ปฎิปัตติปุจฉาวิสัชนา โดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย angus, 26 เมษายน 2007.

  1. angus

    angus เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    545
    ค่าพลัง:
    +2,724
    [​IMG]


    ปฎิปัตติปุจฉาวิสัชนา
    (ฉบับเดิมพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2476 )
    โดย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ


    ถาม - ผู้ปฎิบัติศาสนาโดยมากปฎิบัติแค่ไหน ?

    ตอบ - ปฎิบัติอยู่ภูมิกามาพจรกุศลโดยมาก

    ถาม - ทำไมจึงปฎิบัติอยู่เพียงนั้น ?

    ตอบ - อัธยาศัยของคนโดยมากยังกำหนัดอยู่ในกามเห็นว่ากามารมณ์ที่
    ดีเป็นสุข ส่วนที่ไม่ดีเห็นว่าเป็นทุกข์จึงได้ปฎิบัติในบุญกริยาวัตถุ
    มีการฟังธรรมให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น หรือภาวนาบ้างเล็กน้อย เพราะมุ่งเพื่อจะได้สวรรค์สมบัติ มนุษย์สมบัติ เป็นต้น ก็คงเป็นภูมิกามาพจรกุศลอยู่
    นั่นเอง เบื้องหน้าแต่กายแตกตายไปแล้ว ย่อมถึงสุคติบ้าง ไม่ถึงบ้าง
    แล้วแต่วิบากจะซัดไป เพราะไม่ใช่นิยบุคคล คือ ยังไม่เปิดอบาย เพราะ
    ยังไม่บรรลุโสดาปัตติผล

    ถาม - ก็ท่านผู้ปฎิบัติที่ดีกว่านี้ไม่มีหรือ ?

    ตอบ - มี ...แต่ว่าน้อย

    ถาม - น้อยเพราะเหตุใด?

    ตอบ - น้อยเพราะกามทั้งหลายเท่ากับเลือดในอกของสัตว์ ยากที่จะ
    ละความยินดีในกามได้ เพราะการปฎิบัติธรรมละเอียด ต้องอาศัย กายวิเวก
    จิตตวิเวก จึงจะเป็นไปเพื่ออุปธิวิเวก ( อุปธิ = สิ่งนุงนัง สภาวะ กลัว กิเลส
    สิ่งที่ยังระคนด้วยกิเลส ) เพราะเหตุนี้แล้วจึงทำได้ด้วยยาก แต่ไม่เหลือวิสัย
    ต้องเป็นผู้เห็นทุกข์จริงๆ จึงจะปฎิบัติได้

    ถาม - ถ้าจะปฎิบัติเพียงภูมิกามาพจรกุศล ดูไม่แปลกอะไร เพระเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นภูมิกามาพจรอยู่แล้ว ส่วนการปฎิบัติ จะให้ดีกว่าก้ต้องให้เลื่อนชั้นเป็น ภูมิรูปาวจร หรืออรูปวจรแลโลกอุดรจะได้แปลกจากเก่า ?

    ตอบ - ถูกแล้ว...ถ้าคิดดูคนนอกพุทธกาล ท่านก็ได้บรรลุฌานชั้นสูงๆ
    ก็มีคนในพุทธกาลท่านก็ได้บรรลุมรรคแลผล มีพระโสดาบันและพระอรหันต์
    โดยมาก นี่เราก็ไม่ได้บรรลุฌาน เป็นอันสูคนนอกพุทธกาลไม่ได้ แลไม่ได้
    บรรลุมรรคผลเป็นอันสู้คนในพุทธกาลไม่ได้

    ถาม - เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำอย่างไรดี ?

    ตอบ - ต้องทำในใจให้เห็นตามพระพุทธภาษิตที่ว่า

    .........มตฺตาสุขปริจฺจาคา ปสฺเส เจ วิปุลํ
    .........ถ้าว่าบุคคลเห็นซึ่งสุขอันไพบูลย์เพราะบริจาคซึ่งสุขมีประมาณน้อยเสียไซร้

    .........จเช มตฺตาสุขํ ธีโร สมฺปสฺสํ สุขํ
    .........บุคคลผู้มีปัญญาเครื่องทรงไว้ เมื่อเล็งเห็นซึ่งสุขอันไพบูลย์
    พึงละเสียซึ่งมีสุขมีประมาณน้อย

    ถาม - สุขมีประมาณน้อยได้แก่สุขชนิดไหน ?

    ตอบ - ได้แก่สุขซึ่งเกิดแต่ความยินดีในกาม ที่เรียกว่า อามิสสุข นี่แหละ
    สุขมีประมาณน้อย

    ถาม - ก็สุขอันไพบูลย์ได้แก่สุขชนิดไหน ?

    ตอบ - ได้แก่ฌาน วิปัสสนา มรรค ผล นิพพาน ที่เรียกว่า นิรามิสสุข
    ไม่เจือปนด้วยกาม นี่แหละสุขอันไพบูลย์

    ถาม - จะปฎิบัติให้ถึงสุขอันไพบูลย์ จะดำเนินทางไหนดี ?

    ตอบ - ก็ต้องดำเนินทางองค์มรรค ๘

    ถาม - องคฺมรรค ๘ ใครๆก็รู้ ทำไมจึงเดินกันไม่ใคร่จะถูก?

    ตอบ - เพราะองค์มรรคทั้ง ๘ ไม่มีใครเคยเดิน จึงเดินไม่ถูก พอถูกก็เป็น
    พระอริยเจ้า

    ถาม - ที่เดินไม่ถูกเพราะเหตุอะไร ?

    ตอบ - เพราะชอบเดินทางเก่า ซึ่งเป็นทางชำนาญ

    ถาม - ท่างเก่านั้นคืออะไร ?

    ตอบ - ได้แก่กามสุขัลลิกานุโยค แล อัตติกิลมถานุโยค

    ถาม - กามสุขัลลิกานุโยคนั้นคืออะไร ?

    ตอบ - ความทำตนให้เป็นผู้หมกหมุ่นติดอยู่ในกามสุขนี้แล
    ชื่อว่า กามสุขัลลิกานุโยค


    คัดลอกจากหนังสือชมรมสนทนาธรรมภาษา กฟผ.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 เมษายน 2007
  2. angus

    angus เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    545
    ค่าพลัง:
    +2,724
    ถาม - อัตตกิลมถานุโยคได้แก่ ทางไหน ?

    ตอบ - ได้แก่ ผู้ปฎิบัติผิด แม้ประพฤติเคร่งครัดทำตนให้ลำบากสักเพียงไร
    ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ ซึ่งมรรค ผล นิพพาน นี่แหละเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

    ถาม - ถ้าเช่นนั้นทางทั้ง 2 นี้เห็นจะมีคนเดินมากกว่ามัชฌิมาปฎิปทา
    หลายร้อยเท่า

    ตอบ - แน่ทีเดียว พระพุทธเจ้าแรกตรัสรู้จึงได้ทรงแสดงก่อนธรรมอย่างอื่นๆ
    ที่มาแล้วในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เพื่อให้สาวกเข้าใจ จะได้ไม่ดำเนิน
    ในทางทั้ง 2 มาดำเนินในทางมัชฌิมาปฎิปทา

    ถาม - องค์มรรค ๘ ทำไมจึงยกสัมมาทิฎฐิซึ่งเป็นกองปัญญาขึ้นแสดง
    ก่อน ส่วนการปฎิบัติของผู้ดำเนินการทางมรรค ต้องทำศีลไปก่อนแล้ว
    จึงทำสมาธิแลปัญญาซึ่งเรียกว่าสิกขาทั้ง ๓

    ตอบ - ตามความเห็นของข้าพเจ้าว่าจะเป็น 2 ตอน

    ......ตอนแรกส่วนโลกิยกุศล ต้องทำศีล สมาธิ ปัญญาเป็นลำดับไป
    ปัญญาที่เกิดขึ้นยังไม่เห็นอริยสัจจ์ทั้ง ๔ สังโยชน์ ๓ ยังละไม่ได้ ขีดของใจ
    เพียงนี้เป็นโลกีย์ ตอนที่เห็นอริยสัจจ์แล้วละสังโยชน์ ๓ ได้ ตอนนี้เป็น
    โลกุตตร

    ถาม - ศีลจะเอาศีลชนิดไหน ?

    ตอบ - ศีลมีหลายอย่าง ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 แต่ในที่นี้
    ประสงค์ศีลที่เรียกว่า สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต สมฺมาอาชีโว
    แต่ต้องทำให้บริบูรณ์

    ถาม - สัมมาวาจา ( สมฺมาวาจา ) คืออะไร ?

    ตอบ - มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ
    ........ปิสุณายวาจาย เวรมณี เว้นจากการพูดส่อเสียดให้เขาแตกร้าวกัน
    ........ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ
    ........สัมผัสปปลาปา ( สมฺผปฺปลาปา ) เวรมณี เว้นจากการพูดโปรยประโยชน์

    ถาม - สัมมากัมมันโต ( สมฺมากมฺมนฺโต ) กระทำชอบนั้นมีกี่อย่าง ?

    ตอบ - มี 3 อย่าง คือ
    ........ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากฆ่าสัตว์
    ........อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากการลักทรัพย์
    ........อพรหมจริยา เวรมณี เว้นจากอสัทธรรม ไม่ใช่พรหมจรรย์

    ถาม - สัมมากัมมันโต ( สมฺมากมฺมนฺโต ) ในที่อื่นๆ โดยมากเว้น อพินหฺม ส่วนในมหาสติปัฎฐาน ทำไมจึงเว้นกาเมสุมิจฉาจาร ?

    ตอบ - ความเห็นของข้าพเจ้าว่าที่ทรงแสดงศีลอพรหม ( อพฺรหฺม )
    เห็นจะเป็นด้วยรับสั่งแก่ภิกษุ เพราะว่าภิกษุเป็นพรหมจารีบุคคลทั้งนั้น
    ส่วนในมหาสติปัฎฐาน 4 ก็รับสั่งแก่ภิกษุเหมือนกัน แต่ว่าเวลานั้นพระองค์เสด็จ
    ประทับอยู่ในหมู่ชนชาวกุรุ พวกชาวบ้านเห็นจะฟังอยู่มาก ท่านจึงสอนให้เว้น
    กามมิจฉาจาร เพราะชาวบ้านมักเป็นคนมีคู่

    ถาม - สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ เว้นจากมิจฉาชีพนั้นเป็นอย่างไร?

    ตอบ - บางแห่งท่านอธิบายไว้ว่า ขายสุรา ยาพิษ ศัสตราอาวุธ หรือ
    ขายสัตว์มีชีวิตต้องเอาไปฆ่า เป้นต้น เหล่านี้แหละเป็นมิจฉาชีพ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 เมษายน 2007
  3. angus

    angus เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    545
    ค่าพลัง:
    +2,724
    ถาม - ถ้าคนที่ไม่ขายของเหล่านี้ก็เป็นสัมมาอาชีโว อย่างนั้นหรือ ?

    ตอบ - ยังเป็นไม่ได้ เพราะวิธีโกงของคนมีหลายอย่างนัก เช่น ค้าขายโดยไม่
    ซื่อ มีการโกงตาชั่งตาเต็งหรือเอารัดเอาเปรียบอย่างใดอย่างหนึ่ง
    ในเวลาที่ผู้ซื้อเผลอหรือเขาไว้ใจ รวมความพูดว่าอัธยาศัยของคนที่ไม่ซื่อ
    คิดเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น เห็นแต่ได้สุดแต่จะมีโอกาส จะเป็นเงินเป็นทอง
    หรือของก็ดี ถึงแม้จะไม่ชอบธรรม สุดแต่จะได้เป็นเอาทั้งนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า
    อาการเหล่านี้ก็เป็นมิจฉาชีพทั้งสิ้น สัมมาอาชีโวจะต้องเว้นทุกอย่าง เพราะ
    เป็นสิ่งที่คดค้อมได้มาโดยไม่ชอบธรรม

    ถาม - สัมมาวายาโม ความเพียรชอบนั้นคือเพียรอย่างไร?

    ตอบ - สัวรปธาน เพียรระวังอกุศลวิตก 3 ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
    ........ปหานปธาน เพียรละอกุศลวิตก 3 ที่เกิดขึ้นแล้วให้หายไป
    ........ภาวนาปธาน เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
    ........อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดแล้วไว้ให้สมบูรณ์

    ถาม - สัมมาสติ ระลึกชอบนั้นระลึกอย่างไร?

    ตอบ - ระลึกอยู่ในสติปัฎฐาน 4 คือ กายานุปัสสนา ระลึกถึงกาย
    ........เวทนานุปัสสนา ระลึกถึงเวทนา
    ........จิตตานุปัสสนา ระลึกถึงจิต
    ........ธัมมานุปัสสนา ระลึกถึงธรรม

    ถาม - สัมมาสมาธิ ความตั้งใจชอบ คือตั้งใจไว้อย่างไร จึงจะ
    เป็นสัมมาสมาธิ?

    ตอบ - คือตั้งใจไว้ในองค์ฌานทั้ง 4 ที่เรียกว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน
    จตุตถฌาน เหล่านี้แหละเป็นสัมมาสมาธิ

    ถาม - สัมมาสังกัปโป ( สมฺมาสงฺกปฺโป ) ความดำริชอบนั้นดำริอย่างไร?

    ตอบ - เนกขัมมสังกัปโป ( เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป ) ดำริออกจากกาม
    ........อัพยาปาทสังกัปโป ( อพฺยาปาทสงฺกปฺโ ) ดำริไม่พยาบาท
    ........อวิหิงสสังกัปโป ( อวิหิงฺสาสงฺกปฺโป ) ดำริในความไม่เบียดเบียน

    ถาม - สัมมาวายาโม ( เพียร ) ก็ละอกุศลวิตก 3 แล้ว สัมมาสังกัปโป (ดำริ) ทำไมจึงต้องดำริอีกเล่า?

    ตอบ - ต่างกันเพราะสัมมาวายาโม ( ความเพียรชอบ ) นั้น เป็นแต่เปลี่ยนอารมณ์ เช่น จิตที่ฟุ้งซ่านหรือเป็นอกุศลก็เลิกนึกเรื่องเก่าเสีย มามีสติ
    ระลึกอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกุศล จึงสงเคราะห์เข้าในกองสมาธิ

    .......ส่วนสัมมาสังกัปโป ( ความดำริชอบ ) มีปัญญาพิจารณาเห็นโทษของกาม เห็นอานิสงค์ของเนกขัมมะ จึงได้คิดออกจากกามด้วยอาการที่เห็นโทษ
    หรือเห็นโทษของพยาบาทวิสิงหา เห็นอานิสงค์ของเมตตา กรุณา จึงได้คิดละพยาบาท วิหิงสา การเห็นโทษแลเห็นอานิสงค์เช่นนี้แหละ จึงผิดกับ
    สัมมาวายาโม ท่านจึงสงเคราะห์เข้าไว้ในกองปัญญา

    ถาม - สัมมาทิฎฐิ ความเห็นชอบนั้นคือเห็นอย่างไร?

    ตอบ - คือ เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่เรียกว่า อริยสัจ 4
    ความเห็นชอบอย่างนี้แหละชื่อว่า สัมมาทิฎฐิ

    ถาม - อริยสัจ 4 นั้น มีกิจจะต้องทำอะไรบ้าง?

    ตอบ - ตามแบบที่มีมาในธรรมจักร มีกิจ 3 อย่างใน 4 อริยสัจรวมเป็น 12 คือ สัจญาณรู้ว่าทุกข์ กิจญาณรู้ว่าต้องกำหนด กตญาณรู้ว่ากำหนดเสร็จแล้ว แลรู้ว่าทุกขสมุทัยจะต้องละ แลได้ละเสร็จแล้ว และรู้ว่าทุกขนิโรธจะต้องทำให้แจ้ง และได้ทำให้แจ้งเสร็จแล้ว แลรู้ว่าทุกขนิโรธคามินี - ปฎิปทา
    จะต้องเจริญ และได้เจริญเสร็จแล้ว นี่แหละเรียกว่ากิจในอริยสัจทั้ง 4

    ถาม - ทุกข์นั้นได้แก่สิ่งอะไร

    ตอบ - ขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 6 นามรูป..เหล่านี้เป็นประเภททุกขสัจ
     
  4. angus

    angus เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    545
    ค่าพลัง:
    +2,724
    ถาม - ทุกข์มีหลายอย่างนักจะกำหนดอย่างไรถูก ?

    ตอบ - กำหนดอย่างอย่างเดียวก็ได้ จะเป็นขันธ์ 5 หรืออายตนะ 6 หรือ
    ธาตุ 6 นามรูป อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ไม่ใช่ว่าต้องกำหนดทีละหลายอย่าง
    แต่ว่าผู้ปฎิบัติควรจะรู้ไว้เพราะธรรมทั้งหลายเหล่านี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา


    ถาม - การที่เห็นอริยสัจก็ต้องทำวิปัสสนาด้วยหรือ

    ตอบ - ไม่เจริญวิปัสสนา ปัญญาจะเกิดอย่างไรได้เมื่อปัญญาไม่มีจะเห็นอริยสัจทั้ง 4 อย่างไรได้ แต่ที่เจริญวิปัสสนากันอยู่ ผู้ที่อินทรีย์อ่อนยังไม่เห็นอริยสัจทั้ง 4 เลย

    ถาม - ขันธ์ 5 ใครๆก็รู้ ทำไมจึงกำหนดทุกข์ไม่ถูก?

    ตอบ - รู้แต่ชื่อ ไม่รู้อาการขันธ์ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นขันธ์ 5
    เกิดขึ้นก็ไม่รู้ว่าเกิดขันธ์ 5 ดับไปก็ไม่รู้ว่าดับ แลขันธ์มีอาการสิ้นไป
    เสื่อมไปตามความเป็นจริง อย่างไรก็ไม่ทราบทั้งนั้น จึงเป็นผู้หลงประกอบ
    ด้วยวิปลาส คือ ไม่เที่ยงก็เห็นว่าเที่ยง เป็นทุกข์ก็เห็นว่าเป็นสุข เป็นอนัตตา
    ก็เห็นว่าเป็นอัตตาตัวตน เป็นอสุภไม่งามก็เห็นว่า เป็นสุภะงาม เพราะฉะนั้น
    พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนสาวกที่มาแล้วในมหาสติปัฎฐานสูตร ให้รู้จักขันธ์ 5 และอายตนะ 6 ตามความเป็นจริง จะได้กำหนดถูก

    ถาม - ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญษา สังขาร วิญญาณนั้นมีลักษณะอย่างไร เมื่อเวลาเกิดขึ้นแลดับไปจะได้รู้?

    ตอบ - รูปคือธาตุดิน 19 น้ำ 12 ลม 6 ไฟ 4 ชื่อว่ามหาภูตรูป เป็นรูปใหญ่
    แลอุปาทายรูป แต่จะแจงให้ละเอียกก็มากมาย เมื่อทราบให้ละเอียดก็จง
    ไปดูเอาในแบบเถิด

    ถาม - ก็เวทนานั้นได้แก่สิ่งอะไร ?

    ตอบ - ความเสวยอารมณ์ ซึ่งเกิดประจำอยู่ในรูปนี้แหละ คือบางคราวก็เสวยอารมณ์เป็นสุข บางคราวก็เสวยอารมณ์เป็นทุกข์ บางคราวก็ไม่ทุกข์ไม่สุข
    นี่แหละเรียกว่า เวทนา 3 ถ้าเติมโสมนัสโทมนัส ก็เป็นเวทนา 5

    ถาม - โสมนัสโมทนัสเวทนา ดูเป็นชื่อกิเลส ทำไมจึงเป็นขันธ์?

    ตอบ - เวทนามี 2 อย่าง คือ กายิกะเวทนา เวทนาซึ่งเกิดทางกาย 1 เจตสิกเวทนา เวทนาซึ่งเกิดทางใจ 1 สุขเวทนาเสวยอารมณ์เป็นสุข ทุกขเวทนา
    เสวยอารมณ์เป็นทุกข์ 2 อย่างนี้เกิดทางกายโสมนัสโทมนัส
    อทุกขมสุขเวทนา 3 อย่างนี้เกิดทางใจ ไม่ใช่กิเลส คือ เช่นบางคราวอยู่ดีๆ
    ก็มีความสบายใจโดยไม่ได้อาศัยความรักความชอบก็มี หรือบางคราวไม่
    อาศัยโทสะ หรือปฎิฆะไม่สบายใจขึ้นเอง เช่นคนเป็นโรคหัวใจหรือโรคเส้นประสาทก็มี อย่างนี้เป็นขันธ์แท้ ต้องกำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ เมื่อเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ปรากฎขึ้น นั่นแหละเป็นความเกิดขึ้นแห่งเวทนา เมื่อเวทนาเหล่านี้ดับหายไปเป็นความดับแห่งเวททนา นี่แหละเป็นขันธ์แท้ เป็นประเภท
    ทุกขสัจ

    ถาม - เวทนานั้นอาศัยอะไรจึงเกิดขึ้น?

    ตอบ - อาศัยอายตนะภายใน 6 ภายนอก 6 วิญญาณ 6 กระทบกันเข้า
    ชื่อว่าผัสสะ เป็นที่เกิดแห่งเวทนา

    ถาม - อายตนะภายใน 6 ภายนอก 6 วิญญาณ 6 ผัสสะ 6 เวทนาที่เกิด
    แต่ผัสสะ 6 ก็ไม่ใช่กิเลส เป็นประเภททุกข์ทั้งนั้นไม่ใช่หรือ?

    ตอบ - ถูกแล้ว

    ถาม - แต่ทำไมคนเราเมื่อเวลาตาเห็น หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น
    ลิ้นได้ลิ้มรส หรือถูกต้องโผฎฐัพพะด้วยการ รู้รับอารมณ์ด้วยใจ
    ก็ย่อมได้เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ใช่หรือ ก็อายตนะแลสัมผัสเวทนาก็ไม่ใช่กิเลส แต่ทำไมคนเราจึงเกิดกิเลสและความอยากขึ้นได้เล่า?

    ตอบ - เพระไม่รู้ว่าเป็นขันธ์แลอายตนะ แลผัสสเวทนา สำคัญว่าเป็นผู้เป็น
    คนจริงเป็นจัง จึงได้เกิดกิเลสและความอยาก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรง
    แสดงไว้ ในฉฉักกะสูตรว่าบุคคลเมื่อสุขเวทนาเกิดขึ้น ก็ปล่อยให้ราคานุสัย
    ( ราคะ : ความชัดใจ ความแค้นเคือง ) ตามนอน อทุกขมสุขเวทนาเกิดขึ้น
    ก็ปล่อยให้อวิชชานุสัย ( อวิชชา : ความไร้จริง ความหลง ) ตามนอนการทำที่สุดแห่งทุกข์ในชาตินี้ ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ เป็นได้ ถ้าบุคคลเมื่อเวทนา
    ทั้ง 3 เกิดขึ้นก็ไม่ปล่อยให้อนุสัยทั้ง 3 ตามนอนการทำที่สุดแห่งทุกข์ในชาตินี้ก็มีฐานะที่มิได้เป็นได้ นี่ก็เท่ากับตรัสไว้เป็นคำตายตัวอยู่แล้ว
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 เมษายน 2007
  5. angus

    angus เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    545
    ค่าพลัง:
    +2,724
    ถาม - จะปฎิบัติอย่างไรจึงจะไม่ให้อนุสัยทั้ง 3 ตามนอน?

    ตอบ - ก็ต้องมีสติทำความรู้ตัวไว้ แลมีสัมปชัญญะความรู้ รอบคอบในอายตนะ และสัมผัสเวทนาตามความเป็นจริงอย่างไร อนุสัยทั้ง 3 จึงจะไม่ตามนอน สมด้วยพุทธภาษิตในโสฬสปัญหาที่ 1 ตรัสตอบอชิตะมานพว่า
    สติ เตสัง นิวารณัง สติเป็นดุจทำรบบนเครื่องปิดกระแสเหล่านั้น ปัญญา เย
    เตปิถิยยเร กระแสเหล่านั้น อันผู้ปฎิบัติจะละเสียได้ด้วยปัญญา แต่ในที่นี้
    นั้นท่านประสงค์ละตัณหา แต่อนุสัยกับตัณหา ก็เป็นกิเลสประเภทเดียวกัน

    ถาม - เวทนาเป็นขันธ์แท้ เป็นทุกข์สัจ ไม่ใช่กิเลส แต่ในปฎิจจสมุปบาท ( ปฎิจจสมุปบาท : สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ,การที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา ) ทำไมจึงมีเวทนาปัจจยาตัณหา ( เวทนาปัจจยา : เพราะเวทนาเป็นปัจจัย
    ตัณหาจึงมี ) เพราะเหตุอะไร?

    ตอบ - เพราะไม่รู้จักเวทนาตามความเป็นจริง เมื่อเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เวทนาที่เป็นสุขก็ชอบเพลิดเพลินอยากได้ หรือให้คงอยู่ไม่ให้หายไปเสีย เวทนาที่เป็นทุกข์ ไม่ดีมีมาก็ไม่ชอบ ประกอบด้วยปฎิฆะอยากผลักไสขับ
    ให้หายไปสีย หรืออทุกขมสุขเวทนาที่มีมาก็ไม่รู้อวิชชานุสัยจึงตามนอนสมด้วย
    พระพุทธภาษิตในโสฬสปัญหาที่ 13 ที่อุทยะมานพทูลถามว่า กถัง สตัสสะ
    จรโตวิญญาณัง อุปรุชณติ ( กถํ สตสฺส จรโตจิญฺญาณํ อุปรุชฌติ ) เมื่อบุคคล
    ประพฤติมีสติอย่างไร ปฎิสนธิวิญญาณจึงจะดับ ตรัสตอบว่า

    ........อัชฌัตตัญจะ พหิทธา จ เวทนนัง นาพิณนัทโต ( อชฺณตฺ ตญฺจ
    พหิทฺธา จ เวทนํ นาพิณนิทโต ) เมื่อบุคคลไม่เพลิดเพลินยิ่ง ซึ่งเวทนา
    ทั้งภายในแลภายนอก

    ........เอวัง สตัสะ จรโต วิญญาณัง อุปรุชฌติ ( อวํ สตสฺส จรโต วิญฺญาณํ
    อุปรุชฺฌติ ) ประพฤติมีสติอยู่อย่างนี้ ปฎิสนธิวิญญาณจึงจะดับ



    ถาม - เวทนาอย่างไรชื่อว่าเวทนาภายนอก เวทนาอย่างไรชื่อว่าเวทนาภายใน ?

    ตอบ - เวทนาที่เกิดแต่จักขุสัมผัส โสตะสัมผัส ฆานะสัมผัส ชิวหาสัมผัส
    กายสัมผัส 5 อย่างนี้ชื่อว่าเวทนาที่เป็นภายนอก เวทนาที่เกิดในฌาน เช่น ปีติสุข เป็นต้น ชื่อว่าเวทนาภายในเกิดแต่มะโนสัมผัส

    ถาม - ปีติแลสุขก็เป็นเวทนาด้วยหรือ?

    ตอบ - ปีติแลสุขนั้นเกิดขึ้นเพราะความสงบ อาศัยความเพียรของผู้ปฎิบัติ
    ในคิริรมานนทสูตร อานาปานสติหมวดที่ 5 กับ ที่ 6 ท่านสงเคราะห์เข้าใน
    เวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน เพราะฉะนั้น ปีติแลสุขจึงจัดเป็นเวทนาภายในได้

    ถาม - ที่เรียกว่านิราสมิสเวทนา เสวยเวทนาไม่มีอามิสคือไม่เจือกามคุณเห็นจะเป็นเวทนาที่เกิดขึ้นจากจิตที่สงบนี่เอง แต่ถ้าเช่นนั้นความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ที่เรียกว่ากามคุณ 5 เวทนาที่เกิดขึ้นคราวนั้น ก็เป็นอามิสเวทนา ถูกไหม

    ตอบ - ถูกแล้ว

    ถาม - ส่วนเวทนาข้าพเจ้าเข้าใจดีแล้ว แต่ส่วนสัญญขันธ์ ความจำรูป
    จำกลิ่น จำรส จำโผฎฐัพพะ จำธัมมารมณ์ 6 อย่างนี้ มีลักษณะอย่างไร เมื่อรูป สัญญาความจำรูปเกิดขึ้นนั้นมีอาการเช่นไร แลเวลาที่ความจำรูปดับไปมีอาการเช่นไร ข้าพเจ้าอยากทราบเพื่อจะได้กำหนดถูก

    ตอบ - คือ เราได้เห็นรูปคนหรือรูปของอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วมานึกขึ้นรูปคนหรือรูปของเหล่านั้น ก็มาปรากฎขึ้นในใจเหมือนอย่างได้เห็นจริงๆ นี่เรียกว่าความจำรูป
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 เมษายน 2007
  6. angus

    angus เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    545
    ค่าพลัง:
    +2,724
    ถาม - ยังไม่เข้าใจดี ขอให้ชี้ตัวอย่างให้ขาวอีกสักหน่อย ?

    ตอบ - เช่นกับเมื่อเช้านี้เราได้พบคนที่รู้จักกันหรือได้พูดกัน ครั้นคนนั้นไปจาก
    เราแล้ว เมื่อเรานึกถึงคนนั้น รูปร่างคนนั้นก็ปรากฎชัดเจนเหมือนเวลาที่พบ
    กันหรือได้เห็นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ เมื่อเวลานึกขึ้นก็เห็นสิ่งนั้นชัดเจน
    เหมือนอย่างเวลาที่เห็นรวมรูป 2 อย่าง คือ อุปาทินนกรูป รูปที่มีวิญญาณ เช่น รูปคนหรือสัตว์ อนุปาทินนกรูป รูปที่ไม่มีวิญญาณครองได้แก่สิ่งของต่างๆ หรือต้นไม้ ดิน หิน กรวด

    ถาม - ถ้าเช่นนั้นคนเป็นก็เป็นรูปที่มีวิญญาณ คนตายก็เป็นรูปที่ไม่มีวิญญาณอย่างนั้นหรือ?

    ตอบ - ถูกแล้ว น่าสลดใจ ชาติเดียวเป็นได้ 2 อย่าง

    ถาม - ถ้าเช่นนั้นสัญญาก็เป็นเรื่องของอดีตทั้งนั้น ไม่ใช่ปัจจุบัน?

    ตอบ - อารมณ์นั้นเป็นอดีต แต่เมื่อความจำปรากฎขึ้นในใจเป็นสัญญาปัจจุบัน
    นี่แหละเรียก สัญญาขันธ์

    ถาม - ถ้าไม่รู้จักสัญญา เวลาที่ความจำรูปคนมาปรากฎขึ้นในใจ ก็ไม่รู้ว่าสัญญาของตัวเอง สำคัญว่าเป็นคนจริงๆ หรือความจำรูปที่ไม่มีวิญญาณมาปรากฎขึ้นในใจก็ไม่รู้ว่าสัญญา สำคัญว่าเป็นสิ่งเป็นของจริงๆ เมื่อเป็นเช่นนี้จะมีโทษอย่างไรบ้าง ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ?

    ตอบ - มีโทษมาก เช่นนึกถึงคนที่รัก รูปร่างของคนที่รักก็มาปรากฎกับใจ
    กามวิตก ที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น ทีเกิดขึ้นแล้วก็จะงอกงาม หรือ นึกถึงคนที่
    โกรธกันรูปร่างของคนที่โกรธกันนั้นก็มาปรากฎชัดเจน เหมือนได้เห็นจริงๆ
    พยาบามวิตกที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะงอกงาม หรือนึกถึง
    สิ่งของสวยๆงามๆ รูปร่างสิ่งของเหล่านั้น ก็มาปรากฎในใจ เกิดความ
    ชอบใจบ้าง แหละอยากได้บ้าง เพราะไม่รู้ว่าสัญญาขันธ์ของตัวเอง
    สำคัญว่าสิ่งทั้งปวงเป็นจริงเป็นจังไปหมดที่แท้ก็เหลวทั้งนั้น

    ถาม - ก็ความเกิดขึ้นแห่งสัญญามีลักษณะอย่างไร?

    ตอบ - เมื่อความจำรูป อย่างใดอย่างหนึ่งมาปรากฎในใจ เป็นความเกิดขึ้น
    แห่งความจำรูป เมื่อความจำรูปเหล่านั้นดับหายไปจากใจเป็นความดับไปแห่งความจำรูป

    ถาม - ความจำเสียงนั้นมีลักษณะอย่างไร ?

    ตอบ - เช่นเวลาเราฟังเทศน์ เมื่อพระเทศน์จบแล้วเรานึกขึ้นได้ว่า ท่านแสดง
    ว่าอย่างนั้นๆ หรือมีคนมาพูดเล่าเรื่องอะไรๆให้เราฟัง เมื่อเขาพูดเสร็จแล้ว เรานึกขึ้นจำถ้อยคำนั้นได้ นี่เป็นลักษณะของความจำเสียง เมื่อความจำเสียงปรากฎขึ้นในใจ เป็นความเกิดขึ้นแห่งความจำเสียง เมื่อความจำเสียงเหล่า
    นั้นดับหายไปจากใจ เป็นความดับไปแห่งสัททสัญญา

    ถาม - คันธสัญญา ความจำกลิ่นมีลักษณะอย่างไร?

    ตอบ - เช่นกับเราเคยได้กลิ่นหอมดอกไม้ หรือน้ำอบ หริอกลิ่นเหม็น อย่างใดอย่างหนึ่งไว้ เมื่อนึกขึ้นก็จำกลิ่นหอมกลิ่นเหม็นเหล่านั้นได้ นี่เป็นความเกิดขึ้นของความจำกลิ่น เมื่อความจำกลิ่นเหล่านี้หายไปจากใจ เป็นความดับไปแห่งคันธสัญญา

    ถาม - รสสัญญา ความจำรสนั้นมีลักษณะอย่างไร?

    ตอบ - ความจำรสนั้น เมื่อเรารับประทานอาหารมีรสเปรี้ยว หวาน จืด เค็ม
    หรือขม เป็นต้น เมื่อรับประทานเสร็จแล้วนึกขึ้นก็จำรสเหล่านั้นได้อย่างนี้
    เรียกว่าความจำรส เมื่อความจำรสปรากฎขึ้นในใจ เป็นความเกิดขึ้นแห่งรสสัญญา เมื่อความจำรสเหล่านั้น ดับหายไปจากใจ เป็นความดับ ไปแห่ง
    รสสัญญา

    ถาม - โผฎฐัพพะสัญญามีลักษณะอย่างไร?

    ตอบ - ความจำเครื่องกระทบทางกาย เช่าเราเดินไปเหยียบหนาม ถูกหนาม
    ยอกหรือถูกต้องเย็นร้อน อ่อนแข็งอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อนึกขึ้นจำความ
    ถูกต้องกระทบทางกายเหล่านั้นได้ ชื่อว่า โผฎฐัพพะสัญญา
     
  7. angus

    angus เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    545
    ค่าพลัง:
    +2,724
    ถาม - เช่นเมื่อกลางวันนี้เราเดินทางไปถูกแดดร้อนจัด ครั้นกลับมาถึงบ้านนึกถึงที่ไปถูกแดดมานั้นก็จำได้ว่าวันนี้เราไปถูกแดดร้อน อย่างนี้เป็นโผฎฐัพพสัญญา ถูกไหม?

    ตอบ - ถูกต้อง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมากระทบถูกต้องทางกาย เมื่อเรานึกคิดอารมณ์เหล่านั้น จำได้เป็นโผฎฐัพพสัญญาทั้งนั้น เมื่อความจำโผฎฐัพพเกิดขึ้นในใจเป็นความเกิดขึ้นแห่งโผฎฐัพพสัญญา เมื่อความจำเหล่านั้นดับหายไป
    จากใจเป็นความดับไปแห่งโผฎฐัพพสัญญา

    ถาม - ธัมมสัญญามีลักษณะอย่างไร?

    ตอบ - ธัมมสัญญา ความจำธัมมารมณ์นั้นละเอียดยิ่งกว่าสัญญา 5 ที่
    ได้อธิบายมาแล้ว

    ถาม - ธัมมารมณ์มีลักษณะอย่างไร ?

    ตอบ - เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สงขารขันธ์ 3 อย่างนี้ชื่อว่า ธัมมารมณ์ เช่นเวลาได้เสวยเวทนาที่เป็นสุขหรือที่เป็นทุกข์ไว้ แลเวทนาเหล่านั้นดับไปแล้ว นึกขึ้นจำได้อย่างนี้ชื่อว่าความจำเวทนา หรือเราเคยท่องบ่นอะไรๆ จะจำได้
    มากก็ตามหรือจำไดน้อยก็ตาม เมื่อความจำเหล่านั้นดับไป พอนึกขึ้นถึงความจำเก่าก็มาเป็นสัญญาปัจจุบันขึ้นอย่างนี้เรียกวาความจำสัญญา
    หรือเราคิดนึกเรื่องอะไรๆ ขึ้นเองด้วยใจ เมื่อความคิดเหล่านั้นดับไป พอเรานึกถึงเรื่องที่เคยคิดเอาไว้นั้นก็จำเรื่องนั้นได้ นี่เรียกว่าสังขารขันธ์ ความจำเรื่องราวของเวทนา สัญญา สังขารเหล่านั้นแหละชื่อว่า ธัมมสัญญา ความจำ
    ธัมมารมณ์ เมื่อความจำธัมมารมณ์มาปรากฎขึ้นในใจ เป็นความเกิดขึ้นแห่ง
    ธัมมสัญญา เมื่อความจำธัมมารมณ์เหล่านั้นดับหายไปจากใจ เป็นความ
    ดับไปแห่งธัมมสัญญา

    ถาม - แหม ! ช่างซับซ้อนกันจริงๆ จะสังเกตอย่างไรถูก?

    ตอบ - ถ้ายังไม่รู้จักอาการขันธ์ก็สังเกตไม่ถูก ถ้ารู้จักแล้วก็สังเกตได้ง่าย เหมือนคนที่รู้จักตัวแลรู้จักชื่อกัน ถึงจะพบหรือเห็นกันมากๆ คนก็รู้จักได้ทุกๆคน ถ้าคนที่ไม่เคยรู้จักตัวหรือรู้จักชื่อกัน มาแต่คนเดียวก็ไม่รู้จักว่าผู้นั้นคือใคร สมด้วยพระพุทธภาษิตในคุหัฎฐกสูตร หน้า 486 ที่ว่า สัญญัง ปริญญาวิตเรยยะ โอฆัง ( สญญํ ปริญฺญษ วิตเรยฺย โอฆํ ) สาธุชนมากำหนดรอบรู้สัญญาแล้วจะพึงข้ามโอฆะ ( โอฆะ : ห้วงน้ำ ,ห้วงน้ำคือการเวียนว่ายตายเกิด )

    ถาม - สังขารขันธ์คืออะไร?

    ตอบ - สังขารขันธ์คือความคิดความนึก

    ถาม - สังขารขันธ์เป้นทุกขสัจหรือเป็นสมุทัย?

    ตอบ - เป็นทุกขสัจ ไม่ใช่สมุทัย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 28 เมษายน 2007
  8. angus

    angus เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    545
    ค่าพลัง:
    +2,724
    เดี๋ยวมาต่ออีกนะค่ะ พอดีมีอีกหลายหน้า ตาอักเสบ พิมพ์ต่อไม่ไหวแล้ว ตาพร่า น้ำตาไหลเรื่อยๆเลย
     
  9. ณ ปลาย

    ณ ปลาย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ธันวาคม 2006
    โพสต์:
    84
    ค่าพลัง:
    +638
    ดิฉันเคยฝันเห็นท่านมาสอนธรรม
    บางอย่างที่ติดอยู่ในใจหลายๆ คน อาจได้รับการคลี่คลาย

    อนุโมทนาในความวิริยะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...