นของฝากให้ผมและผองเพื่อนถือติดมือกลับบ้าน (กลับวัด) ทุกครั้งที่ไปเยี่ยม


    [​IMG]

    บ้านเพื่อน เป็นบ้านริมคลอง ตัวบ้านยื่นออกมาในน้ำ น้ำใสมาก มองเห็นฝูงปลาที่มาหลบแดดใต้ถุนบ้านชัดเจน อาทิ ปลากระดี่นางฟ้า ปลาตะเพียนทอง ปลาเกล็ดขาว และปลาช่อน ส่วนบนบก ก็มีพืชพรรณหลายชนิด ปลูกผสมผสานกันให้เก็บกิน ได้ตลอดทั้งปี

    อาทิ ต้นฟักข้าว ตะลิงปลิง หว้า ถั่วพลู ตะไคร้ พริก มะกรูด มะแว้ง มะนาว มะระขี้นก ตำลึง กระทกรก มะเฟือง กอไผ่ มะยม มะม่วง มะขาม ขนุน กล้วย มะละกอ แอ๊ปเปิ้ลน้ำ ฯลฯ

    ถึงเวลาอาบน้ำก็อาบน้ำคลอง สมัยนั้นน้ำประปาเข้าไม่ถึงครับ พวกผมเลือกที่จะกระโดดจากต้นไม้ลงคลอง เสียงน้ำกระจายดังตูมตาม สะใจดี

    ค่ำลง เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าใช้ต้องจุดตะเกียงน้ำมัน ล้อมวงกินข้าวด้วยมือ หัวแทบชนกันเนื่องจากแสงสว่างน้อย อาหารเย็นมื้อนั้นอร่อยมาก มี น้ำพริกกะปิ (ต้องเป็นตัวกุ้งกะปิมาจากคลองแสนแสบ) ปลาช่อนแดดเดียวย่าง แกงจืดตำลึงใส่หอมเจียว

    ข้าวนั้นมะ (แม่) หุงด้วยหม้อดิน เป็นทักษะเฉพาะตัวซึ่งผมทึ่งมาก ส่วนของหวานได้แก่ ฟักข้าว มะละกอสุก พอฟ้ามืดก็นอนชมดาวเดือนกันละครับ มีเสียงดนตรีธรรมชาติบันเลง ได้แก่ เสียงจิ้งหรีด จั๊กจั่น เรไร สลับกับเสียงอ่านอัลกุรอานแว่วมาเป็นระยะ

    รุ่งขึ้นพากันเข้าสวน หาปลา จับกุ้ง เก็บผักบุ้ง เพื่อนำไปปรุงเป็นอาหารเช้า วัตถุดิบใหม่สด ปลอดสารพิษอย่างแท้จริง พอเวลาสายป๊ะ ก็จะฝากผมไปนั่งรถกับญาติเพื่อไปลงบางคล้า แปดริ้ว จับรถโดยสารไปลงหมอชิต บริเวณเซ็นทรัล ลาดพร้าว

    จำได้ว่าถึงกรุงเทพฯ เวลา ๑๓.๓๐ น. หอบของพะรุงพะรังลงจากรถโดยสารราวกับว่ามาจากชนบท และบรรดาของฝากที่ป๊ะกับมะให้มานั้นสามารถต่อชีวิตเด็กวัดอย่างผมให้อยู่ได้เป็นเดือน

    เด็กสมัยนี้อาจมองว่าการเดินทางเช่นนั้นเป็นเรื่องลำบาก แต่ผมกลับรู้สึกว่าเป็นการเดินทางที่มีความสุข ญาติพี่น้องของเพื่อนให้การต้อนรับที่อบอุ่นมากเหมือนผมเป็นญาติพี่น้องในครอบครัว เป็นความรู้สึกดั่งกลับบ้านตัวเองที่ต่างจังหวัดทีเดียว

    ปัจจุบันการต้อนรับผู้ไปเยือนชุมชนคอยรุตตั๊กวา ก็ยังให้ความรู้สึกอบอุ่นเช่นเดิม เหมือนกลับไปเยี่ยมเยือนญาติพี่น้องอย่างไรก็อย่างนั้น

    ลำคลองยังสะอาด อากาศบริสุทธิ์ ต้นไม้ให้ความร่มรื่นตลอดเส้นทางในชุมชน บ้านแต่ละหลังไม่มีรั้วคอนกรีตกั้น มีเพียงพุ่มไม้เตี้ย ๆ ปลูกไว้แสดงอาณาเขตเท่านั้น ล้อมรั้วด้วยใจเป็นเช่นนี้เอง

    สิ่งที่ต่างไปจากอดีตก็เห็นเพียงการคมนาคมที่เจริญขึ้น มีถนนลาดยาง สามารถนำรถบัสคันใหญ่ไปจอดเทียบถึงหน้าศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร

    ส่วนวิถีชีวิตที่เป็นเกษตรนั้น ยังดำรงอยู่ แต่เปลี่ยนเป็นวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่ ไร้สารเคมี ผลิตปุ๋ยใช้เอง ไม่รบกวนธรรมชาติ ระบบนิเวศเกิดความสมดุลในตัวเอง


    [​IMG]

    บ้านของอาจารย์สมชาย สมานตระกูล วิทยากรที่มีความรู้ ความสามารถ ทำจริง รู้จริง

    อาจารย์สมชาย สมานตระกูล กล่าวถึงความสำเร็จของชุมชนที่มีผู้มาเยี่ยมชมศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องว่า ความสำเร็จของชุมชน เกิดจากทุน ๓ ประการ

    ๑. ทุนทางด้านสังคม คือ อยู่กันมาร้อยกว่าปี เป็นปึกแผ่น อยู่กันเหมือนญาติพี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปันกัน เดิมก็ใช้ชีวิตเกษตรกันอยู่แล้ว

    ๒. ทรัพยากรที่มีอยู่ ตราบใดที่มีผืนดิน มีแหล่งน้ำ มีอากาศ ชาวบ้านก็มีอาชีพ ใช้ประโยชน์จากผืนดิน เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงตัวเองได้ พึ่งตัวเองได้

    ๓. ทรัพยากรมนุษย์ คือ คนในชุมชนมีคุณภาพ ผู้นำเสียสละอุทิศตน รู้จักเรียนรู้ รู้จักการบริหารจัดการทรัพยากร มีการแบ่งปันเผื่อแผ่ ช่วยเหลือผู้อื่น


    "พื้นฐานอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ เรื่องของหลักการในศาสนาอิสลามที่ชาวบ้านใช้ในวิถีชีวิตของเขามาตลอด

    วิถีของอิสลามมันเป็นวิถีของการพึ่งตนเองเป็นอันดับต้นๆ เลย คำสอนของศาสนาอิสลามมีตอนหนึ่งกล่าวว่า ‘มนุษย์ที่ดียิ่งก็คือมนุษย์ที่ช่วยเหลือตนเองได้ และช่วยเหลือผู้อื่น’

    เพราะฉะนั้นพึ่งตนเองได้ไม่พอ ต้องช่วยเหลือผู้อื่นด้วย ตรงนี้ทำให้เกิดการช่วยเหลือทางสังคมขึ้นมา การช่วยเหลือนี่เองที่เป็นเป้าประสงค์ของศาสนาอิสลาม

    เพราะฉะนั้นความเอื้ออาทร ความพอประมาณ ก็เป็นหลักการของศาสนาอิสลามที่เราใช้ในการดำรงชีวิตมาตลอด"

    "ในหลักการของศาสนาอิสลาม ความพอประมาณก็คือการใช้คุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเอง พอประมาณกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่


    เช่น พอประมาณกับพื้นที่ พอประมาณกับแรงกาย แรงงาน พอประมาณกับทรัพยากร พอประมาณกับค่าใช้จ่าย มันเป็นเรื่องที่เป็นชีวิตมาโดยตลอด"


    [​IMG]

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส เรื่อง “เกษตรทฤษฎีใหม่” เพื่อให้ประชาชนน้อมนำไปสู่การปฏิบัติบนพื้นฐานของความพออยู่พอกิน เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ในการจัดสรรที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยลดรายจ่าย หากเหลือให้นำไปขายเพิ่มรายได้

    นอกจากนี้ยังนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันในทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ เช่น การออมฯ สังคม การศึกษา ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้ปัญญา และคุณธรรมในการดำเนินชีวิตและพัฒนาประเทศ เกิดความพอเพียง สามารถเผชิญ รู้เท่าทัน และแก้ปัญหาชีวิตประจำวันได้

    พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
    "...คำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอ ดังนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย

    ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข

    พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณ ตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง….

    สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน สมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีความพอเพียงได้ ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่ามีกินมีอยู่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้แต่ว่าพอ..."


    [​IMG]

    "ชุมชนคอยรุตตั๊กวา" ได้รับการบุกเบิกเมื่อประมาณ ๑๓๐ ปีที่ผ่านมา โดย "นายอิบรอฮีม-นางซานี บีดิล" สองสามีภรรยาที่อพยพถิ่นฐานจากปัตตานีมาอยู่แถบลุ่มน้ำแสนแสบ (บริเวณบ้านเจียรดับในปัจจุบัน)

    จากพื้นที่ป่าก็ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาเป็นเรือกสวน ไร่ นา จนทำเป็นอาชีพหลัก โดยยึดหลักการปกครองดูแลเป็นระบบครอบครัวและลูกหลานสืบมา

    ประชากรในหมู่บ้านลำไทรร้อยละ ๙๐ เป็นชาวมุสลิมนับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงหงส์ เลี้ยงนก เลี้ยงวัว เลี้ยงแพะ

    ปี 2537 "ชุมชนคอยรุตตั๊กวา" ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นชุมชนตามระเบียบของ กทม. โดยใช้ชื่อว่า "ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา"


    [​IMG]

    ลำไทรฟาร์ม ของอาจารย์ถาวร สมานตระกูล เลี้ยงนกแก้วมาคอร์ เป็ดแมนดาริน วูดดั๊ก และหงส์ ๓ พันธุ์ คือ หงส์สีดำปากแดง หงส์สีขาวคอดำ หงส์ขาว


    [​IMG]

    หงส์ดำเป็นสัตว์ป่าที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย สามารถนำมาเลี้ยงและขยายพันธุ์ได้ในประเทศไทยจนเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน หงส์ดำมีอายุเฉลี่ยราว 15 ปี ออกไข่ครั้งละ 5-6 ฟอง ฟักนาน 35 วัน จึงออกเป็นลูกหงส์ จะออกไข่เมื่อมีอายุราว 2 ปี


    [​IMG]

    เลี้ยงเพื่ออนุรักษ์พันธุ์นกกระเรียน


    [​IMG]

    เลี้ยงเพื่อความสวยงาม เป็ดปักกิ่ง

    [​IMG]

    การเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน นก เป็ด ห่าน เมื่อกินอาหาร เศษอาหารส่วนเกินจากปากก็จะหล่นลงน้ำ ปลาในบ่อก็ได้กินต่อ

    [​IMG]

    ผลผลิตจากสวน ไร่ นา ทรัพยากรที่เป็นส่วนเกินจากที่บริโภคในครัวเรือน เหลือจากแจกกันในกลุ่มเพื่อนบ้าน สามารถแปรรูปและถนอมอาหารเป็นสินค้าเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว

    [​IMG]

    สะพานข้ามคลองไปสู่โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ


    [​IMG]

    ฝูงห่านมามุงดูชาวคณะศึกษาดูงาน และส่งเสียงต้อนรับกันอื้ออึง


    [​IMG]

    อาจารย์บุญเหลือ สมานตระกูล กำลังถ่ายทอดความรู้และแบ่งปันผลผลิตแห่งความภูมิใจ "แก้วมังกรแดงสยาม"
    กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจัดตั้ง “โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ กรุงเทพมหานคร” แห่งแรกที่ ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ

    ซึ่งนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียนฯ เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙

    ที่ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา หมู่ ๕ แขวงโคกแฝด เขตหนองจอกนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จาก นายบุญเหลือ สมานตระกูล และญาติ

    ให้ใช้ที่ดินจำนวน ๑๔ ไร่ เศษ ให้กรุงเทพมหานครใช้เป็นโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ มีระยะเวลา ๑๐ ปี ซึ่งขณะนี้สำนักงานเขตหนองจอกได้เข้าปรับพื้นที่เป็น ๔ ส่วน

    คือ ปลูกข้าว ร้อยละ ๓๐ พืชไร่ พืชสวน ร้อยละ ๓๐ ขุดสระที่ไว้ใช้บริโภค การเกษตร และเลี้ยงปลา ร้อยละ ๓๐ และเป็นที่อยู่อาศัย ร้อยละ ๑๐


    [​IMG]

    ระบบจ่ายน้ำด้วยสปริงเกิลที่ อ.บุญเหลือ นำจักรยานเก่ามาประยุกต์ใช้ ยังทันสมัยเข้ากับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันอย่างดี ใช้พลังคน ประหยัด

    ไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องพลังงาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญได้ประโยชน์ต่อที่สองคือได้ออกกำลัง ร่างกายแข็งแรงได้โดยไม่ต้องไปจ่ายเงินเพื่อเข้าฟิตเนส

    [​IMG]

    บนพื้นที่ ๑๔ ไร่ ๘๑ ตารางวา ตามอัตราส่วน
    พื้นที่ทำนา ๓๐% ประมาณ ๔ ไร่เศษ
    เลี้ยงปลาและพื้นที่น้ำ ๓๐% ประมาณ ๔ ไร่เศษ
    พื้นที่ปลูกไม้ผลและพืชผัก ๓๐% (๔ ไร่) ประมาณ ๔ ไร่เศษ
    พื้นที่ปลูกบ้านพักอาศัยและสัตว์เลี้ยง ๑๐ % ประมาณ ๒ ไร่เศษ


    [​IMG]

    ภาพซ้ายร้านอาหารม่านบาหลี ภาพขวาเป็นการตอนมะละกอ


    [​IMG]

    บ้านพักโฮมสเตย์ของชุมชนคอยรุตตั๊กวา
    ชุมชนคอยรุตตั๊กวาจะจัดบ้านของตนเองเป็นบ้านพักโฮมสเตย์ ไม่มีการสร้างที่พักเพื่อเป็นธุรกิจ จึงไม่มีเครื่องปรับอากาส ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น


    ผู้ที่เข้าพักต้องอาศัยอยู่กับเจ้าของบ้าน เน้นให้ผู้มาเยือนได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น

    ดังนั้นผู้เข้าพักควรจะได้ศึกษาธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชนมุสลิมก่อน เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่ประพฤติผิด กระทำสิ่งน่าอาย หรือ กระทำผิดข้อห้ามทางศาสนา

    ระเบียบปฏิบัติระหว่างกิจกรรมพักโฮมสเตย์ มีดังนี้

    ๑. ปฏิบัติตามหลักการของศาสนาที่ตนเองเคารพนับถืออย่างเคร่งครัด


    ๒. ไม่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ของมึนเมาทุกชนิด บริเวณบ้านพักและชุมชน

    ๓. ห้ามนำหรือพกพาอาวุธทุกชนิด

    ๔. ห้ามเกี้ยวพา ชู้สาว หยอกล้อ ส่งเสียงดัง ก่อความไม่สงบในที่พักและบริเวณบ้านพัก

    ๕. ห้ามแต่งกายที่ขัดต่อวัฒนธรรมไทย-มุสลิม สุภาพสตรีไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่เปิดเผยเนื้อตัว เช่น เสื้อเกาะอก ขาสั้น

    ๖. ไม่สมควรออกนอกบริเวณบ้านพัก ก่อนได้รับอนุญาตจากเจ้าของบ้าน

    ๗. ห้ามนำอาหารที่เป็นที่ต้องห้ามของศาสนาอิสลามติดตัวมาและเข้ามาในบ้านพัก เช่น เนื้อหมู เนื้อของสัตว์เลื้อยคลาน

    ๘. ห้ามนำสัตว์เลี้ยงติดตัวมาเลี้ยงดูระหว่างเข้าที่พัก

    ๙. ห้ามเล่นการพนัน เกมส์เสี่ยงทาย ดูหมอทำนายทายทัก

    ๑๐. ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าของบ้านหรือเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร กรรมการชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา

    ๑๑. ห้ามลักขโมยหรือกลั่นแกล้งคนอื่น ๆ

    ๑๒. อื่น ๆ ตามที่เจ้าของบ้านและเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำเพิ่มเติม เช่น ไม่ควร ร้องเพลง เต้นรำ เปิดเพลง หรือเล่นดนตรีอึกทึก


    โฮมสเตย์ที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา เขตหนองจอก

    ราคาที่พัก ๑๐๐ บาท/คน/คืน

    ค่าอาหารหลัก ๗๐ บาท/คน

    ค่าอาหารว่าง ๒๕ บาท/คน

    ค่าบริการทางมัคคุเทศก์ ๕๐๐ บาท/คน/วัน

    ค่าวิทยากร ๑,๕๐๐ บาท/ครั้ง

    สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์สมชาย สมานตระกูล โทร.๐๘๗-๑๔๕-๐๕๕๗




    [​IMG]



    [​IMG]



    [​IMG]


    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]



    [​IMG]



    [​IMG] อุปกรณ์ผลิตไบโอดีเซล



    หมู่บ้านลำไทรแห่งนี้ ได้แบ่งพื้นที่เพื่อให้มีลักษณะเป็นฐานการเรียนรู้ โดยมีทั้งหมด 9 ฐานการเรียนรู้ใหญ่ๆ เมื่อเริ่มเดินเข้าไปที่หมู่บ้านแห่งนี้ก็รู้สึกเหมือนออกมาอีกโลกหนึ่ง ที่มีความแตกต่างจากชุมชนเมืองที่มีแต่คนฟุ้งเฟ้อ การจราจรที่คับคั่ง และอากาศที่มีสภาพคล้ายจะเป็นพิษ

    แต่ที่นี่เต็มไปด้วยธรรมชาติ ต้นไม้เขียวขจี แม้อากาศจะร้อนไปบ้างแต่ก็มีลมพัดเอื่อยๆช่วยคลายความร้อนลงได้เยอะทีเดียว เมื่อเดินเข้ามาอีกเดี๋ยวเดียวก็จะถึงแผนกต้อนรับของที่นี่

    หลังจากอ่านป้ายแสดงเรียบร้อยแล้วก็พอทราบข้อมูลโดยรวมของที่นี่ก่อนที่จะเจาะลึกข้อมูลในแต่ละฐาน และที่นี่เค้าก็มีไกด์พร้อมร่วมเดินแนะนำข้อมูลตลอดเส้นทางของหมู่บ้านด้วย ว่าแล้วก็เริ่มศึกษากันไปทีละฐานดีกว่า

    ฐานที่ 1 จะเป็นส่วนของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งจะอยู่ใกล้ๆ กับแผนกต้อนรับแห่งแรกที่เราเดินเข้ามาพบ ในส่วนนี้จะเป็นพื้นที่ใช้รวบรวมข้อมูลทางวิชาการ การประชุม การอบรมและสัมมนา

    และยังเป็นพื้นที่ประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต อีกอย่างที่ฐานนี้เค้ามีเครื่องผลิตไบโอดีเซลชุมชนขนาด 100 ลิตร/วันด้วย ก

    ารผลิตไบโอดีเซลนี้ก็คือ การนำน้ำมันที่ใช้แล้ว มาผ่านกระบวนการเพื่อให้ได้น้ำมันใหม่คือน้ำมันไบโอดีเซล แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ และทางชุมชนนี้ก็ยังมีโครงการให้ชาวบ้านในหมู่บ้านนำน้ำมันที่ใช้แล้วมาขายหรืออาจจะแลกน้ำมันใหม่ไปใช้ด้วย


    [​IMG] บ้านน้องไก่



    ฐานที่ 2 แปรรูปอาหาร ฐานนี้เปรียบเสมือนส่วนกลาง เพราะว่ามีสหกรณ์ที่เป็นแหล่งรวบรวมผลิตภัณฑ์แปรรูปทุกชนิด เช่น การนำกล้วยมาทำกล้วยฉาบ กล้วยอบงา เป็นต้น ในฐานนี้ป้าเจ้าของบ้านได้โชว์ทำกล้วยฉาบให้เราได้ชิมกันด้วย

    ฐานที่ 3 เรียกว่าฐานบ้านพอเพียง จะเป็นฐานที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตโดยใช้การเกษตรผสมผสานสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต และที่นี่จะมีผลไม้ต่างๆที่สามารถปลูกได้ง่าย เช่น กล้วย ขนุน มะม่วง

    รวมถึงพืชผักสวนครัวในบริเวณนี้จะมีการรวมพันธุ์กล้วยต่างๆ ซึ่งจริงๆ มีทั้งหมดประมาณ 160 พันธุ์แต่ที่ชุมชนลำไทรนี้สามารถรวบรวมมาได้ประมาณ 40 สายพันธุ์

    ซึ่งจะมีพันธุ์กล้วยชื่อแปลกๆ ที่พบเห็นได้ยากเช่น กล้วยนมสาว กล้วยแดงฮาวาย กล้วยตานีดำ แปลกแต่จริงค่ะ บางพันธุ์ไม่เคยเห็นมาก่อน เพิ่งจะมาเคยเห็นครั้งแรกก็ที่นี่ละค่ะ

    และที่นี่ยังเน้นเรื่องของปุ๋ยชีวภาคซึ่งพี่ไกด์บอกว่าคือการนำเอาผลไม้ที่ร่วงหล่นมาหมักไว้เพื่อให้ได้ปุ๋ยชีวภาคเพื่อไว้ใช้ในการฆ่าแมลง หรือจะใช้รดน้ำต้นไม้ใหญ่ก็ได้

    และในฐานนี้ ก็มีโครงการอีกโครงการหนึ่งที่รู้สึกชอบมากๆ คือการตั้งร้านขายของโดยที่ไม่มีคนขาย จะมีเพียงสินค้าและกระป๋องใส่เงิน เพื่อเป็นการแสดงถึงความซื่อสัตย์ที่คนในชุมชนนี้มีให้แก่กัน


    [​IMG] กล้วยพันธุ์ต่างๆ



    ฐานที่ 4 ลำไทรฟาร์ม ฐานนี้เป็นฐานที่มีกิจกรรมที่มุ่งเน้นการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจหลากหลายชนิดที่สามารถสร้างรายได้สู่ครอบครัวได้ดียิ่ง ในฟาร์มแห่งนี้จะมีฟาร์มเลี้ยงนกและเป็ดหลากหลายชนิด รวมถึงหงส์ดำ-หงส์ขาว

    อาจารย์ผู้ดูแลฐานนี้ ได้ให้ข้อมูลในเรื่องของวิธีการเพาะพันธุ์หงส์ว่าในแต่ละปีหงส์จะออกไข่ปีละ 3 รอบในแต่ละครั้งจะออกไข่ประมาณ 5-8 ฟอง และจะออกเป็นตัวประมาณ 2-3 ตัว หงส์เป็นสัตว์จำพวกเดียวกับนก

    เมื่อเกิดมาแล้วจะต้องตัดปีกทิ้ง 1 ข้างเพื่อทำให้หงส์เสียสมดุลย์และบินหนีไปไหนไม่ได้ ปัจจุบันก็มีการเพาะพันธุ์หงส์เพิ่มมากขึ้นและยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนด้วย อาจารย์เล่าว่า

    อาจารย์บอกว่า การจำหน่ายหงส์จะจำหน่ายเป็นคู่ๆ อย่างหงส์ดำที่มีอายุประมาณ 3 เดือน ราคาจะตกคู่ละประมาณ 20,000 บาท และอาจารย์ยังบอกอีกว่า ถ้าจะเลี้ยงหงส์จะต้องมีพื้นที่น้ำและพื้นที่บกด้วยเพราะหงส์จะอาศัยอยู่ในน้ำ 80%และอยู่บนพื้นดินอีก 10% ถ้าคิดจะซื้อไปเลี้ยงก็ต้องดูว่ามีพื้นที่ในการเลี้ยงมากพอหรือไม่ค่ะ

    ฐานต่อมาฐานที่ 5 คือฐานต้นไม้กับบ้าน เป็นฐานที่เกี่ยวกับการศึกษาต้นไม้ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการใช้สอยพร้อมทั้งการสร้างระบบนิเวศภายในบริเวณบ้าน

    เป็นส่วนของวิถีชีวิตกับการทำนารวมถึงการนำเศษไม้ที่ร่วงหล่น มาเผาเพื่อทำถ่านและสร้างรายได้แก่ชุมชน พร้อมทั้งมีเครื่องมือในการสีข้าวแบบโบราณ

    และฐานนี้ยังมีการเพาะพันธุ์ต้นไม้ เช่น ต้นชวนชมซึ่งเป็นไม้ประดับเพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถซื้อกลับไปเป็นของฝากได้อีกด้วย



    [​IMG] แพะหน้าตาน่ารัก



    ฐานที่ 6 เป็นฐานของการเลี้ยงแพะนม ฐานนี้ชอบมากๆ เพราะว่าได้เห็นลูกแพะมากมายหลายตัว หน้าตาน่ารัก ฐานนี้มีป้ายให้ความรู้แสดงลักษณะของโรงเรือนที่ใช้เลี้ยงแพะรวมถึงพันธุ์แพะต่างๆ และอาจารย์ประจำฐานยังให้ข้อมูลว่า แพะจะกินพืชผักได้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นหญ้าหรือกระถิน

    แต่เราต้องนำอาหารที่จะให้แพะไปแขวนไว้เหนือพื้น มิฉะนั้นแพะจะไม่กินและยังมีการนำน้ำนมแพะมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ครีมอาบน้ำ โฟมล้างหน้า เป็นต้น

    ส่วนน้ำนมแพะที่ได้ ก็นำมาส่งขายเป็นรายได้แก่ชุมชน ซึ่งรสชาติของน้ำนมแพะนั้นไม่ได้แตกต่างจากนมวัวเท่าไหร่นัก เพียงแต่ว่ารสชาติจะมันกว่านมวัวอยู่บ้าง

    มาถึงฐานที่ 7 คือฐานบ้านปลายนา เป็นกิจกรรมที่เน้นเรื่องของการพึ่งตนเองและพึ่งธรรมชาติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในฐานนี้จะเป็นพื้นที่ของการทำนาข้าว การปลูกข้าว เห็นแล้วรู้สึกสดชื่นมากเพราะว่าจะเห็นเป็นทุ่งข้าวเขียวขจีโบกไสวไปตามลม

    ในฐานนี้ยังมีการเลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา และการปลูกผัก เพื่อเอาไว้ประกอบอาหารโดยไม่ต้องเสียสตางค์ เรียกว่าอยู่อย่างพอเพียงจริงๆ

    ฐานที่ 8 คือฐานพิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ในชุมชน ในฐานนี้จะเน้นการสะท้อนความเป็นอยู่ของชาวชุมชนที่ใช้เครื่องมือต่างๆประกอบอาชีพและอยู่อาศัยในครอบครัวมาตั้งแต่เกิด

    ฐานนี้จะมีการแสดงส่วนของเครื่องมือเครื่องใช้สมัยโบราณ ที่ทางชุมชนเก็บรักษาเอาไว้ เช่นเครื่องปั้นดินเผา ถ้วยชาม โรงสีข้าว เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชม และได้ทราบถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในสมัยก่อนว่าเป็นอย่างไร


    [​IMG] สวนหย่อมกินได้



    ฐานที่ 9 สวนเกษตรโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ (ตามแนวพระราชดำริ) เป็นฐานที่เกี่ยวกับโครงการสาธิตเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในฐานนี้ได้จัดสรรพื้นที่ 14 ไร่ 81 ตารางวาออกเป็นสัดส่วน เพื่อทำตามทฤษฎีของในหลวง คือ 30:30:30:10

    ในส่วนแรก จะเป็นการปลูกข้าวเพื่อไว้กินไว้ใช้ 30 เปอร์เซนต์ ส่วนที่ต้องแบ่งไว้เพื่อขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นเป็ดหรือไก่ 30เปอร์เซ็นต์

    ส่วนที่สาม จะเป็นการปลูกพืชผักสวนครัวและผลไม้ชนิดต่างๆ ตามฤดูกาล 30 เปอร์เซนต์ และส่วนสุดท้ายจะเป็นที่อยู่อาศัยอีก 10 เปอร์เซ็นต์


    [​IMG]
    ขายของด้วยตัวเอง



    [​IMG] กล้วยกระบุง



    [​IMG] หงส์ตัวน้อยกำลังหัดว่ายน้ำ



    [​IMG]




    http://tawanguide.spaces.live.com/blog/cns!2B3A6054F8F73408!376.entry
     
  2. น้ำดี1

    น้ำดี1 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    13,402
    ค่าพลัง:
    +43,432
    น่าไปเที่ยวอย่างยิ่งเลยค่ะ
     
  3. หลวงพี่ทัต

    หลวงพี่ทัต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    1,740
    ค่าพลัง:
    +1,975
    เห็นด้วยจ๊ะ
     
  4. ปรานต์

    ปรานต์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 มกราคม 2009
    โพสต์:
    270
    ค่าพลัง:
    +668
    แถวนั้นอากาศดีมากครับ สมัยวัยรุ่นเคยไปบ้านเพื่อนแถวนั้น ตื่นเช้ามาอาบน้ำคลอง เพลินไปอีกแบบครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...