เรื่องเด่น การใช้ “ปัญญา” : ธรรมโอวาทหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย เสขะ บุคคล, 4 ตุลาคม 2017.

  1. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    53
    ค่าพลัง:
    +4,024
    406816_324687100896993_100000671166552_1018947_1228708637_n.jpg


    ..การที่ใช้การค้นคว้า เรียกว่า “ปัญญา”


    การนึกคิดปรุงแต่งของร่างกายของเรา นึกคิดถึงอันใดก็แล้วแต่ สิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราชอบใจ ก็เอามาพิจารณา เป็นแก้วแหวนเงินทองข้าวของที่รักที่ชอบใจอันใดอันหนึ่ง ก็เอามาพิจารณา

    ว่าอันนั้นเมื่อเราตายแล้วเป็นของเราหรือเปล่า แล้วสิ่งนั้นเขาว่าเป็นของของเราหรือ หรือเราไปยึดเขา ก็ดูหัวใจเรา ที่เอื้อมไปพิจารณาอย่างนั้นด้วย อันนั้นเขาว่าอะไร ใจเรานี้ต่างหากเป็นคนไปว่า เป็นของของเรา ของสวยของงามใครมาลักมาเอาไปไม่ได้ นี่...มันก็ต้องดูตัวนี้อีกทีหนึ่ง มองดูหัวใจที่มันคิดไปอย่างนั้น นี่...ต้องพิจารณาอย่างนี้

    พิจารณาลงไปอย่างนั้นแล้ว เมื่อพิจารณาแล้ว เราก็มาหยุดใจ ให้เป็นปกติ ไอ้ใจที่เป็นปกตินี้ มันไม่มีว่าอะไรนี่ มันมีแต่หน้าที่แต่ “รู้” อยู่อย่างเดียวเท่านั้น อยู่กับความปกติของใจ

    นี่...เพราะฉะนั้นจึงต้องค้นคิด พิจารณา การพิจารณาเป็นบาทสำคัญ แต่ว่า การพิจารณาอย่างนี้ คนไม่ค่อยชอบ เพราะมันต้องคิด ต้องนึก ต้องปรุง

    ยิ่งปรุงในร่างกายเท่าไร พิจารณาร่างกายเท่าไร ใจนั้นยิ่งสงบ เยือกเย็นลงเป็นลำดับ เมื่อใจได้พิจารณาถึงกาย พิจารณาตั้งแต่หัว มีตา มีหู มีจมูก มีปาก มีลิ้น มีแก้ม มีผม เบื้องบนลงไปมีคาง มีขากรรไกร มีฟัน กราม ฟันหน้า ฟันหลัง ฟันล่าง ฟันบน อย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ได้แค่นั้น ใจก็สงบแล้ว

    แต่โดยมากผู้ที่ไม่เคยค้นคว้าพินิจพิจารณา ก็กลับเถียงขึ้นมาอีกแล้วว่า การค้นคว้าพินิจพิจารณาอย่างนั้น ใจมันไม่สงบนี่ นี่เถียงขึ้นมานะ เถียง...ทำไมว่าเถียง เพราะไม่เคยเป็น ไม่เคยเข้าใจ จึงเถียง ทะลึ่งเถียงขึ้นมาว่า ไม่ใช่ทาง ไม่ใช่หนทางอันแท้จริง นี่...อย่างนี้ก็มี

    นั่นก็ต้องให้อภัย เพราะว่า เหมือนบุคคลที่ทำแกงแต่ไม่ได้กินแกง ก็มันเปรี้ยว มันเค็ม มันมีหวานมีมันอย่างไร ท่านเปรียบเหมือนทัพพีที่คนอยู่ในแกงไม่รู้รส

    เหมือนกันกับเรา นักปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้ายังไม่ตกในสภาวะทีค้นคว้าพินิจพิจารณาแล้ว ยังมืดแปดด้าน ยังไม่เข้าใจส่วนละเอียดส่วนนี้ เพราะฉะนั้นการค้นคว้าพินิจพิจารณา นี้เป็นสิ่งสำคัญ เราไม่ต้องไปเอาอื่นไกลมาก เพียงแต่นึกถึงอวัยวะของร่างกายเราเท่านี้ก็พอแล้ว

    เพราะฉะนั้นให้เดินอยู่เฉพาะกายอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เบื้องบนไปถึงปลายตีน ถึงมือซ้ายมือขวา ถึงปลายตีนเบื้องขวา ปลายตีนเบื้องล่าง เดินจากปลายตีนเบื้องขวาเดินมาหาเบื้องซ้าย จากปลายตีนเบื้องซ้ายขึ้นมาหาเบื้องบน อย่างนี้ตลอดๆ ลองดูเถอะ แต่อย่างนี้ไม่ใช่ของง่าย ไม่ใช่ของสบายเหมือนกัน จะทำให้ใจอยู่หนึ่งกับกายอันเดียวเนี่ยลองดูเถอะ นักสมาธิดีๆก็ลองดูได้ ถ้าไม่เชื่อก็ลองดูว่าจะจริงแค่ไหน เออ ลองดู ลองดู

    ที่เราว่าเรามีความรู้ความฉลาด รู้จักในข้อปฏิบัติจริงแล้ว ก็ลองดูให้ชัด ว่าจะพิจารณาได้นานขนาดไหน ตั้งนาฬิกาลืมตาดูก่อนที่จะนั่ง เอาให้จริงๆ อย่างนี้ นี่ “รู้หรือไม่รู้” รู้กันตรงนี้

    ถ้าพิจารณากายไม่ได้ แสดงว่ายัง “อยาก” อยู่

    อย่าเข้าใจตัวเป็นผู้ประเสริฐ, ไม่ได้ ต้องเข้าใจอย่างนั้น กำหนดลองดูเถอะ ใจที่มันเข้มแข็งพร้อมด้วยทั้งสติ ทั้งสมาธิ แล้วมันก็จะกดดิ่งลงไปได้ตลอดเวลาอย่างนั้น เดินขึ้นเดินลง เดินไปซ้าย เดินไปขวา เดินไปหน้า เดินไปหลัง นึกได้ตลอดเวลาอย่างนั้น นี่...นี่แหล่ะ “มรรค” มรรคตัวสำคัญ

    อันนี้เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว มันจะเป็นเหตุ ก้าวไปสู่ความสิ้นทุกข์ ความหมดทุกข์ เพราะคลายตัวนี้ "เราหลงติดกาย" หลงตัวนี้เอง หลงหญิง หลงชาย หลงสวยหลงงาม ก็หลงตัวนี้ ไม่นอกไปจากตัวนี้ เพราะฉะนั้น ต้องค้นกายของเรา ลงไปให้หนัก ...


    หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท
    ที่มา การพิจารณากาย
    แสดงไว้เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔
    ฟังเสียงธรรมฉบับเต็มได้ที่ลิ้งค์นี้
    www.youtube.com/watch?v=23uQdgCUZ64&index=12
     
  2. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,069
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,001
    ค่าพลัง:
    +69,959
     

แชร์หน้านี้

Loading...