ทุกข์แท้.....แก้ที่ใจ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 12 พฤศจิกายน 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,024
    <table border="0" cellspacing="0" width="100%"> <tbody> <tr> <td><!--Last Update : 11 พฤศจิกายน 2549 10:23:22 น.--> ทุกข์แท้.....แก้ที่ใจ
    <!-- Main -->[SIZE=-1]พระไพศาล วิสาโลจากหนังสือ “รุ่งอรุณที่สุคโต”

    ทุกข์แท้แก้ที่ใจ

    ตอนนี้ฝนกำลังตก รอบศาลาเปียกไปหมด แต่พวกเราซึ่งอยู่ในศาลาไม่เปียก ฝนไม่ต้อง นี่เพราะมีหลังคาที่มุงไว้ดีแล้ว พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้เป็นคาถาในคัมภีร์ธรรมบทว่า “เรือนที่มุงไว้ดีแล้ว ฝนย่อมไม่รั่วรดฉันใด จิตที่ฝึกไว้ดีแล้ว กิเลสย่อมไม่ครอบงำฉันนั้น” เรามาอยู่ในศาลาในยามนี้ ควรที่จะนึกถึงคาถาธรรมบทข้อนี้ไว้ และนึกขอบคุณหลังคาที่ช่วยปกป้องไม่ให้ฝนตกลงมารดเราจนเปียกแฉะ

    แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น เราควรฝึกฝนจิตใจของเราด้วย เพื่อไม่ให้กิเลสเข้ามารั่วรดทำอันตราย ฝนนั้นมันอยู่นอกตัวเรา แต่ว่ากิเลสมันไม่ได้อยู่ที่ไหน หากอาศัยใจเราเป็นที่เกิด จะบอกว่ากิเลสอยู่ในใจเราก็พูดไม่ได้ถนัด เช่นเดียวกับที่เราพูดไม่ได้ว่าไฟอยู่ในเนื้อไม้ ถึงแม้ว่าไฟจะเกิดเวลาเอาไม้มาสีกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไฟอยู่ในเนื้อไม้เราพูดได้แต่เพียงว่าไฟอาศัยเนื้อไม้เป็นที่เกิด อันนี้แหละสำคัญ เพราะเรามักเข้าใจว่ากิเลสมันติดมากับจิตใจตั้งแต่เกิด หรือเข้าใจว่ากิเลสเป็นธรรมชาติที่ติดตัวเรามา พูดแบบนี้ก็ไม่ผิดถ้าต้องการพูดตามภาษาชาวบ้าน แต่ถ้าจะพูดอย่างถูกต้องเคร่งครัด พูดอย่างนั้นไม่ได้ เราพูดได้เพียงว่ากิเลสอาศัยใจเป็นที่เกิด อันนี้มันต่างจากฝน ฝนเกิดนอกตัวแล้วมันมาต้องตัวเรา แต่ว่ากิเลสนี้มันเกิดที่ใจเรา มันอาศัยใจเราเป็นที่เกิดฉะนั้นเราจำต้องมีสิ่งคุ้มกันจิตเอาไว้ไม่ให้กิเลสแทรกซึมเข้ามาก่อความเดือดร้อนแก่เราได้

    สิ่งที่จะเป็นหลังคาป้องอันไม่ให้กิเลสเข้ามารั่วรดจิตใจได้ก็คือหลังคาที่ชื่อว่า ๓ เกลอ ได้แก่ สติ ปัญญา และก็สมาธิ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ๓ เกลอ เพราะชอบอยู่ด้วยกันและเชื่อมโยงกันมากคนเราถ้าไม่มีสติ ความทุกข์ก็เข้ามาครอบงำจิตใจได้ พอไม่มีสติเมื่อเราลืมตัว ความโกรธ ความเกลียด ความอยาก มันก็เข้ามาครอบงำจิตใจได้ง่าย

    ที่เขาว่าเจริญสติปัฎฐานเป็นหัวใจกรรมฐานหรือภาวนาแบบพุทธก็เพราะว่า พอไม่มีสติแล้ว กิเลสทั้งหลายก็เกิดขึ้นได้ง่ายและถอนยากเวลาเราโกรธเราก็จะลืมตัว ถ้าลืมตัวมาก ๆ ก็ด่าออกไป หรือไม่ก็ลงมือลงไม้ อาจไม่ลงมือลงไม้กับคนที่เราเกลียด แต่อาจลงมือลงไม้กับแก้ว จาน ชาม หรือต้นกล้วย เตะมัน ฟาดมันเพื่อระบายความโกรธออกไป นี่เป็นเพราะขาดสติ

    บางคนบอกว่าตอนโกรธผมรู้นะว่าผมโกรธ แต่ทำไมถึงไม่หายโกรธจริงอยู่สติทำให้เรารู้ว่าเราโกรธ แต่สติของเรายังไม่มากพอที่จะดึงจิตออกมาจากความโกรธ หรือเอาความโกรธออกไปจากจิตใจได้ เรารู้แปลบเดียว แล้วก็กลับเข้าไปหาความโกรธอีก พอมีสติก็รู้ตัวประเดี๋ยวเดียวก็กลับเข้าในความโกรธอีก ถ้าสติไม่ไวหรือเข้มแข็งพอ จะเข้าๆ ออกๆแบบนี้รวดเร็วมาก ก็เลยไม่หายโกรธเสียที ต่อเมื่อมีสติไวพอถึงจะดึงความโกรธออกมาได้อย่างชะงัด ในสภาพเช่นนี้ บางทีก็ต้องอาศัยปัจจัยภายนออมาช่วย เช่น คนมาเตือนสติ แต่บางครั้งคนเราอาจเกิดการฉุกคิดได้อย่างกะทันหัน ทำให้สติคืนมาอย่างรวดเร็ว พอสติกล้าแข็งก็สามารถสลัดความโกรธออกไปได้ อย่างคนที่กำลังโกรธหรือเศร้าโศกรุนแรงถึงขั้นหยิบมีดหยิบปืนมาจะทำร้ายคนอื่นหรือทำร้ายตัวเองชั่วขณะนั้นเองก็นึกถึงลูกขึ้นมาว่าเขาจะอยู่อย่างไรถ้าเราเข้าคุกหรือตายจากไป พอนึกแบบนี้ขึ้นมา สติก็พรั่งพรูกลับคืนมา รู้ตัวว่ากำลังะคิดสั้นก็เลิกทันที วางมีดวางปืน สร้างจากความโกรธหรือความเศร้าโศกทันทีการนึกถึงโทษที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของเราในภาวะอารมณ์ที่พลุ่งพล่านรุนแรง ทำให้รู้จักตัวขึ้นมา หลุดออกจากอารมณ์ได้ทันทีอันนี้เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของสติ สติทำให้ไม่ลืมตัว เกิดความรู้ตัว ทำให้อารมณ์ต่างๆ ถูกสลัดออกไป

    แต่คนส่วนใหญ่ ในยามปกติไม่มีสติมากพอที่จะทำให้อารมณ์รุนแรงนั้นลดระดับลงมาได้ แต่ถ้าเราฝึกสติสม่ำเสมอ สร้างสติไว้มากพอสติก็จะช่วยเราได้ ไม่ว่าในยามคับขัน วิกฤติ เดือดร้อน หรือในยามปกติธรรมดา เมื่อมีสติก็จะเกิดสัมปชัญญะตามมา สัมปชัญญะคือความรู้ตัว ช่วยให้ทำอะไรได้ไม่ผิดพลาด สามารถทำสิ่งต่างๆได้อย่างเหมาะสมสัมปชัญญะกับสตินี้มาด้วยกัน พอฉุดคิดขึ้นมาได้ไม่ลืมตัว ความรู้ตัวก็เกิดขึ้นทันที

    สัมปชัญญะนี่เป็นธรรมฝ่ายปัญญา แต่ก็คู่เคียงกับสติซึ่งเป็นธรรมฝ่ายสมาธิ เป็นคุณสมบัติของจิตซึ่งสำคัญ ถ้าเรามีสติมากขึ้นเรื่อยๆเราก็จะรู้ว่าสุขเรานั้นไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย มันอยู่ที่ใจนั่นเอง สุขทุกข์อยู่ที่ใจไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย

    สติจะช่วยให้เราเห็นความจริงข้อนี้ แต่ก่อนเราเคยนึกว่าเราจะสุขหรือทุกข์ก็เพราะปัจจัยภายนอก แดดร้อนทำให้เราทุกข์ ถ้าอากาศสบายก็ไม่ทุกข์ ที่จริงไม่ใช่ สุขทุกข์จริงๆ อยู่ที่ใจ ถึงแดดจะร้อนแต่ถ้าเราเอาใจไปจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่น เช่นนี้อยู่บนอัฒจันทร์กลางแดดนั่งดูฟุตบอลโลก ถึงแดดจะร้อนแค่ไหนก็ไม่ทุกข์เลย เพราะกำลังสนุกอยู่กับการดูฟุตบอลซึ่งเป็นของชอบของโปรด บางคนไปนั่งตากน้ำค้างกลางดึกดูฟุตบอลในจอขนาดยักษ์อย่างในเกาหลี ญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่อากาศหนาวมากแต่ผู้คนก็ไม่รู้สึกเป็นทุกข์เลย เพราะอะไร เพราะใจมันไปจดจ่ออยู่กับฟุตบอล ใจที่ไปจดจ่ออยู่กับฟุตบอลเรียกว่าสมาธิ พอมีสมาธิกับสิ่งอื่นความร้อนความหนาวก็ทำอะไรไม่ได้ นี่ก็ทำนองเดียวกับคนที่นั่งหลังขดหลังแข็งเล่นไพ่เล่นกันได้ทั้งคืนไม่เมื่อยเลยเพราะใจเพลินไปกับการเล่นไพ่แต่พอให้มาทำสมาธิหรือนั่งทำวัตรสวดมนต์ แค่ครึ่งชั่วโมงก็บ่นว่าปวดโน่นปวดนี่แล้ว ขยับแข้งขยับขาไม่หยุด แบบนี้จะมาโทษว่าเป็นเพราะนั่งนานก็คงไม่ใช่ สาเหตุจริงๆ อยู่ที่ใจของเราเอง พอใจไม่สู้หรือไปจดจ่ออยู่กับความปวดเมื่อยก็เลยเป็นทุกข์ ตรงกันข้าม ถ้าใจเรามีสมาธิกับการทำวัตรสวดมนต์ หรือใจลอยนึกไปถึงแฟนก็จะไม่รู้สึกปวดเมื่อย พูดอีกอย่างคือความปวดเมื่อยทำอะไรเราไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ถึงบอกว่าสุขทุกข์อยู่ที่ใจ

    เรื่องอย่างนี้ ถ้าเราไม่เข้าใจก็จะเอาแต่โทษโน่นโทษนี่ เช่นโทษยุงยุงมันมากัดเราทำให้คัน นั่งไม่เป็นสุข นี่เป็นเพราะใจเรามันไปยอมแพ้ตั้งแต่แรกแล้ว หรือตั้งจิตเอาไว้แล้วว่ายุงกัดไม่ได้ ฉันไม่ชอบ นี่เรียกว่าใจไม่มีสติก็ได้ คือไม่รู้ทันอาการของจิตที่ไม่สู้หรือกลัวตั้งแต่แรกเวลารู้ว่ายุงกัด ลองใช้สติเข้าไปดูเวทนา ตอนที่มันกัด ปักเข็มลงไปในเนื้อเราแล้วดูดเลือด เรารู้สึกอย่างไร บางทีเนื้อมันเต้นระริก ๆเลยนะ อันนี้ก็เป็นอาการของกาย แต่ไม่จำเป็นว่าใจจะทุกข์ไปด้วยในขณะนั้นมีเราอาจจะขยับเพราะอยากจะไปตบยุงตามความเคยชินหรือสัญชาตญาณ แต่ถ้าขณะที่กำลังคันหรือเจ็บเล็กๆ เรากำหนดสติตามรู้อาการต่างๆ ของกายและใจ พร้อมกันนั้นก็กำหนดใจไปด้วย เช่นตอนหายใจเข้าก็นึกในใจว่า “ทนได้” หายใจออกก็นึกในใจว่า “สบายมาก”หายใจเข้า-ทนได้ หายใจออก-สบายมาก ถ้าลองทำอย่างนี้ดู ยุงกัดก็ไม่รู้สึกเจ็บจนอยากจะตบ ไม่ทุกข์ร้อนเท่าไหร่ เพราะใจมีสติ ใจพร้อมจะทน ไม่คิดจะบ่นโวยวาย

    แต่ถ้าใจงอแง อ่อนแอ เราก็จะทุกข์ขึ้นมาเลย รู้สึกว่า โอ๊ย คันทนไม่ได้แล้ว นี่มันอยู่ที่การตั้งจิตตั้งใจด้วย ถ้าตั้งจิตเอาไว้ว่าทนได้สบายมาก ก็จะทนได้จริงๆ มันอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่ว่ายุงกัดหรือไม่การตั้งจิตแบบนี้ต้องอาศัยสติเข้ามาช่วยเข้ามากำกับ นอกจากสติแล้ว สมาธิก็ช่วยได้มาก ถ้าขณะนั่งอยู่ เรามีสมาธิกับอะไรสักอย่างเช่น กำลังอ่านหนังสือ คุยกับเพื่อน ดูโทรทัศน์ จะไม่รู้สึกเจ็บคันเลยทั้งๆ ที่ยุงหลายตัวกำลังรุมเราอยู่ ตรงกันข้าม ถ้าไม่มีสมาธิ ยุงแค่ตัวเดียวก็ทำให้บ่นได้

    ขอให้พิจารณาดูเถิดว่าสุขหรือทุกข์นั้นอยู่ที่ปัจจัยภายนอกหรือเพราะว่าใจเรากันแน่ อาจจะดูลิงเป็นอุทธาหรณ์สอนใจ ลิงนี่เกลียดกะปิ ถ้าเราโยนอาหารที่ทากะปิให้ลิง แล้วมันเผลอจับเข้า ลิงจะเกิดอาการอย่างไร มันจะเดือดร้อนขึ้นมาทันที พอรู้ว่ากะปิเปื้อนมือ ลิงก็จะเอามือถูพื้นหรือถูหิน ถูๆ ๆ อย่างนั้นแหละเพื่อให้กะปิหลุดจากมือถูเสร็จก็เอามือมาดม แต่กลิ่นกะปิก็ยังอยู่ ก็เลยถูๆๆ ถูแล้วดม ดมแล้วก็ถูอีก มันจะถูจนอระทั่งหนังถลอก เลือดไหลออกซิบๆ แต่กลิ่นก็ไม่ออกไปง่ายๆ ก็เลยต้องถูอีก จนบางทีเลือดเต็มมือ น่าสงสาร เราลองมาพิจารณาดูว่าที่ลิงมีเลือดไหลเป็นเพราะอะไรอันแน่ เป็นเพราะกะปิหรือเพราะความเกลียดกะปิกันแน่

    กะปิไม่ทำให้ลิงมีแผล ไม่ทำให้ลิงเจ็บปวด แต่ความเกลียดกะปิต่างหากที่ทำให้ลิงมีแผลเลือดไหลออกมา ความเกลียดกะปิทำให้ลิงเอามือถูกับหินอยู่นั่นแหละ กะปิไม่ได้ทำร้ายลิง ความเกลียดกะปิต่างหากที่ทำร้ายลิง

    คนเราก็เหมือนอัน คำด่าของคนอื่นทำร้ายเราไม่ได้หรอก คำด่ามันเป็นแค่ลมปากหรือคลื่นเสียงที่มากระทบกับหู แต่ปฏิกิริยาของเราต่อคำด่าต่างหากที่เป็นปัญหา มันน่ากลัวกว่าคำด่าว่าเสียอีก คำด่าทำอะไรเราไม่ได้ แต่ความโกรธความเกลียดที่เกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาต่อคำด่าต่างหาก ที่เผาลนจิตใจเราจนเกินไม่ได้นอนไม่หลับ เราทุกข์ก็เพราะความโกรธความเกลียด เพราะจิตไปจดจ่อกับคำด่าเหล่านั้น ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ที่ใจเราทั้งสิ้น ไม่ใช่คำด่าของเขาเลยที่ทำให้เราทุกข์ แต่การยึดติดกับคำด่าของเขา แล้วไปปรุงเป็นความโกรธความเกลียด อันนั้นต่างหากที่ทำให้เราทุกข์อย่างแท้จริง

    ลิงเกลียดกะปิแต่ก็ชอบเอามือมาดมหากลิ่นกะปิอยู่นั้นแหละ ทั้งที่ไม่ชอบก็ยังดมอยู่นั่นแหละ นี่ก็ไม่ต่างจากคนที่ไม่ชอบคำด่า แต่ก็ชอบเอาคำด่านั้นมาครุ่นคิดอยู่นั่นแหละ คิดแล้วคิดเล่าอยู่นั่นแหละ ไม่ยอมวางเสียที ถ้าเราทำอย่างนี้เราก็มีอาการไม่ต่างจากลิงที่เกลียดกะปิเราต้องไปให้ไกลกว่าลิงที่เกลียดกะปิ ต้องฉลาดกว่าลิงพวกนั้น ต้องรู้ทันว่าตัวการที่สร้างปัญหาให้กับเราจริงๆ ไม่ใช่คำด่า แต่คือปฎิกิริยาต่อคำด่าเหล่านั้น ได้แก่ ความเกลียด ความโกรธ รวมถึงอุปาทานคือความติดยึดในคำด่าเหล่านั้น จนปล่อยไม่ได้วางไม่ลง ซึ่งนำไปสู่การปรุงแต่งเป็นความโกรธเกลียดมากยิ่งขึ้น

    วิธีที่จะแก้ทุกข์ไม่ใช่ไปคาดหวังให้เขาหยุดด่าว่าเราหรือไปปิดปากเขา แต่อยู่ที่ว่าเราจะทำใจอย่างไรต่อคำด่า จะปล่อยวางคำด่าและจัดการความโกรธเกลียดที่มีต่อคำด่าหรือคนที่มาด่าได้อย่างไรตรงนี้สำคัญกว่า จะรู้วิธีจัดการกับอาการในใจเหล่านี้ได้ก็ต้องเริ่มต้นจากการรู้จักสาวหาสาเหตุจนรู้ว่าสุขหรือทุกข์นั้นอยู่ที่ใจเรา ถ้าเราจัดการกับใจของเราได้ อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ แม้อยู่ท่ามกลางนรก เราก็สามารถประคองใจให้เป็นปกติได้เหมือนกัน ไม่ใช่จะทำไม่ได้

    มีนักจิตวิทยาชื่อดังคนหนึ่งเขาเคยถูกจับไปอยู่ในค่ายนรกของนาซีที่เป็นตัวการฆ่าชาวยิวไป ๖ ล้านคน ค่ายนรกนาซีมีหลายแห่งในยุโรป ที่มีชื่อที่สุดในด้านความโหดร้ายทารุณได้แก่เอาชวิตซ์ คนที่อยู่ในนี้จะถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส อาหารน้อย อากาศหนาวทารุณ จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ คนที่ล้มตายเพราะขาดอาหารหรือป่วยตายก็มีเยอะแยะไม่ต้องพูดถึงคนที่ถูกรมแก๊สหรือถูกยิงเป้า

    นักจิตวิทยาคนนี้ชื่อ วิคเตอร์ แฟรงเคิล เป็นคนหนึ่งที่รอดชีวิตมาได้จากค่ายแรกที่เอาชวิตซ์ เขาบอกว่าเวลาเขาอยู่ในค่ายนี้ เขาพยายามนึกถึงเรื่องดีๆ ที่ชุบจิตใจ ไม่ให้ไปทุกข์กับสภาพอันเลวร้ายในค่าย ไม่ให้ไปหมกมุ่นครุ่นคิดว่าจะตายเมื่อไหร่ เขาเป็นคนชอบสอนหนังสือ ตอนอยู่ในค่ายนั้น สิ่งหนึ่งที่เขาทำเสมอก็คือนึกจินตนาการว่าได้สอนหนังสือหน้าชั้นเรียน มีนักศึกษาเยอะแยะ เวลานึกเช่นนั้น เขาจะมีความสุขมากในยามนั้นสภาพทุกข์ทรมานรอบตัวไม่สามารถแย่งชิงความสุขหรือทำความทุกข์ให้แก่เขาได้ การได้นึกถึงสิ่งที่ตนรักและมีความสุขกับมันทำให้เขาทนทานกับสภาพอันเลวร้ายได้

    วิคเตอร์ แฟรงเคิล ยังได้พูดถึงหญิงร่วมชะตากรรมคนหนึ่งในค่ายเธอกำลังจะตายแต่ไม่กระสับกระส่ายหรือทุกข์ทรมานแต่อย่างใด ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ เธอบอกเขาว่าเธอมีเพื่อนปลอบใจ เพื่อนนั้นก็คือต้นไม้ซึ่งโผล่ให้เห็นทางหน้าต่าง ไม้ต้นนั้นมีดอกอยู่ ๒ ดอกเท่านั้น เธอบอกว่า“ฉันชอบคุยกับต้นไม้ต้นนี้ แล้วเขาก็ตอบฉันเสียด้วย” วิคเตอร์ แฟรงเคิลถามว่า ต้นไม้บอกอะไร เธอตอบว่า “ต้นไม้บอกว่า ฉันอยู่นี่ ฉันอยู่นี้ฉันคือชีวิต ชีวิตนิรันดร์” ต้นไม้ต้นนั้นให้ความหวังแก่เธอ แม้ในยามหน้าหนาวอันลำเค็ญ ต้นไม้ต้นนี้ยังผลิตดอกออกมาอย่างไม่ย่อท้อต่อความหนาวเหน็บ สำหรับคนทั่วไป พอเห็นต้นไม้แบบนี้แล้วไม่รู้สึกอะไรแต่ถ้ามองให้เป็น เราจะได้กำลังใจจากต้นไม้เหล่านี้มาก แต่จะมองอย่างนี้ไม่ได้อยู่ที่ต้นไม้ หากอยู่ที่ใจเรามากกว่า

    วิคเตอร์ แฟรงเคิลกับหญิงคนนั้นอาจไม่รู้จักสมาธิภาวนา แต่ก็สามารถน้อมจิตไปในทางที่ดีงามเป็นกุศล แม้จะอยู่ในนรกแต่ในใจเขากลับเป็นสวรรค์ ที่ทำให้มีกำลังใจสู้ความทุกข์ต่อไปได้ วิคเตอร์ แฟรงเคิลสามารถรอดชีวิตจากค่ายนรกได้ทั้ง ๆ ที่กายนั้นทุกข์ทรมานอย่างมากแต่เขารู้จักประคองใจไม่ให้ทุกข์ อันหลังนี้แหละที่ทำให้เขารอดตายมาได้

    อันนี้ตรงกับที่ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวว่าหาสุขได้ในทุกข์เราต้องรู้จักหาสุขจากทุกข์ เพราะในทุกข์มีสุขเสมอ สุขกับทุกข์ไม่ได้แยกจากกันอย่างเด็ดขาด เหมือนกับความร้อนกับความหนาว ในความร้อนก็มีความหนาวอยู่ ในความหนาวก็มีความร้อนอยู่ ข้างนอกศาลานี้เปียกฝน ข้างในแห้ง แต่ที่จริงก็มีความชื้นอยู่ เราลองเอาเครื่องดักความชื้นมาตั้ง ไม่กี่ชั่วโมงน้ำจะเต็มภาชนะที่ใส่ข้างใน ตอนที่อาตมาไปอยู่ญี่ปุ่น ตามวัดเขาจะมีเครื่องวัดความชื้นมาติดไว้ตามห้องต่างๆทั้งๆ ที่วัดเขาปิดประตูหน้าต่าง แต่ผ่านไปแค่ ๓-๔ ชั่วโมงเท่านั้นแหละพอเราดึงเอาภาชนะดักน้ำออกมาจากเครื่อง จะมีน้ำเต็มเลย แสดงว่าไอ้ที่เรารู้สึกว่าแห้งนั้นมีความชื้นอยู่มาก ในทำนองเดียวกัน ที่ที่เปียกชื้นก็มีความแห้งอยู่ อย่างน้อยก็แห้งกว่าในห้องอบซาวนา

    ฉันใดก็ฉันนั้น ในทุกข์ก็มีสุขอยู่ เราต้องมองให้เห็น จะเห็นได้ก็ต้องอาศัย ๓ เกลอนี่แหละ คีอ สติ ปัญญา และสมาธิ ถ้าเอา ๓ เกลอมาใช้สอดส่อง เราก็จะเห็นว่าสิ่งเลวร้ายนั้นมีสิ่งดี ๆ แฝงอยู่ หรือรู้จักมองร้ายให้กลายเป็นดีได้

    ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระปุณณะขอลาพระพุทธเจ้าไปอยู่ถิ่นกันดารที่ชื่อ สุนาปรันตะชนบท พระพุทธองค์ตรัสว่า คนสุนาปรันตะเป็นคนดุร้าย ถ้าเขาด่าว่าเธอจะทำอย่างไร พระปุณณะตอบว่าด่ายังดีกว่าทำร้ายด้วยมือ พระองค์ตรัสถามว่า ถ้าเขาทำร้ายด้วยมือจะทำอย่างไร พระปุณณะตอบว่ายังดีกว่าใช้ก้อนดินทำร้าย ครั้นตรัสถามว่าถ้าใช้ก้อนดินทำร้ายจะทำอย่างไร พระปุณณะตอบว่ายังดีกว่าใช้ท่อนไม้ทำร้าย ตรัสถามต่อว่าถ้าเขาทำร้ายด้วยท่อนไม้จะทำอย่างไรพระปุณณะตอบว่ายังดีกว่าฟันแทงด้วยอาวุธ พระพุทธองค์ตรัสถามต่อว่าถ้าเขาฟันแทงด้วยอาวุธจะทำอย่างไร พระปุณณะตอบว่ายังดีกว่าฆ่าด้วยอาวุธ พระพุทธองค์ตรัสถามต่อว่าถ้าเขาฆ่าด้วยอาวุธจะทำอย่างไร คำตอบของพระปุณณะก็คือ พระบางรูปรังเกียจชีวิต อุตส่าห์หาอาวุธมาฆ่าตัวเอง แต่นี่ดีไม่ต้องหาอาวุธ มีคนมาฆ่าให้เอง

    นี่เรียกว่ารู้จักมองร้ายให้กลายเป็นดี หาโชคได้จากเคราะห์ในเคราะห์นั้นมีโชค อย่างน้อยก็เป็นโชคเมื่อเทียบกับอย่างอื่นที่แย่กว่าโชคดีกับโชคร้ายนี่เป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ เหมือนกับความสั้นกับความยาว ไม้บรรทัดยาวกว่าดินสอ แต่มันสั้นไปถนัดใจเลยเมื่อเทียบกับไม้เมตร ไม้เมตรก็สั้นเมื่อเทียบกับเสาไฟฟ้า เราเรียกอันนี้ว่าสั้นเพราะไปเทียบกับอันที่ยาว เราเรียกว่านี้ยาวก็เพราะไปเทียบกับอันที่สั้น ฉันใดก็ฉันนั้น เราเรียกนี้ว่าโชคก็เพราะไปเทียบกับอีกอันที่แย่กว่าเราเรียกนี้ว่าโชคร้าย ก็เพราะเอาไปเทียบกับอีกอันที่มันดีกว่า มันเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ มันเป็นเรื่องสมมติก็ว่าได้ เป็นเรื่องสัมพัทธ์ขึ้นอยู่ว่าเราจะเอาไปเปรียบเทียบกับอะไร เวลาเราประสบกับภาวะบางอย่าง ถ้าเอาไปเปรียบกับสิ่งดีกว่า เราก็เรียกว่าทุอข์ แต่ถ้าไปเปรียบกับสิ่งที่แย่มากๆ เราก็เรียกนั้นว่าสุข

    เงินหาย ๑๐ บาท ถ้ามองให้เป็นก็ถือว่าโชคดี เพราะยังดีกว่าหาย๑๐๐ บาท ยังดีกว่าเจ็บไข้ได้ป่วย อย่างไรก็ตาม นอกจากการมองให้เป็นแล้ว การวางจิตวางใจให้ถูกต้องก็ช่วยได้มาก อย่างคนที่ป่วยเป็นมะเร็ง ถ้ารู้จักมองก็ยังถือว่าโชคดีกว่าเป็นเอดส์ และถ้าวางจิตวางใจให้เป็นอาจกลายเป็นโชคดีกว่าตอนที่ปกติก็ได้ หลายคนบอกว่าโชคดีที่เป็นมะเร็ง เพราะทำให้เขาหวนกลับมาแสวงหาสิ่งที่เป็นคุณค่าแท้จริงของชีวิต ตอนไม่ป่วยก็เอาแต่เที่ยวเตร่ หรือไม่ก็ทำงานหนักจนลืมครอบครัว ลืมเรื่องจิตเรี่องใจ แต่พอป่วยหนัก ตระหนักว่ามีเวลาอยู่ในโลกนี้ไม่นานก็ละทิ้งสิ่งไม่เป็นสาระ หันมาให้เวลากับครอบครัว ศึกษาธรรมะ ค้นพบความสุขที่แท้ บางคนที่เป็นเอดส์ก็พูดแบบนี้เหมือนกันว่าโชคดีที่เป็นเอดส์ เป็นโชคดีเมื่อเทียบกับก่อนเป็นเอดส์ เพราะเมื่อป่วยแล้วก็กลับมาเห็นสาระที่แท้ของชีวิต ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยกับการเที่ยวเตร่สนุกสนานเหมือนเมื่อก่อน มีหลายคนมากเลยที่บอกว่าถ้าไม่เป็นมะเร็งไม่เป็นเอดส์คงไม่มีวันนี้ แน่นอนว่าจะเห็นแบบนี้ได้ต้องอาศัยการวางจิตวางใจได้อย่างถูกต้อง แทนที่จะเศร้าโศกเสียใจหรือตื่นกลัวเพราะโรคเหล่านี้ ก็อาศัยโรคเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนตนให้ทำสิ่งที่สมควรทำซึ่งถูกละเลยไปนาน

    นี่เป็นตัวอย่างของการหาโชคได้จากเคราะห์ หาสุขได้จากทุกข์ทั้งหมดนี้เพราะอะไร เพราะเรารู้ว่าทุกอย่างมันเริ่มต้นที่ใจ สุขทุกข์อยู่ที่ใจ

    ทุกข์เกิดที่ใจก็ต้องแก้ที่ใจ ทุกข์เกิดที่ใจแต่ไปเข้าคลับเข้าบาร์คิดว่าผับบาร์จะช่วยแก้ทุกข์ได้ แก้แบบนี้ไม่ตรงจุด แม้กระทั่งหนีมาวัดคิดว่ามาวัดแล้วจะหายทุกข์ แบบนี้ก็ไม่ถูก ทุกข์อยู่ที่ใจก็ต้องแก้ที่ใจการมาวัดจะแก้ทุกข์ได้ก็ต่อเมื่อมาฝึกฝนวิธีเเก้ทุกข์ที่ใจ หรือมาวัดเพื่อมาดูจิตของตัวเอง ถ้าแบบนี้ก็เป็นการแก้ที่ตรงจุด เดี๋ยวนี้คนเป็นอันมากเวลาทุกข์ก็นึกถึงวัด คิดว่ามาวัดจะแก้ทุกข์ได้ เพราะนึกว่าทุกข์นั้นอยู่ที่บ้าน หนีบ้านมาวัดแล้วจะหายทุกข์ ทุกข์ตามมาไม่ถึงอันนี้เข้าใจผิด ทุกข์นั้นเราหนีไม่ได้ เพราะมันอยู่ที่ใจเรา หนีไปไหนก็ยังทุกข์ ตราบใดที่ยังไม่แก้ทุกข์ที่ใจของตัวทุกข์นั้นอยู่ที่ใจ ทางแก้ก็อยู่ที่ใจนั้นเอง ตรงนี้แหละที่ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่าในเตาหลอมเหลวนั้นมีความเย็นสนิทอยู่ พูดอีกอย่างคือในวัฏสงสารมีนิพพาน ในใจที่เร่าร้อนนั้นมีความสงบเย็นแฝงอยู่กุญแจที่ไขไปสู่ความสงบเย็นก็อยู่ที่ใจ ลองพิจารณาให้ดี เวลาเป็นทุกข์มันทุกข์เพราะอะไร ถ้าพิจารณาเป็นก็จะเห็นว่าทุกข์นั้นเป็นเพราะติดยึดเพราะฟุ้งซ่านปรุงแต่ง เพราะหลงลืมขาดสติ พอเห็นตรงนี้ก็เปลี่ยนจากความติดยึดเป็นความปล่อยวาง จากความฟุ้งซ่านมาเป็นความสงบรำงับเปลี่ยนจาวความหลงลืมมาเป็นความรู้ตัวทั่วพร้อมเปี่ยมสติ ถ้าทำได้อย่างนี้ความไม่ทุกข์ก็เกิดขึ้น สุขก็ตามมา สุขเกิดขึ้นได้แม้รอบตัวจะเป็นทุกข์ แม้กายจะเป็นทุกข์ สุขเกิดจากการพิจารณาทุกข์ในใจจนเห็นกุญแจแห่งความไม่ทุกข์ มันอยู่ตรงที่เดียวกันนั้นแหละ จะไปดูที่อื่นก็ไม่มีทางเลือกต้องมาดูที่ใจอันเป็นที่เกิดแห่งทุกข์ อย่าคิดหาสุขจากที่อื่นอบายมุขก็ไม่ใช่คำตอบ ทรัพย์สินเงินทองก็ไม่ใช่คำตอบ บางคนทุกข์ก็ไปหาอะไรมากิน คิดว่าจะดับทุกข์ได้ มันช่วยได้แค่ชั่วคราว แตในที่สุดเราก็ต้องกลับมาดูที่ใจ มาดูความทุกข์กลางใจนี้แหละ มองจนเห็นว่าความไม่ทุกข์มันก็อยู่ที่ใจที่กำลังทุกข์นี้เอง

    [/SIZE]<!-- End main-->
    </td></tr></tbody></table>
     

แชร์หน้านี้

Loading...