การเลี้ยงไหมมีมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล!ส่งเสริมในเมืองไทยสมัย ร.๕ รุ่งเรืองสมัย ร๙!!

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 21 กรกฎาคม 2021.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    e0b989e0b8a2e0b887e0b984e0b8abe0b8a1e0b8a1e0b8b5e0b8a1e0b8b2e0b895e0b8b1e0b989e0b887e0b981e0b895.jpg



    การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นวิถีเกษตรทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เพื่อเอารังไหมมาทอเป็นผ้าที่สวยงาม กล่าวกันว่ามนุษย์รู้จักทอเครื่องนุ่งห่มด้วยวิธีนี้มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี กล่าวว่า ประวัติการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมปรากฏอยู่ในคัมภีร์ขงจื๊อว่า มีการสาวไหมจากหน่อนไหมมาตั้งแต่ราว ๒,๗๐๐ ปีก่อนคริสตกาล และยังมีหลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า การเลี้ยงไหมมีมาตั้งแต่ยุคหินใหม่ ราว ๕,๐๐๐ – ๑๐,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน กล่าวว่า อินเดียมีการเลี้ยงไหมมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล คือไม่ต่ำกว่า ๒,๕๐๐ ปี มีบันทึกในพุทธบัญญัติห้ามสาวกของพระพุทธเจ้าบิณฑบาตผ้ารองนั่งที่ทำจากไหม

    การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพิ่งแพร่ไปถึงญี่ปุ่นเมื่อประมาณ พ.ศ.๗๓๘ และในปี พ.ศ.๑๘๑๘ ก็ไปถึงยุโรป ปัจจุบันการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้กลายเป็นอุตสาหกรรมในหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี บราซิล รัสเซีย อิตาลี และฝรั่งเศส

    สำหรับเมืองไทยปรากฏว่ามีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในระดับชาวบ้านมานานแล้วเช่นกัน สันนิษฐานว่าเมื่ออพยพลงมาทางใต้ ก็นำเอาวิธีปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจากจีนมาด้วย จนใน พ.ศ.๒๔๔๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วยวิธีที่มีการพัฒนาใหม่ จึงโปรดเกล้าฯให้กระทรวงเกษตราธิการว่าจ้างคณะผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ซึ่งมี ดร.โทยามา เป็นหัวหน้าคณะ มาสร้างสถานีปลูกหม่อนเลี้ยงไหมขึ้นที่ตำบลทุ่งศาลาแดง และตั้งเป็น “กรมช่างไหม” ในปี ๒๔๔๖ ต่อมาในปี ๒๔๔๗ ก็ตั้งโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ทุ่งปทุมวัน โดยมีพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เป็นผู้อำนวยการ โรงเรียนนี้ยังสอนวิชาสามัญควบคู่กับวิชาชีพเลี้ยงไหมด้วย ในปีเดียวกันนั้นก็ได้ขยายสาขากรมหม่อนไหมไปตั้งที่มณฑลนครราชสีมา ส่งผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นไปสอนชาวบ้าน เมื่อได้รับการตอบรับด้วยดีก็ขยายสาขาไปอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน

    ในปี ๒๔๕๖ ได้เกิดโรคระบาดทำให้ตัวหนอนไหมตายลงมาก การเลี้ยงไหมจึงชงักลง จนในปี ๒๔๗๘ ทางการได้กลับมาสนับสนุนฟื้นฟูการเลี้ยงไหมขึ้นอีกครั้ง ตั้งโรงสาวไหมกลางขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นศูนย์กลางของการเลี้ยงไหมใน ๑๔ จังหวัดของภาคอีสาน มีรายงานของกรมเกษตรและการประมงในตอนนั้นว่า มีเกษตรกรเลี้ยงไหมถึง ๓๐๐,๐๐๐ ครัวเรือน แต่แล้วภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงนั้น ก็ทำให้การส่งเสริมเลี้ยงไหมลุ่มๆดอนๆ ทั้งยังเจอภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ การเลี้ยงไหมจึงซบเซาลงอีกครั้ง กลับมารื้อฟื้นกันใหม่อีกเมื่อสงครามยุติ และได้ร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นตามแผนโคลัมโบ จัดตั้งศูนย์วิจัยหม่อนไหมขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา แจกพันธุ์ไหมและต้นหม่อนที่คัดเลือกพันธุ์แล้วให้ราษฎร นอกจากนี้สถานศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นและวิทยาลัยเกษตรต่างๆ ยังได้บรรจุวิชาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเข้าในหลักสูตรด้วย

    แม้การส่งเสริมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจะทำให้มีการผลิตผ้าไหมมากขึ้นและคุณภาพดีขึ้น แต่ด้านการตลาดก็ยังไม่มีการส่งเสริมให้กว้างขวาง จนในปี ๒๕๑๓ ได้เกิดอุทกภัยขึ้นที่จังหวัดนครพนม หลังน้ำลด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร สมเด็จพระนางเจ้าฯได้ทอดพระเนตรเห็นประชาชนจำนวนมากที่มาถวายการต้อนรับนั้น หญิงชาวบ้านส่วนใหญ่จะแต่งกายด้วยผ้ามัดหมี่ที่สวยงาม เมื่อทรงสอบถามก็ได้ความว่า ราษฎรแทบทุกครัวเรือนจะทอผ้ามัดหมี่นี้ไว้ใช้ หรือทอให้ลูกหลานเมื่อออกเรือน ไม่ได้ทอไว้ขาย สมเด็จพระนางเจ้าทรงมีพระราชดำริว่า ชาวบ้านมีความสามารถในการทอผ้ามัดหมี่อยู่แล้ว หากจะส่งเสริมให้ทอเพิ่มขึ้นจากที่เคยทอใช้เอง ก็จะทำให้มีรายได้เสริมขึ้นอีกทางหนึ่ง จึงทรงชวนให้ชาวบ้านทอผ้ามัดหมี่ขาย โดยจะทรงรับซื้อไว้เองทั้งหมดและเพิ่มราคาให้สูงกว่าท้องตลาด

    ในระยะแรกนั้น ผ้ามัดหมี่ที่ราษฎรทอมาขายยังไม่ค่อยมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ หน้าแคบและสั้น ส่วนใหญ่ก็สีตก แต่ก็ทรงรับซื้อไว้เพื่อให้มีกำลังใจทอกันต่อไป พร้อมกันนั้นก็ได้ทรงพระราชทานคำติชมและข้อแนะนำต่างๆให้ราชเลขานุการในพระองค์ไปแจ้งกับชาวบ้าน จากนั้นผ้ามัดหมี่ที่ผลิตออกมาก็มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆตามความต้องการของตลาด

    โครงการในพระองค์นี้ได้ขยายออกไปตามหมู่บ้านต่างๆของจังหวัดภาคอีสาน และทรงส่งเสริมการทอผ้าพื้นเมืองขึ้นทุกชนิด เช่น ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าไหมลายลูกแก้ว ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมลายขิด ส่วนชาวบ้านที่ไม่ถนัดการงานทอผ้า ก็โปรดเกล้าฯให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทรงรับซื้อเส้นไหม ส่งไปให้ผู้ที่ทอผ้าโดยไม่ได้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเอง เป็นการส่งเสริมอาชีพที่ทำรายได้ให้กับราษฎรอย่างกว้างขวาง ทั้งยังทรงส่งเสริมให้ชาวบ้านอนุรักษ์พันธุ์ไหมไทย ตลอดจนลวดลายพื้นถิ่นไว้
    อีกทั้งพระองค์เองก็ทรงใช้ผลิตภัณฑ์จากราษฎรเหล่านี้เป็นฉลองพระองค์ โดยเฉพาะเมื่อเสร็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศ ทำให้ความงามของผ้าไหมไทยและหัตถกรรมพื้นบ้านได้เผยแพร่ไปสู่สายตาชาวโลก

    โครงการส่งเสริมหัตถกรรมที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงอำนวยการนี้ ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ทรงต้องใช้จ่ายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมาก ข้าราชบริพารและผู้มีจิตศรัทธาจึงได้รวบรวมเงินจำนวนหนึ่งขึ้นทูลเกล้าฯถวาย และกราบบังคมทูลขอให้ทรงจัดตั้งเป็นมูลนิธิ จึงทรงโปรดเกล้าฯให้ก่อตั้งมูลนิธิขึ้นในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๙ พระราชทานนามว่า “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์” ซึ่งต่อมาในปี ๒๕๓๑ คณะกรรมการมูลนิธิได้กราบบังคมทูลขอเปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เพราะทรงส่งเสริมให้คนจำนวนมากยึดเอางานศิลปหัตถกรรมหลายสาขาเป็นอาชีพ ไม่เฉพาะการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเท่านั้น และถือเป็นอาชีพหลักไม่ใช่แค่อาชีพเสริม

    ทรงมีพระราชดำรัส ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาค ๒๕๓๒ ว่า

    “…ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอมาว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา หรืออาชีพใด อยู่สารทิศใด คนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิด ขอเพียงแต่ให้เขาได้มีโอกาสฝึกฝน เขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็น…”

    พระราชดำรัสนี้จะเห็นเด่นชัดจากงานศิลปหัตถกรรมต่างๆที่จัดแสดงอยู่ในศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร อยุธยา งานศิลปะที่งดงามจนตื่นตาตื่นใจเหล่านั้น ไม่ใช่จากฝีมือจิตรกรคนดังที่ไหน หากแต่เจ้าของผลงานเป็นชาวไร่ชาวนาที่จับจอบจับเสียมและเคียวเกี่ยวข้าวมาก่อน

    ส่วนผ้าไหมไทย แม้จะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ผลิตผ้าไหมออกสู่ตลาดโลก เพราะเป็นงานหัตถกรรม ไม่ใช่งานอุตสาหกรรม แต่ก็เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียง เพราะมีลวดลายและรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ทั้งยังเป็นสินค้าที่มีคุณค่าและราคาสูง เพราะเป็นงานศิลปะที่ทำด้วยมือ ทำให้ราษฎรจำนวนมากเลี้ยงชีวิตได้มั่นคงด้วยเส้นไหม

    b989e0b8a2e0b887e0b984e0b8abe0b8a1e0b8a1e0b8b5e0b8a1e0b8b2e0b895e0b8b1e0b989e0b887e0b981e0b895-1.jpg

    b989e0b8a2e0b887e0b984e0b8abe0b8a1e0b8a1e0b8b5e0b8a1e0b8b2e0b895e0b8b1e0b989e0b887e0b981e0b895-2.jpg

    b989e0b8a2e0b887e0b984e0b8abe0b8a1e0b8a1e0b8b5e0b8a1e0b8b2e0b895e0b8b1e0b989e0b887e0b981e0b895-3.jpg

    b989e0b8a2e0b887e0b984e0b8abe0b8a1e0b8a1e0b8b5e0b8a1e0b8b2e0b895e0b8b1e0b989e0b887e0b981e0b895-4.jpg

    ขอขอบคุณที่มา

    https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000071150
     

แชร์หน้านี้

Loading...