การกระทำกรรม...หลวงพ่อแพร วัดพิกุลทอง

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย Kob, 15 ตุลาคม 2005.

  1. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,159
    ค่าพลัง:
    +19,884
    การกระทำกรรม


    ณ บัดนี้อาตมภาพจะแสดงพระสัทธรรมเทศนา ในอรรถกถาอนุโมทนากุศลบุญราศี ซึ่งพุทธบริษัททั้งหลาย เป็นผู้ประกอบไปด้วยศรัทธาปสาทะความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ในโอวาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งใจสดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาเป็นประจำ เป็นลำดับมาถึงกาลบัดนี้ เพื่อจะสั่งสมกุศลวิธีด้วยการประพฤติตามธรรมะคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการตั้งใจสดับตรับฟังธรรมอันเป็นแนวทางแห่งสัมมาปฏิบัติ


    การสดับตรับฟังธรรมนั้น เมื่อสรุปแล้วก็เพื่อประโยชน์ ๒ ประการ คือ ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ หรือสรุปย่อๆ ว่า รู้จักบาปกับบุญว่า ส่วนไหนเป็นบาป ส่วนไหนเป็นบุญ จะได้ประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้อง พยายามละบาปอันเป็นอกุศล เป็นทุจริต ประพฤติปฏิบัติตนแต่ในทางที่ชอบ ที่เป็นบุญเป็นกุศล เป็นสุจริต นี่เป็นหลักสำคัญ บางท่านกล่าวว่า การสดับตรับฟังธรรมนั้น เพื่อให้รู้ ๒ อย่างแล้วละ ๓ อย่าง รู้จักบาป รู้จักบุญ แล้วก็ละความโลภอย่างหนึ่ง ละความโกรธอย่างหนึ่ง ละความหลงอย่างหนึ่ง


    อาตมภาพได้เคยแสดงธรรมะในอรรกถา พรรณนาธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ๔ ข้อ
    ข้อที่ ๑ ว่า ปฏิมฺเสตมตฺตนา จงพิจารณาตนด้วยตนเอง
    ข้อที่ ๒ ว่า อตฺตนา โจทยตฺตานํ พึงตักเตือนตนด้วยตนเอง
    ข้อที่ ๓ ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน
    ข้อที่ ๔ ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน คติ ตนแลเป็นคติของตน

    อันเป็นโอวาทคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้บรรยายโดยย่อพอเป็นแนวทางแห่งสัมมาปฏิบัติคุณธรรม ๔ ประการนั้น เป็นหลักปฏิบัติสำคัญของพุทธบริษัททั้งหลาย ข้อว่าพึงพิจารณาตนด้วยตนเอง เราจะรู้จักถูก รู้จักผิด รู้จักดี รู้จักชั่ว อันเกิดจากการกระทำของเราก็เพราะพิจารณา โดยตั้งจิตเป็นคนตรงต่อธรรมะ ไม่ลำเอียงเข้าข้างตนแล้วก็พิจารณาความประพฤติของตนว่า ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาหรือไม่ นี่จึงจะพิจารณารู้ตนของตน เมื่อพิจารณาตนของตนว่า ตั้งอยู่ในฐานะที่ไม่เป็นบุญเป็นกุศลแล้ว ก็จะเกี่ยวกับข้อที่ ๒ ว่า พึงตักเตือนตนด้วยตนเอง ซึ่งคนอื่นจะตักเตือนตนนั้น ไม่สำคัญเหมือนกับตนเตือนตนของตนเอง เพราะตนรู้อยู่ว่าการประพฤติปฏิบัติหรือตลอดจนการนึกคิดในใจของตนเองเป็นอย่างไร



    นี่เป็นหลักสำคัญในการประพฤติชั่วประพฤติดี หรือจะประพฤติคุณธรรมดีๆ ขึ้นไปโดยลำดับ ก็เพราะอาศัยการตักเตือนให้ละในสิ่งที่ไม่ดี ที่เกิดขึ้นทางกาย ที่เกิดขึ้นทางวาจา หรือที่เกิดขึ้นทางใจ ก็คือความคิดที่เป็นไปเพื่อความริษยา ให้ร้ายป้ายสีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจก่อน แม้คิดในใจอย่างนี้ก็เป็นบาปเป็นอกุศล ควรละไม่ควรให้เกิดขึ้น ควรตักเตือนว่าความคิดเช่นนั้นไม่ดี ไม่เป็นมงคล เป็นบาป และในข้อ ๓ ว่าตนแลเป็นที่พึ่งของตน เป็นของสำคัญมากทั้งในทางโลกทางธรรม เราจะตั้งเนื้อตั้งตัวเป็นหลักเป็นฐาน ก็เพราะอาศัยตนของตนด้วย ยิ่งในทางธรรมนั้นยิ่งสำคัญมาก ต้องอาศัยตนเป็นที่ตั้งอย่างเดียว


    และในข้อที่ ๔ ว่า ตนและเป็นคติของตน คติแปลว่าทางที่ดำเนินไปข้างหน้า หมายเอาชาติหน้า คติที่จะไปในชาติหน้าก็อยู่ที่ตัวของเราเอง ถ้าตัวของเราทำดีก็เป็นเหตุให้ไปบังเกิดในที่ดี เกิดในสวรรค์หรือเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์สุคติ ถ้าทำไม่ดีก็ไปบังเกิดในที่ไม่ดี ไปเกิดเป็นเปรตบ้าง เกิดเป็นอสุรกายบ้าง เกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง นี่ก็เพราะอาศัยการกระทำของตนในปัจจุบันนี้


    เพราะฉะนั้น ตนกับการกระทำกรรมเป็นของคู่กัน เราเกิดมาเป็นตัวเป็นตนแล้วกระทำกรรม กรรมที่เราทำนี้ก็ชื่อว่าเป็นของๆ เราที่จะติดตามไปในสัมปรายภพเบื้องหน้า ในพระบาลีที่ยกไว้วันนี้ว่า

    อตตนญเจ ปิยํ ชญฺญา รกฺเขยฺย สุรกฺขิตํ
    ติณฺณมญฺญตรํ ยามํ ปฏิชคฺเคยฺย ปณฺฑิโต
    แปลว่า ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รักแล้ว พึงรักษาตนนั้นไว้ให้ดี บัณฑิตพึงปฏิบัติตนให้ดีในยามทั้ง ๓ ยามใดยามหนึ่ง นี่พระพุทธเจ้าสอนว่า เมื่อบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รักแล้ว พึงรักษาตนให้ดีในยามทั้ง ๓ ยามใดยามหนึ่ง


    ยามในที่นี้หมายถึง วัย วัยของเรามี ๓ วัย คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย ปฐมวัยหมายเอาตั้งแต่เกิดมาจนถึงอายุ ๒๕ ปี นี่เรียกว่าปฐมวัย อายุ ๒๖ ปีถึง ๕๐ ปี นี้เรียกว่ามัชฌิมวัย วัยในท่ามกลางอายุตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป เรียกว่าปัจฉิมวัย คือวัยสุดท้าย พระพุทธเจ้าสอนว่าบุคคลไม่พึงประมาท รู้จักรักษาตน ก็ประพฤติตนให้ดี ให้เป็นสุจริตธรรม ประพฤติทางกายก็ให้เป็นกายสุจริต ประพฤติทางวาจาก็ให้เป็นวจีสุจริต ประพฤติทางใจก็ให้เป็นมโนสุจริต


    ถ้าในปฐมวัยไม่มีโอกาสจะประพฤติปฏิบัติได้ ด้วยมีธุระเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนเป็นต้น ก็ให้ประพฤติปฏิบัติตนให้ดีในมัชฌิมวัย ถ้ามัชฌิมวัยไม่สามารถจะประพฤติปฏิบัติคุณงามความดีได้ ด้วยเหตุมีธุระเกี่ยวกับครอบครัว เป็นต้น ก็ให้ประพฤติปฏิบัติคุณงามความดีในปัจฉิมวัย ถ้าบุคคลไม่ประมาทประพฤติปฏิบัติคุณงามความดีหรือสุจริตธรรมได้ ก็ชื่อว่ารักษาตนทำตนให้เป็นคนดีได้


    ถ้าตนของตนไม่สามารถจะประพฤติปฏิบัติคุณงามความดีได้ใน ๓ วัย วัยใดวัยหนึ่ง ชื่อว่าทำตนไม่ให้เป็นที่พึ่งของตน บุคคลเช่นนั้นพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาว่า หมดที่พึ่ง แม้จะเกิดมาเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ขัดสน ข้าวต้มสักกระบวยข้าวสวยสักทัพพีหนึ่งก็หาได้ยาก เพราะไม่ได้สั่งสมคุณงามความดีไว้


    เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า เมื่อรู้จักว่าตนเป็นที่รักของตน พึงรักษาตนให้ดี อย่าให้มีอันตรายเกิดขึ้น ภัยอันตรายในที่นี้ก็หมายเอาความประพฤติผิดศีลธรรมนั่นเอง ควรประพฤติตนให้เป็นพลเมืองดีมีศีลธรรม ประกอบอาชีพให้เป็นสุจริตธรรม ให้เป็นสัมมาอาชีวะ นี่ชื่อว่าประพฤติตนดี เพราะฉะนั้นการประพฤติตนดีนี่เอง ชื่อว่าทำตนของตนให้เป็นที่พึ่งอยู่เย็นเป็นสุขทั้งชาตินี้และชาติหน้า การประพฤติตนดี นี่ชื่อว่าการสั่งสมกรรมดี บุคคลสั่งสมกรรมดีแล้วก็อยู่เย็นเป็นสุขทั้งชาตินี้และชาติหน้า ถ้าหากว่าไม่สั่งสมกรรมดีให้เกิดขึ้น ก็มีความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งชาตินี้และชาติหน้าเช่นเดียวกัน กรรมชั่วที่เกิดขึ้นนั้นก็เกิดขึ้นจากตนเอง ไม่ได้เกิดจากบุคคลอื่นกระทำให้ ความดีก็เกิดจากตนของตนเอง


    เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาไว้ว่า อตฺตา หิ กตํ ปาป อตฺตรชํ อตฺตสมฺภวํ บาปที่ตนกระทำแล้ว เกิดจากตน มีตนเป็นแดนเกิด ย่อมทำลายตนเหมือนเพชรที่ทำลายแก้วมณีอันเกิดจากหินฉะนั้น นี่พระพุทธเจ้าตรัสว่าบาปที่เกิดจากเรา ไม่ได้เกิดจากผู้อื่น เกิดจากการกระทำของเราเอง แล้วบาปนั้นก็ให้โทษแก่เรา เหมือนกับเพชรที่ทำลายแก้วมณีอันเกิดจากหินฉะนั้น เหมือนกับกรรมที่เราทำ มันก็เกิดจากตัวเรา เรากระทำกรรมไม่ดี กรรมนั้นก็ทำลายตัวของเราให้ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อนต่างๆ ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า กรรมที่เป็นบาปเป็นอกุศลเป็นทุจริตนั้น เกิดขึ้นจากตัวของเราเอง มีตัวของเราเป็นแดนเกิดแล้วก็ทำลายตัวเรา พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
    อตฺตนา ว กตํ ปาป อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ
    ตนกระทำบาปด้วยตนเอง ตนก็เศร้าหมองด้วยตนเอง
    อตฺตนา อกตํ ปาป อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ
    คนไม่ได้กระทำบาป ตนก็เป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยตนเอง


    บาปนั้นเกิดจากเรากระทำ เมื่อเรากระทำบาปเราก็เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ เป็นบุคคลที่เศร้าหมอง เพราะมีบาปเข้ามาเกลือกกลั้วติดอยู่ในสันดานของเรา ถ้าเราไม่กระทำบาปตนเองก็เป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะบาปไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย บุคคลอื่นจะยังบุคคลอื่นให้หมดจดก็หามิได้ บุคคลอื่นจะยังบุคคลอื่นให้เศร้าหมอง ก็ไม่ได้ นี่เป็นเรื่องของบาปบุญคุณโทษ เป็นของเกิดจากการกระทำของเราทั้งสิ้น


    ดังเรื่องของมหากาลอุบาสกในธรรมบทภาค ๖ ว่า มหากาลอุบาสกนั้นได้รักษาอุโบสถศีลมาตลอดคืน เวลาเช้าตรู่ก็ลงไปล้างหน้าที่สระน้ำ มีโจรผู้ร้ายขึ้นย่องเบางัดบ้านแล้วขนข้าวของหนีมาทางสระน้ำนั้น เจ้าของได้ยินเสียงภาชนะดังก็ตื่นขึ้น แล้วก็ร้องโวยวายขับไล่โจรผู้ร้ายไป โจรก็หนีมาถึงสระที่มหากาลอุบาสกล้างหน้าอยู่ก็ทิ้งห่อภาชนะที่ลักมาแล้วก็พากันหนีต่อไป ประชาชนที่ขับมาถึงสระนั้นพอดี แลเห็นห่อภาชนะที่หายไปและเห็นมหากาลอุบาสกกำลังล้างหน้าอยู่ ณ ที่นั้น ก็สำคัญว่าเป็นอุบาสกผู้นั้นเป็นผู้ลักของมา ครั้นเรากวดมาทันเข้าก็ทำเป็นล้างหน้าอยู่ แล้วช่วยกันจับมัดและทุบตีจนมหากาลอุบาสกถึงแก่ความตาย


    ครั้นความนั้นทราบถึงภิกษุสงฆ์จึงสนทนากันว่า อุบาสกรักษาศีลอยู่ตลอดคืนลงไปล้างหน้าที่สระ ถูกชาวบ้านช่วยกันทุบตีจนตาย เพราะหาว่าเป็นขโมย เหตุไม่น่าจะเป็นเช่นนี้ พระพุทธเจ้าตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่าเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ภิกษุก็ตอบว่าสนทนากันด้วยเรื่องของมหากาลอุบาสก พระพุทธเจ้าตรัสว่า อุบาสกนี้ไม่น่าจะตายในชาตินี้ เหตุที่ตายก็เพราะกรรมเก่าที่เคยกระทำไว้


    พระพุทธเจ้าก็ได้แสดงเรื่องกรรมเก่าที่อุบาสกนั้นได้กระทำไว้ในชาติก่อนว่า มหากาลอุบาสกเกิดเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ มีหน้าที่รักษาป่าอันเป็นที่สัญจรไปมาในที่เปลี่ยว มักจะเกิดโจรผู้ร้ายปล้นกันเป็นประจำ จึงถูกตั้งให้เป็นผู้รักษาด่าน วันหนึ่งเห็นภรรยาของชาวบ้านคนหนึ่งรูปร่างสวยงดงาม ก็เกิดความกำหนัดรักใคร่อยากจะได้ จึงหาวิธีการให้คนใช้เอาแก้วมณีไปซุกไว้ที่เกวียนของสามีของนาง แล้วก็พากันร้องโวยวายว่าขโมยลักแก้วมณีไป ก็ให้คนไปเที่ยวค้นทุกบ้านก็ไม่พบ

    สุดท้ายก็มาค้นที่เกวียนนั้น ก็กล่าวหาบุรุษผู้ที่เป็นสามีของหญิงนั้นว่าเป็นขโมย แล้วก็จับเอาไปประหารจนกระทำกาลกิริยาตาย กรรมนี้ส่งให้นายมหากาล เมื่อกระทำกาลกิริยาตายไปแล้ว ก็บังเกิดอยู่ในนรกชาติหนึ่ง พ้นจากนรกแล้วมาบังเกิดเป็นมนุษย์ใจบุญสุนทาน ได้มารักษาศีลอุโบสถ แต่กรรมที่ทำเขานั้นส่งผลมาถึง ดังคำที่ว่าทำเขาไว้ฉันใด ย่อมได้รับผลฉันนั้น


    เพราะฉะนั้น จึงเกิดความเข้าใจผิดของประชาชนว่าเป็นโจร จึงถูกทุบตายด้วยอำนาจกรรมเก่า แล้วยังมีอีกเรื่องหนึ่งว่า จุลกาลอุบาสกก็รักษาอุโบสถเช่นเดียวกัน เวลาเช้ามืดก็ลงมาอาบน้ำที่สระ มีขโมยลักของทางบ้าน ประชาชนก็พากันกวดมาจนถึงสระน้ำนั้น ก็หาว่าเป็นขโมยแล้วพากันจับโดยความเข้าใจว่าเป็นขโมย ตามเนื้อเรื่องที่กล่าวแล้วในเบื้องต้น ต้องอาศัยมีพยานหลักฐาน มีชายหลายคนที่มาตักน้ำบอกว่าคนนี้เป็นอุบาสก รักษาอุโบสถ จะได้ประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นก็หามีได้ มหาชนก็เชื่อแล้วก็พากันปล่อย นี่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าอุบาสกผู้นั้น ไม่ได้ทำอันตรายใครในชาติก่อน ประชาชนจึงพากันปล่อยเมื่อทราบเหตุถูกต้องแล้ว นี่ชื่อว่าตนเองไม่ได้กระทำบาปไว้ในชาติก่อน


    เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่ากรรมนี้เกิดจากการกระทำของตนเอง อุบาสกผู้นี้พ้นจากการถูกประชาชนทุบตี เพราะกรรมเก่าของตนไม่มี นี่หลักของพระศาสนาถือกรรมเป็นหลัก เราท่านทั้งที่เกิดมามีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นพวกพ้องเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เรากระทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น เพราะฉะนั้นพึงมนสิการกำหนดเสมอว่า เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของเรา เราทำดีไว้ก็ย่อมได้รับผลดี เราทำกรรมชั่วไว้ก็ย่อมได้รับผลชั่ว พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาไว้ ในอภิณหปัจจเวก ๕ ข้อว่า อภิณฺหนํ ปจฺจเวกฺขณิกปทํ อิตฺถิยา วา ปุริเส วา คหตฺเถ วา แปลว่า คฤหัสถ์ บรรพชิต ชายหญิง พิจารณาเนืองๆ ว่า


    ชาติธมฺโมมฺหิ ชาติยา อนนีโต เรามีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้
    ชราธมฺโมมฺหิ ชรํ อนนีโต เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
    มรณธมฺโมมฺหิ มรณํ อนนีโต เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้
    มรณธมฺโมมฺหิ มรณํ อนนีโต เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้


    กมฺมสฺสโกมฺหิ เรามีกรรมเป็นของตัว กมฺมทายาโท เรามีกรรมเป็นทายาท กมฺมโยนิ เรามีกรรมเป็นผู้นำไปเกิด กมฺมพนฺธุ เรามีกรรมเป็น เผ่าพันธุ์ กมฺมปฏิสรโณ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ยํ กมฺมํ กริสฺสามิ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา เราทำกรรมอันใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ตสฺส ทายาโท ภวิสฺสามิ เราต้องเป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้น


    พระพุทธเจ้าตรัสสอน บรรพชิต คฤหัสถ์ ชายหญิง อย่างนี้ เพื่อปลูกความไม่ประมาท การพิจารณาว่าเรามีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ พอตายแล้วก็ต้องเกิด เวียนว่ายตายเกิดอยู่ที่นี่จนกว่าจะถึงพระนิพพาน การเกิดนั้นจะเกิดเป็นอะไร ก็แล้วแต่กรรมนำไป บางชาติอาจจะเกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นพรหม ตามยถากรรมที่เราทำไว้ เรากระทำกรรมอย่างไรไว้ ก็ไปเกิดตามอำนาจของกรรมนั้น อาจจะเกิดดีเกิดชั่ว เราต้องพิจารณาว่าเราตายไปแล้วต้องเกิด เราจะมีความสุขความสบายได้ก็เพราะอาศัยกรรมดีไปเกิด จะมีความทุกข์ความเดือดร้อนก็เพราะกรรมไม่ดีนำไปเกิด จะเป็นเหตุให้เราไม่ประมาท


    การระลึกถึงความตายเสมอ เป็นเหตุให้เราสะสมคุณงามความดีละความชั่ว เพราะว่าเราเกิดมาแล้วต้องตาย ตายแล้วก็ต้องไปเกิดอีก เป็นเหตุให้ละความชั่วไว้ เพราะคิดว่าเราอยู่ไม่นาน อย่างมากก็ไม่เกิน ๑๐๐ ปีหรือถึงจะอยู่เกิดร้อยปี ก็ไม่สามารถจะล่วงพ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตายไปได้ หนีไม่พ้น และย่อมพลัดพรากจากของรัก ของชอบใจ ทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่เป็นของชอบใจ เราก็ต้องพลัดพรากคือตายจากกันไปบ้าง หรือทรัพย์สินต่างๆ จากกันโดยถูกไฟไหม้บ้าง ถูกโจรลักเอาไปบ้าง แต่ถ้าเรานึกถึงธรรมะข้อนี้แล้ว ก็จะเกิดความเศร้าโศกเสียใจน้อยลง เพราะเกิดมาแล้วก็ย่อมพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้แล้ว พอมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็จะบำบัดความทุกข์ความเศร้าโศกได้ นี่เป็นแนวทางแห่งสัมมาปฏิบัติประการหนึ่ง


    ในข้อที่ว่า กมฺมสฺสโกมฺหิ เรามีกรรมเป็นของๆ ตน แปลว่า กรรมที่เรากระทำนี่เป็นของๆ เรา ย่อมติดตามเราไปในชาติหน้า กรรมดีที่เราทำแล้วก็ติดตามเราไปในชาติหน้า กรรมชั่วที่เราทำแล้วก็ติดตามเราไปในชาติหน้า จะยกให้ใครก็ไม่ได้ จะแบ่งให้ใครก็ไม่ได้ ใครกระทำก็เป็นของคนนั้น ชื่อว่ากรรมเป็นของของตน กมฺมพนฺธุ แปลว่ามีกรรมเป็นพวกพ้องเผ่าพันธุ์ เราตายแล้วไม่มีใครติดสอยห้อยตามเราไป ญาติพี่น้องก็ติดตามไปเพียงแค่ป่าช้า แค่กองฟอนเท่านั้นเอง แต่กรรมนี่มันติดตามเราไปถึงชาติหน้า ไม่ว่าจะไปเกิดในชาติใด ภพใด กรรมที่ติดตามเราไปเหมือนเงาตามตน เงาที่ติดตามเรานี่เราไปทางใดก็ติดตามเราไปทุกแห่ง เราจะห้ามเงาโดยวิธีด่าหรือทุบตีก็ตาม เพื่อไม่ให้ตามเราไป เราก็ห้ามไม่ได้ กรรมก็เหมือนกัน ย่อมติดตามเราไปฉันนั้น ห้ามไม่ได้ จะไปชาติไหนก็ไปด้วยกัน ทุกชาติจนกว่าจะให้ผลหมด


    เพราะฉะนั้น จึงแสดงว่ากรรมที่เป็นบาปก็ดีเป็นบุญก็ดีที่เรากระทำ เป็นนามธรรม ไม่มีตัวไม่มีตน วิญญาณของเราก็ไม่มีตัวไม่มีตน วิญญาณเป็นเพียงตัวรู้อยู่ในร่างกายของเรา ไม่มีตัวมีตน เป็นนามธรรม บุญบาปก็เป็นนามธรรม ฉะนั้นจึงไปด้วยกันได้ ในชาติไหนภพไหนก็ไปด้วยกันหมด ส่วนที่เป็นรูปธรรม จะเป็นทรัพย์สินเงินทองผ้าผ่อนท่อนสไบ ร่างกายสังขารของเรา นี่เป็นรูป เราได้เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ ของเหล่านี้เราทิ้งอยู่ในมนุษย์นี่เองเอาไปไม่ได้ เพราะเป็นของมีอยู่แห่งมนุษย์ ส่วนนามธรรมไปด้วยกันได้ บุญก็ไม่มีตัวมีตน บาปก็ไม่มีตัวมีตน มีแต่ชื่อ วิญญาณก็มีแต่ชื่อ จึงเป็นนามธรรม ไปด้วยกันได้ ไปแล้วก็พากันไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่ เหมือนเม็ดมะม่วงในเม็ดมันมีลำต้น มีผลมีกิ่งมีก้านอยู่ในเม็ดนั่นเอง เมื่อเราไปเพาะที่ใดเข้า ก็ย่อมแตกราก เป็นลำต้นแตกใบ ใหญ่ขึ้นมาก็ผลิดอกออกผลเหมือนกรรมก็เช่นเดียวกัน เราไปเกิดที่ไหนก็ให้ผลที่นั่น แล้วแต่ผลจะดีหรือชั่ว


    เพราะฉะนั้น เปรียบเหมือนผลไม้เมล็ดพันธุ์ต่างๆ ที่เรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่แล้ว ก็มีกรรมเป็นพวกพ้องเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย พระพุทธเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า

    ยํ กมฺมํ กริสฺสามิ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา
    เราทำกรรมใดไว้ดีหรือชั่วก็ตาม ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น
    นี่กรรมย่อมติดตามเราไป เมื่อเรายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน วัฏฏสงสาร จะหมดเวรหมดกรรมอยู่เย็นเป็นสุข ก็ด้วยการถึงพระนิพพาน
    การจะถึงพระนิพพานได้นั้นก็ด้วยการสั่งสมบุญ บุญกุศลที่เราสะสมมากขึ้นก็เป็นบารมี ชาตินี้เราได้ทำไว้เพียงเท่านี้ ก็เป็นนิสัยปัจจัยในชาติหน้า เรากระทำมากขึ้นๆ หลายร้อยหลายหมื่นชาติ บุญกุศลของเราก็มากเข้ามากเข้า ต่อไปก็สำเร็จมรรคผล เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ สุดทางของพระนิพพาน


    เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต ในชาตินี้และในชาติหน้าโดยลำดับจนถึงพระนิพพาน ต้องสะสมบุญกุศลแล้วละความชั่วอันเป็นบาปอกุศลเป็นทุจริต พยายามห้ามจิตของตนไม่ให้ยินดีในเหตุให้เกิดบาป แม้เรากระทำกรรมไว้แล้ว เมื่อเราเลิกละไปบาปนั้นก็ชื่อว่าเป็นอันชะงักแค่นั้นไม่เกิดต่อไป เราสะสมความดีก็ชื่อว่าเป็นที่พึ่งของเราในสัมปรายภพภายภาคหน้า


    เพราะฉะนั้น สาธุชนพุทธบริษัทพึงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พิจารณาถึงชีวิตและร่างกายของเรานี่เป็นหลัก ว่าร่างกายสังขารจะอยู่เป็นสุข ก็เพราะการประพฤติชอบ ตามโอวาทคำสั่งสอนของพระสัมมา สัมพุทธเจ้า พึงสะสมแต่ความดี พระพุทธเจ้าสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท โดยตรัสสอนเป็นปัจฉิมโอวาทว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นของเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด เมื่อตรัสเช่นนี้แล้ว พระองค์ไม่ตรัสอะไรต่อไปอีกเลย จนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ท่านเปรียบเหมือนบิดามารดาที่มีความรักใคร่ในบุตรธิดา อุตส่าห์พร่ำสอนบุตรธิดาจนขาดใจตาย


    ในข้อว่า วยธมฺมา สงฺขารา สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา นี่สอนไม่ให้พวกเราหลงในร่างกายสังขาร มันเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง และดับสลายในที่สุด อย่าไปหลง งมงาย เราบริหารร่างกายไปตามสภาพของสังขาร เราอาศัยร่างกายอยู่ก็บริหารร่างกายไปในทางที่ชอบ และในข้อว่า อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ชื่อว่าตน ก็คือ สั่งสมความดีให้เกิดแก่เรา ชื่อว่าผู้อื่นก็คือเราประกอบไปด้วยเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สงเคราะห์ อนุเคราะห์แก่ผู้อื่นตามสมควรที่เราจะกระทำได้ เป็นต้นว่าทำถนนหนทาง ทำที่พักร้อน สร้างโอ่งน้ำให้ประชาชนได้บริโภคกันนี่เรียกว่าเราบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นนี้ได้ชื่อว่าเราได้ทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น แล้วจะเกิดความปลื้มใจว่า ถ้าหากว่านรกมีจริง เราก็ไม่ได้ไปนรกเพราะเราไม่ได้ทำความชั่ว ถ้าบุญมีจริงเราก็ได้ไปสวรรค์ เพราะนักปราชญ์กล่าวว่าคนทำบุญไปสวรรค์ ถ้านรกไม่มีและสวรรค์ไม่มี เราก็ปลื้มใจว่า เราเกิดมาแล้วได้ทำประโยชน์ส่วนรวม ทำให้บุคคลอื่นได้อยู่เย็นเป็นสุขเพราะตัวเรา


    เพราะฉะนั้น พุทธบริษัททั้งหลายพึงมนสิการตามพระบาลีที่อาตมายกขึ้นในเบื้องต้นว่า อตฺตานญเจ ปิยํ ชญญา บุคคลรู้ว่าตน
    เป็นที่รักของตนแล้ว รกฺเขยฺย นํ สุรกฺขิตํ พึงรักษาตนให้ดี
    ติณฺณมญญตรํ ยามํ ปฏิชคฺเคยฺย ปณฺฑิโต บัณฑิตพึงปฏิบัติตนให้ดี วัยใดวัยหนึ่ง ในวัยทั้ง ๓ ตามที่เราสามารถจะประพฤติปฏิบัติได้ ถ้าเราปฏิบัติได้ทั้ง ๓ วัย ก็ยิ่งเป็นประโยชน์แก่เรามาก


    อาตมภาพแสดงมาในอรรถกถา และได้แสดงถึงเนื้อความของพระธรรมเทศนาว่า ตนของเราเป็นสำคัญ แล้วก็กรรมที่เกิดจากตน ไม่ได้เกิดจากผู้อื่นทำให้ พอเป็นแนวทางแห่งสัมมาปฏิบัติ เป็นเครื่องเพิ่มธรรมา นุตตริยานิสงส์ แสดงมาพอสมควรแก่เวลาขอยุติพระธรรมเทศนาไว้แต่เพียงนี้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2005
  2. boonlai

    boonlai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    45
    ค่าพลัง:
    +356
    อนุโมทนาสาธุด้วยค่ะ
     
  3. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,159
    ค่าพลัง:
    +19,884
    ขอมอบสิ่งดีๆ ให้แก่เพื่อนๆ นะคะ ขอให้มีความสุขมากๆ คะ....

    ขอบคุณทุกๆท่านที่มาอ่านธรรมะที่ kob ให้ และร่วมอนุโมทนาบุญ ขอให้ทุกท่านมีความสุขมากๆ นะคะ......

    [music]http://palungjit.org/attachments/a.30459/[/music]​
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2005

แชร์หน้านี้

Loading...