สมาธิที่เป็นฌานและสมาธิที่ไม่เป็นฌาน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 3 กันยายน 2013.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,489
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    ต่อไปก็อยากจะพูดถึง วิธีเจริญสมาธิ กันบ้างเท่าที่มีเวลา เราจะพูดกันได้แต่ใจความสำคัญ คำว่าใจความสำคัญในที่นี้ จะพูดถึงแต่ใจความที่สำคัญจริงๆ ด้วย ขอให้ตั้งใจ กำหนดให้ดี

    ได้พูดมาแล้วข้างต้นว่า สมาธิมี ๒ พวก คือพวกที่ให้ถึงฌานถึงอัปปนานั้นพวกหนึ่ง พวกสมาธิที่ไปไม่รอดจนถึงฌานหรืออปัปนานั้นอีกพวกหนึ่ง สำหรับการปฏิบัติ หรือ วิธีเจริญสมาธิประเภทที่ไม่ถึงฌาน ไม่ถึงอัปปนานี้ไม่ยาก ทำไปตามความรู้สึกสามัญสำนึกก็ทำได้เหมือนกัน แต่ว่าตั้งใจให้แรงสักหน่อย เช่น เจริญเมตตา เจริญพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ ที่เป็นแต่เพียงทำความรู้สึกอย่างนั้นอยู่ในใจ มีลักษณะอาการพอที่จะสังเกตได้อย่างนี้

    ๑. เพื่อชักจูงเกลี้ยกล่อมจิตใจของเรา จูงใจเราโดยตัวเราเอง เช่นเราเจริญเมตตาหนักเข้าๆๆ มันก็จูงใจเราให้เป็นคนเมตตา หรือจูงให้ไปรักพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ นี่เป็นการจูงใจตัวเองให้ไปแต่ในทางสบายหรือสงบเย็นอยู่เรื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การเจริญเมตตา โดยตั้งความปรารถนา “สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข อย่าได้เบียดเบียนแก่กันและกันเลย” นี้ไม่ต้องถึงกับเป็นฌานเป็นอัปปนาอะไร มันมีความรู้สึกอยู่เต็มที่ แต่ความรู้สึกนั้นถูกบรรจุเข้าไว้ด้วยสิ่งที่เรียกว่าเมตตา

    ๒. เป็นการพิจารณาพอที่จะ เป็นทางเปลี่ยนอารมณ์ร้าย เช่นว่าเราโมโหโทโส กลัดกลุ้มอยู่อย่างนี้ พอมาลงมือเจริญเมตตาภาวนา หรือเจริญพุทธานุสติ อะไรเหล่านั้นมันก็เปลี่ยนอารมณ์ร้ายกลัดกลุ้มนั้นให้สงบเย็น เป็นอารมณ์ที่ไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้เขาไม่ต้องการฌานไม่ต้องการอัปปนา ทำได้ด้วยความรู้สึกธรรมดาสามัญ

    ๓. เป็นการอธิฐานจิตให้แน่วแน่ไปในทางใดทางหนึ่ง เราทำซ้ำๆ กันอยู่อย่างนี้ เหมือนกับอธิฐานจิตให้มั่นคงแน่วแน่ อยู่ในทางใดทางหนึ่ง เช่นให้รักศีล ให้รักการทำทาน หรือเพื่อให้น้อมไปเพื่อจะรักพระนิพพาน อย่างนี้เป็นต้น ที่เรียกว่าจาคานุสสติ สีลานุสสติ อุปสมานุสสติ ในเรื่องอนุสสติ ๑๐ นี้

    นี้เป็นตัวอย่างของสมาธิประเภทที่ไม่ถึงอัปปนา มีวิธีปฏิบัติเพียงเท่านี้ก็พอแล้วไม่สำคัญอะไร ไม่มีเทคนิคอะไรมากมาย ไม่เหมือนสมาธิประเภทที่ต้องการให้เป็นฌาน หรือเป็นอัปปนา ฉะนั้น เราก็พูดถึงสมาธิประเภทไม่ถึงอัปปนาเพียงเท่านี้

    ต่อไปนี้จะพูดถึง สมาธิประเภทที่ต้องการให้เป็นฌาน หรือที่เรียกว่าอัปปนาสมาธิ ก็มีหลักซึ่งจะย่อให้เหลือน้อยที่สุดเพียง ๘ ประการ เท่านั้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า สมาธิที่จะไปจนถึงฌานถึงอัปปนานั้น ต้องมีวัตถุที่เป็นดุ้นเป็นก้อนเป็นอะไรที่เป็นวัตถุสัมผัสได้นี้มาเป็นอารมณ์ ข้างนอก เช่นดวงกสิณสีต่างๆ ข้างใน เช่นลมหายใจ เป็นต้น

    ถ้ากำหนดลมหายใจ แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นตัวของมัน หรือจับมันไม่ได้แต่มันก็เป็นวัตถุธรรม ธรรมดา คือเป็นอากาศที่วิ่งไปวิ่งมาอยุ่ในช่องของการหายใจ มันจึงเป็นวัตถุธรรมไม่ใช่นามธรรม ข้างนอก เอาดวงกสิณ ดวงแดง ดวงเขียวเป็นอารมณ์ ถ้าเอาของข้างนอกเป็นอารมณ์ก็เห็นง่าย เพราะตาเพ่งอยู่ที่นั่น ถ้าเอาของข้างในเป็นอารมณ์ แม้หลับตาเสียก็รู้สึกได้ คือรู้สึกลมหายใจที่ถูไปถูมาอยู่ในช่องของการหายใจนี้

    การปฏิบัติในขั้นที่ ๑ ก็คือการกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นของจริงตัวจริงอย่างนี้เป็นอารมณ์ ในฐานะเป็นบริกรรมนิมิต นิมิตในบริกรรม การลงมือกระทำบริกรรมไม่ได้หมายว่าท่องด้วยปาก บริกรรมเขาหมายถึงลงมือกระทำในขั้นเริ่มแรก ท่องด้วยปากก็มี ไม่ท่องด้วยปากก็มี คนชินแต่เรื่องท่องด้วยปาก เอาคำว่าบริกรรมมาใช้เป็นการพูดการท่องพึมพำอยู่ด้วยปาก นั้นมันถูกนิดเดียว คำว่า บริกรรมหมายถึงเริ่มกระทำ ลงมือกระทำ นิมิต ในขณะที่เริ่มกระทำนี้ ก็คือของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราเอามาใช้เป็นอารมณ์ เหมือนที่พูดแล้ว ข้างนอกก็เช่นดวงกสิณเป็นต้น หรืออสุภที่นอนกลิ้งอยู่เป็นต้น ข้างในก็คือลมหายใจเป็นต้น มีอารมณ์ในชั้นเริ่มแรกอย่างนี้ เป็นนิมิตสำหรับกำหนด เราก็กำหนดจนนิมิตเปลี่ยนเป็นมโนภาพ

    การปฏิบัติ ขั้นที่ ๒ เรียกว่า เปลี่ยนวัตถนิมิต คือนิมิตที่เป็นวัตถุนั้นให้กลายเป็นนิมิตในมโนภาพ ที่เป็นภายนอก เช่นเมื่อเพ่งดวงกสิณ ดวงเขียว ดวงแดงเป็นอารมณ์ ลืมตาเพ่งอยู่ นี้อยู่ในขั้นที่ ๑ พอชั้นที่ ๒ หลับตาก็เห็น แม้จะหลับตาอย่างไร ก็ยังเห็นอยู่เหมือนกับลืมตา นี้เป็นชั้นที่ ๒ เรียกว่า สับเปลี่ยนวัตถุนิมิตตัวจริงนั้น ให้กลายเป็นนิมิตในมโนภาพ จนถึงกับว่าเราหลับตาก็เห็น แต่ถ้าเป็นของภายใน เช่นลมหายใจอย่างนี้ มันทำได้ยากกว่านั้น แต่ก็ทำได้ คือตรงไหนที่ลมหายใจกระทบสม่ำเสมอเป็นประจำ ตรงนั้นสมมุติเหมือนกับมีจุดใดจุดหนึ่งในลักษณะเป็นมโนภาพเกิดขึ้น ตรงนี้จะบอกกันนิดหน่อยว่า ถ้ากำหนดลมหายใจนี้ ต้องทำอยู่หลายชั้น คือ วิ่งตามลมหายใจไปๆ มาๆ อยู่เหมือนกับวิ่งตาม อย่างนี้จนได้ที่แล้ว จึงหัดหยุดอยู่ตรงที่แห่งใดแห่งหนึ่ง คือเฝ้าดูอยู่ตรงที่ช่องจมูก ไม่วิ่งตามเข้าไปข้างใน ไม่วิ่งตามออกมาข้างนอก เฝ้าดูอยู่ที่จะงอยจมูกจุดนั้น แล้วตรงจุดนั้นแหละจะสามารถสร้างนิมิตในมโนภาพ เป็นดวงเป็นอะไรขึ้นมา แทนลมหายใจ ลมหายใจก็ยังหายใจอยู่ แต่จิตสามารถจะสร้างอะไรเป็นนิมิตในมโนภาพ ซึ่งไม่ใช่ตัวจริง ขึ้นมาได้ตรงจุดที่ลมหายใจกระทบอยู่อย่างสม่ำเสมอ นี้ก็มีผลเหมือนกันกับที่ว่า เราจะใช้ของข้างนอกเป็นนิมิต หรือใช้ของข้างในเป็นนิมิต แต่ของข้างนอกทำง่ายกว่า อย่างเพ่งหลอดไฟฟ้าอย่างนี้ เพ่งจนว่าหลับตาก็ยังเห็นหลอดไฟฟ้าเหมือนกับลืมตา อย่างนี้มโนภาพนี้มันทำได้ง่ายกว่าที่จะทำให้เกิดขึ้นมาจากการใช้ลมหายใจเป็นนิมิต เพราะเป็นของละเอียดประณีตกว่า แต่ของที่ทำยากอย่างนี้ ถ้าทำได้ก็ดีกว่า เพราะมันละเอียดประณีตกว่า แล้วก็เป็นสิ่งที่ทำได้ ขั้นที่ ๒ นี้เราเรียกว่า เปลี่ยนวัตถุนิมิต เปลี่ยนนิมิตที่เป็นรูปธรรมนั่นให้กลายเป็นนิมิตในมโนภาพ ไม่ใช่เป็นตัววัตถุ นิมิตที่สร้างเป็นมโนภาพขึ้นมาได้อย่างนี้ เรียกว่าอคคหนิมิต นิมิตตัวเดิมตัวจริงตามธรรรมชาตินั้น เรียกว่า บริกรรมนิมิต ก็เรียกว่า อุคคหนิมิต

    การปฏิบัติ ขั้นที่ ๓ อุคคหนิมิตที่ทำได้ดีจนชำนาญแล้วนี้ ก็จะทำบทเรียนต่อไปเป็นบที่ ๓ คือจะเปลี่ยนรูปร่างสีสันกิริยาสถานะของอุคคหนิมิตนั้นให้กลายเป็นของที่เปลี่ยนแปลงได้ เป็น movement คือไหวได้อะไรได้ จะยกตัวอย่าง สมมุติว่าเพ่งกสิณดวงเขียว ดวงแดง อย่างนี้หลับตาเห็นโดยไม่ต้องดูตัวจริงที่วางอยู่ตรงหน้า หลับตาเห็นดวงนั้นได้ในมโนภาพ แล้วก็เปลี่ยนนิมิตต่างๆ ได้ ให้เคลื่อนไหวไปมาทางโน้นทางนี้ทางไหนได้ หลายๆ อย่างตามต้องการ นี้เรียกว่า เปลี่ยนอุคคหนิมิตให้กลายเป็นปฏิภาคนิมิต ตามที่จิตประสงค์ นี้เป็นเรื่องที่ฟังยาก จะเอาอันไหนมาทำ มันก็คือจิต แล้วอันไหนถูกกระทำ มันก็คือจิต เพราะฉะนั้น จิตจึงเป็นสิ่งที่แบ่งออกไปได้เป็นหลายแง่หลายมุม อะไรบังคับจิต มันก็จิตนั้นแหละ จิตที่เรียกว่าสตินั้นแหละบังคับจิต จิตที่เป็นความรู้สึกนั่นแหละถูกบังคับ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่า จิตเดี๋ยวนี้ถูกบังคับ และเป็นไปได้ตามการบังคับหลายสิ่งหลายอย่างหลายแบบ นั่นแหละคือคุณสมบัติที่เกิดขึ้นใหม่ ว่าเดี๋ยวจิตสามารถที่จะกระทำอะไรได้มากกว่าธรรมดา คือถ้าพูดถึงการบังคับจิต ก็บังคับได้หลายอย่างหลายแบบ ก็ลองเปรียบเทียบดูมาตามลำดับซิ ทีแรกมันเป็นวัตถุข้างนอก แล้วเรามาทำให้เป็นนิมิตข้างใน แต่ว่ายังหยุดนิ่งอยู่ แล้วเราก็ทำให้มันเปลี่ยนได้ทุกอย่างทุกประการ เปลี่ยนสี เปลี่ยนกิริยาอาการ เปลี่ยนรูป เปลี่ยนขนาด เปลี่ยนอะไรได้ นี่มันไกลมาเท่าไรแล้วในการบังคับจิต เมื่อเราทำได้อย่างนี้ ก็หมายความว่าบังคับจิตได้พอสมควร จะทำบทเรียนที่ ๔ ต่อไปได้

    การปฏิบัติ ขั้นที่ ๔ ในขณะที่มีปฏิภาคนิมิตที่เหมาะสม อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น เราทำให้จิตเกิดความรู้สึกขึ้นในภายใน เป็นความรู้สึกที่เรียกว่าเป็นองค์ฌาน เช่น ปิติ เช่น ความสุข อย่างนี้ ทำให้มันปรากฏรู้สึกแก่จิตได้ หมายความว่า พร้อมกับที่ตาข้างในเห็นมโนภาพที่เป็นปฏิภาคนิมิตอยู่นั้น เราสามารถจะรู้สึกความสุข หรือความปิติ หรือวิตก วิจาร หรือเอกัคคตาอะไรแล้วแต่จะเรียกที่เป็นองค์ฌานนั้นได้ด้วย อันแรกที่จะมาก่อน ควรน้อมไปยังความรู้สึกที่เป็น ปิดิ หรือเป็น สุข มันง่ายกว่า ที่เรียกว่า วิตก วิจาร นั้น ในขณะที่นิมิตปรากฏอยู่ในตาข้างใน ไม่ใช่ตาข้างนอก ความที่จิตกำหนดอยู่ที่นิมิตนั้น เราเรียกว่า วิตก ความที่จิตรู้จักแจ่มแจ้งเข้าใจอย่างทั่วถึงในนิมิตนั้น เราเรียกว่า วิจาร เพราะความที่มันเป็นได้อย่างนั้น คือจิตมีแต่สิ่งนั้นเป็นอารมณ์เดียว นั้นเรียกว่า เอกัคคตา เราอาจจะลองทำความรู้สึกดูในอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ อย่างนี้ คือ วิตก หรือวิจาร หรือปิติ หรือสุข หรือเอกกัคคตา นี้ก็ทำได้ ในขั้นแรกไม่สามารถจะทำได้พร้อมกันทุกอย่าง ก็พยายามดึงขึ้นมาทีละอย่าง คือดึงให้เกิดขึ้นมาในความรู้สึกทีละอย่าง เช่น ปิดิก่อน แล้วสุข แล้วดูให้ดีว่ามันกำหนดอยู่ที่นิมิตนี้เอง ซึ่งเรียกว่าวิตก แล้วก็ดูอย่างทั่วถึง ก็เรียกว่า วิจาร อย่างนี้ แล้วดูความที่จิตหยุดนิ่งอยู่ในความเป็นอย่างนี้ ก็เรียกว่า เอกัคคตา ครั้งแรกคงจะล้มลุกคลุกคลาน ล้มไปล้มมาๆ อยู่หลายครั้งหลายหน แต่แล้วมันก็จะค่อยๆ มั่นคงขึ้น จนมีความรู้สึกได้พร้อมกันทั้ง ๕ อย่างเมื่อเราต้องการ

    การปฏิบัติ ขั้นที่ ๕ นี้เรียกว่า ทำองค์แห่งฌานทั้ง ๕ ให้เกิดขึ้นได้แล้ว ครบทั้ง ๕ องค์แล้ว ก็เลื่อนไปอีกนิดหนึ่ง คือ มีความรู้สึกต่อจิตที่ประกอบอยู่ด้วยองค์ญานทั้ง ๕ นี้ ซึ่งเรียกว่าจิตตั้งอยู่ในปฐมฌาน คือฌานที่ ๑ หรือฌานทีแรกของพวกรูปฌาน คือฌานที่ต้องอาศัยรูปธรรม วัตถุธรรมเป็นอารมณ์ ทำจนประสบความสำเร็จในขั้นแรกก็คือ ที่เรียกว่ารูปฌานที่ ๑ นี้ มีความรู้สึกเป็นวิตก วิจาร ปิดิสุข เอกัคคตา ทีนี้ ต้องการการทำให้ชำนาญ อย่าให้มันลัมลุกคลุกคลาน อย่าเพ่อละโมบโลภลาภนะทำต่อไป การปฏิบัติทางจิตล้มละลาย เพราะว่าคนละโมบมากจะทำเอาเร็วๆ เลื่อนชั้นๆ มันก็ทำไม่ได้ แล้วล้มละลายย้อนหลังก็ได้ ฉะนั้นพยายามทำให้ได้ในขั้นแรกๆ แล้วก็ทำให้มันชำนาญ ซ้ำๆ ซากๆ ซ้ำๆ ซากๆ ซ้ำๆ ซากๆ แบบซ้อมนั่นแหละ ซ้อมอยู่เสมอ จนรู้สึกแน่นอนว่า ไม่หลุดมือไปอย่างแน่นอนแล้ว จึงค่อยเลื่อนขึ้นไปยังขั้นที่ถัดไป ฉะนั้น ในขั้นที่ ๕ ในบทเรียนที่ ๕ นั้น เราทำปฐมฌานนี้ให้เป็นที่คล่องแคล่วอยู่ในกำมือของเรา อยู่ในอำนาจของเรา เราต้องการความรู้สึก ๕ อย่างนี้เมื่อไรก็ได้เมื่อนั้น แล้วจึงเลื่อนไปถึงบทเรียนที่ ๖ ไปสู่ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔

    การปฏิบัติในขั้นที่ ๖ สำหรับฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ ไม่มีอะไรมาก นอกจากปลดองค์ฌานที่มีมากมายนักในฌานที่ ๑ นั้น ออกเสียบ้าง เช่นในฌานที่ ๑ ปฐมฌานนั้น มีตั้ง ๕ องค์ คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา ทีนี้ก็กระทำไปในทางที่ปลดทิ้งออกไปเสียบ้าง เช่นไม่ให้เกิดความรู้สึกที่เป็นวิตก วิจาร ก็เหลืออยู่แต่เพียง ๓ คือ ปิติ สุข เอกัคคตา อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้ ทำต่อไปเป็นฌานที่ ๓ ที่ ๔ ก็ปลด ปิติ สุข ออกไปเรื่อยงๆ จนยังเหลือแต่อุเบกขากับเอกัคคตา เป็นชั้นที่ ๔ เป็นชั้นจตุตถฌาน นี้เรียกว่าบทเรียนที่ ๖ กล่าวคือทำฌานที่ได้แล้วนั้น ให้เป็นฌานที่ประณีตกว่า ยิ่งขึ้นไปเป็นลำดับๆ เมื่อได้ฌานที่ ๑ แล้ว ก็ให้ได้ฌานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ขึ้นไปตามลำดับ โดยหน่วงความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานนั้นเอาไว้แต่เพียงน้อยองค์เข้าๆ นอกนั้นปลดทิ้งไป

    การปฏิบัติในขั้นที่ ๗ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า การซักซ้อมให้ถนัดมือ ให้อยู่ในอำนาจโดยแท้จริง ในทุกแง่ทุกมุม ย้อนหลังมาอันแรกๆ ทำปฐมฌานให้คล่องแคล่ว ทำทุติยฌานให้คล่องแคล่ว ๆ ๆ กลับไปกลับมาๆ ให้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อไรก็ได้ เท่าไรก็ได้ ในสถานะการณ์เช่นไรก็ได้ ตามธรรมดาเราทำไม่ได้ ถ้าไม่ได้ความสงบสงัดเพียงพอแล้วทำสมาธิไม่ได้ แต่พอมาถึงขั้นนี้แล้ว เราทำได้ “แม้ในท่ามกลางกองเพลิง” ว่าอย่างนั้น ใช้คำว่าอย่างนั้นดีกว่า คือสถานะการณ์จะขลุกขลักโกลาหลวุ่นวายอย่างไร ก็ทำได้ ต่อหน้าวิสภาคารมณ์ที่ยั่วยวนอย่างไรเท่าไร ก็ทำได้ นี้เป็นบทเรียนที่ ๗

    การปฏิบัติ ขึ้นสุดท้ายที่ ๘ บทเรียนขั้นนี้คือ เราจะหยุดอยู่ในสถานะของฌานใดฌานหนึ่งนานเท่าไหร่ก็ได้ อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นสมาบัติ แปลว่าถึงพร้อม เข้าถึงแล้วอยู่ หยุดอยู่ในสภาวะอย่างนั้น นาน ๑ ชั่วโมงก็ได้ ๒ ชั่วโมงก็ได้ หลายวันก็ได้ ตามที่ต้องการ แล้วมันจะเข้าออกของมันได้เอง เพราะความคล่องแคล่วชำนาญในการฝึกมาแล้วตั้งแต่ขั้นที่ ๗ เข้า-ออก ได้อย่างคล่องแคล่วตามต้องการ แล้วมาถึงนี้ เราก็หยุดอยู่ได้ตามต้องการ จะอยู่ในสมาบัตินานเท่าไรได้เท่านั้น นี้มันก็จบเท่านี้ แต่รายละเอียดของแต่ละขั้นๆ มีมาก

    นี่เราแบ่งให้เห็นว่า มันมีอยู่ในลักษณะการปฏิบัติ ๘ อย่างนี้เท่านั้น พูดสั้นๆ ที่สุดก็ว่า เอาอารมณ์ที่เป็นวัตถุมาเพ่งพิจารณา แล้วก็เปลี่ยนอารมณ์วัตถุให้เป็นอารมณ์ในมโนภาพ แล้วเปลี่ยนอารมณ์ในมโนภาพที่หยุดนิ่งนั้น ให้ไหวได้ตามที่เราต้องการ ทำอย่างนั้นจิตเหมาะสมแล้วที่จะหน่วงความรู้สึกที่เป็นองค์ฌาน คือ วิตก วิจาร ปิดิ สุข เอกัคคตา ขึ้นมาได้ พอหัดหน่วงให้ได้บริบูรณ์ ก็ได้ฌานขั้นแรกคือปฐมฌาน แล้วทำความรู้สึกชนิดที่ละเอียดไปกว่า เอาไว้แต่บางองค์ทิ้งไปเสียบางองค์ ก็เป็นฌานที่ประณีตขึ้น เป็นฌานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ แล้วก็หัดให้เกิดความชำนาญในทุกแง่ทุกมุมเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ในที่สุดก็สามารถจะเข้าสมาบัติคือหยุดอยู่ในสภาวะของฌานใดฌานหนึ่งได้นานตามที่ตัวต้องการ ก็มีเท่านี้เอง

    คําบรรยายประจําวันเสาร ในสวนโมกขพลาราม วันเสารที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๑๔ พุทธทาสภิกขุ
     
  2. chotipala

    chotipala Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    47
    ค่าพลัง:
    +89
    ท่านต้องละองค์๕ ก่อนนะ....
     
  3. กลายแก้ว

    กลายแก้ว เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 พฤษภาคม 2013
    โพสต์:
    751
    ค่าพลัง:
    +634


    อนุโมทนาค่ะ อธิบายได้ชัดเจนมาก
     

แชร์หน้านี้

Loading...