กลัวโควิด-19 แต่ไม่กลัวความไม่รู้(อวิชชา)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 30 เมษายน 2020.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนากำลังจะเวียนมาบรรจบครบรอบปี ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ตามปีปฏิทินจันทรคติหรือตรงกับวันที่ 6 พ.ค. 63 ตามปีปฏิทินสุริยคติ ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราชเจ้าชายสิทธัตถะระหว่างที่ทรงผนวชพรรษาที่ 6 ทรงได้บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณซึ่งเป็นสภาวธรรมที่มีจริง (ปรมัตถธรรม) คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นสภาวธรรมที่จำแนกออกเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือ นามธรรมหรือนามขันธ์หรือนามธาตุ เป็นสภาพรู้ที่มีจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้คือ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้กระทบสัมผัส จิตคิดนึก มีการเกิดดับสลับกันไป และสภาพรู้ที่มีเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับจิตและดับพร้อมกับจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต ประเภทที่สอง คือ รูปธรรมหรือรูปขันธ์หรือรูปธาตุ เป็นสภาพที่ไม่รู้แต่ปรากฏให้รู้ทางทวารทั้ง 5 (ปัญจทวาร) คือ สีปรากฏทางตา เสียงปรากฏทางหู กลิ่นปรากฏทางจมูก รสปรากฏทางลิ้น และเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ปรากฏทางกาย สภาวธรรมดังที่กล่าวถึงนี้ มีลักษณะ 3 ประการ (ไตรลักษณ์) คือ ไม่เที่ยง (อนิจจัง) ทุกข์ (ทุกขัง) ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ (อนัตตา) ส่วนนิพพานเป็นสภาวธรรมที่เหนือโลก (โลกุตรธรรม) ไม่เกิดดับเพราะไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง 84e0b8a7e0b8b4e0b894-19-e0b981e0b895e0b988e0b984e0b8a1e0b988e0b881e0b8a5e0b8b1e0b8a7e0b884e0b8a7.jpg


    ผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้ซึ่งมีโอกาสพบพานพระพุทธศาสนาและนับถือพระพุทธศาสนา นับเป็นความโชคดียิ่งจึงไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิตโดยไม่ฟังธรรม ฉะนั้นชาวพุทธจึงควรฟังธรรมตามกาลเพื่อจะได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา โดยมีความรู้ความเข้าใจในความจริงอันถึงที่สุด(อริยสัจธรรม) ตามที่พระบรมศาสดาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ดังคำในพระพุทธพจน์ว่า "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง (สัพเพ สังขารา อนิจจา)", "สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ (สัพเพ สังขารา ทุกขา)", "ธรรมะทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนบังคับบัญชาไม่ได้ (สัพเพ ธัมมา อนัตตา)"



    ชาวพุทธพึงทราบว่าอานิสงส์จากการฟังธรรมมี 5 ประการคือ ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง 1 เข้าใจชัดสิ่งที่ได้ฟังแล้ว 1 บรรเทาความสงสัยเสียได้ 1 ทำความเห็นให้ตรง 1 จิตของผู้ฟังย่อมเลื่อมใส 1 การที่ชาวพุทธมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะนำไปสู่ความเห็นถูก(สัมมาทิฏฐิ) สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปรกติสุขตามอัตภาพของแต่ละบุคคลมีการขัดเกลากิเลสประพฤติปฏิบัติตนสุจริตทางกาย วาจา ใจ มีความละอายชั่วกลัวบาป เมื่อถึงแก่กรรมแล้วย่อมไปเกิดในภพภูมิที่ดี(สุคติภูมิ) แต่ในทางกลับกันผู้ที่ไม่ฟังธรรม ย่อมเป็นผู้ไม่รู้(อวิชชา) จึงมีแต่ความเห็นผิด(มิจฉาทิฐิ) ไม่เห็นโทษในการประพฤติปฏิบัติตนทุจริตทางกาย วาจา ใจ ไม่มีความละอายชั่วกลัวบาป เมื่อถึงแก่กรรมแล้วย่อมไปเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี (ทุคติภูมิ) หรือ ภพภูมิที่อยู่อย่างยากลำบาก(อบายภูมิ)



    ความไม่รู้(อวิชชา) เป็นภัยต่อการดำเนินชีวิต เนื่องจากไม่ได้รับประโยชน์อันใดเลยจากการนับถือพระพุทธศาสนา แทนที่เกิดมาในชาตินี้จะได้สะสมความเห็นถูก กับมีแต่สะสมความเห็นผิด ความไม่รู้ มี 8 ประการมีดังนี้
    1. ความไม่รู้ในทุกข์ (ทุกขอริยสัจจะ)
    2. ความไม่รู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทยอริยสัจจะ)
    3. ความไม่รู้ในความดับทุกข์ (นิโรธอริยสัจจะ)
    4. ความไม่รู้ในหนทางแห่งการดับทุกข์ (มรรคอริยสัจจะ)
    5. ความไม่รู้ในอดีต
    6. ความไม่รู้ในอนาคต
    7. ความไม่รู้ในทั้งอดีตและอนาคต
    8. ความไม่รู้ในสภาพธรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน (ปฏิจจสมุปบาท)

    e0b8a7e0b8b4e0b894-19-e0b981e0b895e0b988e0b984e0b8a1e0b988e0b881e0b8a5e0b8b1e0b8a7e0b884e0b8a7-1.jpg

    ปฏิจจสมุปบาท เป็นความเกี่ยวเนื่องจากเหตุไปสู่ผลซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นด้วยดี เป็นไปตามลำดับโดยอาศัยเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุและเป็นผลนำไปสู่การเวียนว่ายตายเกิด(สังสารวัฏฏ์) เป็นการแสดงเรื่องของปัจจัยที่มีเหตุนำไปสู่ผล ปฏิจจสมุปบาท มีองค์ 12 ดังนี้

    อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา

    เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส การเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั้น ย่อมมีด้วยประการฉะนี้

    เพื่อให้ชาวพุทธได้รับประโยชน์จากการสนทนาธรรมของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ได้สนทนาธรรมเรื่อง “ธรรมะกับกลัวโควิด – 19” เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 63 ผ่านรายการ “จิบกาแฟข้างสภา” สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ซึ่งมีนายบัญชร วิเชียรศรี เป็นผู้ดำเนินรายการ

    e0b8a7e0b8b4e0b894-19-e0b981e0b895e0b988e0b984e0b8a1e0b988e0b881e0b8a5e0b8b1e0b8a7e0b884e0b8a7-2.jpg

    คำถามถึงการพิจารณาในทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับความวิตกกังวลในความเจ็บป่วยความตายรวมถึงในขณะนี้มีโรคโควิด-19 อาจารย์สุจินต์ตอบว่า “…เราไม่ได้เข้าใจเลยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีใครสามารถจะทำอะไรได้เลย นอกจากมีปัจจัยจะให้สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้ ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าความจริงลึกซึ้ง คือว่าถึงจะมีภัยไม่มีภัยอย่างไร ก็ต้องมีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึก ห้ามไม่ได้ แค่นี้ยังห้ามไม่ได้ แล้วจะไปห้ามภัยอะไรได้คะ

    ในเมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดก็เกิด เกิดให้เห็นด้วยว่า ใครก็ทำอะไรไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ เพียงแต่ว่าถ้าเข้าใจความจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคิดหรือเราต้องการ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุที่จะให้เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น และตัวอย่างก็ชัดเจนทุกสมัย ถ้าไม่มีโควิด เราก็ไปคิดถึงเรื่องอื่น เราก็ลืมเรื่องนี้ แต่ไม่ว่าอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้น ใครทำให้เกิดได้ ไม่มีใครสักคนหนึ่ง แต่ว่าเกิดแล้วต่างหาก แล้วเราก็จะต้องรู้จริงๆ ว่า ใครจะรู้ซึ้งถึงเหตุที่ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้”

    คำถามถึงการกลัวภัยอันตรายที่เกิดขึ้น แล้วมีการหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญ ถือว่าเป็นวิธีที่ถูกหรือไม่อาจารย์สุจินต์ตอบว่า“ ไม่มีทางทำได้หรอก จะหลีกเลี่ยงอย่างไร ถ้าจะใช้วิธีป้องกัน เขาก็ป้องกัน แต่จะป้องกันอย่างไรถึงเวลาที่จะเกิดก็เกิดได้ เพียงแต่ว่าเราไม่ประมาท เพราะเรารู้เหตุที่แท้จริงว่าแต่ละอย่างเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ตามคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยละเอียดอย่างยิ่งว่า ทุกอย่างที่เราไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร พระองค์ทรงแสดงเหตุ ทั้งเหตุใกล้และเหตุไกลอย่างละเอียด

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความรู้ เราก็จะกลัวไปหมดเลย อย่างวันนี้เรากลัวโรคนี้ และต่อไปข้างหน้ามีโรคอื่น เราก็กลัวอีก กลัวไปหมด เพราะไม่รู้ความจริงว่า เหตุที่จะให้เกิดสิ่งที่ดีก็มี เหตุที่จะให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีก็มี ทำไมเกิดขึ้นกับคนนี้ดี เกิดขึ้นกับอีกคนหนึ่งไม่ดี ทำไมคนทั้งโลกไม่เป็น แต่ทำไมบางคนเป็น อย่างโรคนี้ก็ไม่ได้เป็นกันทุกคน ใช่ไหม และความกลัวต้องมีแน่นอน ตราบใดที่มีความรักตัว เกิดมานี่ก็กลัวไปหมด จะกลัวน้อยกลัวมากก็แล้วแต่“

    e0b8a7e0b8b4e0b894-19-e0b981e0b895e0b988e0b984e0b8a1e0b988e0b881e0b8a5e0b8b1e0b8a7e0b884e0b8a7-3.jpg

    คำถามถึงความกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวอุบัติเหตุ กลัวอาชญากรรม กลัวโรคภัยไข้เจ็บ กลัวภัยพิบัติทางธรรมชาติ การหลีกเลี่ยงถือว่าเป็นความไม่ประมาท อาจารย์สุจินต์ตอบว่า “คนที่เขาเป็นโควิด เขาหลีกเลี่ยงหรือเปล่า แต่เขาก็เป็น ใช่ไหม หรือเขาไม่หลีกเลี่ยง เขาก็เป็นใช่ไหม เพราะฉะนั้น จริงๆแล้วก็มีเหตุที่มองเห็นใกล้ๆ ว่า ถ้าปล่อยตัว ไม่ระวังตัวเลย ก็มีทางที่จะเป็นไปได้ แต่เหตุไกลยิ่งกว่านั้นก็คือว่าคนที่ระวังตัวแล้วยังเป็นได้ เพราะอะไร และคนที่ไม่ระวังตัวอย่างนั้น แต่ถึงเวลาจะไม่เป็นก็ไม่เป็น หรือเป็นกันทุกคน หรือคนที่กลัว คนที่ระวังเท่านั้นที่ไม่เป็น และคนที่เป็นไม่ระวังเท่านั้นหรืออย่างไร”

    วันวิสาขบูชาที่กำลังจะมาถึงในวันพุธหน้าน่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับชาวพุทธที่จะได้เริ่มต้นฟังธรรมเพื่อละความไม่รู้ โรคทางกายรักษาได้ แต่โรคทางใจยากจะรักษา ชาวพุทธควรมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งและมีการสะสมปัญญาตามลำดับขั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
    ………………………………………….
    คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
    ขอบคุณภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.dailynews.co.th/article/771817
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 30 เมษายน 2020

แชร์หน้านี้

Loading...