บทความ-ไขปัญหาวิปัสสนาห้ามคิดหริอไม่?

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย siratsapon, 26 ตุลาคม 2010.

  1. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    บทความ-ไขปัญหาวิปัสสนาห้ามคิดหริอไม่? ตอนที่ 1

    ไขปัญหาวิปัสสนาห้ามคิดจริงหรือไม่?

    การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรค-ผล-นิพพานในทางพระพุทธศาสนา มีอยู่ขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญที่สุดได้แก่ “การเจริญวิปัสสนา” ซึ่งหากผู้ใดที่ปรารถนาจะถึงความสิ้นสุดแห่งทุกข์ หยุดการเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ อย่างไม่รู้จักจบสิ้นแล้ว จะต้องทำการเจริญวิปัสสนา จะขาดการเจริญวิปัสสนาไม่ได้ ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะฝึกสมาธิจนได้ฌานสมาบัติต่างๆ สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ก็ตาม หากไม่ผ่านการเจริญวิปัสสนาแล้ว จะเป็นเพียงปุถุชน ยังไม่ใช่อริยบุคคล ยังไม่หลุดพ้นจากทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง

    ดังมีตัวอย่างในสมัยพุทธกาลที่กล่าวถึง พระเทวทัตที่ท่านมีสมาธิมาก มีความสามารถแสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ แต่ท่านหาสำเร็จอรหัตตผล ล่วงพ้นภูมิแห่งปุถุชนไม่ ยังมีกิเลสอยู่มาก จนขนาดปองร้ายพระพุทธเจ้า ก่ออนันตริยกรรม คือ ทำให้พระบาทของพระพุทธเจ้าห่อพระโลหิต และโดนธรณีสูบจนสิ้นชีวิตถึงกาลมรณภาพในที่สุด

    เท่าที่กล่าวมาคงได้รู้แล้วว่า การเจริญวิปัสสนามีความสำคัญอย่างมาก จะขาดเสียไม่ได้ หากขาดการเจริญวิปัสสนาเสียแล้ว ย่อมจะทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง ย่อมจะไม่สามารถเข้าถึงมรรค-ผล-นิพพานได้

    ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

    จนกระทั่งปัจจุบัน (พ.ศ. 2553) วิธีเจริญวิปัสสนาได้มีเกิดขึ้นมากมายหลายแบบ หลายแนวทาง แยกออกไปหลายสำนัก ผู้ปฏิบัติของแต่ละสำนักต่างบอกว่าวิธีการของตนถูกต้องตรงตามพระไตรปิฎก ตรงตามพระพุทธเจ้าสอน และมีผู้ปฏิบัติจำนวนไม่น้อยได้บอกว่าวิธีการอื่นที่ไม่ตรงกับของตนผิดพลาดไม่ถูกต้อง จนเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งโต้เถียงกันขึ้นระหว่างผู้ปฏิบัติ หรือระหว่างสำนักกันอยู่เป็นประจำ ในบรรดาความไม่เข้าใจกันเหล่านั้น มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ได้โต้เถียงกัน คือ การเจริญวิปัสสนาห้ามคิดหรือไม่? โดยฝ่ายหนึ่งได้เห็นว่าการเจริญวิปัสสนาจะต้องใช้ความคิดช่วยพิจารณา หากไม่ใช้ความคิดช่วยพิจารณาแล้วจะเป็นการเจริญวิปัสสนาไม่ได้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับเห็นว่าการเจริญวิปัสสนาต้องห้ามใช้ความคิดช่วย หากใช้ความคิดช่วยพิจารณาแล้วถือว่าไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา เมื่อเกิดการโต้เถียงกันขึ้นมา และยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าอย่างไรถูกต้องกันแน่ จึงส่งผลให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสับสน โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มสนใจปฏิบัติใหม่ เกิดความลังเลไม่แน่ใจว่าตกลงแล้วการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องเป็นอย่างไรกันแน่ และที่ตนเองกำลังปฏิบัติอยู่ หรือว่าที่กำลังสนใจจะนำไปปฏิบัติ เป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่ ปฏิบัติไปแล้วจะผิดพลาด ผิดทางหรือเปล่า? แม้กระทั่งผู้ที่ปฏิบัติธรรมมานานแล้ว แต่ติดปัญหาหรือไม่ก้าวหน้า คำถามและข้อสงสัยต่างๆ ดังเช่นที่ยกตัวอย่างไป ยังคงมีเกิดขึ้นรบกวนจิตใจให้เกิดสับสน ลังเลไม่แน่วแน่จนบางท่านปฏิบัติไปได้สักระยะหนึ่งกลับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติใหม่อยู่เรื่อยไปมีให้เห็นจำนวนไม่น้อย

    ด้วยความสำคัญของปัญหาที่กล่าวมาจึงได้เกิดบทความนี้ขึ้น เพื่อที่จะช่วยไขปัญหาให้เกิดความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่ว่า “วิปัสสนาห้ามคิดหรือไม่?” ซึ่งผู้เขียนหวังว่า เมื่อผู้อ่านได้อ่านทำความเข้าใจในบทความนี้เรียบร้อยแล้ว คงจะได้คำตอบที่ช่วยคลายความลังเลสงสัย สามารถกำจัด “วิจิกิจฉา” อันเป็นนิวรณ์ที่มารบกวนจิตใจ และนำไปเจริญวิปัสสนาได้อย่างถูกต้องต่อไปไม่มากก็น้อย ดังนั้น เพื่อให้บทความนี้ มีความน่าเชื่อถือ และเป็นกลางในการวินิจฉัย ผู้เขียนจึงขอนำเอาหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเอาไว้มาช่วยในการพิจารณา เรียกว่า “มหาประเทศ 4” ดังต่อไปนี้


    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมหาประเทศ 4 นี้ เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มหาประเทศ 4 เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ข้อนี้ข้าพเจ้าได้สดับมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดาดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้นครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วพึงเทียบเคียงในพระสูตรพึงสอบสวนในพระวินัย ถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัยบทและพยัญชนะเหล่านั้น เทียบเคียงกันไม่ได้ในพระสูตร สอบสวนกันไม่ได้ในพระวินัย ในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้มิใช่คำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้ ภิกษุนี้รับมาผิดแล้ว เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนี้เสียทีเดียว

    อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ข้อนี้ข้าพเจ้าได้สดับมาได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้วเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย ถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตรสอบสวนในพระวินัย บทและพยัญชนะเหล่านั้น เทียบเคียงกันได้ในพระสูตรสอบสวนกันได้ในพระวินัย ในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้ และภิกษุนี้รับมาดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาประเทศข้อที่ 1 เธอทั้งหลายพึงทรงจำไว้ ฯ

    อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า สงฆ์อยู่ในอาวาสชื่อโน้นพร้อมทั้งพระเถระพร้อมทั้งท่านที่เป็นประธาน ข้าพเจ้าได้สดับมา ได้รับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย ถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย บทและพยัญชนะเหล่านั้น เทียบเคียงกันไม่ได้ในพระสูตร สอบสวนกันไม่ได้ในพระวินัยในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้มิใช่คำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้ และสงฆ์นั้นรับมาผิดแล้ว เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนี้เสียทีเดียว

    อนึ่งภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า สงฆ์อยู่ในอาวาสชื่อโน้น พร้อมทั้งพระเถระพร้อมทั้งท่านที่เป็นประธาน ข้าพเจ้าได้สดับมา ได้รับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่านี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดูกรภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัยถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย บทและพยัญชนะเหล่านั้นเทียบเคียงกันได้ในพระสูตร สอบสวนกันได้ในพระวินัย ข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมพุทธเจ้าแน่แท้ และสงฆ์นั้นรับมาดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาประเทศข้อที่ 2 เธอทั้งหลายพึงทรงจำไว้ ฯ

    อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นพระเถระมากด้วยกันอยู่ในอาวาสชื่อโน้น เป็นพหูสูต ชำนาญในนิกาย [นิกาย 5 คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย] ทรงธรรม ทรงวินัยทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับมา รับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้น ... ข้าพเจ้าได้สดับมารับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้ว พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วพึงเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย ถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตรสอบสวนในพระวินัย บทและพยัญชนะเหล่านั้นเทียบเคียงกันได้ในพระสูตร สอบสวนกันได้ในพระวินัย ในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแน่แท้ และพระเถระเหล่านั้นรับมาดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาประเทศข้อที่ 3 เธอทั้งหลายพึงทรงจำไว้ ฯ

    อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นเถระรูปหนึ่ง อยู่ในอาวาสชื่อโน้น เป็นพหูสูต ชำนาญในนิกาย ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้น ... ข้าพเจ้าได้สดับมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้ว พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้วพึงเทียบเคียงในพระสูตรสอบสวนในพระวินัย ถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย บทและพยัญชนะเหล่านั้นเทียบเคียงกันได้ในพระสูตร สอบสวนกันได้ในพระวินัย ในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแน่แท้ และพระเถระรูปนั้นรับมาดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาประเทศข้อที่ 4 เธอทั้งหลายพึงทรงจำไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาประเทศ 4 นี้แล ฯ[1]


    หลักมหาประเทศ 4 ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสข้างต้น มีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อผู้ใดก็ตามได้แสดงธรรม หรือแสดงวินัย โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ตนเองได้รับมาจากพระพุทธเจ้าโดยตรง หรือได้ฟังมาจากใครคนใดคนหนึ่งอีกทีก็ตาม ขอให้ผู้ฟังอย่าเพิ่งเชื่อโดยทันที หรืออย่าเพิ่งคัดค้านโดยทันที ขอให้เรียนเนื้อหาสาระของข้อธรรมเหล่านั้นให้ดี แล้วนำไปตรวจสอบเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัยเสียก่อน ถ้าหากว่าตรวจสอบเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัยแล้ว บทและพยัญชนะเหล่านั้นรวมลงกันได้ ขอให้สันนิษฐานได้ว่า เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน หลังจากนั้นจึงจดจำคำเหล่านั้นเอาไว้ใช้ประโยชน์ต่อไปได้ แต่ถ้าหากตรวจสอบเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัยแล้ว รวมลงกันไม่ได้ ขอให้สันนิษฐานได้ว่า ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน หลังจากนั้นจึงทิ้งคำเหล่านั้นไปเสียอย่าได้จำเอาไปใช้ประโยชน์เลย

    หากเราได้ทำการศึกษาในชั้นอรรถกถาถึงเรื่องมหาประเทศ 4 เพิ่มเติมแล้ว จะทำให้เกิดความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกว่า พระไตรปิฎกทั้ง 3 คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก จะถือเป็นหลักที่ใช้ในการเทียบเคียงสอบสวน เป็นสิ่งที่ใครจะคัดค้านไม่ได้ ใครคัดค้านพระไตรปิฎกเหล่านี้ ขึ้นชื่อว่าคัดค้านพระพุทธเจ้าด้วย แต่ว่าต้องเป็นพระไตรปิฎกที่อยู่ในการสังคายนาครั้งที่ 1 จนถึงครั้งที่ 3 เท่านั้น ครั้งที่ 4 เป็นต้นไปจะถือเอามาเป็นหลักใช้ตัดสินไม่ได้ และคัมภีร์ชั้นรองลงมา คือ อรรถกถา เรียกว่าเป็นชั้น “อาจาริยวาท” ให้ถือเอาเฉพาะที่ไม่คัดค้านกับพระไตรปิฎกเท่านั้น ส่วนคัมภีร์ชั้นถัดจากอรรถกถาเป็นต้นมาอีกทีเรียกว่าชั้น “อัตตโนมัติ” ให้ถือเอาเฉพาะที่ไม่คัดค้านกับในพระไตรปิฎกเช่นเดียวกัน[2]

    นอกเหนือจากคำอธิบายในอรรถกถาที่กล่าวไป ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่นำมาช่วยให้เข้าใจเรื่องมหาประเทศ 4 เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นว่าอะไรที่จัดเป็นพระธรรมและพระวินัย หรืออะไรที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบว่าเป็นคำสั่งสอนของพระศาสดาบ้าง ได้แก่เรื่อง “นวังคสัตถุศาสน์” ดังนี้

    นวังคสัตถุศาสน์ คำสั่งสอนของพระศาสดา มีองค์ 9, พุทธพจน์มีองค์ประกอบ 9 อย่าง, ส่วนประกอบ 9 อย่างที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ

    1. สุตตะ (พระสูตรทั้งหลาย รวมทั้งพระวินัยปิฎกและนิทเทส)

    2. เคยยะ (ความที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน ได้แก่ พระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด)

    3. เวยยากรณะ (ไวยากรณ์ คือความร้อยแก้วล้วน ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด และพระสูตรที่ไม่มีคาถาเป็นต้น)

    4. คาถา (ความร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา เป็นต้น)

    5. อุทาน (ได้แก่ พระคาถาพุทธอุทาน 82 สูตร)

    6. อิติวุตตกะ (พระสูตรที่เรียกว่าอิติวุตตกะ 110 สูตร)

    7. ชาตกะ (ชาดก 550 เรื่อง)

    8. อัพภูตธรรม (เรื่องอัศจรรย์ คือพระสูตรที่กล่าวถึงข้ออัศจรรย์ต่างๆ)

    9. เวทัลละ (พระสูตรแบบถามตอบที่ให้เกิดความรู้และความพอใจแล้ว ซักถามยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร เป็นต้น)

    เขียนอย่างบาลีเป็น นวังคสัตถุสาสน์[3]


    จากเรื่อง นวังคสัตถุศาสน์ ทำให้เห็นว่ามีความสอดคล้อง และรวมลงกันได้กับเรื่องมหาประเทศ 4 และรวมลงกันได้จากที่อรรถกถาจารย์ได้กล่าวเอาไว้ นั่นคือ พระธรรมและพระวินัยสามารถเรียกได้ว่าเป็น คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หากแจกแจงโดยละเอียดมีด้วยกัน 9 อย่างเรียกว่า นวังคสัตถุศาสน์ แต่หากย่อ นวังคสัตถุศาสตร์ ลงแล้วได้แก่ พระไตรปิฎก 3 คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก นั่นเอง (พระธรรมและพระวินัย=คำสั่งสอนของพระศาสดา=นวังคสัตถุศาสน์=พระไตรปิฎก)

    เท่าที่นำหลักมหาประเทศ 4 และนวังคสัตถุศาสน์มาให้ทราบข้างต้นไปแล้ว ผู้อ่านคงจะรู้ว่าอะไรที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าบ้าง และบทความนี้จะมีหลักในการวินิจฉัยอย่างไร กล่าวโดยสรุป คือ เพื่อให้บทความนี้ มีความน่าเชื่อถือ และเป็นกลางในการวินิจฉัย ผู้เขียนจึงพยายามนำเอาข้อมูลต่างๆ มาจากชั้นปฐมภูมิ คือ พระไตรปิฎกมาเป็นหลักการวินิจฉัยเป็นหลักก่อน ต่อไปจากนั้นจึงนำเอาชั้นทุติยภูมิ คือ อรรถกถามาวินิจฉัยอีกทีหนึ่ง จะไม่พยายามนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น หากส่วนใดจำเป็นต้องนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น จะนำมาจากแหล่งที่ส่วนรวม หรือทุกฝ่ายต่างยอมรับกันว่ามีความน่าเชื่อถือ มีความถูกต้อง ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค, คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลศัพท์และประมวลธรรมของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นต้น จะไม่พยายามนำหลักฐานต่างๆ ของครูอาจารย์สายปริยัติ หรือสายปฏิบัติในยุคปัจจุบันนอกเหนือจากที่กล่าวไปมาตัดสินความถูกผิด หรือนำมาใช้วินิจฉัยแต่อย่างไร เพราะเป็นส่วนที่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า มีความเห็นไม่ตรงกัน แม้มีการนำมาชี้แจงกัน แต่ว่ายังไม่สามารถหาข้อยุติติดสินความถูกผิดจนถึงที่สุดได้ กลับเป็นการทำให้ประเด็นปัญหาบานปลายออกไปอีกด้วย



    (โปรดติดตามตอนต่อไป...)
     

    ----------------------------------------------------------------------------

    [1] องฺ.จตุกฺก. (ไทย) 21/180/185-197.

    [2] ดูรายละเอียดใน ที.ม.อ. (ไทย) 13/403-407.

    [3] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 96.
    <!-- End main-->
     
  2. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    บทความ-ไขปัญหาวิปัสสนาห้ามคิดหริอไม่? ตอนที่ 2

    ความเข้าใจเพิ่มเติมเรื่องห้ามคิดและให้คิด

    ขั้นตอนแรกของการวินิจฉัยประเด็นปัญหา คือ การทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การห้ามคิดและการให้คิด ในการเจริญวิปัสสนา ให้เข้าใจเสียก่อนว่าคืออะไร มีรายละเอียดอย่างไร เพราะถ้าหากไม่เข้าใจปัญหาอย่างดีเพียงพอแล้ว ย่อมจะวินิจฉัย หรือตอบปัญหาได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

    ความเห็นที่ว่า “วิปัสสนาห้ามคิด” ในประเทศไทย เท่าที่ได้ทำการสืบค้น และมีหลักฐานปรากฏ ทำให้ทราบว่า เกิดขึ้นมาจากแนวคิดของการปฏิบัติธรรมยุคหลังสมัยพุทธกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มต้นจากช่วงหนึ่งในวงการพระสงฆ์ได้มีความหย่อนยานในพระธรรมวินัย ไม่เคร่งครัดในการรักษาศีล และไม่ใส่ใจในการปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนมาก จะมีบ้าง คือ การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของพระสงฆ์ที่ยังคงมีอยู่ และการศึกษาด้านพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ที่อยู่ในเมือง แต่สำหรับพระสงฆ์ที่พยายามรักษาพระธรรมวินัย ตั้งใจปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจังเพื่อบรรลุมรรค-ผล-นิพพานกันในชาตินี้แล้ว ช่วงยุคสมัยนั้นหาได้ยากยิ่ง และมีจำนวนน้อยมากหากเทียบกับในสมัยปัจจุบัน สถานการณ์ดำเนินไปอยู่เช่นนั้น จนกระทั่งต่อมาได้มีพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ตั้งใจรักษาพระธรรมวินัย ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเกิดขึ้น ท่านได้พยายามฟื้นฟูให้เหล่าพระสงฆ์หันมาสนใจปฏิบัติธรรมตามแนวทางไตรสิกขา ได้แก่ ศีล-สมาธิ-ปัญญา กันอย่างเป็นรูปธรรมจริงจังเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากการสนใจประกอบพิธีกรรม หรือเรียนพระปริยัติธรรมโดยมิได้ปฏิบัติ และยังได้พยายามทำลายความเชื่อที่มีอยู่เดิมในสมัยนั้นว่าพระอรหันต์ได้หมดสิ้นไปแล้ว ไม่สามารถมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลกนี้ได้อีกแล้ว ซึ่งสิ่งที่พระสงฆ์รูปนั้นได้พยายามกระทำเกิดบรรลุผลสำเร็จในที่สุด คือ ท่านสามารถปฏิวัติวงการพระสงฆ์ในประเทศไทย ให้กลับมามีความตื่นตัวสนใจรักษาพระธรรมวินัย ตั้งใจปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจัง และยังประสบความสำเร็จในการผลิตพระสงฆ์ระดับครูอาจารย์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในไตรสิกขา มีปฏิปทาอันน่าเลื่อมใส ให้ไปช่วยเผยแผ่พุทธธรรมให้กับพระสงฆ์รูปอื่น รวมทั้งเหล่าญาติโยมทั้งหลายต่อไปในภายภาคหน้าอีกด้วย

    ต่อมาเมื่อเวลาได้ผ่านเลยไปไม่นาน แนวทางไตรสิกขาที่เหล่าพระสงฆ์กลุ่มนี้ได้เพียรปฏิบัติ และอบรมสั่งสอนกันอยู่ ปรากฏเป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างมากในเมืองไทย แต่ทว่าแนวทางไตรสิกขาดังกล่าว มิใช่จะกระทำกันได้โดยง่าย เพราะเมื่อพิเคราะห์ถึงรายละเอียดวิธีการสอน หรือขั้นตอนการปฏิบัติแล้ว จะเป็นไปในแนวทางของ “สมถยานิก” คือ ผู้มีสมถะเป็นยาน หมายถึง ผู้เจริญสมถกรรมฐาน จนได้ฌานก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนาต่อจนกระทั่งสำเร็จอรหันต์ บุคคลใดก็ตามที่เกิดศรัทธาจะปฏิบัติตามแนวทางนี้ จะต้องรักษาศีลให้สมบูรณ์เป็นพื้นก่อน ต่อจากนั้นเมื่อมีศีลสมบูรณ์เป็นพื้นแล้ว จึงพากเพียรเจริญสมาธิให้บริบูรณ์ คือ จนได้ฌานต่อไป ต่อจากนั้นเมื่อมีสมาธิบริบูรณ์เป็นพื้นแล้ว จึงหมั่นเจริญปัญญาด้วยการเจริญวิปัสสนาต่อไปอย่างนี้เรื่อยๆ สุดท้ายย่อมจะสามารถบรรลุธรรม สำเร็จอริยบุคคลระดับต่างๆ ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ในที่สุด จะเห็นว่าแนวทางไตรสิกขาแบบที่กล่าวไปไม่สามารถจะกระทำได้โดยง่าย โดยเฉพาะขั้นตอนการเจริญสมาธิเพื่อให้ได้ฌานต้องอาศัยความพากเพียร วิริยะอุตสาหะอย่างมาก ต้องอาศัยสถานที่อันสงัดเข้ามาช่วยเหลือจึงจะฝึกให้สำเร็จได้ เป็นผลทำให้มีผู้ปฏิบัติบางท่านพยายามศึกษาหาวิธีการปฏิบัติใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อช่วยให้การปฏิบัติธรรมเป็นไปโดยง่ายขึ้น อย่างวิธีการหนึ่ง คือ แนวทางเจริญปัญญาด้วยการเจริญวิปัสสนาในทันทีไม่ต้องรอให้ได้ฌานเสียก่อน เรียกว่าแนวทางของ “สุขวิปัสสก”

    สุขวิปัสสก คือ แนวทางที่เจริญวิปัสสนาตั้งแต่แรกเรื่อยไปจนกระทั่งสำเร็จอรหันต์ เป็นแนวทางที่ไม่ได้คุณวิเศษอย่างอื่น ไม่ได้ฌานสมาบัติ และไม่ได้อภิญญาใดๆ วิธีการเจริญวิปัสสนาแนวทางสุขวิปัสสก ที่มีอยู่ในเมืองไทยและใช้กันมีด้วยกันหลายวิธี แต่วิธีการที่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นโต้เถียง หรือถกเถียงกันขึ้นอยู่พักใหญ่ และยังคงมีหลงเหลือกันในปัจจุบัน เป็นครั้งคราว แต่ไม่รุนแรงเท่ากับในอดีต ได้แก่ วิธีการที่ 1 กระทำโดยใช้ความคิดช่วยพิจารณาให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ เป็นไตรลักษณ์ได้อย่างไรอยู่เนื่องๆ เช่น เมื่อเห็นผู้หญิงก็คิดพิจารณาไปว่าเป็นเพียงอสุภะ ไม่ใช่สิ่งไม่สวยงาม เป็นสิ่งน่าเกลียด ต้องเน่าเปื่อยผุพัง เป็นต้น กับวิธีการที่ 2 ที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ วิธีการใส่คำกำหนดลงท้ายชื่อของสิ่งต่างๆ เช่น เมื่อเห็นผู้หญิงจึงกำหนดว่า เห็นหนอๆ, เมื่อได้กลิ่น จึงกำหนดว่ากลิ่นหนอๆ, เมื่อหายใจเข้าท้องพองจึงกำหนดรู้ว่า พองหนอ เมื่อหายใจออกท้องแฟบจึงกำหนดรู้ว่า ยุบหนอ เป็นต้น ซึ่งวิธีการเจริญวิปัสสนารูปแบบใหม่เหล่านี้ ใช้เวลาเพียงไม่นาน ได้เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกัน เพราะเนื่องจากง่ายกว่า และยังสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องปลีกวิเวก ไร้เสียงรบกวน ก็สามารถกระทำได้ จึงทำให้ต่อมาเกิดกระแสวิภาควิจารจากผู้ที่ปฏิบัติแนวทางสมถยานิกเดิมว่า ห้ามคิด คือ ห้ามไปใช้ความคิดในเจริญวิปัสสนาหากว่ายังไม่ได้ฌาน สิ่งที่พวกเขากำลังกระทำอยู่ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา แต่เป็นเพียงการเจริญสมถะอย่างหนึ่งเท่านั้น หรือเป็นเพียงการเจริญสมาธิเท่านั้น การเจริญที่แท้จริงวิปัสสนาจะต้องกระทำหลังจากได้สมาธิระดับฌานเสียก่อน หาไม่แล้วจะเป็นแต่เพียงสิ่งที่เรียกว่า “วิปัสสนึก” หาใช่วิปัสสนาไม่? จึงทำให้ฝ่ายผู้ปฏิบัติที่ทำตามแนวทางสุขวิปัสสกเกิดอาการไม่พอใจ และได้แสดงเหตุผล หรือโต้แย้ง ถกเถียงกันขึ้นด้วยเหตุผลประการต่างๆ จนกระทั่งระยะเวลาผ่านไปนานเข้า ข้อพิพาทดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เกิดความกระจ่างชัดว่าเป็นอย่างไรกันแน่ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างเลิกรากันไปเอง กลับมาต่างฝ่ายต่างปฏิบัติ ไม่พยายามก้าวก่ายพาดพึงถึงกัน ทำให้เกิดการปฏิบัติหลักเฉพาะนิกายกันขึ้น คือ การปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาสายสมถยานิกกลายเป็นแนวทางหลักที่มีการนำไปปฏิบัติมากที่สุดของพระสงฆ์สายธรรมยุตินิกาย ส่วนการปฏิบัติแบบใส่คำกำหนดสิ่งต่างๆ สายสุขวิปัสสก ที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน กลายเป็นแนวทางหลักที่มีการนำไปปฏิบัติมากที่สุดของพระสงฆ์สายมหานิกาย

    นอกเหนือจากสาเหตุของการห้ามคิดที่เกิดขึ้นดังกล่าวไปแล้ว ยังมีอีกสาเหตุ หรืออีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เกิดความเห็นว่า “วิปัสสนาห้ามคิด” ขึ้น คือ หลังจากที่ฝ่ายผู้ปฏิบัติสายสมถยานิก และฝ่ายผู้ปฏิบัติสายสุขวิปัสสกได้ต่างฝ่ายต่างเลิกรา และตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมตามแต่ความศรัทธาของใครกันไปอยู่นั้น เวลาได้ล่วงเลยไป แต่ไม่นานเท่าไร ได้เกิดการปฏิบัติวิธีการใหม่ขึ้น เรียกว่า การปฏิบัติแบบดูจิต ที่แตกตัวออกมาจากการปฏิบัติสายสมถยานิกเดิม หลักการปฏิบัติแบบดูจิตจะไม่ใช้ความคิดช่วยพิจารณาแต่อย่างไร แต่จะใช้สติเป็นหลัก คอยระลึกรู้ลักษณะของจิตใจต่างๆ อย่างเป็นกลาง อยู่เนื่องๆ ตลอดเวลา โดยไม่มีการแทรกแทรง กดข่ม หรือปรับเปลี่ยนลักษณะของจิตใจให้เป็นไปต่างๆ แต่อย่างไร เช่น เมื่อจิตมีราคะ ให้เพียงมีสติระลึกรู้อยู่ อย่างเป็นกลาง ไม่แทรกแทรงเท่านั้น แล้วจิตที่มีราคะจะดับไป ,เมื่อจิตมีโทสะให้เพียงมีสติระลึกรู้อยู่อย่างเป็นกลาง ไม่แทรกแทรงเท่านั้น แล้วจิตที่มีโทสะจะดับไป, เมื่อจิตคิดให้เพียงมีสติระลึกรู้อยู่ อย่างเป็นกลาง ไม่แทรกแทรงเท่านั้น แล้วจิตที่คิดจะดับไป จะไม่มีการใช้ความคิดช่วยพิจารณา หรือเรียกชื่อบัญญัติแต่อย่างไรว่า จิตมีราคะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฯลฯ

    การปฏิบัติแบบดูจิตแท้จริงแล้ว ได้นำเอาวิธีการมาจากการเจริญวิปัสสนาของสายสมถยานิกรูปแบบหนึ่ง หรือลักษณะหนึ่งมาประยุกต์ใช้ตั้งแต่เริ่มแรกนั่นเอง ซึ่งแต่เดิมจะสามารถทำได้ต้องฝึกสมาธิจนได้ฌานเสียก่อน แต่วิธีการดูจิตนี้ บางท่านเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอให้ได้ฌานเสียก่อน แต่สามารถนำวิธีการดูจิตมาปฏิบัติตั้งแต่เริ่มแรกจนสุดท้ายย่อมก่อให้เกิดการบรรลุมรรค-ผล-นิพพานได้เช่นเดียวกัน อย่างที่มีพระสงฆ์สายสมถยานิกบางรูป ได้นำเรื่องการดูจิต หรือบางครั้งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “การเจริญสติ” มาอบรมสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชนอยู่เนื่องๆ มีให้เห็นอยู่เหมือนกัน หลังจากการปฏิบัติแบบดูจิต หรือการเจริญสติ ได้ยืนกรานยึดหลักการนำวิธีเจริญวิปัสสนาของสมถยานิกมาใช้ตั้งแต่แรกอย่างนี้ จึงทำให้ไม่สามารถจัดอยู่ในแนวทางสายสมถยานิกได้อีกต่อไป จึงต้องกลายเป็นการปฏิบัติรูปแบบใหม่ ซึ่งข้อนี้ผู้ปฏิบัติตามแนวทางวิธีการดูจิตต่างยอมรับกันว่าวิธีที่ตนกระทำอยู่ไม่ใช่สายสมถยานิก และได้กล่าวว่าสายที่ตนปฏิบัติอยู่เป็นแบบสายสุขวิปัสสก เมื่อการปฏิบัติแบบดูจิตได้บอกว่าเป็นสุขวิปัสสกไปเสียอย่างนี้ จึงเป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระเทือนขัดแย้งกับสายสุขวิปัสสกแบบเดิมในระดับของหลักการเข้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างที่ได้ทราบแล้วว่า สุขวิปัสสกแบบเดิม มีหลักการสำคัญ คือ การใช้ความคิดช่วยพิจารณา หรือใช้คำกำหนดรู้ต่างๆ เช่น โกรธหนอ, อยากหนอ เป็นต้น เมื่อเป็นอย่างนี้ สุขวิปัสสกแบบใดจึงถูกต้องกันแน่? ต่างฝ่ายต่างย่อมคิดว่าของตนนั้นถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายของผู้ปฏิบัติแบบดูจิตได้ยืนกรานอย่างหนักแน่นว่าวิธีการปฏิบัติของตนมีความถูกต้อง เพราะมีเอกสารต่างๆ ออกมาเพื่อให้เห็นว่าการเจริญวิปัสสนาแบบดูจิตเป็นแนวทางสายสุขวิปัสสก มีความถูกต้อง และปฏิบัติได้ง่าย เป็นทางลัด เหมาะสำหรับคนเมืองที่มีเวลาน้อย การปฏิบัติเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ ฯลฯ และหลักการเจริญวิปัสสนาแบบสุขวิปัสสก ต้องห้ามใช้คิดพิจารณา ห้ามมีการกำหนดรู้ชื่อบัญญัติใดๆ หากใช้ความคิดช่วยพิจารณา หรือมีการกำหนดชื่อสิ่งต่างๆ จะทำให้ปิดบังความรู้ที่แท้จริง ย่อมไม่สามารถรู้ชัดตามความเป็นจริงได้

    ไม่ใช่แต่เพียงเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง การปฏิบัติแบบดูจิต หรือการเจริญสติ มีผู้นิยมกว้างขวางออกไป และได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องฝึกสมถกรรมฐานจนกระทั่งได้ฌานเสียก่อน ก็สามารถเจริญวิปัสสนาได้ และแสดงให้เห็นว่าเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้อง ต้องไม่ใช้ความคิดช่วยพิจารณา จึงเป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งรวมทั้งเกิดความไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิบัติแบบดูจิตขึ้นกับผู้ปฏิบัติสายสมถยานิกเดิมอีกลักษณะหนึ่ง เพิ่มเติมขึ้นมาจากการกระทบกับสายสุขวิปัสสกแบบเดิม (ได้กล่าวไปแล้วว่า การปฏิบัติแบบดูจิตได้นำเอาวิธีการมาจากการเจริญวิปัสสนาของสายสมถยานิกรูปแบบหนึ่ง ลักษณะหนึ่งมาประยุกต์ใช้ ดังนั้นจึงยังมีผู้ที่ปฏิบัติสายสมถยานิกลักษณะอื่นอยู่อีกเช่นกัน) ซึ่งผู้ปฏิบัติสายสมถยานิกแบบนี้ มีวิธีเจริญวิปัสสนาด้วยการใช้ความคิดช่วยพิจารณา แต่มีข้อแม้ว่าต้องได้สมาธิระดับฌานเสียก่อน จึงให้ใช้ความคิดช่วยพิจารณาได้ หาไม่แล้วไปคิดพิจารณาเข้าจะถือว่าเป็นการเจริญสมาธิอยู่ ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนาแต่อย่างไร เป็นเพียง “วิปัสสนึก” เท่านั้น

    หากทำการสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ข้างต้นทั้งหมด ประเด็นปัญหา “วิปัสสนาห้ามคิดหรือไม่?” แท้จริงแล้ว สามารถแยกย่อยออกไปได้หลายอย่าง และมีการห้ามคิดเอาไว้หลายแบบ แต่เมื่อสรุปแล้วจะเห็นว่าในการห้ามคิดที่มีอยู่เหล่านั้น มีแนวคิดหลักในการห้ามคิดอยู่อยู่เพียง 2 แนวคิด ส่วนแนวคิดอื่นๆ ได้แตกแขนงออกไปจากแนวคิดทั้งสองนี้

    แนวคิดที่ 1 ห้ามคิดบางกรณี หมายถึง การห้ามคิดถึงสภาพไตรลักษณ์ในขันธ์ห้า เช่น ห้ามคิดในสังขารว่ามีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว ต่อไปก็แตกสลายทำลายไปหมด, ห้ามคิดในร่างกายว่าเป็นเพียงธาตุสี่ต่างๆ มาประชุมกัน, ห้ามคิดในสังขารผู้อื่นว่าไม่เที่ยงมีอันต้องผุพังไปไม่ยั่งยืน, ห้ามคิดว่าจะต้องตายไปเป็นธรรมดา ไม่ล้วนพ้นไปได้ เป็นต้น เฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้ฌานเท่านั้นที่ห้ามคิด ส่วนผู้ที่ได้ฌานแล้วสามารถที่จะคิดได้ โดยมีหลักการว่าหากจะคิดต้องเข้าฌานไปก่อนทุกครั้ง แล้วถอยออกจากฌานมาอยู่ในระดับอุปจารสมาธิก่อน แล้วจึงเริ่มคิดได้ หาไม่แล้ว ผู้ที่ไม่ได้ฌาน หากคิดพิจารณาไป จะไม่ใช่การเจริญวิปัสสนาแต่อย่างใด กลายเป็นเพียงสิ่งที่เรียกว่า “วิปัสสนึก” ไม่ได้เห็นตามเป็นจริง เป็นการเจริญสมถกรรมฐานให้จิตใจสงบเท่านั้น

    แนวคิดที่ 2 ห้ามคิดทุกรณี หมายถึง เวลาเจริญวิปัสสนาห้ามใช้การคิดช่วยในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ฌาน หรือผู้ที่ได้ฌานแล้ว เพราะหากใช้การคิดจะทำให้เกิดการบิดเบือนในสภาวธรรมที่ปรากฏ ให้เป็นไปตามทิฐิของตนอย่างไม่เป็นกลางทำให้ไม่เห็นไตรลักษณ์ตามเป็นจริง ก่อให้เกิดการติดอยู่กับบัญญัติ ไม่อาจสัมผัสถึงสภาวปรมัตถ์ที่แท้จริงได้ การเจริญวิปัสสนาที่ถูกจะต้อง “รู้ไม่ใช่คิด” การคิดจะทำให้ไม่รู้ ถือว่าเป็นการแทรกแทรงที่ไม่ควรทำ เป็นเพียงการเจริญสมถกรรมฐานให้จิตใจสงบเท่านั้น เรื่องต่างๆ ที่ห้ามคิด จะเหมือนกับแนวคิดที่ 1 คือ ห้ามคิดถึงสภาพไตรลักษณ์ในขันธ์ห้า แต่ยังมีตัวอย่างเฉพาะแนวคิดนี้ที่น่าสนใจอีก เช่น ห้ามคิดพิจารณาร่างกายเป็นอสุภะ, ห้ามคิดเรื่องความเป็นปฏิกูลของอาหาร, ห้ามคิดเรียกชื่ออิริยาบถ, ห้ามคิดเรียกชื่ออาการพอง-ยุบของหน้าท้อง, ห้ามคิดเรียกชื่ออาการเข้า-ออกของลมหายใจ, ห้ามคิดเรียกชื่อกิเลส ราคะ โทสะ โมหะที่เกิดขึ้นในใจ, ห้ามคิดว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เป็นต้น แต่แนวคิดนี้ได้มีข้อยกเว้นอยู่เหมือนกัน คือ หากไม่ใช่ความคิดที่เกิดขึ้นจากการคิดอย่างจงใจคิดด้วยตนเอง ดังกล่าวข้างต้นแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผุดเกิดขึ้นมาเองอย่างอัตโนมัติโดยไม่ตั้งใจภายหลังจากที่จิตหลุดพ้นเป็นอิสระแล้ว ความคิดอย่างนี้ไม่ได้ห้ามแต่อย่างใด มีคำเรียกเฉพาะในหมู่นักปฏิบัติแนวคิดนี้ว่า “จิตอุทาน”


    (โปรดติดตามตอนต่อไป...)

    ที่มา : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=siratsapon&month=10-2010&date=26&group=5&gblog=4
     
  3. ขันธ์

    ขันธ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    7,927
    ค่าพลัง:
    +9,209
    ตอนที่มีสติ ดี จิตตั้งมั่น สงบ เบิกบาน จะคิดก็คิดไป เพราะว่า โลกนี้เขาก็คิดกันทั้งโลก ก็ได้ประโยชน์ มากมาย จากความคิด ทั้งประโยชน์ทางวิชาการ เขาก็คิดกันมาทั้งนั้น

    แต่ว่า คนที่ฟุ้งซ่าน กำลังสับสน หาทางออกไม่เจอ มันก็เต็มไปด้วยตัณหา ทะยานอยาก มันก็คิดไปผิดทาง มีนิวรณ์มาปะปน ผลักดัน ทำให้รู้แบบ ฟั่นเฟือน


    ลองถามตัวเองง่ายๆ ว่า ห้ามความคิดได้หรือไม่ ถ้าห้ามได้สัก 1- 5 นาที ปรากฎว่าใจนิ่งได้ แสดงว่า เราควบคุมความคิดได้ แบบนี้จะคิดก็คิดไป

    แต่ หากว่า ห้ามก็ไม่ได้ คิดไปเรื่อยๆ ไม่หยุด แสดงว่า จิตเต็มไปด้วยนิวรณ์
    แบบนี้ ให้ มีสติชำเลืองมอง อย่าเพิ่งไปคิดเพิ่ม แต่ให้คอยดึงจิตให้ค่อยๆ สงบด้วยการหา สิ่งให้จิตจับ เช่น คำบริกรรม ถ้าคำบริกรรมไม่สะดวก ก็ให้คอยชำเลืองมอง


    หยุดคิด ก็ได้ เคลื่อนก็ได้ จึงเรียกว่า เรามีสติ และ ควบคุมจิตใจเราได้ เรียกว่า จิตนั้นควรค่าแก่การงาน

    ทีนี้ ใครที่เขาทำได้แบบนี้ แม้ไม่เคยฝึกก็มี นั่นเขาก็ทำตามมีตามเกิด ตามกรรม
    เมื่ออกุศลเจริญเมื่อไร เขาก็อาจจะทำไม่ได้แบบเดิม

    เราจึงควรต้องทำแบบผู้รู้ รู้เหตุ รู้ผล รู้ปัจจัย
     
  4. Mr.Boy_jakkrit

    Mr.Boy_jakkrit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    2,065
    ค่าพลัง:
    +2,682
    ตามท่านขันธ์กล่าวชอบแล้ว

    ไม่ได้ห้ามคิด เพราะมันห้ามไม่ได้ มีแต่คนตายเท่านั้นที่ไม่คิด
    แต่ให้รู้ว่าคิด รู้ด้วยสติ ตามรู้ จนเกิดปัญญา

    ไม่ได้คิดไป่ว่านั่นธรรมชาติ นี่ธรรมชาติ แบบนี้เรียกว่าคิดเอาเอง

    และวิปัสสนา กับ สมถะ ไม่มีสิ่งใดง่ายกว่าสิ่งใด และ ไม่มีสิ่งใดยากกว่าสิ่งใด
    พระอรหันต์ทุกพระองค์เท่าเทียมกันหมด เพราะเหตุดังนี้

    บางรายเรียนมาเยอะแต่จะเอาปริยัติธรรมกับวิชาการทางโลกมาเทียบกันอาจจะคล้ายคลึงแต่ไม่ใช่อันเดียว
    วิชาการทางโลก ยิ่งเรียนในสิ่งที่ยากพอจบออกมาก็เป็นชื่นชมยินดี แต่พอมีคนเรียนจบที่เท่าเทียมกันต่างฝ่ายต่างหาทางฉีกตัวหนีสูงกว่า อาจจะเทียบกันที่สถาบันที่เรียนจบมา หรือไม่อาจจะเทียบกันที่ความรู้ความสามารถ จนเกิดเป็นการเกทับกัน

    ส่วนวิชชาทางธรรมนั้นสิ่งที่จะเหนือกว่าผู้อื่นคือ คนที่ลดตัวเองให้เหลือความคิดเห็นเป็นตัวฉันของฉันมากที่สุด ลดในที่นี้คือมีความเข้าใจและกระทำการจนประจักษ์เรียกว่า ทำได้เอง
    หรือ "ความเข้าใจ กับ การทำได้เอง" เป็นสิ่งที่คล้ายกันแต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วเป็นคนอย่างกันอีกเช่นเคย

    หวังว่าคงพอจะเข้าใจกันนะครับ เข้าใจ กับ ทำได้เอง


    เจริญธรรม
     
  5. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    ขอบคุณทั้งสอนท่านที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นครับ

    ผมเห็นด้วยกับคุณ "Mr.Boy_jakkrit<!-- google_ad_section_end -->" ในหลายประเด็นที่แสดงความคิดเห็นมานะครับ โดยเฉพาะประเด็น "เข้าใจ" กับ "ทำได้เอง"

    ในโลกแห่งไซเบอร์นี้ ยากนักจะรู้ว่าใครเข้าใจ แล้วมาอธิบาย หรือใครทำได้เอง แล้วมาอธิบาย ดังนั้นอย่าไปสนใจตรงนี้เลย สนใจในข้อธรรมเท่านั้นก็พอครับ

    สิ่งที่เราคิด อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาเป็น สิ่งที่เขาเป็น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราคิด

    ขอให้เจริญในธรรม
     
  6. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    บทความ-ไขปัญหาวิปัสสนาห้ามคิดหริอไม่? ตอนที่ 3

    วิปัสสนาคืออะไร

    ขั้นตอนต่อไปของการวินิจฉัยประเด็นปัญหา “วิปัสสนาห้ามคิดหรือไม่?” สืบต่อเนื่องจากการทำความเข้าใจกับปัญหามาอย่างดีเพียงพอแล้ว คือ การอธิบายให้ทราบว่าวิปัสสนาคืออะไร เพราะหากได้เข้าใจว่าวิปัสสนาคืออะไร และหลักการเจริญวิปัสสนาเป็นอย่างไร ย่อมจะทำให้ไขปัญหาได้ว่าวิปัสสนาห้ามคิดหรือไม่ในที่สุดได้ วิปัสสนามีความหมายดังต่อไปนี้

    “วิปัสสนา” หากดูจากคำศัพท์แล้ว มาจากสองคำผสมกัน คือ “วิ” (วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + “ปสฺสนา” (การเห็น) รวมสองคำเข้าด้วยกันหมายถึง การเห็นวิเศษ, การเห็นแจ้ง, การเห็นโดยประการต่างๆ

    “วิปัสสนา” หากดูความหมายจากอรรถกถาได้แก่ “เห็น เห็นแจ้ง โดยประการต่างๆ”[1], “ญาณเป็นเครื่องกำหนดสังขาร”[2], “การตามเห็น (อนุปัสสนา) 7 อย่าง”[3]

    “วิปัสสนา” หากดูความหมายจากพจนานุกรม ได้แก่ “ความเห็นแจ้ง คือเห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม, ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันให้ถอนความหลงผิดรู้ผิดในสังขารเสียได้, การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น”[4]

    จากความหมายข้างต้น ทำให้ทราบแล้วว่าวิปัสสนาหมายถึงอะไร ต่อไปยังมีอีกคำหนึ่งที่ควรทราบเอาไว้ เป็นคำที่คล้าย และใกล้เคียงกับคำว่าวิปัสสนาได้แก่คำว่า “อนุปัสสนา”

    “อนุปัสสนา” หากดูจากคำศัพท์แล้ว มาจากสองคำผสมกันเช่นกัน คือ “อนุ” + “ปสฺสนา” แปลว่า “ตามเห็น ตามดูให้เห็นแจ้ง หรือดูบ่อย ๆ”[5]

    “อนุปัสสนา” หากดูความหมายจากอรรถกถาบางแห่ง ได้แก่ “ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ฯลฯ [ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่าง คือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม] ความเห็นชอบ” บุคคลที่เพียรทำอนุปัสสนาอยู่ เรียกว่า “อนุปสฺสี”[6]

    “อนุปัสสนา” จัดเป็นตทังควิมุตติ คือ พ้นจากกิเลสโดยอาศัยธรรมตรงกันข้ามที่เป็นคู่ปรับกัน เช่น พ้นจากความเห็นว่าเที่ยงด้วยอนิจจานุปัสสนา, พ้นจากความเห็นว่าสุขด้วยทุกขานุปัสสนา, พ้นจากความเห็นว่าเป็นตัวตนด้วยอนัตตานุปัสสนา เป็นต้น[7]

    “อนุปัสสนา” สามารถทำให้เกิดขึ้นด้วยการนึกถึงอนุปัสสนาข้อใดข้อหนึ่ง เช่น นึกถึงอนิจจานุปัสสนา เป็นต้น เช่นนึกถึงบ่อยๆ เจริญบ่อยๆ ว่า อนิจฺจํ อนิจฺจํ ทุกฺขํ ทุกฺขํ อนตฺตา อนตฺตา เป็นต้น จนเกิดความวางเฉย[8]

    “อนุปัสสนา” ย่อมมีได้เฉพาะกับผู้มีสติเท่านั้น อนุปัสสนา “จะไม่มีแก่ผู้ปราศจากสติ” และการเจริญสติปัฏฐานสี่มีต้องอาศัยอนุปัสสนาร่วมทำงานด้วย หมายถึง พระโยคาวจรใช้สติกำหนดอารมณ์แล้ว จึงพิจารณาเห็น (กายเป็นต้น) ด้วยปัญญา[9] เช่น ใช้สติระลึกรู้เท่าทันสภาพจิตที่ได้เกิดขึ้นมา ต่อจากนั้นจึงพิจารณาเห็นด้วยอนัตตานุปัสสนาว่าเกิดขึ้นมาจากเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เป็นต้น

    “อนุปัสสนา” มีด้วยกัน 7 อย่าง[10] คือ (1) อนิจจานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นเป็นของไม่เที่ยง, (2) ทุกขานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นเป็นทุกข์, (3) อนัตตานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นว่าเป็นอนัตตา, (4) นิพพิทานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นความเบื่อหน่าย, (5) วิราคานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นความคลายกำหนัด, (6) นิโรธานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นความดับ, (7) ปฏินิสสัคคานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นการสละคืน อนุปัสสนาทั้ง 7 อย่างข้างต้น สามารถย่อให้เหลือเพียง 3 อย่างเท่านั้น คือ อนิจจานุปัสสนา, ทุกขานุปัสสนา, อนัตตานุปัสสนา

    เมื่อได้ทราบความหมายของทั้งสองคำข้างต้น คงสังเกตว่ามีความคลายคลึงกันอยู่ จุดที่คล้ายคลึงกันที่สำคัญได้แก่ เป็นการ “เห็น” เหมือนกันที่ส่งผลทำให้เกิดการหลุดพ้นจากกิเลส ดังนั้นผู้ที่เพียรทำอนุปัสสนาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ เช่น อนิจจานุปัสสนา เป็นต้น ชื่อว่ากำลังเจริญวิปัสสนาอยู่เหมือนกัน แต่คำว่าวิปัสสนาจะมีความหมายกว้างขวางครอบคลุมกว่าคำว่า อนุปัสสนา การเพียรทำ อนุปัสสนา ในภาคปฏิบัติเหมือนเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในขั้นตอนของวิปัสสนาทั้งหมดเท่านั้น เพราะ การเจริญวิปัสสนาในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนมีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอน เรียกว่า ปริญญา 3 ได้แก่ “ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา”[11] ผู้ปฏิบัติต้องทำให้ครบจะขาดขั้นตอนใดไม่ได้ ปริญญา ในพจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่า

    ปริญญา : การกำหนดรู้, การทำความเข้าใจโดยครบถ้วน มี 3 คือ

    1. ญาตปริญญา กำหนดรู้ขั้นรู้จัก

    2. ตีรณปริญญา กำหนดรู้ขั้นพิจารณา

    3. ปหานปริญญา กำหนดรู้ถึงขั้นละได้[12]

    โดยอนุปัสสนาจัดอยู่ในขั้นตอนที่ 2 คือ ตีรณปริญญา ดังข้อความจากอรรถกถากล่าวไว้ว่า “ในปริญญา 3 เหล่านั้นนั่นแล การที่ภิกษุยกนามรูปขึ้นสู่ไตรลักษณ์แล้ว พิจารณาเห็นโดยเป็นของไม่เที่ยง เป็นต้น ด้วยสามารถแห่งอนุปัสสนา 7 ชื่อว่าตีรณปริญญา.”[13] และในคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้ทำการขยายความเรื่อง ปริญญา 3 ในชั้นพระไตรปิฎกออกไป เป็นวิปัสสนาญาณ 9 และแตกวิปัสสนาญาณ 9 ออกเป็นวิปัสสนาญาณ 16[14]

    หลักการบรรลุธรรม

    การจะทราบว่าหลักการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องทำอย่างไร ก่อนอื่นควรทำความรู้จักกับหลักการของการบรรลุธรรมเสียก่อน เพราะถ้าหากไม่เข้าใจหลักการบรรลุธรรมเสียก่อนแล้ว ย่อมแยกแยะไม่ออกว่าวิธีการเจริญวิปัสสนาแบบไหนที่ถูกต้อง หรือวิธีการเจริญวิปัสสนาแบบไหนที่ไม่ถูกต้อง บางทีอาจสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ทำการอธิบายขยายความจากความหมายของวิปัสสนาออกไปให้เห็นว่าหลักการที่ถูกต้องทำอย่างไรเสียเลยเล่า? เหตุผลที่กระทำแบบนี้ เพราะพิจารณาเห็นว่า การอธิบายจากความหมายของวิปัสสนา แล้วขยายออกไปสู่วิธีการปฏิบัติอย่างที่เห็นกันโดยทั่วไปในทันทีเลยนั้น แม้จะเป็นการดี แต่ว่าย่อมมีโทษ ถ้าหากผู้ที่อธิบาย หรือแม้แต่ผู้ปฏิบัติไม่ได้รู้จักหลักการบรรลุธรรมมาเสียก่อนแล้ว การอธิบายจะไปขัดแย้งกับหลักการบรรลุธรรมได้ เมื่อขัดแย้งกับหลักการบรรลุธรรมแล้ว วิธีการที่อธิบายไป ย่อมไม่ทำให้เกิดการบรรลุธรรมได้อย่างแน่นอน อาจจะได้เพียงกุศลธรรมอย่างอื่น แต่ไม่ถึงขนาดทำให้เกิดมรรค-ผล-นิพพานได้ และยังทำให้เกิดปัญหาวิธีปฏิบัติขัดแย้งกันเอง หรือขัดแย้งกับวิธีการอื่นที่ถูกต้องตามหลักการบรรลุธรรมอยู่แล้วขึ้นได้ ตรงกันข้าม ถ้าหากผู้อธิบาย หรือผู้ปฏิบัติได้ศึกษาเรียนรู้ ทำความรู้เข้าใจในหลักการบรรลุธรรมเสียก่อนเป็นอย่างดีแล้ว เวลาอธิบายวิธีการเจริญวิปัสสนา ย่อมไม่อธิบายขัดแย้งกับหลักการบรรลุธรรม เมื่อไม่ขัดแย้งกับหลักการบรรลุธรรม วิธีการที่อธิบายย่อมทำให้เกิดการบรรลุธรรม สำเร็จมรรค-ผล-นิพพาน รวมทั้งไม่ขัดแย้งกับวิธีการอื่นที่ถูกต้องตามหลักการบรรลุธรรมอยู่แล้วอย่างแน่นอน หลักการบรรลุธรรมในพระไตรปิฎก เมื่อได้ศึกษาแล้วพบว่ามีอยู่หลักการหนึ่งที่สำคัญ พระอานนท์ได้กล่าวเอาไว้ เพื่อให้รู้ว่าผู้ที่สามารถบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาได้ ต้องปฏิบัติธรรมตามแนวทางใดแนวทางหนึ่งหรือทั้งหมด ดังต่อไปนี้

    ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง พยากรณ์อรหัตในสำนักเรา ด้วยมรรค 4 ทั้งหมดหรือด้วยมรรคเหล่านั้นมรรคใดมรรคหนึ่ง มรรค 4 เป็นไฉน ฯ

    ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้น เมื่อภิกษุนั้นเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้นอยู่ มรรคย่อมเกิด ภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ฯ

    อีกประการหนึ่ง ภิกษุเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น เมื่อภิกษุนั้นเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นอยู่ มรรคย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนั้นเสพ เจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ฯ

    อีกประการหนึ่ง ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป เมื่อภิกษุนั้นเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป มรรคย่อมเกิด ภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ฯ

    อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีใจนึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้สมัยนั้น จิตย่อมตั้งมั่นสงบอยู่ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่มรรคย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง พยากรณ์อรหัตในสำนักเรา ด้วยมรรค 4 นี้ทั้งหมด หรือด้วยมรรคเหล่านั้นมรรคใดมรรคหนึ่ง ฯ[15]


    สรุปเนื้อความข้างต้นได้ว่า ผู้สามารถบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาได้ ต้องปฏิบัติตามแนวทางใดแนวทางหนึ่ง หรือทั้งหมด จาก 4 แนวทาง คือ (1) เจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้น หมายถึง ทำสมาธิให้เกิดก่อน แล้วจึงเจริญวิปัสสนาภายหลัง, (2) เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น หมายถึง ทำวิปัสสนาให้เกิดก่อน แล้วจึงเจริญสมาธิภายหลัง, (3) เจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป หมายถึง ทำสมาบัติให้ได้ทีละขั้น เมื่อได้สมาบัติขั้นใดแล้ว ให้ออกจากสมาบัติขั้นนั้น แล้วพิจารณาสังขารที่เกิดขึ้น-ดับไปของสมาบัติขั้นที่ออกมา ต่อไปจากนั้นจึงทำอย่างเดียวกันกับสมาบัติที่สูงขึ้นไป (4) นึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้ หมายถึง ละจิตที่หลงไปในวิปัสสนูปกิเลสที่บังเกิดขึ้น เช่น โอภาส เป็นต้น ทำให้สำคัญว่าตนบรรลุแล้ว ด้วยการกำหนดว่าอะไรใช่มรรค(ใช่ทาง) และอะไรไม่ใช่มรรค(ไม่ใช่ทาง) ที่ทำให้เกิดการหลุดพ้นบรรลุธรรมที่แท้จริง หลังจากนั้นจึงตั้งหน้าเพียรเจริญวิปัสสนาขั้นที่สูงขึ้นต่อไป ไม่หยุดแค่นั้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะปฏิบัติแนวทางใดใน 4 แนวทางก็ตาม ย่อมต้องเกิดสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันขึ้น เรียกว่า “มรรค” หลังจากมรรคเกิดขึ้นแล้ว ให้หมั่นเจริญมรรคที่เกิดขึ้นให้มาก แล้วย่อมละสังโยชน์ คือ กิเลสต่างๆ ได้ อนุสัย คือ กิเลสที่สะสมอยู่ในสันดานย่อมหมดสิ้นไปได้ หมายถึง บรรลุธรรมสำเร็จอรหันต์ หรืออริยบุคคลชั้นอื่นๆ ได้ หลักการข้างต้น ถือเป็นหลักการสำคัญอย่างมาก ที่ใช้ตรวจสอบว่า แนวทางและวิธีการปฏิบัติธรรมใด ที่บุคคลใดก็ตามปฏิบัติอยู่ หรือเผยแพร่อยู่ ถูกต้องหรือไม่ ทำให้เกิดการบรรลุธรรมได้จริงหรือเปล่า เพราะไม่ว่าใครกำลังปฏิบัติธรรมตามวิธีการอะไรใน โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ (ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้, ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค มี 37 ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน 4, สัมมัปปธาน 4, อิทธิบาท 4, อินทรีย์ 5, พละ 5, โพชฌงค์ 7, มรรคมีองค์ 8) อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ก็ตาม ย่อมไม่ล่วงพ้นจากหลักการบรรลุธรรมที่พระอานนท์กล่าวไว้นี้ไปได้ ย่อมจัดอยู่ในแนวทางทั้ง 4 นี้ได้เสมอ เมื่อปฏิบัติไปแล้วย่อมเกิดมรรค-ผล-นิพพานขึ้น หลักการบรรลุธรรม สามารถนำมาเขียนเป็นขั้นตอนให้เข้าใจง่ายดังต่อไปนี้


    แนวทางทั้ง 4 ---> มรรคเกิด ---> เสพ-เจริญ-ทำให้มากในมรรค ---> ละสังโยชน์ได้ ---> อนุสัยสิ้นไป

    ขั้นตอนที่เขียนมีคำสำคัญอยู่คำหนึ่ง คือ “มรรค” คำว่า มรรคในที่นี้ ได้แก่ “อริยอัฏฐังคิกมรรค” เรียกอย่างสามัญว่า มรรคมีองค์ 8 ประกอบด้วย สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ และยังหมายถึง “อริยมรรค” ได้แก่ ญาณอันให้สำเร็จความเป็นพระอริยะ มี 4 ระดับ (1) โสดาปัตติมรรค, (2) สกทาคามิมรรค (3) อนาคามิมรรค, (4) อรหันตตมรรค โดยเมื่อปฏิบัติแนวทางทั้ง 4 ไปแล้ว ย่อมเกิดภาวะที่มรรคมีองค์ 8 ประการสมบูรณ์ขึ้นพร้อมกันในขณะจิตเดียวกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “มัคคสมังคี” เมื่อเกิดภาวะอย่างนี้ขึ้นเมื่อใด เรียกว่า “อริยมรรค” ได้เกิดขึ้นแล้ว หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บรรลุมรรค” แล้ว พระอานนท์อธิบายถึงรายละเอียดของมรรคมีองค์ 8 ประการสมบูรณ์ขึ้นพร้อมกันในขณะจิตเดียวเอาไว้ดังนี้ว่า

    คำว่า มรรคย่อมเกิด ความว่า มรรคเกิดอย่างไร ฯ สัมมาทิฐิด้วยอรรถว่าเห็น เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมาสังกัปปะด้วย อรรถว่าดำริ เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมาวาจาด้วยอรรถว่ากำหนด เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมากัมมันตะด้วยอรรถว่าเป็นสมุฏฐาน เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมาอาชีวะด้วยอรรถว่าผ่องแผ้ว เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมาวายามะด้วยอรรถ ว่าประคองไว้ เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมาสติด้วยอรรถว่าตั้งมั่น เป็นมรรค ย่อมเกิด สัมมาสมาธิด้วยอรรถว่าไม่ฟุ้งซ่าน เป็นมรรคย่อมเกิด มรรคย่อมเกิดอย่างนี้ ฯ[16]

    อริยมรรคที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นระดับใดตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหันตตมรรค ย่อมมีลักษณะดังกล่าวข้างต้นทั้ง 8 ประการเกิดขึ้นพร้อมกันในขณะจิตเดียวอย่างนี้ทุกครั้ง จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ เพราะถือว่าไม่ครบองค์ประกอบ เช่น ขาดสัมมาทิฐิ, ขาดสังกัปปะ, ขาดสัมมาสมาธิ (สมาธิระดับอัปปนาสมาธิตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป) เป็นต้น อย่างนี้ไม่ได้ หรือจะมีแต่สมถะ หรือมีแต่วิปัสสนาเท่านั้นไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน ต้องมีทั้งสมถะและวิปัสสนาสองอย่าง หากใครยังไม่สำเร็จสมถะหรือยังไม่สำเร็จวิปัสสนา จะมาสำเร็จ มาได้พร้อมกัน ช่วยกันทำงาน ประหารกิเลสตอนเกิดอริยมรรคขึ้น เช่น หากผู้ใดเจริญแนวทางสมถะอันมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น แล้วยังไม่ได้ในสมาธิระดับฌาน สมาธิจะสมบูรณ์เป็นสัมมาสมาธิ คือ ได้สมาธิระดับฌาน ตอนขณะเกิดอริยมรรคขึ้น เป็นต้น ในชีวิตของผู้ปฏิบัติคนหนึ่งสามารถเกิดอริยมรรคได้เพียง 4 ครั้ง และไม่มีการเกิดอริยมรรคระดับเดิมซ้ำอีก มีแต่เกิดอริยมรรคระดับสูงขึ้นไปเท่านั้น โดยครั้งที่ 1 เกิดโสดาปัตติมรรค ครั้งที่ 2 เกิดสกทาคามิมรรค ครั้งที่ 3 เกิดอนาคามิมรรค ครั้งที่ 4 เกิดอรหันตตมรรค พระสูตรข้างต้นที่พระอานนท์กล่าวไปยังได้บอกเพิ่มเติมเอาไว้ว่า หลังจากที่อริยมรรคครั้งแรกเกิดขึ้น คือ โสดาปัตติมรรค พระอานนท์ท่านได้บอกให้เสพ ต่อจากนั้น ท่านบอกว่า “ให้เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น” ข้อความนี้หมายถึง หลังจากเสพโสดาปัตติมรรคแล้ว ให้พยายามเจริญสกคามีมรรคให้เกิดขึ้นต่อไป พยายามทำให้มากในอนาคามิมรรคให้เกิดขึ้นต่อไป และสุดท้ายพยายามทำให้มากในอรหันตตมรรคให้เกิดขึ้นต่อไปคำอธิบายดังกล่าวผู้เขียนประยุกต์มาจากอรรถกถาที่ว่า

    บทว่า สมฺมาทิฏฐิ มคฺโค ได้แก่มรรคคือสัมมาทิฏฐิ. ในองค์แห่งมรรค 8 แม้องค์หนึ่งๆ ท่านก็เรียกมรรค.

    บทว่า อาเสวติ ย่อมเสพ คือย่อมเสพด้วยอำนาจแห่งโสดาปัตติมรรค.

    บทว่า ภาเวติ ย่อมเจริญ คือย่อมเจริญด้วยอำนาจแห่งสกทาคามิมรรค.

    บทว่า พหุลีกโรติ ย่อมทำให้มาก คือย่อมทำให้มาก ด้วยให้เกิดอนาคามิมรรคและอรหัตมรรค[17]

    อริยมรรคใดเกิดขึ้นแล้ว ย่อมสามารถละสังโยชน์ และทำให้อนุสัยหมดสิ้นไปไม่กลับมาเกิดขึ้นในจิตใจอีกเลย ละได้มากน้อยตามแต่ระดับอริยมรรคที่บังเกิดขึ้น ผู้ที่บรรลุอริยมรรคแล้ว ย่อมได้เสวยอริยผลต่อเนื่องไปทันที ไม่มีจิตลักษณะอื่นมาเกิดขึ้นมาขวางกั้น คือ เมื่อเกิดโสดาปัตติมรรค ย่อมได้เสวยโสดาปัตติผล เรียกว่าสำเร็จ พระโสดาบัน, เมื่อเกิดสกทาคามิมรรค ย่อมได้เสวยสกทาคามิผล เรียกว่าสำเร็จ พระสกทาคามี, เมื่อเกิดอนาคามิมรรค ย่อมได้เสวยอนาคามิผล เรียกว่าสำเร็จ พระอนาคามี, เมื่อเกิดอรหันตตมรรค ย่อมได้เสวยอรหันตตผล เรียกว่าสำเร็จ พระอรหันต์ ได้รับโลกุตรสุข คือ ความสุขอย่างโลกุตตระ เป็นความสุขที่เหนือกว่าระดับของปุถุชน ความสุขเนื่องด้วยมรรค-ผล-นิพพาน

    เมื่อได้ทราบหลักการของการบรรลุธรรมเรียบร้อยแล้ว คงรู้ว่าการปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรค-ผล-นิพพานในพระพุทธศาสนาเป็นอะไรที่เปิดกว้าง แต่เป็นการเปิดกว้างอย่างมีหลักการ ใครจะเจริญสมาธิไปจนกระทั่งได้ฌานก่อน แล้วจึงค่อยเจริญวิปัสสนาก็ได้ หรือจะเจริญวิปัสสนาก่อนตั้งแต่แรก แล้วจึงให้เกิดสมาธิขึ้นในภายหลังก็ได้ หรือจะเจริญทั้งสมาธิเคียงคู่ไปกับวิปัสสนาก็ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจากหลักการบรรลุธรรมข้างต้น สามารถนำไปประยุกต์เพื่อตรวจสอบวิธีการปฏิบัติธรรมในอดีต-ปัจจุบัน-อนาคตได้ โดยถ้าหากสมมติว่าสำนักปฏิบัติใดประยุกต์วิธีการปฏิบัติ หรือวิธีการเจริญวิปัสสนาขึ้นมาใหม่ หากตรวจสอบแล้วไม่ค้านกับในพระไตรปิฎกทั้ง 3 อีกทั้งรวมลงกันได้กับหลักการบรรลุธรรมข้างต้น มีองค์ประกอบแห่งมรรคครบถ้วน ไม่มีการขัดแย้ง ย่อมถือว่าเป็นวิธีการที่ไม่ผิด สามารถนำไปปฏิบัติได้ สันนิษฐานได้ว่าทำให้บรรลุธรรมได้จริง ตรงกันข้ามหากตรวจสอบแล้วค้านกับในพระไตรปิฎกทั้ง 3 หรือค้านกับหลักการบรรลุธรรม ปฏิบัติองค์มรรคไม่ครบถ้วน ย่อมถือว่าเป็นวิธีการที่ผิด อาจสามารถนำไปปฏิบัติได้ แต่สันนิษฐานได้ว่าไม่สามารถทำให้ถึงขั้นเกิดการบรรลุธรรมได้จริง อาจทำได้เพียงเกิดกุศลธรรมบางอย่างขึ้นเท่านั้น หลักการบรรลุธรรมที่แสดงไป เป็นเพียงหลักการใหญ่ที่สำคัญหลักการหนึ่งเท่านั้น ความเป็นจริงในพระไตรปิฎกยังมีหลักการอื่นๆ อีก ปลีกย่อยมากกว่านี้โดยเฉพาะในอภิธรรม แต่เมื่อตรวจสอบแล้ว เห็นว่ารวมลงอยู่ในหลักการนี้ทั้งสิ้น เพราะทุกๆ หลักการไม่มีการขัดแย้งกัน รวมลงกันได้ ดุจรอยเท้าสัตว์ต่างๆ ย่อมรวมลงกันได้กับรอยเท้าช้าง ดังนั้นวิธีการปฏิบัติธรรม หรือวิธีการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้อง จะต้องไม่ขัดแย้งกับหลักการนี้ และไม่ขัดแย้งกับหลักการใดๆ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้เลย ต่อไปพิจารณาเห็นว่าถึงวาระที่เหมาะสมแล้ว สำหรับอธิบายการให้ทราบว่าหลักการเจริญวิปัสสนาอย่างถูกต้องตรงตามหลักการบรรลุธรรมเป็นอย่างไร

    (โปรดติดตามตอนต่อไป...)

    ----------------------------------------------------------------

    [1] ขุ.ป.อ. (ไทย) 68/55.
    [2] อง.ฉกฺก.อ. (ไทย) 36/705.
    [3] ม.ม.อ. (ไทย) 19/309.
    [4] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 231.
    [5] พระอนุรุทธเถระ, “อภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉทที่ 9”, <HTTP: target="_blank" href="http://www.watnai.org" live index.php?option="com_content&view=article&id=120:--9---81-90&catid=41:-1-&Itemid=71" วัดในเรืองศรี>.
    [6] ที.ม.อ. (ไทย) 14/286
    [7] ดูรายละเอียดใน ที.ม.อ. (ไทย) 13/93.
    [8] ดูรายละเอียดใน ขุ.ป.อ. (ไทย) 69/479.
    [9] ม.มู.อ. (ไทย) 17/668.
    [10] ดูรายละเอียดใน ขุ.ป.อ. (ไทย) 69/676-678.
    [11] ขุ. ม. (ไทย) 29/62/48.
    [12] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 126.
    [13] สํ.นิ.อ. (ไทย) 26/322.
    [14] ดูรายละเอียดใน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ, พิมพ์ครั้งที่ 20, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2545), หน้า 360 – 364.
    [15] ขุ.ป. (ไทย) 31/534-543/245-253.
    [16] เรื่องเดียวกัน.
    [17] ขุ.ป.อ. (ไทย) 69/468.<!-- End main-->
     
  7. ผู้พันจุ่น

    ผู้พันจุ่น เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    1,397
    ค่าพลัง:
    +2,985
    เห็นในที่เกิดเหตุ เห็นของจริง ๆ กับ เห็นแบบ นึกคิดเอาเอง ......ซึ่งก็ได้เห็นทั้งสองอย่าง

    เห็นในที่เกิดเหตุ ไส้แตก เลือดไหลทะลักนองพื้น แขน ขา กระดูก เกลื่อนกลาด....ลมแทบจับ

    เห็นแบบนึกคิดเอาเอง เพื่อนมันอยู่ในที่เกิดเหตุ มาเล่าให้ฟัง .......ก็งั้น ๆ ฟังๆ ไป

    พิจารณาดูเอง.... อย่างไหนสะใจกว่า มีผลต่อจิตใจมากกว่ากัน.
     
  8. ขันธ์

    ขันธ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    7,927
    ค่าพลัง:
    +9,209
    สุตมยปัญญา รู้มาฟังมา เห็นมา
    จินตมยปัญญา ตรึกนึก ตรอง
    ภาวนามยปัญญา เห็นจริง


    ธรรมมีอยู่ทุกที่ ต้องให้ประจักษ์ ใจ ด้วยตนเอง นั่นแหละ ใจพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้เองอยู่ที่ใจเรา พระธรรม พระสงฆ์ เป็นใจเดียวกัน เมื่อประจักษ์กับตน
     
  9. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    บทความ-ไขปัญหาวิปัสสนาห้ามคิดหริอไม่? ตอนที่ 4

    หลักการเจริญวิปัสสนา

    หลักการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้อง สามารถศึกษาได้จากความหมายของคำว่าวิปัสสนา และจากคำศัพท์ย่อย แต่ละคำที่อยู่ในความหมาย ซึ่งในอรรถกถาได้ช่วยอธิบายขยายความเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎกมาให้เข้าใจง่ายขึ้นชั้นหนึ่งแล้วว่า วิปัสสนา คือ “เห็น เห็นแจ้ง โดยประการต่างๆ” “ญาณเป็นเครื่องกำหนดสังขาร”, “การตามเห็น (อนุปัสสนา) 7 อย่าง” แต่ทว่า การขยายความเพิ่มเติมเพียงเท่านี้ จัดว่ายังยากอยู่ ยังก่อให้เกิดความคลุมเครือ เข้าใจไม่ตรงกันได้ จึงขออธิบายเพิ่มเติมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

    เริ่มต้นอธิบายหลักการเจริญวิปัสสนาจากคำศัพท์ที่ว่า “เห็น” คำว่า “เห็น” คือ ปัสสนา อยู่ในคำว่า “วิปัสสนา” ถามว่าเห็นอย่างไรเล่า? ถึงจะเป็นการเห็นแจ้ง ตอบว่า ต้องเห็นด้วยปัญญานั่นเอง ถึงจะเป็นเห็นแจ้ง หาได้มุ่งหมายถึงการเห็นด้วยตาเนื้อแต่อย่างไร แต่จะอาศัยตาเนื้อ เพื่อช่วยให้เกิดการเห็นด้วยปัญญาก็ได้ การเห็นด้วยปัญญามาจากความหมายของคำว่า “ทัสสนา” หรือ “ทัสสนะ” ที่นำมาใช้แทนคำว่า ปัสสนา อยู่เสมอๆ ในพระไตรปิฎก เพราะทั้งสองคำนี้ มาจากรากศัพท์เดียวกัน ทัสสนะ แปลว่า “การเห็น, การเห็นด้วยปัญญา, ความเห็น, สิ่งที่เห็น”[1] ตัวอย่างคำที่ใช้ทัสสนะแทนปัสสนา แล้วมีความหมายไม่แตกต่างกัน เช่นคำว่า ญาณทัสสนะ (การเห็นกล่าวคือ การหยั่งรู้, การเห็นที่เป็นญาณ หรือเห็นด้วยญาณ อย่างต่ำสุดหมายถึง วิปัสสนาญาณ), ยถาภูตญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็นตามเป็นจริง), ญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณทัศนะ ได้แก่ ญาณในอริยมรรค 4), วิมุตติญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็นในวิมุตติ, ความรู้เห็นว่าจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย) ฯลฯ ไม่ใช่แต่เพียงเท่านั้น แม้แต่การปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์ 3 ประการให้หมดสิ้นไป พระพุทธเจ้ายังทรงใช้คำว่า ทัสสนะ มาแทนคำว่า ปัสสนา แปลว่า เห็น มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหลายแห่ง ขอยกมาแสดงเป็นตัวอย่างสักแห่งหนึ่ง เรื่อง “ว่าด้วยการละอาสวะได้เพราะการเห็น” ดังต่อไปนี้

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้ว ผู้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำด้วยดีในธรรมของพระอริยะ ผู้เห็นสัปบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษได้รับคำแนะนำด้วยดีในธรรมของสัปบุรุษ ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ และไม่ควรมนสิการเมื่ออริยสาวกนั้นรู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ และไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกไม่มนสิการ? เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญขึ้น ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่อริยสาวกไม่มนสิการ.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกมนสิการอยู่? เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป ธรรมที่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่อริยสาวกมนสิการอยู่อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว จะเสื่อมสิ้นไปแก่อริยสาวกนั้นเพราะไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ.

    อริยสาวกนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเห็น[2]

    พระสูตรข้างต้น พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนว่า อาสวะ คือ “กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ”[3] ทั้ง 3 ประการได้แก่ กามาสวะ, ภวาสวะ, อวิชชาสวะ สามารถถูกละได้ด้วยการเห็น และได้อธิบายลึกลงไปอีกว่า การเห็นในที่นี้ สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วย “การมนสิการโดยแยบคาย” ตามแนวอริยสัจสี่เพื่อให้เห็นว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความดับทุกข์ อะไรเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อเพียรทำอยู่อย่างนี้ สังโยชน์ทั้ง 3 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมหมดสิ้นไป สังเกตว่าการเห็นในที่นี้จะไม่ใช่การเห็นด้วยตาเนื้อ แต่หมายถึง การเห็นด้วยปัญญาที่ปรากฏชัดขึ้นในจิตใจ แต่ผู้ปฏิบัติสามารถใช้ตาเนื้อเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดการเห็นด้วยปัญญาอีกทางหนึ่งก็ได้ เมื่อได้นำเนื้อความในพระสูตรไปตรวจสอบจากชั้นของอรรถกถาเพิ่มเติมยิ่งขึ้นไปอีกพบว่า ภาษาบาลีที่ใช้ในแทนคำว่า “เห็น” ในภาษาไทย ได้แก่คำว่า “ทัสสนะ” มีเนื้อความปรากฏในหัวข้อ “พรรณนาอาสวธรรมที่พึงละด้วยทัสสนะ” ดังนี้ว่า

    บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะทรงกระทำให้แจ้งซึ่งบทเหล่านั้นโดยลำดับ จึงทรงตั้งปัญหาว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหนที่ควรละด้วยทัสสนะดังนี้แล้ว ทรงเริ่มเทศนาอันเป็นปุคคลาธิฏฐานว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับในธรรมวินัยนี้[4]

    เนื้อความแห่งอรรถกถาข้างต้น แสดงให้ทราบแล้วว่า มีการใช้คำศัพท์ว่า ทัสสนะ มาใช้แทนคำว่า “เห็น” หรือมาแทนคำว่า ปัสสนา และยังได้แสดงให้เห็นอีกว่า เป็นการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการเจริญวิปัสสนา คือ สามารถส่งผลให้ละอาสวะ กำจัดสังโยชน์ 3 ให้หมดสิ้นไปได้ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ควรทำความเข้าใจให้ดี เพราะหากไม่เข้าใจจุดนี้ หรือไม่ยอมรับตรงจุดนี้ ย่อมยากแก่การทำความเข้าใจหลักการเจริญวิปัสสนาที่แท้จริงถูกต้องว่าเป็นอย่างไรต่อไปได้ เหตุที่ต้องเน้นย้ำ เนื่องจาก ปัจจุบัน มีปัญหาการตีความ คำว่า “ปัสสนา” คือ เห็น กันไปต่างๆ ไม่เหมือนกัน ตีความตรงข้ามขัดแย้งกันก็มี สาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากใช้การตีความเอาจากความหมายในทันทีตามแต่เข้าใจว่าอย่างไร เมื่อมีบางคำที่ไม่เข้าใจ หรือยังไม่รู้แน่ชัดว่าปฏิบัติอย่างไร ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าในพระไตรปิฎกขยายความอย่างไร จึงไปใช้การคาดเดาเอา หรือตีความเอา จากประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง หรือผู้อื่น บางครั้งใช้วิธีการปฏิบัติที่สอนกันอยู่มาตัดสิน แล้วฟันธงสรุปว่าต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ได้ใช้การตรวจสอบเทียบเคียงกับปริยัติสืบค้นให้เกิดความกระจ่างชัด หายคลุมเครือด้วยหลักฐานในพระไตรปิฎกหรืออรรถกถา ถึงแม้ว่าในบางครั้งจะมีการพยายามเอาหลักฐานในพระไตรปิฎกมาช่วยตัดสิน แต่นำเอามาเฉพาะพระสูตรที่สนันสนุนกับความเห็นของตน ไม่ได้ทำอย่างเป็นกลางจริงๆ เพราะผู้ทำมีคำตอบตั้งรอเอาไว้ก่อนแล้ว จึงทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกว่า ตีความพระสูตรเดียวกันไม่เหมือนกัน ตีความพระสูตรเข้าข้างวิธีการปฏิบัติของตน บางวิธีการรวมลงกับบางพระสูตรได้ แต่ไม่อาจรวมลงกับบางพระสูตร ขัดแย้งกับบางพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ดังนั้นในที่นี้ ผู้เขียนจึงไม่ทำการตั้งคำตอบรอเอาไว้ก่อนแต่อย่างไร แต่ใช้การค้นหา วิเคราะห์ เจาะลึก จากคำศัพท์ที่มีอยู่ในความหมายของวิปัสสนา ไปทีละขั้น เพื่อความบริสุทธิ์ และเป็นกลาง หากเข้าใจว่า ปัสสนา กับ ทัสสนะ เป็นคำที่ใช้แทนกัน มีเนื้อหาสาระไม่แตกต่างกัน ปฏิบัติให้เกิดการสิ้นสังโยชน์ สิ้นอาสวะเหมือนกันได้แล้ว ย่อมมองออกว่า เมื่อปฏิบัติตามการเห็นอย่างทัสสนะในพระสูตรข้างต้นอยู่ ย่อมชื่อว่าปฏิบัติการเห็นอย่างปัสสนา หรือเป็นการเจริญวิปัสสนาอยู่นั่นเอง ไม่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น หากทำความเข้าใจได้ว่าพระสูตรดังกล่าวข้างต้นปฏิบัติอย่างไร ย่อมสามารถเข้าใจได้ว่าหลักการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องปฏิบัติอย่างไรได้เช่นเดียวกัน

    เรื่อง “ว่าด้วยการละอาสวะได้เพราะการเห็น” ศึกษาให้ดีจะพบว่าไม่ใช่การเห็นด้วยปัญญาจะเกิดขึ้นมาได้อย่างทันที แต่ต้องอาศัยสิ่งหนึ่งที่กระทำเนื่องๆ มาก่อน ถึงจะทำให้เกิดการเห็นด้วยปัญญา หรือ ทัสสนะ ขึ้นมาในภายหลังอีกทีหนึ่งได้ สิ่งที่ต้องทำมาก่อนนั่นคือ “การมนสิการโดยแยบคาย” หรือ “โยนิโสมนสิการ” ขอยกเนื้อความที่เกี่ยวข้องมายืนยันอีกครั้งว่า

    อริยสาวกนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเห็น[5]

    เนื้อความข้างต้น พระพุทธเจ้าทรงให้มนสิการโดยแยบคายในอริยสัจจ์สี่ เมื่อมนสิการโดยแยบคายแล้วย่อมเกิดการเห็น ย่อมสามารถทำให้สังโยชน์ทั้ง 3 สิ้นไป หมายถึง สำเร็จอริยบุคคลชั้นโสดาบันได้ เนื่องจากลักษณะของพระโสดาบัน เป็นบุคคลที่สามารถละสังโยชน์ 3 ประการได้นั่นเอง เหตุผลประการหนึ่งที่โยนิโสมนสิการสามารถทำให้เกิดการเห็นด้วยปัญญา หรือเกิดการเห็นแจ้งขึ้นได้นั้น เนื่องมาจากว่า โยนิโสมนสิการ เห็นข้อธรรมที่สำคัญที่สุดที่ทำให้สัมมาทิฐิเกิดขึ้น ดังพุทธพจน์ต่อไปนี้

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฐิที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือสัมมาทิฐิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น เหมือนการทำในใจโดยแยบคายนี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลทำในใจโดยแยบคาย สัมมาทิฐิที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และสัมมาทิฐิที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญยิ่งขึ้นฯ[6]

    พุทธพจน์ข้างต้นได้แสดงให้เห็นแล้วว่า โยนิโสมนสิการเป็นธรรมที่สำคัญที่สุดที่ทำให้สัมมาทิฐิบังเกิดขึ้น ถามว่าโยนิโสมนสิการทำให้สัมมาทิฐิเกิดขึ้นเกี่ยวอะไรกับการทำให้เกิดความเห็นแจ้งเกิดขึ้นในวิปัสสนาเล่า? ข้อนี้ตอบว่า เพราะหากได้ทำการตรวจสอบให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว จะพบว่าคำว่า สัมมาทิฐิ กับ วิปัสสนา มีความใกล้ชิดกัน มีความคล้ายคลึงกันอยู่ อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า สัมมาทิฐิ แปลว่า ความเห็นชอบ ส่วนวิปัสสนา แปลว่า ความเห็นแจ้ง ตรงนี้เป็นจุดสังเกตหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าข้อธรรมทั้งสองมีความคล้ายคลึงกัน หรือใกล้เคียงกันอยู่ คือ มีคำว่า “เห็น” เหมือนกัน เป็นตัวปัญญาทั้งคู่เหมือนกัน หากสืบให้ลึกยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก มีหลักฐานปรากฏในชั้นพระไตรปิฎกแสดงว่า สัมมาทิฐิ กับ วิปัสสนา มีความคล้ายคลึง และใกล้เคียงกันอย่างมาก เมื่อมีวิปัสสนาอยู่ที่ไหนชื่อว่ามีสัมมาทิฐิอยู่ที่นั่น เมื่อมีสัมมาทิฐิอยู่ที่ไหนชื่อว่ามีวิปัสสนาอยู่ที่นั้น ดังต่อไปนี้

    วิปัสสนา มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมายความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด[7] ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า วิปัสสนา มีในสมัยนั้น.[8]

    สัมมาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญาปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัย สัมมาทิฏฐิ ธรรมวิจัย สัมโพชฌงค์ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น.[9]


    (โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปครับ...)

    ----------------------------------------------------------------

    [1] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 75.
    [2] ม.มู. (ไทย) 12/12/11-16.
    [3] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 354.
    [4] ม.มู.อ. (ไทย) 17/162.
    [5] ม.มู. (ไทย) 12/12/11-16.
    [6] อง.เอกก. (ไทย) 20/186/33.
    [7] คำว่า ความคิด แปลมาจากคำศัพท์ภาษาบาลีว่า จินฺตา
    [8] อภ.สงฺ (ไทย) 34/254/96.
    [9] อภ.สงฺ (ไทย) 34/216/90.<!-- End main-->
     
  10. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    บทความ-ไขปัญหาวิปัสสนาห้ามคิดหริอไม่? ตอนที่ 5 (ตอนจบ)

    โยนิโสมนสิการคืออะไร

    เท่าที่กล่าวมา ผู้ปฏิบัติคงได้ทราบแล้วว่าโยนิโสมนสิการมีความสำคัญ และมีความสัมพันธ์อย่างมาก ต่อการเห็นแจ้งอันเป็นตัววิปัสสนา โยนิโสมนสิการช่วยให้สัมมาทิฐิเกิดขึ้น เมื่อสัมมาทิฐิเกิดขึ้น ชื่อว่ามีวิปัสสนาเกิดขึ้นด้วย ดังนั้น การเห็นแจ้งอันเป็นตัววิปัสสนาจะเกิดขึ้น ต้องเจริญโยนิโสมนสิการหมั่นมนสิการโดยแยบคายอยู่เนื่องๆ มาก่อน เพราะฉะนั้นดังนั้นจึงได้คำตอบในเบื้องต้นแล้วว่า หลักการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้อง คือ “การเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยโยนิโสมนสิการช่วย” ต่อไป ขอนำความหมายของโยนิโสมนสิการมาให้ศึกษา ดังนี้

    โยนิโสมนสิการ หากดูจากคำศัพท์แล้ว มาจากสองคำผสมกัน คือ “โยนิโส” (เหตุ, ต้นเค้า, แหล่งเกิด, ปัญญา, อุบาย, วิธี, ทาง)[1] + “มนสิการ” (การทำในใจ, การคิด, คำนึง, นึกถึง, ใส่ใจ, พิจารณา)[2] รวมสองคำเข้าด้วยกันแปลสืบๆ กันว่า การทำในใจโดยแยบคาย

    โยนิโสมนสิการ ได้แก่การทำไว้ในใจโดยถูกอุบาย=การทำไว้ในใจโดยถูกทาง=การนึก=การน้อมนึก=การผูกใจ=การใฝ่ใจ=การทำไว้ในใจ ซึ่งจิตในอนิจจลักษณะเป็นต้น โดยนัยเป็นต้นว่า ไม่เที่ยง หรือโดยสัจจานุโลมิกญาณ นี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการ[3]

    บทว่า เอวํ พหุปการํ ยถยิทํ โยนิโสมนสิกาโร ได้แก่ มนสิการโดยอุบาย มนสิการโดยคลองธรรม มนสิการโดยนัยในอนิจจลักษณะเป็นต้นว่า เป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น หรือการพิจารณา การตามพิจารณา การรำพึง การใคร่ครวญ การใส่ใจ อนุโลมในของไม่เที่ยงนี้ ชื่อว่า โยนิโสมนสิการ.[4]

    โยนิโสมนสิการ การทำในใจโดยแยบคาย, กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย, การพิจารณาโดยแยบคาย คือพิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริง โดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ แยกแยะองค์ประกอบ จนมองเห็นตัวสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย หรือตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีที่ชั่ว ยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ ซึ่งจะมิให้เกิดอวิชชาและตัณหา, ความรู้จักคิด, คิดถูกวิธี[5]

    คำว่า โยนิโสมนสิการ ได้รู้แล้วว่ามีความหมายอย่างไรบ้าง ต่อไปขออธิบายวิธีเจริญโยนิโสมนสิการว่ามีอะไรบ้างจากชั้นอรรถกถาและฎีกาได้แยกออกมา 4 วิธี ดังต่อไปนี้

    1. อุบายมนสิการ แปลว่า คิดหรือพิจารณาโดยอุบาย คือ คิดอย่างมีวิธี หรือคิดถูกวิธี หมายถึงคิดถูกวิธีที่จะให้เข้าถึงความจริง สอดคล้องเข้าแนวกับสัจจะ ทำให้หยั่งรู้สภาวลักษณะและสามัญลักษณะของสิ่งทั้งหลาย

    2. ปถมนสิการ แปลว่า คิดเป็นทาง หรือคิดถูกทาง คือ คิดได้ต่อเนื่องเป็นลำดับ จัดลำดับได้หรือมีลำดับ มีขั้นตอน แล่นไปเป็นแถวเป็นแนว หมายถึง ความคิดเป็นระเบียบตามแนวเหตุผลเป็นต้น ไม่ยุ่งเหยิงสับสน ไม่ใช่ประเดี๋ยววกเวียนติดพันเรื่องนี้ ที่นี้ เดี๋ยวเตลิดออกไปเรื่องนู้นที่โน้น หรือกระโดดไปกระโดดมา ต่อเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ ทั้งนี้รวมทั้งความสามารถที่จะชักดความนึกคิดเข้าสู่ทางที่ถูกต้อง

    3. การณมนสิการ แปลว่า คิดตามเหตุ คิดค้นเหตุ คิดตามเหตุผล หรือคิดอย่างมีเหตุผล หมายถึง การคิดสืบค้นตามแนวความสัมพันธ์สืบทอดกันแห่งเหตุปัจจัย พิจารณาสืบสาวหาสาเหตุ ให้เข้าใจถึงต้นเค้า หรือแหล่งที่มาซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาตามลำดับ

    4. อุปปาทกมนสิการ แปลว่า คิดให้เกิดผล คือใช้ความคิดให้เกิดผลที่พึงประสงค์ เล็งถึงการคิดอย่างมีเป้าหมาย ท่านหมายถึง การคิดการพิจารณาที่ทำให้เกิดกุศลธรรม เช่น ปลุกเร้าให้เกิดความเพียร การรู้จักคิดในทางที่ทำให้หายหวาดกลัว ให้หายโกรธ การพิจารณาที่ทำให้มีสติ หรือทำให้จิตใจเข้มแข็งมั่นคง เป็นต้น[6]

    คงเห็นแล้วว่าวิธีเจริญโยนิโสมนสิการมีด้วยกันหลายวิธี แต่ละวิธีล้วนต้องใช้ความคิดร่วมทำงานด้วยเสมอ เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงแห่งไตรลักษณ์ต่างๆ ที่ถูกซ่อนเร้นอยู่ เช่น คิดพิจารณาให้รู้ถึงความเสียหาย-ผุพัง-คงอยู่สภาพเดิมไม่ได้ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในของรถยนต์คันใหม่เอี่ยมที่เพิ่งซื้อมา (รถที่เพิ่งซื้อมาย่อมไม่แสดงความเสียหายหรือผุพังให้เห็น), คิดพิจารณาให้รู้ถึงความความแก่-เจ็บ-ตายที่ซ้อนเร้นอยู่ภายในบุคคลหนุ่มสาวยังแข็งแรง เป็นต้น หรือคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดการจดจำความจริงแห่งไตรลักษณ์ต่างๆ ที่ได้ปรากฏขึ้นมาแล้ว เช่น เมื่อรถยนต์คันใหม่เอี่ยม เกิดไปเฉี่ยวชนอะไรเข้าจนเกิดการเสียหาย (ลักษณะไตรลักษณ์ปรากฏขึ้นมาแล้ว) จึงคิดพิจารณาให้จิตจดจำว่ารถยนต์มีอันต้องเสียหาย-ผุพัง-คงอยู่สภาพเดิมไม่ได้เป็นธรรมดา, เมื่อจิตเผลอไปคิดเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่ พอใช้สติระลึกรู้จิตที่คิดจึงได้ดับไป (ลักษณะไตรลักษณ์ปรากฏขึ้นมาแล้ว) จึงคิดพิจารณาเพื่อให้จิตจดจำว่าจิตที่คิดนี้ไม่เที่ยง มีอันต้องดับไปเป็นธรรมดา แล้วอาจจะคิดสืบสาวหาเหตุปัจจัยต่อไปอีกว่าจิตที่คิด เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอะไร มีอะไรเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้นมาได้ ฯลฯ การคิดอย่างนี้ ทำให้เกิดการเห็นด้วยปัญญาขึ้นในจิตใจ เป็นการเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยโยนิโสมนสิการช่วยเพื่อให้เกิดการเห็นแจ้ง แต่ถ้าหากว่าไม่ใช้ความคิดช่วยแล้ว ย่อมจะไม่เรียกว่าโยนิโสมนสิการไปได้ แต่จะเรียกเป็นชื่อข้อธรรมอื่นแทน เช่น สติ คือ ระลึกรู้, สมาธิ คือ ความตั้งมั่น เป็นต้น เท่านั้น แต่เมื่อใดมีการใช้ความคิดเข้าไปร่วมด้วยจึงเรียกว่าโยนิโสมนสิการ ถ้าศึกษาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปแล้วสาเหตุที่โยนิโสมนสิการมีความเกี่ยวข้องและเน้นมากในทางการใช้ความคิด เนื่องมาจาก โยนิโสมนสิการ ถ้าหากจัดเข้าในมรรคมีองค์ 8 ประการแล้ว สามารถจัดลงได้ในข้อ สัมมาสังกัปปะ หลักฐานของการจัดโยนิโสมนสิการ เข้าในสัมมาสังกัปปะมีปรากฏอยู่ในชั้นอรรถกถาที่ท่านใช้คำว่า สัมมาสังกัปปะ มาแทน คำว่า โยนิโสมนสิการ ในประโยคเดียวกันว่า “โยนิโสมนสิการมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฐิ” จากเนื้อความพระสูตรที่ผู้เขียนยกมาก่อนหน้านี้แล้ว ดังต่อไปนี้

    อนึ่ง สัมมาสังกัปปะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฏฐินั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสไว้ในลำดับสัมมาทิฏฐินั้น เปรียบเหมือนเหรัญญิก (ผู้ดูเงิน) ใช้มือพลิกเงินกลับไปมาแล้วตรวจดูกหาปณะด้วยตา ย่อมรู้ว่า กหาปณะนี้เก๊ กหาปณะนี้ดี ฉันใด แม้พระโยคาวจร ก็ฉันนั้น ใช้วิตกตรึกแล้ว ๆ ในกาลส่วนเบื้องต้นแล้วตรวจดูอยู่ด้วยวิปัสสนาปัญญา ก็จะทราบได้ว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกามาพจร ธรรมเหล่านี้เป็นรูปาพจรเป็นต้น ก็หรือว่า เปรียบเหมือนช่างถากใช้มีดถากท่อนไม้ใหญ่ อันบุรุษ จับตรงปลายพลิกกลับไปมาโดยรอบ ให้แล้ว ย่อมนำไปในการงานได้ ฉันใด พระโยคาวจรก็ฉันนั้น กำหนดธรรมทั้งหลายอันวิตกตรึกแล้ว ๆ ให้แล้ว โดยนัยมีอาทิว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกามาพจรธรรมเหล่านั้นเป็นรูปาพจร ด้วยปัญญา ดังนี้แล้ว ย่อมน้อมไปในการงานได้ ด้วยเหตุนั้น จึงกล่าวว่า ก็สัมมาสังกัปปะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฏฐินั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสัมมาสังกัปปะในลำดับแห่งสัมมาทิฏฐินั้น[7]

    สรุปความจากอรรถกถาได้ว่า สัมมาสังกัปปะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฐิ (ใช้คำว่า สัมมาสังกัปปะ แทนคำว่าโยนิโสมนสิการในประโยค “โยนิโสมนสิการมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฐิ”) ขั้นตอนการทำให้สัมมาทิฐิเกิดขึ้นเริ่มต้นโดยใช้สัมมาสังกัปปะ คือ วิตก ได้แก่ ความตรึก, ความดำริ เรียกง่ายๆ ว่าใช้ความคิด เพื่อตรวจสอบว่าสภาวธรรมใด จัดอยู่ในหมวดธรรมใด เช่น เป็นกามาวจรหรือรูปาวจร เป็นต้น เหมือนกับเหรัญญิกทำการตรวจสอบเงินว่าจริงหรือปลอม เวลาตรวจสอบเหรียญย่อมต้องใช้ความคิด เพื่อตรวจสอบว่าเหรียญใดเป็นเหรียญปลอม เหรียญใดเป็นเหรียญจริง เมื่อใช้วิตกตรวจสอบแล้ว จึงเกิดปัญญาความรู้ขึ้นมาว่าเหรียญนี้เป็นเหรียญจริงหรือว่าปลอม การเกิดความรู้ว่าเหรียญนี้เป็นเหรียญจริงหรือว่าปลอม คือ เกิดสัมมาทิฐิ เกิดทัสสนะ หรือเกิดวิปัสสนา ได้แก่ เกิดการเห็นด้วยปัญญา หรือความเห็นแจ้งขึ้น นอกจากหลักฐานของชั้นอรรถกถาที่ยกมา ยังมีหลักฐานอีกแห่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การหมั่นคิด หรือหมั่นตรึกในสัมมาสังกัปปะเพื่อให้เห็นว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความดับทุกข์ อะไรเป็นปฏิปทาให้ถึงความดับอยู่ ย่อมเป็นเหตุให้เข้าถึงนิพพานได้ เป็นการใช้คำว่า สัมมาสังกัปปะ แทนคำว่า โยนิโสมนสิการ ของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสไว้ใน เรื่อง “ว่าด้วยการละอาสวะได้เพราะการเห็น”ก่อนหน้านี้ว่าเพียรทำการมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์อยู่เนื่องๆ

    อริยสาวกนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเห็น[8]

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ...
    เมื่อเธอทั้งหลายจะตรึก พึงตรึกว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะความตรึกเหล่านี้ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย พึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรคามินีปฏิปทา.[9]

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย...
    เมื่อเธอทั้งหลายจะคิด พึงคิดว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความคิดนี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.[10]

    หากวิเคราะห์ให้ลึกไปอีกชั้นหนึ่ง เมื่อโยนิโสมนสิการสามารถจัดเข้าในมรรคข้อ สัมมาสังกัปปะ เพราะว่าต้องมีการตรึกคิดอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ โยนิโสมนสิการ มีความสัมพันธ์กับอีกข้อธรรมหนึ่ง ได้แก่ วิตก อย่างใกล้ชิด เนื่องจากว่า สัมมาสังกัปปะ มีความสัมพันธ์กับวิตกเสมือนเป็นข้อธรรมเดียวกัน คำเดียวกัน ใช้แทนกันก็ว่าได้ เรื่องดังกล่าวนี้ ในพระไตรปิฎกได้แสดงหลักฐานไว้ว่าที่ใดมีวิตกอยู่ ที่นั่นย่อมมีสัมมาสังกัปปะอยู่ ที่ใดมีสัมมาสังกัปปะอยู่ ที่นั่นย่อมมีวิตกอยู่เช่นเดียวกัน ดังต่อไปนี้

    วิตก มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ความดำริ ความที่จิตแนบอยู่ในอารมณ์ ความที่จิตแนบสนิทอยู่ในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ สัมมาสังกัปปะ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า วิตกมีในสมัยนั้น...

    สัมมาสังกัปปะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ความดำริ ความที่จิตแนบอยู่ในอารมณ์ ความที่จิตแนบสนิทอยู่ในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ความดำริชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาสังกัปปะ มีในสมัยนั้น[11]

    จากพระไตรปิฎกทำให้ทราบว่า วิตก กับ สัมมาสังกัปปะ มีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก ดังนั้น เมื่อเจริญโยนิโสมนสิการคราวใด ย่อมมีวิตกเกิดขึ้นคราวนั้น เมื่อเจริญโยนิโสมนสิการไปเรื่อยๆ วิตกย่อมเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อเจริญโยนิโสมนสิการอย่างต่อเนื่องไม่ว่างเว้น วิตกย่อมเกิดขึ้นซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องไม่ว่างเว้นเช่นเดียวกัน เมื่อวิตกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่างเว้นเช่นนี้ ต่อไปตามพัฒนาการของจิตแล้ว วิตกจะกลายเป็นวิจาร หมายถึง เกิดการเคล้าคลึงอยู่กับอารมณ์ เคล้าคลึงอยู่กับสิ่งที่นำมาคิด กล่าวให้เข้าใจง่าย คือ เกิดการคิดอย่างต่อเนื่องแนบสนิทกับสิ่งที่คิดอยู่อย่างนั้น สภาวะที่คิดอย่างต่อเนื่องนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การพิจารณา” เช่น เจริญโยนิโสมนสิการในร่างกายด้วยการใช้วิตกคิดว่าแท้จริงร่างกายประกอบไปด้วยอวัยวะ 32 ประการอะไรบ้าง เมื่อคิดอย่างต่อเนื่องไม่ว่างเว้นจะเกิดวิจารขึ้น คือ เคล้าคลึงอยู่กับร่างกายที่คิดอยู่ การคิดต่อเนื่องอย่างนี้เรียกว่า การพิจารณา

    การพิจารณาสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเอาไว้ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน หรืออยู่ในอิริยาบถใด สามารถทำการพิจารณาได้ สิ่งต่างๆ ไม่ว่าอะไรอยู่ภายใน-ภายนอกตัวเรา หรืออยู่ภายใน-ภายนอกผู้อื่น จะอยู่ใกล้หรือไกล จะหยาบหรือละเอียดนำมาพิจารณาได้หมด แต่ว่าอย่าทำจนคร่ำเคร่งมากจนเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่เป็นปุถุชน เพราะจิตจะเกิดความเหนื่อยล้า แล้วฟุ้งซ่านได้ ควรรู้จักพักการพิจารณาให้จิตหายเหน็ดเหนื่อย หรือหายฟุ้งซ่านด้วยการทำสมถกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อจิตใจหายฟุ้งซ่าน หรือหายเหนื่อยแล้ว ต่อจากนั้น จึงกลับมาทำการพิจารณาใหม่อีกครั้ง สิ่งต่างๆ ที่สามารถนำมาทำการพิจารณาได้ พระพุทธเจ้าทรงจัดแบ่งออกเป็น 4 หมวดด้วยกัน ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม วิธีการพิจารณา 4 หมวดนี้ รู้จักกันดีในชื่อ “สติปัฏฐานสี่” เนื่องจากต้องใช้สติเข้าไปตั้งไว้ในหมวดทั้งสี่ เพื่อนำมาทำการพิจารณาอยู่เนื่องๆ หากไม่มีสติเข้าไปตั้งไว้แล้ว การพิจารณาจะเกิดขึ้นไม่ได้ การพิจารณากับสติต้องอาศัยกันและกัน สติเข้าไประลึกรู้แล้วนำมาทำการพิจารณา ขณะที่ทำการพิจารณาอยู่ ย่อมทำให้เกิดสติควบคู่ไปด้วย เหมือนคำว่า สติ กับ สัมปชัญญะ เป็น สติสัมปชัญญะ, สติ กับ ปัญญา เป็น สติปัญญาต้องอยู่คู่กันช่วยกันทำงานประหารกิเลส สติปัฏฐานสี่จึงเป็นทางสายเดียว ที่ทำให้ถึงพระนิพพานได้ ผู้ใดปรารถนาพระนิพพานต้องเจริญสติปัฏฐานสี่ ต้องนำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาทำการพิจารณาอยู่เนื่องๆ หาไม่แล้วย่อมไม่อาจถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ เรื่องสติปัฏฐานสี่หากท่านใดสนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในพระไตรปิฎก เช่น สติปัฏฐานสูตร, มหาสติปัฏฐานสูตร, สติปัฏฐานกถา เป็นต้น

    ต่อไป ขอกล่าวต่อถึงกระบวนการที่ปรากฏขึ้นหลังจากได้ทำการพิจารณา คือ เมื่อพิจารณาต่อเนื่องมากๆ เข้า จิตจะเกิดความปีติ และเกิดความสุขขึ้นตามมา สุดท้ายจะเกิดเป็นสมาธิที่แนวแน่เป็นอารมณ์เดียวในระดับอัปปนาสมาธิ เรียกว่า เกิดฌาน เมื่อจิตรวมลงเป็นฌานด้วยโยนิโสมนสิการเป็นตัวนำอย่างนี้ ต่อไป อริยมรรค จะบังเกิดขึ้น หรือเรียกว่า “มัคคสมังคี” เมื่ออริยมรรคบังเกิดขึ้นเพราะมีองค์ประกอบของมรรค 8 บังเกิดขึ้นครบถ้วน เช่น สัมมาทิฐิที่เป็นตัวปัญญา หรือ วิปัสสนาเกิดขึ้นเพราะเห็นไตรลักษณ์, สัมมาสังกัปปะเกิดเพราะดำริ..., สัมมาสติเกิดเพราะตั้งมั่นระลึกอยู่ตลอดเวลา, สัมมาสมาธิเกิดเพราะไม่ฟุ้งซ่านมีอารมณ์เดียวแน่วแน่ เป็นต้น จากนั้นจึงเกิดการละสังโยชน์ได้ อาสวะย่อมสิ้นไปได้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้ถึงพัฒนาการของจิตที่เกิดจากการหมั่นเจริญโยนิโสมนสิการว่า

    ธรรม 9 อย่างที่มีอุปการะมาก เป็นไฉน ได้แก่ธรรมอันมีมูลมา แต่โยนิโสมนสิการ 9 คือ เมื่อกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ปราโมทย์ย่อมเกิด ปีติย่อมเกิดแก่ผู้ปราโมทย์ กายของผู้มีใจกอปรด้วยปิติย่อมสงบ ผู้มีกายสงบ ย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมรู้เห็นตามเป็นจริง ผู้รู้เห็นตามเป็นจริง ตนเองย่อมหน่าย เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น ธรรม 9 อย่างเหล่านี้มีอุปการะมาก[12]

    พระสูตรข้างต้นเป็นการกล่าวให้ทราบถึงว่า เมื่อเจริญโยนิโสมนสิการไปแล้ว ย่อมจะทำให้เกิดการพัฒนาธรรม 9 ประการขึ้นมาอย่างเป็นลำดับจากหยาบไปหาละเอียด คือ

    โยนิโสมนสิการ -> (1) ปราโมทย์ -> (2) ปีติ -> (3) กายสงบ(กายปัสสัทธิ) -> (4) สุข -> (5) สมาธิ -> (6) รู้ชัดตามเป็นจริง -> (7) หน่าย -> (8) คลายกำหนัด -> (9) หลุดพ้น

    สรุป

    ทั้งหมดทั้งสิ้นที่อธิบายมาตั้งแต่ต้นคงทำให้เกิดความเข้าใจแล้วว่า หลักการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร สรุปอีกครั้งหนึ่งได้แก่ การเจริญวิปัสสนา คือ ความเห็นแจ้งไตรลักษณ์โดยประการต่างๆ การจะเห็นแจ้งได้ ต้องเห็นด้วยปัญญา การจะเห็นด้วยปัญญาได้ ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการช่วย การใช้โยนิโสมนสิการช่วย ต้องหมั่นทำการพิจารณา การทำการพิจารณาต้องคิดอย่างต่อเนื่อง โยนิโสมนสิการเป็นข้อธรรมสำคัญจะขาดไม่ได้ หากขาดไปแล้วย่อมไม่อาจบรรลุธรรมได้ เมื่อขาดโยนิโสมนสิการ ชื่อว่าขาดสัมมาสังกัปปะ ขาดองค์ธรรมสำคัญที่จะทำให้เกิดสัมมาทิฐิ เมื่อขาดดังกล่าวแล้วมรรคมีองค์ 8 ย่อมไม่ครบ เมื่อมรรคมีองค์ 8 ไม่ครบ อริยมรรคย่อมเกิดไม่ได้สังโยชน์และอนุสัยย่อมไม่หมดไป ดังนั้นจึงห้ามขาด การเจริญวิปัสสนาจะห้ามคิดไม่ได้

    การเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยโยนิโสมนสิการช่วยคิดพิจารณานี้ สามารถนำมาใช้เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงของไตรลักษณ์ต่างๆ ที่ถูกซ่อนเร้นอยู่ หรือนำมาใช้เพื่อให้เกิดการจดจำความจริงของไตรลักษณ์ต่างๆ ที่ได้ปรากฏขึ้นมาแล้วก็ได้ หากไม่ใช้การคิดช่วยแล้ว ย่อมจะไม่เรียกว่าโยนิโสมนสิการไปได้ แต่จะเรียกเป็นชื่อองค์ธรรมอื่นแทน เช่น สติ คือ ระลึกรู้, สมาธิ คือ ความตั้งมั่น เป็นต้น เท่านั้น แต่เมื่อใดมีการใช้ความคิดเข้าไปร่วมด้วยจึงเรียกว่าโยนิโสมนสิการ

    การเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยโยนิโสมนสิการช่วย สามารถนำมาเจริญหลังจากฝึกสมาธิจนได้ฌานแล้วก็ได้ ตามแนวทางบรรลุธรรมที่ 1 คือ เจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้น หรือจะนำมาใช้ตั้งแต่เริ่มแรก ตามแนวทางบรรลุธรรมที่ 2 คือ เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น หรือจะนำวิธีการเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยโยนิโสมนสิการช่วยมาใช้สลับกันไปกับการฝึกสมาธิตามแนวทางบรรลุธรรมที่ 3 คือ เจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป หรือจะนำมาใช้เพื่อแก้ไขในแนวทางบรรลุธรรมสุดท้ายที่ 4 คือ นึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้ ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดแต่อย่างไร เพียงแต่การคิดพิจารณาต้องสอดคล้องกับหลักโยนิโสมนสิการ 4 ประการได้แก่ อุบายมนสิการ, ปถมนสิการ, การณมนสิการ, อุปปาทกมนสิการ ให้เห็นตามเป็นจริงในอริยสัจ 4 ให้เห็นลักษณะไตรลักษณ์ต่างๆ จนความปล่อยวางไม่ยึดติดถือมั่นเกิดขึ้น

    การเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยโยนิโสมนสิการไม่ว่าจะทำในแนวทางบรรลุธรรมใดใน 4 แนวทาง ย่อมทำให้มีสภาวะเดียวกันเกิดขึ้น คือ ทำให้อริยมรรคเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเวลาเจริญโยนิโสมนสิการจะทำให้เกิดการพัฒนาการทางจิตไปอย่างเป็นลำดับจากหยาบไปหาละเอียดจนกระทั่งบรรลุมรรค-ผล-นิพพานดังได้กล่าวไปแล้ว

    การเจริญโยนิโสมนสิการในเบื้องต้นจะเป็นปัญญาระดับ จินตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณา แต่เมื่อเพียรเจริญโยนิโสมนการไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตได้รับการพัฒนารวมลงไปเป็นสมาธิระดับอัปปนาสมาธิ บังเกิด อริยมรรค ขึ้นแล้ว ปัญญาจะไม่ใช่ระดับจินตมยปัยญาอีกต่อไป แต่เกิดเป็นปัญญาระดับ ภาวนามยปัญญา ขึ้นได้

    สุดท้ายนี้ขอฝากข้อคิดคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโยนิโสมนสิการว่าจำเป็นเพียงใด ดังนี้

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นธรรมอันอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เหมือนความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8[13]

    พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า ธรรมอย่างอื่นอันมีอุปการะมาก เพื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุดแห่งภิกษุผู้เป็นพระเสขะ เหมือนโยนิโสมนสิการไม่มีเลย ภิกษุเริ่มตั้งไว้ซึ่งมนสิการโดยแยบคาย พึงบรรลุนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งทุกข์ได้ ฯ[14]

    %%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

    บรรณานุกรม

    พระธรรมปิฎก, (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ (ฉบับประมวลศัพท์). พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546.
    พระพรหมคุณากรณ์, (ป.อ.ปยุตฺโต). พุทธธรรม. (ฉบับปรับปรุงและขยายความ). พิมพ์ครั้งที่ 20. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2545.
    พระพุทธโฆสเถระ, วิสุทธิมรรค, ฉบับแปลและเรียบเรียงโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร). กรุงเทพมหานคร : พิมพ์ที่ธนาเพรส จำกัด, 2548.
    มหามงกุฎราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถา แปล ชุด 91 เล่ม. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย, 2534.

    ------------------------------------------------------------------------------
    [1] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ, พิมพ์ครั้งที่ 20, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2545), หน้า 669 – 670.
    [2] เรื่องเดียวกัน.
    [3] ม.มู.อ. (ไทย) 17/157.
    [4] ขุ.อิติ.อ. (ไทย) 54/118.
    [5] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 206.
    [6] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ, พิมพ์ครั้งที่ 20, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2545), หน้า 670.
    [7] อภิ.วิ.อ. (ไทย) 77/361.
    [8] ม.มู. (ไทย) 12/12/11-16.
    [9] สํ. ม. (ไทย) 19/1660/416.
    [10] สํ. ม. (ไทย) 19/1661/416-417.
    [11] อภิ.สงฺ (ไทย) 34/22/29., อภิ.สงฺ (ไทย) 34/36/29.
    [12] ที.ปา. (ไทย) 11/455/322.
    [13] สํ. ม. (ไทย) 19/172-173/41.
    [14] ขุ. ขุ. (ไทย) 25/194/203-204.


    ------------------------------------------------------------------------

    บทความนี้ได้จบลงแล้วครับ ขอบคุณผู้อ่านที่ติดตามอ่านมาจนจบบทความนี้ ไว้พบกันในบทความเรื่องต่อไปครับ.

    ขอให้เจริญในธรรม

    ศิรัสพล<!-- End main-->


    ที่มา : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=siratsapon&month=29-10-2010&group=5&gblog=7
     
  11. jeds22

    jeds22 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    192
    ค่าพลัง:
    +498
    นี่คือที่สุดของกระทู้ยอดเยี่ยม
     

แชร์หน้านี้

Loading...