การนับถือพระโพธิสัตว์ที่ถูกต้องคือนับถืออย่างไร

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 6 ธันวาคม 2010.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    ในพระพุทธศาสนามีเรื่องพระโพธิสัตว์ เราก็นับถือพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์คือใคร ไม่ต้องตอบก็ได้ โยมก็รู้อยู่แล้ว พระโพธิสัตว์คือท่านผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า


    พระพุทธเจ้าของเรานี้ ก่อนจะตรัสรู้ก็เคยเป็นพระโพธิสัตว์ตอนที่ยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ออกบรรพชาแล้วเข้าไปแสวงหาธรรมอยู่ในป่าก็เป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ จนกระทั่งตรัสรู้ในวันเพ็ญวิสาขบูชา คือวันเพ็ญเดือนหก เสร็จแล้วจึงเป็นพระพุทธเจ้า ก่อนเป็นพระพุทธเจ้าจึงเป็นพระโพธิสัตว์มาตลอด


    เราจึงมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ในปัจจุบันชาติ คือก่อนจะตรัสรู้ ตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วเราก็มีเรื่องเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ในอดีตก่อนชาตินี้อีกมากมายที่เราเรียกว่าชาดก ๕๔๗ เรื่อง แสดงถึงการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันนี่เอง เรียกว่า ๕๐๐ ถ้วนหรือ ๕๕๐ ชาติ แต่นับกันที่ตัวเลขจริงได้ ๕๔๗ เรื่อง


    ทีนี้เมื่อเรามีพระโพธิสัตว์ เรานับถือพระโพธิสัตว์ เรานับถืออย่างไรจึงจะถูกต้อง


    เวลานี้ก็มีพระโพธิสัตว์เกิดขึ้น อย่างที่กำลังนิยมมากคือ เจ้าแม่กวนอิม แล้วโยมรู้ไหม พระโพธิสัตว์ที่เรียกว่ากวนอิมนี้คือใคร? มีความเป็นมาอย่างไร? บางทีก็เรียกตาม ๆ กันไปว่า พระโพธิสัตว์ แต่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าท่านมาจากไหน ไปอย่างไร มาอย่างไร เป็นพระโพธิสัตว์อย่างไร


    อย่างน้อยโยมต้องรู้หลักก่อนว่า ความเป็นพระโพธิสัตว์นั้นอยู่ที่ว่าต้องบำเพ็ญบารมี บำเพ็ญคุณธรรมอย่างยวดยิ่งอย่างที่คนธรรมดาทั่วไปจะบำเพ็ญกันไม่ไหว ตั้งใจจะบำเพ็ญความดีข้อไหน เช่นบำเพ็ญทาน ก็บำเพ็ญได้อย่างสูงสุดจนกระทั่งสละชีวิตของตนเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นได้ เรียกว่าให้ชีวิต จะบำเพ็ญความเพียรพยายาม ก็เพียรพยายามอย่างยวดยิ่งไม่มีระย่อท้อถอย แม้ต้องสิ้นชีวิตก็ยอม นี่คือการบำเพ็ญบารมี หมายถึงคุณธรรมที่บำเพ็ญอย่างยวดยิ่ง


    พระโพธิสัตว์เมื่อบำเพ็ญบารมีครบแล้วก็คือได้พัฒนาพระองค์อย่างเต็มที่แล้ว ก็ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วเรานับถือพระโพธิสัตว์นั้นนับถืออย่างไร? นับถือเพื่ออะไร?


    ก็ขอตอบสั้น ๆ คือ นับถือเพื่อเอาเป็นแบบอย่าง เอาพระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่าง เป็นตัวอย่างอย่างไร ?


    พระโพธิสัตว์นั้นกว่าจะได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านต้องทำความดีมากมาย เพียรพยายามทำมายาวนานอย่างยากลำบากมากประสบอุปสรรคมาก แต่ก็ทำมาตลอดโดยไม่ระย่อท้อถอยจนประสบความสำเร็จ ท่านจึงเป็นตัวอย่างในการทำความดีของเรา


    พระโพธิสัตว์นั้นท่านมีปณิธานด้วย คือตั้งใจจะทำความดีอันไหนก็ทำจริง ๆ ทำเต็มที่แล้วก็มั่นคงด้วย เราก็ต้องพยายามทำอย่างนั้น โดยมีพระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่าง จนกระทั่งเราสามารถเสียสละตัวเองได้เพื่อทำความดีนั้น ตลอดจนกระทั่งว่าพระโพธิสัตว์นี่เสียสละตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เราก็ต้องสามารถเสียสละผลประโยชน์ของตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เพื่อช่วยเหลือสังคม นี่คือคติพระโพธิสัตว์


    อันนี้ก็โยงมาหาพระพุทธเจ้า เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นหลัก พระพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้ได้ก็เป็นมาด้วยความเพียรพยายามและทำความดีมามากมาย เพราะอย่างนี้จึงทำให้เราเกิดความซาบซึ้งในพระคุณของพระพุทธเจ้า นี่ประการหนึ่ง


    ประการที่สองก็คือเป็นการเตือนตัวเราให้สำนึกในหน้าที่ที่จะพัฒนาตัว ที่จะทำความดีเพื่อจะบรรลุคุณธรรมเบื้องสูง


    การที่จะบรรลุสิ่งที่ดีงามประเสริฐสูงสุดเป็นพระอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาด้วยการหวังหรืออ้อนวอนเฉย ๆ แต่จะต้องเพียรพยายามทำ ฉะนั้นคนเราทุกคนจะต้องพัฒนาตัวเอง ต้องตั้งใจทำความดี คติพระโพธิสัตว์เตือนใจเราว่าเราจะต้องตั้งใจทำความดี บำเพ็ญคุณธรรมต่าง ๆ พร้อมกันนั้นก็เป็นกำลังใจแก่เรา ในเมื่อเราได้เห็นประวัติของพระโพธิสัตว์ว่าท่านทำความดีมากมาย อย่างเข้มแข็งและเสียสละ เราได้เห็นตัวอย่างแล้ว เราก็มีกำลังใจที่จะทำความดีนั้นให้ตลอด บางทีเราทำความดีไป เราเป็นปุถุชน บางทีเราก็อ่อนแอ เมื่อไปพบกับอุปสรรคบางอย่างหรือไม่ได้รับผลที่ปรารถนา เราก็เกิดความท้อแท้ เกิดความผิดหวัง


    คนจำนวนมากจะเป็นอย่างนี้ ทำความดีไประยะหนึ่งก็ไม่เข้มแข็งจริง ไม่มั่นคงจริง ไปประสบอุปสรรคหรือไม่ได้รับผลตอบแทนที่ต้องการก็เกิดความท้อถอย แล้วก็มองไปในด้านตรงข้ามว่า อ้าว คนนั้นคนนี้เขาทำไม่ดี เขาทำชั่วด้วยซ้ำ ทำไมได้ดี อย่างที่พูดกันว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” อะไรต่าง ๆ ก็จะตัดพ้อร้องทุกข์ขึ้นมา แล้วก็พาลพาโลพาเลเลยเลิกทำความดี อันนี้จะเป็นผลเสีย


    เมื่อได้เห็นประวัติของพระโพธิสัตว์ก็จะเกิดกำลังใจว่า พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ท่านทำความดี ท่านลำบากกว่าเราเยอะแยะอย่างที่ว่าเมื่อกี้ บางทีต้องเสียสละชีวิตก็มี บางทีพระองค์ทำความดีมากมาย เขาไม่เห็นความดี เขาเอาพระองค์ไปฆ่า พระองค์ก็ไม่ท้อถอย แล้วก็ทำความดีต่อไป เรามานึกดูตัวเราทำความดีแค่นี้แล้วจะมาท้อถอยอะไร พระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ลำบากกว่าเรา ทำมากกว่าเรา ประสบอุปสรรคมากกว่าเรามากมาย ไปท้อถอยทำไม พอเห็นคติพระโพธิสัตว์อย่างนี้ เราก็มั่นคงในความดี สู้ต่อไป นี่แหละเป็นแบบอย่าง นี่คือการนับถือพระโพธิสัตว์ที่ถูกต้อง


    ท่านสอนมา ท่านเล่าเรื่องพระโพธิสัตว์มา ก็เพื่อเป็นแบบอย่างแก่เราในการทำความดี เป็นเครื่องเตือนใจเราไว้ทำให้เรามีกำลังใจ แล้วเราก็เดินหน้าเรื่อยไปไม่ท้อถอย


    ตอนหลังมันเกิดปัญหา คือพระพุทธศาสนาในอินเดียระยะหลัง แข่งกับศาสนาฮินดู


    ศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์เดิมนั้น โยมก็รู้อยู่แล้ว เขานับถือเทพเจ้าต่าง ๆ มากมาย การนับถือเทพเจ้านั้นเพื่ออะไร ? ก็เพื่อจะได้ไปอ้อนวอนขอผลนั่นเอง ไปอ้อนวอนเซ่นสรวงบวงสรวงตลอดจนบูชายัญ คิดหาทางเอาอกเอาใจเทพเจ้า จะให้ท่านบันดาลสิ่งที่ต้องการให้ คนอินเดียติดเรื่องเช่นนี้มาจนถึงปัจจุบัน ต้องอ้อนวอนเทพเจ้า เทพเจ้าก็มีฤทธิ์สามารถเก่งกาจเหลือเกิน


    พระพุทธศาสนาอยู่ในอินเดียนาน ๆ มา บางทีก็ชักไม่มั่นคงในหลักเหมือนกัน ชักอยากจะสนองความต้องการของประชาชนที่อยากจะมีผู้มาช่วยดลบันดาลอะไรที่ต้องการให้



    เมื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเขามีเทพเจ้าไว้ให้อ้อนวอน เอ๊ะ ศาสนาพุทธเราไม่มี ทำอย่างไรดี ก็มานึกว่าพระโพธิสัตว์ท่านเป็นผู้เสียสละตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เราจะต้องให้คนมานับถือพระโพธิสัตว์ แล้วอ้อนวอนขอผลจากพระโพธิสัตว์ให้พระโพธิสัตว์ท่านมาช่วย ก็จะมีคู่แข่งที่จะมาแทนเทพเจ้าของฮินดูได้ ตกลง พุทธศาสนายุคหลังก็มีพระโพธิสัตว์อีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่พระโพธิสัตว์แบบเดิม


    คงจะมาคิดกันว่า เอ๊ะ พระโพธิสัตว์นี่ท่านมาช่วยมนุษย์ทั้งหลาย ท่านมีมหากรุณา แต่ทีนี้จะมาช่วยอย่างไร พระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าที่เล่ากันมาในชาดกท่านก็สิ้นชีวิตไปหมดแล้วก่อนที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าใช่ไหม ไม่งั้นพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร


    เมื่อพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันนี้สิ้นไปหมดแล้ว พระพุทธเจ้าเองก็ปรินิพพานไปแล้ว ทำอย่างไรดี ก็มีหลักว่าพระพุทธเจ้าองค์ใดก็ตาม จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตก็ต้องเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อน เราทำอย่างไรจะให้พระโพธิสัตว์ยังอยู่แล้วก็มาช่วยคนได้ ก็ต้องเอาพระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่หวังพึ่งพระโพธิสัตว์เก่า ๆ ไม่ได้แล้ว ต้องเอาพระโพธิสัตว์ใหม่ ๆ จึงได้เกิดมีพระโพธิสัตว์หลายองค์ ในอินเดียก็เกิดมีพระอวโลกิเตศวร พระมัญชุศรี พระวัชรปาณี พระสมันตภัทร และพระอะไรต่าง ๆ หลายองค์ พระโพธิสัตว์เกิดในอินเดียยุคหลังนี้จึงมาก


    ในสมัยพุทธกาลนั้น พระโพธิสัตว์ที่มีชื่อเหล่านี้ไม่มี มามีในสมัยยุคปลายในประเทศอินเดีย พระโพธิสัตว์ท่านเหล่านี้ท่านยังอยู่เพราะจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต จึงสามารถมาช่วยคนได้ ตกลงเราจึงหวังอ้อนวอนจากท่านเหล่านี้ได้ ใครมีความเดือดร้อนเป็นทุกข์ อยากพ้นทุกข์ อยากจะได้ผลประโยชน์อะไรก็ไปอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์เหล่านี้เอาใช่ไหม?


    ตกลงว่ามีพระโพธิสัตว์มาคอยช่วย เทียบกันได้กับศาสนาฮินดูที่เขามีเทพเจ้าไว้ช่วย พอแข่งกันได้ ไปคิดแข่งในแง่นี้


    มาตอนนี้คติพระโพธิสัตว์มันกลับกัน คือ เดิมนั้นพระโพธิสัตว์ท่านเสียสละเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ทำความดี เราต้องเอาแบบอย่างพระองค์ เราต้องเสียสละบำเพ็ญความดีช่วยเหลือผู้อื่นอย่างนั้น


    ตอนนี้เราคิดว่า เรามีผู้ที่จะช่วยอยู่แล้ว เราไม่ต้องทำอะไร เราจึงพากันไปอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากท่าน แทนที่จะคิดทำดีอย่างพระโพธิสัตว์ในอดีต


    นี่คือคติพระโพธิสัตว์ที่เพี้ยนผิดไป


    โยมจะต้องรู้ทัน ความหมายเดิมนั้นท่านให้นับถือพระโพธิสัตว์ให้เราทำดีอย่างท่าน เสียสละอย่างท่าน แต่มาปัจจุบันกลายเป็นนับถือพระโพธิสัตว์จะได้ไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์


    อันนี้จะผิดหรือจะถูก ตัดสินได้เองเลยใช่ไหม


    พระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนามหายานที่มีชื่อเสียงมากก็คือ พระอวโลกิเตศวร เพราะเป็นผู้มีมหากรุณา ช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย


    พระ อวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นี้ เมื่อพระพุทธศาสนามหายานเข้าสู่ประเทศจีนเป็นต้น พระอวโลกิเตศวรก็เข้าไปด้วย ต่อมาในประเทศจีน พระอวโลกิเตศวรได้เปลี่ยนนามเป็นพระกวนอิม ก็คือองค์เดียวกัน พระอวโลกิเตศวรนั้นเดิมเป็นผู้ชาย แต่พอไปเมืองจีนไม่ช้าก็เปลี่ยนเป็นผู้หญิง ทำไมเปลี่ยนเป็นผู้หญิง ก็เป็นเรื่องของตำนาน มีหลายตำนาน


    ตำนานหนึ่งเล่าว่าพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงจีนประชวรเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แพทย์หลวงแพทย์ชาวบ้านอะไรก็ไม่มีใครรักษาหาย จึงร้อนถึงพระโพธิสัตว์ พระอวโลกิเตศวรกวนอิม ต้องมารักษา


    แต่จะเข้าไปรักษาได้อย่างไร ท่านเป็นผู้ชาย พระราชวังฝ่ายในเขามีกฎมณเฑียรบาลห้ามผู้ชายเข้าไป ก็ต้องแปลงร่างเป็นผู้หญิงแล้วเข้าไปรักษาพระราชธิดาจนกระทั่งหายจากโรคนั้นเสร็จแล้วไม่ได้กลับร่างเป็นผู้ชาย จึงเป็นผู้หญิงมาจนบัดนี้ นี่คือเจ้าแม่กวนอิม


    ตอนนี้เจ้าแม่กวนอิมเข้ามาประเทศไทยแล้ว เราจะต้องนับถือเจ้าแม่กวนอิมให้ถูก ถ้าเรานับถือพระโพธิสัตว์อย่างถูกต้อง จะต้องนับถือในแง่ที่ท่านเป็นผู้มีคุณธรรมดีสูงส่ง เป็นผู้มีมหากรุณา เสียสละ บำเพ็ญคุณธรรม ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือผู้อื่น ทำความดีไม่ย่อท้อ เราก็เช่นกัน เราก็จะต้องบำเพ็ญคุณธรรมช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ใช่ไปหวังอ้อนวอนขอผลประโยชน์จากท่านเพราะอันนั้นจะทำให้ผิดหลักพระศาสนา คือผิดหลักกรรม ไม่หวังผลจากการกระทำ กลายเป็นหวังผลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป


    อันนี้เป็นเรื่องที่ตั้งเป็นข้อสังเกตให้โยมได้พิจารณาในสภาพปัจจุบัน เพราะเราจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้มาก



    ถ้าเราตั้งตัวไม่ถูก ไม่อยู่ในหลัก เราก็พลาด ตกหรือหลุดหล่นไปจากพระศาสนา


    ดังนั้น


    ยังไง ๆ ต้องยึดหลักกรรมไว้ให้ได้ คือหวังผลจากการกระทำ ไม่หวังผลจากความศักดิ์สิทธิ์ปาฏิหาริย์ การดลบันดาลของผู้วิเศษ เอาละอันนี้ก็ขอผ่านไป


    คำถามอีกข้อหนึ่งว่า พระโพธิสัตว์กับพระอรหันต์ เรารู้ว่าความหมายต่างกัน พระโพธิสัตว์นั้นยังบำเพ็ญบารมีอยู่ จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไป แต่ตอนนี้ยังไม่หมดกิเลส ส่วนพระอรหันต์นั้นเป็นผู้หมดกิเลสแล้ว ละโลภะ โทสะ โมหะ ได้หมด


    พระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง คำว่าพระอรหันต์นี้กว้าง อย่าไปนึกว่าพระพุทธเจ้าต่างจากพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง เราเรียกว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือเติมพระอรหันต์เข้าไปข้างหน้า หมายความว่าพระอรหันต์นั้นมีหลายประเภท


    พระอรหันต์ที่ได้ตรัสรู้เอง ค้นพบสัจธรรมด้วยพระองค์เองแล้วสามารถที่จะประกาศธรรมสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย เรียกว่า อรหันตสัมมาสัมพุทธ นี่เป็นพระอรหันต์ประเภทที่หนึ่ง


    ประเภทที่สอง คือประเภทรู้สัจธรรมด้วยตนเอง แต่ไม่ถนัดในการที่จะไปสั่งสอนประกาศธรรมให้ผู้อื่นได้รู้ตาม คือขาดความสามารถในเชิงการสั่งสอน เรียกว่า ปัจเจกพุทธ


    ประเภทที่สาม ก็คือ พระอรหันต์ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าที่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วรู้ตาม ไม่ได้ค้นพบสัจธรรมเองต้องมาเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า นี่เป็นพระอรหันต์ประเภทที่ ๓ เรียกว่า อนุพุทธ


    พระสาวกทั้งหลายก็เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น คือเป็นพระอรหันตสาวก ที่เรียกว่าพระอนุพุทธ เช่นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอัสสชิ พระอุรุเวลกัสสปะ ที่เคยเป็นชฎิลมาก่อน พระมหากัสสปเถระ ที่เป็นประธานในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ พระอัญญาโกณฑัญญะ ที่อยู่ในปัญจวัคคีย์และอีกมากมายล้วนเป็นพระอรหันต์


    พระอรหันต์ เป็นผู้ที่หมดกิเลสแล้ว จึงต่างกันกับพระโพธิสัตว์ แต่ทั้งพระโพธิสัตว์ และพระอรหันต์ ท่านล้วนแต่ทำความดีทั้งสิ้น ไม่ทำความชั่ว


    พระโพธิสัตว์ ก็ตั้งใจทำความดีช่วยเหลือผู้อื่น พระพุทธเจ้าก็ช่วยเหลือสัตว์มนุษย์ทั้งหลาย จาริกไปประกาศพระศาสนาสั่งสอนเพื่อจะให้สรรพสัตว์ได้พ้นจากความทุกข์ประสบความสุขที่แท้จริง พระองค์ทำงานไม่ได้หยุดไม่หย่อน ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เพื่อช่วยมนุษย์ทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน พอมีพระอรหันต์ไม่กี่องค์ พระพุทธเจ้าก็ส่งไปประกาศพระศาสนาโดยตรัสว่า จงจาริกไปประกาศธรรมะ แสดงธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่พหุชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก


    นี่เรื่องของพระอรหันต์ ท่านทำกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่มนุษย์ เพราะฉะนั้นท่านก็ทำความดี พระโพธิสัตว์ก็ทำความดี ต่างก็ทำความดี ถามว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรระหว่างการทำความดีของพระโพธิสัตว์กับพระอรหันต์ อันนี้เป็นอีกหลักหนึ่ง ถ้าโยมตอบได้ ก็แสดงว่าเข้าใจหลักพระศาสนาลึกซึ้งยิ่งขึ้น คิดในใจดูก่อนแล้วอาตมาจะตอบให้ฟัง


    ทีนี้จะตอบแล้ว มีความแตกต่างกันอยู่ที่เป็นข้อสำคัญ ๒ ประการ


    การทำความดีของพระโพธิสัตว์นั้นมีความไม่สมบูรณ์ หรือจะเรียกว่าเป็นจุดอ่อนก็ได้ ๒ ประการ


    ประการที่หนึ่ง พระโพธิสัตว์ที่ทำความดีนั้น ท่านทำด้วยปณิธาน หมายความว่ามีความตั้งใจไว้ จะบำเพ็ญบารมีก็เอาปณิธานหรือความตั้งใจมั่นนั้นมาเป็นเครื่องนำตัวเอง ทำให้เกิดพลังในการที่จะทำความดี ทำความดีแน่วแน่ ทำความดีไม่ท้อถอยแล้วท่านก็ทำความดีเต็มที่ เพราะฉะนั้นเราจะว่าทำความดีหย่อนก็ไม่เชิงเพราะท่านทำจริง ๆ ไม่ย่อหย่อน แต่การที่ไม่ย่อหย่อนนั้นมีความไม่สมบูรณ์ในตัว คือท่านต้องอยู่ด้วยปณิธาน ที่ท่านทำไปนั้นทำไปด้วยปณิธาน ท่านตั้งปณิธานไว้ว่า ท่านจะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านจะทำความดีอันนี้ท่านก็ทำไปใหญ่เลย มีความมั่นคงเด็ดเดี่ยวในการกระทำนั้น แต่เรียกว่าทำด้วยปณิธาน


    ตอนนี้มาดูพระอรหันต์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านทำความดีด้วยอะไร อะไรเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทำความดี โยมตอบได้ไหม ? ไม่ใช่ด้วยปณิธาน ลักษณะที่สำคัญของพระอรหันต์ท่านเรียกว่าเป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว หมายความว่าตัวเองได้เข้าถึงจุดหมายแล้ว เข้าถึงประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาตนแล้ว เข้าถึงนิพพานแล้ว


    พระอรหันต์เป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้วไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป จึงเป็นชีวิตที่เป็นอยู่และทำอะไร เพื่ออะไร? ก็ทำเพื่อผู้อื่นอย่างเดียว ที่ทำอย่างนั้นทำด้วยอะไร? เพราะเป็นธรรมชาติของท่านอย่างนั้น เป็นธรรมดาของท่าน เพราะท่านไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตัวเองแล้ว


    ถ้าว่าให้ลึกซึ้งลงไป พระโพธิสัตว์ยังต้องทำเพื่อตัวเองนะ เพราะท่านยังต้องทำให้ตัวเองได้ตรัสรู้ จะต้องทำด้วยปณิธาน คือ การตั้งความปรารถนาเพื่อตัวเองจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อตัวเองจะได้บรรลุพระนิพพาน แต่พระอรหันต์นั้นท่านบรรลุนิพพานแล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ไม่มีอะไรจะทำเพื่อตัวเองอีก จึงเป็นธรรมดาของท่านที่จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นไปตามเหตุผลโดยไม่ต้องอาศัยปณิธาน


    อันนี้เป็นความแตกต่างระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระอรหันต์ในการทำความดีประการที่หนึ่ง


    ต่อไปประการที่สอง ความไม่สมบูรณ์ในการทำความดีของพระโพธิสัตว์


    เพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์ยังไม่ตรัสรู้ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส ยังไม่รู้แจ้งสัจธรรม การทำความดีของท่านนั้นจึงทำโดยยังไม่มีปัญญาสูงสุดที่รู้ธรรมแจ่มแจ้ง ความดีนั้นเป็นเรื่องของธรรม แต่ผู้ที่จะประพฤติธรรมได้สมบูรณ์จะต้องรู้สัจธรรมรู้ความจริงของธรรมชาติทั้งหมด


    ทีนี้ความดีที่เรานำมาประพฤติปฏิบัตินั้นตั้งอยู่บนฐานของสัจธรรมคือตัวความจริงในธรรมชาติในกฎของธรรมชาติ


    พระโพธิสัตว์ยังไม่รู้ยังไม่เข้าถึงความจริงอันนั้นแล้ว ท่านทำความดีได้อย่างไร ? ท่านก็ทำตามที่รู้ที่เข้าใจยึดถือกันอยู่ในโลกในสังคมมนุษย์ยุคนั้น ๆ ที่ยึดถือว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีเป็นความดี อันนั้นท่านทำเต็มที่ ท่านทำให้ถึงที่สุดอย่างที่ไม่มีคนอื่นทำได้ ความดีในความหมายที่มนุษย์จะทำได้ทั่วไป พระโพธิสัตว์ต้องยอดเยี่ยมทำได้สูงสุด


    จุดที่ไม่สมบูรณ์อยู่ที่ว่า ท่านทำได้แค่นั้นแหละ แค่เท่าที่มนุษย์รู้ว่าอะไรคือความดี ท่านไม่ได้ทำด้วยปัญญาที่รู้แจ้งสัจธรรมไม่เหมือนพระอรหันต์ที่ท่านทำด้วยรู้แจ้ง มีปัญญาหยั่งรู้ถึงสัจธรรมด้วยความจริงเห็นความสัมพันธ์ในกฎธรรมชาติด้วยปัญญาถ่องแท้


    เรื่องที่ว่ามานี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหลักในพระพุทธศาสนาซึ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เราควรจะมีความรู้เข้าใจ ถ้าเรามีความรู้เข้าใจเป็นหลักอยู่อย่างนี้แล้ว เราจะไม่หวั่นไหว เราจะวางตัวได้ถูกต้อง และเราก็จะเดินไปในทางสู่ความก้าวหน้าในหลักพระพุทธศาสนายิ่ง ๆ ขึ้นไป


    มิฉะนั้นแล้ว เราจะถูกดึงเฉออกไปจากหลักพุทธศาสนา จากหลักการที่ถูกต้อง นอกจากหล่นจากพุทธศาสนาแล้วก็อาจจะแกว่งไกวไถลลงไปสู่ความเสื่อมได้


    ขอให้เรามีศรัทธาที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างน้อยให้มีคุณสมบัติของอุบาสก อุบาสิกาที่ดี ตั้งแต่ข้อ ๑ เริ่มต้นด้วยศรัทธาที่ถูกหลักพระศาสนา เชื่ออย่างมีหลักการ มีเหตุผล ไม่งมงาย มั่นในคุณพระรัตนตรัย เป็นต้น ไปจนกระทั่งข้อที่ ๓ ที่ยกมาพูดเป็นพิเศษว่าสัมพันธ์กับยุคนี้ คือ ไม่ตื่นข่าวมงคล หวังผลจากกรรม ไม่หวังผลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทวฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ดังที่กล่าวมาแล้ว



    ขอให้โยมมีความเจริญงอกงามในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไปโดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    จะทำความดีอย่างพระโพธิสัตว์หรือจะคอยขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์

    หลักการที่ ๓ คือ หลักคติพระโพธิสัตว์ ต้องตรวจสอบให้ชัดว่า คติพระโพธิสัตว์แต่ก่อนนี้ในพระพุทธศาสนาที่แท้นับถืออย่างไร และปัจจุบันนับถืออย่างไร เรายังนับถือถูกต้องหรือไม่


    คติพระโพธิสัตว์เกิดขึ้นโดยถือว่า พระพุทธเจ้านั้น จะสำเร็จโพธิญาณตรัสรู้ได้ ก็เพราะทรงบำเพ็ญเพียร ทำความดีอย่างยิ่งใหญ่ที่เรียกว่าบารมี ซึ่งยากที่ใครจะทำอย่างพระองค์ได้


    บารมีคือคุณธรรมความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด ยิ่งยวดหมายความว่าเหนือสามัญวิสัยของคนธรรมดา หมายความว่า จะบำเพ็ญคุณความดีข้อไหนก็ทำอย่างเต็มที่ พระพุทธเจ้าทรงเพียรพยายามบำเพ็ญบารมีมาด้วยความยากลำบาก เราจึงมีเรื่องของพระโพธิสัตว์ว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้นั้นทรงเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อน โดยทรงบำเพ็ญเพียรทำความดีด้วยความเสียสละอย่างยิ่ง ถ้าตกลงว่าจะทำความดีข้อไหนแล้วก็จะทำด้วยความเข้มแข็งเต็มที่ ไม่มีการย่อท้อ ไม่มีการถดถอยเลย แม้จะต้องสละชีวิตก็ตามที และการทำความดีอย่างเสียสละเต็มที่นี้ รวมทั้งการเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นจนถึงที่สุดแม้จะต้องสละชีวิตของตนก็ยอมได้


    พระโพธิสัตว์เป็นคติสำหรับสนับสนุนการระลึกถึงพุทธคุณ การระลึกถึงพระพุทธคุณนั้นเป็นเครื่องเตือนใจเราให้ระลึกถึงความเป็นมนุษย์ และศักยภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวเราว่า เราก็เป็นมนุษย์อย่างพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ แต่พระองค์มีความเพียรพยายามพัฒนาพระองค์เองจนกระทั่งตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เราก็จะต้องพัฒนาตนเอง ต้องฝึกฝนตนเองอย่างนั้นด้วย นี้เป็นการเตือนให้เราทั้งมีความมั่นใจในความเป็นมนุษย์ที่พัฒนาได้ ทั้งสำนึกในหน้าที่ของตนที่จะต้องพัฒนาตัวเองยิ่งขึ้นไป และทั้งทำให้เกิดกำลังใจในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเองด้วย พร้อมกันนั้นก็จะได้นำเอาวิธีปฏิบัติพัฒนาของพระองค์ที่ได้ทรงสอนไว้มาใช้ประโยชน์


    ถ้าเราทำความดีไปแล้วเกิดความรู้สึกท้อแท้ว่า เราทำความดีถึงอย่างนี้ก็ยังไม่ได้รับผลที่ต้องการ เราก็หันไปดูพระจริยาวัตรของพระโพธิสัตว์ว่า พระองค์ทำความเพียรลำบากยากเย็นกว่าเรา ประสบอุปสรรคมากกว่าเรา พระองค์ไม่เคยท้อถอย พระองค์ถูกกลั่นแกล้งมากมาย พระองค์ก็ยังทำต่อไปในความดี เมื่อเรานึกถึงคติพระโพธิสัตว์ ระลึกถึงจริยาวัตรของพระองค์ เราก็เกิดกำลังฮึดสู้ต่อไป ทำความเพียรต่อไป ไม่ถอย เพราะฉะนั้นคติโพธิสัตว์จึงหนุนการระลึกถึงพระพุทธคุณซึ่งทำให้เรามั่นใจในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่ต้องพัฒนา



    ระลึกถึงหน้าที่ของเราที่จะต้องฝึกฝนพัฒนาตน และเกิดกำลังใจในการฝึกฝนพัฒนาตนอย่างนั้น


    อย่างไรก็ตาม ต่อมาปรากฏว่าคติพระโพธิสัตว์ได้กลายไป คนในยุคหลังต่อมาคงจะเห็นว่า เออ! พระโพธิสัตว์นี้ท่านเสียสละมาก ท่านตั้งใจทำความดีช่วยเหลือผู้อื่นด้วยมหากรุณา ท่านมาคอยช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ในเมื่อขณะนี้มีพระโพธิสัตว์คอยช่วยเหลืออยู่แล้ว เราก็ไปอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ก็แล้วกัน ถึงตอนนี้คติพระโพธิสัตว์ก็เปลี่ยนไป แทนที่จะนึกถึงพระโพธิสัตว์เพื่อเป็นตัวอย่างในการทำความดีให้เกิดกำลังใจ และต้องทำความดีด้วยความเสียสละจริงจังอย่างท่าน ก็กลายเป็นลัทธิหวังพึ่งว่าคราวนี้มีพระโพธิสัตว์ไว้คอยช่วยแล้ว เราไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ดีกว่า


    จากคติที่เพี้ยนไปอย่างนี้ก็มีพระโพธิสัตว์อย่างเจ้าแม่กวนอิมขึ้นมา แล้วคนก็ไปขอความช่วยเหลือกัน แทนที่จะบำเพ็ญความดีอย่างพระโพธิสัตว์ กลับกลายเป็นขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ กลายเป็นคติคล้ายกับการนับถือเทพเจ้า แล้วไปขอความช่วยเหลือจากเทพเจ้า โดยอ้อนวอนให้ท่านดลบันดาลสิ่งที่ตนต้องการให้


    พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา สั่งสอนประชาชนให้พ้นออกมาจากการบวงสรวงอ้อนวอนเทพเจ้าอย่างที่ว่าดึงจากเทพสู่ธรรม ไป ๆ มา ๆ



    ชาวพุทธกลับไปนับถือศาสนาแห่งการอ้อนวอนตามเดิม




    จากหนังสือ ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง
    พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
    พิมพ์ครั้งที่ ๖๐ กันยายน ๒๕๔๔ สำนักพิมพ์ มูลนิธิพุทธธรรมหน้า ๑๘ – ๓๐


    จากหนังสือ สถานการณ์พระพุทธศาสนา กระแสไสยศาสตร์
    พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
    พิมพ์ครั้งที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ หน้า ๒๔ – ๒๗
     
  3. มารวิกะ

    มารวิกะ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2004
    โพสต์:
    196
    ค่าพลัง:
    +526
    ในเวลาที่เริ่มจะท้อถอย ผมจะนึกถึงสัตว์ต่างๆทุกที พอนึกได้ว่าสัตว์เหล่านั้นยังลำบากอยู่
    ยังรับกรรมอยู่ ความเมตตาและสงสาร จะเป็นกำลังให้ผมเสมอๆทุกครั้ง ครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...