สงบเพราะคิดถูก หลวงพ่อชา สุภัทโท

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 4 กุมภาพันธ์ 2011.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,077
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,669
    ความสงบคือความพอดี

    จะให้ความพอดีของกิเลสตัณหานั้นไม่มีหรอก ผมว่า ตัดสินใจลงไปตรงนี้แหละ อายุคงไม่ถึงร้อยปีหรอกนะ ถ้าพวกเราทำให้ถูกต้อง ก็จะมีความสงบระงับเท่านั้นเอง

    หนทางของการปฏิบัติ


    ที่เราทำไปทุกวันนี้ผมคิดว่าไม่สมควร เพราะมันจะต้องเสียหลักในการปฏิบัติ เดินออกจากหนทาง ถ้าได้มามากก็ทุกข์มาก ไม่เห็นใครเหลือสักคนเลย เช่นอาจารย์ทองดีเป็นเพื่อนกับผม บวชได้แปดพรรษา เรียนนักธรรมเอกยังไม่ได้ กลับมาสอบอีกเรียนอยู่สี่ปีจึงสอบนักธรรมเอกได้ ติดอยู่นั่นแหละ เหมือนเขาทอดแหใส่กิ่งไม้ ลูกโซ่แหไม่ถึงดิน ก็ติดค้างอยู่บนอากาศ อยู่ไม่ได้ สึกออกไปมีครอบครัวแล้ว ไปมีภรรยาได้ไม่นานภรรยาก็ตายก็หาภรรยาใหม่อีก แล้วก็ตายอีก สุดท้ายก็หมดหนทาง เหมือนตากกบแห้งมันจะเกิดประโยชน์อะไรล่ะ

    ทำอย่างนั้นถ้าออกไปพบกับความทุกข์ก็ไม่ต้องบ่น เพราะความทุกข์มันอยู่ที่นั่น ถ้าความอยากเกิดขึ้นมันก็ทุกข์ ถ้ามีความทุกข์ก็ทนเอา ไม่ต้องบ่นว่ามันเป็นเพราะอะไรมันจึงทุกข์ อย่าพูดเลย มันต้องรู้จักวาง อย่างนั้นมันจะเปลี่ยนสภาพไปอีก

    พระพุทธองค์ท่านสอนว่า อัตตาหรืออนัตตา ถ้าเป็นอัตตาก็เป็นตัวตน ถ้าเป็นอนัตตาไม่ได้อาศัยตัวตน อันนี้เป็นคนละเรื่องกัน ให้แก้ไขสิ่งที่พอจะแก้ไขได้ ถ้าสิ่งที่แก้ไม่ได้ก็ปล่อยไปไม่เคยสอนให้อยู่นอกข้อประพฤติปฏิบัติถึงจะมีปัญญามากก็ตาม ถ้าเอาตัวเองพ้นทุกข์ไม่ได้ ก็ไม่เรียกว่า คนมีปัญญา

    ถ้าคนมีปัญญา พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า คนอันธพาลถึงจะมีปัญญามากก็ตาม แต่ก็เป็นปัญญาทรามปัญญาดีไม่มีเลย พวกโจรมันมีปัญญาในการปล้น พวกนักรบมีปัญญามาก มีไหวพริบดีในการสร้างศาตราอาวุธสร้างระเบิดสารพัดอย่าง มีความเก่งกล้าสามารถ มีปัญญามากก็จริงแต่เป็นปัญญาทราม ปัญญาดีไม่มี เหมือนมะม่วงเน่าให้ประโยชน์ไม่ได้

    ปัญญาทราม


    มีปัญญามากอยู่ แต่ตัวเองได้รับความทุกข์ ถึงมีมากก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย มีปัญญาทางสร้างอาวุธมารบยิงฆ่าฟันกันอย่างนี้ มันไม่เกิดประโยชน์ เหมือนคนผู้มีปัญญาปรุงยาพิษมากิน คนกินก็ตาย ไก่หรือสุนัขกินก็ตาย มันดีหรือปัญญาอย่างนั้น ปัญญาปรุงยาพิษให้คนกินแล้วตายในใบสลากยาก็ว่า ยาดี ดีอย่างนั้น ดีที่เป็นโทษเป็นภัยต่อชีวิตของคนและสัตว์ในโลก ท่านเรียก ปัญญาทราม

    เมื่อมองเห็นโทษก็เห็นประโยชน์

    พวกเราก็เหมือนกัน จะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าไม่มีปัญญาเอาตัวไม่รอด อยู่ที่นี้ก็เหมือนกัน ถ้าสิ่งใดที่เรามองไม่เห็นโทษของมันอย่างชัดเจน ก็จะเลิกได้ยาก อยากจะเลิกก็เลิกไม่ได้ ถ้าเรามองเห็นโทษก็จะมองเห็นประโยชน์ขึ้นมาพร้อมกัน มันก็เลิกได้ถึงจะจมอยู่ในน้ำหรืออยู่บนพื้นดิน มันก็จะผุดขึ้นมาจนได้ จิตใจของผู้ปฏิบัติอย่างนั้นหาได้ยาก จะมีแต่คำพูดออกมาหลายๆอย่างแต่ความคิดเห็นจริงๆนั้นจะไม่มี สิ่งใดที่มาผ่านจะเอาให้หมด ตั้งไว้ไม่อยู่ ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน ไปที่ไหนท่านก็ไปให้ความรู้ความเห็นสารพัดอย่าง จะรวมลงคือ "ทุกข์"

    ความทุกข์คืออะไร

    ทุกข์เหมือนกับเราแบกของหนักอันหนึ่ง ทุกข์อีกอันหนึ่งคือเป็นหนี้สินของคนอื่นก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะแบกก้อนหินใหญ่ก็เป็นทุกข์ เรื่องทุกข์ เอาใจไปแบกก็เป็นทุกข์ เอากายไปแบกก็เป็นทุกข์ มันมีแต่เรื่องทั้งนั้น ท่านจึงสอนให้เรารู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ท่านสอนอย่างนี้ จะเป็นทุกข์มาจากอะไรๆก็ตามก็ทุกข์อันเดียวกัน ความทุกข์เกิดขึ้นมา ก็คือทุกข์เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย เช่นพ่อค้าที่เคยค้าขาย เป็นคนร่ำรวย มาบวชเป็นพระแทนที่จะมาประพฤติปฏิบัติ ให้เห็นธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า "ก็ไม่เห็น" ก็เลยตายจากสมบัติเงินล้านเงินโกฏิเฉยๆ ถ้าบวชอย่างนี้จะก้าวมาเดินไปให้มันเสียเวลาทำไม อยู่กับเรือนจะไม่ดีกว่าหรือ

    ก้อนทุกข์


    นักบวชพวกเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติปล่อยให้ตัวเองได้รับความทุกข์แล้ว ผมคิดว่ามันไม่เกิดประโยชน์ผมจะเดาเอาไว้เลยก็ได้ ถ้าลงไปเรียนเอาปริญญาแล้วมันก็แค่นั้นแหละเช่นคนหนึ่งชื่อทองดี มาบวชเป็นเณร อยู่ที่นี่มีสารพัดอย่างต่อมาก็อยากสึก ผมก็บอกให้มารวมหมู่คณะแล้วพูดว่า เออ...ให้มันปรุงดีๆ เณรนี้แหละจะตกนรก ถ้าไม่เชื่อลองดูก็ได้ ตกนรกแน่นอนเลย อยากจะไปเรียนหนังสือ เรียนก็เรียนไปตกนรกนั่นแหละ ขนาดพูดให้ฟังอยู่อย่างนี้มันยังไม่รู้จักทุกข์ จะเรียนเอาหนังสือมาอ่านให้มันรู้จักทุกข์ เป็นไปไม่ได้หรอก รู้แล้วว่าไฟมันเป็นของร้อน แต่ก็ยังกระโดดเข้าไปหากองไฟ จะเอาหนังสือมาอ่านให้ไฟมันหยุดร้อนไม่ได้เลย บอกให้รู้อยู่อย่างนี้ก็ยังไม่รู้จัก"ก้อนทุกข์" จะไปเรียนสอบเอาอะไรล่ะ สอบก็จะได้แต่คำพูดนั่นแหละ พอเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็มีอันเปลี่ยนแปลงไปมาก

    ปฏิบัติธรรมแบบพระจันทร์ข้างแรม

    บางครั้งมาที่เมืองอุบลฯ บาตรก็ไม่เอามา ครองผ้าจีวรสีเหลืองสดใส หิ้วประเป๋าเดินทางอย่างสวยเป็นมันวับๆเลย ใส่รองเท้าขัดมันได้อย่างสวยเลย เราผู้เป็นอาจารย์ไม่มีรองเท้าใส่เดินด้วยเท้าเปล่าๆ หนังเท้าหนามากจนขนาดเดินไปเหยียบหญ้าคาถูกเท้าไม่เข้าเลย เพราะหนังมันหนา แต่เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมาเยี่ยมเลย คงจะตกไปที่ทุกข์มาก เงียบไป ค่อยๆห่างออกไปเรื่อยๆ "มันจะต้องดับลงเหมือนพระจันทร์ข้างแรม" น้อยไปๆเล็กลงๆ แสงก็นับวันแต่จะเล็กลงๆ วงพระจันทร์จะแคบลงไปทุกทีๆ อีกหน่อยก็ตกปั๊บเท่านั้นเอง หมดแสงเลย มันชอบเป็นอย่างนั้น เพราะมันไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นโทษ

    คนไม่ได้ภาวนา คือคนที่เขาชอบมีความเพลิดเพลินร่าเริงเป็นกลุ่มหลายๆคน เขาพูดคุยกันด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส ผมก็มีความอัศจรรย์เขาอยู่เหมือนกันว่า เอ...ดูเหมือนเขามีความร่าเริงสนุกสนานอยู่ เหมือนเขาทำงานเสร็จหมดทุกอย่าง ความจริงแล้วทำงานยังไม่เสร็จ ผมเองถ้าพูดคุยกับเพื่อนหลายคำ ก็คิดว่าตัวเองยังทำงานไม่เสร็จ งานยังค้างอยู่มาก เหมือนกับไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนยังไม่ได้ปล่อยควายออกจากคอกก็มีความเป็นห่วงควายอยู่อย่างนั้นเพราะงานยังไม่เสร็จ จะไปไหนก็มีความเป็นห่วงอยู่นั่นแหละ ดูคนอื่นเขาปล่อยไปตามอารมณ์อย่างสบาย มีความสนุกสนานพูดล้อกันเล่นสนุกเฮฮา ผมก็คิดทุกระบบว่าตัวเองยังไม่พ้นทุกข์ จะนั่งอยู่ที่ไหนก็เหมือนกับว่าเราทำงานยังไม่เสร็จ จะมีความปรารถนาความเพียรอยู่เสมอไม่หยุดสักที เพราะยังมีกิเลสอยู่มาก มันจะมีความทุกข์อยู่อย่างนี้เรื่อยไป จึงเอามาพิจารณาถ้ามีเรื่องที่คุยกับเพื่อน ก็คุยไม่มาก ทั้งคุยทั้งอยากกลับ

    ดีอยู่ที่การปฏิบัติ

    การภาวนาของผมตั้งแต่สมัยก่อนเป็นอย่างนี้ พระเณรบางองค์ชอบคุยด้วย บางครั้งเราจะนั่งภาวนาอยู่กุฏิ ก็เดินไปนั่งคุยอยู่นั่นแหละจนผมรำคาญ ผมเลยบอกว่าท่านเฝ้ากุฏิให้ผมด้วยนะ ผมกลัวสุนัขจะมาขี้ใส่กุฏิผม ผมจะไปเดินจงกรมก่อนนะผมเอาอย่างนั้น "เพราะทำงานยังไม่เสร็จ" จะไปนั่งคุยให้มันเสียเวลาทำไม มันจะมีจิตใจฝักใฝ่ต่อความเพียรอยู่อย่างนั้น.แต่ "พวกเราไม่ชอบดูงานของตัวเองสักที" กลับมาถึงเรือน ขี้แมวเต็มกระด้งเหมือนคนธรรมดาๆ ทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่ได้ "ปฏิวัติ" มันสักที ไม่ได้ "ปฏิรูป" มันสักที อยู่เฉยๆ ไม่มีการ "ละ" ไม่มีการ"บำเพ็ญ" ไม่รู้จะทำอะไรเพราะสถานที่นี้ทำกันอย่างนี้ มันจึงไปขัดที่จิตใจของพระเณร"ผมไม่อยากจะพูดมากหรอก เพราะไม่ได้ดีอยู่ที่คำพูด แต่ได้ดีอยู่ที่การปฏิบัติไปเรื่อยๆอยู่กับครูบาอาจารย์ให้ดูท่าน เพราะหูเราก็มี ตาเราก็มี ก็ดูได้ฟังได้เหมือนคนหิวข้าวมากๆก็ไม่อยากหรอก เห็นเพื่อนนั่งกินข้าว คนที่หิวข้าวก็จะเข้ามากินกับเพื่อนเลยไม่ได้ไปจับไปคุมเขาเข้ามาหรอกนะ เหมือนไก่มันหิวข้าว เอาข้าวเปลือกมาโปรยให้มันกิน ไก่มันจะวิ่งออกมากินเอง เช่นวัวที่มันเคยกินหญ้า เอาไปปล่อยที่สนามหญ้ามันก็คงต้องกินหญ้า ถ้ามันไม่กินหญ้าก็เป็นหมูเท่านั้นเอง

    ไม่ละชั่วไม่กลัวบาป


    อันนี้....เป็นสถานปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ควรจะเอาไปพิจารณาให้เห็นตามความจริง มันก็จะปฏิบัติได้ ถ้าไม่ได้มันเป็นเรื่องของโลกเขา บวชเข้ามาแล้วก็อยู่กับครูบาอาจารย์ จะทำอะไรก็กลัวแต่ครูบาอาจารย์จะเห็น แต่ไม่กลัวบาป ถ้าลับตาพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ทำได้ทุกอย่าง ถ้าอยู่ใกล้ท่านก็กลัว ไม่กล้าทำผิดกลัวท่านจะดุเอา ถ้าอยู่ห่างไกลท่านยิ่งมีความสบาย อยากจะทำอะไรก็ทำได้ โดยมากชอบเป็นอย่างนั้น คนประเภทนี้แหละไม่ละชั่วไม่กลัวบาป ถ้าจะกลัวก็กลัวพระพุทธเจ้า กลัวครูบา-อาจารย์ กลัวท่านจะเห็นเราทำไม่ดี ถ้าลับตาท่านไม่กลัวเลยเหมือนเด็กนักเรียน ตั้งแต่สมัยก่อน พอมองเห็นครูใหญ่ พวกนักเรียนกลัวจนขาอ่อนลงเลย ถ้าครูบอกให้ทำการบ้าน โอ้ย...เรียบร้อยดีมาก สมัยก่อนมีความเคารพคารวะมาก "คาระโวจะนิวาโตจะ" มีความเคารพคารวะ กลัวท่าน ถ้าครูสั่งให้ทำอะไรก็ทำได้ทันที กลัวทั้งครูอาจารย์ กลัวทั้งความผิดมันจะเกิดขึ้นมาเด็กนักเรียนมันไม่ทันสมัยหรอก

    แม้แต่จะเดินก็ค่อยๆเดิน ไปหาเจ้านายไปหาครูอย่างนี้ นั่งเก้าอี้ก็ไม่เป็น อยากจะนั่งกับพื้นเพราะโง่มาก ต่อมาก็ฝึกให้นักเรียนมีความฉลาด ฝึกให้เข้าถึงเจ้านายหรือครูอาจารย์ ฝึกให้นักเรียนไม่ต้องถือกันกับครู อยู่ด้วยกัน เล่นด้วยกัน โอ๊ยมันก็เหมือนเอาลิงไปหัด เดี๋ยวนักเรียนก็จับศรีษะครูเท่านั้นแหละ ครูมันก็ไม่กลัว ความผิดมันก็ไม่กลัวเลยทุกวันนี้

    ขาดหลักธรรมก็เป็นทุกข์

    นัก เรียน ป.๔ เข้ามาบวช ให้อ่านหนังสือให้ฟัง อ่านผิดๆได้ยินอ่านไปว่าจะไป 'เมียง' ไปซื้อเสื้อ 'เหลี่ยง' ไปซื้อ 'เกลือ' มาฝึกหัดเอาใหม่ยากเกือบตายนักเรียนทุกวันนี้ สมัยก่อนนักเรียนจบ ป.๔ สอนนักเรียนแทนครูได้ ทุกวันนี้ไม่ทราบว่าเรียนมาจากไหน โอ้ย...อ่านหนังสือไม่ค่อยรู้เรื่องเลย ไม่รู้ไปเรียนมาจากไหน เห็นเด็กอ่านหนังสือได้ยินว่า ฝนตกแล้วแดดออก เห็นแต่มันอ่านไปอย่างนั้น แต่ก่อนอ่านให้ถูกตัวอักษรก็มาก ถ้าเรียนให้รู้เรื่องของมันแล้วก็ไม่ติดขัดหรอกนะ อ่านหนังสือเฉยๆอ่านฟ้องไปถึงยอดมันก็ได้ ทุกวันนี้อ่านไปผิดๆให้มันติดปากแล้วแก้ยาก นี้แหละคือสอนให้เด็กไม่ให้มีความเคารพ.เพราะมันขาดความคารวะ ขาดหลักธรรมะ "คาระโวจะนิวาโตจะ สันตุฏฐี จะกะตัญญุตา" ขาดการเคารพ ขาดการคารวะ ขาดกตัญญูกตเวที ขาดไปหมดทุกวันนี้ความเดือดร้อนก็ไปถึงพ่อแม่ สอนก็ไม่ได้ บอกมันก็ไม่ได้ พ่อแม่ก็เป็นทุกข์วุ่นวาย เพราะมันขาดหลักธรรมะนี่แหละ

    สมัย ก่อนครูสอนนักเรียนได้หนึ่งอาทิตย์ ก็ต้องสอบอารมณ์ครั้งหนึ่ง มีพระมาสอนเรื่องศีลธรม สอนเรื่องจรรยามารยาท ก่อนจะเลิกโรงเรียนก็ต้องสวดสรรเสริญคุณพระบารมี แต่ทุกวันนี้นักเรียนเก่งไปในทางเล่นกีฬา เตะฟุตบอล มีความสนุกเพลิดเพลินไปทางเล่นมากกว่า เรื่องจรรยามารยาทที่ดีงามนั้นไม่ค่อยได้พูดถึงกัน มันจึงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะมันขาดหลักธรรมะ แสวงหาแต่สิ่งที่สนุกเฮฮา ไปดื่มของมึนเมา ทำให้ตัวเองเป็นคนเสียสติ เหมือนคนเป็นบ้า เป็นบ้าไปหมดทุกคน เป็นบ้าไปหมดทั้งพ่อแม่พี่น้องจนหมดโลก มันดื้อด้าน ว่ายากสอนยาก สอนมันไม่ได้เลย ไม่ดีตรงไหนก็ควรแก้ตรงนั้น

    การปฏิบัติก็เหมือนกัน สมัยก่อนไม่เป็นอย่างนี้หรอกทุกวันนี้ถ้ามีความทุกข์ก็ทุกข์มากจริงๆ เรื่องอาหารไม่ได้ตามชอบใจ อาหารไม่ถูกปากไม่อร่อย ที่อยู่อาศัยไม่ได้ตามชอบใจก็เป็นทุกข์หมด เพราะคนสมัยนี้มีผิวบางมาก ความอดทนมีน้อยทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่เสียหายมากเสียเวลาที่มาประพฤติปฏิบัติ มันต้องพูดกันได้ เป็นคนที่สอนง่าย มีความเคารพเชื่อฟังจึงจะถูกต้อง ส่วนมากจะเป็น "ปะทะปะระมะ" คือพูดกันไม่ได้สอนกัน ไม่ได้ ไม่เชื่อฟัง พูดให้ฟังก็ไม่สนใจเหมือนไม่ได้ยิน ใช้ให้ตักน้ำก็ขี้เกียจ หนีไปอยู่กรุงเทพฯ บอกว่าบ้านเราน้ำก็ไม่ค่อยมี ให้พากันไปอยู่ที่กรุงเทพฯ หมดก็ได้ ไม่ต้องอยู่ทางภาคอีสานหรอก เป็นเพราะอะไรนะมันถึงเป็นอย่างนี้ที่ไหนไม่ดีไม่งามก็ควรแก้ไขที่ตรงนั้น การปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน ถ้าที่ไหนมันสะดวกก็ไม่ต้องไปทำอะไรมัน ตรงไหนที่มันขัดข้องก็ต้องแก้ไขที่จิตใจของเรานั้น

    ถ้าพูดอย่างโน้น อย่างนี้ในสิ่งที่ไม่ดี ชักชวนกันไปที่นั่นที่นี่เณรน้อยก็จะหูผึ่งไปนั่นแหละ จับกันคุยเป็นกลุ่มก้อนอยู่ในช่วงกลางพรรษา ออกพรรษาแล้วองค์นี้ก็จะไปที่โน้น องค์นั้นก็จะไปที่นี่ วุ่นวายกันอย่างนี้มันจะหมดนะ ฉะนั้นผมจึงถอนตัวออกไป

    การปฏิบัติยังอยู่อีกมาก ที นี้ให้พวกเรามาตั้งเอาใหม่ ประพฤติปฏิบัติเอาใหม่อย่าได้ประมาท การปฏิบัติของเรามีวัดอยู่ ดีแล้วที่ได้เข้ามาบวช ได้อยู่ด้วยความสะดวกสบายทุกอย่าง ไม่ใช่เป็นอย่างนั้นนะ ได้บวชมามันก็เสร็จแต่การบวชเท่านั้น แต่การปฏิบัติของเรายังอยู่อีกมากเป็นกว่าการบวช พวกท่านทั้งหลายไม่เห็นหรือ สัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก เช่น ปลวก มด อยู่บนพื้นดินก็มีมากหลาย แต่ส่วนที่อยู่ใต้ดินก็มีอีกมากมาย เช่นว่าโบสถ์หลังนี้สร้างขึ้นมาไม่ยากหรอก แต่การที่จะดูแลรักษาโบสถ์หลังนี้ไปอีกนานหลายชั่วอายุคน สักสามชั่วอายุของคนก็ได้ ตอนสร้างโบสถ์นี้ไม่ยากหรอกสร้างสองปีก็เสร็จ ยังเหลือแต่การปฏิบัติรักษา ทำความสะอาดที่นั่นที่นี่ไม่รู้วันเสร็จสักที ไม่ใช่ของง่ายๆนะ สร้างเสร็จแล้วยังเหลือการดูแลรักษา สร้างสองสามปีก็เสร็จ พวกเราจะต้องรักษาโบสถ์หลังนี้ไปอีกนานจนกำหนดไม่ได้ ให้ได้ครึ่งเท่าครึ่งก็ยังดี บวชมาแล้วจะเอาสบายเพราะคิดว่าบวชเสร็จ แต่การปฏิบัติของนักบวชนี้สิมันยาก ยังมีอีกมาก

    สิ่งทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

    ฉะนั้น พระพุทธองค์ท่านตรัสเป็นพระวาจาเป็นครั้งสุดท้ายว่า "อย่ามีความประมาท" ให้สิ้นลงจนลงได้ ท่านสอนภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ท่านพูดตรงจุดจบเลย แต่พวกเรายังมีชีวิตอยู่ก็ไม่ควรประมาท ผมไม่กลัวว่ามันจะเสื่อมหรอกนะ ผลที่สุดมันก็ต้องเสื่อมจนได้ เหมือนกับว่าความจริงมันก็จะตาย ถ้าเจ็บป่วยไข้มาก็จะไม่ฉันยาหรือ ไม่ฉันข้าวเลยอดให้มันตายเลย ดีไหมอย่างนี้ความเสื่อมมันมีเป็นธรรมดา เกิดขึ้นมาแล้วความเจ็บไข้ก็มีเป็นธรรมดา ของมันอยู่อย่างนั้น แต่ว่าถ้าเจ็บไข้ไม่สบายก็ต้องรักษาอันนี้เรียกว่ายาบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ถึงแม้พระพุทธเจ้าของเราท่านก็จัดไว้เป็นปัจจัยสี่ คิลานะเภสัช ท่านไม่ให้ประมาท เช่นแก้วใบนี้มันก็แตกเป็น แต่ถ้าเราใช้มีความระมัดระวังให้ดีแล้ว แก้วมันก็ไม่แตกง่ายๆ จะได้ใช้ไปอีกนาน แต่ถ้าเราไม่คำนึงถึงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มันก็จะแตกเร็วขึ้น เพราะมีความประมาทไม่มีความระวังตัวเอง

    ความเจริญของหนองป่าพง อัน นี้ก็เหมือนกัน สาขาของวัดเราก็มีมากขึ้นเกือบจะถึงสี่สิบกว่าสาขาแล้วนะ ผมก็ทำงานมาหลายปีแล้ว ไม่ได้ทำอย่างนี้ พวกเราจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ พระกรรมฐานส่วนมากมีแต่เขาไล่หนีทั้งนั้นแหละ เป็นมาตั้งแต่ครูบาจารย์มั่น ครูบาจารย์เสาร์ เป็นแต่สมัยโน้นจนถึงปัจจุบัน เป็นอย่างนี้ ผมเป็นผู้เดินก่อนกับท่านจันทร์ กับคุณเที่ยง มันหนักมาก ผ่านมาหลายอย่างเป็นพยานของตัวเองในข้อประพฤติปฏิบัติ อยู่ในป่าดงอย่างนี้ เอาชีวิตเข้าแลกเอานะ จึงมีความเจริญขึ้น จะไปที่ไหนก็ว่าไปจากสำนักวัดหนองป่าพง สำนักอาจารย์เที่ยง สำนักอาจารย์จันทร์ สำนักต่างๆทั้งหลายเหล่านี้ ออกไปจากวัดหนองป่าพงทั้งนั้น จะไปที่ไหนก็ไม่มีใครดูถูกดูหมิ่นเท่าไรนัก ถ้าเขารู้ว่ามาจากวัดหนองป่าพงหรือสาขา จะไปที่ไหนก็มีความสะดวกสบายพอสมควรโยมเขายกเว้นหรือให้อภัยหลายๆอย่าง จะเดินทางไปไหนโยมก็ไม่ให้เสียค่ารถหรอก จะเป็นสาขาของวัดหนองป่าพงก็เหมือนกันก็มีความเจริญขึ้นมา พวกเราได้ไปมาอย่างสะดวกสบาย การเผยแพร่ธรรมะหรือการออกธุดงค์ จะไปไหนก็ค่อยจะเดินไปด้วยความระมัดระวัง ผู้เฒ่าจะเดินไปก็ค่อยๆเดินเพราะกลัวจะหกล้ม จะเคี้ยวอาหารก็เคี้ยวเบาๆเพราะปวดฟัน จะพูดมากก็ไม่ได้ไม่มีเรี่ยวแรง ค่อยอยู่ค่อยกิน ค่อยไปค่อยมา พ่อแม่พวกเราเคยถามกันว่า ค่อยอยู่สบายดีไหม? เออค่อยอยู่สบายดีอยู่หรอก

    สังขารมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

    สังขาร นี้มันค่อยมันเสื่อมไปทุกวันๆ พระท่านสอนว่า"สังขารร่างกายก็ไม่ใช่ของเราหรอก" เราก็โกรธไม่พอใจ ถ้าว่าไม่ใช่ของเราก็เอาไฟมาเผาดูซิ เอามีดมาลองแทงดู พูดไปสารพัดอย่าง ฟังท่านพูดไม่เข้าใจ คิดว่าตัวเองพูดถูก ไปเถียงแต่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่หยุดสักที ไม่ยอมรับธรรมะของท่าน ไม่ใช่ว่าจะเป็นแต่เดี๋ยวนี้หรอกนะ เรื่องอย่างนี้เป็นมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโน้นแล้ว มีนางหนึ่งสวยงามกว่าเพื่อนในครั้งพุทธกาล ไปฟังเทศน์ พระพุทธเจ้าท่านเทศน์ให้ฟัง เรื่องเกศา โลมา นะขาทันตา ตะโจ "ร่างกายนี้มันเต็มไปด้วยของไม่สะอาด เป็นของบูดของเน่า ของไม่เห็นสาระแก่นสาร เป็นของน่าเกลียดโสโครก" ก็ไม่พอใจ โกรธพระพุทธเจ้า ว่าดูถูกเหยียดหยาม มีความสำคัญว่าตัวเองสวยงามมาก แต่พระพุทธเจ้าเทศน์ว่าไม่ใช่ของสวยงามผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ไม่มีอะไรที่สวยงามเลย จึงโกรธพระพุทธเจ้า เพราะความไม่รู้ตามความเป็นจริงนั่นแหละ

    ต่อไปนานไปก็ไปเห็นซากศพคนตาย ก็จึงคิดได้ เอามาเทียบกับตัวเองจึงเห็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าเราเป็นผู้หลง ผิดจริงๆ จึงได้ไปกราบขอขมาโทษพระพุทธเจ้า เพราะความสำคัญลุ่มหลงของที่มีอยู่กับตัวเองก็จึงไม่รู้จัก ถ้ามันหนาวก็เอาผ้าห่มคลุมไว้ทั้งเนื้อหนังนั่นแหละ แต่ไม่เห็นตัวเองสักที กระดูกผม ก็ไม่เห็น ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ว่า เกศา โลขา นะขาทันตา ตะโจ ก็คิดว่าพูดอะไรนะ ใครจะไม่เห็นผม หนัง เพราะมันไม่เห็นตามความเป็นจริง ถ้าเห็นสกลร่างกายตามความเป็นจริงแล้ว มันก็จะถอยหรอก โยมจับดูแล้วมันก็วาง ไม่ได้ยึดหมายมันหรอก มันก็วางได้ ถ้าวางก้อนนี้ได้ ก็คือวางกองทุกข์นั่นแหละ ไม่ยึดหมาย

    ใช้งานตามหน้าที่ของสังขาร

    มีมือก็ใช้มันไป มือก็ใช้ให้มันจับมา มีหูมันมีหน้าที่ฟัง เสียง ก็ใช้ให้มันฟัง มีปากที่มันเคี้ยวอาหารเป็นก็ใช้ให้มันเคี้ยวจมูกก็ใช้ให้มันสูดลมหายใจเข้าลมหายใจออก ใช้มันไปคนละอย่าง เท้ามีไว้สำหรับเดิน มันปั้นข้าวไม่เป็นก็ต้องให้มันเดิน หูก็ใช้ฟังเสียง จมูกก็ใช้ดมกลิ่น ใช้ไปตามหน้าที่ของมัน จะใช้ให้มันขัดกันก็ไม่ได้อีก เพราะมันไม่ใช่ของเรา ให้เอาหูไปดูหนังดูซิถ้าไม่เชื่อลองดูก็ได้ ใช้ของไม่ถูกที่ของมัน ถ้าเป็นของเราจริงๆจะต้องบังคับมันได้ เอาหูไปดูได้ ถ้าเป็นของเราจริงๆ ใช้ให้มันไปทำนาก็ได้ ใช้ตาไปฟังเทศน์ลองดู ถ้าเป็นตาเราจริงๆก็ต้องใช้มันไปฟังเทศน์ได้ แต่อันนี้ไปใช้ของคนอื่น ไม่ใช้ของเราเลย มันจึงขัดขวางเราอยู่เรื่อยไป เพราะยึดว่าเป็นของเรา ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ก็ไม่รับ ฟังก็ไม่รับทราบ ไม่เข้าใจ เป็นตัวอัตตาขวางอยู่นั่นแหละ ถ้ารับทราบธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้วมันก็ง่าย ยอมรับฟังไม่ฝ่าฝืน ก็เข้าใจธรรมะได้ ถ้าไม่รับทราบ ไม่รับฟัง ไม่รับรู้เอาแต่ใจตัวเอง สิ่งใดที่ชอบใจจึงเอา สิ่งใดไม่ชอบก็จะไม่เอาเลือกเอาแต่สิ่งที่ชอบ ถ้าเป็นเสียงก็เสียงที่ถูกหู เสียงไพเราะจึงจะเอา ให้คนอื่นทำให้ถูกใจเราจึงจะชอบจึงจะสบายใจ ส่วนมากชอบเป็นอย่างนั้น จะให้ทุกคนทำให้ถูกใจเราคนเดียวจึงจะตรัสรู้ธรรมะได้ มัน เป็นไปไม่ได้หรอกคิดดูให้มันดีๆ ธรรมเป็นส่วนหนึ่ง จิตเป็นส่วนหนึ่ง บางคนคิดว่าชอบใจอะไรนั่นแหละเป็นธรรม ถ้าเราชอบก็คิดว่าเป็นของดี บางทีเราไม่ชอบ แต่มันเป็นธรรมจะทำอย่างไรล่ะ

    ขาดปัญญาพาให้ทุกข์ มีแต่สิ่งที่ทำให้ทุกข์ทั้งนั้น ถ้าเราขาดปัญญา ถ้าเรารู้จักใช้ให้มันถูกเรื่องมันก็ง่ายขึ้น ตาก็ใช้ดู หูก็ใช้ฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นสัมผัส มือจับสิ่งของได้ เท้ามีหน้าที่เดิน ใช้ไปคนละอย่าง ถ้าใช้ถูกเรื่องก็สะดวกขึ้น ถ้าใช้ไม่ถูกเรื่องมันก็ขัดอยู่อย่างนั้นเพราะว่าไม่ใช่ของเราก็ว่าของเราอยู่อย่างนั้น ไม่ยอมรับ ไม่หยุดสักทีต้องมาภาวนาหาเหตุผลของมัน ความคิดเห็นของเรากับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสไว้นั้นต่างกันเสมอ เช่นสภาวะร่างกายของเรานี้มันไม่เที่ยงแท้ ไม่คงทนถาวร แต่เราก็ยังคิดว่าเป็นเราอยู่

    ผลสุดท้ายก็เป็นความจริงของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมหมดทุกอย่าง เรื่องความยึดถือ ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรานั้นไม่จริงสักอย่างเลย ถ้าถึงคราวมีอะไรเสียไปก็ร้องไห้ว่าเสียดาย โง่มากจนร้องไห้ เพราะคนไม่เห็นธรรมะไปยึดแต่ของเรา ถ้าไม่ใช่แล้วก็ร้องไห้เท่านั้นเอง ถึงกระนั้นก็ยังไม่รู้จักว่าตัวเองทุกข์ ยังไม่ยอมรับเพราะคนมีความมืดหนาด้วยกิเลสตัณหา จึงชอบเป็นอย่างนั้น

    คัดลอกจาก ลูกโป่ง ลานธรรมจักร
    ลานธรรมจักร • แสดงกระทู้ - ...สงบเพราะคิดถูก...(หลวงพ่อชา สุภัทโท)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 กุมภาพันธ์ 2011
  2. บุษบงกศ

    บุษบงกศ สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 สิงหาคม 2009
    โพสต์:
    13
    ค่าพลัง:
    +2
    ขอกราบอนุโมทนา สาธุ ในธรรมของหลวงพ่อชา สุภัทโท ค่ะ<!-- google_ad_section_end -->
     

แชร์หน้านี้

Loading...