กรรมเก่า

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย NUI, 27 มิถุนายน 2013.

  1. NUI

    NUI เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    389
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +983
    โดยพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตฺโต)

    ตามหลักคำสอนที่แท้จริงกรรมคือการกระทำนั่นเอง การกระทำนี้ไม่ได้หมายถึงผล แต่เป็นตัวการกระทำเป็นเหตุ ในแง่เวลาจะมุ่งถึงการเป็นอดีตก็ได้ ปัจจุบันก็ได้ อนาคตก็ได้ ไม่เฉพาะต้องเป็นอดีตอย่างเดียว ปัจจุบันที่ทำอยู่นี้ก็เป็นกรรม

    ในลักษณะว่าดีหรือชั่วก็ได้ทั้งสองอย่าง คือกรรมดีก็มีกรรมชั่วก็มี ซึ่งแสดงออกได้ทั้งกาย วาจา ใจ พูดถึงเรื่องกรรมดูเหมือนแต่จะเป็นเรื่องใหญ่เรื่องรุนแรง ความจริงนั้นกรรมก็มีตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ

    ในความคิดของท่านแต่ละขณะ ทุกๆท่านที่นั่งอยู่ในขณะนี้ก็กำลังทำกรรมด้วยกันทั้งนั้น อย่างน้อยก็กำลังคิด(มโนกรรม)

    กรรมจึงหมายถึงการกระทำที่แสดงออกทางกาย วาจา ใจ เป็นอดีตก็ตาม ปัจจุบันก็ตาม อนาคตก็ตาม ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เป็นกรรมทั้งนั้น

    ในสฬายตนวรรค สังยุตตนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม๑๘ มีพุทธพจน์ว่า
    "กรรมเก่าคืออะไร? จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน นี้ชื่อว่ากรรมเก่า;

    อะไรชื่อว่ากรรมใหม่? การกระทำที่เราทำอยู่ในบัดนี้ นี่แหละชื่อว่ากรรมใหม่;

    อะไรคือความดับกรรม? บุคคลสัมผัสวิมุตติ เพราะความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม นั้นชื่อว่าความดับกรรม;

    อะไรเป็นทางดับกรรม? มรรคมีองค์๘ประการอันประเสริฐคือ สัมมาทิฎฐิเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน มรรคมีองค์๘นี้เรียกว่าทางดับกรรม"

    พระพุทธศาสนาดับกรรมด้วยการปฏิบัติ ไม่ใช่ไม่ทำอะไร ทำทีเดียว ทำอย่างดี ทำอย่างมีเหตุผล ทำอย่างมีหลักเกณฑ์ ทำด้วยปัญญา คือทำตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือมรรคมีองค์๘ประการ ต้องทำกันยกใหญ่ทีเดียว

    ต้องใช้ความเพียรอย่างมากในการปฏิบัติเพื่อให้มีสัมมาทิฐิมีความเห็นที่ถูกต้อง เพื่อให้มีสัมมาสังกัปปะ มีความดำริความคิดที่ถูกต้อง เป็นต้น

    กรรมเป็นเรื่องของหลักเหตุผล ที่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ เมื่อมันเป็นหลักเหตุผลมันจึงมีทั้ง๓กาลนั่นแหละ คือมีทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต

    พุทธศาสนาถือว่ากรรมเก่านั้นมันเสร็จไปแล้ว เราย้อนกลับไปทำหรือไม่ทำอีกไม่ได้ "กตสฺส นตฺถิ ปฏิการํ"การกระทำที่ทำไปแล้ว เราหวนกลับไปให้กลายเป็นไม่ได้ทำไม่ได้

    ทีนี้ประโยชน์ที่เราได้จากกรรมเก่าคืออะไร กรรมเก่าเป็นเหตุปัจจัย อยู่ในกระบวนการของวงจรปฏิจจสมุปปบาท มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันเป็นเหตุ จะปฏิเสธไม่ได้ ตามหลักของเหตุผล ถึงแม้ว่าจะนึกย้อนไปแล้วรู้สึกผิดว่าไม่น่าทำอย่างนั้นลงไปเลยก็ตาม

    การกระทำในอดีตคือการกระทำไปแล้วมันย่อมมีผล ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเราควรได้ประโยชน์จากอดีตอย่างไร กรรมเก่าทำไปแล้วแก้ให้ไม่ได้ทำไม่ได้นะ แต่เราใช้ประโยชน์จากมันได้ คือในแง่ที่เป็นบทเรียน รู้จุดที่จะแก้ไขปรับปรุง และการที่จะรู้จักไตร่ตรองเห็นเหตุผล

    พร้อมทั้งให้เป็นคนรู้จักรับผิดชอบตนเอง ให้รู้จักพิจารณาว่าผลที่เกิดกับตนเองเกี่ยวข้องกับการกระทำของตัวเราอย่างไร ไม่มัวโทษผู้อื่นอยู่เรื่อย และไม่มัวรอแต่ผลของกรรมเก่า ไม่ทอดธุระยอมแพ้ทดถอย เช่นในประโยคที่ว่า"ชาตินี้มีกรรมทำมาไม่ดี ก้มหน้ารับกรรมไปเถิด"เป็นต้น

    ท่านไม่ได้ให้เราหยุดเพียงว่างอมืองอเท้าแล้วไม่คิดปรับปรุงตนเอง เมื่อเราสำนึกกรรมได้ให้เราปรับปรุงแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น กรรมในอดีตเราแก้ไขไม่ได้ แต่กรรมในปัจจุบันเราทำได้ กรรมในอดีตส่งผลมาในปัจจุบัน กรรมในปัจจุบันส่งผลไปในอนาคต

    ตราบเท่าที่เรายังไม่สามารถพ้นจากเวียนว่ายตายเกิดในวัฎสงสารนี้เราก็จะมีกรรมที่ทำไว้ทุกขณะส่งผลไปเรื่อย จนกว่าจะดับกรรมได้พ้นทุกข์ได้แล้วจึงจะสิ้นวาระแห่งกรรม
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • image.jpg
      image.jpg
      ขนาดไฟล์:
      38.3 KB
      เปิดดู:
      61
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 27 มิถุนายน 2013

แชร์หน้านี้

Loading...