"สมเด็จพระเทพฯ"บำเพ็ญพระราชกุศล ปล่อยพันธุ์ปลา เนื่องในวันคล้ายพระราชสมภพ

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 2 เมษายน 2012.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    [​IMG]



    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงปล่อยพันธุ์ปลา เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ณ ท่าวาสกรี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 เมษายน



    สำหรับพันธุ์สัตว์น้ำที่ทรงปล่อยในวันนี้ เป็นพันธุ์ปลาไทยน้ำจืด 9 ชนิด จำนวนทั้งสิ้น 590,000 ตัว ทั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์และแพร่พันธุ์ปลาน้ำจืดไทยในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้คงความอุดมสมบูรณ์

    ----------
    "สมเด็จพระเทพฯ"บำเพ็ญพระราชกุศล ปล่อยพันธุ์ปลา เนื่องในวันคล้ายพระราชสมภพ : มติชนออนไลน์
     
  2. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    2 เมษายน วันครบรอบวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพฯ


    วันจันทร์ 2 เมษายน 2555 9:47




    2 เมษายนวันครบรอบวันพระราชสมภพ
    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
    และวันอนุรักษ์มรดกไทย



    [​IMG]


    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรรัฐสีมาคุณากรปิยชาติสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

    ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 2ในพระบาทสมเด็กพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ

    สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ถวายพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดากิติโสภาดุลภาคย์”

    เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ขณะพระชนมายุ ได้ 3 พรรษาเศษ ได้ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ทรงมีพระสติปัญญา เฉลียวฉลาดสนพระทัยในการอ่านอย่างมากมายมาแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงทรงมีพระสมญาอีกอย่างหนึ่งว่า “หนอนหนังสือ” ไม่ว่าจะเสด็จประทับ ณ ที่ใด จะทรงมีหนังสือติดพระหัตถ์อยู่เสมอ แม้จะเสด็จประทับในรถยนต์หรือเครื่องบิน

    ปีการศึกษา 2510 ขณะทรงศึกษาอยู่ในชั้นประถมปีที่ 7 ทรงสอบข้อสอบของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งวัดผลทั่วประเทศ ทรงทำคะแนนรวมได้ร้อยละ 96.6 เป็นลำดับที่ 1 ของการสอบวัดผลระดับประโยคประถมศึกษาตอนปลายของประเทศ

    และในปีการศึกษา 2515 ทรงสอบข้อสอบของกระทรวงศึกษาธิการ ได้คะแนนรวมร้อยละ 89.30 เป็นลำดับที่ 1 ของประเทศในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แผนกศิลปะ

    เมื่อทรงศึกษาจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทรงลงทะเบียน เป็นนิสิตตามระเบียบของมหาวิทยาลัยเลขทะเบียน 16138 ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงศึกษามหาวิทยาลัย ในประเทศไทยตลอดระยะเวลาที่ทรงเข้าศึกษาเป็น “นิสิต”ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงมีพระจริยาวัตรและมีน้ำพระทัย “น้องพี่สีชมพู” อย่างแท้จริง

    ทรงเข้าร่วมพิธีและกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับนิสิตอื่นๆทุกคน เช่น เสด็จมารับการปฐมนิเทศ ทรงร่วมในพิธีไหว้ครู ตามประเพณีไทย

    โดยเฉพาะกิจกรรมวันรับน้องใหม่ ทรงปฏิบัติตาม “ประเพณี” ของชาวจุฬาฯ ตามดังกราบบังคมทูลของรุ่นพี่ เช่น ทรงร้องเพลงบูมจุฬา ฯ แสดงลิเก ลอดซุ้ม ทรงเข้าซ้อมเพลงเชียร์ ทรงกีฬา เสด็จร่วมทรงบาตรในวันครบรอบการสถาปนามหาวิทยาลัย ทรงร่วมแข่งขันกีฬาระหว่างนิสิต กับคณาจารย์ ในวันเกิดคณะอักษรศาสตร์ คือวันที่ 3 มกราคมของทุกปี ทรงขับร้องเพลงลูกทุ่งกับวงดนตรีของคณะ ทรงร่วมพัฒนาคณะปลูกต้นไม้ประดับบริเวณคณะ

    นอกจากนั้นยังทรงสมัครเป็นสมาชิกชมรมดนตรี ชมรมวรรณศิลป์ ของสโมสรจุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย สมาชิกชมรมภาษาไทย ภาษาตะวันออก และประวัติศาสตร์ในคณะอักษรศาสตร์ ทรงจัดหาเรื่อง และประทานบทพระราชนิพนธ์ลงในหนังสือ “อักษรศาสตร์พิจารณ์” ของชุมนุมวิชาการคณะอักษรศาสตร์ ทรงร่วมมือกับนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ ริเริ่มจัดทำหนังสือ “สะพาน” เพื่อรวบรวมบทความและรายงานของนิสิตลงพิมพ์เผยแพร่

    ในการศึกษาปีแรก ทรงสอบได้เป็นที่ 1 ของนิสิตชั้นปีที่1 ของคณะอักษรศาสตร์ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.94 ทรงได้รับรางวัล เงินทุนศาสตราจารย์พระวรเวทย์พิสิฐ ซึ่งเป็นสำหรับนิสิตปีที่1 ซึ่งสอบได้คะแนนยอดเยี่ยม นวิชาภาษาไทย ทรงได้รับรางวัลของสมาคมฝรั่งเศสที่มอบให้นิสิต ซึ่งได้คะแนนสูงสุด ในแต่ละชั้นปีปีต่อมาทรงได้รับรางวัลพระยาสุจริตธำรง สำหรับคะแนนยอดเยี่ยมวิชาภาษาไทย และทรงได้รับทุนเรียนดีทุกปี

    แม้จะทรงสนพระทัย พระพุทธศาสนาและภาษาบาลีเป็นการส่วนพระองค์ แต่ก็ทรงตระหนักว่า พระองค์จะทรงสามารถ ปฏิบัติพระราชกิจให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ดีที่สุดนั้นจะต้องทรงรอบรู้เรื่องประเทศเพื่อนบ้าน ให้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงทรงเลือกเรียนวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก วิชาภาษาไทย และวิชาบาลี- สันสกฤต เป็นวิชาโท และทรงลงทะเบียน เข้าร่วมการบรรยายโดยไม่เข้าสอบอีก 4 รายวิชา

    เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2519 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงสอบได้คะแนนเฉลี่ย 3.98ทรงได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และเป็นที่ 1 ของผู้สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิต

    ทรงได้รับ รางวัลรันซิแมน คะแนนยอดเยี่ยมในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ รางวัลสุภาพ จันทรโบส สำหรับนิสิตหญิงที่ได้เกียรตินิยมและได้คะแนนสูงสุดในแต่ละสาขาวิชา

    วันที่ 15 กรกฏาคม 2520 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา ฯทรงรับพระราชทานปริญญา และนำบัณฑิตปฏิญาณตนต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ท่ามกลางความปลาบปลื้มปิติโสมนัสของพสกนิกร ชาวจุฬาฯ ชาวไทยด้วย

    ทรงเป็น “สมเด็จเจ้าฟ้าฯ บัณฑิต” พระองค์แรก เมื่อเสด็จ พระราชดำเนินไปทรง”ถ่ายรูป” กับองค์บัณฑิตใหม่พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าฯ พระราชินีนาถ พระราชวงศ์และพระประยูรญาติ เช่นเดียวกับครอบครัวของบัณฑิตอื่นๆ

    โอกาสนี้ กองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังได้ผลิตเหรียญพระฉายาลักษณ์ ในฉลองพระองค์ครุยบัณฑิตเพื่อเทิดพระเกียรติในการที่ทรงเป็น “เจ้าฟ้าบัณฑิต”พระองค์แรกที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ในประเทศไทย
    เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรีแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงศึกษาต่อขั้นปริญญาโทสาขาวิชาบาลี – สันสกฤต ภาควิชาโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยศิลปากรพร้อมกัน เป็นพระราชภาระที่หนักยิ่งเนื่องจากทรงมีพระราชกิจต้องตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในต่างจังหวัดอยู่เนื่องๆเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ทรงศึกษาระดับปริญญาตรี
    แต่ด้วยทรง มีพระวิริยะอุตสาหะ ทรงพระปรีชาสามารถรอบรู้ในวิทยาการทรงรู้จักจัดสรรเวลา และทรงวางระเบียบการศึกษาที่ดี

    พระองค์ทรงสามารถศึกษารายวิชาที่กำหนดไว้ ในหลักสูตรได้ครบถ้วนภายในเวลา 2 ปี ทรงได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2522 และได้รับปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัญฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2523

    หลังจากนั้นได้ทรงศึกษาขั้นปริญญาดุษฎีสาขาพัฒนะศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2529

    สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดาฯได้ทรงแบ่งเบาพระราชภารกิจ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพรมบรมราชินีนาถในทุกด้าน ทั้งด้านการเกษตร การชลประทาน การบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปต่างประเทศเพื่อเจริญพระราชไมตรีกับประมุขของประเทศนั้นๆ

    ใน พ.ศ.2518 ได้ทรงก่อตั้งมูลนิธิสายใจไทยขึ้น ตามพระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เพื่อช่วยเหลือทหารตำรวจ พลเมืองที่บาดเจ็บหรือพิการอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประเทศชาติและทรงดำรงตำแหน่ง ประธานมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วยพระองค์เอง

    ในปี พ.ศ. 2523 ทรงมีโครงการเกษตร เพื่ออาหารกลางวันแก่นักเรียนในชนบทห่างไกล และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

    ในปีเดียวกันนี้ยังได้ทรงรับพระราชภาระ เป็นองค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวังในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี

    ด้วยพระปรีชาสามารถพระราชจริยาวัตร และน้ำพระราชหฤทัย อันเปี่ยมด้วยพระเมตตามิสิ้นสุดนี้ ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดาฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรรัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี นับเป็นศุภวาระมงคลสมัยที่ยังความชื่นชมยินดีมาสู่พสกนิกรชาวไทยโดยทั่วกัน

    ด้วยพระปรีชาสามารถ พระปัญญา และพระเมตตา ที่พระองค์ทรงกระทำมาโดยตลอด ประชาชนชาวไทยจึงมีความปิติโสมนัสเป็นที่สุดที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็น “ลูกแก้ว” เสริมพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนเป็นเกียรติของประเทศชาติสืบไปชั่วกาลนาน


    ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ




    ………………………………………………………










    ----------------------------------
    2 เมษายน วันครบรอบวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพฯ | สำนักข่าวเจ้าพระยา
     
  3. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    ยอด“รัตน”แห่งความกตัญญู




    [​IMG]


    ในการเสด็จฯ เพื่อทรงงานแต่ละครั้ง ภาพประทับใจส่วนหนึ่งก็คือ มีปวงชนคนไทยแห่แหนมาเฝ้าฯ รอรับเสด็จ หวังโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตได้ชื่นชมพระบารมีของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างใกล้ชิด
    และนอกเหนือจากอารมณ์ตื่นเต้นเคล้าปนปรีดี หากมองให้ลึกซึ้งกว่านั้นจะเห็นได้ว่า…การที่ “ทรงเป็นที่รักของคนไทย” นั้น ล้วนกลั่นออกมาจากดวงใจที่ซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
    ซึ่งล้วนประจักษ์แจ้งว่า “ทรงงานหนักโดยมิทรงเหน็ดเหนื่อยย่อท้อ ก็เพื่อแบ่งเบาพระราชภารกิจนานัปการ ตามรอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและประชาชนถ้วนหน้า โดยเฉพาะการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม”
    ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานสัมภาษณ์แก่เลขานุการคณะกรรมการพิเศษประสานงานโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการทรงงาน ตอนหนึ่งว่า
    “เหตุผลที่ชอบการพัฒนาช่วยเหลือประชาชนนั้น เห็นจะเป็นเพราะความเคยชิน ตั้งแต่เกิดมาจำความได้ก็เห็นทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงคิดหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะยกฐานะความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น ได้ตามเสด็จฯ เห็นความทุกข์ยากลำบากของพี่น้องเพื่อนร่วมชาติก็คิดว่าช่วยอะไรได้ก็ควรช่วย ไม่ควรนิ่งดูดาย
    [​IMG]
    เมื่อโตขึ้นพอมีแรงทำอะไรได้ก็ทำไปอย่างอัตโนมัติ โดยทำตามพระราชกระแส หรือทำตามแนวพระราชดำริ การช่วยเหลือประชาชนเป็นหน้าที่หลักของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องทำประจำอยู่แล้ว
    …อีกประการหนึ่ง รู้สึกอยู่เสมอว่า การเป็นเจ้าฟ้านั้นได้เปรียบผู้อื่นหลายอย่าง ได้รับความรู้ ความร่วมมือนานัปการ พูดจาติดต่อกับใครก็ง่าย ถือเป็นผลประโยชน์ที่เกิดในตระกูลที่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เคยทำคุณแก่บ้านเมือง ผลดีมาตกอยู่กับลูกหลานดังที่กล่าวมา ฉะนั้นจึงควรนำข้อได้เปรียบนี้มาทำประโยชน์แก่คนอื่น
    พึงประจักษ์ได้ว่า งานพัฒนาที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเคยรับสั่งว่า “ทำไปอย่างอัตโนมัติ” จากการที่พระองค์ได้เสด็จฯ ไปตามสถานที่ต่าง ๆ พระองค์ทรงนำความรู้ที่ได้จากการลงพื้นที่จริง มาใช้ในงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา, การสาธารณสุข, การประกอบสัมมาชีพ, การเกษตร, การศาสนา และเทคโนโลยีสารสนเทศ นำไปสู่โครงการตามพระราชดำริส่วนพระองค์มากมาย ตลอดจนด้านการต่างประเทศ
    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกขณะมีพระชนมายุ 5 พรรษา เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปอีก 13 ประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2503 เป็นเวลาทั้งสิ้นกว่า 7 เดือน
    หลังจากนั้นพระองค์ก็เสด็จฯ เยือนต่างประเทศเป็นจำนวนหลายครั้ง ทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะหรืออาคันตุกะของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ รวมทั้งเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์
    นอกจากทรงงานเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทอดพระเนตรสังคมและวัฒนธรรม พร้อมทั้งทรงได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ของประเทศนั้น ๆ และได้ทรงนำความรู้และประสบการณ์มาประยุกต์ใช้กับการทรงงานภายในประเทศด้วย ซึ่งการเสด็จฯ ทรงงานในต่างประเทศ
    ทำให้หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสถวายพระราชสมัญญาแด่พระองค์ว่า “เจ้าฟ้านักดูงาน” รวมทั้งทรงได้รับการยกย่องจากสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีนว่าทรงเป็น “ทูตสันถวไมตรี” ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2547
    ในการเสด็จฯ แต่ละครั้ง นอกจากกระชับมิตรกับนานาประเทศแล้ว ตลอดเส้นทางเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงพบวัฒนธรรมอันหลากหลาย โดยเฉพาะการรับประทานอาหารแปลก ๆ ตามเรื่องราวในพระราชนิพนธ์ “ย่ำแดนมังกร” ตอนหนึ่งว่า
    “…สิ่งที่รับประทานกับหมาดำ เป็นซุปที่เขียนเอาไว้ในเมนูว่า ‘ซุปไก่ตุ๋นในหม้อ’ ต้องอธิบายนิดหน่อยว่า หม้ออันนี้เป็นหม้อพิเศษ ซึ่งทำไก่ยัดไส้ (ทั้งตัว) ใคร ๆ เช่น ป้าไล, ตุ๋ย ต่างซื้อกันใหญ่
    ท่านผู้ว่าฯ กระซิบว่า นี่ไม่ใช่ไก่ แต่เป็นตุ๊กแก ข้าพเจ้าเป็นคนสำคัญก็ได้กินมากหน่อย คนอื่น ๆ ได้กินแต่น้ำซุปหรือเนื้อไก่เท่านั้นแหละไม่ใช่ตุ๊กแกจริง ๆ
    ว่าแล้วก็หันไปสั่งลูกน้องให้เลือกมาเฉพาะตรงที่เป็นตุ๊กแกมาให้ข้าพเจ้าถึงสองถ้วย เนื้อตุ๊กแกในซุปนี้ไม่ค่อยน่าเกลียด เขาลอกหนังออกหมดแล้ว หั่นเป็นท่อน ๆ ที่มีขาติดเขาก็ตัดออก
    ท่านผู้ว่าฯ อธิบายวิธีรับประทานว่า กระดูกตุ๊กแกก็รับประทานได้ แต่ขอให้เคี้ยวละเอียด ๆ ให้รับประทานมาก ๆ เพราะเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ช่วยระบบประสาทและแก้หืด…
    ต่อมากลายเป็นเรื่องเล่าขบขัน ซึ่ง คุณวิลาศ มณีวัต ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “อารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพฯ” ตอนหนึ่งโดยพระองค์ทรงอธิบายประกอบการเสวยตุ๊กแกว่า “การกินอะไรประหลาด ๆ นี้ เป็นส่วนของการเจริญสัมพันธไมตรี เราได้รับการอบรมว่า การไปต่างประเทศทุกครั้งเป็นราชการ ไม่ได้ไปเที่ยวเล่น ฉะนั้นไม่มีสิทธิ อยากทำอะไรไม่อยากทำอะไร ไปหรือไม่ไปต้องแล้วแต่เจ้าภาพ
    หน้าที่ของเราคือเป็นตัวแทนของประเทศที่จะนำเอาความปรารถนาดีของชาวไทยไปสู่ประเทศเจ้าภาพ และของประเทศเจ้าภาพสู่ประเทศไทย พร้อมทั้งหารือแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือบางประการเท่าที่จะทำได้….” เผยให้เห็นว่าทรงตระหนักต่อหน้าที่อันสำคัญ
    [​IMG]
    ไม่เพียงเท่านั้นปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงเป็นผู้สืบสานงานตามรอยพระราชปณิธานของพระอัยยิกาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาไว้ในพระอุปถัมภ์ เช่น โครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 178 โรงเรียน
    ตลอดจนสานต่อพระกรณียกิจหลัก ๆ ของพระปิตุจฉาคือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อาทิ มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย, มูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ, มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ และมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์ฯ เป็นต้น
    [​IMG]
    แม้พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติอยู่หนักหนาเพียงใด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงไม่ลืมปฏิบัติหน้าที่ “ลูก” หรือในฐานะ “พระราชธิดา” ที่ดี โดยทรงจัดสรรเวลาเอาพระราชหฤทัยใส่ เสด็จฯ เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ โรงพยาบาลศิริราช อย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด
    ไม่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ลงมายังท่าน้ำศิริราช เพื่อทอดพระเนตรระดับแม่น้ำเจ้าพระยา กระทั่งตามเสด็จฯ ทางชลมารค ในพิธีเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2553
    จวบจนเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เสด็จฯ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเปิดงานตรุษจีนเยาวราช ประจำปี พ.ศ.2555 โดยทรงจับพระหัตถ์ “สมเด็จแม่” ทรงพระดำเนินเยี่ยมเยียนร้านค้าของคนไทยเชื้อสายจีนอย่างใกล้ชิด กลายเป็นภาพความประทับใจ สะท้อนพระราชจริยวัตรอันงดงามด้าน “ความกตัญญูกตเวที” ที่พึงมีต่อบุพการีแก่ประชาชนชาวไทยเป็นอย่างดี ซึ่งความงามแห่งพระราชหฤทัยทั้งหมดนี้ เป็นที่ตระหนักแล้วว่า… ด้วยเหตุใดจึงทรงเป็น “รัตน” อันเป็นที่รักของคนไทย
    เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 57 พรรษา 2 เม.ย. 2555 ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก ปกป้องคุ้มครองพระองค์ “ผู้เป็นรัตนแห่งปวงประชา” ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดกาลนานเทอญ.

    ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม


    ข้าพระพุทธเจ้า ทีมข่าวสตรี หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


    ……………………………………….

    ขอขอบคุณ เดลินิวส์
    ยอด “รัตน” แห่งความกตัญญู | เดลินิวส์




    --------------------------
    ยอด“รัตน”แห่งความกตัญญู | สำนักข่าวเจ้าพระยา
     
  4. datchanee

    datchanee เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 มกราคม 2009
    โพสต์:
    2,947
    ค่าพลัง:
    +1,276
    satu....Long Live The Royal Princess......
     
  5. Bd6/9

    Bd6/9 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 มีนาคม 2007
    โพสต์:
    168
    ค่าพลัง:
    +620
    ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ^/l\^
     
  6. deelek

    deelek เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    6,696
    ค่าพลัง:
    +16,254
    ทรงพระเจริญ
    โมทนา สาธุ ๆ
    ในบุญกุศลทุกอย่าง
    กับพระองค์ด้วย
     
  7. UncleGee

    UncleGee เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มกราคม 2012
    โพสต์:
    3,979
    ค่าพลัง:
    +10,239
    ขออำนาจคุรพระรัตนตรัย และสิ่งศักสิทธ์ทั้งหลายทั่วสากลโลก
    โปรดช่วยอภิบาลรักษา ให้ทรงพระเจริญด้วยเทญ
     
  8. วรพจ

    วรพจ เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 พฤศจิกายน 2010
    โพสต์:
    97
    ค่าพลัง:
    +137
    ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ
     
  9. Rikkukung

    Rikkukung สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มีนาคม 2012
    โพสต์:
    86
    ค่าพลัง:
    +22

แชร์หน้านี้

Loading...