การฝึกสติและวิธีแก้จิตเสื่อม โดย หลวงตาพระมหาบัว

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 25 มกราคม 2018.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,256
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    LpBua2.jpg

    การฝึกสติและวิธีแก้จิตเสื่อม โดย หลวงตาพระมหาบัว จากหนังสือ สติปัฏฐาน ๔
    การบำเพ็ญเพียรที่เป็นไปตามพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าและพระสัทธรรม คือความจงใจใคร่ต่อการประพฤติดีจริง ๆ ธุระหน้าที่ที่ตนจะพึงทำทุกอย่างควรทำด้วยความจงใจ การประกอบการงานทุกประเภทถ้าขาดความจงใจแล้ว แม้จะเป็นงานเล็กน้อยย่อมไม่สำเร็จลงได้ด้วยความเรียบร้อยและน่าดูเลย เพราะความจงใจเป็นเรื่องของสติ และหลักใจที่จะยังงานนั้น ๆ ให้สำเร็จได้ขาดไปจากตัวและวงงาน

    ผู้มีสติและหลักใจประจำตัวและงานจึงชื่อว่าผู้มีความเพียรไปในตัว ทั้งกิจนอกการใน ถ้าขาดความจงใจเป็นเครื่องจดจ่องานแล้ว แม้ผู้เป็นนายช่างทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีความฉลาดอยู่บ้าง ทำอะไรมีความสวยงามและแน่นหนามั่นคง แต่ถ้าขาดความจงใจใคร่ต่องานแล้ว แม้งานนั้นจะสำเร็จก็ย่อมลดคุณภาพและความสวยงาม ฉะนั้นความตั้งใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยผู้มุ่งต่อผลของงานอันสมบูรณ์จึงไม่ควรมองข้ามไป

    เราเป็นนักบวชและนักปฏิบัติ ควรเห็นความตั้งใจจดจ่อต่อธุระหน้าที่ที่ตนจะพึงทำทุกประเภท โดยมีความรู้สึกอยู่กับงานนั้น ๆ แม้ที่สุดปัดกวาดลานวัดเช็ดถูกุฎี และศาลา ปูอาสนะ ตั้งน้ำใช้ น้ำฉัน ตลอดการเคลื่อนไหวไปมา เหลือบซ้ายแลขวา ควรมีสติประจำอยู่ทุก ๆ ขณะ ชื่อว่าผู้มีความเพียรประจำตน

    การฝึกหัดนิสัยเพื่อเป็นคนมีสติอันเคยชิน จำต้องอาศัยการงานเป็นเครื่องฝึกหัด การประกอบการงานภายนอกแต่ละประเภทเป็นธุระชิ้นหนึ่ง ๆ การเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนาเป็นธุระชิ้นหนึ่ง ๆ ทั้งนี้ถ้ามีสติจดจ่อกับงานที่ทำ ชื่อว่ามีความเพียรไม่ขาดวรรคขาดตอน

    การฝึกหัดนิสัยของผู้ใคร่ต่อธรรมชั้นสูง จึงควรเริ่มและรีบเร่งฝึกหัดสติไปกับงานทุกประเภทแต่ต้นมือ เพื่อความแน่นอนและมั่นคงในอนาคตของเรา โปรดฝึกหัดสตินิสัยตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกลายเป็นคนมีสติประจำตน ทั้งขณะที่ทำและขณะอยู่เฉย ๆ ถึงเวลาจะทำความสงบภายในใจ สติจะกลายเป็นธรรมติดแนบอยู่กับใจและตั้งขึ้นพร้อมกับความเพียรได้อย่างใจหมาย ทั้งมีกำลังพอจะบังคับจิตให้หยั่งลงสู่ความสงบได้ตามต้องการ

    ส่วนมากที่พยายามให้จิตเข้าสู่ความสงบไม่ได้ตามใจหวังนั้น เนื่องจากขาดสติที่เป็นแม่แรงไม่มีกำลังพอ จิตจึงมีโอกาสเล็ดลอดออกไปสู่อารมณ์ได้อย่างง่ายดาย เหมือนเด็กซนซึ่งปราศจากพี่เลี้ยงผู้ตามดูแล เด็กอาจได้รับอันตรายในเวลาใดก็ได้ จิตที่มีความเพลินประจำตนโดยปราศจากสติตามรักษา จึงมีสิ่งรบกวนตลอดเวลาจนหาความสงบสุขไม่ได้ พี่เลี้ยงของจิตคือ สติกับปัญญา คอยให้ความปลอดภัยแก่จิตตลอดสายที่จิตคิดไปตามอารมณ์ต่าง ๆ คอยพยายามปลดเปลื้องอารมณ์ที่มาเกี่ยวข้องกับใจ และพยายามแสดงเหตุผลให้จิตรับทราบเสมอ ใจที่ได้รับเหตุผลจากปัญญาพร่ำสอนอยู่เป็นนิจ จะฝืนคิด และติดอารมณ์ที่เคยเป็นข้าศึกต่อไปอีกไม่ได้

    การฝึกหัดสติและปัญญาเพื่อให้มีกำลังคืบหน้าไม่ล่าถอยเสื่อมโทรม โปรดฝึกหัดตามวิธีที่กล่าวมา แต่อย่าปล่อยตัวเป็นคนสะเพร่ามักง่ายในกิจการทุกอย่างที่มุ่งประโยชน์ แม้ชิ้นเล็ก ๆ นิสัยมักง่ายที่เคยเป็นเจ้าเรือนนี้ยังจะกลายเป็นโรคเรื้อรังฝังลงในใจอย่างลึก และจะทำลายความเพียรทุกด้านให้เสียไป จงพยายามฝึกหัดนิสัยให้เป็นคนแน่นอนต่อกิจการที่ชอบทั้งภายนอกภายในเสมอ อย่ายอมปล่อยให้ความสะเพร่ามักง่ายเข้าฟักตัวอยู่ในนิสัยได้เลย เพราะผู้เคยฝึกหัดนิสัยให้เป็นคนจริงต่อหน้าที่การงานทุกประเภท ต้องเป็นผู้สามารถจะยังกิจการทุกอย่างไม่ว่าภายนอกภายในให้สำเร็จได้ โดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ มากีดขวาง

    แม้จะอบรมจิตใจซึ่งเป็นงานสำคัญทางภายใน ก็จำต้องประสบความสำเร็จลงด้วยความรอบคอบหาทางตำหนิตนเองไม่ได้ เพราะกิจการภายนอกกับภายในส่อถึงใจผู้เป็นประธานดวงเดียวกัน ถ้าใจเป็นนิสัยมักง่าย เมื่อเข้าไปบ่งงานภายในต้องทำงานนั้นให้เหลวไปหมด ไม่มีชิ้นดีเหลืออยู่พอเป็นที่อาศัยของใจได้เลย

    เพื่ออนาคตอันแจ่มใสของผู้มีงานเป็นอาชีพและอำนวยความสุข จึงควรฝึกหัดนิสัยให้เป็นคนแน่นอนและจริงต่อธุระหน้าที่ที่ตนจะพึงทำ จงทำจนสุดวิสัยในกิจการนั้น ๆ ให้สำเร็จลงด้วยหมดความสามารถทุกกรณี เมื่อเข้าไปดำเนินงานภายในเพื่อความสงบก็ดี เพื่อทางปัญญาการค้นคว้าก็ดี จะเป็นไปด้วยความละเอียด และรอบคอบทั้งสองทาง เพราะหลักนิสัยซึ่งเคยอบรมเป็นคนจริง และรอบคอบมีมาเป็นประจำ การดำเนินปฏิปทานับแต่ต้นจนถึงชั้นสูงสุดยอด ย่อมขึ้นอยู่กับหลักนิสัยเป็นสำคัญ

    คำว่าต้น หรือปลาย ก็หมายถึงใจดวงเดียวนี้แล ซึ่งจะเปลี่ยนสภาพความรู้สึกไปตามธรรมเครื่องดัดแปลง ทั้งฝ่ายเหตุคือการบำเพ็ญ และผลคือความสุข เช่นเดียวกับเด็กค่อยเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากเด็กขึ้นเป็นผู้ใหญ่ด้วยอาหารเครื่องบำรุงนานาชนิด

    ดังนั้น ต้นทางจึงหมายถึงการอบรมจิตใจขั้นแรก ๆ เพื่อเปลี่ยนนิสัย และความรู้สึกให้เป็นไปในทางที่ดี และมีเหตุผล จนมีความรู้ และทรงตัวอยู่กับความดี และเหตุผลที่ควรแก่ตนเอง ไม่ยอมฝ่าฝืน แต่เมื่อสรุปความแล้ว ต้นกับปลายก็เปรียบเหมือนผลไม้ลูกหนึ่ง ๆ ซึ่งเราไม่อาจเรียกได้ว่าต้นกับปลายของมันอยู่ที่ไหน มองดูแล้วก็คือผลไม้นั่นเอง

    ใจก็ทำนองเดียวกัน ที่เรียกกันว่าต้นทางหรือปลายทางนั้น เนื่องจากใจที่มีอารมณ์ชนิดต่าง ๆ ทั้งหยาบทั้งละเอียดเคลือบแฝงอยู่ ตลอดการดัดแปลงแก้ไข จำต้องเปลี่ยนอุบายวิธีแปลกต่างจากความเป็นอยู่เดิม ขึ้นสู่ความละเอียดเป็นขั้น ๆ ไป ซึ่งควรจะให้นามไปตามความเหมาะสมว่าต้นทางหรือปลายทาง ท่านผู้ฟังโปรดทำความเข้าใจกับกิเลส และบาปธรรมที่มีอยู่ภายในใจ ถึงกับได้ให้ชื่อให้นามต่าง ๆ นานา จนอาจจะเลยขอบเขตของการตามรู้ และแก้ไขในสมมุตินิยมของใจดวงเดียว ไม่เช่นนั้นจะไม่รู้อุบายวิธีแก้ไขตนเอง ซึ่งกำลังตกอยู่ในฐานะที่กล่าวมา

    หลักประกันผลอันแน่นอนจึงขอย้ำอีกครั้งว่า โปรดฝึกหัดนิสัยให้เป็นคนจริงและเข้มแข็งต่อหน้าที่การงานของตนเสมอ อย่าเป็นคนง่อนแง่นคลอนแคลน อย่าเป็นคนจับจด อย่าเป็นคนเข้า ๆ ออก ๆ ขึ้น ๆ ลง ๆ หาความแน่นอนไม่ได้ ว่าจะไปต้องไป ว่าจะอยู่ต้องอยู่ ว่าจะทำต้องทำ กำหนดเวล่ำเวลา หรือกิจการอันใดไว้แล้ว อย่าทำให้เคลื่อนคลาดจากที่กำหนดไว้ เราเขียนด้วยมือจงลบด้วยมือ อย่าทำทำนองที่ว่าเขียนด้วยมือแต่กลับลบด้วยฝ่าเท้า คือเราตั้งคำสัตย์ใส่ตัวเองไม่มีใครอาจเอื้อมมาทำลายคำสัตย์นั้น แต่เป็นเราเสียเองทำลายคำสัตย์ของตน เช่นนี้เรียกว่า เขียนด้วยมือแต่กลับลบด้วยฝ่าเท้า เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง

    เราต้องเป็นคนแน่นอนต่อความดำริ และต้องตัดสินใจเสมอ ลงได้ตัดสินใจกับงานใดหรือสิ่งใด ที่เห็นว่าเป็นการถูกต้องและเป็นประโยชน์แล้ว จงพลีชีพลงไปเพื่อคำสัตย์ และเพื่องานนั้น ๆ จะเป็นคนมีนิสัยแน่นอนและเชื่อใจตัวเองได้

    ศีลที่กำลังรักษาอยู่ก็จะเป็นศีลที่แน่นอน ไม่กลับกลายเป็นศีลลอยลม การทำสมาธิก็เป็นสมาธิที่แน่นอนทุกขั้นของสมาธิ จะไม่เป็นสมาธิลอยลม คือได้แต่ชื่อ แต่หาความจริงของสมาธิไม่มีในใจ แม้การบำเพ็ญปัญญาทุกขั้นก็จะเป็นปัญญาที่แน่นอนตามหลักนิสัยคนจริง ไม่กลับกลายไปเป็นปัญญาลอยลม คือได้แต่ชื่อ แต่หาความเฉลียวฉลาดปลดเปลื้องตนไม่มี ที่กล่าวทั้งนี้เพื่อให้เห็นโทษแห่งความเป็นคนหลักลอย ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน หาความจริงภายในตัวไม่ได้ เพื่อผู้มุ่งความเจริญทางโลกและทางธรรมอย่างแท้จริง จะได้หาทางหลีกเว้นให้ห่างไกล

    อันดับต่อไป กล่าวถึงสติปัญญาเครื่องรักษานิสัยให้มั่นคง และให้มีความรอบคอบยิ่งขึ้น โปรดทราบเสมอว่า ปัญญาจะทำการหุงต้มแกงกินเหมือนอาหารหวานคาวย่อมไม่ได้ แต่ปัญญาชอบเกิดจากการคิดอ่านไตร่ตรอง คนไม่มีปัญญาความฉลาดจะประกอบการงานทุกชิ้นให้สำเร็จลงด้วยความเรียบร้อยย่อมไม่ได้ และไม่สามารถจะรักษาสมบัติอันมีค่าให้ปลอดจากโจรจากมารได้ ไม่ว่าทางโลกและทางธรรม

    ฉะนั้น การรักษาและปฏิบัติพระศาสนาจึงสำคัญอยู่ที่สติและปัญญา เมื่อมีเหตุมากระทบ ไม่ว่าเหตุดีหรือชั่ว สติกับปัญญาควรรับช่วงเสมอ จะมีทางทราบสาเหตุดีและชั่วได้ทันกับเหตุการณ์ และมีทางหักห้ามใจ ไม่ให้รวนเรไปตามเหตุที่จะทำให้เสีย โดยมากเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นจะเป็นเรื่องกะทันหันหรือเรื่องธรรมดาก็ตาม แต่สามารถทำใจให้เอนเอียงหรือเสียไปตามอารมณ์นั้น ๆ ได้ เนื่องจากขาดสติกับปัญญาคอยสังเกตตรวจตราให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อน จึงเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ควรไปเสียทั้งนั้น แล้วปล่อยใจให้คล้อยไปตามโดยเจ้าตัวไม่รู้สึก กว่าจะรู้ทันเวลาจึงเสียไป แล้วไม่สามารถจะหักห้ามไว้ได้ จึงปล่อยเลยตามเลย เรื่องจึงก้าวไปถึงความเป็นเถ้าถ่านหมดทางแก้ไข

    ทั้งนี้อย่าเข้าใจว่าเป็นไปเพราะเหตุใด แต่เป็นเพราะขาดสติกับปัญญาเครื่องนำออกทั้งนั้น ไม่เช่นนั้นใครจะยอมสละตัวอันมีคุณค่าเหนือสิ่งใดในโลก ไปแลกเปลี่ยนกับความเหลวแหลกเช่นนั้น แต่มันสุดวิสัยจำต้องยอมจำนนไม่ว่าท่านว่าเรา เมื่อถึงคราวจวนตัวย่อมมีการพลั้งเผลอเป็นธรรมดา หยิบฉวยอะไรไม่ทันก็จำต้องเป็นไปตามเหตุอันรุนแรงกว่ากำลังของจิตที่จะต้านทาน ฉะนั้นการเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญกับเหตุการณ์อันมีอยู่รอบตัวทั้งภายในภายนอก และพร้อมที่จะเข้ามาเผชิญกับทุกคนโดยไม่มีกำหนดเขตแดนและเวล่ำเวลา จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะเตรียมตัวไว้แต่บัดนี้ อย่าให้สายเกินไปทั้ง ๆ ตะวันยังเช้าอยู่ (ขณะยังมีชีวิตอยู่)

    การเตรียมพร้อมทั้งนี้ คือการบำเพ็ญตัวให้มีหลักฐานทั้งภายในภายนอก เพื่อการอยู่การไป ไม่ว่าจะอยู่ที่นี่หรืออยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นที่นั่นหรือจะเป็นที่โน้น ไม่ว่าจะอยู่โลกนี้หรืออยู่โลกหน้า และไม่ว่าจะไปโลกนี้หรือจะไปโลกหน้าควรเตรียมตัวไว้แต่บัดนี้ คือปัจจุบันซึ่ง ๆ หน้านี้แล หากชีวิตหาไม่แล้วจะเตรียมอะไรไม่ทัน เพราะไม่เคยเห็นในธรรมของศาสดาพระองค์ใดสั่งสอนว่า จงไปเตรียมตัว วันหน้า เดือนหน้า ปีหน้า ชาติหน้า และโลกหน้าโน้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมคนให้งมงาย เห็นมีบอกไว้ว่า จงทำตนให้มีที่พึ่งทั้งภายนอกและภายใน ในขณะที่มีชีวิตอยู่นี้ทั้งนั้น แม้วันคืน เดือน ปี และโลกนี้โลกหน้าเป็นของมีอยู่ประจำโลก ก็มิได้มีไว้เพื่อโมฆบุรุษผู้เกิดและตายเปล่า ๆ โดยไม่ได้ทำประโยชน์ไว้แก่โลกและธรรมเลย

    เฉพาะนักบวชและนักปฏิบัติผู้มีเพศที่เย็น และเป็นเพศที่โลกเคารพเลื่อมใสและไว้วางใจ ทั้งเป็นเพศที่มีโอกาสในการบำเพ็ญประโยชน์ตน และประโยชน์ท่านได้มากกว่าใคร ๆ ในโลก เราทุกท่านที่ทรงไว้ซึ่งเพศดังกล่าวนั้น จึงควรเตรียมพร้อมในหน้าที่ของพระอย่าให้บกพร่อง ความประพฤติของพระจะสามารถทรงความสวยงามเป็นที่น่ายินดีและเลื่อมใสไว้ได้ ต้องอาศัยสติกับปัญญาเป็นพี่เลี้ยงตามรักษาทุกระยะความเคลื่อนไหว ผู้มีสติปัญญาตามรักษาความประพฤติ ย่อมงามทั้งภายนอกงามทั้งภายใน และเป็นผู้ทรงความงามไว้ได้ไม่จืดจางตลอดกาล เมื่อนำสติกับปัญญาเข้าไปแก้ทางภายใน คือใจกับอารมณ์ที่ทำให้รกรุงรังก็กลายเป็นใจที่ใสสะอาด และมีคุณค่าขึ้นมาทันที

    อนึ่ง ความจำได้จากการศึกษาเล่าเรียนมากับความจำได้จากการฟัง จงน้อมเข้ามาเป็นเครื่องสนับสนุนให้กลมกลืนกับการปฏิบัติ สติกับปัญญาให้แนบสนิทอยู่กับใจ และความเคลื่อนไหว ตามองไปถึงไหน หูได้ยินถึงไหน สติกับปัญญาจงติดตามถึงที่นั้น จมูก ลิ้น กาย สัมผัสกับสิ่งต่างๆ ดี ชั่ว หยาบ ละเอียดแค่ไหน สติปัญญาจงตามรู้ และค้นดูสาเหตุของสิ่งที่มากระทบโดยแยบคาย และทุกครั้งที่ได้สัมผัสกัน แม้อารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะภายในใจต้องตามรู้ และพิจารณาไม่ขาดตอน เพราะท่านที่หลุดพ้นไปจากโลกแห่งความยุ่งเหยิงภายในใจ ท่านทำอย่างนี้ทั้งนั้น ท่านไม่ได้ทำแบบไม้ซุงทั้งท่อนที่ทิ้งอยู่บนพื้นดินให้เด็ก ๆ ปีนขึ้นแล้วถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดทั้งวันทั้งคืน

    ผู้ทำตัวให้เป็นเช่นไม้ซุงทั้งท่อน กิเลสตัณหามาจากทิศต่าง ๆ คือมาจากรูป จากเสียง จากกลิ่น จากรส และจากเครื่องสัมผัส ล่วงไหลเข้ามาช่องภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และจะถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดลงไปที่หัวใจดวงที่ทำตัวเป็นเหมือนไม้ซุงทั้งท่อนนั้น เพราะไม่มีความฉลาดแยบคาย ไม่มีความรอบคอบต่อตัวเอง และอารมณ์ทั้งภายนอกและภายใน ยอมตัวให้กิเลสตัณหาถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดทั้งวันทั้งคืน นี่ไม่สมควรเลยสำหรับผู้มุ่งดำเนินเพื่อวิวัฏฏะ คือพระนิพพาน เพราะพระนิพพานของพระพุทธเจ้า และพระสาวกไม่ใช่พระนิพพานเกียจคร้าน และไม่ใช่พระนิพพานแบบไม้ซุงทั้งท่อน

    ผู้หวังธรรมเช่นนั้นครองดวงใจ ก็จำต้องพยายามปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับร่องรอยปฏิปทาของพระองค์ และพระสาวกท่านดำเนิน คือพยายามฝึกหัดอบรมสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร ให้ทันกับเหตุการณ์ที่เป็นไปอยู่ทั้งภายในภายนอกตลอดเวลา อย่าทำตัวเหมือนซุงทั้งท่อน คือเดินก็สักแต่ว่าเดิน นั่งก็สักว่านั่ง ภาวนาก็สักว่าภาวนาเท่านั้น แต่แล้วนั่งอยู่เหมือนหัวตอกลางไร่กลางนา หาความรู้สึกรอบคอบประจำใจไม่มีเลย การสักแต่ว่าทำนี้จึงไม่ผิดอะไรกับเขานั่งนอนธรรมดา

    เพื่อความเป็นลูกศิษย์พระตถาคต ผู้มีพระนามกระเดื่องทั่วไตรภพ จงพยายามรื้อฟื้นสติ รื้อฟื้นปัญญาที่นอนจมอยู่กับใจขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนความเพียร ถอดถอนกิเลสตัณหาทุกประเภทที่เกิดจากใจ ซึ่งกำลังเป็นไม้ซุงทั้งท่อนอยู่ในขณะนี้ ที่ท่านให้นามว่า ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ขี้เกียจ ขี้คร้าน ขี้บ่น ขี้โมโห ขี้หึง ขี้หวง เหล่านี้ล้วนแต่ขี้ และกองเต็มอยู่บนหัวใจทั้งนั้น

    เมื่อได้รับการฝึกฝนอบรมดังที่กล่าวมา สติปัญญานับวันจะมีกำลังและเคยชินต่อตนเอง เช่นเดียวกับการงานด้านอื่น ๆ เวลานำมาประกอบกับความเพียรภายในใจโดยเฉพาะ จะสามารถทราบเรื่องของหัวใจได้ในเวลาอันควรไม่เนิ่นนาน และเพื่อความมีหลักเกณฑ์ในการอบรม โปรดบังคับใจไว้ภายในกาย ใช้สติจดจ่อ และปัญญาท่องเที่ยวขุดค้นอยู่ในวงของกาย ชื่อว่าได้ดำเนินตามหลักสติปัฏฐานและอริยสัจ ซึ่งเป็นทางเดินของพระอริยเจ้าทุก ๆ ประเภท
    (จากหนังสือ หลักของใจ ครับ หนังสือเล่มนี้ ดูแล้วคล้ายกับหนังสือหยดน้ำบนใบบัวมาก ต่างกันก็แต่ว่า นำมาจากคำกล่าวของหลวงตาเองครับ ประมาณว่า หนังสือเล่มนี้ เป็นประวัติหลวงตา ด้วยสำนวนของหลวงตาเอง แต่หยดน้ำบนใบบัว เป็นการเรียบเรียบขึ้นมาของเหล่าลูกศิษย์ท่านครับ เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติใหม่ๆมากครับ)

    กำลังใจและอุบายแนะนำของครูอาจารย์
    กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมากในการบำเพ็ญคุณงามความดี และยิ่งได้รับอุบายจากครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติถูกต้องด้วยแล้ว ก็จะเป็นพลังเสริมการบำเพ็ญเพียรของลูกศิษย์ ท่านอาจารย์ได้เทศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

    “…อะไรจะไปเหนือกำลังใจไม่มีโลกนี้ ถ้าลงได้บรรจุตัวเต็มที่ไม่ว่าทางฝ่ายดีฝ่ายชั่ว มันทำให้แหลกได้เหมือนกัน ทางชั่วก็แหลกได้เลย ไม่ได้วิตกวิจารณ์กับบาปกับบุญคุณโทษอะไรเลย ถ้าลงกิเลสตัวนี้มันถึงใจแล้ว ทางธรรมก็เหมือนกัน ธรรมก็ถึงใจที่จะปราบกิเลส อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย การชนะตนนั้นแลประเสริฐ นี่ละตรงนี้อันหนึ่ง กับ เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ, ส เว สงคามชุตฺตโม การชำนะตนนั้นแลประเสริฐสุด นี่มันถึงใจ

    กำลังของใจเป็นสำคัญนะการประกอบความพากเพียร เมื่อกำลังใจความมุ่งมั่นของใจมีมากแล้วมันจะหมุนๆ ตัว ถ้ายิ่งได้รับอุบายจากครูจากอาจารย์ที่ท่านแสดงถูกต้องแม่นยำต่ออรรถต่อธรรม ต่อความจริงเพื่อฆ่ากิเลสทุกประเภทด้วยแล้ว นั่นแหละยิ่งถึงใจ มันดีดผึงๆๆ เลย เพราะฉะนั้น การได้ยินได้ฟังจึงเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว เราไม่ลืมเราได้ฟังธรรมกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ วันไหนท่านจะประชุมนี้มันกระหยิ่ม เหมือนจะได้เหาะจะบินโน่นน่ะ ข้อข้องใจตรงไหนๆ ที่มีอยู่ภายในใจจะต้องมากระจายกันวันนี้ ความหมายว่างั้นนะ ที่จะได้ฟังได้ต่อผลประโยชน์ต่อไปอีกก็มี สิ่งที่ยังขัดยังข้องอยู่ภายในใจวันนี้จะต้องถูกเปิดเผยด้วยธรรมของท่านทั้งนั้น แน่ะ เพราะมันเคยเป็นอย่างนั้นนี่ พอเทศน์ไปถึงจุดของเราแล้ว มันจ่อๆๆ พอไปถึงนั่นพับท่านผ่านผึงเลย เพราะท่านผ่านไปแล้วนี่ท่านรู้แล้ว ผ่านผึงเราก็โดดผึงไปตาม ได้ก้าวหนึ่งสองก้าวก็เอา ฟังเทศน์แต่ละครั้งๆ นี่ ทีละก้าวสองก้าวไปเรื่อย แล้วก็เพิ่มเติมกันไปเรื่อยๆ นี่การฟังเทศน์จึงเป็นของสำคัญมากนะ…”
    (แสวงโลกแสวงธรรม หน้า ๓๘๘)

    เมื่อท่านเดินทางจากนครราชสีมาไปอุดรธานี เพื่อตามหาท่านพระอาจารย์มั่น และปรากฏว่าความเจริญในทางด้านสมาธิของท่านเสื่อมลงที่บ้านตาด ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน ท่านได้อธิบายภาวะจิตเสื่อมไว้ว่า เป็นภาวะที่จิตรู้สึกเข้าสมาธิไม่ค่อยสนิทดีเหมือนที่เคยเป็นมา บางครั้งเข้าสงบได้ แต่บางครั้งเข้าไม่ได้ ดังนั้น ท่านจึงรีบออกเดินทางไปขออยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น จนได้พบและได้อยู่จำพรรษาด้วยที่บ้านโคก จังหวัดสกลนคร
    การแก้ไขภาวะจิตเสื่อมของท่าน อาศัยกำลังใจความมุ่งมั่นของใจ และได้รับอุบายจากท่านพระอาจารย์มั่น จึงสามารถเรียกจิตให้กลับคืนมาได้ เรื่องนี้ได้รวบรวมจากเทศน์ต่างๆ ของท่านไว้ดังนี้

    สภาวะจิตเสื่อม

    “…การบำเพ็ญอยู่กับท่านในระยะนั้น ก็มีแต่ความเจริญกับความเสื่อมภายในใจ ไม่ค่อยสงบอยู่คงที่เป็นเวลานาน พรรษาแรกที่อยู่กับท่านเป็นพรรษาที่ ๙ เพราะ ๗ พรรษาศึกษาทางปริยัติ เริ่มออกปฏิบัติได้ขึ้นมาจำพรรษาที่นครราชสีมา ๑ พรรษา ในพรรษาแรกที่จำอยู่กับท่าน (พรรษาที่ ๙) มีแต่ความเจริญกับเสื่อมทางด้านสมาธิ ออกพรรษาแล้วก็ขึ้นบนเขา…”
    (แว่นดวงใจ หน้า ๒๒๕)

    “…ตอนที่จิตมันยังไม่ได้เรื่องได้ราวมันฝืนเราอย่างหนัก ทั้งๆ ที่เราตั้งอกตั้งใจขนาดนั้นยังเป็นได้ กิเลสมันถอยใครเมื่อไร พอจากท่านอาจารย์มั่นไปได้ ๒-๓ วัน จิตมันดีดมันดิ้นหาเขียงสับยำเพื่อเป็นอาหารกิเลสอย่างเห็นได้ชัด ถึงทราบได้ชัดว่า อ๋อ นี่มันกาจับภูเขาทอง…ว่าเจ้าของ อยู่กับครูบาอาจารย์จิตสงบร่มเย็น พอออกจากท่านมาแล้วไม่ได้เรื่องได้ราว ทำความเพียรก็เดินไปเฉยๆ ไม่มีอุบายอะไรที่จะแก้กิเลสได้สักตัวเดียว มีแต่ความฟุ้งซ่านภายในใจ นับวันรุนแรงขึ้นทุกวันๆ อยู่ห่างท่านไม่ได้ถ้าเป็นอย่างนี้ เรารู้แล้ว นี่หนีจากครูบาอาจารย์ไม่ได้เมื่อเป็นแบบนี้ เรารีบกลับคืนไปหาท่านทันที แต่เดชะบุญเวลากลับคืนไปท่านไม่เคยตำหนิติเตียน ท่านไม่เคยขับไล่ไสส่งเลย ความจริงเราก็ไปภาวนา คิดว่าประมาณเดือนนั้นเดือนนี้ก็จะกลับมา แต่มันไม่ทันถึงเดือนนั้นเดือนนี้นี่นา ไฟนรกในใจมันเผาขึ้นมาก่อน นี่ก็ต้องรีบกลับมา…”
    (เข้าสู่แดนนิพพาน หน้า ๑๕๔–๑๕๕)

    “ประมาณสองเดือนกว่ากลับลงมาหาท่านอีก จิตก็มีเจริญกับเสื่อมอยู่เช่นนั้น โดยพิจารณาหาสาเหตุก็ไม่ทราบว่าเสื่อมเพราะเหตุใด ทั้งๆ ที่ตั้งใจบำเพ็ญอยู่อย่างเต็มกำลัง บางคืนไม่ยอมหลับนอนตลอดรุ่งเพราะกลัวจิตจะเสื่อม ถึงอย่างนั้นก็ยังเสื่อมได้ เฉพาะอย่างยิ่งเวลาจิตเริ่มก้าวเข้าสู่ความสงบ ความเพียรก็ยิ่งรีบเร่งเพราะกลัวจิตจะเสื่อมดังที่เคยเป็นมา แม้เช่นนั้นก็ยังฝืนเสื่อมไปได้ ต่อมาก็เจริญขึ้นอีก แล้วก็เสื่อมลงอีก ความเจริญของจิตนั้นอยู่คงที่ได้เพียง ๓ วัน จากนั้นก็เสื่อมลงต่อหน้าต่อตา…”
    (แว่นดวงใจ หน้า ๒๒๕)

    “…ก็เสื่อมมาตั้งแต่ต้นเดือนอ้าย เดือนยี่ปีกลาย จนถึงเดือนอ้ายเดือนยี่ข้างหน้า และถึงเดือนเมษายนนี่มันยังไม่เจริญนะ เจริญขึ้นไปถึงที่แล้วเสื่อมลงๆ เป็นปีแน่ะ…”
    (เข้าสู่แดนอวกาศของจิตของธรรม หน้า ๖๓)
    ทุกข์หนัก
    “…ผมเป็นห่วงหมู่เพื่อนมากในการประพฤติปฏิบัติธรรม อยากให้รู้ให้เห็น เพราะการแสดงธรรมให้หมู่เพื่อนฟังตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันนี้ ไม่เคยสั่งสอนด้วยความเลื่อนลอยเลย สั่งสอนด้วยความถึงจิตถึงใจด้วยเจตนาที่มีความเมตตาสงสาร อยากให้หมู่เพื่อนได้รู้ได้เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง บรรดาที่ตนรู้ตนเห็นและตนแสดงออกนั้นๆ เหมือนกับตนที่ได้ปรากฏมา การแสดงธรรมแก่หมู่เพื่อนทั้งหลายนี้ผมไม่ได้แสดงด้วยความด้นเดา ผมเรียนตามตรงในฐานะที่หมู่เพื่อนมาอาศัยผม ผมมีความรู้สึกเป็นเหมือนอวัยวะเดียวกันจึงไม่มีปิดบังลี้ลับ ได้รู้เห็นอย่างใดๆ ก็นำมาสอนจนไม่มีอะไรเหลือแล้ว ภายในพุงนี้ไม่มีเหลือ ได้แสดงออกมาอย่างหมดเปลือกทีเดียว ไม่มีความรู้สึกแม้นิดหนึ่งที่จะเป็นการโอ้อวดต่อหมู่เพื่อน
    แสดงตามสิ่งที่ปรากฏ เช่น การประพฤติปฏิบัติ เคยประพฤติปฏิบัติอย่างใดหนักเบามากน้อยขนาดไหน ได้ฝึกฝนทรมานตนหนักเบามากน้อยเพียงไร ก็ได้นำมาสั่งสอนหมู่เพื่อน หรือมาเล่าให้หมู่เพื่อนฟังเพื่อเป็นคติเครื่องเตือนใจ เพื่อเป็นกำลังทางด้านปฏิบัติเรื่อยมาตามโอกาสอันควร ตลอดถึงผลที่ปรากฏเริ่มแรกตั้งแต่จิตเริ่มเป็นสมาธิคือความสงบเย็นใจก็ได้เล่าให้ฟัง จิตเสื่อมลงไปมากน้อยเพียงใดก็ได้เล่าให้ฟังเพื่อเป็นคติทั้งนั้น ทั้งความเจริญและความเสื่อม ความเสื่อมก็เป็นอาจารย์ได้เป็นอย่างดี ผู้ที่ได้ยินได้ฟังจากความเสื่อมของเราที่ได้แสดงให้ฟังแล้ว จะได้ตั้งสติสตังระมัดระวังอย่าให้จิตของตนเสื่อม ซึ่งเป็นการลำบากมากในการที่จะฟื้นฟูจิตใจให้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาตามเดิมและยิ่งกว่านั้นได้ เราได้เคยเป็นมาแล้ว
    จิตเสื่อมเพียงเข้าสมาธิได้บ้างไม่ได้บ้าง ซึ่งแต่ก่อนเข้าได้สนิท กำหนดเมื่อไรได้ทุกครั้งๆ ไม่เคยเสียสักครั้งเลย แต่เวลาจิตเริ่มเสื่อมเท่านั้นเรารู้สึกตัวว่าจิตเข้าได้บ้าง ไม่ได้บ้าง รีบโดดหนีทันที แม้เช่นนั้นยังเสื่อมเป็นเวลาตั้งปี เข้าสู่ความสงบไม่ได้ดูซิ จิตเสื่อมเพียงเท่านั้นพยายามฟื้นฟูฉุดลากให้ขึ้นมา ยังฝืนเสื่อมถึงขนาดปีกว่า ยังไม่สามารถฟื้นขึ้นได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยดังที่เคยเป็นมานั้นเลย จึงได้เห็นโทษแห่งความเสื่อมนี้อย่างถึงใจ เหตุใดจึงว่าเห็นโทษอย่างถึงใจ เพราะเราเสียอกเสียใจเพราะความเสื่อมแห่งจิตนี้มากจริงๆ ในชีวิตนี้แน่ใจว่าจะลืมเรื่องนั้นไม่ลง เพราะทำให้เราเจ็บช้ำใจมากแทบไม่มีโลกอยู่ เพราะความเสียใจเพราะความเสียดาย…
    (เข้าสู่แดนนิพพาน หน้า ๕๒)

    “…จิตเสื่อมนี้ทุกข์มากจริงๆ จนหาประมาณไม่ได้เลย ไม่มีวันลืม แม้แต่ทุกวันนี้ยังไม่ลืม จะว่าอะไรกัน เพราะมันถึงใจจริงๆ จนกลายเป็นสัจธรรมขึ้นมา ด้วยจำความที่ว่าจิตเสื่อมนั้นไม่ลืม มันกลายเป็นสัจธรรมขึ้นมา ไม่ใช่ความจำเสียแล้ว มันเป็นความจริงขึ้นมากับตัวเอง

    นี่ความเคียดแค้นนี้ถึงใจจริงๆ ไม่ลืมจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เพราะความเสียใจ ความเสียดาย คือเสียใจนี้เกิดมาจากความเสียดายที่จิตเสื่อม จิตเสื่อมนี้ร้อนมากจริงๆ นะ ผู้ภาวนายังไม่เคยเห็น ยังไม่เคยเป็นสมาธิ ไม่เคยสงบ ยังพอเป็นพอไป ผู้ที่เห็นความสงบของจิตจนกระทั่งถึงแน่นปึ๋งนี่ ผมเป็นจริงๆ นะ จิตนี้แน่นเหมือนภูเขาเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่จิตมีกิเลสอยู่นั้นแหละ พลังของสมาธิมีกำลังมากเหมือนกับเป็นหินทั้งแท่ง แต่ครั้นแล้วเพราะความไม่รอบคอบไม่ฉลาดในการรักษาจิตประเภทนี้นั่นเอง จึงทำให้ค่อยเสื่อมลงๆ โดยเจ้าตัวไม่รู้ นั่น

    เมื่อเสื่อมลงไปๆ กลับเอาคืนมาไม่ได้ เพียงแต่ว่าเข้าได้บ้าง คือเข้าสมาธิสงบได้บ้าง ไม่ได้บ้างเท่านั้น ก็รู้ตัวว่านี่ๆ จิตของเราจะเสื่อมแล้ว รีบออกบำเพ็ญเอาเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถึงขนาดนั้นมันก็เหยียบหัวเอาต่อหน้าต่อตา จนปีกว่าๆ นั่นฟังซิ จิตถึงได้ก้าวหน้า…”
    (ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๑๓๗)

    “…ขั้นที่ยังล้มลุกคลุกคลานก็เหมือนอย่างเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายที่ปฏิบัติอยู่นี้แล เอาเกือบเป็นเกือบตาย ก็ให้มันเหยียบเอาๆ อยู่นั้น เหมือนกลิ้งครกขึ้นบนจอมปลวก กลิ้งขึ้นไปมันก็กลิ้งทับหัวเราลงมาต่อหน้าต่อตา เพราะเราไม่มีกำลังสามารถต้านทานมันไว้ได้ นี่กิเลสซึ่งเป็นเหมือนครกก็เหมือนกัน เวลามีอำนาจมากมันกลิ้งทับเราอย่างนั้นเหมือนกัน
    ผมเคยเป็นมาแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่เอามาคุยอวดหมู่เพื่อนนะ ผมพูดไปตามความจริง…”
    (ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๒๕)

    “…เพราะฉะนั้น เวลาจิตเสื่อมจากสมาธิมันถึงจะเป็นจะตายจริงๆ เพราะทุกข์มากนี่ ผมเป็นอย่างนั้น ทุกข์ในเพศของนักบวชนี้นอกจากประกอบความเพียรเรียนหนังสือแล้ว ยังทุกข์เพราะจิตเสื่อมเข้าอีก โอ้โห ไม่ได้ลืมกระทั่งทุกวันนี้ เพราะเราเคยเห็นคุณค่าของสมาธิที่แน่นปึ๋งๆ มาแล้ว และก็เสื่อมเอาชนิดไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัวเลย มีแต่ฟืนแต่ไฟเผาหัวใจตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืน ทั้งยืนทั้งเดิน ทั้งนั่งทั้งนอน จะไม่ทุกข์ได้ยังไง ทุกข์เพราะอยากได้สมาธินั้นกลับคืนมา ไม่ได้สมใจมันก็ทุกข์ นอกจากกิเลสมันยั่วด้วยวิธีต่างๆ อีกด้วยแล้ว มันยังจะลากลงนรกอเวจีทั้งเป็นอีกด้วย ก็มันทุกข์มหันตทุกข์จริงๆ เพราะความอาลัยเสียดายสมาธิสมาบัติที่เสื่อมไป อยากได้กลับคืนมาอย่างเดิม แต่ไม่สมหวัง จะไม่เป็นมหันตทุกข์อย่างไรคนเรา ในชีวิตของนักบวชก็มีคราวที่จิตเสื่อมนั่นแลที่ทุกข์มากที่สุดสำหรับผมน่ะ…”
    (เข้าสู่แดนอวกาศของจิตของธรรม หน้า ๒๗๙)

    “…บางทีน้ำตาร่วงกัดฟัน …แต่ก่อนจิตเข้าได้สนิทๆ เหมือนหินนะ เวลาจิตเป็นสมาธิแน่นเหมือนหิน สุดท้ายมันก็มาเสื่อมเพราะความไม่รอบคอบของตัวเอง ไม่รู้จักวิธีรักษา… ทีนี้เสื่อมไปแล้วตีต้อนขึ้นมาไม่ได้ กลับตัวไม่ได้ เจริญขึ้นแล้วเสื่อมลงๆ มีแต่เคียดแต่แค้น เหมือนกับว่าสู้เสือด้วยกำปั้นนั้นเอง เคียดก็เคียด แค้นก็แค้น เคียดแค้นให้เสือ แต่เวลาสู้ สู้มันไม่ได้ เรามีแต่กำปั้น มันมีทั้งเล็บมีทั้งเขี้ยว มันกัดเอาๆ ตะปบเอาเลือดสาดๆ เรามีแต่กำปั้นสู้มันไม่ได้ แต่แค้น เคียดแค้น พอขึ้นหัวมันได้แล้วเอาเลย เอาอีกแล้วที่นี่ เทียบเข้าอีกเป็นข้ออุปมาหนึ่ง เหมือนกับช้างเมื่อขึ้นตะพองมันได้แล้ว ขอกระหน่ำลงไปเลย

    เราจึงได้เชื่อเรื่องพระโคธิกะ ท่านเจริญฌานมาถึง ๕ หน ๖ หน เสื่อมแล้วเจริญ เสื่อมแล้วเจริญ ครั้งที่ ๖ ดูว่ายังงั้นนะถ้าจำไม่ผิด แต่ ๕ นี้แน่แล้ว ครั้งที่ ๖ ยังมีสงสัยอยู่หน่อย พระโคธิกะนี่มีในประวัติในธรรมบท ซึ่งเป็นหลักสูตรการเรียนของเปรียญ ๓ ประโยคนั่นน่ะ พระโคธิกะนี้ฌานท่านเจริญสมาธิสมาบัติ เจริญแล้วเสื่อมๆ ถึง ๕ หน จนกระทั่งถึงจะฆ่าตัวตาย นั่นพิจารณาซิ เราไม่ต้องเอาไปมากกว่านั้นหรอก เราบอกจนถึงจะฆ่าตัวตายนี้ก็ถึงจุดอันสมบูรณ์แล้ว

    เราเป็นอย่างนั้นจริงๆ เวลามันเสื่อมลงไปความเคียดแค้นนี้ แหม… ทุกข์ ทุกข์แสนสาหัส ไม่มีอะไรทุกข์ยิ่งกว่าในหัวใจเรานะ ไม่มีอะไรทุกข์ยิ่งกว่าสมาธิเสื่อม แต่ก่อนไม่ได้สมาธิ จิตไม่เป็นสมาธิมันก็เทียบกันได้กับคนที่เขาหาเช้ากินเย็นนั่นแหละ เขาไม่เคยมีเงินหมื่นเงินแสนเงินล้าน เขาจะเอาอะไรมาเสียใจเพราะความล่มจมของเงินหมื่นเงินแสนเงินล้านเล่า

    เขาหาเช้ากินเย็นเขาสบายกว่า คนมีเงินแสนเงินล้านที่ล่มจมไปด้วยเหตุการณ์อันใดอันหนึ่ง ผู้นั้นจะร้อนมากที่สุด นี่ก็เหมือนกันคนที่ไม่เคยเจอสมาธิก็จะเอาอะไรมาเดือดร้อน นี่เคยเจอเคยเป็นมาแล้ว

    เวลาจิตเสื่อมนี้ แหม ร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ อยู่ไหนหาความสะดวกสบายไม่ได้ แต่ดีอย่างหนึ่งที่น่าชมก็คือว่าไม่ถอย จะเอาให้ได้ๆ เคียดแค้นๆ เพื่อสู้…”
    (ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๒๕–๒๖)

    “…นี่ละ เสียใจขนาดไหนจิตเสื่อม ฟังซิ จนกระทั่งชีวิตก็ไม่เสียดายหรือตายเลยดีกว่า…”
    (เข้าสู่แดนอวกาศของจิตของธรรม หน้า ๒๘๑)

    …เคียดแค้นในทางธรรมจะเป็นอะไรไป เคียดแค้นทางโลกเป็นกิเลส เคียดแค้นด้วยอรรถด้วยธรรมเป็นธรรม ไม่งั้นไม่ทันกิเลส กำลังของจิตด้านธรรมะไม่มี สู้กิเลสไม่ได้ กิเลสมีกำลังธรรมะไม่มีกำลังสู้กันไม่ได้ ความเคียดแค้นของกิเลสมาแบบหนึ่ง ความเคียดแค้นของธรรมเป็นอีกแบบหนึ่ง ฆ่ากิเลสนั่น มันแก้กันอย่างนี้ เช่นว่ามรรคแก้สมุทัย ชะล้างสมุทัย เป็นอย่างนี้ ธรรมะแก้กิเลสแก้อย่างนี้ ให้ท่านทั้งหลายเข้าใจนะ นี้พูดด้วยความแน่ใจทีเดียว ไม่ได้มีความสงสัยในการปฏิบัติของตัวเอง เพราะได้ผ่านมาแล้วเป็นอย่างนี้…”
    (ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๒๖–๒๗)
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,256
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    (ต่อ)
    ท่านพระอาจารย์มั่นให้อุบาย

    “…เมื่อไปหาท่าน (พระอาจารย์มั่น) ซึ่งเป็นขณะที่จิตกำลังเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วกลับเจริญ และเป็นขณะที่กำลังได้รับความทุกข์ร้อนและกระวนกระวายมาก ท่านก็มีอุบายสั่งสอนแบบอนุโลมไปตามทำนองนี้เหมือนกัน คือเวลาไปกราบท่าน ท่านถามว่าจิตเป็นอย่างไร ถ้าเป็นขณะที่จิตกำลังเจริญ ก็เรียนท่านว่าระยะนี้กำลังเจริญ ท่านก็ให้อุบายว่า ‘นั่นดีแล้ว จงพยายามให้เจริญมากๆ จะได้พ้นทุกข์เร็วๆ’ ถ้าเวลาจิตกำลังเสื่อมไปหาท่าน ท่านถามว่าจิตเป็นอย่างไรเวลานี้ เราเรียนท่านตามตรงว่า วันนี้จิตเสื่อมไปเสียแล้ว ไม่มีร่องรอยแห่งความสุขเหลืออยู่เลย ท่านแสดงเป็นเชิงเสียใจไปด้วยว่า ‘น่าเสียดายมันเสื่อมไปที่ไหนกันนา เอาเถอะท่านอย่าเสียใจ จงพยายามทำความเพียรเข้ามากๆ เดี๋ยวมันจะกลับมาอีกแน่ๆ มันไปเที่ยวเฉยๆ พอเราเร่งความเพียรมันก็กลับมาเอง หนีจากเราไปไม่พ้น เพราะจิตเป็นเหมือนสุนัขนั่นแล เจ้าของไปไหนมันต้องติดตามเจ้าของไปจนได้ นี่ถ้าเราเร่งความเพียรเข้าให้มาก จิตก็ต้องกลับมาเองไม่ต้องติดตามมันให้เสียเวลา มันหนีไปไหนไม่พ้นเราแน่ๆ จงพยายามทำความเพียรเข้าให้มากเชียว มันจะกลับมาในเร็วๆ นี่แล ไม่ต้องเสียใจให้มันได้ใจ เดี๋ยวมันว่าเราคิดถึงมันมากมันจะไม่กลับมา

    จงปล่อยความคิดถึงมันเสีย แล้วให้คิดถึงพุทโธติดๆ กันอย่าลดละ พอบริกรรมพุทโธถี่ยิบติดๆ กันเข้า มันวิ่งกลับมาเอง คราวนี้แม้มันกลับมาก็อย่าปล่อยพุทโธ มันไม่มีอาหารกินเดี๋ยวมันก็วิ่งกลับมาหาเรา จงนึกพุทโธเพื่อเป็นอาหารของมันไว้มากๆ เมื่อมันกินอิ่มแล้วต้องพักผ่อน เราสบายขณะที่มันพักสงบตัว ไม่วิ่งวุ่นขุ่นเคืองเที่ยวหาไฟมาเผาเรา ทำจนไล่มันไม่ยอมหนีไปจากเรา นั่นแลพอดีกับใจตัวหิวโหยอาหารไม่มีวันอิ่มพอ ถ้าอาหารพอกับมันแล้ว แม้ไล่หนีไปไหนมันก็ไม่ยอมไป ทำอย่างนั้นแลจิตเราจะไม่ยอมเสื่อมต่อไป คือไม่เสื่อมเมื่ออาหารคือพุทโธพอกับมัน จงทำตามแบบที่สอนนี้ท่านจะได้ไม่เสียใจเพราะจิตเสื่อมแล้วเสื่อมเล่าอีกต่อไป
    นี่ก็เป็นอีกอุบายหนึ่งที่ท่านสอนคนที่แสนโง่ แต่ดีไปอย่างหนึ่งที่เชื่อท่านตามแบบโง่ของตน ไม่เช่นนั้นคงจะวิ่งตามหาใจดวงเสื่อมแล้วเสื่อมเล่าไม่มีวันเจอและหยุดได้…
    (ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ หน้า ๒๔๑)
    ไม่ถอย จึงตั้งหลักได้
    ในภาวะจิตเสื่อมเช่นนี้ ท่านอาจารย์มีความเด็ดเดี่ยว ไม่ถอย เพื่อให้ได้สมาธิกลับคืนมา

    “…หลังจากได้อุบายอันแยบคายจากท่านอาจารย์มั่น จึงนำมาตั้งเป็นข้อสังเกตขึ้น แล้วก็ตั้งคำมั่นสัญญาขึ้นอีกว่า ถึงอย่างไรเราจะต้องนำบทบริกรรมมากำกับจิตทุกเวลา ไม่ว่าเข้าสมาธิออกสมาธิ ไม่ว่าจะไปที่ไหน อยู่ที่ใด แม้ที่สุดปัดกวาดลานวัดหรือทำกิจวัตรต่างๆ จะไม่ยอมให้สติพลั้งเผลอจากคำบริกรรมคือพุทโธ เพราะชอบนำเอาบท พุทโธ มาเป็นคำบริกรรมภาวนา คราวนี้เวลาภาวนาจิตสงบลงไป หากว่าความสงบนั้นยังจะนึกคำบริกรรมคือ “พุทโธ” ได้อยู่ จะไม่ยอมปล่อยวางคำบริกรรมนั้น แล้วจิตจะเสื่อมไปได้ในทางใด จะต้องรู้กันในตอนนี้

    พอตั้งข้อสังเกตและตั้งคำมั่นสัญญาไว้แล้วก็เริ่มบริกรรมภาวนาด้วยบท พุทโธ เมื่อบริกรรมตามนั้น จิตก็ลงสู่ความสงบได้ และได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากที่เคยเป็นมาขณะที่จิตเว้นจากคำบริกรรม จะเว้นเฉพาะขณะที่จิตเข้าสู่ความสงบอย่างสนิท ขณะนั้นจะนึกพุทโธหรือไม่ก็ตาม แต่ความรู้ที่อยู่ในความสงบนั้นปรากฏเป็น พุทโธ ตายตัวอยู่แล้ว และไม่มีความปรุงแต่งอะไรทั้งนั้น ตอนนี้หยุดคำบริกรรม พอจิตจะเริ่มขยับตัวถอนขึ้นมา คือมีอาการกระเพื่อมนิดๆ ก็รีบจับคำบริกรรมอัดเข้าไปทันทีเพื่อให้จิตติดอยู่กับคำบริกรรม

    ทำเช่นนั้นพร้อมทั้งตั้งความสังเกตว่าจิตจะมีความเสื่อมได้ตอนไหน และทอดอาลัยในความเสื่อมกับความเจริญของจิต จิตจะเสื่อมหรือเจริญไปถึงไหนก็ตาม แต่คำบริกรรมในระยะนี้จะไม่ยอมปล่อยวาง แม้จิตจะเสื่อมก็ยอมให้เสื่อมไปเพราะการตั้งความอยากไว้ว่าไม่ให้จิตเสื่อมไป แต่ก็เสื่อมไปได้ทั้งๆ ที่ไม่อยากให้เสื่อม บัดนี้ความเสื่อมและความเจริญนั้นเราทอดธุระเสียแล้ว จะบังคับจิตให้มีความรู้สึกอยู่กับ พุทโธ อย่างเดียว เสื่อมกับเจริญเราจะพยายามให้รู้อยู่กับใจที่มีพุทโธกำกับนี้เท่านั้น ให้รู้กันที่นี่และเห็นประจักษ์กันที่นี่ จะมั่นใจอยู่ที่นี่แห่งเดียว เสื่อมกับเจริญไม่ต้องไปสนใจ

    ในระยะต่อมาจิตที่เคยเจริญและเสื่อมเป็นลำดับมาก็เลยไม่เสื่อม จึงเป็นเหตุให้รู้เรื่องราวของจิตว่า อ้อ จิตที่เคยเสื่อมบ่อยๆ นั้น เสื่อมเพราะขาดคำบริกรรม สติคงจะเผลอจากจิตไปในระยะนั้นแน่นอน แต่นั้นมาก็ตั้งคำบริกรรมมาเป็นลำดับ ไปไหน มาไหน อยู่ที่ใด ไม่ยอมให้เผลอ เป็นกับตายจะไม่ยอมให้เผลอจาก พุทโธ จิตจะเสื่อมไปไหนก็ให้รู้กันที่นี่เท่านั้น ไม่ยอมรับรู้ไปทางอื่น จิตก็เลยตั้งหลักลงได้ เพราะคำบริกรรมคือพุทโธ…”
    (แว่นดวงใจ หน้า ๒๒๖)
    ควบคุมรักษาจิต
    “…ทีนี้พอจิตนี้เริ่มเจริญขึ้นมาด้วยอุบายต่างๆ ที่เราทุ่มเทลงนั้นแล้ว จึงขนาบกันใหญ่ให้สมใจที่เคียดแค้นอยู่เป็นแรมปี ไม่ยอมให้เสื่อมได้ จนถึงกับว่า เอ้า ถ้าจิตเราจะเสื่อมลงไปแม้แต่น้อยเพียงไรก็ตาม ขอให้เราตายเสียก่อนจิตนี้จึงจะเสื่อมได้ ถ้าเรายังไม่ตายจิตนี้จะเสื่อมไปไม่ได้
    คำที่พูดอย่างนี้เหมือนกับพูดด้วยความอาฆาตมาดร้ายต่อกิเลสตัวทำให้จิตเราเสื่อม พูดด้วยการประกันตัว การรับรองตัว พูดด้วยความเข็ดหลาบอย่างถึงใจ ประทับใจ หลังจากนั้นจิตจึงเป็นเหมือนนักโทษถูกคุมแจตลอดเวลา ไม่ยอมให้พรากสายตา คือสติไปได้ ไม่เพียงแต่ว่าพูดเฉยๆ ความระมัดระวังตัวนี้ระมัดระวังมากยิ่งกว่าครั้งใดๆ ที่ผ่านมา นับแต่ได้ทราบเรื่องจิตเสื่อมนั้นแล้วได้สอนตนให้รู้ให้เข็ดหลาบอย่างถึงใจ การระมัดระวังก็ระมัดระวังอย่างถึงใจ เวลาจิตเจริญขึ้นมาเต็มภูมิไม่ปรากฏว่าเสื่อมอีก แล้วก็ขยับความเพียรลงให้เต็มที่ เอ้า ตายก็ตาย ราวกับว่ากัดเขี้ยวกัดฟันใส่กันนั่นแลเพราะความเคียดแค้นอย่างถึงใจ นี่คือความเคียดแค้นให้ตนเอง หรือเคียดแค้นให้กิเลสที่ดัดสันดานตน ความเคียดแค้นประเภทนี้คือมัชฌิมาปฏิปทาที่เด็ดกับกิเลสคู่อริ จึงไม่จัดว่าเป็นกิเลส (แต่จัดเป็นมรรคของธรรมป่า พระป่า)
    (เข้าสู่แดนนิพพาน หน้า ๕๓)

    “…ในชีวิตของผมหรือในการปฏิบัติของผมก็มีพรรษานั้นนั่นละ คือพรรษา ๙ กับพรรษา ๑๐ เอากันอย่างหนักมากทีเดียว พอสมาธิได้ที่แล้ว ก็ได้บอกกับตัวเอง พูดกับตัวเองเลยทีเดียวภายในจิตใจนี้แหละ ไม่ได้พูดออกมาออกปากป้างๆ แป้งๆ อะไร ได้ตัดสินใจกับตัวเอง เรียกว่าทำความเข้าใจกับเราว่า ถ้าจิตของเราได้เสื่อมคราวนี้แล้วเราต้องตายเท่านั้น เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นู่นน่ะ ฟังซิ นี่ละทำให้เชื่อพระโคธิกะน่ะ มันจะตายแน่ๆ ไม่ทราบว่าจะตายด้วยแบบไหน ผมก็ไม่รู้นะ แต่มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ถ้าลงได้เสื่อมคราวนี้
    เพราะฉะนั้น เวลาจิตได้ก้าวเข้าสู่ความปกติของตนไม่เสื่อมแล้ว จึงเอากันใหญ่เลยที่นี่ กระหน่ำใหญ่เลย จะเป็นจะตายก็ เอ้า ตาย แต่จิตนี้เสื่อมไม่ได้ๆ มันเหมือนกับนักโทษครุโทษ ผู้ต้องหาครุโทษถูกบังคับบีบกันตลอดมานั่นแล จิตมันจะคิดไปไหน นั่น เวลานั่งได้หามรุ่งหามค่ำก็เพราะอันนี้เองพาให้ผมเป็นไปได้นะ นั่งหามรุ่งหามค่ำ ตลอดรุ่งๆ ไม่รู้กี่คืนๆ แต่ไม่ได้ติดกันดังที่เคยเล่าให้ฟังนั่นนะ นี่เพราะความเคียดแค้น…”
    (ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๒๖)

    “…พอจากนั้นจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตไม่เสื่อมละ ทีนี้เรื่องความเสื่อมนั้นมันเป็นครูเอกทีเดียว จะเสื่อมต่อไปอีกไม่ได้เป็นอันขาดว่าอย่างนั้นเลย ถ้าเสื่อมเมื่อไรเราต้องตาย เราจะทนอยู่ในโลกแบกกองทุกข์แห่งความเสื่อมนี้ต่อไปอีกไม่ได้ เพราะเราเคยเสื่อมมาแล้ว ทุกข์แสนสาหัสเป็นเวลาปีกว่า ไม่มีทุกข์อันใดที่จะแผดเผายิ่งกว่าความทุกข์เพราะจิตเสื่อม หากยังจะเสื่อมต่อไปอีกได้แล้วเราต้องตายอย่างเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นการระมัดระวังเจ้าของจากนั้นไปแล้ว จึงเข้มงวดกวดขันที่สุด ไม่ยอมให้เสื่อมได้จิตก็เจริญเรื่อยๆ…”
    (เข้าสู่แดนอวกาศของจิตของธรรม หน้า ๖๓)

    “…ต่อมาก็เป็นพรรษาที่สองที่ไปอยู่กับท่าน ก่อนจะเข้าพรรษาจิตก็รู้สึกสงบดีและแนบสนิทในทางสมาธิ ความเสื่อมไม่ปรากฏ แต่คำบริกรรมยังไม่ยอมลดละ จนถึงกับนั่งภาวนาได้แต่หัวค่ำตลอดรุ่งโดยไม่เปลี่ยนเป็นอิริยาบถอื่น…”
    (แว่นดวงใจ หน้า ๒๒๖–๒๒๗)

    “…จากนั้นมาก็เข้มงวดกวดขันน่ะซิ ไปไหนเหมือนกับนักโทษเหมือนผู้ต้องหาด้วยการควบคุมจิตดวงนี้ การรักษาต้องครอบอยู่งั้นเลยมันจึงไม่เสื่อม เสื่อมไม่ได้และก็จริงด้วย รักษามันตลอด ไม่คุ้นกับอะไรทั้งนั้น แล้วจิตก็ไม่เสื่อม เพราะมันรู้ตั้งแต่นั่งตลอดรุ่งอยู่แล้วที่ว่า เอ้อ ต้องอย่างนี้ซินะ ทีนี้ไม่เสื่อมๆ ตั้งแต่นั่งตลอดรุ่งคืนแรกเลยนะ มันได้หลักเกณฑ์ขึ้นมา เหมือนกับว่าจิตปีนตกๆ พอจิตเข้าไปถึงที่กึ๊กเลย ก็ทราบทีนี้ไม่ตก หมายความว่า ปีนขึ้นไปตกลงๆ พอไปถึงที่เกาะติดปั๊บ เอ้อ ต้องอย่างนี้ซิ ทีนี้ไม่เสื่อม มันแน่ใจแล้ว ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่นอนใจ เชื่อนั้นก็เชื่อ แต่ความที่เคยเข็ดนี้มันก็ถึงใจเหมือนกัน จิตก็ไม่เคยเสื่อมอีกตั้งแต่นั้นมา…”
    (เข้าสู่แดนอวกาศของจิตของธรรม หน้า ๒๘๑)
    ระลึกถึงพระคุณของท่านพระอาจารย์มั่น
    “…ผมไปอยู่ที่ไหนถ้าไม่ได้กราบท่านอาจารย์มั่นแล้ว นอนไม่ได้ อยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน แม้ที่สุดจะเดินจงกรมก็ต้องหันหน้าไปไหว้ท่านเสียก่อน ถ้ามีรูปท่านเป็นที่หมายของสมมุติ ก็กราบไหว้รูปของท่าน หากไม่มีอะไรเลยก็เอาคุณธรรมของท่านประกอบเรื่องของสมมุติน้อมนมัสการไป พระคุณของท่านไม่มีวันจืดจาง ประหนึ่งว่าท่านไม่ได้ล่วงลับไป ธรรมชาติอันหนึ่งเป็นอย่างนั้น เหมือนกับดูเราอยู่ตลอดเวลา…”
    (เข้าสู่แดนอวกาศของจิตของธรรม หน้า ๒๘)

    ขอบพระคุณที่มา :- http://larndham.org/index.php?/topic/38642-การฝึกสติและวิธีแก้จิตเสื่อ/
    ...................................................... RoseUnderline.gif
     
  3. Apinya Smabut

    Apinya Smabut นิพพานังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    1,397
    กระทู้เรื่องเด่น:
    57
    ค่าพลัง:
    +2,628
    ตอนที่ฟังหลวงตาท่านเทศน์ ก็รู้สึกเฉย ๆ เพราะไม่รู้ว่าเป็นยังไง
    แต่เมื่อเจอกับตัวเองแล้ว ทุกข์หนักจริง ๆครับ
    นึกถึงทีไรก็อยากจะร้องไห้ทุกที
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,256
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    สาธุค่ะ เคยได้ยินว่าหลวงพ่อหลายองค์ท่านก็ติดอยู่ถึง๒๐ปี ทรมานสุดๆ ยิ่งอยากก็ยิ่งไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่ถึงขั้นโลกุตรก็จะมีขึ้นๆลงๆตลอดเวลาค่ะ เข้าใจท่านโคธิกะเลย
     

แชร์หน้านี้

Loading...