อัชฌาศัย สุขวิปัสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโต

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย ๐Novice๐, 7 ธันวาคม 2011.

  1. ๐Novice๐

    ๐Novice๐ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤศจิกายน 2011
    โพสต์:
    62
    กระทู้เรื่องเด่น:
    3
    ค่าพลัง:
    +357
    [​IMG]

    อัชฌาศัย ความต้องการของอารมณ์เรียกว่า อุดมคติ หรือแบบที่ผู้ใหญ่โบราณสักหน่อย
    เรียกว่า อัชฌาสัย หรืออุดมคติ อัฌชาสัยในการปฏิบัติมีอยู่ 4 อย่าง ด้วยกันคือ

    ๑. อัชฌาศัยสุกขวิปัสสโก
    บางคนชอบแบบสุกเอาเผากิน เรื่องความละเอียดเรียบร้อย การรู้เล็กรู้น้อยแสดงฤทธิ์
    อวดเดช เดชาอะไรนั้น ไม่มีความต้องการ หวังอย่างเดียวคือความบรรลุผล ท่านประเภทนี้
    พระพุทธเจ้ามีแบบปฏิบัติไว้ให้เรียกว่า สุกขวิปัสสโก คือปฏิบัติแบบสบายเริ่มด้วยการรักษา
    ศีลให้บริสุทธิ์ เรื่องศีลนี้นักปฏิบัติต้องสนใจเป็นพิเศษ ถ้าหวังผลในการปฏิบัติแล้ว อย่าให้ศีล
    บกพร่องเป็นอันขาด แม้แต่ด่างพร้อยก็อย่าให้มี ถ้าท่านเห็นว่าศีลเป็นของเล็กน้อย ปฏิบัติยัง
    ขาด ๆ เกิน ๆ แล้ว ท่านไม่มีหวังในมรรคผลแน่นอน เมื่อมีศีลครบถ้วนบริสุทธิ์ผุดผ่องดีแล้ว
    ท่านก็ให้เจริญสมาธิ ตอนสมาธินี้ ท่านฝ่ายสุกขวิปัสสโกท่านไม่เอาดีทางฌานสมาบัติ
    พอมีสมาธิเล็กน้อยก็เจริญวิปัสสนาญาณควบกันไปเลย คุมสมาธิบ้าง เจริญวิปัสสนา
    บ้าง พอสมาธิที่รวบรวมได้ทีละเล็กละน้อยเมื่อสมาธิเข้าถึงปฐมฌาน วิปัสสนาก็มี
    กำลังตัดกิเลสได้จะได้มรรคผล ก็ตอนที่สมาธิเข้าถึงปฐมฌานหากสมาธิยังไม่ถึงปฐมฌาน
    เพียงใด จะได้มรรคผลไม่ได้ นี้เป็นกฎตายตัวเพราะมรรคผลต้องมีฌานเป็นเครื่องรู้ ฌานนี้
    จะบังเกิดขึ้นเมื่อจิตเข้าสู่อุปจารสมาธิ คือเกือบถึงปฐมฌาน ห่างกันระหว่างปฐมฌานกับ
    อุปจารฌานนั้น เพียงเส้นผมเดียวเท่านั้น จิตเมื่อตั้งมั่นในอุปจารสมาธิแล้ว ก็จะเกิดทิพย-
    จักษุฌาน คือเห็นสิ่งที่เป็นทิพย์ และได้ยินเสียงที่เป็นทิพย์ได้ เพราะตามธรรมดาจิตนั้นเป็น
    ทิพย์อยู่แล้วที่ต้องมาชำระกันใหม่ด้วยการฝึกสมาธิ ก็เพราะจิตถูกนิวรณ์ คืออกุศลหุ้มห่อไว้
    ได้แก่ความโลภอยากได้ไม่มีขอบเขต ความผูกโกรธคือพยาบาทจองล้างจองผลาญ ความ
    ง่วง เมื่อขณะปฏิบัติทำสมาธิ ความฟุ้งซ่านของอารมณ์ในขณะฝึกสมาธิ ความสงสัยในผล
    ปฏิบัติ โดยคิดว่าจะได้หรือจะสำเร็จหรือ ทำอย่างนี้จะสำเร็จได้อย่างไรความสงสัยไม่แน่ใจ
    อย่างนี้ เป็นนิวรณ์กั้นฌานไม่ให้เกิดรวมความแล้ว ทั้งห้าอย่างนี้นั่นแหละแม้เพียงอย่างเดียว
    ถ้าอารมณ์ของจิตยังข้องอยู่ฌานจะไม่เกิดจะคอยกีดกันไม่ให้จิตผ่องใส มีอารมณ์เป็นทิพย์
    ตามสภาพปกติได้ จิตเมื่อถูกอกุศลห้าอย่างนี้หุ้มห่อก็มีอารมณ์มืดมนท์รู้สิ่งที่เป็นทิพย์ไม่ได้
    เพราะอำนาจอกุศลคือนิวรณ์ห้านี้จะพ้นจากจิตไปได้ก็ต่อเมื่อจิตทรงอารมณ์ของฌานไว้ได้
    เท่านั้น ถ้าจิตทรงอารมณ์ปฐมญานไม่ได้ จิตก็ต้องตกเป็นทาสของนิวรณ์ อารมณ์ปฐมฌาน
    นั้นมี ๕ เหมือนกันคือ
    ๑. วิตก คำนึงถึงองค์กรรมฐานที่ฝึกตลอดเวลา
    ๒. วิจาร ใคร่ครวญกำหนดรู้ตามในองค์กรรมฐานนั้น ๆ ไม่ให้บกพร่องตรวจตรา
    พิจารณาให้ครบถ้วนอยู่เสมอๆ
    ๓. ปีติ มีความเอิบอิ่มรื่นเริงหรรษา ไม่อิ่มไม่เบื่อในการปฏิบัติพระกรรมฐาน
    ๔. สุข เกิดความ สุขสันต์หรรษาทางกายอย่างไม่เคยปรากฏมาในกาลก่อนมีความสุข
    สดชื่นบอกไม่ถูก
    ๕. เอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์มั่นคงในองค์กรรมฐาน จิตกำหนดตั้งมั่นไม่คลาดจาก
    องค์กรรมฐานนั้นๆ
    ทั้งห้าอย่างนี้เป็นอารมณ์ของปฐมฌาน เมื่อเข้าถึงตอนนี้จิตก็เป็นทิพย์มาก สามารถ
    กำหนดจิตรู้ในสิ่งที่เป็นทิพย์ได ้ก็ผลของวิปัสสนา คือมรรคผลนั้น การที่จะบรรลุถึงได้ต้อง
    อาศัยทิพยจักษุญาณเป็นเครื่องชี้ ตามที่ท่านกล่าวไว้ว่าเมื่อภิกษุบรรลุแล้วก็มีญาณบอกว่ารู้
    แล้ว ที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ ก็ทรงหมายเอาญาณที่เป็นทิพยจักษุญาณนี้ถ้าบรรลุอรหัตต-
    ผลแล้วท่านเรียกว่า วิมุตติญาณทัสสนวิสุทธิ วิมุตติ แปลว่า หลุดพ้น ญาณ แปลว่า รู้
    ทัสสนะ แปลว่า เห็น วิสุทธิ แปลว่า หมดจดอย่างวิเศษ คือ หมดไม่เหลือ หรือ
    สะอาดที่สุด ไม่มีอะไรสกปรก (บอกไว้เพื่อรู้)
    ฉะนั้น ท่านสุกขวิปัสสโก ถึงแม้ท่านจะรีบปฏิบัติแบบรวบรัดอย่างไรก็ตาม ท่าน
    ก็ต้องอาศัยฌานในสมถะจนได้ แต่ได้เพียงฌานเด็กๆ คือปฐมฌาน เป็นฌานกระจุ๋มกระจิ๋ม
    เอาดีเอาเด่นในเรื่องฌานไม่แน่นอนนัก กล่าวโดยย่อ ก็คือ
    ๑. ท่านรักษาศีลบริสุทธิ์ ชนิดไม่ทำเอง ไม่ใช้ให้คนอื่นทำ และไม่ยินดีในเมื่อคนอื่น
    ทำบาป
    ๒. ท่านเจริญสมาธิควบกับวิปัสสนา จนสมาธิรวมตัวถึงปฐมฌานแล้ว ท่านจึงจะได้
    สำเร็จมรรคผล
    ท่านสุกขวิปัสสโก มีกฏปฏิบัติเพียงเท่านี้ ท่านจึงเรียกว่า สุกขวิปัสสโก
    แปลว่า บรรลุแบบง่ายๆ ท่านไม่มีฌานสูง ท่านไม่มีญาณพิเศษอย่างท่านวิชชา-
    สาม ท่านไม่มีฤทธิ์ ท่านไม่มีความรู้พิเศษอะไรทั้งสิ้น เป็นพระอรหันต์ประเภท
    รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ไม่มีคุณพิเศษอื่นนอกจากบรรลุมรรคผล


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 กุมภาพันธ์ 2012
  2. ๐Novice๐

    ๐Novice๐ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤศจิกายน 2011
    โพสต์:
    62
    กระทู้เรื่องเด่น:
    3
    ค่าพลัง:
    +357
    ๒. อัชฌาศัยเตวิชโช

    อัชฌาสัยเตวิชโช หมายถึงท่านที่มีอุดมคติในด้านวิชชาสาม คือทรงคุณสามประการ
    ในส่วนแห่งการปฏิบัติ ได้แก่คุณธรรมดังต่อไปนี้
    ๑. ปุเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติที่แล้วๆ มาได้
    ๒. จุตูปปาตญาณ รู้ว่าสัตว์ที่ตายไปแล้ว และเกิดมานี้ ตายแล้วไปไหน ก่อนเกิดมา
    จากไหน
    ๓. อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวกิเลสให้สิ้นไป
    เมื่อพิจารณาตามคุณพิเศษสามประการนี้แล้วแสดงให้เห็นว่าท่านที่มีอุดมคติในด้าน
    เตวิชโชนี้ ท่านเป็นคนอยากรู้อยากเห็น เมื่อพบเห็นอะไรเข้าก็เป็นเหตุให้คิดนึกถึงสมุฏฐาน
    ที่เกิดว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดมาจากอะไร เดิมก่อนจะเป็นอย่างนั้น เป็นอะไรมาก่อน เช่นเห็นของที่
    มีวัตถุปกปิดก็อยากจะแก้วัตถุที่ปกปิดนั้นออก เพื่อสำรวจตรวจดูของภายใน เห็นของภายใน
    ว่าเป็นอะไรแล้ว ก็อยากจะรู้ต่อไปว่าภายในของนั้นมีอะไรบ้างทำด้วยอะไร เมื่อรู้แล้วก็อยากรู้
    ต่อไปว่าสิ่งนั้น ๆ เกิดมาได้อย่างไรอย่างนี้เป็นต้น
    ท่านประเภทเตวิชโชนี้จะให้ท่านทำตนเป็นคนหวังผลอย่างเดียวโดยไม่ให้พิสูจน์
    ค้นคว้าเลยนั้น ท่านประเภทนี้ทนไม่ไหว เพราะอัชฌาสัยไม่ชอบประเภทคลุมหน้าเดินโดย
    ที่ไม่ได้พิสูจน์ต้นทางปลายทางเสียก่อน ถ้าต้องทำแบบคลุมหน้าเดินอย่างท่านสุกขวิปัสสโก
    แล้วท่านก็ทนไม่ไหวรำคาญใจหยุดเอาเฉย ๆ คนประเภทนี้เคยพบมาในขณะสอนสมณ-
    ธรรม มีจำนวนมาก ประเภทเตวิชโชนั้นส่วนใหญ่มักชอบรู้ชอบเห็นพอให้วิปัสสนาล้วนเธอ
    เข้า เธอก็บ่นอู้อี้ว่าไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลยต่อเมื่อให้กรรมฐานประเภททิพยจักษุญาณ หรือ
    มโนมยิทธิ เธอก็พอใจทำได้อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยจะยากลำบากก็ทนทำจนสำเร็จผล
    ทางที่ได้พิสูจน์มาเป็นอย่างนี้

    แนวปฏิบัติสำหรับเตวิชโช
    ทราบแล้วว่า เตวิชโชมีอะไรบ้าง ขอนำแนวปฏิบัติมาเขียนไว้ เพื่อรู้แนวทาง หากท่าน
    ผู้อ่านประสงค์จะรู้หรือจะนำไปปฏิบัติก็จะสะดวกในการค้นคว้า เตวิชโชหรือท่านผู้ทรงวิชชา-
    สามมีปฏิปทาในการปฏิบัติดังต่อไปนี้
    ๑. การรักษาศีลให้สะอาดหมดจด ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด
    ๒. ฝึกสมาธิในกรรมฐานที่มีอภิญญาเป็นบาท คือกสิณกองใดกองหนึ่งที่เป็นสมุฏฐาน
    ให้เกิดทิพยจักษุญาณ กสิณที่เป็นสมุฏฐานให้เกิดทิพยจักษุญาณนั้นมีอยู่สามกองด้วยกัน คือ
    ๑. เตโชกสิณ เพ่งไฟ
    ๒. อาโลกกสิณ เพ่งแสงสว่าง
    ๓. โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว
    กสิณทั้งสามอย่างนี้ อย่างใดก็ตาม เป็นพื้นฐานให้ได้ทิพยจักษุญาณทั้งสิ้น แต่ตามนัย
    วิสุทธิมรรคท่านกล่าวว่า ในบรรดากสิณทั้งสามอย่างนี้ อาโลกกสิณเป็นกสิณสร้างทิพยจักษุ-
    ญาณโดยตรง ท่านว่าเจริญอาโลกกสินั่นแหละเป็นการดี
    วิธีเจริญอาโลกกสิณเพื่อทิพยจักษุญาณ การสร้างทิพยจักษุญาณด้วยการเจริญ
    อาโลกกสิณนั้น ท่านให้ปฏิบัติดังนี้ ท่านให้เพ่งแสงสว่างที่ลอดมาทางช่องฝาหรือหลังคาให้
    กำหนดจิตจดจำภาพแสงสว่างนั้นไว้ให้จำได้ดี แล้วหลับตากำหนดนึกถึงภาพแสงสว่างที่มอง
    เห็นนั้น ภาวนาในใจพร้อมทั้งกำหนดนึกถึงภาพนั้นไปด้วยภาวนาว่า "อาโลกกสิณัง" แปล
    ว่า แสงสว่างกำหนดนึกไป ภาวนาไป ถ้าภาพแสงสว่างนั้นเลอะเลือนจากไป ก็ลืมตาดูใหม่
    ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนภาพนั้นติดตา ติดใจ นึกคิดขึ้นมาเมื่อไร ภาพนั้นก็ปรากฏแก่ใจตลอด
    เวลา ในขณะที่กำหนดจิตคิดเห็นภาพนั้นระวังอารมณ์จิตจะซ่านออกภายนอกและเมื่อจิต
    เริ่มมีสมาธิ ภาพอื่นมักเกิดขึ้นมาสอดแทรกภาพกสิณเมื่อปรากฏว่ามีภาพอื่นสอดแทรก
    เข้ามา จงตัดทิ้งเสีย โดยไม่ยอมรับรู้รับทราบกำหนดภาพเฉพาะภาพกสิณอย่างเดียวภาพ
    แทรกเมื่อเราไม่สนใจไยดี ไม่ช้าก็ไม่มารบกวนอีกเมื่อภาพนั้นติดตาติดใจจนเห็นได้ทุก
    ขณะจิตที่ปรารถนาจะเห็นได้แล้ว และเป็นภาพหนาใหญ่จะกำหนดจิตให้ภาพนั้นเล็กใหญ่
    ได้ตามความประสงค์ให้สูงต่ำก็ได้ตามใจนึก เมื่อเป็นได้อย่างนั้นก็อย่าเพิ่งคิดว่าได้แล้ว
    ถึงแล้ว จงกำหนดจิตจดจำไว้ตลอดวันตลอดเวลา อย่าให้ภาพแสงสว่างนั้นคลาดจากจิตจง
    เป็นคนมีเวลาคืออย่าคิดว่าเวลานั้นเถอะเวลานี้เถอะจึงค่อยกำหนดการเป็นคนไม่มีเวลา
    เพราะหาเวลาเหมาะไม่ได้นั้นท่านว่าเป็นอภัพพบุคคลสำหรับการฝึกญาณ คือเป็นคนหา
    ความเจริญไม่ได้ ไม่มีทางสำหรับมรรคผลเท่าที่ตนปรารถนานั่นเอง ต้องมีจิตคิดนึกถึง
    ภาพกสิณ ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ ไม่ยอมให้ภาพนั้นคลาดจากจิต ไม่ว่า กิน นอน นั่ง เดิน ยืน
    หรือทำกิจการงานต่อไปไม่ช้าภาพกสิณก็จะค่อยคลายจากสีเดิมเปลี่ยนเป็นสีใสประกาย
    พรึกน้อยๆ และค่อย ๆ ทวีความสดใสประกายมากขึ้น ในที่สุดก็จะปรากฏเป็นสีประกาย
    สวยสดงดงามคล้ายดาวประกายพรึกดวงใหญ่ ตอนนี้ก็กำหนดใจให้ภาพนั้นเล็ก โต สูง ต่ำ
    ตามความต้องการ การกำหนดภาพเล็กโต สูง ต่ำและเคลื่อนที่ไปมาอย่างนี้ จงพยายาม
    ทำให้คล่องจะเป็นประโยชน์ตอนฝึกมโนมยิทธิ คือ ถอดจิตออกท่องเที่ยวมาก เมื่อภาพ
    ปรากฏประจำจิตไม่คลาดเลื่อนได้รวดเร็วเล็กใหญ่ได้ตามประสงค์คล่องแคล่วว่องไวดีแล้ว
    ก็เริ่มฝึกทิพยจักษุญาณได้แล้วเมื่อฝึกถึงตอนนี้ มีประโยชน์ในการฝึกทิพยจักษุญาณ และ
    ฝึกมโนมยิทธิ คือถอดจิตออกท่องเที่ยวและมีผลในญาณต่างๆ ที่เป็นบริวารของทิพย-
    จักษุญาณทั้งหมด เช่น
    ๑. ได้จุตูปปาตญาณ รู้ว่าสัตว์ที่ตายไปแล้วไปเกิด ณ ที่ใด ที่มาเกิดนี้มาจากไหน
    ๒. เจโตปริยญาณ รู้อารมณ์จิตของคนและสัตว์
    ๓. ปุเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติที่เกิดมาแล้วในกาลก่อนได้
    ๔. อตีตังสญาณ รู้เหตุการณ์ในอดีตได้
    ๕. อนาคตังสญาณ รู้เหตุการณ์ในกาลข้างหน้าต่อไปได้
    ๖. ปัจจุปปันนังสญาณ รู้เหตุปัจจุบันว่า ขณะนี้อะไรเป็นอะไรได้
    ๗. ยถากัมมุตาญาณ รู้ผลกรรมของสัตว์ บุคคล เทวดา และพรหมได้ว่าเขา
    มีสุขมีทุกข์เพราะผลกรรมอะไรเป็นเหตุ
    การฝึกกสิณจนถึงระดับดีมีผลมากอย่างนี้ ขอนักปฏิบัติจงอย่าท้อถอย สำหรับวันเวลา
    หรือไม่นานตามที่ท่านคิดหรอก จงอย่าเข้าใจว่าต้องใช้เวลาแรมปี คนว่าง่ายสอนง่ายปฏิบัติ
    ตามนัยพระพุทธเจ้า สั่งสอนแล้ว ไม่นานเลย นับแต่อย่างเลวจัดๆ ก็สามเดือน เป็นอย่างเลว
    มาก อย่างดีมากไม่เกินเจ็ดวันเป็นอย่างช้า ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะท่านผู้นั้นเคยได้ทิพยจัก-
    ษุญาณมาในชาติก่อนๆ ก็ได้เพราะท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรรคว่า "ท่านที่เคยได้ทิพย-
    จักษุญาณมาในชาติก่อนๆ แล้วนั้น พอเห็นแสงสว่างจากช่องฝาหรือหลังคาก็ได้
    ทิพยจักษุญาณทันที "
    เคยพบมาหลายคนเหมือนกัน แม้แต่มโนมยิทธิซึ่งเป็นของยาก
    กว่าหลายร้อยรายที่พอฝึกเดี๋ยวนั้นไม่ทันถึงชั่วโมงเธอก็ได้เลย ทำเอาครูอายเสียเกือบแย่
    เพราะครูเองก็ย่ำต๊อกมาแรมเดือน แรมปี กว่าจะพบดีเอาความรู้นี้มาสอนได้ก็ต้องบุกป่า
    บุกโคลนขึ้นเขาลำเนาไม้เสียเกือบแย่แต่ศิษย์คว้าปับได้บุปอย่างนี้ ครูจะไม่อาย แล้วจะไป
    รออายกันเมื่อไร แต่ก็ภูมิใจอยู่นิดหนึ่งว่า ถึงแม้ครูจะทึบก็ยังมีโอกาสมีศิษย์ฉลาดพออวด
    กับเขาได้
    กำหนดภาพถอนภาพ เมื่อรู้อานิสงส์อาโลกกสิณแล้ว ก็จะได้แนะวิธีใช้ฌานจาก
    ฌานในกสิณต่อไป การเห็นภาพเป็นประกายและรักษาภาพไว้ได้นั้นเป็นฌานต้องการจะดู
    นรกสวรรค์ พรหมโลกหรืออะไรที่ไหน จงทำดังนี้ กำหนดจิตจับภาพกสิณตามที่กล่าวมา
    แล้วให้มั่นคงถ้าอยากดูนรก ก็กำหนดจิตลงต่ำแล้วอธิฐานว่าขอภาพนี้จงหายไป ภาพนรก
    จงปรากฏขึ้นมาแทน เท่านี้ภาพนรกก็จะปรากฏอยากดูสวรรค์กำหนดจิตให้สูงขึ้นแล้วคิดว่า
    ขอภาพกสิณจงหายไป ภาพสวรรค์จงปรากฏแทน ภาพพรหมหรืออย่างอื่นก็ทำเหมือนกัน
    ถ้าฝึกกสิณคล่องแล้วไม่มีอะไรอธิบายอีกเพราะภาพอื่นที่จะเห็นก็เพราะเห็นภาพกสิณก่อน
    แล้วกำหนดจิตให้ภาพกสิณหายไปเอาภาพใหม่มาแทน การเห็นก็เห็นทางใจเช่นเดียวกับ
    ภาพกสิณ แต่ชำนาญแล้วก็เห็นชัดเหมือนเห็นด้วยตาเล่นให้คล่องจนพอคิดว่าจะรู้ก็รู้ได้
    ทันทีทันใดไม่ว่าตื่นนอนใหม่ กำลังง่วงจะนอน ร้อน หนาว ปวดเมื่อย หิว เจ็บไข้ได้ป่วย
    ทำได้ทุกเวลา อย่างนี้ก็ชื่อว่าท่านได้กสิณกองนี้แล้วและได้ทิพยจักษุญาณแล้ว เมื่อได้
    ทิพยจักษุญาณ เสียอย่างเดียวญาณต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ไม่มีอะไรจะต้องทำได้
    ไปพร้อมๆ กัน เว้นไว้แต่ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ท่านว่าต้องมีแบบฝึกต่างหาก แต่ตาม
    ผลปฏิบัติพอได้ทิพยจักษุญาณเต็มขนาดแล้ว ก็เห็นระลึกชาติได้กันเป็นแถว ใครจะระลึก
    ได้มากได้น้อยเป็นเรื่องของความขยันและขี้เกียจ ใครขยันมากก็ระลึกได้มากขยันน้อย
    ก็ระลึกได้น้อยขยันมากคล่องมาก ขยันน้อยคล่องน้อย ไหน ๆ ก็พูดมาถึงปุพเพนิวาสา-
    นุสสติญาณแล้วขอนำวิธีฝึกปุพเพนิวาสานุสสติญาณมากล่าวต่อกันไว้เสียเลย
    ฝึกปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การเจริญปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือฝึก
    วิชาการ ระลึกชาตินั้น ท่านให้ทำดังต่อไปนี้ ท่านให้เข้าฌาน ๔ ในกสิณ
    อย่างใดอย่างหนึ่งต้องเป็นฌานใน
    กสิณอย่างอื่นไม่ได้ นี่ว่าเฉพาะคนเริ่มฝึกใหม่
    ไม่เคยได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณมาในชาติก่อนๆ เมื่อเข้าฌาน ๔ แล้ว ออกจากฌาน ๔
    มาพักอารมณ์อยู่เพียงอุปจารฌาน เรื่องฌานและอุปจารฌานนี้ ขอให้ทำความเข้าใจเอา
    ตอนที่ว่าด้วยฌานจะเขียนต่อไปข้างหน้า หากประสงค์จะทราบก็ขอให้เปิดต่อไปในข้อที่ว่า
    ด้วยฌาน เมื่อพักจิตอยู่เพียงอุปจารฌานแล้วก็ค่อยๆ คิดย้อนถอยหลังถึงเหตุการณ์ที่ล่วง
    มาแล้วในอดีตตั้งแต่เมื่อตอนสายของวัน ถอยไปตามลำดับถึงวันก่อนๆ เดือนก่อนๆ ปี
    ก่อนๆ และชาติก่อนๆ ตามลำดับ ถ้าจิตฟุ้งซ่านก็พักคิดเข้าฌานใหม่ พอจิตสบายก็ถอย
    ออกมาแล้วถอยไปตามที่กล่าวแล้ว ไม่นานก็จะค่อยๆ รู้ค่อยๆเห็น การรู้การเห็นเป็นการ
    รู้เห็นด้วยกำลังฌานอันปรากฏเป็นรูปของฌานคือรู้เห็นทางใจอย่างเดียวกับทิพยจักษุญาณ
    เห็นคล้ายดูภาพยนต์เห็นภาพพร้อมกับรู้เรื่องราวต่างๆ พร้อมกันไปรู้ชื่อ รู้อาการรู้ความ
    เป็นมาทุกอย่างเป็นการสร้างความเพลิดเพลินแก่นักปฏิบัติ ทำให้เกิดความรื่นเริงหรรษา
    มีความสบายใจเป็นพิเศษ ดีกว่ามั่วสุมกับคนมากที่เต็มไปด้วยกิเลสและตัณหามีประโยชน์
    ในการเจริญวิปัสสนาญาณมากเพราะรู้แจ้งเห็นจริงว่า การเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดหา
    ที่สุดมิได้นี้เป็นความจริง การเกิดแต่ละครั้งก็เต็มไปด้วยความทุกข์ทุรนทุรายไม่มีอะไร
    เป็นสุขบางคราวเกิดในตระกูลยากจนบางคราวเกิดในตระกูลเศรษฐีบางคราวเกิดในตระกูล
    กษัตริย์ทรงอำนาจวาสนาบางคราวเป็น เทวดาบางคราวเป็นพรหม บางคราวเป็นสัตว์นรก
    เป็นเปรต เป็นอสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน รวมความว่าเราเป็นมาแล้วทุกอย่าง ไม่ว่าเกิดเป็น
    อะไรก็เต็มไปด้วยความทุกข์ หาการพ้นทุกข์เพราะการเกิดไม่ได้เลยเมื่อเห็นทุกข์ในการ
    เกิดก็เป็นการเห็นอริยสัจ ๔ จัดว่าเป็นองค์วิปัสสนาญาณอันดับสูง การเห็นด้วยปัญญาญาณ
    จัดเข้าในประเภทรู้แจ้งเห็นจริงไม่ใช่เห็นแบบวิปัสสนึก คือการคาดคะเนเดาเอาเองเดาผิด
    บ้างถูกบ้างตามอารมณ์คิดได้บ้างหลง ๆ ลืมๆ บ้าง เป็นวิปัสสนึกที่ให้ผลช้าอาจจะเข้าใจ
    ในอริยสัจได้แต่ก็นานมากและทุลักทุเลเกินสมควร ที่เหลวเสียนั่นแหละมากส่วนที่ได้เป็น
    มรรคผลมีจำนวนน้อยเต็มทน
    ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ผ่อนคลายมานะ นอกจากจะทราบประวัติของตนเอง
    ในอดีตชาติแล้ว ยังช่วยทำให้มีปัญญาญาณรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจได้โดยง่าย ยิ่งกว่านั้น
    ยังคลายมานะ ความถือตนถือตัว อันเป็นกิเลสตัวสำคัญ ที่แม้พระอนาคามีก็ยังตัดไม่ได้
    จะตัดได้ก็ต่อเมื่อถึงอรหัตตผลนั่นแหละ แต่เมื่อท่านได้ญาณนี้แล้ว ถ้าท่านคิดรังเกียจใคร
    คนหรือสัตว์ รังเกียจในความโสโครก หรือฐานะ ชาติตระกูล ท่านก็ถอยหลังชาติเข้าไปหา
    ว่า ชาติใด เราเคยเป็นอย่างนี้บ้าง ท่านจะพบว่าท่านเองเคยครองตำแหน่งนี้มาก่อน เมื่อ
    พบแล้ว จงเตือนใจตนเองว่า เมื่อเราเป็นอย่างเขามาก่อน เขากับเราก็มีสภาพเสมอกัน
    เราเป็นอย่างนั้นมาก่อน เขากับเรามีสภาพเสมอกัน เราเป็นอย่างนั้นมาก่อนเขาก็ชื่อว่า
    เราเป็นต้นตระกูล สภาพการณ์อย่างนั้น ที่เขาเป็นอย่างนั้น เพราะเขารับมรดกตกทอด
    มาจากเราเราจะมารังเกียจทายาทของเราด้วยเรื่องอะไร ถ้าเรารังเกียจทายาทก็ควรจะ
    รังเกียจตัวเองให้มากกว่าเพราะทราบแล้วว่าเป็นอย่างนั้นไม่ดี เป็นที่น่ารังเกียจเราทำไม
    จึงไม่ทำลายกรรมนั้นเสียกลับปล่อยให้เป็นมรดกตกทอดมาให้บรรดาอนุชนรุ่นหลังต้อง
    รับกรรมต่อ ๆ กันมา เป็นความชั่วร้ายเลวทรามของเราต่างหาก ไม่ใช่เขาเลว คิดตัดใจ
    ว่าเราจะไม่ถือเพศชาติตระกูล ฐานะเป็นสำคัญ ใครเป็นอย่างไรก็มีสภาพเสมอกันโดย
    เกิดแล้วตายเหมือนกันหมด ฐานะความเป็นอยู่ ชาติ ตระกูล ในปัจจุบัน เป็นเสมือนความ
    ฝันเลื่อนลอยไม่มีอะไรเป็นของจริง ในที่สุดก็ต้องตกเป็นเหยื่อของมัจจุราชทั้งสิ้น คิดตัด
    อย่างนี้ จะบรรเทามานะความถือทะนงตัวเสียได้ ความสุขสงบใจก็จะมีตลอดวันคืนจะ
    ก้าวสู่อรหัตตผลได้อย่างไม่ยากนัก

     
  3. ๐Novice๐

    ๐Novice๐ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤศจิกายน 2011
    โพสต์:
    62
    กระทู้เรื่องเด่น:
    3
    ค่าพลัง:
    +357
    ๓. อัชฌาศัยฉฬภิญโญ
    อัชฌาสัยของท่านที่ชอบมีฤทธิ์มีเดช ทำอะไรต่ออะไรเกินกว่าสามัญชนจะทำได้
    เรียกว่า อัชฌาสัยของท่านผู้มีฤทธิ์ หรือท่านผู้ทรงอภิญญา ๖
    อภิญญา ๖ นี้ เป็นคุณธรรมพิเศษสำหรับนักปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องฝึกฝนตน
    เป็นพิเศษ ให้ได้คุณธรรมห้าประการก่อนที่จะได้บรรลุมรรคผล หมายความว่าในระหว่างที่
    ทรงฌานโลกีย์นั้น ต้องฝึกฝนให้สามารถทรงคุณสมบัติห้าประการดังต่อไปนี้
    ๑. อิทธิฤทธิ์ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
    ๒. ทิพยโสต มีหูเป็นทิพย์ สามารถฟังเสียงในที่ไกล หรือเสียงอมนุษย์ได้ยิน
    ๓. จุตูปปาตญาณ รู้การตายและการเกิดของคนและสัตว์
    ๔. เจโตปริยญาณ รู้ความรู้สึกในความในใจของคนและสัตว์
    ๕. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติต่างๆ ที่ล่วงมาแล้วได้
    ทั้งห้าอย่างนี้ จะต้องฝึกให้ได้ในสมัยที่ทรงฌานโลกีย์ ต่อเมื่อฝึกฝนคุณธรรมหก
    ประการนี้คล่องแคล่วว่องไวดีแล้ว จึงฝึกฝนอบรมในวิปัสสนาญาณต่อไป เพื่อให้ได้อภิญญา
    ข้อที่ ๖ คือ อาสวักขยญาณ ได้แก่ การทำอาสวะให้หมดสิ้นไป

    วิธีฝึกอภิญญา
    วิธีฝึกอภิญญานี้ หรือ ฝึกวิชชาสาม และปฏิสัมภิทาญาณ โปรดทราบว่า
    เอามาจากวิสุทธิมรรค ไม่ใช่ผู้เขียนเป็นผู้วิเศษทรงคุณพิเศษตามที่เขียน เพียงแต่ลอก
    มาจากวิสุทธิมรรค และดัดแปลงสำนวนเสียใหม่ให้อ่านง่ายเข้าใจเร็ว และใช้คำพูดเป็น
    ภาษาตลาดที่พอจะรู้เรื่องสะดวกเท่านั้นเองโปรดอย่าเข้าใจว่าผู้เขียนแอบเป็นพระอรหันต์
    ปฏิสัมภิทาญาณไปเสียแล้วนรกจะเล่นงานผู้เขียนแย่ ส่วนใหญ่ในข้อเขียนก็เอามาจาก
    วิสุทธิมรรค และเก็บเล็กผสมน้อยคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์บ้างตามแต่จะจำได้ สำหรับ
    อภิญญาข้อ ๓ ถึงข้อ ๕ ได้อธิบายมาแล้วในวิชชาสาม สำหรับในอภิญญานี้จะอธิบาย
    เฉพาะข้อ ๑ กับข้อ ๒ เท่านั้น

    อิทธิฤทธิ์

    ญาณข้อ ๑ ท่านสอนให้ฝึกการแสดงฤทธิ์ต่างๆ การแสดงฤทธิ์ทางพระพุทธ-
    ศาสนานี้ท่านสอนให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
    ท่านให้เจริญคือฝึกในกสิณแปดอย่างให้ชำนาญ กสิณแปดอย่างนั้น
    มีดังนี้
    ๑. ปฐวีกสิณ เพ่งธาตุดิน
    ๒. อาโปกสิณ เพ่งธาตุน้ำ
    ๓. เตโชกสิณ เพ่งไฟ
    ๔. วาโยกสิณ เพ่งลม
    ๕. ปีตกสิณ เพ่งสีเหลือง
    ๖. นีลกสิณ เพ่งสีเขียว
    ๗. โลหิตกสิณ เพ่งสีแดง
    ๘. โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว
    หลือกสิณอีกสองอย่างคือ อาโลกสิณ เพ่งแสงสว่าง และอากาสกสิณ
    เพ่งอากาศ ท่านให้เว้นเสีย
    ทั้งนี้จะเป็นเพราะอะไรท่านไม่ได้อธิบายไว้ แต่สำหรับ
    ท่านที่ทรงอภิญญาจริงๆ ที่เคยพบในสมัยออกเดินธุดงค์ท่านบอกว่า ท่านไม่ได้เว้น
    ท่านทำหมดทุกอย่างครบ ๑๐ กอง ท่านกล่าวว่า กสิณนี้ถ้าได้กองแรกแล้ว กองต่อไป
    ไม่มีอะไรมากทำต่อไปไม่เกิน ๗ วันก็ได้ กองยากจะใช้เวลานานอยู่กองแรกเท่านั้น
    เอง ต่อไปจะได้อธิบายในการปฏิบัติกสิณพอเป็นตัวอย่าง

    ปฐวีกสิณ

    กสิณนี้ท่านให้เพ่งดิน เอาดินมาทำเป็นรูปวงกลม โดยใช้สะดึงขึงผ้าให้ตึง
    แล้วเอาดินทา เลือกเฉพาะดินสีอรุณ แล้วท่านให้วางไว้ในที่พอเหมาะที่จะมองเห็น
    ไม่ใกล้และไกลเกินไป เพ่งดูดินให้จำได้แล้วหลับตานึกถึงภาพดินนั้น ถ้าเลือนไปจาก
    ใจ ก็ลืมตาดูดินใหม่ จำได้ดีแล้วก็หลับตานึกถึงภาพดินนั้น จนภาพนั้นติดตา ต่อไป
    ไม่ต้องดูภาพดินภาพนั้นก็ติดตาติดใจจำได้อยู่เสมอ ภาพปรากฏแก่ใจชัดเจน จน
    สามารถบังคับภาพนั้นให้เล็กโต สูง ต่ำได้ตามความประสงค์อย่างนี้เรียกว่า อุคหนิมิต
    หยาบ ต่อมาภาพดินนั้นจะค่อยๆ เปลี่ยนสีไปที่ละน้อย จากสีเดิมไปเป็นสีขาวใส จนใส
    หมดก้อน และเป็นประกายสวยสดงดงามคล้ายแก้วเจียระไนอย่างนี้เรียกว่า ถึงอุป-
    จารฌานละเอียด

    ต่อไปภาพนั้นจะสวยมากขึ้นจนมองดูระยิบระยับจับสามตา เป็นประกายหนาทึบ
    อารมณ์จิตตั้งมั่นเฉยต่ออารมณ์ภายนอกกายคล้ายไม่มีลมหายใจ อย่างนี้เป็นฌาน ๔
    เรียกได้ว่า ฌานปฐวีกสิณเต็มที่แล้ว
    เมื่อได้อย่างนี้แล้ว ท่านผู้ทรงอภิญญาท่านนั้นเล่าต่อไปว่า อย่าเพิ่งทำกสิณกอง
    ต่อไปเราจะเอาอภิญญากัน ไม่ใช่ทำพอได้ เรียกว่าจะทำแบบสุกเอาเผากินไม่ได้ต้อง
    ให้ได้เลยทุกอย่าง ได้อย่างดีทั้งหมด ถ้ายังบกพร่องแม้แต่นิดหนึ่งก็ไม่ยอมเว้น ต้องดี
    ครบถ้วนเพื่อให้ได้ดีครบถ้วน ท่านว่าพอได้ตามนี้แล้ว ให้ฝึกฝนเข้าฌานออกฌาน คือ
    เข้าฌาน ๑. ๒. ๓. ๔. แล้วเข้าฌาน ๔. ๓. ๒. ๑. แล้วเข้าฌานสลับฌาน คือ ๑. ๔. ๒.
    ๓. ๓. ๑. ๔. ๒. ๔. ๑. ๒. ๓. สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้จนคล่อง คิดว่าจะเข้าฌาน
    ระดับใดก็เมื่อใดก็ได้
    ต่อไปก็ฝึกนิรมิตก่อน ปฐวีกสิณเป็นธาตุดิน ตามคุณสมบัติท่านว่า สามารถ
    ทำของอ่อนให้แข็งได้ สำหรับท่านที่ได้กสิณนี้ เมื่อเข้าฌานชำนาญแล้ว ก็ทดลองการ
    นิรมิตในตอนแรกท่านหาน้ำใส่แก้วหรือภาชนะอย่างใดก็ได้ ที่ขังน้ำได้ก็แล้วกันเมื่อได้
    มาครบแล้วจงเข้าฌาน ๔ ในปฐวีกสิณ แล้วออกฌาน ๔ หยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน คือ
    พอมีอารมณ์นึกคิดได้ในขณะที่อยู่ในฌานนั้น นึกคิดไม่ได้ เมื่อถอยจิตมาหยุดอยู่ที่
    อุปจารฌานแล้วอธิษฐานว่า ขอน้ำตรงที่เอานิ้วจิ้มลงไปนั้นจงแข็งเหมือนดิน
    ที่แข็ง แล้วก็เข้าฌาน ๔ ใหม่
    ถอยออกจากฌาน ๔ หยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน
    ลองเอานิ้วมือจิ้มน้ำดู ถ้าแข็งก็ใช้ได้แล้วก็เล่นให้คล่องต่อไป ถ้ายังไม่แข็งต้องฝึกฝน
    ฌานให้คล่องและมั่นคงกว่านั้น เมื่อขณะฝึกนิรมิตอย่าทำให้คนเห็น ต้องทำที่ลับเฉพาะ
    เท่านั้น ถ้าทำให้คนเห็น พระพุทธเจ้าท่านปรับโทษไว้เราเป็นนักเจริญฌาน ต้องไม่หน้า
    ด้านใจด้านจนกล้าฝ่าฝืนพระพุทธอาณัติ เมื่อเล่นน้ำในถ้วยสำเร็จผลแล้ว ก็คำว่าสำเร็จ
    นั้น หมายความว่าพอคิดว่าเราจะให้น้ำแข็งละน้ำก็แข็งทันที โดยเสียเวลาไม่ถึงเสี้ยว
    นาที อย่างนี้ใช้ได้ ต่อไปก็ทดลองในแม่น้ำและอากาศเดินบนน้ำบนอากาศให้น้ำในแม่น้ำ
    และอากาศเหยียบไปนั้น แข็งเหมือนดินและหิน ชำนาญดีแล้วก็เลื่อนไปฝึกกสิณอื่น
    ท่านว่าทำคล่องอย่างนี้กสิณเดียว กสิณอื่นพอนึกขึ้นมาก็เป็นทันทีอย่างเลวสุดก็เพียง ๗
    วัน ได้กอง เสียเวลาฝึกอีก ๙ กองเพียงไม่เกินสามเดือนก็ได้หมด เมื่อฝึกครบหมด
    ก็ฝึกเข้าฌานออกฌานดังกล่าวมาแล้วและนิรมิตสิ่งต่างๆ ตามความประสงค์ อานุภาพ
    ของกสิณ จะเขียนไว้ตอนว่าด้วยกสิณ ๑๐

    (จบอิทธิฤทธิ์ไว้เพียงเท่านี้)

     
  4. ๐Novice๐

    ๐Novice๐ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤศจิกายน 2011
    โพสต์:
    62
    กระทู้เรื่องเด่น:
    3
    ค่าพลัง:
    +357
    ๔. อัชฌาสัยปฏิสัมภิทัปปัตโต

    อัชฌาสัยของท่านผู้มีความต้องการในความรู้พิเศษ ที่มีความรู้รอบตัวยิ่งกว่า
    ท่านผู้ทรงอภิญญา ๖ เรียกว่าอัชฌาสัยของท่านผู้ทรงปฏิสัมภิทัปปัตโต
    ท่านผู้ทรงปฏิสัมภิทัปปัตโตนี้ แปลว่ามีความรู้พร้อม คือท่านทรงคุณธรรม
    พิเศษกว่าท่านเตวิชโช ฉฬภิญโญหลายประการ เช่น
    ๑. มีความสามารถทรงความรู้พร้อม ไม่บกพร่องในหัวข้อธรรมวินัยที่
    พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ได้โดยครบถ้วน แม้ท่านจะย่างเข้ามาอุปสมบทในพระ-
    พุทธศาสนาเพียงวันเดียวทั้งๆ ที่ไม่เคยศึกษาคำสอนมาก่อนเลย ตามนัยที่ปรากฏ
    ในพระสูตรต่างๆ ที่มาในพระไตรปิฎกว่า มีมากท่านที่มีความเลื่อมใสในสมเด็จ-
    พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วพอฟังเทศน์จบ ท่านก็ได้บรรลุอรหันต์ชั้นปฏิสัมภิทาญาณ
    ท่านทรงพระไตรปิฏก คือเข้าใจในข้อวัตรปฏิบัติครบถ้วนทุกประการได้ทันท่วงที
    ๒. มีความฉลาดในการขยายความในธรรมภาษิต ที่พระพุทธเจ้าตรัส
    ไว้โดยย่อให้พิสดารได้อย่างถูกต้อง
    ๓. ย่อความในคำสอนที่พิสดารให้สั้นเข้า โดยไม่เสียใจความ
    ๔. สามารถเข้าใจ และพูดภาษาต่างๆ ได้ทุกภาษา ไม่ว่าภาษามนุษย์
    หรือภาษาสัตว์
    ตามข้อความในข้อ ๔ นี้ เคยพบพระองค์หนึ่งในสมัยปัจจุบันนี้ คือ
    พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๕ ต่อกัน พระรูปนั้นมีชื่อว่า "พระสร้อย" ท่านบอกว่า
    ท่านเป็นชาวจังหวัดสระบุรี ไม่เคยเรียนหนังสือมาก่อนเลย แม้หนังสือไทยนี้
    ปกติท่านก็อ่านไม่ออก ท่านว่าเมื่อท่านอายุได้ ๗ ปี มีพระในถ้ำเขตสระบุรีท่าน
    หนึ่งไปเยี่ยมโยมท่านที่บ้าน ตัวท่านเองเมื่อเห็นพระรูปนั้นเข้าท่านก็เกิด
    ความรักขึ้นมาเมื่อพระรูปนั้นจะกลับถ้ำ ได้ออกปากชวนท่านไปฃอยู่ด้วยท่าน
    ก็ขออนุญาตโยมหญิง - ชายจะไปอยู่กับพระรูปนั้น โยมทั้งสองก็อนุญาตด้วย
    ความเต็มใจท่านเล่าให้ฟังว่าเมื่อไปอยู่กับพระรูปนั้นก็ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ
    เพราะในถ้ำนั้นมีพระอยู่ ๒ - ๓ รูป ท่านบิณฑบาตกลับมาแล้ว ท่านฉันจังหันเสร็จ
    ต่างก็บูชาพระแล้วนั่งภาวนากันตลอดวันตลอดคืนไม่ใคร่มีเวลาพูดคุยกัน ท่านก็
    สอนให้ท่านอาจารย์สร้อยภาวนาด้วยทำอยู่อย่างนั้นจนครบบวชพระที่ท่านพาไปก็
    พาออกมาบวชที่บ้านบวชแล้วก็พากลับมาอยู่ถ้ำนั่งภาวนาตามเดิม ต่อมาเมื่อ
    พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๐๔ ท่านป่วยได้เดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่บางกะปิ พระนคร
    ใครจะนิมนต์ท่านเข้าไปในชายคาบ้านท่านไม่ยอมเข้าต่อมาพลเรือตรีสนิทจำ
    นามสกุลไม่ได้เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือไปพบเข้ามีความเลื่อมใส นิมนต์ให้มา
    รักษาตัวที่กรมแพทย์ทหารเรือให้พักอยู่ที่ตึก ๑ เป็นตึกคนไข้พิเศษ ปฏิปทา
    ของท่านอาจารย์สร้อยที่มาอยู่ที่กรมแพทย์ทหารเรือก็คือ ตอนเช้าท่านจะต้อง
    ออกบิณฑบาตทุกวันท่านไม่ได้ไปไกล ออกจากตึก ๑ ไปที่ประตูกรมแพทย์ฯ
    ที่ตรงนั้นมีต้นมะฮอกกานี อยู่ต้นหนึ่งเป็นต้นไม้ มีพุ่มไสว สาขาใหญ่มาก ท่าน
    เอาบาตรของท่านไปแขวนที่กิ่งมะฮอกกานี แล้วท่านก็ยืนหลับตาอยู่สักครู่ ไม่เกิน
    ๑๕ นาที ท่านก็ลืมตาขึ้นแล้วเอาบาตรมา เดินกลับเข้าห้องพักคนป่วย ที่ท่าน
    ไปยืนอยู่นั้นเป็นทางผ่านเข้าออกของคนไปมาเป็นปกติไม่มีขาดระยะคนเดินผ่าน
    ทุกคนเห็นท่านยืนเฉยๆ ไม่เห็นใครเอาอะไรมาใส่ให้ แต่ทุกครั้งที่ท่านเอาบาตร
    กลับมาจะต้องมีข้าวสุกสีเหลืองน้อยๆ และดอกไม้แปลกๆ ที่ไม่เคยเห็นในภพนี้
    ติดมาด้วย ๒ - ๓ ดอกทุกครั้ง สร้างความแปลกใจแก่ผู้พบเห็นเป็นประจำ บาตร
    ที่ท่านจะเอาไปแขวนนั้นนายทหารเป็นคนจัดให้ นายทหารผู้นั้นยืนยันว่า ผมตรวจ
    และทำความสะอาดทุกวัน ผมรับรองว่าบาตรว่างไม่มีอะไรจริงๆ เมื่อท่านเอา
    บาตรไปแขวนก็อยู่ในสายตาของพวกผมเพราะไปไม่ไกลห่างจากตึก ๑ ประมาณ
    ไม่ถึง ๑๐ เมตร และติดกับยามประตูกรมแพทย์ หมายถึงที่ท่านไปยืนเอาบาตร
    แขวนต้นไม้ แต่แปลกที่พวกเราไม่เห็นว่าใครเอาของมาใส่เลย ทุกครั้งที่ท่านเอา
    บาตรมาส่งให้กลับมีข้าวและดอกไม้ทุกวัน ปกติท่านสอนเตือนให้คณะนายทหาร
    ละชั่วประพฤติดีทุกวันทำเอานายทหารเลิกสุรายาเมาไปหลายคน

    รู้ภาษาต่างประเทศ
    วันหนึ่งผู้เขียนได้ไปที่กรมแพทย์ทหารเรือ พอไปถึงพวกนายทหารก็เล่า
    ให้ฟังแล้วคิดในใจว่าท่านผู้นี้อาจจะไม่ใช่ปุถุชนคนธรรมดา ประเภทไม่เป็นเรื่อง
    เป็นราวอย่างผู้เขียนคิดว่าอย่างน้อยท่านอาจจะได้ฌานโลกีย์ อย่างสูงอาจเป็น
    พระอริยะก็ได้ ที่คิดอย่างนั้นไม่ใช่หมายความว่าผู้เขียนมีฌานพิเศษเป็นเครื่องรู้
    ความจริงไม่มีอะไรนอกจากสนใจและสงสัยเท่านั้นจึงคุยกับบรรดานายทหารว่า
    เอาอย่างนี้ซิ เรามาลองท่านดูสักวิธีหนึ่ง คือลองพูดภาษาต่างๆ กับท่าน ถ้าท่าน
    รู้เรื่องและพูดได้ทุกภาษาแล้ว ฉันคิดว่าพระองค์นี้เป็นพระอริยะขั้นปฏิสัมภิทาญาณ
    เพราะท่านผู้ได้ปฏิสัมภิทาญาณนั้นต้องเป็นพระอรหันต์ก่อน คุณสมบัติปฏิสัมภิทา-
    ญาณจึงปรากฏไม่เหมือนเตวิชโชและฉฬภิญโญทั้งสองอย่างนี้ ได้ตั้งแต่ฌานโลกีย์
    จึงรวบรวมนายทหารที่พูดภาษาต่างประเทศได้ ๖ ภาษา คือ
    ๑. ภาษาอังกฤษ
    ๒. ภาษาฝรั่งเศส
    ๓. ภาษาเยอรมัน
    ๔. ภาษาสเปน
    ๕. ภาษาญี่ปุ่น
    ๖. ภาษามลายู
    ได้ส่งนายทหารที่ชำนาญภาษานั้น ๆ ไปพูดกับท่าน ท่านก็พูดด้วยได้ทุกภาษา
    และพูดได้อย่างเขาเหล่านั้น เล่นเอานายทหารชุดนั้นงงไปตาม ๆ กันเมื่อท่านถูกถาม
    ว่าท่านเรียนภาษาต่าง ๆ มาจากไหน ? ท่านตอบว่า ท่านไม่เคยเรียนมาก่อนเลย เห็น
    เขาพูดมาก็มีความเข้าใจ และพูดได้ตามต้องการ ท่านว่ามีความรู้สึกเช่นเดียวกับพูด
    ภาษาไทยเมื่อพบเข้าอย่างนี้ทำให้คิดถึงตำรา คือพระไตรปิฎก ว่าท่านผู้นี้อาจเป็น
    พระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทาญาณตามนัยที่ท่านอธิบายไว้ก็ได้ แต่ท่านจะเป็นพระอรหันต์
    หรือไม่ ผู้เขียนไม่รับรองแต่ก็ต้องมานั่งคิดนอนตรองค้นคว้าหาหลักฐานเป็นการใหญ่
    แต่ละเล่มท่านก็เขียนว่า ท่านที่จะได้ปฏิสัมภิทาญาณมีการรู้ภาษาต่างๆ เป็นเครื่อง
    สังเกตต้องเป็นพระอรหันต์ก่อนท่านอาจารย์สร้อยท่านรู้ภาษาอย่างไม่จำกัดได้ ท่าน
    จะเป็นพระอรหันต์ไหมหนอ โปรดช่วยกันค้นคว้าหาเหตุผล มายืนยันด้วย ใครพบ
    เหตุผลหลักฐานก่อนกันก็ควรบอกกันต่อ ๆ ไปเพื่อความเข้าใจถูกในผลของการ
    ปฏิบัติสมณธรรม

    ปฏิสัมภิทาญาณปฏิบัติ
    ปฏิสัมภิทาญาณ หรือปฏิสัมภิทัปปัตโตนี้ เป็นระดับของท่านผู้ทรงคุณพิเศษ
    ครอบงำเตวิชโชและฉฬภิญโญทั้งหมด เพราะเหตุนี้ ท่านผู้ทรงปฏิสัมภิทาญาณนี้จึง
    ต้องปฏิบัติในกสิณทั้งสิบได้ครบถ้วน ตามนัยที่กล่าวมาแล้วในฉฬภิญโญ เมื่อชำนาญ
    ในฉฬภิญโญคือชำนาญในกสิณแล้ว ท่านเจริญในอรูปฌานอีก ๔ คือ

    ๑. อากาสานัญจายตนะ
    ท่านเพ่งอากาศเป็นอารมณ์ โดยกำหนดหมายจิตคิดไว้เสมอว่า ในโลกนี้
    ไม่มีอะไรเป็นแท่งทึบ ไม่มีอะไรคงสภาพเป็นก้อนเป็นแท่งอยู่ตลอดกาลสมัย ไม่ช้า
    นานเท่าใดก็ต้องอันตรธานสูญไปคล้ายอากาศ ท่านไม่มีความนิยม ในรูปสังขาร
    เห็นสังขารเป็นโทษ เพราะพิจารณาเห็นว่าสังขารทั้งหลายเป็นแหล่งของความทุกข์
    และความชั่วช้าสารเลว สังขารเต็มไปด้วยความทุกข์อันเกิดจากความอยากไม่มี
    สิ้นสุด ความร้อน ความหนาว ความป่วยไข้ ทุกขเวทนาอย่างสาหัสจะพึงมีมาก็เพราะ
    สังขารเป็นปัจจัย ท่านมีความเกลียดชังในสังขารเป็นที่สุด กำหนดจิตคิดละสังขาร
    ในชาติต่อๆ ไปไม่ต้องการสังขารอีกถือเป็นอากาศธาตุเป็นอารมณ์ คิดว่าสังขารนี้
    เรายอมเป็นทาสรับทุกข์ของสังขารเพียงชาตินี้ชาติเดียว ชาติต่อ ๆ ไปเราไม่
    ต้องการสังขารอีกความต้องการก็คือ หวังความว่างเปล่าจากสังขารต้องการมีสภาพ
    เป็นอากาศเป็นปกติ
    การเจริญอรูปกรรมฐานนี้ ทุกอย่างจะต้องยกเอากสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง
    มาเป็นอารมณ์ก่อนเสมอ คือเข้าฌานในกสิณนั้นๆ จนถึงฌาน ๔ แล้วเอานิมิตใน
    กสิณนั้นมาเป็นอารมณ์ในอรูปกรรมฐาน เช่น อากาสานัญจายตนะนี้ท่านให้กำหนด
    นิมิตในรูปกสิณก่อนแล้วพิจารณารูปกสิณนั้นให้เห็นเป็นโทษโดยกำหนดจิตคิดว่า
    หากเรายังต้องการรูปอยู่เพียงใดความทุกข์อันเนื่องจากรูปย่อมปรากฏแก่เรา
    เสมอไปหากเราไม่มีรูปแล้วไซร้ทุกข์ภัยอันมีรูปเป็นเหตุก็จะไม่ปรากฏแก่เรา แล้ว
    ก็เพิกคืออธิษฐานรูปกสิณนั้นให้เป็นอากาศ ยึดถืออากาศเป็นอารมณ์ ทำอย่างนี้
    จนจิตตั้งอยู่ในฌาน ๔ เป็นปกติชื่อว่าได้กรรมฐานกองนี้

    ๒. วิญญาณัญจายตนะ

    วิญญาณัญจายตนะนี้ เป็นอรูปฌานที่สอง ท่านผู้ปฏิบัติมุ่งหมายกำหนด
    เอาวิญญาณเป็นสำคัญคือ พิจารณาเห็นโทษของรูป และมีความเบื่อหน่ายในรูป
    ตามที่กล่าวมาแล้ว ในอากาสานัญจายตนะท่านกำหนดจิตคิดว่า เราไม่ต้องการ
    มีรูปต่อไปอีก ต้องการแต่วิญญาณอย่างเดียว เพราะรูปเป็นทุกข์ วิญญาณต้องรับ
    ทุกข์อย่างสาหัสก็เพราะมีรูปเป็นปัจจัยถ้ารูปไม่มี มีแต่วิญญาณ ทุกข์ก็จะไม่มีมา
    เบียดเบียน เพราะทุกข์ต่างๆ ต้องมีสังขารจึงเกาะกุมได้ ถ้ามีแต่วิญญาณทุกข์ก็
    หมดโอกาสจะทรมานได้ แล้วท่านก็จับรูปกสิณเป็นอารมณ์ แล้วกำหนดวิญญาณ
    เป็นสำคัญจนตั้งอารมณ์อยู่ในฌาน ๔ เป็นปกติ ท่านที่ได้ฌานนี้มีประโยชน์ใน
    การตรวจสอบจิตวิญญาณของตนเอง และของผู้อื่นได้อย่างชัดเจน

    ๓. อากิญจัญญายตนะ

    อากิญจัญญายตนะนี้ ท่านพิจารณาว่าไม่มีอะไรเลย หรือไม่มีอะไรเหลือต่าง
    จากอากาสานัญจายตนะ เพราะ อากาสานัญจายตนะยังมีการกำหนดว่ามีอากาศ
    เป็นอารมณ์ อากิญจัญญายตนะนี้ ท่านไม่กำหนดหมายอะไรเลย ไม่ต้องการอะไร
    ทั้งสิ้น ไม่ต้องการรูปและแม้แต่มีวิญญาณ ด้วยท่านคิดว่าแม้รูปไม่มี วิญญาณยัง
    มีอยู่ วิญญาณก็ยังรับสุขรับทุกข์ทางด้านอารมณ์ เพื่อตัดให้สิ้นไปท่านไม่ต้องการ
    อะไรเลยแม้แต่ความหวังในอารมณ์ ปล่อยอารมณ์จากความหวังใดๆ ทั้งหมดโดย
    กำหนดจิตจับอารมณ์ในรูปกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งในรูปฌานแล้วต่อไปก็เพิกรูปกสิณ
    นั้นเสียกำหนดจิตให้ว่างเปล่าจากอารมณ์เป็นปกติ จนอารมณ์จิตตั้งอยู่ในฌาน ๔
    เป็นปกติ

    ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ

    ฌานนี้ท่านว่า มีวิญญาณก็ไม่ใช่ หรือจะว่าไม่มีวิญญาณก็ไม่ใช่ สร้างความ
    รู้สึกเหมือนคนไม่มีวิญญาณ คือไม่ยอมรับรู้อะไรทั้งหมด ใครจะชม หรือนินทาว่า
    ร้ายเอาของดีของเลวมาให้ หรือนำไป หนาว ร้อน หิว กระหาย เจ็บ ป่วย รวมความ
    ว่าเหตุของความทุกข์ความสุขใดๆ ไม่มีความต้องการรับรู้ ทำเสมือนกับไม่มีอะไร
    เกิดขึ้นแบบในสมัยนี้เคยพบ อาจารย์กบ วัดเขาสาริกา องค์หนึ่ง ท่านเจริญแบบ
    นี้ วิญญาณท่านมี ท่านรู้หนาวรู้ร้อนแต่ท่านทำเหมือนไม่รู้ ฝนตกฟ้าร้องท่านก็นอน
    เฉยลมหนาวพัดมาท่านไม่มีผ้าห่มท่านก็นอนเฉย ใครไปใครมาท่านก็เฉย ทำไม่รู้
    เสียบางรายไปนอนเฝ้าตั้งสามวันสามคืนท่านไม่ยอมพูดด้วย ถึงเวลาออกมาจากกุฎี
    ท่านก็คว้าฆ้องตีโหม่งๆ ปากก็ร้องว่าทองหนึ่งๆๆๆ แล้วท่านก็นอนของท่านต่อไป
    คนเลื่อมใสมากถึงกับตั้งสำนักศิษย์หลวงพ่อกบขึ้นเดี๋ยวนี้คณะศิษย์หลวงพ่อกบมาก
    มายสามัคคีกันดีเสียด้วย ทำอะไรก็พร้อมเพรียงกันทำน่าสรรเสริญ ก่อนที่จะกำหนด
    จิตคิดว่าไม่มีอะไรเป็นจุดหมายของจิต ท่านก็ต้องยกรูปกสิณ จับนิมิต ในรูปกสิณ
    เป็นอารมณ์ก่อนเหมือนกัน การเจริญในอรูปฌานนี้ ท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยได้รูปฌาน
    ในกสิณคงจะคิดว่ายากมาก ความจริงถ้าได้ฌานในรูปกสิณแล้วไม่ยากเลยเพราะ
    อารมณ์สมาธิก็ทรงอยู่ขั้นฌาน ๔ เท่านั้นเอง เพราะช่ำชองมาในกสิณสิบแล้วมาจับ
    ทำเข้าจริงๆ ก็จะเข้าถึงจุดภายในสามวันเจ็ดวันเท่านั้น
    เมื่อทรงอรูปฌานได้ครบถ้วนแล้ว ก็ฝึกเข้าฌานออกฌาน ตั้งแต่กสิณมา
    แล้วเลยเข้าอรูปฌานตามนัยที่กล่าวมาแล้วในบทว่าด้วยอภิญญาหก สำหรับอภิญญา
    หรือญาณในวิชชาสามย่อมใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตั้งแต่ทรงฌานโลกีย์ สำหรับปฏิ-
    สัมภิทาญาณคือคุณพิเศษ ๔ ข้อในปฏิสัมภิทาญาณนี้ จะได้ก็ต่อเมื่อสำเร็จอรหัตต-
    ผลแล้ว ในขณะที่ทรงฌานโลกีย์อยู่ คุณพิเศษ ๔ อย่างนั้นยังไม่ปรากฏ ปฏิสัมภิทา-
    ญาณแปลกจากเตวิชโชและฉฬภิญโญตรงนี้
     
  5. ชนะ สิริไพโรจน์

    ชนะ สิริไพโรจน์ ทีมผูัดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    5,891
    กระทู้เรื่องเด่น:
    14
    ค่าพลัง:
    +35,260
    สาธุ ขออนุโมทนาเป็นอย่างสูงครับ
    เชิญแวะอ่านธรรมะของหลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง ที่
    เฟสบุ๊ค ศูนย์พุทธศรัทธา
    และร่วมกันแบ่งปันธรรมะของหลวงพ่อฯ ไปยังกระดานของท่านเพื่อเป็นธรรมทาน

    เว็บทางนิพพาน เว็บไซด์ เผยแพร่ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น<O:p
    ที่รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน<O:p
    ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่www.tangnipparn.com<?XML:NAMESPACE PREFIX = O /><O:p></O:p>
    <O:p>ขอเชิญแวะเยี่ยมชมและโมทนาบุญเว็บศูนย์พุทธศรัทธา

    [​IMG]</O:p>
     
  6. Allymcbe222

    Allymcbe222 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 มีนาคม 2011
    โพสต์:
    547
    ค่าพลัง:
    +1,445
    รักหนังสือเล่มนี้อย่างรุนแรงครับ
    คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน โดย พระมหาวีระ ถาวโร
    ^-^

    หนังสืออะไรกันนี่ ทำไมดีแบบนี้
    ไม่ไหวๆ
    ศาสนาพุทธจงเจริญ
     
  7. นางสาวอยู่จ้ะ

    นางสาวอยู่จ้ะ ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    1,041
    ค่าพลัง:
    +3,865
    มาทางสุขวิปัสสโกค่ะ ถึงปฐมฌานก็ปาดเหงื่อแล้วค่ะ
    ก็มีฉันทะในการปฏิบัติธรรมกันไป (อยู่กับสิ่งที่มี
    ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน)
     
  8. no-ne

    no-ne เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    1,198
    ค่าพลัง:
    +3,380
    "แต่เมื่อท่านได้ญาณนี้แล้ว ถ้าท่านคิดรังเกียจใคร
    คนหรือสัตว์ รังเกียจในความโสโครก หรือฐานะ ชาติตระกูล ท่านก็ถอยหลังชาติเข้าไปหา
    ว่า ชาติใด เราเคยเป็นอย่างนี้บ้าง ท่านจะพบว่าท่านเองเคยครองตำแหน่งนี้มาก่อน เมื่อ
    พบแล้ว จงเตือนใจตนเองว่า เมื่อเราเป็นอย่างเขามาก่อน เขากับเราก็มีสภาพเสมอกัน
    เราเป็นอย่างนั้นมาก่อน เขากับเรามีสภาพเสมอกัน เราเป็นอย่างนั้นมาก่อนเขาก็ชื่อว่า
    เราเป็นต้นตระกูล สภาพการณ์อย่างนั้น ที่เขาเป็นอย่างนั้น เพราะเขารับมรดกตกทอด
    มาจากเราเราจะมารังเกียจทายาทของเราด้วยเรื่องอะไร ถ้าเรารังเกียจทายาทก็ควรจะ
    รังเกียจตัวเองให้มากกว่าเพราะทราบแล้วว่าเป็นอย่างนั้นไม่ดี เป็นที่น่ารังเกียจเราทำไม
    จึงไม่ทำลายกรรมนั้นเสียกลับปล่อยให้เป็นมรดกตกทอดมาให้บรรดาอนุชนรุ่นหลังต้อง
    รับกรรมต่อ ๆ กันมา เป็นความชั่วร้ายเลวทรามของเราต่างหาก ไม่ใช่เขาเลว คิดตัดใจ
    ว่าเราจะไม่ถือเพศชาติตระกูล ฐานะเป็นสำคัญ ใครเป็นอย่างไรก็มีสภาพเสมอกันโดย
    เกิดแล้วตายเหมือนกันหมด ฐานะความเป็นอยู่ ชาติ ตระกูล ในปัจจุบัน เป็นเสมือนความ
    ฝันเลื่อนลอยไม่มีอะไรเป็นของจริง ในที่สุดก็ต้องตกเป็นเหยื่อของมัจจุราชทั้งสิ้น คิดตัด
    อย่างนี้ จะบรรเทามานะความถือทะนงตัวเสียได้ ความสุขสงบใจก็จะมีตลอดวันคืนจะ
    ก้าวสู่อรหัตตผลได้อย่างไม่ยากนัก"


    สาธุเจ้าค่ะ ดิฉันขอกราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ
     
  9. เพียงธรรม

    เพียงธรรม สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1
    ค่าพลัง:
    +17
    ขออนุญาติเจ้าของกระทู้ครับ

    เนื่องจากสะดุดหูเกี่ยวกับข้อความ บางคนชอบแบบสุกเอาเผากิน เรื่องความละเอียดเรียบร้อย การรู้เล็กรู้น้อยแสดงฤทธิ์ อวดเดช เดชาอะไรนั้น ไม่มีความต้องการ

    ผมว่าการปฏิบัติให้ถึงพร้อม ทำแบบสุกเอาเผากินคงไม่มี

    ขออ้างอิง ข้อความจากในเวบนี้นะครับ
    สายสุขวิปัสสโก คือ เอาทางด้านปัญญาพิจารณาวิปัสสนาอย่างเดียว ไม่ต้องการฤทธิ์เดช เป็นแบบสายมหาสติปัฏฐานสูตรมีสมาธิแค่ฌานหนึ่ง หรือปฐมฌานก็ตัดกิเลสเป็นพระโสดาบัน แต่ถ้าจะเป็นพระอนาคามีจิตก็มั่นคงเป็นฌาน 4 ถึงตัดกิเลสได้ สมาธิสูงปัญญาก็คม ปัญญาดีตัดอวิชชาความเข้าใจผิดได้ง่าย พระอรหันต์สายสุขวิปัสสโกไม่มีทิพย์จักขุญาณ ไม่เห็นผี ไม่เห็นนรก สวรรค์ พรหม ไม่เห็นพระพุทธเจ้า แต่ท่านมีปัญญารอบรู้ตามความเป็นจริงว่ามีผี มีเทวดา มีพรหม มีพระพุทธเจ้า มีพระนิพพานไม่ล่วงลับดับสูญเป็นอนัตตาเหมือนที่ท่านทั้งหลายเข้าใจผิด ๆ


    http://palungjit.org/threads/พระอรห...่ากันหรือไม่-หลวงพ่อพระราชพรหมยานเถระ.202134/
     

แชร์หน้านี้

Loading...