การเจริญสมาธิภาวนากำหนดรู้อภิญญาธรรมสมาบัติ โดยหลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุริน

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย แดนโลกธาตุ, 5 กันยายน 2006.

  1. แดนโลกธาตุ

    แดนโลกธาตุ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กันยายน 2006
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    7
    ค่าพลัง:
    +23,976
    (nogood) (f) <TABLE cellSpacing=0 cellPadding=0 width="100%" border=0><TBODY><TR vAlign=top><TD class=text_white_head width="90%">การเจริญสมาธิด้วยการกำหนดรู้และละอารมณ์..... โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
    วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
    </TD></TR></TBODY></TABLE>
    <TABLE cellSpacing=0 cellPadding=0 width="100%" border=0><TBODY><TR><TD width="9%"> </TD><TD class=text_green_big vAlign=top width="79%">

    หนังสือการเจริญสมาธิด้วยการกำหนดรู้และละอารมณ์
    โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งจัดพิมพ์โดย ธรรมสภา


    บทนำ
    รู้ตัวอยู่เสมอ


    พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า..... "ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า..... สติมีประโยชน์ในที่ทั้งปวง"

    ในมุฏฐัสสติสูตร กล่าวถึงประโยชน์ของสติไว้ว่า ทำให้คนหลับอย่างเป็นสุข ตื่นอยู่ก็เป็นสุข ไม่ฝันลามก เทวดารักษา น้ำอสุจิไม่เคลื่อน

    อีกแห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "ภิกษุผู้มีสติ คุ้มครองตนแล้ว ย่อมอยู่เย็นเป็นสุข"

    พูดง่ายๆ ว่า มีสติเพียงอย่างเดียว สบายไปแปดอย่างว่างั้นเถอะ

    พระสงฆ์องค์เจ้าโดยทั่วไปต่างเจริญสติกันทั้งนั้น อย่างหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านก็เป็นพระมหาเถระอีกรูปหนึ่ง ที่ฝึกตนด้วยสติ และสอนให้ผู้อื่นใช้สติ

    ในการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา หลวงปู่ดูลย์บอก ให้เอาสติกำกับ ให้เป็นอยู่ด้วยสติ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ให้รู้ตัวอยู่เสมอ รู้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ ว่าอะไรเป็นอะไร นั่นเป็นนั่น นี่เป็นนี่ การฝึกครั้งแรก ค่อนข้างยากหน่อย ท่านบอกว่าเมื่อรักษาได้สักครู่..... จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆโดยไม่มีทางรู้ทันก่อน ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ฝึกใหม่ ต่อเมื่อจิตแล่นไปคิดในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปเคร่งเครียดอะไรมาก ขอให้รู้ตัวเอาไว้

    ภายหลังจิตท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่างๆ แล้ว เมื่อ รู้สึกตัวทั่วพร้อม ให้พิจารณาเปรียบเทียบสภาวะของตน ในระหว่างที่จิตเที่ยวไปกับในระหว่างที่จิตมีความรู้ตัว ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร

    รู้ไว้ทำไม ?

    ก็เพื่อเป็นอุบายสอนใจตนให้รู้จักจดจำ ขณะที่จิตเที่ยวไปจุ้นจ้านอยู่ที่นั่นที่นี่ จิตจะไร้พลัง ประสบกับความกระวนกระวาย เหน็ดเหนื่อย เป็นทุกข์ พอสมควร ขณะนั้นเราไม่รู้ตัว แต่ขณะที่จิตหยุดอยู่ เพราะมีสติวิ่งมานั้น จิตจะสงบ รู้ตัว เยือกเย็น สุขสบาย

    ลองเปรียบเทียบขณะจิตทั้งสองเวลานั้น ก็จะรู้โทษ ของการแส่ไปตามอารมณ์กับคุณของการรู้ตัว แล้วจะเกิด ความรู้สึกว่าอยากจะอยู่กับจิตชนิดไหน

    แน่นอนที่สุด ใครๆ ก็อยากจะอยู่กับจิตที่มีสติ

    ทุกครั้งที่จิตวิ่งไปข้างนอก ให้พยายามรู้ตัว แล้วค่อยๆ ดึงกลับมา ค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป เผลอออกไปดึงกลับมา อย่างนี้เรื่อยไป เมื่อถึงจุดอิ่มตัว ก็จะกลับรู้ตัวทั่วพร้อมอย่างเดิมอีก

    หลวงปู่ดูลย์กล่าวว่า...............

    เมื่อรู้ตัวแล้ว ก็พิจารณาและรักษาจิตต่อไป ด้วยอุบายอย่างนี้ไม่นานนักก็จะสามารถคุมจิตได้ และบรรลุธรรมในที่สุด โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร

    ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการเจริญจิตครั้งต่อๆ ไป

    ในกรณีที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ ให้ลองนึกคำว่า "พุทโธ" หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวนหรือเป็นเหตุ ขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตว่า คำที่นึกนั้นชัดที่สุด ที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานของจิต

    หลวงปู่ดูลย์ได้ให้ทางแก้ไว้ด้วยโดยใช้ "พุทโธ" จะเป็น คำอื่นก็ได้ แต่คำ "พุทโธ" ดีที่สุด

    ฐานแห่งจิตจะอยู่ไม่คงที่ เปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อย แต่ว่าอยู่ในกายแน่นอน ไม่ต้องไปหานอกกาย

    ท่านบอกว่า ฐานแห่งจิตที่นึก "พุทโธ" ปรากฏชัดที่สุด ย่อมไม่มีอยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่

    แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหน ของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้นจะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าได้กำหนด ถูกฐานแห่งจิตแล้ว

    เมื่อกำหนดถูก และ "พุทโธ" ปรากฏในมโนนึกชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อยๆ อย่าให้ขาดสายได้ ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นไปสู่อารมณ์ทันที

    เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเอง ก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง

    เมื่อคุมจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งได้ ให้ใช้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมนั่นแหละ

    ต่อไปก็ดูว่า มีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง อะไรเกิดขึ้นก็ช่าง ให้ละทิ้งให้หมด โดยละทิ้งทีละอย่าง อะไรเกิดก่อน ให้ละก่อน อะไรเกิดหลัง ให้ละทีหลัง แล้วเอาสติมาดูจิตต่อไป

    กำหนดรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น และละอารมณ์นั้นๆให้หมด กำหนดรู้และละไปเท่านั้น นี่เป็นวิถีแห่งสมาธิของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

    </TD></TR></TBODY></TABLE>บทที่ ๑
    จิตคือพุทธะ


    ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมสายพระกัมมัฏฐาน ทั้งพระภิกษุและฆราวาส ให้การยอมรับว่า..... "หลวงปู่ดูลย์ อตุโล นับเป็นพระองค์ที่มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องของจิตมาก จนกระทั่งได้รับสมญาว่าเป็นบิดาแห่งการภาวนาจิต"

    ประจักษ์พยานแห่งสมญานามดังกล่าวจะเห็นได้จาก คำเทศน์ คำสอน และความสนใจของหลวงปู่ อยู่ในเรื่อง "จิต" เพียงอย่างเดียว เรื่องอื่นนอกจากนั้นหาได้อยู่ในความสนใจของหลวงปู่ไม่

    ด้วยความลึกซึ้งในเรื่องจิต จึงทำให้หลวงปู่ประกาศหลักธรรม โดยใช้คำว่า "จิต คือ พุทธะ" โดยเน้นสาระเหล่านี้ เช่น

    "พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งนั้น ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียงจิตหนึ่ง นอกจากจิตหนึ่งนี้แล้ว ไม่มีอะไรตั้งอยู่เลย"

    "จิตหนึ่ง ซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้น และไม่อาจถูกทำลายได้เลย"

    จิตหนึ่งเท่านั้นที่เป็นพระพุทธะ ดังคำตรัสที่ว่า..... "ผู้ใดเห็นจิต ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นปฏิจฺจสมุปฺบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต"

    ในการสอนของหลวงปู่ ท่านจะเตือนสติสานุศิษย์เสมอๆ ว่า "อย่าส่งจิตออกนอก"

    หลวงปู่ยังสอนแนวทางปฏิบัติอีกว่า "จงทำญาณให้เห็นจิต เมื่อเห็นจิตได้ ก็จะสามารถแยกรูป ถอดด้วยวิชชามรรคจิต เพื่อที่จะแยกรูปกับกายให้อยู่คนละส่วน และจะเข้าใจพฤติของจิตได้ในลำดับต่อไป"

    คำสอนเกี่ยวกับเรื่องจิตของหลวงปู่ ที่มีการบันทึกไว้ในที่อื่นๆ อีก ก็มีเช่น :-

    "หลักธรรมที่แท้จริง คือ จิต จิตของเราทุกคนนั่นแหละ คือหลักธรรมสูงสุดในจิตใจเรา นอกจากนั้นแล้ว ไม่มีหลักธรรมใดๆ เลย จิตนี้แหละ คือ หลักธรรม ซึ่งนอกไปจากนั้นแล้วก็ ไม่ใช่จิต แต่จิตนั้นโดยตัวมันเองก็ไม่ใช่จิต ขอให้เลิกละการคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น เมื่อนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า คลองแห่งคำพูดได้ถูกตัดทอนไปแล้ว พิษของจิตก็ได้ถูกถอนขึ้นจนหมดสิ้น จิตในจิตก็จะเหลือแต่ความบริสุทธิ์ซึ่งมีอยู่ประจำแล้วทุกคน"

    ด้วยเหตุนี้ การสอนของหลวงปู่จึงไม่เน้นที่การพูด การคิดหรือการเทศนาสั่งสอน แต่ท่านจะเน้นที่ "การภาวนา และให้ดูลงที่จิตใจของตนเอง" อย่าไปดูสิ่งอื่น เช่น อย่าไปสนใจดูสวรรค์ ดูนรก หรือสิ่งอื่นใด แต่ให้ดูที่จิตของตนเอง ให้ดูไปภายในตนเอง

    "อย่าส่งจิตออกนอก" จึงเป็นคำที่หลวงปู่เตือนลูกศิษย์อยู่เสมอ


    บทที่ ๒
    แนวทางทำสมาธิ


    สำหรับศิษยานุศิษย์ที่เป็นภิกษุสามเณร และปรารถนาจะเจริญงอกงามอยู่ในบวรพุทธศาสนานั้น หลวงปู่จะ ชี้แนะแนวทางดำเนินปฏิปทาไว้ ๒ แนวทาง ซึ่งท่านให้ความเห็นว่า ผู้ที่จะเป็นศาสนทายาทนั้น ควรทำการศึกษาทั้งสองด้าน คือ ทั้งปริยัติและปฏิบัติ

    ดังนั้น หลวงปู่จึงแนะนำว่า ผู้ที่อายุยังน้อยและมีแวว มีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียนก็ให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมไปก่อน ในเวลาที่ว่างจากการศึกษา ก็ให้ฝึกฝนปฏิบัติสมาธิภาวนาไปด้วย เพราะจิตใจที่สงบ มีสมาธิ ย่อมอำนวยผลดีแก่การเล่าเรียน

    เมื่อมีผู้สามารถที่จะศึกษาเล่าเรียนต่อไปในชั้นสูงๆ ได้ หลวงปู่ก็จะจัดส่งให้ไปเรียนต่อในสำนักต่างๆ ที่กรุงเทพฯ หรือที่อื่นที่เจริญด้วยการศึกษาด้านปริยัติธรรม

    ศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่จึงมีมากมายหลายรูปที่ศึกษาพระปริยัติธรรมจบชั้นสูงๆ ถึงเปรียญ ๘ เปรียญ ๙ ประโยค หรือจบระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ จนกระทั่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา

    สำหรับอีกแนวทางหนึ่งนั้น สำหรับผู้ที่มีอายุมากแล้วก็ดี ผู้ที่รู้สึกว่ามันสมองไม่อำนวยต่อการศึกษาก็ดี ผู้ที่สนใจในธุดงค์กัมมัฏฐานก็ดี หลวงปู่ก็แนะนำให้ศึกษาพระธรรมวินัยให้พอเข้าใจ ให้พอคุ้มครองรักษาตัวเองให้สมควรแก่สมณสารูป แล้วจึงมุ่งปฏิบัติกัมมัฏฐานต่อไปให้จริงจัง

    ก็แลสำหรับผู้ที่เลือกแนวทางที่สองนั้น หลวงปู่ยังได้ชี้แนะ ไว้อีก ๒ วิธี

    คือ ผู้ที่ใฝ่ในธุดงค์กัมมัฏฐานตามแบบฉบับของพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่ก็จะแนะนำและส่งให้ไปอยู่รับการศึกษาอบรมกับครูบาอาจารย์จังหวัดสกลนคร อุดรธานี และหนองคาย

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำนักวัดป่าอุดมสมพร และสำนักถ้ำขามของท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ได้ฝากฝังไปอยู่มากที่สุด และมาในระยะหลังมีฝากไปที่สำนักวัดป่าบ้านตาด ของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาญสมฺปนฺโน บ้าง

    เป็นที่สังเกตว่า ไม่มีลูกศิษย์ลูกหาที่สนใจใฝ่ในกิจธุดงค์คนใดที่ หลวงปู่จะแนะนำให้ไปเอง หรือเที่ยวเสาะแสวงหาเอาเอง หรือเดินทางไปสำนักนั้นๆเอง

    ในเรื่องนี้ท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนียืนยันว่า หลวงปู่เคยใช้ให้ท่านเจ้าคุณเองเป็นผู้นำพระไปฝากไว้ที่สำนักท่านพระอาจารย์ฝั้น หลายเที่ยวหลายชุดด้วยกัน ศิษย์ที่ได้รับการฝึกอบรมจากสำนัก ท่านอาจารย์ฝั้นนั้นก็ได้กลับมาบำเพ็ญประโยชน์แก่การพระศาสนา ด้านวิปัสสนาธุระที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์หลายท่านด้วยกัน จนกระทั่งมีไปเผยแพร่พระศาสนาในด้านนี้ถึงสหรัฐอเมริกาก็หลายรูป ในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะผลการสังเกตเห็นแววและส่งเสริมสนับสนุนของหลวงปู่นั่นเอง

    ส่วนอีกวิธีหนึ่งนั้น หลวงปู่ชี้แนะไว้สำหรับผู้ที่สนใจจะปฏิบัติทางด้าน สมาธิวิปัสสนาเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจในธุดงค์กัมมัฏฐาน อาจเป็นด้วยไม่ชอบการนุ่งห่มแบบนั้น หรือมีสุขภาพไม่เหมาะแก่การฉันอาหาร มื้อเดียว หรือเพราะเหตุผลอื่นใดก็ตาม

    หลวงปู่จะไม่แนะนำให้ไปที่ไหน แต่ให้อยู่กับที่ที่ตนยินดีชอบใจในจังหวัดสุรินทร์หรือบุรีรัมย์ อาจเป็นที่วัดบูรพารามหรือวัดไหน ก็ได้ที่รู้สึกว่าอยู่สบาย

    หลวงปู่ถือว่า การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ไหน ในเมื่อกายยาว ๑ วา หนา ๑ คืบ นี้แล เป็นตัวธรรม เป็นตัวโลก เป็นที่เกิดแห่งธรรม เป็นที่ดับแห่งธรรม เป็นที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้อาศัยบัญญัติไว้ซึ่งธรรมทั้งปวง แม้ใครใคร่จะปฏิบัติธรรมก็ต้อง ปฏิบัติที่กายและใจเรานี้ หาได้ไปปฏิบัติที่อื่นไม่

    ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องหอบสังขารไปที่ไหน ถ้าตั้งใจจริงแล้ว นั่งอยู่ที่ไหน ธรรมะก็เกิดที่ตรงนั้น นอนอยู่ที่ไหน ยืนอยู่ที่ไหน เดินอยู่ที่ไหน ธรรมะก็เกิดที่ตรงนั้นนั่นแล

    ยิ่งกว่านั้นหลวงปู่อธิบายว่า ยิ่งผู้ใดสามารถปฏิบัติภาวนา ในท่ามกลางความวุ่นวายของบ้านเมืองที่มีแต่ความอึกทึกครึกโครม หรือแม้แต่กระทั่งในขณะที่รอบๆ ตัวมีแต่ความเอะอะวุ่นวาย ก็สามารถกำหนดจิตตั้งสมาธิได้ สมาธิที่ผู้นั้นทำให้เกิดได้ จึงเป็นสมาธิที่เข้มแข็งและมั่นคงกว่าธรรมดา ด้วยเหตุที่สามารถต่อสู้เอาชนะสภาวะที่ไม่เป็นสัปปายะ คือ ไม่อำนวยนั่นเอง เพราะว่าสถานที่ที่เปลี่ยววิเวกนั้นย่อมเป็นสัปปายะ อำนวยให้เกิดความสงบอยู่แล้ว จิตใจย่อมจะหยั่งลงสู่สมาธิได้ง่ายเป็นธรรมดา

    หลวงปู่ยังเคยบอกด้วยว่า การเดินจงกรมจนกระทั่งจิตหยั่งลงสู่ความสงบนั้น จะเกิดสมาธิที่แข็งแกร่งกว่าสมาธิที่สำเร็จ จากการนั่งหรือนอน หรือแม้แต่การเข้าป่ายิ่งนัก

    ด้วยเหตุนี้จะสังเกตว่า ในแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ จะมีนักปฏิบัติหลายท่านชอบไปนั่งทำสมาธิใกล้ๆ วงพิณพาทย์ หรือใกล้ๆ ที่ที่มีเสียงอึกทึกครึกโครมต่างๆ ยิ่งดังเอะอะน่าเวียนหัวเท่าไหร่ก็ยิ่งชอบ

    อย่างไรก็ตามแม้ว่าการทำสมาธินั้น ตามความเป็นจริงแล้วย่อมไม่เลือกสถานที่ปฏิบัติก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่มีจิตเบา วอกแวกง่าย หรือผู้ที่ต้องการ "เครื่องทุ่นแรง" จำเป็นต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสงบ พึงแสวงหาสถานที่ วิเวกหรือออกธุดงค์กัมมัฏฐานแสวงหาที่สงัดที่เปลี่ยว เช่น ถ้ำ เขา ป่าดงหรือป่าช้าที่น่าสพึงกลัว จะได้เป็นเครื่องสงบจิต ไม่ให้ฟุ้งซ่าน และตกอยู่ภายใต้การควบคุมของสติได้โดยง่าย ก็จะทำให้การบำเพ็ญสมาธิภาวนาสำเร็จได้สะดวกยิ่งขึ้น

    บทที่ ๓
    ปริยัติ-ปฏิบัติ


    ในหมู่ผู้สนใจศึกษาศาสนาจะมีข้อโต้แย้งกันเสมอระหว่าง การศึกษาจากตำรา คือศึกษาด้านปริยัติ กับอีกฝ่ายหนึ่งเน้นการปฏิบัติและไม่เน้นการศึกษาจากตำรา ว่าแนวทางใดจะให้ผลดีกว่ากัน

    สำหรับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านเสนอแนะให้ดำเนินสายกลาง นั่นคือถ้าเน้นเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แล้วละเลยอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นการสุดโต่งไป

    หลวงปู่ท่านแนะนำลูกศิษย์ลูกหาที่มุ่งปฏิบัติธรรมว่า ให้อ่านตำรับตำราส่วนที่เป็นพระวินัยให้เข้าใจเพื่อที่จะปฏิบัติไม่ผิด แต่ในส่วนของพระธรรมนั้นให้ตั้งใจปฏิบัติเอา

    จากคำแนะนำนี้แสดงว่าหลวงปู่ถือเรื่องการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระวินัยเป็นเรื่องสำคัญ และจะต้องมาก่อน ศึกษาให้เข้าใจ และปฏิบัติตนให้ถูก แล้วเรื่องคุณธรรมและปัญญาสามารถสร้างเสริมขึ้นได้ถ้าตั้งใจ

    ยกตัวอย่างในกรณีของ "หลวงตาแนน"

    หลวงตาแนนไม่เคยเรียนหนังสือ ท่านมาบวชพระเมื่อวัยเลย กลางคนไปแล้ว ท่านเป็นพระที่มีความตั้งใจดี ว่าง่ายสอนง่าย ขยัน ปฏิบัติกิจวัตรไม่ขาดตกบกพร่อง เห็นพระรูปอื่นเขาออกไปธุดงค์ก็อยากไปด้วย จึงไปขออนุญาตหลวงปู่

    เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว หลวงตาแนนก็ให้บังเกิดความวิตกกังวล ปรับทุกข์ขึ้นว่า "กระผมไม่รู้หนังสือ ไม่รู้ภาษาพูดเขา จะปฏิบัติกับเขาได้อย่างไร"

    หลวงปู่จึงแนะนำด้วยเมตตาว่า..................

    "การปฏิบัติไม่ได้เกี่ยวกับอักขระ พยัญชนะ หรือคำพูดอะไรหรอก ที่รู้ว่าตนไม่รู้ก็ดีแล้ว สำหรับวิธีปฏิบัตินั้น ในส่วนวินัยให้พยายาม ดูแบบเขา ดูแบบอย่างครูบาอาจารย์ผู้นำ อย่าทำให้ผิดแผกจากท่าน ในส่วนธรรมะนั้นให้ดูที่จิตของตัวเอง ปฏิบัติที่จิต เมื่อเข้าใจจิตแล้วอย่างอื่นก็เข้าใจได้เอง"

    เนื่องจากหลวงปู่ได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ผู้ปฏิบัติมามากต่อมาก ท่านจึงให้ข้อสังเกตในการปฏิบัติธรรมระหว่างผู้ที่เรียนน้อยกับผู้ที่เรียนมากมาก่อนว่า

    "ผู้ที่ยังไม่รู้หัวข้อธรรมอะไรเลย เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจังมักจะได้ผลเร็ว เมื่อเขาปฏิบัติจนเข้าใจจิต หมดสงสัยเรื่องจิตแล้ว หันมาศึกษาตริตรองข้อธรรมในภายหลัง ก็จะรู้แจ้งแทงตลอดแตกฉานน่าอัศจรรย์"

    "ส่วนผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาก่อน แล้วจึงหันมาปฏิบัติต่อภายหลัง จิตจะสงบเป็นสมาธิยากกว่าเพราะชอบใช้วิตกวิจารมาก เมื่อจิตวิตกวิจารมาก วิจิกิจฉาก็มาก จึงยากที่จะประสบผลสำเร็จ"

    อย่างไรก็ตามข้อสังเกตดังกล่าว หลวงปู่ย้ำว่า "แต่ทั้งนี้ก็ไม่เสมอไปทีเดียว" แล้วท่านให้ข้อแนะนำต่อไปอีกว่า

    "ผู้ที่ศึกษาทางปริยัติจนแตกฉานมาก่อนแล้ว เมื่อหันมามุ่งปฏิบัติอย่างจริงจัง จนถึงขั้นอธิจิต อธิปัญญาแล้ว ผลสำเร็จก็จะยิ่งวิเศษขึ้นไปอีก เพราะเป็นการเดินตามแนวทางปริยัติ ปฏิบัติ ย่อมแตกฉาน ทั้งอรรถะและพยัญชนะ ฉลาดในการชี้แจงแสดงธรรม"

    หลวงปู่ได้ยกตัวอย่างพระเถระทั้งในอดีตและปัจจุบันเพื่อสนับสนุน ความคิดดังกล่าว ก็มีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) แห่งวัดบวรนิวาส กรุงเทพฯ และท่านอาจารย์พระมหาบัว ณานสมฺปนฺโน แห่งสำนักวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น

    ทั้งสององค์นี้ "ได้ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ อาจหาญชาญฉลาดในการแสดงธรรม เป็นประโยชน์ใหญ่หลวงแก่พระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง"

    โดยสรุป หลวงปู่สนับสนุนทั้งตำรา คือ ปริยัติและปฏิบัติต้องไปด้วยกัน และท่านย้ำว่า...........

    "ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์ ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้ แต่ผู้ที่จะ พ้นทุกข์ได้ ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน"

    ที่ผ่านมาได้กล่าวถึงการสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ว่า ท่านไม่ทิ้งทั้งปริยัติและปฏิบัติ ต้องมีประกอบกัน

    ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการสอนของหลวงปู่จากประสบการณ์ของหลวงพ่อเพิ่ม กิตฺติวฒฺโน (พระมงคลวัฒนคุณ) แห่งวัดถ้ำไตรรัตน์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ขอยกข้อความมาดังนี้

    การศึกษาความรู้กับหลวงปู่ดูลย์เมื่อครั้งที่ท่าน (หลวงพ่อเพิ่ม) ยังเป็นสามเณรน้อย ได้รับการชี้แนะอบรมพร่ำสอนจากหลวงปู่ดูลย์อย่างใกล้ชิด โดยท่านจะเน้นให้ศิษย์ของท่านมีความสำนึกตรึกอยู่ในจิตเสมอถึงสภาวะความเป็นอยู่ในปัจจุบันว่า

    บัดนี้เราได้บวชกายบวชใจเข้ามาอยู่ในบวรพุทธศาสนา เป็นสมณะที่ชาวบ้านทั้งหลายให้ความเคารพบูชา ทั้งยังอุปัฏฐากอุปถัมภ์ค้ำจุนด้วยปัจจัยสี่ ควรที่จะกระทำตนให้สมกับที่เขาเคารพบูชา ถือประพฤติปฏิบัติตามศีลธรรมตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ฝ่าฝืนทั้งที่ลับและที่แจ้ง

    พระเณรที่มาบวชกับท่าน หลวงปู่จึงให้ศึกษาทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติควบคู่กันไป

    ด้านปริยัติ ท่านให้เรียนนักธรรม บาลี ไวยากรณ์ ให้เรียนรู้ถึงเรื่องศีลธรรม พระวินัย เพื่อจะได้จดจำนำไปประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่ออกนอกลู่นอกทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ ซึ่งจะทำให้สามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างเหมาะสมเยี่ยงผู้ถือบวช ที่ชาวบ้านเขาศรัทธากราบไหว้บูชา

    ด้านปฏิบัติ ท่านเน้นหนักเป็นพิเศษให้พระเณรทุกรูปทุกองค์ปฏิบัติกัมมัฏฐาน เพราะการปฏิบัติพระธรรมกัมมัฏฐานนี้ จะเป็นการฝึกกายฝึกจิตให้ผู้ศึกษาธรรม ได้รู้ได้เห็นของจริงโดยสภาพที่เป็นจริง อันเกิดจากการรู้การเห็นของตนเอง ไม่ใช่เกิดจากการอ่านจดจำจากตำรับตำรา ซึ่งเป็นการรู้ด้วย สัญญาแห่งการจำได้หมายรู้ คือรู้แต่ยังไม่เห็น ยังไม่แจ้ง แทงตลอดอย่างแท้จริง

    ข้อธรรมกัมมัฏฐานที่หลวงปู่ดูลย์ ท่านให้พิจารณาอยู่เป็นเนืองนิตย์ก็คือ หัวข้อกัมมัฏฐานที่ว่า สพฺเพ สงฺขารา สพฺพสญฺญา อนตฺตา

    การพิจารณาตามหัวข้อธรรมกัมมัฏฐานดังกล่าวนี้ หากได้พิจารณาทบทวนอย่างสม่ำเสมอแล้ว ในเวลาต่อมาก็จะ รู้แจ้งสว่างไสว เข้าใจได้ชัดว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวง เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ หาความจีรังยั่งยืนไม่ได้ มีการเกิดดับ-เกิดดับอยู่ตลอดเวลา

    เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว จะทำให้เลิกละจากการยึดถือตัวตนบุคคลเราท่าน เพราะได้รู้ได้เห็นของจริงแล้วว่า สังขารที่เรารักหวงแหนนั้น ไม่ช้าไม่นานมันก็ต้องเสื่อมสูญดับไปตามสภาวะของมัน ไม่อาจที่จะฝ่าฝืนได้

    เมื่อสังขารดับได้แล้ว ความเป็นตัวเป็นตนก็จะไม่มี เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดหายไป ความทุกข์จะเกิดได้อย่างไร


    บทที่ ๔
    ศีล สมาธิ ปัญญาแต่ละระดับ


    คำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล อีกประการหนึ่งที่ท่านแนะนำพร่ำสอน ต่อผู้มาขอแนวทางการปฏิบัติจากท่าน ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ดี ท่านจะให้ปฏิบัติโดยแนวทางแห่ง ศีล สมาธิ ปัญญา เหมือนกันหมด

    หลวงพ่อเพิ่มท่านได้เล่าว่า สมัยที่ท่านยังเป็นสามเณร และอยู่กับหลวงปู่ดูลย์ ที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ มีคนเคยมาถามหลวงปู่ถึงคำสั่งสอนดังกล่าวของท่านว่า

    "สอนเด็ก ก็สอน ศีล สมาธิ ปัญญา สอนหนุ่มสาว ก็สอน ศีล สมาธิ ปัญญา สอนผู้เฒ่าผู้แก่ ก็สอน ศีล สมาธิ ปัญญา สอนพระเณร ก็สอน ศีล สมาธิ ปัญญา"

    "ศีล สมาธิ ปัญญา ในระดับต่างๆ กันนั้น เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร ?"

    ขณะที่มีผู้ถามนั้น ตอนนั้นหลวงปู่ดูลย์กำลังปะชุนเย็บจีวรอยู่ เมื่อท่านฟังคำถามนั้นจบลง ท่านก็ยกเข็มให้ดู แล้วกล่าวว่า

    "คุณลองดูว่าเข็มนี้แหลมไหม ?"

    ผู้ถามก็ตอบว่า "แหลมขอรับหลวงปู่"

    หลวงปู่อธิบายว่า :-

    "ความแหลมคมของสติปัญญาในระดับเด็ก ระดับผู้ใหญ่ ก็มี ความแหลมคมไปคนละอย่าง แต่ในระดับความแหลมคมของสติปัญญาพระอรหันต์นั้น อยู่เหนือความแหลมคมทั้งหลายทั้งปวง

    ความแหลมคมของเข็มนั้นเกิดจากคนเราทำขึ้น แต่สติปัญญาที่เกิดจากพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายนั้นเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ระดับโลกุตรธรรม ที่ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน มีความมั่นคงไม่แปรเปลี่ยนอีกแล้ว

    สำหรับสติปัญญาระดับปุถุชนก็เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา เช่นกัน แต่เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ที่จะต้องระมัดระวัง เพราะยังอยู่ในขั้นโลกียธรรม ยังคงมีความเปลี่ยนแปลงผันแปรได้เสมอ"

    คำตอบของหลวงปู่ดูลย์ดังกล่าวนั้น ชี้ให้เห็นถึงไหวพริบและ ปฏิภาณในการอธิบายข้อธรรมที่ลุ่มลึกได้อย่างฉับไว โดยสามารถยกสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราคิดไม่ถึงมาเป็นตัวอย่างประกอบ ชี้ให้เห็นปัญหาที่ไต่ถามได้อย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งนับว่าเป็นการอธิบายข้อธรรมที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง


    บทที่ ๕
    สมาธิอันใด ปัญญาอันนั้น


    มีเรื่องเล่าสมัยที่หลวงปู่เดินทางกลับจากอุบลฯมาสุรินทร์ เพื่อโปรดญาติโยมในครั้งแรก ท่านมาในรูปแบบของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน และพำนักโปรดญาติโยมอยู่ที่สำนักป่าบ้าน หนองเสม็ด ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์

    ในช่วงนั้นได้มีชายหัวนักเลงอันธพาลผู้หนึ่งมีความโหดร้ายระดับเสือ เป็นที่กลัวเกรงแก่ประชาชนในละแวกนั้น กลุ่มของชายผู้นี้ท่องเที่ยวหากินแถบชายแดนไทยและกัมพูชา

    เมื่อได้ยินข่าวเล่าลือเกี่ยวกับพระธุดงค์มาพำนักที่บ้านเสม็ด เขามั่นใจว่าพระจะต้องเป็นผู้มีวิชาด้านคาถาอาคมอันล้ำเลิศอย่างแน่นอน จึงมีความประสงค์จะได้วัตถุมงคลเครื่องรางของขลังประเภทอยู่ยงคงกระพัน ยิงไม่ออกฟันไม่เข้า

    ดังนั้นจึงพาลูกสมุนตัวกลั่น ๔ คน มีอาวุธครบครันแอบเข้าไปหาหลวงปู่อย่างเงียบๆ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม แถวหมู่บ้านป่าถือว่าดึกพอสมควรแล้ว ชาวบ้านที่มาฟังธรรม และมาบำเพ็ญสมาธิภาวนาพากันกลับหมดแล้ว

    กลุ่มนักเลงแสดงตนให้ประจักษ์ กล่าวอ้อนวอนหลวงปู่ว่า พวกตนรักการดำเนินชีวิตท่ามกลางคมหอกคมดาบ และได้ก่อศัตรูไม่น้อย ที่มาครั้งนี้ก็เพราะมีความเลื่อมใสศรัทธา มีเจตนาจะมาขอวิชาคาถาอาคมไว้ป้องกันตัวให้พ้นจากอันตราย

    ขอพระคุณท่านได้โปรดมีจิตเมตตา เห็นแก่ความลำบากยากเข็ญของพวกกระผมที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรค หลบศัตรูมั่งร้ายหมายขวัญ ได้โปรดถ่ายทอดวิชาอาคมให้พวกกระผมเถิด

    หลวงปู่กล่าวกับชายกลุ่มนั้นว่า "ข้อนี้ไม่ยาก แต่ว่าผู้ที่จะรับวิชาอาคมของเราได้นั้น จะต้องมีการปรับพื้นฐานจิตใจให้แข็งแกร่ง เสียก่อน มิฉะนั้นจะรองรับอาถรรพ์ไว้ไม่อยู่ วิชาก็จะย้อนเข้าตัวเกิดวิบัติภัยร้ายแรงได้"

    ว่าดังนั้นแล้ว หลวงปู่ก็แสดงพื้นฐานของวิชาอาคมของท่านว่า "คาถาทุกคาถา หรือวิชาอาคมที่ประสงค์จะเรียนนั้น จะต้องอาศัยพื้นฐานคือ พลังจิต จิตจะมีพลังได้ก็ต้องมีสมาธิ สมาธินั้นจะเกิดขึ้นได้ก็แต่จากการนั่งภาวนาทำใจให้สงบ วิชาที่จะ ร่ำเรียนไปจึงจะบังเกิดผลศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีพิบัติภัยตามมา"

    ฝ่ายนักเลงเหล่านั้น เมื่อเห็นอากัปกิริยาอันสงบเย็นมั่นคง มิได้รู้สึกสะทกสะท้านต่อพวกเขา ประกอบกับปฏิปทาอันงดงามของท่าน ก็เกิดความเย็นกาย เย็นใจ เลื่อมใสนับถือ อีกอย่างก็มีความอยากได้วิชาอาคมดังกล่าว จึงยินดีปฏิบัติตาม

    หลวงปู่ได้แนะนำให้นั่งสมาธิภาวนา แล้วบริกรรมภาวนาในใจว่า พุทโธ พุทโธ ชั่วเวลาประมาณ ๑๐-๒๐ นาทีเท่านั้น จอมนักเลงก็รู้สึกสงบเย็น ยังปีติให้บังเกิดซาบซ่านขึ้นอย่างแรง เป็นปีติชนิดโลดโผน เกิดอาการสะดุ้งสุดตัว ขนลุกขนชัน และร้องไห้

    เห็นปรากฏชัดในสิ่งที่ตนเคยกระทำมา เห็นวัวควายกำลังถูกฆ่า เห็นคนที่มีอาการทุรนทุรายเนื่องจากถูกทำร้าย เห็นความชั่วช้าเลวทรามต่างๆ ของตน ทำให้รู้สึกสังเวชสลดใจอย่างยิ่ง

    หลวงปู่ก็ปลอบโยนให้การแนะนำว่า "ให้ตั้งสมาธิภาวนาต่อไปอีก ทำต่อไป ในไม่ช้าก็จะพ้นจากภาวะนั้นอย่างแน่นอน"

    นักเลงเหล่านั้นพากันนั่งสมาธิภาวนาอยู่กับหลวงปู่ไปจนตลอดคืน ครั้นรุ่งเช้า อานุภาพแห่งศีลและสมาธิที่ได้รับการอบรมฝึกฝนมาตลอดทั้งคืนก็ยังปัญญาให้เกิดแก่นักเลงเหล่านั้น

    จิตใจของพวกเขารู้สึกอิ่มเอิบด้วยธรรม เปี่ยมไปด้วยศรัทธา บังเกิดความเลื่อมใส จึงเปลี่ยนใจไปจากการอยากได้วิชาอาคมขลัง ตลอดจนกลับใจเลิกพฤติกรรมอันทำความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่นจนหมดสิ้น ปฏิญาณตนเป็นคำตายกับหลวงปู่ว่า จะไม่ทำกรรมชั่วทุจริตอีกแล้ว

    เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ในครั้งนี้ จะเห็นว่าในขณะที่พวกเขาทั้ง ๕ อยู่ต่อหน้าหลวงปู่ พวกเขามิได้กระทำกรรมชั่วอันใดลงไป ส่วนกรรมชั่วที่เขาเคยกระทำมาแล้วก็หยุดไว้ชั่วขณะ แฝงซ่อนเร้นหลบ อยู่ในขันธสันดานของเขา

    ในตอนนั้นพวกเขาก็มีเพียงความรู้สึกโลภ ด้วยการอยากได้คาถา อาคมจากหลวงปู่ แต่ความโลภช่วงนั้นได้สร้างความศรัทธาให้เกิด ทำให้ตั้งใจปฏิบัติตามคำสอน

    ในขณะจิตที่ตั้งใจ ความชั่วทั้งหลายก็หยุดพักไว้ ศีลก็มีความสมบูรณ์ พอที่จะเป็นบาทฐานของสมาธิภาวนาได้ เมื่อรักษาได้อย่างนั้นไม่ขาดสาย จิตย่อมตั้งมั่นอยู่ด้วยดี เรียกว่า มีสมาธิจิตที่ไม่กำเริบแปรปรวน เรียกว่าจิตมีศีล และอาการตั้งมั่นอยู่ด้วยดีเรียกว่ามีสมาธิ ย่อมมีความคล่องแคล่วแก่การงาน ควรแก่การพิจารณาปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดี เรียกว่า สติปัญญา

    ความรู้สึกและอารมณ์ดังกล่าว ตรงตามคำสอนของพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ที่ว่า "ศีลอันใด สมาธิอันนั้น สมาธิใด ปัญญาอันนั้น"

    บทที่ ๖
    เจริญสมาธิภาวนา


    วิธีเจริญสมาธิภาวนาตามแนวการสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล มีดังต่อไปนี้

    ๑. เริ่มต้นด้วยอิริยาบถที่สบาย ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ตามสะดวก ทำความรู้ตัวเต็มที่ และรู้อยู่กับที่ โดยไม่ต้องรู้อะไร คือ รู้ตัว หรือ รู้ "ตัว" อย่างเดียว

    รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ให้ "รู้อยู่เฉยๆ " ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ อย่าบังคับ อย่าพยายาม อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม

    เมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ โดยไม่มีทาง รู้ทันก่อน เป็นธรรมดาสำหรับผู้ฝึกใหม่ ต่อเมื่อจิตแล่นไป คิดไปในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง เมื่อรู้สึกตัวแล้วให้พิจารณาเปรียบเทียบสภาวะของตนเอง ระหว่างที่มีความรู้อยู่กับที่ และระหว่างที่จิตคิดไปในอารมณ์ ว่ามีความ แตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นอุบายสอนจิตให้จดจำ

    จากนั้นค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป ครั้นพลั้งเผลอรักษาไม่ดีพอ จิตก็จะแล่นไปเสวยอารมณ์ข้างนอกอีก จนอิ่มแล้วก็จะกลับรู้ตัว รู้ตัวแล้วก็พิจารณาและรักษาจิตต่อไป

    ด้วยอุบายอย่างนี้ไม่นานนัก ก็จะสามารถควบคุมจิตได้และบรรลุสมาธิในที่สุด และจะเป็นผู้ฉลาดใน "พฤติแห่งจิต" โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร

    ข้อห้ามในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่ อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการ เจริญจิตครั้งต่อๆไป

    ในกรณีที่ไม่สามารทำเช่นนี้ได้ ให้ลองนึกคำว่า "พุทโธ" หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตดูว่า คำที่นึกนั้น ชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานแห่งจิต

    พึงสังเกตว่า ฐานนี้ไม่อยู่คงที่ตลอดกาล บางวันอยู่ที่หนึ่ง บางวันอยู่อีกที่หนึ่ง

    ฐานแห่งจิตที่คำนึงพุทโธปรากฏชัดที่สุดนี้ ย่อมไม่มีอยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่ แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกาย ก็ไม่ถูก ดังนั้น จะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว

    เมื่อกำหนดถูก และพุทโธปรากฏในมโนนึกชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อย อย่าให้ขาดสายได้

    ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นไปสู่อารมณ์ทันที

    เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเอง ก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง

    ข้อควรจำ ในการกำหนดจิตนั้น ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ในอันที่จะเจริญจิตให้อยู่ในสภาวะที่ต้องการ

    เจตจำนงนี้ คือ ตัว "ศีล"

    การบริกรรม "พุทโธ" เปล่าๆ โดยไร้เจตจำนงไม่เกิดประโยชน์ อะไรเลย กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียร ทำลายกำลังใจ ในการเจริญจิตในคราวต่อๆไป

    แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้งไม่มาก ก็น้อยอย่างแน่นอน

    ดังนั้น ในการนึกพุทโธ การเพ่งเล็งสอดส่องถึงความชัดเจนและ ความไม่ขาดสายของพุทโธจะต้องเป็นไปด้วยความไม่ลดละ

    เจตจำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคยเปรียบไว้ว่ามีลักษณาการประหนึ่งบุรุษผู้หนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่คมดาบที่ข้าศึกเงื้อขึ้นสุดแขน พร้อมที่จะฟันลงมา บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีอยู่ว่าถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา ตนจะหลบหนีประการใด จึงจะพ้นอันตราย

    เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้ ไม่เช่นนั้นอย่าทำให้เสียเวลาและบั่นทอนความศรัทธาของตนเองเลย

    เมื่อจิตค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อยๆ อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ก็ค่อยๆ ลดความรุนแรงลง ถึงไปก็ไปประเดี๋ยว ประด๋าวก็รู้สึกตัวได้เร็ว ถึงตอนนี้คำบริกรรมพุทโธ ก็จะขาดไปเอง เพราะคำบริกรรมนั้นเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อจิตล่วงพ้นอารมณ์หยาบ และคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก เพียง รักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อยๆ และสังเกตดูความรู้สึก และ "พฤติแห่งจิต" ที่ฐานนั้นๆ

    บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง สังเกตดูว่า ใครเป็นผู้บริกรรมพุทโธ

    ๒. ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไป มาดูที่จิต ต่อไปอีก ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคองรักษาให้จิต อยู่ในฐานที่ตั้งเสมอๆ สติคอยกำหนดควบคุมอยู่อย่างเงียบๆ (รู้อยู่) ไม่ต้องวิจารณ์กิริยาจิตใดๆ ที่เกิดขึ้น เพียงกำหนดรู้แล้วละไปเท่านั้น เป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจกิริยาหรือพฤติแห่ง จิตได้เอง (จิตปรุงกิเลส หรือกิเลสปรุงจิต)

    ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ทั้งสามคือ ราคะ โทสะ โมหะ

    ๓. อย่าส่งจิตออกนอก กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อย่าให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก เมื่อจิตเผลอคิดไป ก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม รักษาสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ (รูปนิมิต ให้ยกไว้ ส่วนนามนิมิตทั้งหลายอย่าได้ใส่ใจกับมัน)

    ระวังจิตไม่ให้คิดถึงเรื่องภายนอก สังเกตการหวั่นไหวของจิตตามอารมณ์ที่รับมาทางอายตนะ ๖

    ๔. จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป เมื่อเราสังเกตกิริยาจิตไปเรื่อยๆ จนเข้าใจถึงเหตุปัจจัยของอารมณ์ความนึกคิด ต่างๆ ได้แล้ว จิตก็จะค่อยๆรู้เท่าทันการเกิดของอารมณ์ต่างๆ อารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ จนจิตว่างจาก อารมณ์ แล้วจิตก็จะเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกาย อยู่ที่ฐานกำหนดเดิมนั่นเอง การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วยปัญญาจักษุ

    คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงรู้ แต่ต้องอาศัยคิด

    ๕. แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต เมื่อสามารถเข้าใจได้ว่า จิตกับกายอยู่คนละส่วนได้แล้ว ให้ดูที่จิตต่อไปว่า ยังมีอะไร หลงเหลืออยู่ที่ฐานที่กำหนด (จิต) อีกหรือไม่ พยายามใช้สติ สังเกตดูที่จิต ทำความสงบอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าใจ พฤติแห่งจิต ได้อย่างละเอียดลออตามขั้นตอน เข้าใจในความ เป็นเหตุเป็นผลกันว่าเกิดจากความคิดนั่นเอง และความคิดมันออกไปจากจิตนี่เอง ไปหาปรุงหาแต่งหาก่อหาเกิดไม่มีที่สิ้นสุด มันเป็นมายาหลอกลวงให้คนหลง แล้วจิตก็จะเพิกถอนสิ่งที่มีอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนหมด หมายถึงเจริญจิตจนสามารถเพิกรูปปรมาณู วิญญาณที่เล็กที่สุดภายในจิตได้

    คำว่า แยกรูปถอด นั้น หมายความถึง แยกรูปวิญญาณ นั่นเอง

    ๖. เหตุต้องละ ผลต้องละ เมื่อเจริญจิตจนปราศจากความคิดปรุงแต่งได้แล้ว (ว่าง) ก็ไม่ต้องอิงอาศัยกับกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผล ใดๆ ทั้งสิ้น จิตก็จะอยู่เหนือภาวะแห่งคลองความคิดนึกต่างๆ อยู่เป็นอิสระ ปราศจากสิ่งใดๆครอบงำอำพรางทั้งสิ้น

    เรียกว่า "สมุจเฉทธรรมทั้งปวง"

    ๗. ใช้หนี้ก็หมด พ้นเหตุเกิด เมื่อเพิกรูปปรมาณูที่เล็กที่สุดเสียได้ กรรมชั่วที่ประทับ บรรจุ บันทึกถ่ายภาพ ติดอยู่กับรูปปรมาณูนั้น ก็หมดโอกาสที่จะให้ผลต่อไปในเบื้องหน้า การเพิ่มหนี้ก็เป็นอันสะดุดหยุดลง เหตุปัจจัยภายนอกภายในที่มากระทบ ก็เป็นสักแต่ว่า มากระทบ ไม่มีผลสืบเนื่องต่อไป หนี้กรรมชั่วที่ได้ทำไว้ตั้งแต่ ชาติแรก ก็เป็นอันได้รับการชดใช้หมดสิ้น หมดเรื่องหมดราว หมดพันธะผูกพันที่จะต้องเกิดมาใช้หนี้กรรมกันอีก เพราะกรรมชั่วอันเป็นเหตุให้ต้องเกิดอีกไม่อาจให้ผลต่อไปได้ เรียกว่า "พ้นเหตุเกิด"

    ๘. ผู้ที่ตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดหรอกว่า เขารู้อะไร

    เมื่อธรรมทั้งหลายได้ถูกถ่ายทอดไปแล้ว สิ่งที่เรียกว่าธรรม จะเป็นธรรมไปได้อย่างไร สิ่งที่ว่าไม่มีธรรมนั่นแหละ มันเป็นธรรมของมันในตัว (ผู้รู้น่ะจริง แต่สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหลายนั้นไม่จริง)

    เมื่อจิตว่างจาก "พฤติ" ต่างๆ แล้ว จิตก็จะถึง ความว่างที่แท้จริง ไม่มีอะไรให้สังเกตได้อีกต่อไป จึงทราบได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว จิตนั้นไม่มีรูปร่าง มันรวมอยู่กับความว่าง ในความว่างนั้นไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ซึมซาบอยู่ในสิ่งทุกๆสิ่ง และจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งเดียวกัน

    เมื่อจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งสิ่งเดียวกัน และเป็นความว่าง ก็ย่อมไม่มีอะไรที่จะให้อะไรหรือให้ใครรู้ถึง ไม่มีความเป็นอะไรจะไปรู้สภาวะของอะไร ไม่มีสภาวะของใครจะไปรู้ความมีความเป็นของอะไร

    เมื่อเจริญจิตจนเข้าถึงสภาวะเดิมแท้ของมันได้ดังนี้แล้ว "จิตเห็นจิต อย่างแจ่มแจ้ง" จิตก็จะอยู่เหนือสภาวะสมมติบัญญัติทั้งปวง เหนือความมีความเป็นทั้งปวง มันอยู่เหนือคำพูด และพ้นไปจากการกล่าวอ้างใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์และสว่าง รวมกันเข้ากับความว่างอันบริสุทธิ์และสว่างของจักรวาลเดิมเข้าเป็นหนึ่งเรียกว่า " นิพพาน"

    โดยปกติคำสอนธรรมะของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล นั้นเป็นแบบ "ปริศนาธรรม" มิใช่เป็นการบรรยายธรรม ฉะนั้นคำสอนของท่านจึงสั้น จำกัดในความหมายของธรรม เพื่อไม่ให้เฝือหรือฟุ่มเฟือยมากนัก เพราะจะทำให้สับสน เมื่อผู้ใดเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เขาย่อมเข้าใจได้เองว่า กิริยาอาการของจิตที่เกิดขึ้นนั้น มีมากมายหลายอย่าง ยากที่จะอธิบายให้ได้หมด ด้วยเหตุนั้นหลวงปู่ท่านจึงใช้คำว่า "พฤติของจิต" แทนกิริยาทั้งหลายเหล่านั้น

    คำว่า "ดูจิต อย่าส่งจิตออกนอก ทำญาณให้เห็นจิต" เหล่านี้ย่อมมีความหมายครอบคลุมไปทั้งหมดตลอดองค์ภาวนา แต่เพื่ออธิบายให้เป็นขั้นตอน จึงจัดเรียงให้ดูง่าย เข้าใจง่ายเท่านั้น หาได้จัดเรียงไปตามลำดับกระแสการเจริญจิตแต่อย่างใดไม่

    ท่านผู้มีจิตศรัทธาในทางปฏิบัติ เมื่อเจริญจิตภาวนาตามคำสอนแล้ว ตามธรรมดาการปฏิบัติในแนวนี้ ผู้ปฏิบัติจะค่อยๆ มีความรู้ความเข้าใจ ได้ด้วยตนเองเป็นลำดับๆ ไป เพราะมีการใส่ใจสังเกตและกำหนดรู้ "พฤติแห่งจิต" อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าหากเกิดปัญหาในระหว่างการ ปฏิบัติ ควรรีบเข้าหาครูบาอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระโดยเร็ว หากประมาทแล้วอาจผิดพลาดเป็นปัญหาตามมาภายหลังเพราะ คำว่า "มรรคปฏิปทา" นั้น จะต้องอยู่ใน "มรรคจิต" เท่านั้น มิใช่มรรคภายนอกต่างๆนานาเลย

    การเจริญจิตเข้าสู่ที่สุดแห่งทุกข์นั้น จะต้องถึงพร้อมด้วยวิสุทธิศีล วิสุทธิมรรค พร้อมทั้ง ๓ ทวาร คือ กาย วาจา ใจ จึงจะยังกิจ ให้ลุล่วงถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

    อเหตุกจิต ๓ ประการ

    ๑. ปัญจทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ตามอายตนะหรือ ทวารทั้ง ๕ มีดังนี้

    ตา ไปกระทบกับรูป เกิดจักษุวิญญาณ คือ การเห็น จะห้าม ไม่ให้ตาเห็นรูปไม่ได้

    หู ไปกระทบกับเสียง เกิดโสตวิญญาณ คือ การได้ยิน จะห้าม ไม่ให้หูได้ยินเสียงไม่ได้

    จมูก ไปกระทบกับกลิ่น เกิดฆานวิญญาณ คือ การได้กลิ่น จะห้ามไม่ให้จมูกรับกลิ่นไม่ได้

    ลิ้น ไปกระทบกับรส เกิดชิวหาวิญญาณ คือ การได้รส จะห้าม ไม่ให้ลิ้นรับรู้รสไม่ได้

    กาย ไปกระทบกับโผฏฐัพพะ เกิดกายวิญญาณ คือ กายสัมผัส จะห้ามไม่ให้กายรับสัมผัสไม่ได้

    วิญญาณทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นกิริยาแฝงอยู่ในกายตามทวาร ทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่างๆ ที่มากระทบ เป็นสภาวะแห่งธรรมชาติของมันเป็นอยู่เช่นนั้น

    ก็แต่ว่า เมื่อจิตอาศัยทวารทั้ง ๕ เพื่อเชื่อมต่อรับรู้เหตุการณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบ แล้วส่งไปยังสำนักงานจิตกลางเพื่อรับรู้ เราจะห้ามมิให้เกิด มี เป็น เช่นนั้น ย่อมกระทำไม่ได้

    การป้องกันทุกข์ที่จะเกิดจากทวารทั้ง ๕ นั้น เราจะต้องสำรวมอินทรีย์ ทั้ง ๕ ไม่เพลิดเพลินในอายตนะเหล่านั้น หากจำเป็นต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๕ นั้น ประกอบการงานทางกาย ก็ควรจะกำหนดจิตให้ตั้งอยู่ในจิต เช่นเมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ไม่คิดปรุง ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่คิดปรุง ดังนี้เป็นต้น

    (ไม่คิดปรุงหมายความว่า ไม่ให้จิตเอนเอียงไปในความเห็นดีชั่ว)

    ๒. มโนทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ที่มโนทวาร มีหน้าที่ผลิตความคิดนึกต่างๆ นานา คอยรับเหตุการณ์ภายในภายนอกที่มากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเอาไว้ จะห้ามจิตไม่ให้คิดในทุกๆ กรณีย่อมไม่ได้

    ก็แต่ว่าเมื่อจิตคิดปรุงไปในเรื่องราวใดๆ ถึงวัตถุ สิ่งของ บุคคลอย่างไร ก็ให้กำหนดรู้ว่าจิตคิดถึงเรื่องเหล่านั้น ก็สักแต่ว่าความคิด ไม่ใช่ สัตว์บุคคล เราเขา ไม่ยึดถือวิจารณ์ความคิดเหล่านั้น

    ทำความเห็นให้เป็นปกติ ไม่ยึดถือความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น จิตย่อมไม่ไหลตามกระแสอารมณ์เหล่านั้น ไม่เป็นทุกข์

    ๓. หสิตุปบาท คือ กิริยาที่จิตยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม หมายความว่าไม่อยากยิ้มมันก็ยิ้มของมันเอง กิริยาจิตอันนี้มีเฉพาะ เหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี

    สำหรับ อเหตุกจิต ข้อ (๑) และ (๒) มีเท่ากันในพระอริยเจ้าและในสามัญชน นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อตั้งใจปฏิบัติตนออกจากกองทุกข์ ควรพิจารณา อเหตุกจิตนี้ให้เข้าใจด้วย เพื่อความไม่ผิดพลาดในการ บำเพ็ญปฏิบัติธรรม

    อเหตุกจิตนี้ นักปฏิบัติทั้งหลายควรทำความเข้าใจให้ได้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะพยายามบังคับสังขารไปหมด ซึ่งเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมมาก เพราะความไม่เข้าใจในอเหตุกจิต ข้อ (๑) และ (๒) นี้เอง

    อเหตุกจิต ข้อ (๓) เป็นกิริยาจิตที่ยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี เพราะกิริยาจิตนี้ เป็นผลของการเจริญจิตจนอยู่เหนือมายาสังขารได้แล้ว จิตไม่ต้องติดข้อง ในโลกมายา เพราะความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งได้แล้ว เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง

    บทที่ ๗
    อธิบายหลักธรรมสำคัญเกี่ยวกับสมาธิ


    เมื่อสังขารขันธ์ดับได้แล้ว ความเป็นตัวตนจักมีไม่ได้ เพราะไม่ได้ เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง เมื่อความปรุงแต่งขาดไป ความทุกข์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อความเป็นตัวตนไม่มี ความทุกข์จะเกิดขึ้นแก่ใคร

    สรุปใจความ "อริยสัจแห่งจิต" ได้ว่า...........

    จิตที่ส่งออกนอกเพื่อรับสนองอารมณ์ทั้งสิ้น เป็นสมุทัย
    ผลของจิตที่ส่งออกนอกนั้น เป็นทุกข์
    จิตเห็นจิต เป็นมรรค
    ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ

    อธิบายเปรียบเทียบ

    อันการปฏิบัติธรรมนั้น ได้แก่ การปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน การปฏิบัตินั้นก็มุ่งความหลุดพ้นเพียงอย่างเดียว กล่าวโดยสรุป จิต คือ พุทโธ จิต คือ ธรรม เป็นสภาวะพิเศษที่ไม่มีการไปการมา เป็นความบริสุทธิ์ล้วนๆ โดยไม่ต้องมีตัวผู้บริสุทธิ์หรือผู้รู้ว่าบริสุทธิ์ อยู่เหนือความดีและความชั่วทั้งปวง ไม่อาจจัดเข้าลักษณะว่าเป็นรูป หรือเป็นนามได้ เมื่อได้เข้าถึงสภาวะอย่างนี้แล้ว อาการต่างๆ ของจิตที่เป็นไป หรือจะเรียกว่ากิริยาจิตก็ได้ ทั้งในภาคสมถะและวิปัสสนา เช่น แสงสีต่างๆ เป็นต้น ท่านย่อมต้องถือว่า เป็นของภายนอก เป็นสิ่งแปลกปลอมปรุงแต่ง ไม่ควรใส่ใจยึดถือเป็นสาระแก่นสารแม้แต่ "ฌานสมาบัติ" ก็ย่อมเป็นของประจำโลกเท่านั้น ไม่ใช่หนทางวิเศษ ในกรณีนี้แต่อย่างใดเลย

    จะเห็นได้จากการบำเพ็ญเพียรของพระบรมศาสดา พระองค์ทรงละเสียซึ่งธรรมลักษณะเหล่านี้โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ เมื่อพระองค์ออกจากจตุตถฌานและเวทนาขาดสิ้น สภาวะจิตถึงการดับ รอบตัวเองแล้ว ภวังคจิตขาดไปแล้ว ไม่สืบต่ออีกเลย เป็นอันสิ้นสุด สังสารวัฏ ณ ขณะนั้น นั่นเอง เรียกว่า "นิพพาน" คือ การดับสนิทแห่งสภาวธรรมทั้งปวง

    ดังนั้น ไม่ว่าแสงสี ฌานสมาบัติใดๆ หรือแม้แต่ภวังคจิตเอง ก็ไม่น่าที่จะไปกำหนดรู้เพื่อการยึดถืออะไร เพราะเป็นของเกิดๆ ดับๆ เป็นของปรุงแต่งขึ้น เป็นของประจำโลก ก็แลจิตที่กล่าวถึงนี้ แท้จริงก็มีการเกิดๆ ดับๆ อยู่ร่ำไปเป็นธรรมดา จึงกล่าวได้ว่า แม้แต่ตัวจิตเองก็ไม่คงทนถาวรอะไร ถึงซึ่งการดับรอบโดยสิ้นเชิงได้เช่นเดียวกัน เมื่อกล่าวกันให้เป็นอุดมธรรมปรมัตถธรรมจริงๆแล้ว แม้แต่ พุทโธ ธรรมโม สังโฆ ก็ยังเป็นสมมติบัญญัติอยู่ดีนั่นเอง พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า..... พระองค์ได้ทำลายเรือน คืออาณาจักรของตัณหาเสียแล้ว ตัณหาไม่อาจมาสร้างเหย้าเรือนให้เป็นภพเป็นชาติได้อีกเลย ทรงเพิกเสียซึ่งภพชาติสิ้นแล้ว แม้แต่ตัวจิตเองก็คงสภาพเดิม คือ ฐีติจิต ฐีติธรรมอันเป็นธรรมดา

    ด้วยเหตุนี้เอง ภิกษุทั้งหลายจึงพึงสังวรอย่างยิ่งยวด ไม่พึงปรับอาบัติ หรือโทษต่างๆแก่พระอรหันต์เลย ก็อย่าว่าแต่ความผิดบาปเลย แม้กระทั่งความดี พระอรหันต์ท่านก็ยังละเสียได้อย่างเด็ดขาด ท่านอยู่เหนือความดีความชั่วทั้งหลายแล้วโดยสิ้นเชิง อย่าได้ยึดถือพระสูตร บางเรื่องที่ว่ามีการปรับโทษพระอรหันต์ เช่น ความผิดที่ไม่ร่วมสมาคม หรือสังฆกรรมกับหมู่สงฆ์ ดังนี้เป็นอันขาด

    เมื่อจักปฏิบัติแล้วก็ไม่ควรไปวุ่นวายกับชาดกนิทานแปลกปลอมนนั่น มุ่งพิจารณาจิตอย่างเดียว ไม่ว่าพบเห็นหรือได้ยินได้ฟังสิ่งใดอย่างไร ให้ย้อนเข้ามาในจิตให้ได้ จนสามารถรู้จิตเห็นจิต เข้าถึงสภาวะแห่งความรู้แจ้งแทงตลอดในธรรม ถึงความดับรอบแห่งจิตในขั้นสุดท้าย

    การพ้นสมมติบัญญัตินั้นย่อมหมายรวมถึงธรรมด้วย เช่น อายตนะทั้งหลายซึ่งเป็นมายา หรือแม้แต่ตัวจิตเองก็ตามย่อมเป็นของบัญญัติขึ้นมา ไม่ว่าจะพูดกันถึงอะไรครั้งใดก็ไม่มีพ้นสมมติบัญญัติไปได้ การหยุด คิดหยุดนึก ก็คือ หยุดพูด หยุดเคลื่อนไหว หยุดกิริยาแห่งจิต หมายถึง การหยุดสังสารวัฏนั่นเอง เพราะไม่ว่าเราจะกำหนดจิต คิดถึงสิ่งใดๆ สิ่งนั้นๆ ก็ยังเป็นสิ่งภายนอกอยู่ดี เป็นของปรุงแต่งขึ้นมาในโลก การกำหนดรู้ ก็ย่อมจะมีสิ่งที่ถูกกำหนดรู้เป็นธรรมดา จะเป็นรูปก็ตาม เป็นนามก็ตาม เมื่อสิ่งนั้นถูกกำหนดรู้ได้ ก็ย่อมจะมีสภาวะ เมื่อมีสภาวะก็ย่อมมีอันเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เพราะเป็นของปรุงแต่งจากเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

    ฉะนั้น สภาวะแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์จึงเป็นของยากที่จะแสดงเป็น คำพูดออกมาได้ จำใจต้องเรียกเป็นสภาวะ เพื่อให้รู้ให้เข้าใจกัน แท้จริงสภาวะแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้น มีแต่ความสงบวางเฉย พร้อมกับรู้ชัดเลยทีเดียวว่า

    สรรพสิ่งทั้งหลายเสมอกันสิ้น ไม่ว่าสัตว์ บุคคล เราเขา หรือแม้แต่ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า พระโพธิสัตว์ สามัญชน และสัตว์โลกทั้งหลายก็มีสภาพพอันเดียวกันเสมอกันโดยประการทั้งปวง

    แต่เพราะเหตุแห่งการยึดถือสิ่งที่แตกต่างกัน คือผิดไปจากสัจธรรมแท้เท่านั้นเอง ความประพฤติปฏิบัติและจริยธรรมจึงแลดูผิดแผกแตกต่างกันไปต่างๆนานา

    การที่บุคคลใดสามารถปฏิบัติเข้าถึงสภาวะที่จะตัดสินได้ว่าสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งภายนอกกับตัวของเรานี้ แท้จริงเป็นของสิ่งเดียวกันโดยแท้สภาวะนี้แล เรียกว่า "ธรรม"

    จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า สภาวะความเป็นจริงหรือที่เรียกว่า "สัจธรรม" นั้น มีอยู่ตลอดกาล หากไม่ท้อถอย หรือละความเพียรเสียก่อน ย่อมมี โอกาสเข้าถึงสัจธรรมได้อย่างแน่นอน อนึ่ง เรื่องพิธีกรรมหรือบุญกิริยาวัตถุต่างๆ ทั้งหลาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังให้เกิดกุศลได้อยู่ หากแต่ว่าสำหรับนักปฏิบัติแล้วอาจถือได้ว่า เป็นไปเพื่อกุศลนิดหน่อยเท่านั้นเอง


    บทที่ ๘
    สมาธิภาวนา กับ นิมิต


    หลวงพ่อเพิ่มได้เล่าถึงประสบการณ์ในการปฏิบัติกัมมัฏฐานสมัยเริ่มต้นเมื่อครั้งยังเป็นสามเณรว่า..... ตอนที่ฝึกกัมมัฏฐานใหม่ๆ นั้น ท่านยังไม่ประสีประสาอะไรเลย หลวงปู่ดูลย์ได้แนะนำถึงวิธีการทำสมาธิว่า ควรนั่งอย่างไร ยืน เดิน นอน ควรทำอย่างไร

    ในชั้นต้นหลวงปู่ให้เริ่มที่การนั่ง เมื่อนั่งเข้าที่เข้าทางแล้วก็ให้หลับตา ภาวนา "พุทโธ" ไว้ อย่าส่งใจไปคิดถึงสิ่งอื่น ให้นึกถึงแต่ พุทโธ-พุทโธ เพียงอย่างเดียว ก็จดจำนำไปปฏิบัติตามที่หลวงปู่สอน

    ปกติของใจเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง มักจะคิดฟุ้งซ่านไปโน่นไปนี่เสมอ ในระยะ เริ่มต้นคนที่ไม่เคยฝึกมาก่อน อยู่ๆ จะมาบังคับให้มันหยุดนิ่ง คิดอยู่แต่ พุทโธประการเดียวเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

    สามเณรเพิ่มก็เช่นเดียวกัน เมื่อภาวนาไปตามที่หลวงปู่สอนได้ระยะหนึ่งก็ เกิดความสงสัยขึ้น จึงถามหลวงปู่ว่า "เมื่อหลับตาภาวนาแต่พุทโธแล้ว จะเห็นอะไรครับหลวงปู่"

    หลวงปู่บอก "อย่าได้สงสัย อย่าได้ถามเลย ให้เร่งรีบภาวนาไปเถิด ให้ภาวนา พุทโธไปเรื่อยๆ แล้วมันจะรู้เองเห็นเองแหละ"

    มีอยู่คราวหนึ่งขณะที่สามเณรเพิ่มภาวนาไปได้ระยะหนึ่ง จิตเริ่มสงบ ก็ปรากฏร่างพญางูยักษ์ดำมะเมื่อมขึ้นมาอยู่ตรงหน้า มันจ้องมองท่านด้วยความประสงค์ร้าย แผ่แม่เบี้ยส่งเสียงขู่ฟ่อ-ฟ่อ อยู่ไปมา

    สามเณรเพิ่มซึ่งเพิ่งฝึกหัดภาวนาใหม่ๆ เกิดความหวาดกลัวผวาลืมตาขึ้น ก็ไม่เห็นพญางูยักษ์ จึงรู้ได้ทันทีว่าสิ่งที่ท่านเห็นนั้นเป็นการเห็นด้วยสมาธิจิตที่เรียกว่า นิมิต นั่นเอง จึงได้หลับตาลงภาวนาต่อ พอหลับตาลงเท่านั้น ก็พลันเห็นงูยักษ์แผ่แม่เบี้ยส่งเสียงขู่ทำท่าจะฉกอีก แม้จะหวาดกลัวน้อยลงกว่าครั้งแรก แต่ก็กลัวมากพอที่จะต้องลืมตาขึ้นอีก

    เมื่อนำเรื่องนี้ไปถามหลวงปู่ ได้รับคำอธิบายว่า...........

    "อย่าส่งใจไปดูไปรู้ในสิ่งอื่น การภาวนาท่านให้ดูใจของตนเองหรอก ท่านไม่ให้ดูสิ่งอื่น"

    "การบำเพ็ญกัมมัฏฐานนี้ ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้น ไปรู้ไปเห็นอะไร เราอย่าไปดู ให้ดูแต่ใจ ให้ใจอยู่ที่พุทโธ

    เมื่อกำลังภาวนาอยู่ หากมีความกลัวเกิดขึ้น ก็อย่าไปคิดในสิ่งที่น่ากลัวนั้น อย่าไปดูมัน ดูแต่ใจของเราเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แล้วความกลัวมันจะหายไปเอง"

    หลวงปู่ได้ชี้แจงต่อไปว่า สิ่งที่เราไปรู้ไปเห็นนั้น บางทีก็จริง บางทีก็ไม่จริง เหมือนกับว่า คนที่ภาวนาแล้วไปรู้ไปเห็นสิ่งต่างๆ เข้า การที่เขาเห็นนั้นเขาเห็นจริง แต่สิ่งที่เห็นนั้นมันไม่จริง เหมือนอย่างที่เรา ดูหนัง เห็นภาพในจอหนัง ก็เห็นภาพในจอจริงๆ แต่สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง เพราะความจริงนั้นภาพมันไปจากฟิล์มต่างหาก

    ฉะนั้น ผู้ภาวนาต้องดูที่ใจอย่างเดียว สิ่งอื่นนอกจากนั้นจะหายไปเอง ให้ใจมันอยู่ที่ใจนั้นแหละ อย่าไปส่งออกนอก

    ใจนี้มันไม่ได้อยู่จำเพาะที่ว่า จะต้องอยู่ตรงนั้นตรงนี้ คำว่า "ใจอยู่กับใจ" นี้คือ คิดตรงไหนใจก็อยู่ตรงนั้นแหละ ความคิดนึกก็คือตัวจิตตัวใจ

    หากจะเปรียบไปก็เหมือนเช่นรูปกับฟิล์ม จะว่ารูปเป็นฟิล์มก็ได้ จะว่าฟิล์มเป็นรูปก็ได้ ใจอยู่กับใจ จึงเปรียบเหมือนรูปกับฟิล์มนั่นแหละ

    แต่โดยหลักปฏิบัติแล้ว ใจก็เป็นอย่างหนึ่ง สติก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ที่จริงแล้วมันก็เป็นสิ่งเดียวกัน เหมือนหนึ่งว่าไฟกับกระแสไฟ ความสว่างกับไฟก็อันหนึ่งอันเดียวกันนั่นแหละ แต่เรามาพูดให้เป็นคนละอย่าง

    ใจอยู่กับใจ จึงหมายถึง ให้มีสติอยู่กำกับมันเอง ให้อยู่กับสติ

    แต่สติสำหรับปุถุชน หรือสติสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ เป็นสติที่ยังไม่มั่นคง มันจึงมีลักษณะขาดช่วงเป็นตอนๆ ถ้าเราปฏิบัติจนสติมันต่อกันได้เร็วจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้เป็นแสงสว่างอย่างเดียวกัน

    อย่างเช่น สัญญาณออด ซึ่งที่จริงมันไม่ได้มีเสียงยาวติดต่อกันเลย แต่เสียงออด-ออด-ออด ถี่มาก จนความถี่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราจึงได้ยินเสียงออดนั้นยาว

    ในการปฏิบัติที่ว่า ปฏิบัติจิต ปฏิบัติใจ โดยให้ใจอยู่กับใจนี้ก็คือ ให้มีสติกำกับใจ ให้เป็นสติถาวร ไม่ใช่เป็นสติคล้ายๆ หลอดไฟที่จวนจะขาด เดี๋ยวก็สว่างวาบ เดี๋ยวก็ดับ เดี๋ยวก็สว่าง แต่ให้มันสว่างต่อกันไปตลอดเวลา

    เมื่อสติมันติดต่อกันไปอย่างนี้แล้ว ใจมันก็มีสติควบคุมอยู่ตลอด เวลาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "อยู่กับตัวรู้ตลอดเวลา"

    ตัวรู้ก็คือ สติ นั่นเอง

    หรือจะเรียกว่า "พุทโธ" ก็ได้ พุทโธที่ว่า รู้ ตื่น เบิกบาน ก็คือ ตัวสตินั่นแหละ

    เมื่อมีสติ ความรู้สึกนึกคิดอะไรต่างๆ มันก็จะเป็นไปได้โดยอัตโนมัติของมันเอง เวลาดีใจก็จะไม่ดีใจจนเกินไป สามารถพิจารณารู้ได้ โดยทันทีว่า สิ่งนี้คืออะไรเกิดขึ้น และเวลาเสียใจมันก็ไม่เสียใจจนเกินไป เพราะว่าสติมันรู้อยู่แล้ว

    คำชมก็เป็นคำชนิดหนึ่ง คำติก็เป็นคำชนิดหนึ่ง เมื่อจับสิ่งเหล่านี้ มาถ่วงกันแล้วจะเห็นว่ามันไม่แตกต่างกันจนเกินไป มันเป็นเพียงภาษาคำพูดเท่านั้นเอง ใจมันก็ไม่รับ

    เมื่อใจมันไม่รับ ก็รู้ว่าใจมันไม่มีความกังวล ความวิตกกังวลใน เรื่องต่างๆ ก็ไม่มี ความกระเพื่อมของจิตก็ไม่มี ก็เหลือแต่ความรู้อยู่ในใจ

    สามเณรเพิ่มจดจำคำแนะนำสั่งสอนจากหลวงปู่ไปปฏิบัติต่อ ปรากฏว่าสิ่งที่น่าสะพึงกลัวไม่ทำให้ท่านหวาดหวั่นใจอีกเลย

    ทำให้ท่านสามารถโน้มน้าวใจสู่ความสงบ ค้นพบปัญญาที่จะนำสู่ความสุขสงบในสมาธิธรรมตั้งแต่บัดนั้นมา

    บทที่ ๙
    วิปัสสนุกิเลส


    ในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ในบางครั้งก็มีอุปสรรคขัดข้องต่างๆ รวมทั้งเกิดการหลงผิดบ้างก็มี ซึ่งหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแนะนำและช่วยแก้ไขแก่ลูกศิษย์ลูกหาได้ทันท่วงที ดังตัวอย่างที่ยกมานี้

    มีอยู่ครั้งหนึ่งเกิดปัญหาเกี่ยวกับ "วิปัสสนูปกิเลส" ซึ่งหลวงปู่เคยอธิบายเรื่องนี้ว่า เมื่อได้ทำสมาธิจนสมาธิเกิดขึ้น และได้รับความสุขอันเกิดแต่ความสงบพอสมควรแล้ว จิตก็ค่อยๆ หยั่งลงสู่สมาธิส่วนลึก นักปฏิบัติบางคนจะพบอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส ซึ่งมี ๑๖ อย่าง มี "โอภาส" คือ แสงสว่าง และ "อธิโมกข์" คือ ความน้อมใจเชื่อ เป็นต้น

    พลังแห่งโอภาสนั้นสามารถนำจิตไปสู่สภาวะต่างๆได้อย่างน่าพิศวง เช่น จิตอยากรู้อยากเห็นอะไรก็ได้เห็นได้รู้ในสิ่งนั้น แม้แต่กระทั่งได้กราบได้สนทนากับพระพุทธเจ้าก็มี

    เจ้าวิปัสสนูปกิเลสนี้มีอิทธิพลและอำนาจ จะทำให้เกิดความน้อมใจเชื่ออย่างรุนแรง โดยไม่รู้เท่าทันว่าเป็นการสำคัญผิด ซึ่งเป็นการสำคัญผิดอย่างสนิทสนมแนบเนียน และเกิดความภูมิใจในตัวเองอยู่เงียบๆ บางคน ถึงกับสำคัญตนว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งด้วยซ้ำ บางรายสำคัญผิด อย่างมีจิตกำเริบยโสโอหังถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นบ้าวิกลจริตก็มี

    อย่างไรก็ตาม วิปัสสนูปกิเลสไม่ได้เป็นการวิกลจริต แม้บางครั้งจะมีอาการคล้ายคลึงคนบ้าก็ตาม แต่คงเป็นเพียงสติวิกล อันเนื่องจากการที่จิตตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ภายนอก แล้วสติตามควบคุมไม่ทัน ไม่ได้สัดส่วน ไม่ได้ส่วนกันเท่านั้น ถ้าสติตั้งไว้ได้สัดส่วนกัน จิตก็จะสงบเป็นสมาธิลึกลงไปอีก โดยยังคงมีสิ่งอันเป็นภายนอกเป็นอารมณ์อยู่นั่นเอง

    เช่นเดียวกับการฝึกสมาธิของพวกฤาษีชีไพรที่ใช้วิธีเพ่งกสิณ เพื่อให้เกิดสมาธิ ในขณะแห่งสมาธิเช่นนี้ เราเรียกอารมณ์นั้นว่า ปฏิภาคนิมิต และเมื่อเพิกอารมณ์นั้นออกโดยการย้อนกลับไปสู่ "ผู้เห็นนิมิต" นั้น นั่นคือย้อนสู่ต้นตอคือ จิต นั่นเอง จิตก็จะบรรลุถึงสมาธิขั้นอัปปนาสมาธิ อันเป็นสมาธิจิตขั้นสูงสุดได้ทันที

    ในทางปฏิบัติที่มั่นคงและปลอดภัยนั้น หลวงปู่ดูลย์ท่านแนะนำว่า "การปฏิบัติแบบจิตเห็นจิต เป็นแนวทางปฏิบัติที่ลัดสั้น และบรรลุเป้าหมายได้ฉับพลัน ก้าวล่วงภยันตรายได้สิ้นเชิง ทันทีที่กำหนดจิตใจได้ถูกต้อง แม้เพียงเริ่มต้น ผู้ปฏิบัติก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจได้ด้วยตนเองเป็นลำดับๆ ไป โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยครูบาอาจารย์อีก"

    ในประวัติของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พอจะเห็นตัวอย่างของวิปัสสนูปกิเลส ๒ ตัวอย่าง คือกรณีของท่านหลวงตาพวง และกรณีของท่านพระอาจารย์เสร็จ..... จะขอยกกรณีของหลวงตาพวงมาเล่าเพื่อประดับความรู้ต่อไป

    ศิษย์ของหลวงปู่ชื่อ "หลวงตาพวง" ได้มาบวชตอนวัยชรา นับเป็นผู้บุกเบิก สำนักปฏิบัติธรรมบนเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

    หลวงตาพวงได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่การประพฤติปฏิบัติ เพราะท่านสำนึก ตนว่ามาบวชเมื่อแก่ มีเวลาแห่งชีวิตเหลือน้อย จึงเร่งความเพียรตลอดวัน ตลอดคืน

    พอเริ่มได้ผล เกิดความสงบ ก็เผชิญกับวิปัสสนูปกิเลสอย่างร้ายแรง เกิดความสำคัญผิดเชื่อมั่นอย่างสนิทว่าตนเองได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง เป็นผู้สำเร็จผู้เปี่ยมด้วยบุญญาธิการ ได้เล็งญาณ (คิดเอง) ไปจนทั่วสากลโลก เห็นว่าไม่มีใครรู้หรือเข้าถึงธรรมเสมอด้วยตน ดังนั้น หลวงตาพวงจึงได้เดินทางด้วยเท้าเปล่ามาจากเขาพนมรุ้ง เดินทางข้ามจังหวัดมาไม่ต่ำกว่า ๘๐ กิโลเมตร มาจนถึงวัดบูรพาราม หวังจะแสดงธรรมให้หลวงปู่ฟัง

    หลวงตาพวงมาถึงวัดบูรพาราม เวลา ๖ ทุ่มกว่า กุฏิทุกหลังปิดประตูหน้าต่าง หมดแล้ว พระเณรจำวัดกันหมด หลวงปู่ก็เข้าห้องไปแล้ว ท่านก็มาร้องเรียก หลวงปู่ด้วยเสียงอันดัง

    ตอนนั้นท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนียังเป็นสามเณรอยู่ ได้ยินเสียงเรียกดังลั่นว่า "หลวงพ่อ หลวงพ่อ หลวงพ่อดูลย์....." ก็จำได้ว่าเป็นเสียงของหลวงตาพวง จึงลุกไปเปิดประตูรับ

    สังเกตดูอากัปกิริยาก็ไม่เห็นมีอะไรผิดแปลก เพียงแต่รู้สึกแปลกใจว่า ตาม ธรรมดาท่านหลวงตาพวงมีความเคารพอ่อนน้อมต่อหลวงปู่ พูดเสียงเบา ไม่บังอาจระบุชื่อของท่าน แต่คืนนี้ค่อนข้างจะพูดเสียงดังและระบุชื่อด้วยว่า

    "หลวงตาดูลย์ ออกมาเดี๋ยวนี้ พระอรหันต์มาแล้ว"

    ครั้นเมื่อหลวงปู่ออกมาแล้ว ตามธรรมดาหลวงตาพวงจะต้องกราบหลวงปู่ แต่คราวนี้ไม่กราบ แถมยังต่อว่าเสียอีก "อ้าว ! ไม่เห็นกราบท่านผู้สำเร็จมาแล้ว ไม่เห็นกราบ"

    เข้าใจว่าหลวงปู่ท่านคงทราบโดยตลอดในทันทีนั้นว่าอะไรเป็นอะไร ท่านจึงนั่งเฉย ไม่พูดอะไรแม้แต่คำเดียว ปล่อยให้หลวงตาพวงพูดไปเรื่อยๆ

    หลวงตาพวงสำทับว่า "รู้ไหมว่าเดี๋ยวนี้ผู้สำเร็จอุบัติขึ้นแล้ว ที่มานี่ก็ด้วย เมตตา ต้องการจะมาโปรด ต้องการจะมาชี้แจงแสดงธรรมปฏิบัติให้เข้าใจ"

    หลวงปู่ยังคงวางเฉย ปล่อยให้ท่านพูดไปเป็นชั่วโมงทีเดียว สำหรับพวกเรา พระเณรที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ก็พากันตกอกตกใจกันใหญ่ ด้วยไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่

    ครั้นปล่อยให้หลวงตาพวงพูดนานพอสมควรแล้ว หลวงปู่ก็ซักถามเป็นเชิง คล้อยตามเอาใจว่า "ที่ว่าอย่างนั้นๆ เป็นอย่างไร และหมายความว่าอย่างไร" หลวงตาพวงก็ตอบตะกุกตะกัก ผิดๆ ถูกๆ แต่ก็อุตส่าห์ตอบ

    เมื่อหลวงปู่เห็นว่าอาการรุนแรงมากเช่นนั้น จึงสั่งว่า "เออ เณรพาหลวงตาไปพักผ่อนที่โบสถ์ ไปโน่น ที่พระอุโบสถ"

    ท่านเณร (เจ้าคุณพระโพธินันทมุนี) ก็พาหลวงตาไปที่โบสถ์ ไปเรียกพระ องค์นั้นองค์นี้ที่ท่านรู้จักให้ลุกขึ้นมาฟังเทศน์ฟังธรรม รบกวนพระเณรตลอดทั้งคืน

    หลวงปู่พยายามแก้ไขหลวงตาพวงด้วยอุบายวิธีต่างๆ หลอกล่อให้หลวงตา นั่งสมาธิ ให้นั่งสงบแล้วย้อนจิตมาดูที่ต้นตอ มิให้จิตแล่นไปข้างหน้า จนกระทั่ง สองวันก็แล้ว สามวันก็แล้วไม่สำเร็จ

    หลวงปู่จึงใช้อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งคงเป็นวิธีของท่านเอง ด้วยการพูดแรงให้โกรธ หลายครั้งก็ไม่ได้ผล ผ่านมาอีกหลายวันก็ยังสงบลงไม่ได้ หลวงปู่เลยพูดให้โกรธด้วยการด่าว่า "เออ ! สัตว์นรก สัตว์นรก ไปเดี๋ยวนี้ ออกจากกุฏิเดี๋ยวนี้"

    ทำให้หลวงตาพวงโกรธอย่างแรง ลุกพรวดพราดขึ้นไปหยิบเอาบาตร จีวร และกลดของท่านลงจากกุฏิ มุ่งหน้าไปวัดป่าโยธาประสิทธิ์ซึ่งอยู่ห่างจาก วัดบูรพารามไปทางใต้ประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร ซึ่งขณะนั้นท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) ยังพำนักอยู่ที่นั่น

    ที่เข้าใจว่าหลวงตาพวงโกรธนั้น เพราะเห็นท่านมือไม้สั่น หยิบของผิดๆ ถูกๆ คว้าเอาไต้ (สำหรับจุดไฟ) ดุ้นหนึ่ง นึกว่าเป็นกลด และยังเปล่งวาจาออกมา อย่างน่าขำว่า "เออ ! กูจะไปเดี๋ยวนี้ หลวงตาดูลย์ไม่ใช่แม่กู" เสร็จแล้วก็คว้า เอาบาตร จีวร และหยิบเอาไต้ดุ้นยาวขึ้นแบกไว้บนบ่า คงนึกว่าเป็นคันกลด ของท่าน แถมคว้าเอาไม้กวาดไปด้ามหนึ่งด้วย ไม่รู้เอาไปทำไม

    ครั้นหลวงตาพวงไปถึงวัดป่า ทันทีที่ย่างเท้าเข้าสู่บริเวณวัดป่านี่เอง อาการ ของจิตที่น้อมไปติดมั่นอยู่กับอารมณ์ภายนอก โดยปราศจากการควบคุมของ สติที่ได้สัดส่วนกันก็แตกทำลายลง เพราะถูกกระแทกด้วยอานุภาพแห่งความ โกรธ อันเป็นอารมณ์ที่รุนแรงกว่า ยังสติสัมปชัญญะให้บังเกิดขึ้น ระลึกย้อนกลับ ได้ว่า ตนเองได้ทำอะไรลงไปบ้าง ผิดถูกอย่างไร สำคัญตนผิดอย่างไร และได้ พูดวาจาไม่สมควรอย่างไรออกมาบ้าง

    เมื่อหลวงตาพวงได้สติสำนึกแล้ว ก็ได้เข้าพบท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์ และเล่าเรื่องต่างๆ ให้ท่านทราบ ท่านเจ้าคุณฯ ก็ได้ช่วยแนะนำและเตือนสติ เพิ่มเติมอีก ทำให้หลวงตาพวงได้สติคืนมาอย่างสมบูรณ์ และบังเกิดความ ละอายใจเป็นอย่างยิ่ง

    หลังจากได้พักผ่อนเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ย้อนกลับมาขอขมาหลวงปู่ กราบเรียนว่าท่านจำคำพูดและการกระทำทุกอย่างได้หมด และรู้สึกละอายใจมากที่ตนทำอย่างนั้น

    หลวงปู่ได้แนะทางปฏิบัติให้ และบอกว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ว่าถึงประโยชน์ ก็มีประโยชน์เหมือนกัน มีส่วนดีอยู่เหมือนกัน คือจะได้เป็นบรรทัดฐาน เป็นเครื่องนำสติมิให้ตกสู่ภาวะนี้อีก เป็นแนวทางตรงที่จะได้นำมาประกอบ การปฏิบัติให้ดำเนินไปอย่างมั่นคงในแนวทางตรงต่อไป"

    บทที่ ๑๐
    เรื่องจิต เรื่องอิทธิฤทธิ์


    เรื่องต่อไปนี้ท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนี ได้เล่าให้ฟังเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๘ เป็นการถอดคำพูดจากการบันทึกเทป ดังนี้

    ถ้าพูดไปแล้วนะอาจารย์ (หมายถึง อ.ปฐม - อ.ภัทรา นิคมานนท์) เรื่องของจิตหรืออิทธิฤทธิ์นี้ อาตมาก็ไม่อยากจะใช้คำว่าอิทธิฤทธิ์ เพราะหลวงปู่ท่านไม่นิยม และก็ไม่ทำ ไม่แสร้งทำ ไม่อะไรด้วยทั้งนั้น ก็เลยไม่อยากใช้คำว่าเรื่องจิตเรื่องอิทธิฤทธิ์ แต่จิตนี้หลวงปู่ท่านก็พูดว่า "จิต"

    แต่ถ้าพูดเกี่ยวกับหลวงปู่ ก็มีเรื่องแปลกๆ หรือเรื่องที่น่าอัศจรรย์เหมือนกัน ในขณะที่เราอยู่กับท่าน ท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธ ท่านก็ไม่ได้ยกย่อง ท่านก็ไม่ได้พูด เพื่ออะไรมากมายในเรื่องเหล่านี้ แม้แต่เรื่องไสยศาสตร์ ก็พูดกันว่า ชาวสุรินทร์ เห็นมีไสยศาสตร์กันมาก สามารถใช้คาถาอาคมอะไรต่างๆ เหล่านี้ แม้มีคนถามท่าน ท่านก็ไม่ค่อยอธิบาย ท่านก็บอกเพียงว่า ท่านเองก็ไม่เคยเห็นเหมือนกันอะไรทำนองนั้น

    สำหรับเรื่อง "จิต" นั้นท่านพูด คือท่านพูดเรื่องจิต ท่านไม่ค่อยใช้คำว่า อิทธิฤทธิ์อะไรหรอก จะใช้ว่า "พลัง" โดยมากท่านจะพูดว่า "พลังจิต" นั้น มีอยู่ พลังจิตจะมีได้ก็เกิดจากข้อเดียว คือ พลังสมาธิ

    ถ้าผู้ใดสร้างสมาธิจิตไม่ได้ ท่านว่าพลังจิตนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ ถึงเกิดขึ้นก็เป็นพลังจิตที่เป็นมิจฉาหรือไม่มั่นคง เช่นว่าคนบางคนเขาใช้พลังจิตในทางที่ผิด หรือนำไปใช้ในทางรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็อาจจะมีส่วนของพลังจิตเหมือนกัน

    พลังจิตที่เกิดจากสมาธิที่ถูกต้องนั้นคือ เมื่อมีสมาธิเกิดขึ้นแล้วก็อาศัยพลังแห่งจิต เพราะสมาธินั้นเกิดจากจิตรวม คือ จิตมันละอารมณ์ต่างๆ เมื่อมันไปแบกเอาอารมณ์ต่างๆ ไว้มาก จิตมันก็ไม่มีกำลัง ไม่มีพลังอะไร ต่อเมื่อจิตสามารถตัด อารมณ์ต่างๆได้ ก็เกิดสมาธิ ก็ใช้คำว่า "จิตเดียว" ที่ปราศจากอารมณ์มากเกินไป จิตก็จะเกิดมีพลังขึ้นมา

    ถ้ามีพลังแล้ว (ตามที่หลวงปู่เคยอธิบาย) ระหว่างที่จิตเราเกิดมีพลังสมาธินี่แหละ บุคคลจะเอาไปใช้ทางไหนก็ได้ผลในทางนั้น แต่เมื่อใช้ในทางที่เสียหายมันก็ทำให้ เสียหายได้ หรือใช้ไปในทางที่ให้ประโยชน์ให้เกิดพลังปัญญาก็ได้

    หมายความว่า อย่างที่ถูกในหลักวิชาการเรียนทางศาสนาว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ว่าศีลทำให้เกิดการอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ฉะนั้น พลังจิตที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงหลังจากเกิดสมาธินั้น หมายถึงว่า จิตนั้นจะยกสภาวธรรมขึ้นมาไตร่ตรอง ให้เกิดวิปัสสนาญาณเกิดปัญญา แล้วปัญญานั้นก็จะแจ่มแจ้ง ดีกว่าจิตที่ไม่เกิดสมาธิ หรือจิตที่ไม่มีสมาธิ

    ฉะนั้น หลวงปู่จะใช้ว่าพลังจิตนั้นสามารถยกระดับภาวะหรือป้องกันความทุกข์ยาก อันเนื่องจากการที่จิตส่งออกไปเพื่อรับอารมณ์ต่างๆได้

    มีคนชอบถามหลวงปู่เกี่ยวกับเรื่องอิทธิฤทธิ์บ้าง หรือจิตที่มีฤทธิ์มีพลังอย่างหนึ่งอย่างใดบ้างนั้นก็เคยมี แต่เนื่องจากว่าหลวงปู่ท่านไม่สนใจในเรื่องสิ่งมหัศจรรย์ หรือสิ่งอัศจรรย์ในอิทธิฤทธิ์ต่างๆเหล่านี้ ท่านจึงไม่นิยมพูดให้ใครฟัง

    แต่หลวงปู่ก็ยอมรับว่าจิตนั้นย่อมเป็นจิตที่มีพลัง เมื่อจิตมีพลังแล้วมันก็จะเป็น คุณประโยชน์ได้หลายอย่าง แต่ท่านก็จะขึ้นต้นว่า จิตจะมีพลังได้นั้นก็ต้องเมื่อ ได้สมาธิ เมื่อทำสมาธิได้หรือเกิดสมาธิ จิตมีอารมณ์เดียว จิตจึงจะมีพลัง เมื่อจิตมีพลังแล้วจะหันไปใช้ทางไหนก็ย่อมได้ แม้หันไปทางที่ผิดทางพระพุทธ ศาสนาก็ย่อมจะได้ อย่างเช่นฤาษีชีไพร หรืออะไรๆ นั้น ล้วนแต่เป็นสมาธิซึ่งนับว่าเป็นมิจฉาสมาธิได้

    ส่วน "สัมมาสมาธิ" นั้น หมายถึงจิตที่เป็นสมาธิตามลำดับตั้งแต่ขั้นต้นคือ ขณิกะสมาธิ จนกระทั่งเข้าสู่อัปปนาสมาธิ อะไรในกระแสนี้ แล้วจิตนั้นก็จะเป็นพลังส่องทางไปให้เกิดปัญญา

    ในทางตรงข้าม ถ้าอาศัยพลังจิตไปในเรื่องอื่น เรื่องอิทธิฤทธิ์อะไรนั้นไม่ถูกต้อง หรือไม่ถูกพุทธประสงค์ทั้งหมด

    แต่ถ้าใช้พลังจิตนั้นเพื่อเป็นเหตุให้ปัญญาผุดขึ้น เพื่อจะตัดกิเลสตัณหาและ ความชั่วร้ายต่างๆ เพื่อยกระดับจิตของเราให้พ้นทุกข์ จึงจะเป็นพลังจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ และเป็นทางที่ถูกต้อง หลวงปู่มักจะอธิบายในแนวทางนี้

    ส่วนในทางที่ว่าเอาพลังจิตไปแสดงอิทธิฤทธิ์อย่างนั้นอย่างนี้แล้ว รู้สึกว่าหลวงปู่จะไม่ค่อยกล่าวถึง หลวงปู่จะระมัดระวังที่สุดในเรื่องการปฏิบัติ ให้เป็นไปในทางที่ดีที่ถูกต้อง


    เอวัง.....................




    ประวัติ..... หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
    วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์


    ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

    หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ถือกำเนิด ณ บ้านปราสาท อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2430 ตรงกับวันแรม 2 ค่ำ เดือน 11 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนี้พระยาสุรินทร์ฯ (ม่วง) ยังเป็นเจ้าเมืองอยู่ แต่ไปช่วยราชการอยู่จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากเจ้าเมื่ออุบลฯ และกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ต้องไปราชการทัพเพื่อปราบฮ่อ

    บิดาของท่านชื่อ นายแดง มารดาชื่อ นางเงิน นามสกุล "ดีมาก" แต่เหตุที่ท่านนามสกุลว่า "เกษมสินธุ์" นั้น ท่านเล่าว่า เมื่อท่านไปพำนักประจำอยู่ที่วัดสุดทัศนารามจังหวัดอุบลราชธานีเป็นเวลานาน มีหลานชายคนหนึ่ง ซื่อพร้อม ไปอยู่ด้วยท่านจึงตั้งนามสกุลให้ว่า "เกษมสินธุ์" ตั้งแต่นั้นมาท่านก็เลยใช้นามสกุลว่า "เกษมสินธุ์" ไปด้วย

    ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คนด้วยกัน คือ

    คนแรก เป็นหญิง ชื่อ กลิ้ง
    คนที่ 2 เป็นชาย ชื่อ ดุลย์ (คือ ตัวท่าน)
    คนที่ 3 เป็นชาย ชื่อ แดน
    คนที่ 4 เป็นหญิง ชื่อ รัตน์
    คนที่ 5 เป็นหญิง ชื่อ ทอง

    พี่น้องของท่านตางพากันดำรงชีวิตไปตามอัตภาพตราบเท่าวัยชรา และได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีอายุถึง 70 ปีทั้งหมด หลวงปู่ผู้เดียวที่ครองอัตภาพมาได้ยาวนานถึง 96 ปี

    ชีวิตของหลวงปู่เมื่อแรกรุ่นเจริญวัยนั้น ก็ถูกำหนดให้อยู่ในเกฏเกณฑ์ของสังคมสมัยนั้นแม้ท่านจะเป็นลูกคนที่สอง แต่ก็เป็นบุตรชายคนโต ดังนั้นท่านจึงต้องมีภารกิจมากกว่าเป็นธรรมดา โดยต้องทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน งานในบ้าน เช่น ตักน้ำ ตำข้าว หุงหาอาหาร และเลี้ยงดูน้องๆ ซึ่งมีหลายคน งานนอกบ้าน เช่น เช่วยแบ่งเบาภระของบิดาในการดูแลบำรุงเรือกสวนไร่นาแล้วเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เป็นต้น


    ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

    แม้ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใครๆ ก็ต้องรู้สึกว่าน่าเพลิดเพลินและน่าลุ่มหลงอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะอยู่ในวัยกำลังงามแล้ว ยังเป็นนักแสดงที่มีผู้นิยมชมชอบมากอีกด้วย ถึงกระนั้นหลวงปู่ก็มิได้หลงไหลในสิ่งเหล่านั้นเลย ตรงกันข้ามท่านกลับมีอุปนิสัยโน้มเอียงไปทางเนกขัมมะ คือ อยากออกบวชจึงพยายามขออนุญาตจากบิดามารดา และท่านผู้มีพระคุณที่มีเมตตาชุบเลี้ยงแต่ก็ถูกท่านเหล่านั้นคัดค้านเรื่อยมา โดยเฉพาะฝ่ายบิดามารดาไม่อยากให้บวช เนื่องจากขาดกำลังทางบ้าน ไม่มีใครช่วยเป็นกำลังสำคัญในครอบครัว ทั้งท่านก็เป็นบุตรชายคนโตด้วย

    แต่ในที่สุด บิดามารดาก็ไม่อาจขัดขวางความตั้งใจจริงของท่านได้ ต้องอนุญาตให้บวชได้ตามความปรารถนาที่แน่วแน่ไม่คลอนแคลนของท่าน พร้อมกับมีเสียงสำทับจากบิดาว่าเมื่อบวชแล้วต้องไม่สึกหรืออยางน้อยต้องอยู่จนได้เป็นเจ้าอาวาส ทั้งนี้เนื่องจากปู่ของท่านเคยบวชและได้เป็นเจ้าอาวาสมาแล้ว และคงเป็นเพราะเหตุนี้ด้วยกระมัง ท่านจึงมีอุปนิสัย รักบุญ เกรงกลัวบาป มิได้เพลิดเพลินคึกคะนองไปในวัยหนุ่มเหมือนบุคคลอื่น

    ครั้นเมื่อได้รับอนุญาตจากบิดามารดาเรียบร้อยแล้วอย่างนี้ ท่านจึงได้ละฆราวาสวิสัยอย่างเข้าสู่ความเป็นสมณะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 เมื่อท่านมีอายุได้ 22 ปี โดยมีพวกตระกูลเจ้าของเมืองที่เคยชุบเลี้ยงท่าน เป็นผู้จัดแจงในเรื่องการบวชให้ครบถ้วนทุกอย่าง ท่านได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดชุมพลสุทธาวาส ในเมืองสุรินทร์ โดยมี

    พระครูวิมลสีลพรต (ทอง) เป็น พระอุปัชฌาย์
    พระครูบึก เป็น พระกรรมวาจาจารย์
    พระครูฤทธิ์ เป็น พระอนุสาวนาจารย์

    เมื่อแรกบวช ก็ได้ปฏิบัติกัมมัฏฐานกับหลวงปู่แอกวัดคอโค ซึ่งอยู่ชานเมืองสุรินทร์ วิธีการเจริญกัมมัฏฐานในสมัยนั้น ก็ไม่มีวิธีอะไรมากมายนัก วิชาที่หลวงปู่แอกสอนให้สมัยนั้น คือ จุดเทียนขึ้นมา 5 เล่ม แล้วนั่งบริกรรมว่า "ขออัญเชิญปีติทั้ง 5 จงมาหาเรา" ดังนี้เท่านั้นแต่หลวงปู่ดุลย์ก็พากเพียรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ด้วยความวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้า พยายามบริกรรมเรื่อยมาจนครบไตรมาสโดยไม่ลดละ แต่ก็ไม่ปรากฏเห็นผลอันใดแม้เล็กน้อย

    นอกจากนี้ยังได้ฝึกฝนทรมานร่างกายเพื่อเผาผลาญกิเลส ด้วยความเข้มงวดกวดขันการขบฉันอาหาร วันก่อนเคยฉัน 7 คำ ก็ลดเหลือ 6 คำ แล้วลดลงไปอีกตามลำดับจนกระทั่งรางกายซูบผอมโซเซ สู้ไม่ไหว จึงหันมาฉันอาหารตามเดิม ระยะนั้นก็ไม่ปรากฏเห็นผลอันใดแม้เล็กน้อย

    นอกจากนี้ก็ใช้เวลาที่เหลือท่องบ่นเจ็ดตำนานบ้าง สิบสองตำนานบ้าง แต่ไม่ได้ศึกษาพระวินัยเลย เรื่องวินัยที่จะนำมาประพฤติปฏิบัติขัดเกลากาย วาจา เพื่อเป็นรากฐานของสมาธิภาวนานั้น ท่านไม่ทราบ มิหนำซ้ำ ระหว่างที่อยู่วัดดังกล่าว พระในวัดนั้นยังใช้ให้ท่านสร้างเกวียนและเลี้ยงโคอีกด้วย ท่านจึงเกิดความสลดสังเวช และเบื่อหน่ายเป็นกำลัง แต่ก็อยู่มาจนกระทั่งได้ 6 พรรษา

    เมื่อทราบข่าวว่า ที่จังหวัดอุบลราชธานีมีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม ก็เกิดความยินดีล้นพ้น รีบเข้าไปขออนุญาตท่านพระครูวิมลศีลพรต ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์เพื่อไปศึกษา แต่ก็ถูกคัดค้านกลับมา ท่านมิได้ลดละคามพยายามไปขออยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งพระอุปัชฌาย์เห็นว่าท่านมีความตั้งใจจริง จึงอนุญาตให้ไปได้โดยมีครูและครูดิษฐ์ไปเป็นเพื่อน

    เมื่อแรกไปถึงจังหวัดอุบลฯ นั้น เขาไม่อาจรับท่านให้พำนักอยู่ที่วัดธรรมยุตได้เพราะต่างนิกายกัน แม้จะอนุมัติให้เข้าเรียนได้ก็ตาม ดังนั้น ท่านจึงต้องไปอยู่วัดหลวงซึ่งการบิณฑบาตเป็นไปได้ยากเสียเหลือเกิน พอดีหลวงพี่มนัส ซึ่งเดินทางไปเรียนก่อน ได้แวะไปเยี่ยมทราบความเข้า จึงพาท่านไปฝากอยู่อาศัยพร้อมทั้งศึกษาพระปริยัติธรรมไปด้วยที่วัดสุทัศนาราม แต่เนื่องจากวัดนี้เป็นวัดฝ่ายสงฆ์ธรรมยุต จึงไม่อาจให้ท่านอยู่ที่วัดได้ด้วยเหตุผลที่น่าฟังว่ามิได้รังเกียจ แต่เกรงจะเกิดผลกระทบต่อความเข้าใจอันดีระหวางผู้บริหารการคณะสงฆ์ของนิกายทั้งสอง

    อย่างไรก็ดี ด้วยเมตตาธรรม ทางวัดสุทัศน์ ได้แสดงความเอื้อเฟื้อด้วยวิธีการอันแยบคาย โดยรับให้ท่านพำนักอยู่ในฐานะพระอาคันตุกะผู้มาเยี่ยมเยือน แต่อยู่นานหน่อยความเป็นอยู่ของท่านจึงค่อยกระเตื้องขึ้น คือเป็นไปได้สะดวกบ้าง

    ท่านพยายามมุมานะศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอย่างเต็มสติกำลัง จนกระทั่งประสบผลสำเร็จ คือ สามารถสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรนักธรรมชั้นตรี นวกภูมิ เป็นรุ่นแรกของจังหวัดอุบลราชธานี และยังได้เรียนบาลีไวยกรณ์ (มูลกัจจายน์) จนสามารถแปลพระธรรมบทได้ นับว่าท่านได้บรรลุปณิธานที่ได้ตั้งไว้ ในการจากบ้านเกิดเมืองนอนไป ศึกษาต่อ ณ ต่างแดนแล้ว ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะการคมนาคมระหว่าง สุรินทร์-อุบลฯ ในสมัยนั้นเป็นไปโดยยากจนนับได้ว่าเป็นต่างแดนจริงๆ

    ต่อมาท่านได้พยายามอย่างยิ่งที่จะญัตติจากนิกายเดิมมา เป็นธรรมยุตติกนิกาย แต่ทางคณะสงฆ์ธรรมยุต โดยเฉพาะพระธรรมปาโมกข์ (ติสฺโส อ้วน) เจ้าคณะมณฑลในขณะนั้น ซึ่งเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ พระนักบริหารผู้มีสายตาไกลและจิตใจกว้างขวาง ได้ให้ความเห็นว่า.....

    "อยากจะให้ท่านศึกษาเล่าเรียนไปก่อนไม่ต้องญัตติ เนื่องจากทางคณะสงฆ์ธรรมยุตมีนโยบายจะให้ท่านกลับไปพัฒนาศึกษาพระปริยัติธรรมที่จังหวัดสุรินทร์บ้านเกิดของท่าน ให้เจริญรุ่งเรือง เพราะถ้าหากญัตติแล้วเมื่อท่านกลับไปสุรินทร์ท่านจะต้องอยู่โดดเดี่ยว เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีวัดฝ่ายธรรมยุตที่จังหวัดสุรินทร์เลย" แต่ตามความตั้งใจของท่านเองนั้น มิได้มีความประสงค์จะกลับไปสอนพระปริยัติธรรมจึงได้พยายามขอญัตติต่อไปอีก

    ในกาลต่อมา นับว่าเป็นโชคของท่านก็ว่าได้ ท่านมีโอกาสได้คุ้นเคยกับ ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ท่านรับราชการครู ทั้งที่ยังเป็นพระสงฆ์อยู่ในขณะนั้นที่วัดสุทัศน์ จังหวัดอุบลฯ ท่านอาจารย์สิงห์ได้ชอบอัธยาศัยไมตรีของหลวงปู่ดุลย์ และเห็นปฏิปทาในการศึกษาเล่าเรียน พร้อมทั้งการประพฤติปฏิบัติกิจในพระศาสนาของท่าน ว่าเป็นไปด้วยความตั้งใจจริง ท่านอาจารย์สิงห์จึงได้ช่วยเหลือท่านในการขอญัตติ จนกระทั่งประสบผลสำเร็จ

    ดังนั้น ใน พ.ศ. 2461 ขณะเมื่ออายุ 31 ปี ท่านจึงได้ญัตติจากนิกายเดิมมาเป็นพระภิกษุในธรรมยุตติกนิกาย ณ พัทธสีมาวัดสุทัศน์ฯ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี

    พระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์
    พระศาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลอุดร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

    ถ้าหากจะนับระยะเวลาที่ท่านไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ในฐานะพระอาคันตุกะ จนกระทั่งได้รับเมตตาอนุญาตให้ได้ญัตติก็เป็นเวลานานถึง 4 ปี รวมเวลาที่ดำรงอยู่ในภาวะของนิกายเดิมก็เป็นเวลานานถึง 10 ปี

    จากการที่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและพิจารณาข้อธรรมะเหล่านั้นจนแตกฉานช่ำชองพอสมควรแล้ว ก็เห็นว่าการเรียนปริยัติธรรมอย่างเดียวนั้นเป็นแต่เพียงการจำหัวข้อธรรมะได้เท่านั้น ส่วนการปฏิบัติให้ได้ผลและได้รู้รสพระธรรมอย่างซาบซึ้งนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จึงบังเกิดความเบื่อหน่ายและท้อถอยในการเรียนพระปริยัติธรรมและมีความสนใจโน้มเอียงไปในทางปฏิบัติธรรม ทางธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างแน่วแน่

    นับว่าเป็นบุญลาภของหลวงปู่ดุลย์อย่างประเสริฐ ที่ในพรรษานั้นเองท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ พระปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ฝ่ายอารัญญวาสี ได้เดินทางกลับจากธุดงค์กัมมัฏฐาน มาพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี ข่าวที่พระอาจารย์มั่นมาจำพรรษา ที่วัดบูรพานั้นเลื่องลือไปทุกทิศทาง ทำให้ภิกษุสามเณร บรรดาศิษย์ และประชาชนแตกตื่นฟื้นตัวพากันไปฟังพระธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่น

    หลวงปู่ดุลย์กับอาจารย์สิงห์ 2 สหายก็ไม่เคยล้าหลังเพื่อในเรื่องเช่นนี้ พากันไปฟังธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่นกันเป็นประจำ ไม่ขาดแม้สักครั้งเดียว นอกจากได้ฟังธรรมะแปลกๆ ที่สมบูรณ์ด้วยอรรถพยัญชนะ มีความหมายลึกซึ้งและรัดกุมกว้างขวาง ยังได้มีโอกาสเฝ้าสังเกตปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่น ที่งดงามน่าเลื่อมใสทุดอิริยาบถอีกด้วย ทำให้เกิดความซาบซึ้งถึงใจคำพูดแต่ละคำมีวินัยแปลกดี ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน จึงเพิ่มความสนใจใคร่ประพฤติปฏิบัติทางธุดงค์กัมมัฏฐานมากยิ่งขึ้นทุกทีฯ

    ครั้นออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์มั่นได้ออกธุดงค์อีก ภิกษุ 2 รูป คือ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโมกับหลวงปู่ดุลย์ จึงตัดสินใจสละทิ้งการสอนการเรียน ออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่นไปทุกแห่ง จนตลอดฤดูกาลนอกพรรษานั้น

    ตามธรรมเนียมธุดงค์กัมมัฏฐานของพระอาจารย์มั่นมีอยู่ว่า เมื่อถึงกาลเข้าพรรษาไม่ให้จำพรรษารวมกันมากเกินไป ให้แยกกันไปจำพรรษาตามสถานที่อันวิเวก ไม่ว่าจะเป็นวัด เป็นป่า เป็นถ้ำ เป็นเขา โคนไม้ ป่าช้า ลอมฟาง เรือนว่าง หรืออะไรตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคล แต่ละคณะ

    เมื่ออกพรรษาแล้ว หากทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่นอยู่ ณ ที่ใดพระสงฆ์ก็พากันไปจากทุกทิศทุกทางมุ่งไปยัง ณ ที่นั้นเพื่อเรียนพระกัมมัฏฐานและเล่าแจ้งถึงผลการประพฤติปฏิบัติที่ผ่านมา เมื่อมีอันใดผิดพระอาจารย์จัดได้ช่วยแนะนำแก้ไข อันใดถูกต้องดีแล้วท่านจักได้แนะนำข้อกัมมัฏฐานยิ่งๆ ขึ้นไป

    ดังนั้น เมื่อจวนจะถึงกาลเข้าปุริมพรรษา คือ พรรษาแรกแห่งการธุดงค์ของท่าน คณะหลวงปู่ดุลย์ จึงพากันแยกจากท่านพระอาจารย์มั่น เดินธุดงค์ผ่านไปทางอำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ครั้นถึงป่าท่าคันโท ก็สมมติทำเป็นสำนักวัดป่า เข้าพรรษาด้วยกัน 5 รูป คือ

    ท่านพระอาจารย์สิงห์
    ท่านพระอาจารย์บุญ
    ท่านพระอาจารย์สีทา
    ท่านพระอาจารย์หนู
    ท่านพระอาจารย์ดุลย์ อตุโล (คือ ตัวหลวงปู่เอง)

    ทุกท่านปฏิบัติตามปรารภความเพียรอย่างอุกฤษฎ์แรงกล้า ปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอนของท่านปรมาจารย์อย่างสุดขีด ครั้งนั้น บริเวณแห่งนั้นเป็นสถานที่ทุรกันดาร เกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ป่าที่ดุร้าย ไข้ป่าก็ชุกชุมมาก ยากที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้

    ดังนั้นยังไม่ทันถึงครึ่งพรรษาก็ปรากฏว่า อาพาธเป็นไข้ป่ากันหมด ยกเว้นท่านอาจารย์หนูองค์เดียว ต่างก็ได้ช่วยรับใช้พยาบาลกันตามมีตามเกิด หยูกยาที่จะนำมาเยียวยารักษากันก็ไม่มีความป่วยไข้เล่าก็ไม่ยอมลดละ จนกระทั่งองค์หนึ่งถึงแก่มรณภาพลงในกลางพรรษานั้น ต่อหน้าต่อตาเพื่อนสหธรรมิกอย่างน่าเวทนา

    สำหรับหลวงปู่ดุลย์ ครั้นได้สำเหนียกรู้ว่า มฤตยูกำลังคุกคามอย่างแรงทั้งหยูกยาที่จะนำมารักษาพยาบาลก็ไม่มี จึงตัดเตือนตนว่า "ถึงอย่างไร ตัวเราจักไม่พ้นเงื้อมมือของความตายในพรรษานี้เป็นแน่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้นเราจักตาย ก็จงตายในสมาธิภาวนาเถิด" จึงปรารภความเพียรอย่างเอาเป็นเอาตาย ตั้งสติให้สมบูรณ์พยายามดำรงจิตให้อยู่ในสมาธิอย่างมั่นคงทุกอริยาบถ พร้อมทั้งพิจารณาความตาย คือ มีมรณัสสติกัมมัฏฐานเป็นอารมณ์ไปด้วยโดยไม่ย่อท้อพรั่นพรึงต่อมรณภัยที่กำลังคุกคามจะมาถึงตัวในไม่ช้านี้เลย

    ณ ป่าท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์นี้เอง การปฏิบัติทางจิตที่หลวงปู่ดุลย์พากเพียรบำเพ็ญอยู่อย่างไม่ลดละ ก็ได้บังเกิดผลอย่างเต็มภาคภูมิ กล่าวคือ ขณะที่นั่งภาวนาอยู่ตั้งแต่หัวค่ำจนดึกมากนั้น จิตก็ค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบและให้บังเกิดนิมิตขึ้นมา คือ เป็นพระพุทธรูปปรากฏขึ้นที่ตัวของท่าน ประหนึ่งว่าตัวของท่านเป็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ท่านพยายามพิจารณารูปนิมิตต่อไปอีก แม้ขณะที่ออกจากที่บำเพ็ญสมาธิภาวนาแล้วและขณะออกเดินไปสู่ละแวกบ้านป่า เพื่อบิณฑบาต ก็เป็นปรากฏอยู่เช่นนั้น

    วันต่อมาอีกก่อนที่รูปนิมิตจะหายไป ขณะที่เดินกลับจากบิณฑบาต ท่านได้พิจารณาดูตนเองก็ได้ปรากฏเห็นชัดว่า เป็นโครงกระดุกทุกส่วนสัด วันนั้นจึงเกิดความรู้สึกไม่อยากฉันอาหารจึงอาศัยความเอิบอิ่มใจของสมาธิจิตกระทำความเพียรต่อไป เช่น เดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้างตลอดวันตลอดคืน และแล้วในขณะนั้นเองแสงแห่งพระธรรมก็บังเกิดขึ้น ปรากฏแก่จิตของท่าน

    รู้ชัดว่าอะไรคือจิต อะไรคือกิเลส จิตปรุงกิเลสหรือกิเลสปรุงจิต และเข้าใจสภาพเดิมของจิตที่แท้จริงได้จนรู้กิเลสส่วนไหนละได้แล้ว ส่วนไหนยังละไม่ได้ ดังนี้

    1. บำเพ็ยเพียรภาวนาเป็นปกติไม่ขาดสาย ไม่เคยขาดตกบกพร่อง กลางคืนจะพักผ่อนเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น

    2. ฉันมื้อเดียวตลอดมา เว้นแต่เมื่อมีกิจนิมนต์จึงฉัน 2 มื้อ

    3. มีความเป็นอยู่ง่าย เมื่อขาดไม่ดิ้นรนแสวงหา เมื่อมีไม่สั่งสม เป็นอยู่ตามมีตามเกิดเจริญด้วยยถาลาภสันโดษ (คือสันโดษ ได้อย่างไร บริโภคอย่างนั้น)

    4. มีสัจจะ พูดอย่างไรต้องทำอย่างนั้น มีความตั้งใจจริง จะทำอะไรแล้วต้องทำจนสำเร็จ

    5. สัลลหุกวุตติ เป็นผู้มีความประพฤติเบากาย เบาใจ คือ เป็นผู้คล่องแคล่วว่องไว เดินตัวตรงและเร็ว แม้เวลาตื่นนอนพอรู้สึกตัวท่านจะลุกขึ้นทันที เหมือนคนที่พร้อมอยู่ตลอดเวลา

    6. นิยมการทำตัวง่ายๆ สบายๆ ไม่มีพิธีรีตอง มักตำหนิผู้ที่เจ้าบทบาท มากเกินควร

    7. การปฏิสันถาร ท่านปฏิบัติเป็นเยี่ยมตลอดมา

    หลวงปู่เป็นผู้มีอุปนิสัยเยือกเย็น พูดน้อย สงบ อยู่เป็นนิตย์ มีวรรณผ่องใส ท่านรักความสงบจิตใจใฝ่ในความวิเวกมาก จะเห็นได้ว่าท่านชอบสวดมนต์บท "อรญฺเญ รุกขมูเลวา สุญฺญาคาเรวา ภิกฺขโว ... " มาก


    ธรรมโอวาท

    สำหรับหลวงปู่นั้น ท่านเล่าว่าได้ตริตรองพิจารณาตามหัวข้อกัมมัฏฐานว่า "สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สญฺญา อนตฺตา" ที่ท่านพระอาจารย์มั่นให้มา ในเวลาต่อมาก็เกิดความสว่างไสวในใจชัดว่า เมื่อสังขารขันธ์ดับได้แล้ว ความเป็นตัวตนจักมีไม่ได้ เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง ครั้นความปรุงแต่งขาดไป ความทุกข์จะเกิดขึ้นอย่างไร และจับใจความอริยสัจจแห่งจิตได้ว่า

    1. จิตที่ส่งออกนอก เพื่อรับสนองอารมณ์ทั้งสิ้น เป็นสมุทัย
    2. ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอกแล้วหวั่นไหว เป็นทุกข์
    3. จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
    4. ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ

    แล้วท่านเล่าว่า เมื่อทำความเข้าใจในอริยสัจทั้ง 4 ได้ดังนี้แล้ว ก็ได้พิจารณาทำความเข้าใจใน ปฏิจฺจสมุปบาท ได้ตลอดทั้งสาย


    คติธรรมที่ท่านสอนอยู่เสมอ คือ

    "อย่าส่งจิตออกนอก"

    "จงหยุดคิดให้ได้"

    "คิดเท่าไหร่ ก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดให้ได้จึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยความคิด นั่นแหละจึงรู้"

    "คนในโลกนี้ต้องมีสิ่งที่มี เพื่ออาศัยสิ่งนั้นเป็นผู้ปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติถึงสิ่งที่ไม่มีและอยู่กับสิ่งที่ไม่มี"


    ปัจฉิมบท

    สังขารธรรมหนึ่งอุบัติขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2430 ณ บ้านปราสาท ตำบลเฉลียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ได้เจริญเติบโตและรุ่งเรืองมาโดยลำดับตามวัย ได้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องดีงามอยู่ภายใต้ผ้ากาสาวพัสตร์เป็นเวลานานถึง 64 พรรษา ท่านประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีงามของชาวพุทธตลอดเวลา เป็นเนื้อนาบุญของโลก ท่าทนเป็นพุทธสาวกอย่างแท้จริง ได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์

    บัดนี้สังขารขันธ์นั้นได้ดับลงแล้ว ตาม สภาวธรรม เมื่อ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2526 แม้ว่า หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ได้สละทิ้งร่างกายไปแล้ว แต่เมตตาธรรมที่ท่านได้ประสาทไว้แก่สานุศิษย์ทั้งหลาย ยังเหลืออยู่ คุณธรรมดังกล่าวยังคงประทับอยู่ในจิตใจของทุกๆ คนไม่ลืมเลือน


    ........ เอวัง.........
    ................................................................................
    ประวัติวัดบูรพาราม
    อ.เมือง จ.สุรินทร์

    วัดบูรพาราม เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี มีอายุประมาณกว่า ๒๐๐ ปี เท่าๆ กับอายุของเมืองสุรินทร์ สร้างโดยพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) เจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๐๐-๒๓๓๐ โดยประชาชนร่วมกันสร้างขึ้น เรียกชื่อว่า "วัดบูรพ์"

    เดิมเป็นวัดมหานิกาย เป็นวัดเก่าแก่มีพัฒนาการที่ยาวนานตามยุคตามสมัย ต่อมาใน ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโสอ้วน) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑล ได้อนุมัติให้วัดบูรพ์เป็นวัดในสังกัดคณะธรรมยุต และได้นิมนต์พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดุลย์ อตุโล) ซึ่งปฏิบัติธุดงค์กรรมฐานอยู่ ให้มาประจำอยู่ที่วัดบูรพาราม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และร่วมเป็นคณะพระสังฆาธิการ

    ท่านได้เริ่มบริหารวัดและคณะสงฆ์ ส่งเสริมการศึกษาปริยัติธรรม และเผยแพร่ข้อปฏิบัติทางกัมมัฏฐาน พร้อมกับปรับปรุงพัฒนา สิ่งแวดล้อม และก่อสร้างภายในวัดอย่างต่อเนื่อง นับแต่นั้นมาแสงแห่งรัศมีของพระธรรมทั้งทางปริยัติและปฏิบัติก็เริ่มรุ่งเรืองโชติช่วงตลอดมา

    โดยหลวงปู่ดุลย์รับภาระทั้งทางคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ บริหารงานพระศาสนาอย่างเต็มความสามารถ มีการก่อสร้างพระอุโบสถแบบหลังคาคอนกรีตและเสริมเหล็กเป็นครั้งแรก หล่อพระพุทธชินราชจำลองประดิษฐานในพระอุโบสถ บูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวงพ่อพระชีว์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองสุรินทร์มาแต่โบราณ ตลอดจนถึงก่อสร้างเสนาสนะ กุฏิวิหาร แบบสมัยใหม่หลายหลังเป็นการถาวร


    ความสำคัญต่อชุมชน

    วัดบูรพาราม ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นวัดสำคัญของจังหวัดสุรินทร์ ด้วยความศรัทธา ดังนี้

    (๑.) หลวงพ่อพระชีว์ พระพุทธรูปโบราณถือว่าเป็นพระประจำเมืองสุรินทร์ ประดิษฐานในพระวิหารจตุรมุข ภายในวัดบูรพาราม

    (๒.) พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดุลย์ อตุโล) เคยประจำอยู่ ณ วัดบูรพาราม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ จนกระทั่งมรณภาพ พ.ศ. ๒๕๒๖ ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านแผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศ ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมสายพระกัมมัฏฐาน ทั้งพระภิกษุและฆราวาสให้การยอมรับว่า หลวงปู่ดุลย์ อตุโล เป็นองค์เดียวที่มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องของจิต จนกระทั่งได้รับสมญาว่าเป็นบิดาแห่งภาวนาจิต


    ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

    วัดบูรพาราม มีอาคารและถาวรวัตถุที่สำคัญในวัด ดังนี้

    (๑.) พระอุโบสถหลังใหญ่ ปัจจุบันมีการบูรณะ สร้างเป็นศาลาทรงไทย ยอดจั่วประดับช่อฟ้า

    (๒.) พิพิธภัณฑ์กัมมัฏฐาน บรรจุอัฐิธาตุ และอัฐบริขารของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล ภายในเป็นที่ประดิษฐาน รูปประติมากรรมของหลวงปู่ดุลย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงไทยซ้อนสามชั้น

    (๓.) พระวิหารจตุรมุข เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระชีว์ มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูงกว่าพื้นดิน ๒ เมตร หลังคาทรงไทย ยอดจั่ว ๓ ชั้น ซ้อนกันทั้ง ๔ มุข


    เส้นทางเข้าสู่วัดบูรพาราม

    วัดบูรพารามตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ จึงมีเส้นทางเข้าออกได้หลายเส้นทาง ได้แก่ ถนนกรุงศรีใน ถนนธนสาร และถนนหลักเมือง วัดบูรพารามตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์


    ........ เอวัง.........
     

แชร์หน้านี้

Loading...