การดับลงแห่งอัตตา

ในห้อง 'ทวีป ยุโรป' ตั้งกระทู้โดย Wat Pa Gothenburg, 9 ธันวาคม 2008.

  1. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    การดับลงแห่งอัตตา
    ดังที่กล่าวมาแล้วในบทก่อนว่า การเกิดขึ้นแห่ง "อัตตา" ก็คือการตั้งจิตไว้ผิด เพราะฉะนั้น การตั้งจิตไว้ให้ถูกจึงเป็นรากฐานแห่งการดับ "อัตตา" ตลอดเวลาที่มีการตั้งจิตไว้ถูก ความดับของ "ตัวเรา" ก็มีอยู่เพียงนั้น ไม่ว่าการกระทำนั้นๆ จักเป็นไปโดยบังเอิญ หรือว่าเป็นไปเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ใช้อำนาจของสมาธิปิดกั้นโอกาสแห่งการเกิดขึ้นของ "ตัวตน" หรือว่าเป็นเพราะอำนาจของปัญญาซึ่งตัดราก "ตัวเรา-ของเรา" เสียโดยสิ้นเชิงก็ตาม ล้วนแต่กล่าวได้ว่า ในขณะนั้นมีภาวะแห่งความดับของ "ตัวเรา-ของเรา" ด้วยกันทั้งนั้น ต่างกันแต่ว่า อย่างที่ ๑ เป็นไปอย่างผิวเผิน อย่างที่ ๒ เป็นไปตลอดเวลาที่มีการบังคับ อย่างที่ ๓ เป็นการดับสนิทเพราะทำลายรากเง่าของมันเสียโดยสิ้นเชิง และความดับที่เราประสงค์ในที่นี้ ก็หมายถึงอย่างที่ ๓ โดยเฉพาะ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ควรทำความเข้าใจในอย่างที่ ๑ และที่ ๒ ด้วยเหมือนกัน เพื่อป้องกันความสำคัญผิด หรือ ความสับสนนั่นเอง
    [​IMG]
    การไม่ปรากฏของ "อัตตา" อย่างที่ ๑ ซึ่งมีขึ้นได้ด้วยการประจวบเหมาะนั้น หมายถึง ขณะนั้น เผอิญมีสิ่งบางสิ่ง (ซึ่งจะเป็นการได้เห็นหรือได้ฟังหรือได้อ่านอยู่ก็ตาม หรือได้รับอารมณ์ซึ่งเป็นความเงียบสงัดไม่ชวนให้เกิดความคิดนึกอะไรก็ตาม) ทำให้เกิดความรู้สึก ที่เป็นการดับ "ตัวเรา-ของเรา" อยู่ได้เป็นเวลาระยะหนึ่ง นานตลอดเวลาที่ความรู้สึกเช่นนั้นมีอยู่ ลักษณะเช่นนี้เป็นไปได้ ในคนธรรมดาสามัญทั่วๆ ไป แม้ด้วยความไม่ตั้งใจ และอาจเป็นได้มากสำหรับผู้ที่อยู่ในที่ที่เหมาะสม มีสิ่งแวดล้อมหรือมีการสมาคมกับบุคคลที่เหมาะสม หรือแม้แต่ดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม ซึ่งพอจะเรียกได้สั้นๆ ว่าเป็นความสบายทางจิตนั่นเอง อาการอย่างนี้พอจะเรียกได้ว่า "ตทังควิมุตติ" คือการพ้นไปจากอำนาจของ "ตัวเรา-ของเรา" ด้วยความบังเอิญประจวบเหมาะ นิสัยของคนบางคน ธรรมชาติสร้างมาให้เป็นผู้มีจิตว่างจาก "ตัวตน" ได้ง่ายๆ กล่าวคือ ความรู้สึกว่า "ตัวเรา-ของเรา" เกิดขึ้นได้โดยยาก ก็นับรวมอยู่ในข้อนี้
    [​IMG]
    สำหรับความดับแห่ง "อัตตา" อย่างที่ ๒ ซึ่งเป็นด้วยการกระทำทางจิต (ซึ่งไม่ใช่ทางปัญญานั้น) หมายถึง ขณะนั้นมีการทำจิต ให้ติดอยู่กับอารมณ์ของสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตกำลังอยู่ในสภาพที่เปรียบเหมือนกับวัวที่ถูกผูกติดอยู่กับแอก กล่าวคือ อารมณ์ของสมาธิไม่มีโอกาสที่จะหนีไปหาอารมณ์อื่นตามที่มันชอบ ความรู้สึกเป็น "ตัวเรา-ของเรา" จึงไม่อาจจะเกิดขึ้นในขณะนั้น ความว่างจาก "ตัวตน" ในลักษณะเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นไปโดยบังเอิญ แต่เป็นไปโดยอาศัยการกระทำที่เอาจริงเอาจัง โดยวิธีเหนี่ยวรั้งจิตไว้ในอารมณ์ที่บริสุทธิ์จนไม่เกิด "ตัวตน" แม้จะมีบ้าง ก็เป็นไปแต่ในทางที่ดี คือเป็น "ตัวเรา-ของเรา" ฝ่ายดี ยังไม่มีอันตรายมาก ยังมีทางที่จะทำลายให้หายไปด้วยการทำสมาธิที่ถูกต้องได้
    [​IMG]
    ตัวอย่างเช่น ในการทำอานาปานสติภาวนา เมื่อทำจิตให้เป็นสมาธิได้ ก็เกิดสุขเวทนาขึ้นมาจากสมาธิ ถ้ามีสติสัมปชัญญะเพียงพอ คือมีการกระทำที่ถูกวิธีอยู่ตลอดเวลานั้น จิตก็ไม่อาจจะเกิดความรู้สึกว่ามี "ตัวตน" มีแต่การที่จะพิจารณาต่อไป ว่าแม้ความสุขที่เกิดจากสมาธิก็เป็นมายา คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา "อัตตา" ก็ ยังไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนในกรณีที่เผลอสติ หรือทำผิดวิธีนั้น ก็จะพอใจอย่างหลงใหลในสุขเวทนานั้น หรือถึงกับเกิดความรู้สึกทะนงว่า ตนประสบผลสำเร็จในคุณวิเศษแล้ว "ตัวเรา-ของเรา" ก็ย่อมจะเกิดขึ้นมาอีก อย่างนี้จะไปโทษสมาธิไม่ถูก เพราะว่าในขณะนั้นไม่เป็นสมาธิที่ถูกต้องเสียแล้ว
    วิกขัมภนวิมุตติ ก็คือการพ้นไปจากอำนาจของ
    "อัตตา" ด้วยการอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาปิดกั้นทางเกิดแห่ง "อัตตา" ไว้อย่างหนาแน่น และอย่างเฉลียวฉลาด การพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อกลบอารมณ์ร้าย เช่น การสวดมนต์เพื่อกลบอารมณ์ร้ายที่เป็น "ตัวเรา-ของเรา" ถ้า ทำสำเร็จก็นับรวมเข้าในข้อนี้ นี้เป็นตัวอย่างสำหรับการกระทำเล็กน้อย ซึ่งคนธรรมดาสามัญก็ทำได้ แม้ที่สุดแต่เรื่องที่สอนให้นับ ๑ ถึง ๑๐ ก่อนที่จะโกรธใคร แล้วก็นับเรื่อยไปจนความโกรธเกิดขึ้นไม่ได้ แม้อุบายอย่างนี้ก็นับรวมไว้ในข้อนี้ ทั้งนี้มีหลักสั้นๆ ว่าต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ไม่ใช่มันเป็นไปโดยบังเอิญ จึงแตกต่างจากอย่างที่ ๑ และเราเรียกมันว่าเป็น การดับตัวตนด้วยอำนาจการกระทำทางจิต เช่น การทำสมาธิ ยังไม่ใช่การกระทำทางปัญญา

    [​IMG]
    สำหรับความดับ "ตัวตน" อย่าง ที่ ๓ คือด้วยการอาศัยปัญญานั้น หมายถึง อุบายที่แยบคายไปกว่านั้นมาก และไม่ใช่เป็นการกระทำที่บีบบังคับโดยตรง แต่เป็นการกระทำที่เรียกว่า เป็นการถอนรากเง่าขึ้นมาทำลายเสียโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น ในการทำลายหญ้าคา ถ้าเอามีดเอาพร้ามาฟาดฟันอย่างผิวเผิน หญ้าคาก็หายหน้าไปพักหนึ่งแล้วก็งอกขึ้นมาอีก หรือถ้าเอาอะไรมาทับมาปิดไว้ หญ้าคาก็หายหน้าไปเหมือนกัน แต่เมื่อเอาของทับออกเสียแล้ว หญ้าคาก็กลับปรากฏอีก แต่ก็นานกว่าวิธีที่ ๑ ทีนี้ถ้าขุดรากหญ้าคาขึ้นเผาเสียให้หมด หญ้าคาก็หมดไปเป็นการถาวร เราทราบแล้วว่า "อวิชชา" เป็นรากเง่าของ "อัตตา" ฉะนั้น การทำลายอวิชชา ก็เป็นการทำลาย "อัตตา" และ เพราะเราใช้วิชชาหรือปัญญามาทำลายอวิชชา เราไม่ใช้กำลังจิตล้วนๆ อย่างวิธีที่ ๒ เราจึงเรียกการกระทำอย่างนี้ว่า เป็นไปด้วยอำนาจของปัญญา และเราเรียกการดับของ "ตัวตน" ในลักษณะนี้ว่า "สมุจเฉทวิมุตติ" เป็นการดับ "ตัวตน" ด้วยการถอนรากเง่าขึ้นโดยสิ้นเชิง
    [​IMG]
    แม้คนเราจะได้พบกับความดับไปแห่ง "อัตตา" โดย บังเอิญอย่างวิธีที่ ๑ นั้น อยู่บ่อยๆ ก็ตาม แต่ก็หามีใครเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะสนใจ คือเขาสนใจกันแต่เรื่องที่กำลังอยากกำลังต้องการ ไม่สนใจเรื่องของความว่างจากความอยากความต้องการ หรือ แม้แต่รสชาติของจิตที่ว่างจากความต้องการ เขาจึงไม่มีโอกาสรู้จักภาวะของจิตที่ว่างจาก "ตัวตน" ซึ่ง ที่แท้ก็มีอยู่บ่อยๆ เมื่อไม่สนใจเพราะไม่รู้จักแล้วมันก็มีค่าเท่ากับไม่มี เหมือนกับไก่ที่เดินไปบนกองเพชรพลอย มันก็ไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่มีค่าน่าสนใจ แต่ถ้าเห็นข้าวสารสักเม็ดหนึ่งตกอยู่บนดิน มันจะเห็นค่าขึ้นมาทันที อาการอย่างนี้มีอยู่แม้ในอุบาสกอุบาสิกา ตลอดถึงที่เป็นบรรพชิต ตลอดจนแม้เถระ ฉะนั้นการปฏิบัติเกี่ยวกับการดับของ "อัตตา" จึงก่อรูปขึ้นไม่ได้ มีแต่จะเป็นไปในทางที่จะเกิด "อัตตา" เสียตะพึดจึงไม่ได้รับแม้แต่ความดับของ "อัตตา" ชนิด ที่เป็นด้วยการบังเอิญ ถ้าคนยังเป็นเหมือนไก่อยู่เพียงใดเพชรพลอยอย่างมากมายในพระพุทธศาสนาก็จัก ยังเป็นหมันอยู่เพียงนั้น เพชรพลอยในที่นี้เราหมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ การดับไปแห่ง"ตัวตน"เป็นยอดของ พระธรรม คือเป็นธรรมชั้นสูงสุด หรือเป็นบรมธรรมทีเดียว เพราะเป็นไปเพื่อการไม่เบียดเบียนตนเอง และไม่เบียดเบียนผู้อื่นถึงที่สุดจริงๆ ฉะนั้นเพื่อการปฏิบัติธรรมทางลัด เราจะต้องหันมาสนใจ เลือกเอาเพชรพลอยชนิดใดชนิดหนึ่งกล่าวคือการดับไปแห่ง"ตัวตน-ของตน"ชนิดใด ชนิดหนึ่งที่เหมาะแก่ตัวเรา นำเอาเข้าสู่การประดับประดาของเราเป็นประเดิมเริ่มแรกกันเสียก่อนสำหรับจะ ได้ทำให้ก้าวหน้าไปตามลำดับ จนถึงที่สุด
    [​IMG]
    ความดับไปแห่ง "อัตตา" นั้น ไม่ได้หมายถึงความดับไปของร่างกายหรือของชีวิต มิได้หมายถึงการดับไปแห่งความรู้สึก เช่น หมดความรู้สึกนิ่งเงียบไปเพราะอำนาจของฌาน แต่หมายถึง การดับของความรู้สึก ที่รู้ว่ามี "ตัวเรา-ของเรา" ซึ่งเราเรียกกันสั้นๆ เพื่อความสะดวก ว่า "ความดับไปแห่งอัตตา" และคำว่า "ความดับ" ใน ที่นี้ หมายถึงการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น รวมทั้งการดับตัวตนที่ปรากฏอยู่แล้วด้วย ฉะนั้นโดยใจความที่แท้จริงก็คือ ภาวะแห่งความที่จิตปราศจากความรู้สึกว่าเป็น "ตัวเรา-ของเรา" นั่นเอง
    [​IMG]

    อนึ่ง ยังมีความหมายที่ยิ่งไปกว่านั้นอีก คือไม่ได้หมายความว่า จิตว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย หรือจิตเองก็ดับไปด้วย ต้องทราบไว้ว่า เมื่อใด "ตัวตน" ดับลงไป ความว่างอย่างหนึ่งก็ปรากฏขึ้นแทน เป็นความว่างจาก "อัตตา" แต่ทว่าประกอบอยู่ด้วยสติปัญญาอย่างยิ่งในตัวความว่างนั้น เมื่อ "อัตตา" ยังเดือดพล่านอยู่ จิตมีแต่ความวุ่น เมื่อ "ตัวตน" มีอยู่ จิตก็มืดมน เพราะความเดือดพล่านของความรู้สึกว่ามี "ตัวตน" ครั้น "ตัวตน" ดับไป จิตก็หมดความมืด และมีความสว่างเกิดขึ้นแทน เมื่อ "ตัวตน" มีอยู่ จิตมีแต่ความโง่ด้วยอำนาจของอวิชชา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิด "ตัวตน" เมื่อ "ตัวตน" ดับ ไปจิตก็พ้นความโง่ กลายเป็นธรรมชาติที่ประกอบไปด้วยความรู้สึกอย่างเต็มที่ได้ในตัวมันเอง คือมันรู้สิ่งที่เป็นความว่าง ความไม่มีทุกข์ ความรู้สึกว่ามี "ตัวเรา-ของเรา" นั้นไม่ใช่ธรรมะแต่เป็นอธรรม ต่อเมื่อว่างจากความรู้สึกว่ามี "ตัวเรา-ของเรา" เมื่อนั้นจึงจะเป็นธรรมะ
    [​IMG]

    อีกอย่างหนึ่ง จะถือว่าเมื่อจิตประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกว่ามี "ตัวเรา-ของเรา" จิตย่อมสูญเสียความบริสุทธิ์ คือไม่เป็นจิตเดิมแท้ที่บริสุทธิ์สะอาด แต่กลายเป็นเพียงของมายา เป็นเพียงความคิดปรุงแต่ง ไปตามเรื่องตามราวของอารมณ์ที่เข้ามาแวดล้อม ให้เกิดความรู้สึกว่ามี "ตัวเรา-ของเรา" ต่อเมื่อใดจิตว่างจากความคิดปรุงแต่ง หรือว่างจาก "ตัวเรา-ของเรา" จิตจึงคืนสู่สภาพเดิม คือ เป็นจิตที่สะอาดอยู่ตามธรรมชาติ
    สรุปความว่า เมื่อความรู้สึกว่าเป็น "ตัวเรา-ของเรา" ดับไป จะต้องมีสิ่งอื่นปรากฏขึ้นมาแทนสิ่งนั้น นั่นก็คือภาวะของจิตเดิมแท้ เป็นภาวะแห่งความว่างจากความวุ่นด้วยอำนาจการนึกคิด เกิดภาวะแห่งความสว่างและความเป็นธรรมะ และที่สำคัญอย่างยิ่งนั้นก็คือ จะเกิดภาวะแห่งความสมบูรณ์ด้วยสติปัญญา ฉะนั้นความดับไปแห่ง "อัตตา" จึง ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ไม่ใช่สิ่งที่ไร้คุณค่า ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้คนเราเสื่อมสมรรถภาพ แต่กลับทำให้เราสมบูรณ์ไปด้วยสติปัญญา ไม่มีทางที่จะทำอะไรผิดพลาด และมีแต่ความสงบสุขทางใจ

    [​IMG]

    ผู้ที่ได้ฟังเรื่องนี้ แล้วยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจหรือครึ่งๆ กลางๆ อาจเกิดความเข้าใจผิดอย่างแรง อาจเห็นว่าความดับแห่ง "ตัวตน-ของตน" นี้เป็นโทษไปก็ได้ คือเขาเข้าใจผิดไปว่าถ้าดับความรู้สึกว่ามี "ตัวตน-ของตน" เสีย แล้ว คนเราก็จะไม่ทำอะไร จะไม่ยอมพัฒนาประเทศชาติ จะไม่ยอมทำประโยชน์ให้แก่สังคม เพราะว่า ไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องกระตุ้นให้ทำ มีแต่ความรู้สึกที่อยากจะอยู่เฉยๆ เป็นก้อนดินก้อนหินไป ความหลงผิดเช่นนี้เกิดขึ้น จากการที่เขาไม่เข้าใจอย่างถูกต้อง ในเรื่องของความดับของ "ตัวตน-ของตน" และอีกอย่างหนึ่งนั้นเขามีความเคยชินเป็นอย่างยิ่งกับความรู้สึกว่าเป็น "ตัวตน-ของตน" เมื่อเขามีความรู้สึกเป็น "ตัวตน-ของตน" ขึ้นมา เขาก็รู้สึกเป็นสุข หรือเป็นความเอร็ดอร่อยในทางจิตใจ จนกระทั่งมีความติดใจหลงใหลเอาทีเดียว และยิ่งเป็นอย่างนี้มากขึ้นตามอายุที่ล่วงไปๆ เขาจึงเป็นเกลอกับ "ตัวตน-ของตน" อย่างที่จะขาดเสียไม่ได้ และกลายเป็นปุถุชนคนหนาไปด้วยกิเลส คือในลักษณะที่ "เห็นงูเป็นปลา" ไปเสียตะพึด จึงอยู่ในฐานะลำบากอย่างยิ่ง ที่จะทำความเข้าใจในเรื่องความดับไปของ "ตัวตน-ของตน"
    ข้อนี้ก็สมตามความหมายของคำว่าปุถุชน ซึ่งแปลว่า "คนหนา" คือ หนาไปด้วยสิ่งหุ้มห่อดวงตา หรือจิตใจ หรือปัญญา จนกระทั่งปัญญาไม่อาจส่องแสงได้ แต่ว่า "ตัวตน-ของตน" นั่นแหละเป็นผู้ส่องแสงแทน เรื่องมันจึงทำให้เห็นผิดไปหมด คนโง่ๆพวกนี้ ไม่พอใจที่จะดับ "ตัวตน-ของตน" โดยไปเข้าใจว่าจะเป็นการขาดทุนอย่างย่อยยับไม่มีอะไรเหลือ ฉะนั้น การแนะนำสั่งสอนธรรมะในขั้นที่จะถอนอุปาทานเช่นนี้ จึงทำไม่ได้ในหมู่ชนซึ่งเป็นปุถุชนมากเกินไป จะทำได้ก็เพียงแต่แนะนำสั่งสอนให้เลือกยึดถือ "ตัวตน-ของตน" ชนิดที่ไม่สู้เป็นอันตรายมากมายนักไปพลางก่อน แม้จะต้องร้องไห้บ้าง ก็ยังมีเวลาทึ่จะได้หัวเราะสลับกันไป แต่ที่จะให้ไม่ต้องหัวเราะและร้องไห้เลยนั้น ยังเป็นไปไม่ได้ (อ่านหนังสือ "อะไรถูกอะไรผิด" ซึ่งอธิบายเรื่องนี้อย่างละเอียด)

    [​IMG]

    ทีนี้ ก็มาถึงบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ปุถุชนชั้นดี หรือ กัลยาณปุถุชน หมายถึงบุคคลที่มีเครื่องหุ้มห่อตาไม่หนาจนเกินไป มีผงในดวงตาไม่มาก เขาจึงสามารถล้างผงออกจากนัยน์ตาของเขาได้หมด และผงที่กล่าวนี้ก็คือ ความรู้สึกว่าเป็น "ตัวตน-ของตน" อีกนั่นเอง พวกที่มีผงในดวงตาเพียงเล็กน้อยนี้ หมายถึง คนบางคนที่ได้รับการศึกษาทางธรรมที่ถูกต้องมาแต่แรก รวมทั้งเป็นผู้มีอุปนิสัยดี ไม่หัวดื้อรั้นอวดฉลาด เขามีสติปัญญาตามธรรมชาติชนิดที่อาจรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง เป็นผู้เตรียมพร้อมที่จะมีความรู้ยิ่งเห็นจริงอยู่เสมอ พอได้รับคำแนะนำชี้แจงเรื่องโทษของ "ตัวตน-ของตน" เขาก็จับฉวยเอาได้ทันที รวมความว่า เขาจะเข้าใจอย่างเด็ดขาดลงไปว่า การดับเสียได้ซึ่ง "ตัวตน-ของตน" นั้น จะทำให้คนเราทำอะไรได้มากขึ้น ทำได้ดียิ่งขึ้น ทำอะไรไม่ผิดพลาด เพราะไม่มีความเห็นแก่ตัว และในที่สุด สังคมจะประสบสันติสุขที่แท้จริง การพัฒนาประเทศชาติก็จะได้ผล และจะไม่มีคอรัปชั่นมากมายอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
    [​IMG]
    สถิติของโลกในทุกวันนี้ ปรากฏว่า ในบางประเทศมีคดีการข่มขืนสตรีทุกๆ ๓๔ นาที มีการตัดช่องย่องเบาขโมยเล็กขโมยน้อยทุกๆ ๓๙ นาที มีการทำอันตรายกันถึงตายทุกๆ ๕๐ นาที ตัวอย่างเพียงเท่านี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า สิ่งที่น่าขยะแขยง หรือเสนียดจัญไรในโลกนั้นมีอยู่ไม่น้อยเลย และเป็นที่แน่นอนว่า จะทวีมากขึ้นเร็วขึ้น ยิ่งกว่าการทวีของพลโลก เมื่อเทียบส่วนกัน นี่แสดงให้เห็นว่า การตกอยู่ใต้อำนาจ "ตัวเรา-ของเรา" ของมนุษย์นั้น ได้ทวีขึ้น ฉะนั้น หากว่ามีการดับ "ตัวเรา-ของเรา" ลงไปได้เพียงใด สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านั้น ก็จะลดลงตามส่วน ถ้ามนุษย์เรายังไม่สามารถจับต้นตอของความชั่วเหล่านี้ได้ ก็จะไม่สามารถขจัดมันได้ ทั้งนี้ก็เพราะมองข้ามเรื่องความดับแห่ง "ตัวเรา-ของเรา" โลกจึงต้องประสบชะตากรรมอย่างนี้ และจะลุกลามจากวิกฤติการณ์ส่วนบุคคลไปเป็นวิกฤตการณ์ของโลก จากวิกฤติการณ์ชั่วคราวไปเป็นวิกฤติการณ์ถาวร จนถึงขนาดเหลือวิสัยที่มนุษย์ผู้ยังงมอยู่ในลักษณะเห็นผิดเป็นชอบเช่นนี้ จะแก้ไขมันได้

    การข่มขืนสตรี การตัดช่องย่องเบา หรือการปล้นสดมภ์ การลักการขโมย การฆ่ากันโดยบันดาลโทสะ หรือโดยเจตนา และ การกระทำอย่างอื่นๆ ซึ่งเรียกว่า อาชญากรรมนั้นมีต้นตอที่ลึกซึ้ง อยู่ที่การพลุ่งออกมาของ "อัตตา" กล่าวคือความรู้สึกที่เป็น "ตัวเรา-ของเรา" ถ้าพลุ่งขึ้นมาถึงขีดสุดแล้ว มันทำให้ไม่กลัวอะไร ฉะนั้น อำนาจการบังคับ หรืออำนาจกฏหมาย ย่อมควบคุมสิ่งเหล่านี้ไว้ไม่ได้ เพราะในขณะนั้นเขาไม่กลัวแม้แต่ความตาย หรือโทษภัยใดๆ ทั้งสิ้น
    [​IMG]

    ทีนี้ ถ้าเราหันมาใช้วิธีที่ไม่เป็นการบังคับ เช่นวิธีศึกษาอบรมกันทั่วไป ให้เข้าใจถูกในเรื่องความดับแห่ง "อัตตา" ก็ขอยืนยันว่าเมื่อดับ "อัตตา" ได้มากเท่าไร คนก็จะไม่มีความเห็นแก่ตัวจัด เพราะมีสติปัญญา หรือเหตุผลได้มากขึ้น ตามหลักพุทธศาสนา ย่อมจะกล่าวได้ว่า ศีลธรรมก็ดี สัจธรรมที่สูงขึ้นไปก็ดี หรือ โลกุตตรธรรมข้อใดก็ดี ล้วนแต่มีความมุ่งหมายที่จะเข่นฆ่าสิ่งที่เรียกว่า "อัตตา" ให้ดับไป ให้เหลือแต่สติปัญญาควบคุมชีวิตนี้ ให้ดำเนินไปถึงจุดหมายที่แท้จริงที่มนุษย์ควรจะได้ ส่วนจริยธรรมที่มีชื่อไพเราะต่างๆ นานา เช่นความซื่อสัตย์ ความเห็นแก่ผู้อื่น ความรักใคร่เมตตากรุณา การสารภาพความผิด ฯลฯ โดยมากก็เป็นเพียงสักว่าชื่อตามป้ายหรือตามฉลากที่ปิดไว้ตามที่ต่างๆ หรือสมาคมต่างๆ ไม่สามารถจะปราบอธรรมได้ เพราะว่า "อัตตา" ของมนุษย์ในโลกทุกวันนี้ได้หนาแน่นยิ่งขึ้น และรุนแรงถึงกับเดือดพล่านนั่นเอง ฉะนั้นถ้าเราหวังที่จะมีจริยธรรมมาเป็นที่พึ่งของชาวโลกแล้ว จะต้องสนใจในเรื่องความดับไปแห่ง "อัตตา" ให้มากเป็นพิเศษ สมตามที่หลักแห่งพุทธศาสนายืนยันว่า มันเป็นเพียงสิ่งเดียว ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง
    [​IMG]
    จึงขอวอนผู้ตกอยู่ใน ห้วงทุกข์ ทุกท่านอ่านบทธรรมะที่มีสาระแห่งชีวิตนี้เพื่อนำไปปฏิบัติขจัดปัญหาของจิตใจ กันเถิด ขอบคุณที่ติดตาม บทความธรรมะดีดีตลอดมา สาธุ พบกันใหม่ ตอนที่ ๖
     

แชร์หน้านี้

Loading...