การให้อภัยทาน คืออะไร และมีการปฏิบัติอย่างไร ?

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย Dharaya, 9 ธันวาคม 2020.

  1. Dharaya

    Dharaya ศรัทธาอันประณีต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2020
    โพสต์:
    151
    ค่าพลัง:
    +51
    c42e5cbd2edd9293260facdb2a258758.jpg
    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ให้ความหมายของคำว่า อภัยทาน ดังนี้

    อภัยทาน คือ การยกโทษให้ คือการไม่ถือความผิดหรือการล่วงเกินกระทบกระทั่งว่าเป็นโทษ อภัยทานนี้เป็นคุณแก่ผู้ให้ ยิ่งกว่าแก่ผู้รับ เช่นเดียวกับทานทั้งหลายเหมือนกัน คืออภัยทานหรือการให้อภัยนี้ เมื่อเกิดขึ้นในใจผู้ใด จะยังจิตใจของผู้นั้นให้ผ่องใสพ้นจากการกลุ้มรุมบดบังของโทสะ อันใจที่แจ่มใส กับใจที่มืดมัว ไม่อธิบายก็น่าจะทราบกันอยู่ทุกคนว่าใจแบบไหนที่ยังความสุขให้เกิดขึ้นแก่ เจ้าของ ใจแบบไหนที่ยังความทุกข์ให้เกิดขึ้น และใจแบบไหนที่เป็นที่ต้องการ ใจแบบไหนที่ไม่เป็นที่ต้องการเลย

    ความจริงนั้น ทุกคนที่สนใจบริหารจิต จะต้องสนใจอบรมจิตให้รู้จักอภัยในความผิดทั้งปวง ไม่ว่าผู้ใดจะทำแก่ตน แม้การให้อภัยจะเป็นการทำได้ไม่ง่ายนัก สำหรับบางคนที่ไม่เคยอบรมมาก่อน แต่ก็สามารถจะทำได้ด้วยการอบรมไปทีละเล็กละน้อย เริ่มแต่ที่ไม่ต้องฝืนใจมากนักไปก่อนในระยะแรก

    ตัวอย่างเช่น เวลาขึ้นรถประจำทางที่มีผู้โดยสารคอยขึ้นรถอยู่เป็นจำนวนมาก หากจะมีผู้เบียดแย่งขึ้นหน้า ทั้ง ๆ ที่ยืนอยู่ข้างหลัง ถ้าเกิดโกรธขึ้นมาไม่ว่าน้อยหรือมาก ก็ให้ถือเป็นโอกาสอบรมจิตใจให้รู้จักอภัยให้เขาเสีย เพราะเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรถือโกรธกันหนักหนา เป็นเรื่องเล็กน้อยเหลือเกินควรจะอภัยให้กันได้ แต่บางทีไม่ตั้งใจคิดเอาไว้ก็จะไม่ทันให้อภัยจะเป็นเพียงโกระแล้วจะหายโกรธ ไปเอง

    โกรธแล้วหายโกรธเอง กับโกรธแล้วหายโกรธเพราะให้อภัย ไม่เหมือนกัน โกรธแล้วหายโกรธเองเป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ้งเมื่อเกิดแล้วต้องดับ ไม่เป็นการบริหารจิตแต่อย่างใด แต่โกรธแล้วหายโกรธเพราะคิดให้อภัย เป็นการบริหารจิตโดยตรง จะเป็นการยกระดับของจิตให้สูงขึ้น ดีขึ้น มีค่าขึ้น”

    ฉะนั้น การให้อภัยทาน ก็คือ “การไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู” ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน เพราะเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อ “ละโทสะกิเลส” และเป็นการเจริญ “เมตตาพรหมวิหารธรรม” จึงเป็นสิ่งที่สาธุชนทั้งหลายควรบำเพ็ญให้มีขึ้นในตน เพราะมีผลานิสงส์มาก

    พุทธทาสภิกขุ ได้ให้ความหมายของ อภัยทาน ว่า

    ให้อภัย คำว่า อภัย นี้แปลว่า ไม่ต้องกลัว ให้อภัย คือเราให้ความไม่ต้องกลัวแก่บุคคลนั้น แปลว่า บุคคลนั้นไม่ต้องกลัวเรา นี่คือให้อภัย ทีนี้บางคนอาจจะคิดว่า นี้มันไม่ใช่ให้ทาน นี่มันไม่รู้ เขาพูดไปทั้งที่ไม่รู้การให้อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทาน แต่เขาเรียกว่า “ อภัยทาน ”เป็นสิ่งที่ให้กันได้ ให้ได้ทั้งทางกาย ให้ได้ทั้งทางวาจา ให้ได้ทั้งทางจิตใจ ทางร่างกาย เขามาขอขมาขออภัยเราก็รับ ทางวาจา บอกอโหสิกรรม ทางจิตใจ เราก็สลัดความโกรธ ความอาฆาตจองเวรอย่างนี้ก็เรียกว่า“ อภัยทาน ” ทั้งนั้นมีได้ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ

    ทีนี้แยกประเภทให้เห็นชัดว่าอภัยทานนี้ อย่างน้อยก็มีอยู่สัก 3 อย่าง อภัยทานอย่างแรกคือ

    1.การให้อภัยโทษ ให้ขมาโทษ คือยอมรับการขมาโทษ เรียกว่า ให้อภัยโทษ รับการขอขมานี่ เข้าใจกันดีแล้วไม่ต้องอธิบายก็ได้

    2.เราไม่เบียดเบียน ไม่ประทุษร้ายใคร นั่นคือให้อภัยทานเหมือนกัน เราจงเป็นอยู่อย่างไม่เบียดเบียน อย่างไม่ประทุษร้ายใคร ที่เขาเรียกกันว่า “ศีล” ศีล นั่นแหละคือ อภัยทาน เราไม่ประทุษร้าย ไม่เบียดเบียนแก่ชีวิตแก่ร่างกาย หรือแก่น้ำใจ ไม่เบียดเบียนเนื้อตัวของเขา ไม่เบียดเบียนจิตใจของเขา ไม่ทำลายชีวิตของเขาทุกระดับ นับตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานขึ้นมา จนถึงมนุษย์ จนกระทั่งเทวดา หรือพรหมอะไร ถ้ามันจะมี แปลว่าสิ่งที่มีชีวิต มีความรู้สึกนึกคิดแล้ว เราไม่เบียดเบียนให้เขารู้สึกกระทบกระทั่งเป็นทุกข์นี้เรียกว่า ให้ความไม่เบียดเบียน ความไม่ประทุษร้าย

    3.แผ่เมตตาจิตอยู่เป็นปกติ ทุกวัน ทุกคืน ทุกลมหายใจเข้าออก นี้ก็คือ อภัยทาน นึกดูแล้วก็น่ารวย ในข้อที่ว่าอภัยทานนี้ไม่ต้องลงทุนสักสตางค์หนึ่งก็ได้ ต้องเสียหลายแสนนะ แต่ว่าทำอภัยทานนี้ ไม่ต้องให้สตางค์สักสตางค์หนึ่งก็ทำได้ แล้วยังจะมีผลสูงกว่าเสียด้วย

    อนึ่ง ขอให้รู้ไว้ว่า อภัยทานนี่มันทำยากกว่าที่จะให้วัตถุ เพราะมันเป็นเรื่องจิตใจมากขึ้นไปอีก คนถือตัว ใครมาขอขมาก็ไม่ยอมให้ แถมทำผู้อื่นเดือดร้อนอยู่เรื่อย ไม่รักผู้อื่น ไม่เห็นใจผู้อื่น นี่เรียกว่า ไม่มีอภัยทาน ขอให้ตัดสินใจแน่ลงไปว่า เรานี้ตั้งแต่วันนี้ไป จะสะสางเรื่องอภัยทานนี้ให้เป็นชิ้นเป็นอัน สำหรับวัตถุทานก็ทำมามากแล้ว แต่เรื่องอภัยทานนี้ดูยังโหรงเหรง นี่ขอให้ไปชำระสะสาง คือทำให้มันมีขึ้น ให้มันครบถ้วน ให้มันถูกต้องว่า
    1. ให้อภัยโทษ ยอมรับขมา
    2. ไม่เบียดเบียน ไม่กระทบกระทั่ง ไม่ประทุษร้ายใครหมด
    3. อยู่ด้วยจิตที่แผ่เมตตา ทั้งกลางวัน กลางคืน
    ทั้งหมดนี้ ก็เป็นอภัยทานเช่นกัน
     

แชร์หน้านี้

Loading...