กองทุนชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วม

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 3 พฤศจิกายน 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,487
    กองทุนชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วม

    [​IMG]

    ดร.ประเสริฐ ภัทรมัย ประธานกรรมการ บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัดได้เขียนบทความเกี่ยวกับกองทุนชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วมเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยกล่าวว่าปี พ.ศ.2549 นี้เป็นปีที่มีปริมาณฝนตกหนักกระจายทั่วทั้งประเทศและตลอดฤดูฝน จึงทำให้เกิดอุทกภัยกันขึ้นอย่างกว้างขวาง ในลุ่มแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่านและเจ้าพระยา เจอปัญหาน้ำท่วมหนักกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านๆ มา

    ปริมาณน้ำที่ไหลหลากได้ท่วมบ้านเรือนที่ทำกินของราษฎรในภาคเหนือมาเป็นแรมเดือนแล้ว และขณะนี้ก็ไหลบ่าลงสู่ตอนล่าง จากนครสวรรค์ลงมากำลังเผชิญปัญหาหนักปริมาณน้ำหลาก ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำขึ้นสูงจนเกินแนวพนังกั้นน้ำทั้งสองฝั่ง ต้องมีการเสริมพนังกั้นน้ำ แต่ก็ยังสู้ไม่ไหว น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ และที่หนักก็ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทองและจังหวัดอยุธยา และลงมาสู่พื้นที่ตอนล่างที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

    หากปล่อยให้เป็นไปตามสภาพที่เป็นอยู่เช่นนี้ น้ำจะเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจในกรุงเทพมหานครและจังหวัดข้างเคียงอย่างแน่นอน ทางการจึงจำเป็นต้องผันน้ำเข้าพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้พื้นที่เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นแก้มลิง เพื่อตัดยอดปริมาณสูงสุดของน้ำบ่าให้ลดต่ำลงเพื่อไม่ให้ระดับสูงจนเกินระดับพนังกั้นน้ำในเขตเศรษฐกิจในกรุงเทพมหานครและจังหวัดข้างเคียง

    ด้วยพระปรีชาสามารถ และด้วยพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงมีรับสั่งให้กรมชลประทานผันน้ำเข้าเก็บกักไว้ในที่ดินส่วนพระองค์ที่จังหวัด อยุธยาและปทุมธานี เพื่อเป็นแบบอย่างเพื่อให้ราษฎรยอมเสียสละให้น้ำเข้าท่วมขัง เพื่อบรรเทาปัญหาให้พื้นที่อื่นๆ ที่สำคัญกว่า กรมชลประทานก็มีประกาศว่าจะชดเชยให้ราษฎรที่เดือดร้อนจากการผันน้ำเข้าในพื้นที่

    และขณะนี้กรมชลประทานก็ประกาศจะผันน้ำ เข้าพื้นที่ในลุ่มน้ำ เจ้าพระยาตอนล่างถึง 18 แห่งในพื้นที่ 1,380,000 ไร่ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าเป็นการลดยอดน้ำสูงสุดลง ได้ถึง 20% และให้สัมภาษณ์ว่าเที่ยวนี้จะไม่เป็นปัญหาความเสียหาย จะเป็นการเกลี่ยเฉลี่ยระดับน้ำไปให้ทั่วทุ่ง

    ในฐานะนักวิชาการด้านน้ำและได้ประกอบวิชาชีพเป็นวิศวกรที่ปรึกษาด้านแหล่งน้ำมานานอยู่ในวงการมากว่า 30 ปี เคยศึกษาวิเคราะห์วางแผนโครงการป้องกันน้ำท่วมมามาก ได้เคยเสนอความคิดในการประชุมทางวิชาการมาหลายๆ ครั้งว่าการป้องกันน้ำท่วมต้องใช้ทั้งวิธีการสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมหลายๆ รูปแบบตามความเหมาะสม เช่น พนังกั้นน้ำ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ การสร้างเขื่อนเก็บกัก การสร้างแก้มลิงไว้ในที่ที่ เหมาะสมและต้องมีมาตรการการบริหารจัดการที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบและเหมาะสม เป็นที่ยอมรับและเป็นธรรมที่สุดจึงจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ได้มีการวางแผนระบายน้ำสำหรับพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างโดยการขุดสร้างคลองขนาดใหญ่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสาย 2 ผันน้ำเริ่มจากจังหวัดอยุธยาลงสู่อ่าวไทยทางลุ่มน้ำบางปะกง ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งก็เป็นโครงการที่ควรดำเนินการโดยด่วน ก่อนที่พื้นที่ตามแนวจะมีการพัฒนาจนไม่สามารถทำได้อีกเช่นที่เคยศึกษาวางแผนไว้ในอดีต แล้วไม่ได้ดำเนินการเสียนาน อย่างไรก็ตามการสร้างคลองดังกล่าวคงต้องใช้เวลาหลายปี มาตรการการบริหารจัดการทางอื่นก็ยังคงมีความจำเป็นและถึงแม้สร้างคลองใหม่แล้วก็ตามก็ยังต้องจำเป็นใช้มาตรการการบริหารจัดการน้ำควบคู่ไป การผันน้ำที่เกินกว่าที่จะป้องกันได้โดยระบบที่มีอยู่ให้เข้าไปขังพื้นที่ที่ต้องการเพื่อเป็นแก้มลิงเก็บกักน้ำไว้ก่อนนี้ก็เป็นวิธีการที่ต้องใช้ แต่จะต้องมีการศึกษาวางแผนอย่างดีและเป็นระบบ และที่สำคัญจะต้องมีการชดเชยเงินให้กับเจ้าของที่ดินที่ผันน้ำเข้าไปท่วมตามแต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นและตามสภาพการใช้พื้นที่ ทั้งนี้เพราะเจ้าของพื้นที่เหล่านี้ได้เสียสละเพื่อผู้ที่อยู่ในพื้นที่อื่นที่ได้รับการปกป้อง

    ในกรณีนี้ก็คือพื้นที่เขตเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครและจังหวัดข้างเคียง การชดเชยจะต้องให้ด้วยความเป็นธรรมด้วย ไม่ใช่เป็นแบบขอไปที ต้องมีหลักฐานความเสียหายที่พิสูจน์ได้ ต้องมีการเก็บภาพถ่ายทางดาวเทียมมาเป็นหลักฐานแปรหาสภาพความเสียหาย จะต้องมีการบอกกล่าว ตกลงกันล่วงหน้าในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉิน จะให้การยินยอม การเช่นนี้ก็เปรียบเสมือนคนในพื้นที่เศรษฐกิจไปขอเช่าพื้นที่อื่นรับน้ำไว้ชั่วคราวให้ตน ฉะนั้นราษฎรที่ยอมรับน้ำให้น้ำท่วมที่ดินของตนแทนจะต้องได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม โดยผู้เป็นกลางคือภาครัฐ หากราษฎรในพื้นที่เสียหายปลูกข้าวอยู่ ก็จะต้องรู้ว่าทำให้ข้าวเสียหายมากน้อยเพียงใด ก็ต้องชดเชยส่วนที่เสียหายให้ทันที การจะทำเช่นนี้ได้รัฐจะต้องจัดการให้มี "กองทุนเพื่อการชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วมหรือเป็นกองทุนป้องกันน้ำท่วม" ที่สามารถนำเงินมาใช้ได้ทันทีเพื่อให้ผู้เสียสละรับเงินชดเชยทีเหมาะสม ไม่ใช่ว่าเสียสละแล้ว ยังต้องมารับเคราะห์รับกรรมแทนคนอื่นที่มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีกว่ามากมายอีก

    แล้วเงินกองทุนนี้เอามาจากไหน ก็ต้องมาจากภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วมเอง เป็นเสมือนเป็นเงินประกันน้ำท่วม ซึ่งอัตราค่าภาษีประกันน้ำท่วมนี้ก็จะแตกต่างกัน พื้นที่ไหนที่เป็นพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันอย่างเหนียวแน่นที่สุดก็จะต้องเสียค่าประกันแพงที่สุด ในต่างประเทศเขาให้บริษัทประกันภัยเป็นผู้จัดการเป็นการประกันความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วม แต่ประเทศไทยคงยังไปถึงขั้นนั้นยังไม่ได้ นอกจากนี้การพัฒนาเครื่องมือป้องกันน้ำท่วมตลอดจนการจัดการบริหารน้ำเพื่อการป้องกันอุทกภัยก็เป็นส่วนที่รัฐจัดการทั้งหมด จึงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐเอง

    เมื่อรัฐรับเป็นเจ้ามือทำการประกันแล้ว รัฐก็ต้องมีมาตรการจัดเก็บเงินจากผู้ได้รับประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม จะต้องมีการศึกษาวางแผนอีกมากมายเพื่อให้มาตรการนี้สามารถนำไปใช้ได้ จะต้องมีองค์กรของรัฐมาจัดการด้านนี้ จะต้องเป็นองค์กรที่มีหน้าที่บริหารจัดการงานป้องกันน้ำท่วมโดยรวมทั้งหมด และเงินกองทุนนี้จะเป็นเหมือนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมหรือเงินกองทุนพลังงาน ที่มีคณะกรรมการดูแล

    นอกจากเป็นเงินเก็บไว้เพื่อชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วมแล้ว ก็สามารถใช้เงินจากกองทุนนี้ไปทำการศึกษาวางแผนวิจัยและการพัฒนาระบบการจัดการป้องกันน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพต่อไปเช่นกัน จะต้องมีการวางแผนบริหารจัดการป้องกันน้ำท่วมอย่างรอบคอบเบ็ดเสร็จ



    ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
    http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02spe02021149&day=2006/11/02
     

แชร์หน้านี้

Loading...