กระแสฝรั่งเรียนรู้พระพุทธศาสนา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย PyDE, 11 ตุลาคม 2005.

  1. PyDE

    PyDE เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 พฤษภาคม 2005
    โพสต์:
    812
    ค่าพลัง:
    +1,318
    หลักการ หรือ คำสอนแห่งพระพุทธศาสนา ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีมากมายที่ทรงตรัสรู้ไว้ ถ้านับเป็นธรรมขันธ์ (หัวข้อ) แล้วจะมีจำนวนถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมแก่อุปนิสัยใจคอ จริต ฐานะ หรือระดับสติปัญญาของผู้ฟัง ของผู้ประพฤติในรายละเอียดอาจมีต่างๆ กันไป
    แต่ในหลักการใหญ่ของหัวข้อธรรมเหล่านั้นทั้งหมด แม้จะมีมากมายเท่าไรก็พอรวมได้ในหลักทั่วๆ ไป ๓ ประการ คือ ละเว้นความชั่ว หลักประพฤติความดี หลักชำระใจให้สะอาด และหลักธรรมนี้เองเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวต่างชาติให้ความสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
    [​IMG]
    พระ ดร.มโน (เมตฺตานนฺโท ภิกฺขุ) อาจารย์พิเศษ คณะศาสนาวิชาและปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาเลขาธิการใหญ่องค์การสมัชชาศาสนาเพื่อสันติภาพโลก (ฝ่ายกิจการพระพุทธศาสนา) กล่าวว่า มูลเหตุที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจมาเรียนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาก็เพราะว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ประกอบกับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยจะมีความประทับใจในความเป็นเมืองพุทธที่คนไทยมีความอ่อนโยน ความนุ่มนวล และความมีน้ำใจของคนไทย หลายคนจึงมีความสนใจว่าอะไรจึงเป็นที่มาของความเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่โดดเด่น โดยเฉพาะแกนหลักของพระพุทธศาสนาก็คือการทำสมาธิภาวนา
    ปัจจุบันมีสถานที่ฝึกสมาธิปฏิบัติธรรมกรรมฐานเป็นจำนวนมากในประเทศไทย แต่ยังไม่มีการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้นการเรียน การฝึกฝนทำสมาธิภาวนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกที่เปิดให้มีการสอนสมาธิกับนิสิต โดยมีการประเมินผลให้เกรดกับนิสิตทุกคน เป็นวิชาเชิงพรรณาให้นิสิตได้เข้าใจถึงวิวัฒนาการของการทำสมาธิในพระพุทธศาสนาแบบต่างๆ
    [​IMG]
    สำหรับการเรียนการสอนนั้น พระ ดร.มโน บอกว่า เริ่มต้นเรียนตั้งแต่ก่อนยุคของพระพุทธศาสนา ศาสนาอินเดียศาสนาพระเวทย์ ศาสนาเชน แล้วต่อเนื่องมาถึงการทำโยคะ จนมาถึงคำสอนของพระพุทธศาสนา เริ่มตั้งแต่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า การเผยแผ่ธรรม วิธีการทำจิตภาวนา กรรมฐานวิปัสสนาจากพระกรรมฐานเกือบทั้งหมด
    นอกจากนี้แล้วยังมีการเรียนสมาธิแบบโบราณที่ใช้รักษาโรคจากคัมภีร์ธรรมโอสถ รวมทั้งการทำสมาธิที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วก็ครอบคลุมสาระต่างๆ อาทิ อาณาปนสติ กสิณทั้ง ๑๐ อานุสติทั้ง ๑๐ พรหมวิหาร ๔ การพิจารณาธาตุ
    "แนวทางปฏิบัติกรรมฐานได้นำมาจากพระกรรมฐานที่สอนก็คือ หลวงปู่มั่น ท่านพุทธทาส หลวงพ่อเทียน เป็นต้น การเรียนการสอนก็ขึ้นอยู่กับนิสิตว่าจะนำหลักของท่านใดมาใช้ก็ได้ แต่อย่างน้อยนิสิตทุกคนจะต้องปฏิบัตินั่งสมาธิให้ได้วันละครึ่งชั่วโมง แล้วก็ต้องมีการเล่าถึงประสบการณ์ เป็นการสอบอารมณ์ นิสิตทุกคนจะต้องทำทุกวันของการเรียนในโปรแกรมนี้ และนิสิตแต่ละคนก็จะได้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป" พระ ดร.มโน กล่าว
    [​IMG]
    อย่างไรก็ตาม "คม ชัด ลึก" ได้สอบถามนักศึกษาที่มาเรียน ต่างได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจ ดังนี้ นายดีออน พีเพิลส์ นิสิตปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีความสนใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเมื่อครั้งที่เป็นทหารระหว่างปี ๑๙๙๒-๒๐๐๒ ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีความตั้งใจว่าอยากจะมาศึกษาหลักธรรมของพระพุทธศาสนา โดยได้เริ่มต้นมาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งแรกของการมาเรียนไม่มีความมั่นใจในตัวเองสักเท่าไรว่าจะเรียนได้ ประกอบกับพระไทยพูดภาษาอังกฤษได้น้อย ทำให้ต้องศึกษาพระธรรมขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยตนเอง
    "พอเรียนไปก็รู้สึกว่าอยากจะบวช เลยมีความตั้งใจที่บวช ในที่สุดก็ได้บวชที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องของภาษาก็ตามซึ่งก็จะทำให้ปฏิบัติธรรมกับพระกับวัดค่อนข้างลำบาก จึงได้ศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยตนเอง ประกอบกับการเรียนปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และก็ได้ศึกษาจากเพื่อนๆ ทุกวันนี้ผมเองก็แขวนพระของหลวงปู่ฤาษีลิงดำด้วย"
    [​IMG]
    ขณะที่ นายฟิลิป บาชโทลด์ นิสิตปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ครั้งแรกไม่ได้ตั้งใจที่จะเรียนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา บังเอิญมากกว่าว่าในการเรียนเทอมนี้มีวิชาที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ที่เน้นเรื่องของสมาธิ เมื่อได้เรียนแล้วก็มีความรู้สึกไม่เหมือนที่คิดเอาไว้ ท่านเมตฺตานนฺโท ภิกฺขุ สอนดี มีวิสัยทัศน์ มองอะไรที่ไกลออกไป ชาวต่างชาติอย่างเราจึงรับได้เพราะท่านเน้นการสอนตามหลักของพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับ กระแสโลก มาถึงวันนี้ก็มีความรู้สึกที่ดีต่อพระพุทธศาสนาเพราะเป็นการให้เราคิดค้นหาตัวตน สำรวจตัวเองตลอดเวลา
    "การเรียนวิชานี้ต้องฝึกฝนเอง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา ฝึกสมาธิ โดยเฉพาะการมรณานุสติ เพราะจะช่วยให้สามารถระงับความเศร้าโศกเสียใจได้บ้าง ช่วยให้ปลงตก มีหลายอย่างที่ให้เราเลือกเรียน เรียนแล้วก็จะต้องคิดเองว่าเรามีความคิดเห็นอย่างไร วันนี้ผมชอบการฝึกสมาธิ มันทำให้ผมมีสติ ไม่ว่าจะทำเป็นชั่วโมงหรือเพียง 5 นาที ก็ช่วยให้เรามีสมองที่สดใสได้ มันเป็นเครื่องมือให้กับชีวิตเราอย่างมีสติได้ตลอดเวลา"
    [​IMG]
    ทางด้าน นายเฟรดริก กอสส์ นิสิตปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ครั้งแรกมาเรียนที่นี่ ก็ยังไม่ค่อยให้ความสนใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเท่าไรนัก เพียงแค่อยากจะมาลองเรียนโปรแกรมนี้ดูว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากนิสิตทุกคนสามารถลองมาเรียนโปรแกรมนี้ก่อนได้ เวลาผ่านไปก็รู้สึกว่าวิชานี้เป็นการฝึกฝนตนเอง มีการเขียนรายงานส่งอาจารย์ทุกวัน เริ่มมีความรู้สึกสนใจ จึงได้เข้ามาเรียนเต็มตัว
    การมาเรียนพระพุทธศาสนาครั้งนี้เหมือนเป็นการต่อยอดจากคุณยายที่เคยมาอยู่ประเทศไทย แล้วเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เมื่อประมาณ ๑๐ ปีแล้ว ท่านก็เคยเล่าเรื่องศาสนาพุทธให้ฟังตั้งแต่เป็นเด็กเพราะคุณยายเป็นคนที่สนใจในเรื่องแบบนี้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหลักพระพุทธศาสนา วัฒนธรรมความเชื่อเป็นต้น แต่ท่าน เมตฺตานนฺโท ภิกฺขุ ก็สามารถสอนด้วยการแยกแยะออกมาชัดเจนว่าอะไรคือหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อหรือวัฒนธรรมของคนไทย ทำให้เป็นการเรียนรู้ที่เข้าใจได้ง่าย
    "ผมมาเรียนวิชานี้มันก็ทำให้ผมนึกถึงคำสอนของคุณยายอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าคุณยายจะเสียชีวิตไปแล้ว วันนี้ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา บางอย่างก็เห็นด้วย บางอย่างก็ไม่เห็นด้วย ซึ่งก็ทำให้ยอมรับได้เพราะเป็นการสอนที่มีเหตุมีผล ถือว่าเป็นวิชาที่เป็นเหตุเป็นผล แล้วท่านก็สอนในภาพรวมของศาสนาพุทธว่ามีความเชื่อ พิธีกรรมวัฒนธรรมอย่างไรในสังคมไทย แล้วเราก็จะได้เรียนรู้ถึงประวัติขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามีความเป็นมาอย่างไรด้วย" นายเฟรดริก กล่าว



    0 เรื่อง สุทธิคุณ กองทอง 0

    0 ภาพ ฐานิส สุดโต 0





    ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
    ฉบับวันอังคาร ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2548​





     
  2. Attawat_Rx

    Attawat_Rx เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กันยายน 2005
    โพสต์:
    2,183
    ค่าพลัง:
    +18,400
    ดีจังครับ ผรั่งถ้าสนใจอะไรจะทุ่มเทและเต็มที่กับเรื่องนั้นมาก ชาวไทยอย่าให้อายนะครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...