กฐิน พระราชทาน คืออะไร ? และมีความเป็นมาอย่างไร

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย Dharaya, 16 พฤศจิกายน 2020.

  1. Dharaya

    Dharaya ศรัทธาอันประณีต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2020
    โพสต์:
    150
    ค่าพลัง:
    +51
    b8yqDb.jpg
    เมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามายังสุวรรณภูมิและประดิษฐานอยู่บนผืนแผ่นดินนี้อย่างสถิตย์สถาพร ประชาชนไทยได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ การทอด กฐิน ก็ได้กลายเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแผ่นดินสยามได้ทรงรับเรื่องกฐินนี้ขึ้นเป็นพระราชพิธีอย่างหนึ่ง การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับกฐินเป็นพระราชพิธี ทำให้เรียกกฐินนี้ว่า กฐินหลวง วัดใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นวัดราษฎร์หรือวัดหลวง หากพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐินแล้วจะเรียกว่า กฐินหลวง ทั้งสิ้น


    ในสมัยต่อๆ มา เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ประชาชนมีศรัทธาเจริญรอยตามพระราชศรัทธาของพระเจ้าแผ่นดิน ได้รับพระมหากรุณาให้ถวายผ้าพระกฐินได้ตามสมควรแก่ฐานะ เป็นเหตุให้แบ่งแยกกฐินหลวงออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

    ๑.กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธี

    กฐินดังกล่าวนี้ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เองเป็นประจำ ณ วัดสำคัญๆ ซึ่งทางราชการกำหนดขึ้น มีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไว้อย่างเรียบร้อย ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค จำนวน ๑๖ วัด คือ

    ๑. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
    ๒. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร
    ๓. วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร
    ๔. วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
    ๕. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร
    ๖. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
    ๗. วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
    ๘. วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร
    ๙. วัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร
    ๑๐. วัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร
    ๑๑. วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร
    ๑๒. วัดราชโอรสาราม กรุงเทพมหานคร
    ๑๓. วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม
    ๑๔. วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา
    ๑๕. วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา
    ๑๖. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก

    วัดหลวงทั้งหมดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เองเพียงปีละ ๘-๙ วัดเท่านั้น นอกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือองคมนตรี หรือผู้ที่ทรงเห็นสมควรเป็นผู้แทนพระองค์ไปถวายกฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธีนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังออกหมายกำหนดการเป็นประจำทุกปี จึงไม่มีการจองล่วงหน้า

    แนวปฏิบัติ

    การเฝ้าฯ รับเสด็จฯ งานถวายผ้าพระกฐินหลวงประจำปีที่สำนักพระราชวังออกเป็นหมายกำหนดการและกำหนดการแต่งการเฝ้าฯ รับเสด็จฯ * ผู้ที่เฝ้าฯ รับเสด็จฯ ตามหมายกำหนดการ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะได้รับรองเชิญให้นั่งพัก ณ ที่ซึ่งจัดไว้นอกพระอุโบสถตามลำดับชั้นยศและตำแหน่ง งานเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินตามราชประเพณีประจำปีที่สำนักพระราชวังออกเป็นหมายกำหนดการแต่งเครื่องแบบเต็มยศ จะมีกองเกียรติยศทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์พร้อมทั้งแตรวงประจำกองและทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ ตั้งแถวรับเสด็จฯ เมื่อใกล้เวลาเสด็จฯ ประมาณ ๕ หรือ ๑๐ นาที เจ้าหน้าที่ผู้รับรองของสำนักพระราชวังจะได้เชิญข้าราชการผู้มีเกียรติที่มาเฝ้าไปยืนเรียงแถวรอรับเสด็จฯ ตามแนวทางลาดพระบาท (ถ้าสถานที่ไม่พอจะเข้าแถว ก็คงรอเฝ้าฯ ณ ที่ซึ่งจัดไว้นั้น) ได้เวลาเสด็จฯ มีแตรวงกองทหารเกียรติยศบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้เฝ้าฯ ที่นั่งพักยืนถวายความเคารพ ผู้มาเฝ้าที่เข้าแถวรับเสด็จฯ ถ้าสวมหมวกทำวันทยหัตถ์ จนสุดเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีและถวายความเคารพเมื่อเสด็จฯ ผ่าน เสด็จฯ เข้าสู่พระอุโบสถ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะได้เชิญและนำเฉพาะข้าราชการผู้ใหญ่เข้าไปเฝ้าฯ ในพระอุโบสถ เมื่อเข้าไปจะต้องถวายคำนับ แล้วยืนอยู่ ณ เก้าอี้ที่จะนั่งเฝ้าฯ ตามยศและตำแหน่ง เมื่อทรงปฏิบัติในการถวายพระกฐิน ประทับพระราชอาสน์ ผู้เฝ้าฯ ถวายคำนับแล้วนั่งได้ เมื่อเสด็จฯ กลับก็ปฏิบัติในทำนองเดียวกับเมื่อเสด็จมาถึง

    ราชประเพณีเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน ถ้าพระอารามหลวงหรือวัดใดที่มีโรงเรียนตั้งอยู่ ย่อมจัดลูกเสือหรือนักเรียนตั้งแถวรับเสด็จฯ ถ้ามีแตรวงลูกเสือด้วยให้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเมื่อเสด็จฯ ถึง และเสด็จฯ กลับ โรงเรียนที่จัดลูกเสือนักเรียนรับเสด็จฯ ตามระเบียบจะต้องจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์แทนพระพุทธรูป มีแจกัน พานดอกไม้ ธูปเทียนพร้อม แต่ไม่ต้องจุดเทียนหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ควรมีธูปเทียนแพ กระทงดอกไม้ใส่พานตั้งไว้ เป็นการถวายความเคารพสักการะในการรับเสด็จฯ ผู้อำนวยการ/อาจารย์ใหญ่/ครูใหญ่ ยืนที่ข้างๆ โต๊ะหมู่หน้าแถวนักเรียนและลูกเสือ เมื่อเสด็จฯ ถึง ณ ที่นั้นผู้อำนวยการ/อาจารย์ใหญ่หรือครูใหญ่ก้าวออกมาถวายความเคารพ (ถ้าเป็นครูชายสวมหมวก ทำวันทยหัตถ์ ถ้าเป็นครูหญิงถวายความเคารพด้วยการถอนสายบัว) แล้วกราบบังคมทูลรายงานจำนวนอาจารย์ ครู นักเรียนจบแล้วถอยออกไปถวายคำนับก่อนที่จะกลับไปยืนเฝ้าฯ ณ ที่เดิม
    * ที่มา : หนังสือแนวทางการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


    ๒.กฐินต้น

    กฐินดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเพราะพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดที่มิใช่วัดหลวง และมิได้เสด็จไปอย่างเป็นทางการหรืออย่างเป็นพระราชพิธี แต่เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์อีกด้วย พลตรีหม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) ได้เล่าประวัติเรื่องการเกิดขึ้นของกฐินต้นนี้ไว้ว่า “กฐินส่วนพระองค์นี้ ในสมัยก่อนรัชกาลที่ ๕ จะเรียกว่าอย่างไรนั้นยังไม่พบหลักฐาน มาเรียกกันว่า กฐินต้น ในรัชกาลที่ ๕ ภายหลังที่ได้มีการเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ การเสด็จประพาสครั้งนั้น โปรดให้จัดให้ง่ายกว่าการเสด็จประพาสเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถอย่างสามัญคือ โปรดไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใดๆ พอพระราชหฤทัยจะประทับที่ไหนก็ประทับที่นั่น บางคราวก็ทรงเรือเล็กหรือเสด็จรถไฟไปโดยมิให้ใครรู้ การเสด็จประพาสครั้งนั้นเรียกว่า เสด็จประพาสต้น

    เหตุที่เรียกว่าประพาสต้นก็เพราะเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๔๗ เสด็จทรงเรือมาด ๔ แจว ประพาสในแม่น้ำอ้อม ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อเรือมาด ๔ แจว เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งลำสำหรับแจวตามเรือพระที่นั่งเวลามีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินโดยมิให้ใครรู้จักพระองค์ เมื่อซื้อเรือมาดได้ดังพระราชประสงค์แล้วพระราชทานชื่อเรือลำนั้นว่า เรือต้น ในวันนั้นกว่าจะเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงที่ประทับแรมที่เมืองราชบุรีเกือบ ๓ ทุ่ม เพราะน้ำเชี่ยว ผู้คนในขบวนเสด็จเหนื่อยหอบตามกัน

    ประพาสต้น จึงเป็นมูลเหตุให้เรียกการเสด็จประพาสอย่างในวันนี้ว่า ประพาสต้น และยังเป็นมูลเหตุให้เรียกการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ว่า พระกฐินต้น เรียกแบบเรือนไทยที่ทรงสร้างสำหรับประทับอย่างชาวบ้านว่า เรือนต้น กันต่อมา

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงดำเนินตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้ากฐินต้นเป็นประจำทุกปี การจะเสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินต้นที่วัดใดมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

    ๑. เป็นวัดที่ยังไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินมาก่อน
    ๒. ประชาชนมีความเลื่อมใสในวัดนั้นมาก
    ๓. ประชาชนในท้องถิ่นนั้นไม่ค่อยมีโอกาสได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิดด้วย

    แนวปฏิบัติ

    ในกรณีที่เสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินเป็นารส่วนพระองค์เรียกกันว่า พระกฐินต้น ส่วนมากจะเป็นวัดในต่างจังหวัด สำนักพระราชวังจะออกเป็นหมายรับสั่ง ส่วนมากจะแต่งเครื่องแบบปกติขาว เฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เฝ้าฯ เจ้าหน้าที่นอกนั้นหรือข้าราชการมนท้องถิ่น แต่งกายเครื่องแบบปกติกากีคอตั้งแบบข้าราชการ หรือกากีคอพับผูกผ้าผูกคอ การเฝ้าฯ รับเสด็จ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะรับรองข้าราชการและผู้มีเกียรติรอเฝ้าฯ ณ ที่ซึ่งจัดไว้นอกพระอุโบสถ การเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินในต่างจังหวัดนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องจัดข้าราชการเข้าแถวรับเสด็จฯ ณ ที่ซึ่งรถยนต์พระที่นั่งเทียบ เมื่อเสด็จฯ ลงจากรถยนต์พระที่นั่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเข้าไปเฝ้าฯ ถวายคำนับ (ถ้าสวมหมวกทำวันทยหัตถ์) แล้วกราบบังคมทูลรายงานตนเอง และเบิกข้าราชการผู้ใหญ่ที่เฝ้าฯ เช่น
    ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
    ข้าพระพุทธเจ้า …………… ผู้ว่าราชการจังหวัด………… ขอพระราชทาน พระบรมราชวโรกาสเบิกผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท (ในกรณีที่ภริยาเฝ้าฯ อยู่ด้วย) นาง………….. ภริยาข้าพระพุทธเจ้า (จะทูลเกล้าถวายดอกไม้ด้วยก็ได้) แล้วต่อไปควรจะกราบบังคมทูลเฉพาะ ข้าราชการผู้ใหญ่ระดับสูง เช่น รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัด นายอำเภอของท้องที่ที่เสด็จฯ เท่านั้น


    .กฐินพระราชทาน

    เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเพื่อไปถวายยังวัดหลวง นอกจาก วัดสำคัญที่ทรงกำหนดไว้ว่า จะเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง (๑๖ วัดดังที่กล่าวมาแล้ว) เหตุที่เกิดกฐินพระราชทานเพราะว่าปัจจุบันวัดหลวงมีจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ตลอดจนคณะบุคคลหรือบุคลากรที่สมควรรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวายได้และผู้ที่ได้รับพระราชทานจะเพิ่มไทยธรรมเป็นส่วนตัวโดยเสด็จพระราชกุศลด้วยตามกำลังศรัทธาก็ได้ ปัจจุบันกระทรวง ทบวง กรม คณะบุคคลหรือบุคคลใดมีความประสงค์จะรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวาย ณ วัดหลวงใดก็ติดต่อไปยังกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการตามระเบียบ ซึ่งเท่ากับเป็นการจองกฐินไว้ก่อนนั่นเอง

    แนวปฏิบัติ

    ขั้นตอนของกฐินพระราชทานมีดังนี้

    ๑. เมื่อได้รับผ้าพระกฐินพระราชทานจากกรมการศาสนาแล้ว ควรถวายหลังวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระกฐินวันแรกแล้ว

    ๒. ให้ติดต่อกับวัดโดยตรง เพื่อแจ้งวัน เวลา และขอให้เจ้าอาวาสสั่งไวยาวัจกรเตรียมสถานที่และสิ่งจำเป็นที่มีบูชาพระรัตนตรัยมีเครื่องบูชาพร้อม อาสนสงฆ์สำหรับพระสงฆ์อนุโมทนาพระกฐิน โต๊ะขนาดกว้างพอสมควรสำหรับวางพานแว่นฟ้า ผ้าไตรพระกฐินและพานเทียนพระปาติโมกข์ โต๊ะวางเครื่องบริขารพระกฐินและเครื่องไทยธรรม โต๊ะเก้าอี้สำหรับผู้เป็นประธานและผู้ไปร่วมพิธีตามสมควร

    ๓. เมื่อถึงวันกำหนด ก่อนผู้เป็นประธานจะไปถึงหรือก่อนเริ่มพิธี ให้เจ้าหน้าที่เชิญเครื่องพระกฐินจัดไว้บนโต๊ะ วางเทียนปาติโมกข์ไว้บนพาน และให้มีเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบหรือแต่งสากลนิยมคอยส่งให้ผู้เป็นประธานที่เชิงบันไดหรือประตูเข้าสถานที่ประกอบพิธี

    ๔. ประธานรับผ้าพระกฐินจากเจ้าหน้าที่ที่เชิงบันได พระอุโบสถอุ้มประคองยืนตรงถวายความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะดนตรีบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี แล้วจึงเข้าสู่พระอุโบสถตรงไปวางไว้ที่พานแว่นฟ้า ซึ่งตั้งอยู่หน้าอาสนสงฆ์
    (ถ้ามีปี่พาทย์หรือเครื่องดนตรีให้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ขณะผู้เป็นประธานรับผ้าไตรจากเจ้าหน้าที่หรือรับที่โต๊ะหมู่ในกรณีที่จัดไว้ ต่อจากนั้นจึงบรรเลงเพลงช้า) ขณะประธานเข้าสู่สถานที่ประกอบพิธีจนถึงเวลาจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วจึงส่งเทียนชนวนคืน ให้หยุดบรรเลงทันทีแม้จะยังไม่จบเพลงก็ตาม และควรมีเจ้าหน้าที่คอยให้สัญญาณเวลาให้เริ่มเพลงหรือให้หยุดบรรเลง

    ๕. เมื่อวางผ้าพระกฐินแล้ว จุดธูปเทียนเครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัย แล้วกราบ ๓ หน

    ๖. เมื่อกราบพระรัตนตรัยแล้ว ไปที่พานแว่นฟ้าหยิบผ้าห่มพระประธานส่งให้เจ้าหน้าที่นำไปมอบแก่ไวยาวัจกร แล้วยกผ้าพระกฐินขึ้นประคอง พนมมือหันไปทางพระประธานว่า นโม ๓ จบ ต่อจากนั้นหันหน้าไปทางพระสงฆ์ว่าด้วยคำถวายพระกฐินดังนี้
    “ผ้าพระกฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐกอปรด้วยพระราชศรัทธา โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้า * น้อมนำมาถวายแด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลด้วยไตรมาสในอาวาสวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าพระกฐินทานนี้ กระทำกฐินัตถารกิจตามพระบรมพุทธานุญาตนั้นเทอญ”

    ( * ถ้าเป็นกระทรวง ทบวง กรม องค์การ สมาคม บริษัท ห้างร้าน ให้เปลี่ยนคำว่า ข้าพเจ้า เป็นชื่อหน่วยงานนั้นๆ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล่าฯ พระราชทาน)
    กล่าวถวายพระกฐินทานจบแล้วประเคน พร้อมด้วยเทียนพระปาติโมกข์เสร็จแล้ว เข้านั่ง ณ ที่ซึ่งจัดไว้ในระหว่างที่ผู้เป็นประธานเข้าสู่สถานที่ประกอบพิธี ผู้อยู่ในพิธีทั้งหมด ยืนแสดงความเคารพจนกว่าประธานจะนั่งลง จึงนั่งลงพร้อมกัน

    ๗. พระสงฆ์ทำพิธีกรรม

    ๘. เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีกรรมเสร็จออกไปครองผ้า (ปี่พาทย์บรรเลงเพลงสาธุการ ถ้ามี) ครองผ้าเสร็จกลับเข้านั่งยังอาสนสงฆ์ (ปี่พาทย์หยุดบรรเลง) ผู้เป็นประธานและผู้ไปร่วมพิธีถวายเครื่องพระกฐินแก่องค์ปกครอง เริ่มตั้งแต่บาตรเป็นต้นไปจนถึงเครื่องมือก่อสร้าง ถ้าจัดเครื่องไทยธรรมถวายเพิ่มเติมควรถวายภายหลังเครื่องพระกฐินหลวง

    ๙. ถ้ามีผู้บริจาคร่วมโดยเสด็จพระราชกุศล ควรประกาศให้ที่ประชุมทราบ

    ๑๐. พอพระสงฆ์อนุโมทนา ผู้เป็นประธานกรวดน้ำ แล้วพระสงฆ์ถวายอดิเรก จบประธานกราบพระรัตนตรัยเป็นอันเสร็จพิธี (ปี่พาทย์บรรเลงเพลงกราวรำ ถ้ามี)
    ๑๑. กรมการศาสนาเป็นผู้จัดสรรและดำเนินการขอพระราชทาน จึงขอให้รายงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานและยอดเงินโดยเสด็จพระราชกุศลไปยังกรมศาสนา หลังจากการถวายผ้าพระกฐินเสร็จแล้ว เพื่อจะได้รวบรวมดำเนินการกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานถวายพระราชกุศลโดยพร้อมเพรียงกัน

    Cr. http://katin3.bu.ac.th/index.php/bukatin-history/bukatin-meaning-2
     

แชร์หน้านี้

Loading...