การดับปฏิฆะ(ความผิดใจ ไม่ชอบใจเพราะโทสะ)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย Faithfully, 24 ตุลาคม 2015.

  1. Faithfully

    Faithfully เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    656
    ค่าพลัง:
    +2,459
    การดับปฏิฆะ(ความกระทบกระทั่งไม่ชอบใจ ผิดใจเพราะโทสาคติ)


    การดับปฏิฆะเป็นพระนิพนธ์บทหนึ่งของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

    ปฏิฆะ คือความกระทบกระทั่งไม่ชอบใจ ผิดใจ เมื่อมีปฏิฆะอยู่ในบุคคลใด ก็ย่อมจะมีความลำเอียงเพราะโทสาคติ คือความลำเอียงเพราะความชังในบุคคลนั้น จะไม่ใคร่มองเห็นความดีของบุคคลนั้น จะมองเห็นความไม่ดีอยู่เสมอ

    การ แผ่เมตตาดับปฏิฆะไปในบุคคลที่ไม่เป็นที่รัก เช่น ในผู้ที่เป็นศัตรู ถ้าหากจิตใจยังไม่เป็นอุเบกขา คือยังดับปฏิฆะในใจไม่ได้ การแผ่เมตตาออกไปในบุคคลที่ชังกันนั้นยากมาก จิตไม่ยอมที่จะเมตตา ยิ่งไปคิดถึงบางทีกลับไปเพิ่มความพยาบาท โทสะให้มากขึ้นไปอีก

    เพราะ ฉะนั้นต้องคิดดับปฏิฆะในใจ ทำใจให้เป็นอุเบกขาให้ได้ โดยที่ปลงลงในกรรม เป็นกรรมของบุคคลที่ตนไม่ชอบนั้นเองด้วย เป็นกรรมของตนเองด้วย และไม่ว่าจะเป็นศัตรูคือบุคคลที่ตนไม่ชอบหรือว่าเป็นตนเอง เมื่อทำอะไรออกไปทางกาย ทางวาจา ตลอดจนถึงทางใจ

    กรรมที่ทำนั้นถ้า เป็นอกุศลก็เป็นอกุศลกรรมของตนเองเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นพิจารณาดูว่าไม่ชอบเขาเพราะอะไร เขาเป็นศัตรูเพราะอะไร สมมติว่าไม่ชอบเขา เห็นว่าเขาเป็นศัตรู เขาทำร้าย เขาพูดร้าย เขาแสดงอาการคิดร้ายต่อตนอย่างใดอย่างหนึ่ง

    คราวนี้ก็มาพิจารณาปลง ลงในกรรม ก็พิจารณาว่าการทำร้าย การพูดร้าย การคิดร้ายของเขานั้นใครเป็นคนทำ เขาทำหรือว่าเราทำ ก็ต้องตอบว่าเขาทำ ก็เมื่อเขาทำก็เป็นกรรมของเขา เมื่อเขาทำร้าย เขาคิดร้าย เขาพูดร้ายจริงแม้ต่อเรา กรรมที่เขาทำนั้นก็เป็นอกุศลกรรมของเขาเอง เราไม่ได้ทำก็ไม่เป็นกรรมของเรา

    แม้ว่าเราจะเดือดร้อนเพราะกรรมเขา ก็จริง แต่กรรมที่เขาทำก็เป็นกรรมของเขาเอง ไม่ใช่กรรมชั่วของเรา เมื่อแบ่งกรรมออกได้ดังนี้แล้ว ก็จะทำให้ปลงใจลงในกรรมได้ไม่มากก็น้อย หรือว่าปลงลงไปได้ครึ่งหนึ่ง หรือว่าค่อนหนึ่ง หรือว่าทั้งหมด

    ถ้าหากว่าสามารถพิจารณาให้เห็นจริงจังดั่งนั้นได้ และก็ดูถึงกรรมของตนเองว่า อาจจะเป็นที่ตนกระทำกรรมอันใดอันหนึ่งที่เป็นกรรมชั่วของตน แต่ว่าไปทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อนในอดีต(อดีตชาติ)บ้าง หรือว่าในปัจจุบันบ้างก็ได้

    เพราะฉะนั้นก็ให้อโหสิกรรมกันไปเสีย คิดปลงลงไปดั่งนี้ แล้วก็จะทำให้ดับปฏิฆะลงไปได้ คิดแผ่เมตตาไปแม้ในคนที่เป็นศัตรูหรือคนที่ชังกันก็ย่อมจะทำได้ง่าย

    ที่มา: www.watrakang.com/Dhamma/dhamma2
     
  2. Faithfully

    Faithfully เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    656
    ค่าพลัง:
    +2,459
    ว่าด้วย ความเป็นไปในการเกิดปฏิฆะ

    นิวรณ์ข้อพยาบาท
    ›››››
    สมเด็จพระญาณสังวร
    สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
    วัดบวรนิเวศวิหาร
    คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
    อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

    บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
    อันตรายแห่งการปฏิบัติสมาธิก็คือนิวรณ์ ที่แปลว่ากิเลสเป็นเครื่องกั้นจิตไว้ ทำไม่ให้ได้สมาธิ ไม่ให้ได้ปัญญา และนิวรณ์ข้อที่ ๑ คือกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกามได้แสดงแล้ว ในวันนี้จะแสดงข้อที่ ๒ คือพยาบาท
    คำว่าพยาบาทนั้นในที่นี้มีความหมายถึง ทั้ง ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งใจ ความขัดใจ โกธะ ความโกรธ โทสะ ความประทุษร้ายใจ และพยาบาท คือความปองร้าย ความมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ คือหมายรวมถึงกิเลสกองโทสะทั้งหมด
    แต่ว่าชื่อของกิเลสกองโทสะดังที่กล่าวมานี้มีลักษณะที่ต่างกัน ตั้งแต่อย่างอ่อน จนถึงอย่างหยาบช้ากล้าแข็ง ที่เป็นอย่างอ่อนเป็นเบื้องต้น ก็ได้แก่ปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งใจ ความขัดใจ อันเนื่องมาจากความประสบกับอนิษฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาทั้งหลาย เช่นว่า ทราบว่าคนนั้นคนนี้นินทาว่าร้าย ได้ยินคนนั้นคนนี้ด่าว่า ได้ถูกคนนั้นคนนี้ประหัตประหาร ประทุษร้ายร่างกาย ได้ถูกคนนั้นคนนี้เอาชนะ ได้ถูกคนนั้นคนนี้ลักขโมยสิ่งของ ดั่งนี้เป็นต้น


    โทสะแปลว่าประทุษร้าย

    อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเหล่านี้ก็มากระทบใจเป็นปฏิฆะขึ้น และปฏิฆะนี้เองเมื่อแรงขึ้นก็เป็น โกธะ ความโกรธ ความขัดเคือง และโกธะความโกรธความขัดเคืองนี้เมื่อแรงขึ้นก็เป็นโทสะ ซึ่งบังเกิดขึ้นภายในจิต ก็ทำจิตให้เร่าร้อน โทสะจึงแปลว่าประทุษร้าย ก็คือประทุษร้ายจิตนี้เอง จิตของตน ให้รุ่มร้อน เป็นการประทุษร้ายภายในคือจิตใจของตนเองก่อน และเมื่อแรงขึ้นอีกก็เป็นพยาบาทคือความปองร้ายมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ อันกระทำให้ เขาด่าก็ด่าตอบ เขาประทุษร้ายก็ประทุษร้ายตอบ เขาเอาชนะก็เอาชนะตอบ และพยาบาทนี้ก็เป็นเหตุให้ประทุษร้ายผู้อื่น ที่มาเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดเคืองโกรธแค้น อย่างเบา อย่างปานกลาง หรืออย่างแรง ก็สุดแต่กำลังของพยาบาทที่บังเกิดขึ้น
    ถ้าจะเทียบกับกองไฟ ก็เทียบได้ว่า อันปฏิฆะทีแรกคือความกระทบกระทั่งนั้น ก็เทียบได้กับอันไม้ขีด หยิบเอามาขีดข้างกล่องไม้ขีด ก็เกิดไฟขึ้นที่ปลายก้านไม้ขีด เป็นไฟนิดเดียว และเมื่อเอาไฟก้านไม้ขีดที่ติดไฟนิดเดียวนี้มาต่อเข้ากับเชื้อไฟ ไฟก็จะติดเชื้อไฟ เช่นถ่านหรือฟืนสำหรับหุงต้ม (เริ่ม ๑๙๙/๒) และไฟที่ติดเชื้อแล้วนี้ จะเป็นกองเล็กหรือกองโต ก็สุดแต่ว่าเชื้อที่มาติดเข้ากับไฟ ถ้าเป็นไฟในเตาสำหรับหุงหาอาหาร ก็เป็นไฟที่อยู่ในขอบเขตอันจำกัด เป็นประโยชน์สำหรับใช้สอย แต่เมื่อไฟนั้นได้เชื้อเช่นน้ำมัน และไม้ที่เป็นบ้านเป็นเรือน จนถึงติดลุกไหม้บ้านไหม้เรือนให้เป็นไฟกองโต เป็นไฟไหม้บ้านไหม้เรือนดังที่ปรากฏ
    ดั่งนี้ก็เป็นขั้นที่แรงขึ้นมาโดยลำดับ จากปฏิฆะก็มาเป็นโกธะ โกรธ จากโกธะก็มาเป็นโทสะ จากโทสะก็มาเป็นพยาบาท ไหม้เชื้อ ก็คือประทุษร้ายเชื้อไฟนั้นเองให้ไหม้ น้อยหรือมาก ก็สุดแต่กำลังของพยาบาทที่น้อยหรือมาก
    เทียบกันได้กับบุคคล หรือหมู่ชน ก็อาจเทียบได้ อย่างเช่นทีแรก ก็กระทบกระทั่งกันเป็นปฏิฆะ แรงขึ้นก็เป็นโกธะคือโกรธกัน แรงขึ้นก็เป็นโทสะประทุษร้ายใจของตัวเองของแต่ละคนที่โกรธกัน แล้วก็มาเป็นพยาบาท ถึงกับทำร้ายกัน มุ่งปองร้ายกัน ก็ทำให้เกิดกรรมคือการกระทำ คือการกระทำที่ทำร้ายกัน ระหว่างคนสองคน ระหว่างคนสองหมู่ ตั้งแต่หมู่เล็กจนถึงหมู่ใหญ่ จนถึงเป็นสงครามขึ้นมา เป็นระหว่างชาติหรือหลายชาติ นี้ก็เนื่องมาจากกิเลสกองโทสะดั่งที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น
    ลำพังพยาบาทนั้น เป็นความมุ่งร้ายปองร้ายในจิตใจ อันเป็นเหตุก่อเจตนาคือความจงใจประกอบกรรม คือการงานที่กระทำ ทางกายทางวาจาทางจิตใจ เป็นการประทุษร้ายกัน ทำร้ายกัน ล้างผลาญกัน เพราะฉะนั้น กิเลสกองโทสะนี้จึงเป็นกิเลสตัวทำลายดังเช่นตัวอย่างที่กล่าวมา ลำพังกิเลสกองโทสะเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคลก่อน และเป็นเหตุก่อกรรมคือการงานที่กระทำเบียดเบียนทำลายล้างกันดังกล่าว และเมื่อจิตใจมีกิเลสกองโทสะอยู่ ก็เป็นอันตรายของสมาธิ เป็นเหตุให้ทำสมาธิไม่ได้

    อาหารของโทสะ

    พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ว่า อันร่างกายนี้ต้องอาศัยอาหาร ร่างกายจึงเป็นไปได้ จึงดำรงได้ กิเลสกองพยาบาทหรือกองโทสะดังกล่าวก็เช่นเดียวกัน ต้องอาศัยอาหาร เมื่อได้อาหารพยาบาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เติบโตมากขึ้น
    อันอาหารของพยาบาท หรือของกิเลสกองโทสะ ก็ได้แก่ ๑ ปฏิฆนิมิต นิมิตคือจิตกำหนดหมายในปฏิฆะคือความกระทบกระทั่ง และ ๒ การกระทำให้มากด้วยอโยนิโสมนสิการ คือการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ข้อที่ ๑ ปฏิฆนิมิตนั้น ก็ได้แก่จิตนี้เองกำหนดหมาย จดจำ รำลึกถึง อยู่ที่ปฏิฆคือการกระทบกระทั่งที่ตนได้รับ ดังเมื่อเขาด่ามา ก็มีตัวเราออกรับการด่าของเขา ตัวเราก็ไปกระทบกับการด่าของเขา ก็บังเกิดเป็นการกระทบกระทั่งกันขึ้น

    ปฏิฆนิมิต

    แต่ถ้าเขาด่ามา ถ้าไม่มีตัวเราออกรับ การกระทบกระทั่งก็ไม่มี การด่าของเขาก็เป็นลมๆ แล้งๆ คือเป็นลมปากที่ผ่านมากระทบหูแล้วก็ผ่านไปเท่านั้นไม่ข้องติด แต่เพราะมีตัวเราออกรับ รับว่าเขาด่าเรา จึงเกิดสังโยชน์คือความผูกใจ ผูกใจอยู่ในคำด่านั้น ก็เป็นปฏิฆนิมิต คือจิตใจก็กำหนดอยู่ ระลึกถึงอยู่ถึงการกระทบกระทั่งนั้น ดั่งนี้คือปฏิฆนิมิต และเมื่อมีปฏิฆนิมิตดั่งนี้ จิตใจก็คิดปรุงหรือปรุงคิด ส่งเสริมความกระทบกระทั่งนั้น จึงกลายเป็นความโกรธ กลายเป็นโทสะ กลายเป็นพยาบาทขึ้นโดยลำดับ เพราะจิตนี้เองคิดปรุงหรือปรุงคิดไปในทางส่งเสริม
    เหมือนอย่างเมื่อขีดไม้ขีด ติดไฟขึ้นมาที่ปลายก้านไม้ขีด แทนที่จะให้ไม้ขีดดับลงแค่นั้น ก็เอาก้านไม้ขีดไปจ่อเชื้อเข้า เกิดไฟลุกขึ้นมากองโต แล้วก็คอยเติมเชื้อให้แก่กองไฟนั้น เมื่อเติมเชื้อให้มากไฟก็กองโตมาก และเมื่อไฟได้เชื้อก็คงติดเป็นไฟ เป็นกองไฟอยู่ตลอดเวลาที่ยังมีเชื้อ
    ฉะนั้นตราบใดที่จิตใจนี้คิดปรุงหรือปรุงคิดไปในทางโกรธ ไม่คิดปรุงหรือปรุงคิดไปในทางดับ ดั่งนี้แหละเรียกว่ากระทำให้มากด้วยอโยนิโสมนสิการ คือด้วยการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ทั้งปฏิฆนิมิต และทั้งการกระทำให้มากโดยอโยนิโสมนสิการ
    การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายดังกล่าวนี้ เป็นอาหารของกิเลสกองโทสะหรือกองพยาบาท อันทำให้กิเลสกองนี้ที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เติบโตมากขึ้น
    เพราะฉะนั้น ในทางปฏิบัติจึงต้องไม่ให้อาหารแก่กิเลสกองนี้ กล่าวคือ ไม่ทำปฏิฆนิมิตความกำหนดหมายผูกความกระทบกระทั่งไว้ในใจ โดยที่หัดดับใจ คือดับโทสะเสีย ดับกระทบกระทั่งเสีย หรือว่าหัดที่จะไม่เอาตัวออกรับ การหัดดับกระทบกระทั่งเสีย ก็เช่นเมื่อติดก้านไม้ขีดขึ้นมาแล้ว ก็ให้ไฟดับอยู่แค่ก้านไม้ขีดเท่านั้น ไม่เอาไปจ่อเชื้อให้ไฟกองโตขึ้น
    หัดปฏิบัติในขั้นนี้อาจจะดับได้ง่าย เพราะการกระทบกระทั่งทีแรกนั้น ยังไม่ทันก่อกิเลสกองโทสะนี้ให้ใหญ่โต เป็นความกระทบกระทั่งทีแรกเท่านั้น ก็ให้ดับไปแค่นั้น เหมือนอย่างก้านไม้ขีดที่จุดเป็นไฟขึ้นมา แล้วก็ให้ดับเพียงแค่ก้านไม้ขีด ก็ไฟนิดเดียวเท่านั้น หัดดับก็ไม่ยากในเมื่อตั้งใจจะดับ
    อีกประการหนึ่งก็คือว่าหัดที่จะไม่เอาตัวออกรับ ที่เรียกว่าไม่ร่วมบริโภคอาหารด้วย ดังเช่นพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงถูกพราหมณ์ผู้หนึ่งว่ากล่าวค่อนแคะต่างๆ ว่าทรงออกบวชเป็นการทำลายตระกูลดั่งนี้เป็นต้น พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสกับพราหมณ์ผู้นั้นว่า เมื่อแขกมาหาพราหมณ์ผู้นั้นต้อนรับอย่างไร พราหมณ์นั้นก็กราบทูลว่า ก็ต้อนรับด้วยน้ำด้วยข้าวเป็นต้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า ถ้าแขกที่มานั้นเขาไม่บริโภคข้าวบริโภคน้ำ ที่พราหมณ์นั้นจัดต้อนรับ ข้าวน้ำนั้นตกเป็นของใคร พราหมณ์ก็ตอบว่า ก็ตกเป็นของพราหมณ์นั้นนั่นเอง ก็ตกแก่เจ้าของบ้าน พระพุทธองค์จึงตรัสว่าถ้อยคำที่ท่านว่าต่างๆ นั้นเราก็ไม่รับ ไม่บริโภคร่วมด้วยเช่นเดียวกัน โดยนัยนี้ก็หมายความว่าเมื่อพระองค์ไม่ทรงรับ ถ้อยคำที่พราหมณ์ว่ากล่าวค่อนแคะต่างๆ ก็ตกเป็นของผู้พูดเอง ก็ตกเป็นของผู้ที่ว่ากล่าวค่อนแคะนั้นเอง ดั่งนี้
    เพราะฉะนั้น การหัดที่จะไม่เอาตัวเองออกรับดั่งนี้ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง สำหรับการที่จะทำปฏิฆนิมิตนี้ไม่ให้บังเกิดขึ้น หรือการที่จะดับปฏิฆนิมิตที่แม้บังเกิดขึ้นเล็กน้อย

    การพิจารณาโดยแยบคาย

    อีกประการหนึ่งก็หัดกระทำให้มากโดยโยนิโสมนสิการ คือการพิจารณาโดยแยบคาย คือการหัดคิดดับโกรธ ไม่คิดส่งเสริมโกรธ แต่คิดดับโกรธ คือพิจารณาว่า ความโกรธก็คือกิเลสกองโทสะหรือพยาบาทนี้ทั้งหมดนั้น เป็นโทษอย่างนั้นๆ เช่นก่อให้เกิดความวู่วาม เร่าร้อน ไม่ผาสุก เป็นเหตุก่อกรรมคือการงานที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจเป็นอกุศลต่างๆ ล้วนแต่มีโทษ ไม่มีคุณ
    ส่วนความดับโกรธนั้นเรียกว่าเป็นการที่ดับไฟตั้งแต่ต้น ไม่ลุกลามใหญ่โต ไหม้ตัวเองและไหม้ผู้อื่นให้เดือดร้อน เพราะฉะนั้น ดับโกรธเสียจึงดีกว่า และมีคุณ ทำให้เกิดความผาสุกสบาย ไม่ก่อกรรมเบียดเบียนทำลายล้างซึ่งกันและกัน เป็นการหัดคิดพิจารณานี้เองที่จิตใจ สร้างสติความระลึกได้ความสำนึกตัว สร้างปัญญาให้แก่จิตใจ เมื่อจิตใจได้สติได้ปัญญา ก็ย่อมจะดับโทสะได้ และการใช้ความคิดวิตกตรึกตรองไปก็จะเป็นไปในทางดับโทสะดับพยาบาท ไม่เป็นไปในทางก่อให้ลุกลาม
    เพราะฉะนั้น การปฏิบัติดั่งนี้จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ให้อาหารแก่กิเลสกองนี้ กิเลสกองนี้ที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิด ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะดับไป และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็สามารถที่จะปฏิบัติในสมาธิได้ ทำจิตให้เป็นสมาธิได้


    ที่มา: www.dharma.gateway.com/monk/preach/somdej
     

แชร์หน้านี้

Loading...