กายคตาสติกรรมฐาน พระอธิการจรัญ ทกฺขญาโณ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ไม้ขีดครับ, 12 กุมภาพันธ์ 2019.

  1. ไม้ขีดครับ

    ไม้ขีดครับ สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ธันวาคม 2018
    โพสต์:
    48
    ค่าพลัง:
    +17
    กายคตาสติกรรมฐาน
    พระอธิการจรัญ ทกฺขญาโณ วัดหลวงขุนวิน ต.ดอนเปา อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
    *******

    FB_IMG_1549955332158.jpg

    การเจริญกายคตาสติ คือ การเอาสติมาพิจารณากาย เป็นการเอาสติรวมกับกาย เป็นหนทางในการเอาชนะใจตนเอง เป็นจุดจบของความสงบแห่งจิต ที่มุ่งดับกิเลสอาสวะให้สิ้นไป การพิจารณากายด้วยกรรมฐาน ๕ เริ่มจากผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วจะค่อยๆ รู้เห็นเพิ่มมากขึ้นๆ จนกระทั่งเห็นตลอดทุกรูขุมขนจนทั่วร่างกายของเรา ตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้า การมีสติพิจารณาอยู่เป็นเครื่องขวางกั้นกระแสจิตไม่ให้วิ่งออกไปภายนอก โดยการพิจารณาอาการ ๓๒ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลด น้ำหนอง เลือด เหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำปัสสาวะ มันสมอง การกำหนดรู้เป็นเครื่องอยู่ของจิต ทำให้จิตเป็นสมาธิ ใช้จิตพิจารณาน้อมเข้ามามองเห็นกายในกาย เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วจะทำให้จิตเป็นหนึ่งเดียว เปรียบกับน้ำมีภาชนะเครื่องอยู่ ธรรมชาติของน้ำถ้าไม่มีภาชนะรองรับก็ไม่สามารถเก็บไว้ได้ เราเอาตัวของเราเป็นเครื่องอยู่ บังคับให้จิตนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว น้ำเมื่ออยู่ในภาชนะจะเก็บไว้ได้ทุกสภาพ(สถานะ) เมื่อน้ำบรรจุในขวดน้ำดื่มแล้วปิดฝา นำไปแช่แข็งก็กลายเป็นน้ำแข็งเย็นจัด เปรียบกับผู้ปฏิบัติสมาธิ จิตเป็นน้ำแข็ง ถ้าจิตคลายตัวจากสมาธิ ก็จะไหลไปในอารมณ์ต่างๆเหมือนเดิม จิตกับน้ำมีสภาวะที่แทบจะไม่แตกต่างกันเลย ธรรมชาติของจิตเหมือนกับธรรมชาติของน้ำ น้ำดื่มในขวดที่ปิดฝาสนิทจะจับไปวางที่ไหนน้ำก็หาได้สกปรกไม่ เมื่อปิดฝาสนิทน้ำก็ไม่รั่วไหล ภาชนะที่ห่อหุ้มจึงสำคัญมาก

    การพิจารณาใหม่ๆ จะมองยังไม่เห็นในตัวเรา เพราะเราไม่เคยอบรมมาก่อน ไม่เคยทำต้องทำบ่อยๆ พิจารณาตรงใดตรงหนึ่ง เน้นตรงการเห็นอย่าเน้นที่รู้ จะเห็นอวัยวะตรงนั้นชัดขึ้นๆ การเห็นตรงไหนจะยังความรู้สึกเห็นได้ในที่นั้น ไม่ใช่การเห็นลอยๆแล้วหายไป กำหนดจิตบ่อยๆ เข้านานๆไป เมื่อเอาจิตวางเฉย จะเห็นจิตส่วนหนึ่งหน่วงเหนี่ยวอยู่ในอวัยวะนั้นๆ จิตปลูกฝังตัวเองอยู่ในอวัยวะนั้น เมื่อจิตปลูกฝังลงไป ๑๐๐ % จะแยกการเห็นเป็นสองส่วน เมื่อการปลูกฝังลงในจิตมากกว่า ๖๐ % ก็จะมองเห็นกายภายนอกเพียง ๔๐ % และเห็นภายในกาย ๖๐ % จึงประเมินว่าถ้าอบรมจิตอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มีโอกาสที่จะเห็นกายในกายใน ๑๐๐ % เป็นการเข้าใจที่ถูกต้อง
    คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความละเอียดอ่อน เป็นศาตราอาวุธที่สู้กิเลสน้อยใหญ่ได้ กรรมฐาน ๕ หรือกายคตาสติ มีความสมบูรณ์ในตัวอยู่แล้ว ไม่ต้องเพิ่มเติมอะไรอีกเลยเป็นสิ่งสำคัญมาก จะทำให้จิตเข้าสู่ภายในมากขึ้น ตัวของเราเป็นภาชนะอย่างดี ที่ห่อหุ้มจิตเอาไว้ได้ จะเห็นทั้งกายภายในและกายภายนอกของตนทั่วทุกขุมขน ตลอด ๒๔ ชั่วโมง การเห็นนี้จะฝังตัวในจิตคือการรู้เห็น โดยมีสติสัมปชัญญะ การมีสติเฉยๆ คือ การมีสติลอยๆจะเผลอได้ แต่ถ้าเราเห็นกายในกายด้วย จิตที่เห็นจะหน่วงเหนี่ยวจิตเข้าไปในอวัยวะทั้งหลาย จึงเป็นการรู้ตัวทั่วพร้อม การหน่วงเหนี่ยวจิตให้ฝังตัวอยู่ตรงนั้นภายในกาย การเห็นกายในกายเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เป็นความยากเปรียบดังน้ำในหิน คือน้ำส่วนใหญ่จะไหลผ่านหินลงไป ไม่ซึมเข้าไปในหิน แต่มีน้ำส่วนน้อยซึมเข้าไปในหิน และฝังตัวอยู่ภายในหินนั้น

    เป็นสงครามระหว่างอารมณ์กับจิต จะมีการดึงต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องทำได้ยาก จิตที่คิดออกไปข้างนอก ต้องตัดออกให้หมด เอาจิตที่ล่องลอยข้างนอกมาพิจารณาตัวเราให้เกิดการเห็นแจ้ง ซึมซับจิตให้อยู่ในตัวเรา เป็นการเปิดทางที่ยังไม่มีให้มีขึ้นมา หนทางเส้นนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ต้องทำให้มาก ทำจนเห็นกายภายใน ๖๐ %เมื่อเกินครึ่งแล้ว สมาธินั้นก็จะไม่เสื่อมไป จะมองเห็นกายเราตลอดเวลา เป็นซากศพที่เดินได้ เป็นระบบอัตโนมัติอยู่ในตัวจิต ส่วนหนึ่งนิ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นอารมณ์มองเห็นกายตัวเอง ทำได้ถึงขั้นนี้ก็พูดได้ว่า เอาชนะจิตของตนได้แน่นอน สติปัฏฐาน ๔ จึงเป็นทางสายเอก ที่ทำให้สมาธิตั้งมั่น เจริญสติเกิดสมาธิ จึงเป็นภาวะตื่น ทำให้จิตหยุดหมด เป็นธรรมเพื่อดับทุกข์ พ้นทุกข์ได้ เพราะสติเป็นใหญ่ที่สุด และสติเป็นธรรมที่เป็นใหญ่ในธรรมทั้งปวง
    การเป็นอยู่ของจิตที่ดีที่สุด จะอยู่ได้ทุกสถานะต้องมีภาชนะที่ดีเก็บ น้ำที่ใสสะอาดฉันเดียวกันกับจิตที่นิ่งสงบ มีความเป็นหนึ่งเดียวตลอดเวลา ต้องเห็นตัวเองให้ชัดแจ้ง กายคตาสติเปรียบประดุจขวดน้ำอย่างดี เป็นภาชนะรองรับจิตไม่ให้เลื่อนไหลคือตัวเรา ถ้าทำได้สำเร็จจิตนิ่งสงบแน่นอน การมุ่งทำสมาธิให้มากทำให้จิตสงบ เป็นสมาธิเอาจิตเพ่งมองจิต มองตนเองอยู่เรื่อยๆ ทำบ่อยๆ ก็จะตัดอารมณ์ข้างนอกได้ สมาธิที่ดิ่งลึกบางครั้งตัวเราไม่รับรู้สิ่งภายนอกเลย เมื่อถึงวาระที่สมควรจะคลายจากสมาธิได้เอง เมื่อรู้สึกอิ่ม เมื่อจิตคลายจากสมาธิ ก็จะกลับมาสู่ภาวะเดิม เมื่อทำสมาธิใหม่ต้องกำหนดเข้าไปอีก บังคับจิตให้เป็นสมาธิอีกครั้ง กายคตาสติเป็นการเอาสติกำหนดอยู่ในอาการ ๓๒ พิจารณาให้เห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และมองเห็นความเป็นปฏิกูล ธาตุทั้ง ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่เพียงมารวมกันเท่านั้น ให้มองเห็นภายในกาย เหมือนที่นึกเห็นข้างนอก แต่เปลี่ยนจากภายนอกมาเป็นภายในกายของเรา จิตที่นิ่งสงบมีความเป็นหนึ่งเดียว แล้วน้อมพิจารณาจิตไปในทางไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การพิจารณาอย่างแยบคาย(โยนิโสมนสิการ) จิตจะรวมอยู่ได้นาน มีผลทำให้จิตอ่อนโยนลง โดยเปลี่ยนเป็นการเกลี้ยกล่อมจิตไม่ให้สนใจอารมณ์ภายนอก

    กายคตาสติ หากกระทำอย่างมุ่งมั่น จะทำให้เห็นจิตเป็นหนึ่งเดียวตลอดชีวิต เพราะจิตมีอารมณ์เดียว และจิตถูกอบรมให้อยู่ในตัวอยู่แล้ว ให้เห็นความไม่เที่ยง และเห็นกายของตนเป็นสิ่งปฏิกูลเป็นซากศพตลอดเวลา การรู้เห็นกายในกายทะลุทะลวงแม้ขนเพียงเส้นเดียวก็ไม่เว้น เมื่อปฏิบัติได้ถึงขั้นนี้แล้ว ความกำหนัดระหว่างเพศชายหญิงถูกเพิกถอน เกิดความสะอิดสะเอียนเบื่อหน่ายเป็นเครื่องอยู่โดยอัตโนมัติ ความรู้สึกเช่นนี้จะไม่ลบเลือน เบื่อหน่ายคลายความยินดีในตนเอง ความเบื่อหน่ายทุกอย่างในโลกนี้ จึงเป็นผลพวงตามมาทั้งหมด เมื่อเห็นตัวตนของตนเองชัดในอสุภะ ๑๐ (ซากศพทั้ง ๑๐ แบบ) และอนุสสติ ๑๐ ก็อยู่ในนั้น และกรรมฐานทั้ง ๔๐ แบบ ก็มีอยู่ในนั้น เกิดความเบื่อหน่ายในโลกสันนิวาส คลายอารมณ์ออกมีอยู่แต่อารมณ์ที่ซึมซับรับเอาความทรงจำที่เห็นกายดุจซากศพนั้น การคลายอารมณ์ออกนี้เป็นญาณ ๑ ในญาณ ๑๖ ควบคุมจิตให้อยู่ได้โดยปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งถูกลิดรอนถอนตัวตั้งแต่เมื่อกระทำกายคตาสติแล้ว ความเบื่อหน่ายจะทำให้ดับสิ้นไปของกิเลสไม่เหลืออยู่เลย เมื่อเบื่อหน่ายคลายกระสัน จิตก็จะหลุดพ้นจึงสลัดสิ่งนั้นออกไปได้

    การรักในขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสิ่งที่สลัดออกได้ยาก เมื่อพิจารณาจนเกิดความเบื่อหน่ายในสรีระของมนุษย์ จากการปฏิบัติกายคตาสติเห็นว่า"ร่างกายไม่ใช่สิ่งที่ดีงามเป็นของเน่าเปื่อยต้องแตกสลายไปในที่สุด เหมือนแบกศพอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีกลิ่นเหม็นและเป็นของปฏิกูลภายในกาย จึงคลายความยึดมั่นถือมั่นในกาย เกิดความเบื่อหน่ายต่อโลก จึงเป็นจิตที่ยอมรับ เกิดเป็นสมาธิถาวรไม่มีเสื่อมไป เมื่อวิชาเกิดขึ้นแล้ว ความไม่รู้ก็ถูกทำลายไป"เบื่อหน่ายคลายความยินดี แม้ตนเองก็ไม่ยินดีในความเป็นตัวตนเราและเขา
    การพิจารณากายคตาสติ เริ่มจากการเห็นเล็บ การมองเห็นกายค่อยๆมองเห็นกายเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งลามไปทั่วทั้งตัว จิตจดจ่ออยู่ที่การมองเห็นกายในกาย จึงไม่มีการส่งจิตออกไปข้างนอกเลย ระบบเดิมจะหายไปถูกพลิกผันไปสู่ระบบใหม่ จิตที่มองเห็นกายในกายอย่างชัดเจน จะไม่หวนกลับไปสู่ระบบเดิมอีกกายคตาสติเป็นการชำระล้างอารมณ์ออกไป อารมณ์จึงถูกระงับไม่เหลือ ไม่มีแม้แต่ความฝัน เป็นการกระทำที่เปลี่ยนตัวเอง จึงเป็นที่สุดของความรู้

    หลังจากการพิจารณากายคตาสติ ด้วยการพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อย่างใดอย่างหนึ่ง ค่อยๆพิจารณากายคตาสติจนกระทั่งขยายลามไปจนตลอดทั่วร่างกาย สติจึงเป็นหนึ่งเดียวเป็นมหาสติ เป็นญาณให้เกิดรู้ตื่น จิตสงบในทุกสภาวะ ดังเช่นน้ำแข็งในขวด เมื่อน้ำแข็งละลายก็อยู่ในขวด และอุณหภูมิปกติน้ำก็ทรงตัวอยู่ได้ในขวด ร่างกายของเราจึงเป็นเสมือนภาชนะรองรับน้ำไว้เป็นอย่างดี เป็นของห่อหุ้มที่สำคัญที่สุด กายเป็นเสมือนภาชนะที่ห่อหุ้มจิต รั้งจิตไว้ไม่ให้รั่วไหลออกไปได้

    เมื่ออบรมจิตด้วยอุบายนี้ จะชนะจิตของตนเองได้แน่นอน กลายเป็นความตื่นตัว สว่างไสวตลอดอย่างอัตโนมัติ ไม่ต้องควบคุมและไม่ต้องระวังจิต เพราะถึงที่สุดแห่งความเบื่อหน่ายแล้ว จึงไม่ต้องควบคุมสติ พ้นจากโลภะ โทสะ โมหะ กิเลสไม่อาจชักจูงจิตได้อีกต่อไป จิตเป็นจิตนิ่งราบเรียบ เป็นจิตที่ยอมรับอย่างไม่มีการโต้แย้ง สงครามระหว่างฝ่ายโพธิจิตกับกิเลสก็ยุติลงอย่างสงบสันติ จิตจะกลับไปสู่สภาวะเดิมไม่ได้อีกแล้ว เพราะเบื่อทางโลก จึงพ้นจากกิเลสอย่างสิ้นเชิง เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างไม่น่าเชื่อว่า จิตที่ผ่านการอบรมดีแล้ว จะมั่นคงได้ถึงปานนั้น

    กายคตาสติเป็นกรรมฐานชั้นยอดที่เอาชนะกิเลสได้กรรมฐาน ๔๐ แบบ เหมือนผลไม้ที่เป็นพวงมี ๔๐ ผล ซึ่งมีขั้วใหญ่อันเดียวกันรวมกันเป็นพวง การเด็ดขั้วใหญ่ผลทั้งหมดก็จะติดลงมาด้วย ความสับสนของผู้ปฏิบัติกรรมฐาน คือ กรรมฐาน ๔๐ แบบ ไม่รู้ว่าจะทำอันไหนดี การพิจารณาร่างกายโดยเอาจิตเข้าไปหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ปฏิบัติให้มากขึ้นตามลำดับ จิตนิ่งจะรู้เห็นในกายชัดเจน และมองเห็นข้างนอกพร้อมรับรู้ว่ากิเลสที่ยังเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด การพิจารณาเน้นสติอยู่เสมอ การกระทำดังนี้จะชนะใจตนเองได้อย่างแน่นอนในวันใดวันหนึ่ง เหมือนขวดน้ำอย่างดีที่ปิดสนิทจะอยู่ในอุณหภูมิปกติก็อยู่ได้ เพราะจิตนั้นเป็นหนึ่งเดียวตลอดกาลทุกสภาวะ การปฏิบัติสมาธิจนเกิดความอิ่มเต็มรอบ จะเกิดแสงสว่างขึ้นกลางตัว จึงเป็นสภาวะที่ตื่นรู้ตลอดกาล นิพพาน คือ อสังขตะ เป็นสิ่งปรุงแต่งไม่ได้ การเห็นตนเองเป็นซากศพทั้งวันทั้งคืน จึงดับความปรุงแต่งสิ้นเชิง นิพพานอยู่ตรงนี้ ....
     

แชร์หน้านี้

Loading...