การพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบพุทธ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย phuang, 28 กันยายน 2005.

  1. phuang

    phuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 มกราคม 2005
    โพสต์:
    4,033
    ค่าพลัง:
    +10,040
    [size=+2]การพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบพุทธ[/size] ​

    ประเวศ วะสี





    พุทธศาสนากับการศึกษา

    พุทธศาสนากับการศึกษามีแง่มุมที่น่าสนใจมากมายในที่นี้จะขอกลาวถึงคุณลักษณะของพุทธศาสนากับการศึกษา ๔ ประการ คือ
    (๑) พุทธศาสนาให้คุณค่าแก่การศึกษาสูงสุด ศาสนาต่าง ๆ ให้คุณค่าสูงสุดที่พระเจ้า แต่พุทธศาสนาให้คุณค่าสูงสุดที่การศึกษา พุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ (ตนของตนนั้นแหละเป็นที่พึงแห่งตน) และ นตฺถิ ปญฺญา สมา อาภา (แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี) แสดงคุณค่าทางพุทธศาสนาที่พุ่งไปที่ตัวมนุษย์เองว่าสามารถพึ่งตนเองได้ และถือว่าปัญญาเป็นความสว่างที่สุด พระพุทธเจ้าที่ทรงเป็นมนุษย์ แต่เมื่อทรงเรียนรู่จนบรรลุทางปัญญา ก็มีคุณสูงสุด แม้เทพต่าง ๆ ก็ยังมากราบไหว้ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีการศึกษาจนบรรลุทางปัญญา มีคุณค่าสูงสุด
    ในวิถีชีวิตที่เจริญ ที่เรียกว่า อริยมรรค นั้นเมื่อรวมกลุ่มเข้ามาเหลือ ๓ เรียกว่า ไตรสิกขา สิกขาเป็นภาษาบาลีตรงกับภาษาสันสกฤตว่าศึกษา ฉะนั้นวิถีชีวิต คือสิกขาหรือการศึกษา หรือชีวิตคือการศึกษา การศึกษาชีวิต ด้วยเหตุฉะนี้ และอื่น ๆ อีก จึงกล่าวได้ว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการศึกษา
    (๒) วัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อพ้นทุกข์ วัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อพ้นทุกข์วัตถุประสงค์ของการศึกษาเป็นตัวกำหนดการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ วัตถุประสงค์ของการศึกษาสมัยใหม่เพื่อให้รู้วิชา จึงสอนวิชา เรียนวิชา ทดสอบความรู้วิชา ให้ประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร เพื่อแสดงว่ารู้วิชานั้น ๆ แต่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพ้นทุกข์ ฉะนั้น เมื่อเรียนรู้ไปแล้วความทุกข์ก็ไม่น้อยลง หรือไปก่อความทุกข์มากขึ้น เพราะไม่ได้เรียนรู้เพื่อลดทอนความทุกข์
    ในทางพุทธศาสนา การศึกษามีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า มุ่งไปสู่การพ้นทุกข์ ในครั้งพุทธกาล มีคนเป็นอันมากมาทูลถามปัญหานานาประการต่อพระพุทธเจ้า ไม่ทรงตอบทุกปัญหา ทรงเลือกตอบเฉพาะที่เกี่ยวกับทุกข์และการหมดไปของความทุกข์ส่วนเรื่องเพ้อเจ้อ หรือเรื่องไกลตัว ไม่มีพระประสงค์จะตอบ เลยตรัสอุปมาว่า เหมือนคนถูกลูกศรเสียบอยู่ที่อก (ทุกข์) สิ่งที่ควรทำโดยรีบด่วน คือถอนลูกศรนั้นออกจากอก (แก้ทุกข์) ไม่ใช่ไปมัวถามหาความรู้ว่าผู้ยิงชื่ออะไร เป็นลูกใคร มีนิสัยใจคออย่างไร ถ้าทำอย่างนั้นก็จะไม่ได้แก้ทุกข์ มีเรื่องที่ชาวพุทธทราบกันดีว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงกำใบไม้ขึ้นมาเต็มพระหัตถ์ และตรัสว่าความรู้ที่พระองค์มีเทียบได้กับป่าทั้งป่า แต่สิ่งที่ทรงนำมาสอนเทียบได้กับใบไม้ในกำพระหัตถ์คือเรื่องเกี่ยวกับทุกข์และการดับทุกข์
    การศึกษาทุกวันนี้ มุ่งที่หาแห่งความรู้ แต่ไม่มุ่งให้รู้ทุกข์และการดับทุกข์จึงแก้ทุกข์ไม่ได้จริงหรือ สร้างปัญหามากขึ้นจนวิกฤต
    (๓) โลกทัศน์ และวิธีคิดแบบพุทธ เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ได้รับความสนใจน้อย โลกทัศน์และวิธีคิดเป็นปัจจัยกำหนดว่า เราจะข้าถึงความเป็นจริงได้หรือไม่ นิทานเรื่องตาบอดคลำช้างเป็นตัวอย่างอย่างดี เพราะทัศนะแคบมาก ในที่นี้คือตาบอดไม่เห็นช้างเอาเสียเลย จึงไม่เห็นช้างทั้งตัว รู้จักช้างเพียงการสัมผัสเป็นส่วน ๆ ทำให้คาดเอาไปต่าง ๆ ว่าช้างเหมือนไร แล้วขัดแย้งทะเลาะกันใหญ่ ถ้าทัศนะดี คือเห็นช้างทั้งตัว ก็จะรู้ความจริง ไม่ต้องมาทะเลาะกัน การเห็นโลกหรือโลกทัศน์ที่คับแคบ เห็นเฉพาะส่วน ไม่เห็นทั้งหมด จะนำไปสู่การคิดแบบแยกส่วน สุดโต่ง ขัดแย้ง และรุนแรง วิทยาศาสตร์เป็นตัวอย่างของการมองและคิดแบบแยกส่วนเพราะวิทยาศาสตร์เน้นที่การวัดได้แม่นยำ ในความเป็นจริงมีทั้งรูปธรรมและนามธรรมที่เชื่อมโยงกันอยู่ แต่นามธรรม เช่น จิตใจ คุณค่าหรือจิตวิญญาณ มีอยู่จริงแต่วัดไม่ได้แม่นยำ เมื่อวัดไม่ได้แม่นยำแต่เมื่อวิทยาศาสตร์เน้นที่ความแม่นยำก็เลยเข้าไปเกี่ยวข้องเฉพาะกับวัตถุหรือรูปธรรมทิ้งนามธรรมไปเลยประดุจว่าไม่มี โลกทัศน์ทางวิทยาศาสตร์จึงเป็นโลกทัศน์ทางวัตถุ เป็นโลกทัศน์ที่เอียงหรือบกพร่อง คือขาดมิติทางนามธรรมอารยธรรมใหม่ ที่มีฐานอยู่ในวิทยาศาสตร์จึงเป็นอารยธรรมวัตถุนิยม ขาดความเข้าใจในมิติทางจิตวิญญาณไป แต่เนื่อง จากมิติทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่ขาดมิได้ในความ เป็นมนุษย์ โลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ที่แยกส่วน แม้จะดลบันดาบความก้าวหน้าทางวัตถุต่าง ๆ ก็นำ ไปสู่วิกฤตการณ์ การเห็นไม่ครบ หรือทัศนะแบบแยกส่วนจะนำไปสู่การเสียสมดุลและวิกฤตเสมอ
    มนุษย์มีความโน้มเอียงที่จะมีทัศนะและคิดแบบแยกส่วนเสมอ จึงเข้าไปสู่ปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พุทธศาสนามีวิธีคิดย่างเป็นกลาง หรือ มัชฌิมปฏิปทา จึงเชื่อมโยงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ขอให้สังเกตตรงนี้ให้ดี ๆ น้อยคนนักจะเข้าใจประเด็นนี้ ถ้าอ่านพระไตรปิฎก จะเห็นวิธีคิดอย่างชัดเจนว่าต่างกับที่ใช้กันทั่ว ๆ ไป แต่มักจะเอาแต่ "เนื้อหา" มาพูดกันแต่ไม่เอา "กระบวนการคิด" มาพูด นอกจากท่านพุทธทาสภิกขุที่นำมาเขียนไว้เป็นเล่มใหญ่ที่ชื่อว่า อิทัปปัจจยตา
    การท่อง "เนื้อหา" วิทยาศาสตร์ โดยไม่เรียน "กระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์" ไม่ทำให้เกิดความเป็นวิทยาศาสตร์ ฉันใด การเรียนแบบพุทธแบบท่อง หรือจดจำ "เนื้อหา" โดยไม่เรียน "กระบวนการคิดแบบพุทธ" ก็ไม่ทำให้เกิดความเป็นพุทธ ฉันนั้น
    ส่วนใหญ่เราไม่เรียนกระบวนการคิด เราจึงไม่เก่งทั้งวิทยาศาสตร์ และไม่ใช่พุทธจริง คนที่รู้เนื้อหาพุทธเป็นอันมาก แต่วิธีคิดไม่ใช่พุทธ ก็ไม่ได้รับอานิสงส์จากความเป็นพุทธ
    น้อยคนนักที่จะเข้าใจ "การคิดอย่างเป็นกลาง" จะขออุปมาอุปมาดังนี้ โปรตอนที่มีประจุไฟฟ้าเป็นบวก อิเล็กตรอนมีประจุไฟฟ้าเป็นลบ นิวตรอนเป็นกลาง ไม่มีประจุไฟฟ้า โปรตรอนกับอิเล็กตรอนเคลื่อนที่ไปไม่ได้ไกลก็จะติด เพราะถูกประจุไฟฟ้าตรงข้ามจับไว้ ส่วนนิวตรอนทะลุทะลวงแผ่นเหล็กหนา ๆ หรือคอนกรีตก็ได้ เพราะเป็นกลาง ไม่ถูกอะไรจับไว้ การคิดอย่างเป็นกลางไม่บวกไม่ลบ มีอำนาจทะลุทะลวงโดยไม่ติดขัด


    การคิดอย่างเป็นกลางคืออะไร​

    ชานุสโสณีพราหมณ์ ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "พระโคดมผู้เจริญ สิ่งทั้งปวงมีอยู่จริงหรือหนอแล"
    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า "ดูกรพราหมณ์ โวหารนี้เป็นที่สุดประการหนึ่ง"
    พราหมณ์ทูลถามซ้ำว่า "พระโคดมผู้เจริญ ก็สิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่จริงหรือหรอแล"
    พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า "ดูกรพราหมณ์ โวหารอย่างนี้เป็นที่สุดประการที่สอง"
    คำว่าเป็นที่สุด หมายถึงสุดโต่ง (extreme) ตายตัว พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปเป็นใจความว่า "ตถาคตไม่เข้าใกล้ส่วนทั้งสอง ตถาคตจะสอนทางสายกลาง เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี..."
    การคิดว่าอะไรมี (คำถามที่ ๑ ของพราหมณ์) หรืออะไรไม่มี (คำถามที่ ๒ ) โดยตัวของมันเอง เป็นการแยกส่วน ตายตัว สุดโต่ง ทางสายกลาง คือหลัก อิทัปปัจจยตา หรือความเป็นกระแสของเหตุปัจจัย ถ้ามีเหตุให้จึงมี ถ้าไม่มีเหตุให้ไม่มี จึงไม่มี ไม่ใช่มีหรือไม่มีโดยตัวเองเป็นเอกเทศ
    พุทธศาสนามองธรรมชาติของสรรพสิ่งเป็นกระแสของเหตุปัจจัยที่เป็นพลวัต (อนิจจัง) คือเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรที่เป็นตัวของตัวเองเป็นเอกเทศ โดยไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่น
    ตรงนี้เป็นโลกทัศน์ และวิธีคิดที่ทำให้เข้าใจความเป็นจริงทั้งหมด และไปพ้นความขัดแย้ง แต่ต้องการพิจารณาให้เข้าใจ เพราะเราคุ้นเคยกับการคิดอีกอย่างหนึ่ง จึงต้องการพิจารณานาน ๆ และทบทวนบ่อย ๆ
    การคิดแบบความเป็นกระแสของเหตุปัจจัยหรือ อิทัปปัจจยตานี้นำมาใช้กับทุกเรื่องทั้งกับธรรมชาตินอกตัวและในตัว การเกิดทุกข์ การดับทุกข์ ขอให้สังเกตให้ดี ยกตัวอย่างเรื่องวิญญาณ คนส่วนใหญ่รวมทั้ง "ชาวพุทธ" ด้วยที่คิดว่า คือดวงอะไรที่ไปจุติ หรือสิงสู่แบบแม่นากพระโขนงนั้นคือการคิดแบบเอกเทศและตายตัว ไม่ใช่วิถีแห่งพุทธ ในครั้งพุทธกาล มีพระรูปหนึ่งไปเที่ยวพูดว่ามีวิญญาณไปจุติ มีพระไปทูล ฟ้องพระพุทธเจ้า ทรงให้ตามพระรูปนั้นมาถามว่า "เธอพูดอย่างนั้นจริงหรือ" พระทูลตอบว่าจริง ตรัสว่า "เธอเป็นโมฆบุรุษ เราสอนอย่างนั้นหรือ"
    ทั่ว ๆ ไปมักมองเรื่องจิตแยกออกจากกายและออกจากสิ่งแวดล้อม แล้วก็เถียงกันว่า อะไรสำคัญกว่ากัน บางพวกก็ว่าจิต และถูกหาว่าเป็นจิตนิยม บางพวกก็ว่าวัตถุและถูกหาว่าเป็นวัตถุนิยม นั่นคือการมองแบบแยกส่วน สำหรับทางพุทธแล้วจิตไม่ได้แยกส่วน มีตัวตนตายตัวโดยเอกเทศ แต่จิตเป็นกระบวนการ ที่สัมพันธ์อยู่กับกายและสิ่งแวดล้อม
    สังเกตการสอนที่ว่ามนุษย์ประกอบด้วยขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปคือร่างกาย หรือวัตถุ ที่เหลือคือนามธรรมหรือจิต กายกับจิตเป็นปัจจัยแก่กันและกันและเชื่อมโยงกับปัจจัยภายนอก ขอให้ดูตรงเรื่องวิญญาณ วิญญาณหมายถึงการรู้
    การรู้ทางตา เรียกว่า จักขุวิญญาณ ถ้ารู้ทางอื่นก็เป็นวิญญาณอื่น ๆ เช่น โสตวิญญาณ ก็คือการรู้ทางหู ทีนี้ การรู้นี้มีเหตุปัจจัยจากภายในและภายนอกมาประกอบกัน คือ ตาเห็นรูป ตาเป็นอวัยวะ (กาย) ภายในตัว รูปเป็นสิ่งภายนอก เมื่อรูปกระทบตา เกิดการรับรู้เป็นจักขุวิญญาณ แล้วส่งต่อไปเป็นความรู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบรูปนั้น (เวทนา) เอาไปบันทึกไว้เป็นความจำ (สัญญา) แล้วเกิดการปรุงแต่ง (สังขาร) มีเจตจำนงทำอะไร กับรูปนั้น เช่น เดินตาม เดินหนี หรือดูนาน ๆ
    นี้คือ กระบวนการของจิต ซึ่งเป็นกระแสของเหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ทั้งที่เป็นวัตถุหรือรูปกับที่ไม่ใช่วัตถุ คือนามหรือจิต เป็นตัวอย่างของการคิดอย่างเป็นกลางตามธรรมชาติ การคิดแบบแยกส่วนว่า จิตก็อันหนึ่ง กายก็อันหนึ่ง สิ่งแวดล้อมก็อันหนึ่ง คือการคิดแบบแยกส่วน สุดโต่งตายตัว การคิดแบบวิทยาศาสตร์ อย่างที่เรารู้จักกันก็ยังเป็นการแยกส่วน เพราะจำกัดตัวอยู่กับทางวัตถุ เพราะนิยามของนักวิทยาศาสตร์เองไม่เป็นกลางตามธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งวัตถุธรรมและนามธรรมเชื่อมโยงกัน ฉะนั้น วิทยาศาสตร์แม้มหัศจรรย์เพียงใดก็แยกส่วน เมื่อเอาสิ่งที่แยกส่วนเป็นตัวตั้ง ก็นำไปสู่การพัฒนาแบบแยกส่วน หรือแบบโลกเอียง อันนำไปสู่ความขัดแย้งและวิกฤตในอารยธรรมปัจจุบัน
    โลกทัศน์แบบพุทธที่เห็นสรรพสิ่ง ทั้งรูปธรรม และนามธรรม ทั้งภายในตัวและนอกตัว เชื่อมโยง กันอย่างเป็นพลวัต หรือเป็นกระแสของเหตุปัจจัย ต่อเนื่องยืดยาว ไม่มีที่สิ้นสุด ปราศจากจุดเริ่มต้นและจุดจบ แต่เป็นเช่นนั้นนิรันดร ไม่มีความเป็นตัวตนที่ดำรงอยู่โดยเอกเทศ ย่อมนำไปสู่การเข้าใจ ธรรมชาติของสรรพสิ่งอย่างสมบูรณ์ และนำไปสู่การคิดอย่างเป็นกลาง หรือการคิดแบบ มัชฌิมปฏิปทา ดังกล่าวข้างต้น โลกทัศน์และวิธีคิดอย่างเป็นกลางตามธรรมชาติทำให้เกิดความเป็นอิสระ ไม่ติดอยู่ในความบีบคั้นระหว่างความจริงตามธรรมชาติกับความไม่เป็นกลางในการคิดสามารถเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างและคิดได้ทะลุปรุโปร่งไม่ติดขัด บุคคลที่มีโลกทัศน์หรือเห็นโลกอย่างนี้และคิดด้วยความเป็นกลางอย่างนี้ จึงมีปัญญาเข้าถึงความจริง เข้าถึงความงาม เข้าถึงความถูกต้องมีอิสภาพ โดยสิ้นเชิง มีความเมตตาหรือมิตรภาพต่อสรรสิ่ง และมีความสุขยิ่งนัก
    นี้คือการบรรลุอิสรภาพ และความสุขด้วยปัญญาที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ด้วยโลกทัศน์ และวิธีคิดที่เป็นกลางตามธรรมชาติ และขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ความเป็นพุทธไม่ได้มาด้วยการท่องจำเนื้อหา แต่ด้วยกระบวนการทางปัญญา อันประกอบด้วยโลกทัศน์และวิธีคิดที่ถูกต้อง
    (๔) การศึกษาที่เอาชีวิตหรือวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง ไม่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ในขณะที่การศึกษาส่วนใหญ่ โลกปัจจุบันเอาวิชาหรือศาสตร์เป็นตัวตั้งดังกล่าวแล้วในตอนที่ ๒ ซึ่งเป็นการแยกส่วนจากชีวิตจริง หรือวิถีชีวิต การศึกษาในทางพระพุทธศาสนา เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิถีชีวิตทั้งหมด หรือวิถีชีวิตคือการศึกษาทีเดียว
    ชีวิตเป็นสิ่งสำคัญที่สุด มนุษย์ควรเรียนรู้ให้รู้ตัวเอง และรู้การอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ สังคม สิ่งแวดล้อม แต่ก็เป็นวิชาซึ่งเป็นเรื่องนอกตัว ไม่ใช่ชีวิต และวิถีชีวิตของผู้เรียนเองการเรียนสมัยใหม่ล้วนเรียนเรื่องนอกตัวทั้งสิ้น เกือบไม่มีเลยที่เรียนรู้ให้รู้ตัวเอง ถ้าไม่รู้ตัวเองก็ทำให้ถูกต้องไม้ได้ มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทเดียวเท่านั้นที่สามารถรู้ตัวเองได้ ซึ่งรวมทั้งรู้จิตของตัวเองได้ เมื่อรู้จิตของตัวเอง ก็สามารถทำให้หลุดพ้นจากความบีบคั้นได้ นั้นคือทำให้เป็นอิสระจากความเห็นแก่ตัวและมีความสุขโดยสิ้นเชิง พุทธศาสนาเน้นที่การเรียนรู้ให้รู้ตัวเอง
    ดังที่กล่าวแล้วว่าธรรมชาติไม่มีการแยกส่วนชีวิตของเราสัมพันธ์อยู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อมความเป็นจริงของชีวิต-สังคม-สิ่งแวดล้อม เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เชื่อมโยงและซับซ้อนมากขึ้น การเรียนรู้โดยเอาวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง จะทำให้สัมผัสอยู่กับของจริงหรือวามเป็นจริงไม่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในขณะที่การเรียนแบบเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ทำให้ผู้เรียน รู้เท่าทันความซับซ้อนของความเป็นจริงสมัยใหม่ ทำให้ลดความมั่นคง พฤติกรรมของมนุษย์ในปัจจุบันเป็นส่วนมากสะท้อนความไม่มั่นคงที่เกิดจากความไม่เข้าใจ และการขาดทักษะที่จะเผชิญกับความซับซ้อนของสังคมปัจจุบันความไม่มั่นคงจะไม่หายไป ถ้าไม่เปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้
    การศึกษาในวิถีชีวิตหรือวิถีชีวิตคือการศึกษาในทางพุทธศาสนา คือ ไตรสิกขา อันได้แก่
    " ศีลสิกขา
    " สมาธิสิกขา
    " ปัญญาสิกขา
    หรือที่พูดกันจนติดปากว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่มักตีความคำว่า ศีลในทางที่แคบ คือหมายถึง ศีล ๕ แบบตายตัวที่ท่องจำ มีพิธีให้เห็นและพิธีรับ ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ไม่ทำความเข้าใจ และจัดระบบการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ แต่คงเกี่ยวข้องกับศีลแค่พิธีกรรมของการให้ และการรับศีลอยู่แค่นั้น ซึ่งตายตัว เลยตีบตัน คือไม่พัฒนา หรือแก้ปัญหาตามสังคมที่เปลี่ยนไปไม่ได้
    แท้ที่จริง ศีล คือการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยสันติในทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชนประเทศ และโลก พุทธศาสนามักถูกกล่าวหาว่า สนใจแต่เรื่องจิตไม่สนใจสังคม ระบบ และโครงสร้าง และกลไกทั้งนี้เพราะ "ชาวพุทธ" เองที่ตีความศีลในลักษณะแคบแยกส่วน แท้ที่จริงศีลซึ่งแปลว่าปรกตินั้นคือระบบการอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นปรกติ ซึ่งเป็นกรอบที่กว้าง ระบบการอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นปรกติ ย่อมรวมถึงระบบเศรษฐกิจ กฎ ระเบียบ กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ระบบการปกครอง ชุมชนหรือความเป็นประชาสังคม การสื่อสาร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรืออะไรก็ตามที่จำเป็นต่อระบบการอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นปรกติ
    เมื่อศีลหมายถึงการสร้างหรือพัฒนาระบบการอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นปรกติ ก็มีเรื่องที่จะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไรต้องรู้และพยายามจัดระบบการอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นปรกติ ศีลจึงไม่ใช่เรื่องพิธีกรรมให้ และรับศีลอย่างตายตัว แล้วก็ไม่ทำอะไร แต่เป็นเรื่องที่คนทุกคน หรือสมาชิกในสังคมจะต้องรักษา และพัฒนาระบบการอยู่ร่วมกันโดยสันติ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
    เมื่อเป็นเช่นนี้ ศีลหรือการสร้างระบบการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ จึงควรเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของมนุษยชาติ เป็นบรมธรรม หรือ Sum mum Bonum

    ทุกสิ่งทุกอย่างควรเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วนสันติ
    ศีลในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นจุดบูรณาการของความรู้และกิจกรรมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ การสื่อสาร หรือการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ
    ทุกวันนี้ มนุษย์ยังไม่สามารถพัฒนาระบบการอยู่ร่วมกันด้วนสันติ ความรู้และการกระทำต่าง ๆ ยังอยู่ในลักษณะแยกส่วน เศรษฐกิจก็ยังมุ่งที่การแสวงหากำไรสูงสุดของบุคคล หรือกลุ่มหรือประเทศ ยังไม่เป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ การสื่อสารก็เป็นการรับจ้างภาคธุรกิจดังกล่าวข้างต้นเสียเป็นส่วนใหญ่ การพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็เป็นไปเพื่อการแย่งชิงและการแสวงหากำไรสูงสุดมากกว่าเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันโดยสันติดังนี้
    เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้มีการศึกษาวิจัยที่วิเศษมหัศจรรย์เท่าใด ถ้าขาดจริยธรรม เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ย่อมไม่สามารถสร้างศานติสุข แต่ตรงข้าม ทำให้สังคมแตกสลายและวิกฤตมากขึ้น การศึกษาแนวพุทธควรมีจุดบูรณาการอยู่ที่การสร้างระบบการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ
    (โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปเร็ว ๆ นี้ )

    จากหนังสือ การพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบพุทธ
    โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี
    จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสดศรี -สฤษดิ์วงศ์


    ที่มา http://www.budpage.com/ba90.shtml
     
  2. Pavitta

    Pavitta เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2005
    โพสต์:
    144
    ค่าพลัง:
    +411
    บทความงานเขียนของ นพ.ประเวศ วะสี เป็นสิ่งที่เราควรอ่านและศึกษาเอาไว้นะครับ ดีมากเลย
    ขออนุโมทนาสาธุด้วยครับ
     
  3. Wisdom

    Wisdom ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 กรกฎาคม 2005
    โพสต์:
    1,675
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +26,542
    อภิญญา,นิพพาน = พุทธศาสนา.
     

แชร์หน้านี้

Loading...