เรื่องเด่น การทำบุญ ๗ อย่างวันตรุษสงกรานต์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย BirdSoul, 16 เมษายน 2008.

  1. BirdSoul

    BirdSoul เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2007
    โพสต์:
    4,248
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +12,020
    ความเชื่อการทำบุญ ๗ อย่างวันตรุษสงกรานต์

    47.jpg

    คำว่า "ตรุษสงกรานต์" คือ วันแห่งความร่าเริงยินดี ที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ
    หรือวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ไทยเดิมนั่นเอง ที่มักเรียกว่า วันมหาสงกรานต์
    โดยกำหนดตามสุริยคติ เป็นวันที่ ๑๓ เมษายน วันที่ ๑๔ เมษายน เป็นวันเนา แปลว่าอยู่
    เพราะเป็นช่วงที่ พระอาทิตย์โคจร อยู่ระหว่าง ๒ ราศี คือ ราศีมีน กับราศีเมษ
    ดังนั้นวันเนาจึงอยู่ตรงกลางระหว่างวันมหาสงกรานต์ กับวันเถลิงศกจุลศักราช คือ วันที่ ๑๕ เมษายน

    18050-1.jpg

    แม้ว่าปัจจุบันคนไทยจะหันไปยอมรับปีใหม่สากล คือ วันที่ ๓๑ ธันวาคม เป็นวันส่งท้ายปีเก่า
    วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันต้อนรับปีใหม่ ไปนานแล้วก็ตาม แต่ความสำคัญของวันมหาสงกรานต์
    ที่เคยประกาศให้เป็นวันปีใหม่มาหลายสิบปี ตั้งแต่ปี ๒๔๓๒ และถูกยกเลิกไปแล้วในปี ๒๔๘๔
    ก็ยังไม่เลือนรางจางหายไป ยังคงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน

    อาจารย์ธรรมจักร สิงห์ทอง คณาจารย์สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง บอกว่า ในช่วงเทศกาลนี้มีการทำบุญ ๗ ประการ คือ

    ๑.การก่อและถวายพระเจดีย์ทราย
    ๒.การทำบุญตักบาตรอุทิศให้ญาติที่ตายแล้ว
    ๓.การบังสุกุลอัฐิ (กระดูก) อุทิศบุญกุศลให้ญาติที่ตายแล้ว
    ๔.การสรงน้ำพระพุทธ
    ๕.การสรงน้ำพระสงฆ์และสามเณร
    ๖.การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
    ๗.การปล่อยสัตว์ให้ชีวิตเป็นทาน




    ทั้งนี้ อ.ธรรมจักร ได้กล่าวถึงการทำบุญทำทานแต่ละอย่างว่า

    ๑.การทำบุญประเพณีการขนทรายเข้าวัด เป็นประเพณี ที่นิยมถือปฏิบัติมาแต่โบราณ โดยมีความเชื่อว่า
    ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ลูกหลาน ที่ได้มีโอกาสเดินผ่านเข้าไปภายในวัด ไม่ว่าด้วยภารกิจใดๆ หรือไปเพื่อทำบุญถวายทานก็ตาม
    ครั้นเวลาเดินออกมาอาจมี เม็ดดินเม็ดทรายติดฝ่าเท้าออกมาด้วย สิ่งเหล่านั้นถือว่า
    เป็นทรัพย์สินของวัด ของพระพุทธศาสนา การนำออกจากวัดไปจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นบาป

    ๒.การทำบุญตักบาตร และ ๓.บังสุกุลอุทิศให้ผู้ตาย ตามประเพณีไทยที่ถือปฏิบัติมาแต่โบราณ พอถึงวันที่ ๑๒ เมษายน
    ทุกครัวเรือนจะต้องระดมกำลังช่วยกันทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือนและที่อยู่อาศัย
    ตลอดจนของใช้ภายในบ้านให้สะอาด ตัดแต่งต้นไม้สนามและบริเวณบ้านให้สวยงาม เพราะเชื่อว่าหนึ่งปี
    วิญญาณของบรรพบุรุษจะกลับมารับส่วนบุญจาก ลูกหลานที่ทำบุญตักบาตรอุทิศ บุญกุศลครั้งใหญ่ให้ในวันสงกรานต์ครั้งหนึ่ง
    วันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งเป็นวันสงกรานต์ ตอนเช้าก็ร่วมกันทำบุญตักบาตร นอกจากนี้ ก็นิยมนำกระดูกของญาติ
    มาประพรมน้ำอบน้ำหอม เช่นเดียวกับญาติผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วจัดตั้งเครื่องเซ่นเครื่องไหว้ และประกอบพิธีบังสุกุล
    ถวายจตุปัจจัย ไทยธรรม กรวดน้ำอุทิศบุญกุศลให้ผู้ตาย เมื่อญาติที่มารอรับบุญได้รับทราบการทำบุญของลูกหลานแล้ว
    ก็จะอนุโมทนาพร้อมกับอวยพร ให้ลูกหลานมีความเจริญรุ่งเรือง มีความก้าวหน้า มีความอุดมสมบูรณ์ทำมาค้าขึ้น
    คล้ายกับประเพณีไหว้บรรพบุรุษในวันเช็งเม้งของชาวจีน ซึ่งจัดให้มีขึ้นในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน คือในช่วงเดือนเมษายนเหมือนกัน

    ๔.การสรงน้ำพระพุทธ ชาวพุทธมีความเชื่อมาแต่โบราณ อาจเป็นความเชื่อที่ถูกเชื่อมโยงมาจากศาสนาพราหมณ์
    โดยใช้น้ำสะอาดผสมดอกไม้ใบไม้ประจำองค์เทวะแต่ละองค์ เพราะการสร้างพระพุทธรูปในยุคต้น หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
    ประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ ปี กษัตริย์ผู้ครองเมืองคันธาราษฎร์ พระนามว่า พระยามิลินท์ (เมนันเดอร์) เชื้อสายกรีก เป็นศาสนิกชนชาว
    ฮินดูที่หันมานับถือพระพุทธศาสนาภายหลัง ได้นำเอาการสนานเทวรูปที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม มาปฏิบัติกับพระพุทธรูปเหมือนกับที่เคย
    ปฏิบัติต่อองค์เทวะที่เคยนับถือด้วยความศรัทธายิ่ง ประเพณีการสรงน้ำพระพุทธรูปจึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
    การสรงน้ำพระพุทธในวันสงกรานต์ บางแห่งหรือ บางจังหวัดเปิดโอกาสให้สรง ๓ วัน ๗ วัน หรือ ๑๕ วันก็มี แม้กรุงเทพมหานคร
    ซึ่งจัดเป็นศูนย์กลางการจัดงาน คือ บริเวณมณฑล พิธีท้องสนามหลวง ก็เปิดโอกาสให้สรงได้ตั้งแต่วันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน
    เพราะเห็นว่าผู้คนที่มาร่วมอาจเบียดเสียดยัดเยียดเพื่อร่วมสรงน้ำพระ ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้เกิดสิริมงคล
    ทำให้ชีวิตมีความร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป หากใช้เวลาเพียงวันเดียวอาจไม่ทันหรือสรงน้ำพระได้ไม่ทั่วถึง

    ๕.การสรงน้ำพระสงฆ์และสามเณร นิยมทำกันในวันสุดท้าย คือ วันที่ ๑๕ เมษายน การสรงน้ำพระสงฆ์นั้นถือว่า
    เป็นการขอขมาที่ ๑ ปีที่ผ่านมา อาจมีการล่วงเกิน พระสงฆ์องค์สามเณร ด้วยกาย วาจา หรือใจ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
    จะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ขอให้ท่านอโหสิ สิ่งที่ผิดพลาดล่วงเกินนั้นไม่ถือเป็นโทษต่อไป
    จากนั้นพระสงฆ์ก็จะให้ศีลให้พรหรือให้โอวาท เพื่อเป็นคติเตือนใจและ เป็นสิริมงคลแก่ญาติโยม ที่มาร่วมพิธีโดยทั่วกัน
    บางแห่งจะจัดสรง เฉพาะพระเถระ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะ ของพุทธศาสนิกชน หรือพระเถระที่เป็น พระเกจิอาจารย์ชื่อดังก็มี

    ๖.การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เมื่อเทศกาลสงกรานต์เวียนมาถึงแต่ละปี ลูกหลานหรือคนในครอบครัวที่แยกย้ายกันไป
    ประกอบอาชีพที่ต่างจังหวัด หรือในกรุงเทพมหานคร ก็จะเดินทางกลับบ้านเพื่อเยี่ยมพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และญาติๆ
    โดยนำของฝากมากมาย ทั้งของกิน ของใช้ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มไปดำหัว (มอบให้ด้วยความเคารพนับถือ)
    พร้อมกับนำน้ำอบน้ำหอมไปรดที่มือพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ เป็นการขอคารวะ ขอขมาลาโทษ
    หากมีการล่วงเกินท่านด้วยกาย วาจา และใจ ก็ขอให้ท่านอโหสิ ไม่ถือโทษต่อไป บางทีก็เรียกว่า การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่
    จากนั้นพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่เหล่านั้น ท่านก็จะให้พรเป็น คำสอนเสริมเพิ่มกำลังใจให้ลูกหลาน ขอให้อายุมั่นขวัญยืน
    มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียนและมีความสุข
    หมู่บ้านหรือชุมชนบางแห่งจัดให้คนเฒ่าคนแก่มารวมกัน แล้วให้ลูกหลานมาร่วมรดน้ำดำหัวและขอพรก็มี
    หรือแม้แต่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนก็จัดให้มีเช่นกัน โดยเชิญหัวหน้าส่วน
    หรือหัวหน้าหน่วยงานและผู้อาวุโสมารวมกัน จากนั้นผู้น้อยและผู้ใต้บังคับบัญชาก็ร่วมกันรดน้ำดำหัวและขอพร

    ๗.การปล่อยสัตว์ให้ชีวิตเป็นทาน การทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนามีหลายวิธี การให้ทาน การเสียสละทรัพย์สินส่วนตัว
    ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น หรือสังคมส่วนรวม หรือการให้ ความอนุเคราะห์การช่วยเหลือผู้อื่น การให้อภัยไม่ถือโทษโกรธกัน
    การรักษาสัจจะ รักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัด การเจริญเมตตาภาวนา การควบคุมจิตใจให้สงบนิ่งก็ถือว่าเป็นการทำบุญเช่นกัน
    อ.ธรรมจักร บอกด้วยว่า การทำบุญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผู้นิยมทำกันมากในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะวันสงกรานต์ คือ
    การให้ชีวิตเป็นทาน งดเว้นการฆ่าการเบียดเบียนสัตว์ เพราะถือว่าเป็นการต่ออายุเสริมชะตาให้กับตัวเอง
    แต่ต้องไม่ส่งเสริมผู้ที่ไปจับสัตว์มาเพื่อขายให้คนซื้อปล่อย ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นคนส่งเสริมให้คนทำบาปไม่รู้จบ

    songkran.jpg

    Songkran1.jpg
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 15 เมษายน 2019

แชร์หน้านี้

Loading...