กินเจตามคำสอนขององค์พระมหาโพธิสัตต์เจ้า(พระแม่กวนอิม)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย mahalap, 6 ตุลาคม 2020.

  1. mahalap

    mahalap ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2008
    โพสต์:
    1,272
    ค่าพลัง:
    +4,208
    คำแถลงการจัดพิมพ์

    ศีลเจพรต เป็น “ศีลแห่งความเมตตา” ของ พระมหาโพธิสัตว์ หรือมีพระนามที่รู้จักกันทั่วไปว่า “พระแม่กวนอิม” ที่มีพระเมตตาต่อสัตว์โลกทั้งหลาย โดยพระองค์ได้ทรงพิจารณาถึงความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับเหล่า สรรพสัตว์ อ่อนแอ หรือมีปัญญาด้อยกว่า มนุษย์ ผู้เป็นสัตว์อันประเสริฐด้วยประการทั้งปวง พระองค์จึงได้ทรงบัญญัติศีลเจพรตขึ้นเพื่อให้มีการละจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน โดยประทานข้อบัญญัตินี้ให้กับผู้ที่มีจิตศรัทธา เพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดผลของความเมตตาต่อตนเอง และต่อผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย

    ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของธรรมชาตินับตั้งแต่ได้มีข้อบัญญัติของศีลเจพรตอุบัติขึ้นในโลก การสืบทอดศีลเจพรตก็ได้มีการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อน ผิดไปจากข้อบัญญัติเดิมเช่นเดียวกัน หนังสือเล่มนี้จึงได้นำเอา ข้อบัญญัติที่ถูกต้อง มาเผยแพร่ เพื่อเป็นการชี้แนะและเป็นข้อพิจารณาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติ ที่มีแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ที่มีจิตศรัทธา และผู้ที่สนใจ ได้มีโอกาสศึกษาเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องและเกิดผลได้อย่างสมบรูณ์

    ปัจจัยที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ การปฏิบัติตนตามแนวของพระมหาโพธิสัตว์นี้ จะมีคุณประโยชน์ในด้านการเสริมสร้างสติปัญญาให้เกิดผลเพิ่มพูนขึ้นต่อผู้ที่ปฏิบัติตามหลักพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกรณีที่มีการรักษาศีลเจพรตหรือการปฏิบัติทำสมาธิตามหลักของพระมหาโพธิสัตว์เป็นส่วนประกอบอีกทางหนึ่งด้วย

    คณะผู้จัดทำจึงได้มีการรวบรวมข้อบัญญัติของศีลเจพรตขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายดังนี้คือ.-

    ๑) เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องของ การไม่เบียดเบียน

    ๒) เพื่อทำความเข้าใจใน หลักการปฏิบัติของศีลเจพรตที่แท้จริง

    ๓) เพื่อทำความเข้าใจใน การปฏิบัติด้านสมาธิจิต ตามแนวของพระมหาโพธิสัตว์

    ๔) เพื่อให้เข้าใจถึง การพักกรรม ตามหลักของมหายาน และสามารถ นำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้อย่างจริงจัง

    ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่มีความศรัทธาในพระมหาโพธิสัตว์และผู้ที่มีความสนใจในศีลเจพรตได้ศึกษาข้อเท็จจริง และพิจารณาปฏิบัติตามข้อบัญญัติศีลเจพรต คือละจากการเบียดเบียนเพื่อการเสริมสร้างเมตตาธรรม และให้บังเกิดผลในด้านสันติสุขต่อจิตวิญญาณของตนเองและผู้อื่น ตลอดจนเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายสืบต่อไป เพื่อการอยู่ร่วมกันในโลกนี้โดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันตามแนวทางของพระมหาโพธิสัตว์ ผู้มีพระเมตตาอันสูงส่งด้วยการอธิษฐานจิตอยู่คู่โลกเพื่อช่วยเหลือค้ำจุนสัตว์โลกทั้งปวง

    หนังสือ “ศีลเจพรต” นี้ได้จัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๕ โดยที่คณะผู้จัดทำได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขบทความบางส่วนเพื่อให้เข้าใจง่ายและเป็นประโยชน์มากขึ้น โดยได้เพิ่มเติมบทความที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญที่ผู้อ่านส่วนมากอาจยังไม่เคยได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องจากท่านผู้รู้จริงมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบท “กำเนิดศาลฟ้าดิน” และ “การพักกรรมแบบมหายาน” ซึ่งผู้ที่มีความศรัทธาในศีลเจพรตสามารถนำไปศึกษาและปฏิบัติให้เกิดผลได้อย่างจริงจัง โดยการอธิษฐานขอพระพรพระบารมีจากเสด็จพ่อฟ้าเสด็จแม่ดิน และพระมหาโพธิสัตว์

    อนึ่ง หนังสือเล่มนี้มิได้มีเจตนาจัดทำขึ้นเพื่อสร้างความขัดแย้งในความเห็นที่แตกต่างกับผู้ใด หรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น คณะผู้จัดทำตระหนักดีว่าในสังคมย่อมมีความเชื่อและความศรัทธาที่แตกต่างกันไปในแต่ละหมู่เหล่าตามที่ได้มีการปฏิบัติสืบทอดกันมา อีกทั้งคำสอนของพระพุทธองค์ก็มิให้เชื่อตามสิ่งที่ได้ยิน ได้อ่าน หรือได้เห็นโดยทันที แต่ให้รับฟังและนำมาพิจารณาในเบื้องต้นด้วยเหตุและผล จึงนับว่าเป็นผู้มีปัญญา

    คณะผู้จัดทำเพียงแต่นำข้อเท็จจริงมาเสนอ และขอรับรองว่าบทความในหนังสือเล่มนี้เป็นหลักคำสอนของพระพุทธองค์ และองค์พระมหาโพธิสัตว์อย่างถูกต้องแท้จริง เพื่อให้ท่านผู้อ่านทุกท่านเกิดความเชื่อมั่น และความสบายใจ และยังสามารถนำไปปฏิบัติโดยมิต้องมีข้อกังขา หรือตะขิดตะขวงใจแต่ประการใด ทั้งนี้และทั้งนั้น อานิสงส์ใดๆ ที่พึงเกิดขึ้นจากการทำความเข้าใจและการปฏิบัติตามศีลเจพรตนี้ คณะผู้จัดทำขอน้อมจิตอุทิศให้กับ

    · เหล่าพรหมเทพเทวะที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่รักษากาย และใจ ทั้งหลายทั้งปวง

    · บรรพบุรุษทั้งในอดีตชาติ และชาติปัจจุบัน

    · เหล่าท่านเจ้ากรรมนายเวรทุกผู้ ทุกนาม ทุกตัวทุกตน ทุกภพทุกชาติ

    · ท่านผู้อ่าน และผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน

    · เหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ตกทุกข์ได้ยาก ตกระกำลำบากทั้งหลายทั้งปวง


    คำนำ

    ในปีหนึ่งๆ ที่ผ่านไปนั้นเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องตกเป็นอาหารของมนุษย์เราอย่างนับไม่ถ้วน นั่นคือ การเบียดเบียนเข่นฆ่าผู้ที่อ่อนแอกว่า โดยถือคตินิยมว่าเนื้อสัตว์เป็นอาหารที่มีรสชาดอันโอชะของปวงมนุษย์ ดังนั้นจึงเปรียบเสมือนกับว่า มนุษย์เราทุกๆ ผู้เป็นผู้ที่มีป่าช้าอยู่ในตัวเองทุกผู้ เพราะมีซากสัตว์ตกลงสู่กระเพาะของเราอย่างมากมาย ซึ่งนับว่าเป็นป่าช้าที่กว้างใหญ่ไพศาล ยิ่งกว่ามหาสมุทรที่ถมเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักเต็มและไม่มีขอบเขตจำกัด ทั้งๆ ที่การเบียดเบียนสัตว์นี้เป็นเรื่องของการก่อหนี้กรรม ทั้งสิ้น เพราะหากยิ่งกินเนื้อสัตว์มากเท่าใดก็ยิ่งเพิ่มการประกอบกรรมมากขึ้น และจะเป็นเหตุให้เหล่าดวงวิญญาณของสรรพสัตว์ทั้งหลายมีความอาฆาตแค้นสะสมมากขึ้นเท่านั้น

    มนุษย์เราทุกคนจึงควรที่จะทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ถึงเรื่องการเบียดเบียนและเรื่องจิตวิญญาณ เพราะ มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายต่างก็มีจิตวิญญาณ เช่นเดียวกัน ต่างกันแต่ว่ามนุษย์นั้นแสดงออกให้เห็นถึงความโลภ โกรธ หลง อย่างเด่นชัด และเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกยกย่องจากเหล่ามนุษย์ด้วยกันเองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ กล่าวคือ มีสติปัญญา มีความรู้และความเฉลียวฉลาดที่จะสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการกระทำของแต่ละผู้ได้ ส่วนสัตว์ทั้งหลายนั้นถูกเรียกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะ ขาดสติปัญญาในการพิจารณา ซึ่งเป็นข้อแตกต่างสำคัญที่ไม่เหมือนมนุษย์นั่นเอง

    มนุษย์มีสมองในการที่จะพิจารณาเลือกการกระทำของตนเองได้ ซึ่งจิตวิญญาณของเหล่าสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายก็มีความต้องการเลือกการกระทำเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีโอกาสที่จะทำได้ และต้องปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมที่ได้กระทำไว้ตามกรรมของตน ในขณะที่มนุษย์เราทั้งหลายมีโอกาสจะประกอบกรรมดีหรือกรรมชั่วที่สามารถทำให้จิตวิญญาณได้ขึ้นสวรรค์ ลงนรก หรือหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้ ซึ่งเท่ากับว่า มนุษย์เป็นผู้มีโอกาสเลือกการกระทำของตน

    ฉะนั้น มนุษย์จึงควรที่จะรักษาความประเสริฐและรักษาโอกาสของตนไว้โดยการ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และไม่เบียดเบียนสัตว์ เพราะการเบียดเบียนสัตว์นั้นเป็นการสร้างความอาฆาตพยาบาท ซึ่งมีผลผูกพันไปถึงครอบครัวและลูกหลานของเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายอีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะมนุษย์เราไปพรากเขาจากครอบครัวที่มีสื่อสัมพันธ์ในด้านความรักและการสืบสายเลือดเช่นเดียวกับมนุษย์

    มนุษย์เราบางผู้อาจจะคิดว่าในเมื่อเรามิได้เป็นผู้ลงมือกระทำการเบียดเบียนชีวิตด้วยตัวเราเอง เราเพียงแต่เป็นผู้ไปซื้อเนื้อสัตว์มาประกอบเป็นอาหารเท่านั้นเราจะมีบาปด้วยหรือ ถ้าเป็นกรณีเช่นนี้ก็จงใช้สติปัญญาพิจารณาอย่างเป็นธรรมดูเถิดว่า การที่ผู้อื่นประกอบกรรมในการฆ่าสัตว์นั้น เขาก็ย่อมหวังที่จะทำการค้าโดยหวังผลกำไรจากการที่เราไปซื้อเนื้อสัตว์นั้นๆ เพราะฉะนั้น การที่เราไป ซื้อเนื้อสัตว์ก็เท่ากับเราเป็นผู้ส่งเสริมให้มีการฆ่าสัตว์นั่นเอง

    และหากแม้นเป็นกรณีที่ผู้อ่านบางท่านอาจอ้างว่าการซื้อเนื้อมาบริโภคโดยที่มิได้ลักขโมยมานั้นจะเป็นบาปด้วยหรือ ก็ขอให้เราได้พิจารณาต่อไปด้วยใจเป็นธรรมและมีความเป็นกลางอย่างแท้จริง โดยตรองให้ลึกซึ้งเถิดว่าเรานั้นเป็นผู้ที่ส่งเสริมการกระทำบาปให้เกิดขึ้นโดยทางอ้อมหรือไม่ หรือเรา เปรียบเสมือนเป็นผู้สั่งฆ่าหรือไม่ เพราะผู้ที่กระทำการฆ่าก็เปรียบเสมือนกับเพชฌฆาตที่เป็นลูกจ้างของผู้สั่งฆ่านั่นเอง ฉะนั้นผู้ที่เป็นเพชฌฆาตย่อมจะมีความผิดที่ต้องได้รับโทษอย่างมหันต์ และผู้ที่สั่งฆ่าก็ย่อมจะต้องมีความผิดด้วยเช่นเดียวกัน

    จงตรองดูเถิดว่าจิตวิญญาณของสัตว์ทั้งหลายก็มีความอาฆาตแค้น มีความผูกพันอยู่กับครอบครัวหรือสิ่งที่ตนรักและหวงแหน ก็ย่อมที่จะต้อง ตามล้างตามผลาญเพื่อชดใช้หนี้กรรมสืบต่อกันไป ดังนั้นถึงแม้ว่ามนุษย์เราจะหลงติดอยู่ในรสชาดของเนื้อสัตว์ว่าเป็นอาหารอันโอชะและสามารถบำรุงร่างกายของมนุษย์ให้มีความเจริญเติบโตเพื่อให้เกิดมีพลังในการประกอบสัมมาอาชีพก็ตาม แต่มนุษย์เราพิจารณากันบ้างหรือไม่ว่า พืชผักที่มีอยู่มากมายเหลือคณานับอันเป็นสิ่งที่ไม่มีจิตวิญญาณ และไม่มีจิตอาฆาตแค้น ก็เป็นอาหารที่มีคุณค่าอย่างมหาศาลในการบำรุงร่างกายให้เจริญเติบโตได้เช่นเดียวกัน

    ฉะนั้น มนุษย์เราจะนำพืชผักเหล่านี้มาเป็นอาหารเพื่อจะเป็นการทดแทนอาหารที่ทำขึ้นจากเนื้อสัตว์ไม่ได้เชียวหรือ เพราะ การละจากการบริโภคเนื้อสัตว์ก็เป็นการหยุดก่อหนี้กรรม และ หยุดการสะสมนำซากสัตว์เข้าสู่ป่าช้าในร่างกายของเรา หากมนุษย์เราสามารถละจากการบริโภคเนื้อสัตว์ได้มากเท่าใดก็ยิ่งเป็นกุศลต่อตัวเราเองที่ไม่เบียดเบียนสัตว์มากเท่านั้น

    กำเนิดของศีลการไม่เบียดเบียน

    สัตว์ทั้งหลายมีชีวิต มีวิญญาณ มีจิตสร้างความผูกพัน ดังนั้นการเบียดเบียนสัตว์เหล่านั้นโดย การพรากชีวิตเพื่อนำมาเป็นอาหาร ก็เท่ากับเป็นการสะสมซากสัตว์ไว้ในร่างกาย สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ กรรม และ ผลของกรรม ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นมวลกิเลสอย่างมหาศาล สัตว์ต่างๆ ทั้งน้อยใหญ่ย่อมเดือดร้อนเมื่อต้องถูกพลีชีวิตเป็นอาหารให้มนุษย์ผู้ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น “สัตว์อันประเสริฐ” ผู้มี “ปัญญา” ที่ได้กระทำการเบียดเบียน ทำร้ายร่างกาย และชีวิตสัตว์ที่มีความด้อยกว่าในทุก ๆ ด้าน

    พระมหาโพธิสัตว์ได้ทรงเล็งเห็นว่า พืช ผัก ถั่ว งา และผลไม้ต่าง ต่างที่มีอยู่อย่างมากมายหลายชนิดก็มีประโยชน์ต่อร่างกาย ที่จะทำให้มีชีวิตดำรงอยู่สืบต่อไปได้เช่นเดียวกับเนื้อสัตว์ คือสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารเพื่อประทังความหิวและการอยู่รอด และสามารถประกอบภารกิจในชีวิตประจำวันได้โดยที่ไม่ต้องมีการเบียดเบียนสรรพสัตว์ทั้งหลาย

    พระองค์จึงได้อธิษฐานจิตเป็นพระโพธิสัตว์อยู่คู่โลกเพื่อช่วยเหลือเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ตกทุกข์ได้ยาก และได้ทรงบัญญัติศีลการไม่เบียดเบียนให้กับผู้ที่เห็นคุณค่า ในการประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในพระพุทธศาสนา อันได้แก่ผู้ที่มีจิตเป็นกุศล มีสติที่จะควบคุมตัวเอง ให้ละจากการเบียดเบียนเนื้อสัตว์ เพื่อให้มนุษย์เราทั้งหลายมีจิตใจที่จะ ละจากความเหี้ยมโหด ละจากกิเลส คือไม่มีจิตใจที่เหี้ยมโหดจนเกินไปในการที่จะนำสัตว์ทั้งหลายมาเป็นอาหาร ซึ่งเท่ากับ ไม่สร้างศัตรูในภักษาหาร เพื่อเป็นการเตือนใจให้ใช้สติปัญญาพิจารณาว่ามีสิ่งใดที่เราควรละจากกิเลส ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

    ฉะนั้น จงระลึกอยู่เสมอว่า สัตว์ก็มีชีวิตจิตใจ มีอายุขัย มีพ่อแม่พี่น้อง รู้จักเศร้าโศก และรักตัวกลัวตายเหมือนกับมนุษย์เรา เช่นกัน คือรู้จักดีใจและเสียใจ เว้นแต่เพียงว่าสัตว์ทั้งหลาย มีสติปัญญาน้อย และมีความโง่เขลากว่า อีกทั้งยังสื่อภาษากับมนุษย์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่ ไม่ฆ่าสัตว์ และไม่เบียดเบียนสัตว์ จึงเป็นมหากุศล อย่างหนึ่งต่อตัวเรา

    ศีลเจพรตของพระมหาโพธิสัตว์ ในการไม่เบียดเบียนสัตว์นี้จึงเป็นศีลที่เหล่ามวลชนมนุษย์ทั้งหลายยอมรับว่า เป็นศีลที่มีคุณธรรมสูง และมีความดีเด่นสืบทอดมากับมนุษย์ทุกชนทุกเผ่าเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว จนในปัจจุบันนี้ก็เป็น ศีลข้อหนึ่ง ที่มนุษย์เราทั้งหลายมีความศรัทธากันมาก และยอมรับปฏิบัติสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ

    เพราะฉะนั้น หากมนุษย์เราทั้งหลายได้มีการละจากการเบียดเบียนเนื้อสัตว์แม้จะเป็นเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ก็ยังดีกว่ามิได้กระทำเลย เพราะจะเกิดเป็นบารมีบุญกุศลต่อตนเองเพื่อสั่งสมเป็นทุนรอนต่อไปในภพหน้า ฉะนั้น จงพิจารณาดูกันเถิดว่าศีลเจพรตนี้มีประโยชน์ต่อมนุษย์เราและสัตว์ทั้งหลายเพียงใด


    หลักของการไม่เบียดเบียน

    ศีลของพระมหาโพธิสัตว์จะเป็นสิริมงคลต่อทุกๆ ผู้ที่ได้ละจากการเบียดเบียนเนื้อสัตว์เพื่อการถวายเป็นพุทธบูชา เพราะการเบียดเบียนสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจของจิต ตามหลักศีลเจพรตของพระมหาโพธิสัตว์นั้น

    · คำว่า “เจ” หมายถึง การไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

    · คำว่า “เบียดเบียน” คือ การกระทำต่อผู้อื่นในด้านจิตวิญญาณ หรือเป็นการเข่นฆ่าเพื่อนำร่างกายมาเป็นอาหารหรือวัตถุประสงค์อื่นๆ และก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อสัตว์ทั้งหลายซึ่งหมายถึงผู้ที่มีจิตวิญญาณ มีความผูกพัน และมีความรักตัวกลัวตายเช่นกัน

    · การเบียดเบียน ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีการ ตั้งใจ หรือ ไม่ตั้งใจ คือ

    - ตั้งใจ หมายถึง การกระทำด้วยความเต็มใจ หรือสั่งให้ทำด้วย จิตที่มุ่งมั่น ในการสั่งให้ทำ

    - ไม่ตั้งใจ หมายถึง การกระทำที่ขาดเจตนาในการทำ หรือหากแม้นทำลงไปแล้วเกิดความเดือดร้อน แต่ผลทั้งหลายก็ยังเบาบางอยู่บ้าง เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ตั้งใจ

    ในกรณีที่มีการทำบุญทำกุศลในการจัดทำอาหารเพื่อการถวายภัตตาหาร โดยที่มีการกระทำที่ดีที่สุดที่เรียกว่าไม่มีการเบียดเบียน แต่เกิดการเบียดเบียนชีวิตสัตว์เล็กๆ โดยที่มีความตั้งใจจะฆ่า หรือไม่เจตนาที่จะฆ่านั้น พระมหาโพธิสัตต์ได้มีการกำหนดจิตอธิษฐานในข้ออภัยทานที่ถูกต้องไว้แล้ว

    ฉะนั้น สัตว์เล็กสัตว์น้อย เช่นมด หรือแมลงทั้งหลายที่เราไม่ได้มีเจตนาทำร้ายให้ตาย แต่เป็นการกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือกระทำด้วยความปราณีตแล้ว จงอย่าได้นำจิตไปผูกพันกับสิ่งที่เกิดขึ้น และให้ถือเสียว่าเป็นวาระที่สัตว์เหล่านั้นหมดอายุขัย จิตเราก็จะเกิดความสบายใจได้ และหากตั้งใจกระทำด้วยความปราณีตสืบต่อไป เหตุทั้งหลายก็จะเกิดน้อยที่สุด

    จุดเริ่มต้นของพระมหาโพธิสัตว์ที่อธิษฐานจิตอยู่คู่โลก คือ การสอนให้มนุษย์ไม่เบียดเบียนผู้ที่อ่อนแอกว่าโดยการไม่บริโภคเนื้อสัตว์เป็นอาหาร และให้รู้ถึงบาป บุญ คุณ โทษ ที่เอาเนื้อเขามากินเพื่อบำรุงบำเรอความสุขของตน โดยที่มนุษย์ทั้งหลายตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเองว่าหากมนุษย์เราขาดเนื้อสัตว์แล้วร่างกายจะเจริญเติบโตไปไม่ได้ แต่ครั้งดึกดำบรรพ์มานั้นมนุษย์เราทุกผู้ทุกนามก็อยู่กันมาแบบสัตว์ด้วยกันทุกผู้จนเกิดการพัฒนามาถึงขั้นที่เรียกตัวเองว่า สัตว์ประเสริฐ และเรียกสรรพสัตว์ทั้งหลายว่า สัตว์เดรัจฉาน

    ในความจริงแล้วเราก็เป็น สัตว์โลก ด้วยกันทั้งสิ้น แต่มนุษย์เรามีการพัฒนาตัวเองให้สูงขึ้นกว่าสัตว์ทั้งหลาย คือมีมันสมองเพื่อนำมาใช้ในทางที่ถูกที่ควรก็ดี เพื่อการยังชีพอยู่ก็ดี หรือแม้แต่เพื่อการข่มเหงรังแกผู้อื่น และเป็นปัญหาต่างๆ ขึ้นมา จนกลายเป็นที่ยอมรับกันอย่างผิดๆ ว่าสัตว์ประเสริฐสามารถรังแกสัตว์เดรัจฉานที่มีสติปัญญาด้อยกว่า หรือมีกำลังน้อยกว่า หรือในบางโอกาสสัตว์เดรัจฉานอาจจะมีกำลังมากกว่าแต่ก็ย่อมแพ้ภัยต่อผู้มีปัญญาเหนือกว่าฉันใดฉันนั้น

    พระมหาโพธิสัตว์ได้บัญญัติว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ที่มีความอ่อนแอด้วยสติปัญญาก็ดี หรือด้วยกำลังก็ดี มนุษย์เราจึงควรจะ มีเมตตาจิต ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเนื้อสัตว์มาบริโภคเป็นอาหาร เพราะเนื้อสัตว์แต่ละชิ้นก็เปรียบเสมือนเนื้อมนุษย์แต่ละชิ้น เช่นเดียวกัน จงลองพิจารณาดูว่าหากเราเสียขาไปข้างหนึ่งเราจะมีความเสียดายอาลัยอาวรณ์หรือไม่ เพราะขาข้างนั้นก็มีเนื้อของเราติดอยู่ เช่นกัน

    หากมนุษย์เราเข้าใจถึงการเปรียบเทียบนี้เราก็จะสามารถมองเห็นทุกข์ของตัวเองว่า การเบียดเบียนผู้อื่นผู้นั้นย่อมมีทุกข์ เราเบียดเบียนเขาจิตของเราก็ย่อมมีทุกข์ แต่หากเรา ละจากการเบียดเบียนได้ จิตของเราก็จะผ่องใส ไม่มัวหมอง ไม่ติดอยู่ในกิเลสของการเข่นฆ่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน อันจะเป็นอานิสงส์บารมีเกิดขึ้นที่จิต เพราะหากจิตของเราสะอาดคือไม่เบียดเบียนผู้อื่น หรือไม่เบียดเบียนตนเอง จิตของเราก็มิต้องไปกังวลถึงบาป บุณ คุณ โทษ ก็ย่อมที่จะได้ประโยชน์ ได้บุญกุศลกับผู้อื่นและกับตนเองอย่างแน่นอน

    ส่วน ผู้ที่ยังติดรสการบริโภคเนื้อสัตว์ คือยังต้องการที่จะกินเนื้อ สัตว์อยู่นั้น อาจ มีจิตที่เข้าข้างตัวเอง และค้านขึ้นมาว่ากินเข้าไปแล้วก็ไม่เห็นมีโทษอะไร เวลากินก็อร่อย แล้วจะไปเกิดความสังเวชตามที่กล่าวมานี้ได้อย่างไร นี่คือจิตของผู้ที่ มิได้มีการพิจารณาถึงบาป บุญ คุณ โทษ เลย และ มัวแต่คำนึงถึงความต้องการในรสอร่อยที่ตนพอใจ แต่เพียงฝ่ายเดียว โดย ไม่ยอมรับรู้ในความทุกข์ของผู้อื่น ซึ่งจิตของผู้ที่มิได้มีการประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ในขั้นกลางหรือขั้นสูงจะมีลักษณะเช่นนี้ เพราะ ผู้ที่มีจิตขั้นกลางจะเกิดความสังเวชต่อเนื้อสัตว์ ที่ตนกินเข้าไป และบางโอกาสก็มีความเพิกเฉย นั่นก็คือ ไม่เห็นถึงความเอร็ดอร่อยของเนื้อสัตว์ ที่จะบำรุงบำเรอกระเพาะและลิ้นของตนเอง

    สำหรับ ผู้ที่มีจิตขั้นสูงจะไม่บริโภคเนื้อสัตว์เลย เพราะว่าสามารถตระหนักถึง บาป บุญ คุณ โทษ ของการบริโภคเนื้อสัตว์ ได้ดี เปรียบเสมือนกับ คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่เปรียบมนุษย์เป็นบัว ๔ เหล่านั่นเอง เหล่าบัวที่กำลังจะพ้นจากน้ำก็ย่อมเล็งเห็นโทษของการเบียดเบียนสัตว์ แต่ผู้ที่ยังอยู่ในโคลนตมก็ย่อมจะเห็นพระธรรมคำสั่งสอนเป็นเรื่องตลกขบขันว่านรกสวรรค์ไม่มีจริง เห็นเพียงแต่ว่ามนุษย์เราเกิดขึ้นแล้วก็สูญไปเท่านั้นเอง

    ฉะนั้น หากเราไม่เห็นว่าเนื้อของสัตว์เป็นสิ่งที่น่าเอร็ดอร่อย จิตของเราก็ย่อมจะสูงขึ้นเปรียบดัง ดอกบัวที่กำลังจะพ้นน้ำ และหากเรามีสติปัญญาหมั่นเพียรศึกษาประพฤติปฏิบัติในคำสอนของพระพุทธองค์ จิตของเราก็ย่อมจะสูงขึ้นถึงขีดสุด และย่อมที่จะมีโอกาสหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้อย่างแน่นอน


    องค์ประกอบและอานิสงส์ของศีลเจพรต

    ศีลของพระมหาโพธิสัตว์ คือ ศีลเจพรต ซึ่งมีมาก่อนสมัยพุทธกาล เป็นการ บัญญัติขึ้นโดยพระมหาโพธิสัตว์ ที่ มุ่งเน้นในเรื่องของการไม่เบียดเบียนต่อตนเองและต่อผู้อื่น นั่นคือ การไม่บริโภคอาหารที่เป็นสิ่งมีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีวิญญาณ และศีลเจพรตยังเป็น ศีลแห่งเมตตาธรรม เป็น ศีลที่ยินดีต่อความดี และ วางเฉยต่อสิ่งไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง

    ศีลของพระมหาโพธิสัตว์นี้หากผู้ใดถือปฏิบัติ ผู้นั้นย่อมมีอานิสงส์สูงส่ง ด้วยเหตุที่ว่าโลกปัจจุบันมีแต่ความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข่นฆ่าเอาชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการบีบบังคับ หรือไม่ว่าจะเป็นการที่เรียกว่าไม่ถนอมน้ำใจซึ่งกันและกัน ศีลแห่งพระโพธิสัตว์นี้จึงเปรียบประดุจว่ามนุษย์ผู้ต้องการที่พึ่งพาอาศัย มนุษย์ผู้ที่มีความทุกข์ร้อนขาดความร่มเย็น และเดือดร้อน โดยถูกบีบคั้นด้วยสิ่งกระทบจากภายนอก หากได้มีโอกาสวิ่งเข้ามาอาศัยภายใต้ร่มไม้ใหญ่ ย่อมมีความเยือกเย็น ย่อมมีความสุขสบายกาย ย่อมมีความสดชื่น ย่อมเบาจากสิ่งยึดเหนี่ยวทั้งหลาย

    องค์ประกอบของศีลเจพรต

    (๑) การไม่เบียดเบียนซึ่งชีวิต เลือดเนื้อ และ วิญญาณ คือการ ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ หรือนำมาปรุงแต่งเป็นอาหาร หรือสิ่งต่างๆ ที่เจือปนด้วยเนื้อสัตว์ โดยนำแต่พืชผักมาประกอบเป็นอาหารเพื่อการยังชีพเท่านั้น เพราะหากบริโภคสิ่งเหล่านี้ได้ตามส่วน ก็จะมีความสมบูรณ์ต่อการบำรุงร่างกายได้ดีทีเดียว อีกทั้งยังเป็นยารักษาและป้องกันโรคต่างๆ เพื่อที่จะสามารถเพิ่มความสมบูรณ์ต่อร่างกายให้มีความแข็งแรงกว่าการบริโภคสิ่งมีชีวิต เลือดเนื้อ และวิญญาณ

    (๒) การมีเมตตาธรรม คือการ ให้ความช่วยเหลือต่อเหล่ามนุษย์และสัตว์ หรือสิ่งที่มีชีวิตมีวิญญาณทั้งหลาย ด้วยการไม่เบียดเบียนและให้การช่วยเหลือเมื่อตกอยู่ในภาวะลำบาก โดยมีความพร้อมด้วย กาย วาจา ใจ เป็นที่ตั้ง

    (๓) มีความยินดีต่อการกระทำของผู้ที่ประกอบกรรมดี โดยแสดง การร่วมอนุโมทนา หรือหากสามารถ ช่วยเหลือในกิจการที่ผู้นั้นกระทำ ก็ย่อมจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายได้มากยิ่งๆขึ้น นั่นคือการที่เรียกว่า ยินดีในความดีทั้งปวง

    (๔) ความวางเฉยต่อสิ่งทั้งปวงที่เบียดเบียน คือการไม่ยินดียินร้าย ไม่สนับสนุน และไม่เข้าใกล้ผู้ที่กระทำการเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อหลีกให้พ้นจากความชั่วทั้งหลายเหล่านั้น และ ให้การอโหสิกรรม หรือที่เรียกว่า การให้อภัย เพื่อเป็นทานต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นๆ โดยไม่กระทำการโต้ตอบ

    ศีลเจพรตนี้หากจะเรียกว่าเป็น ศีลแห่งความสะอาดบริสุทธิ์ ศีลแห่งความสว่าง และ ศีลแห่งความเบาจากการเบียดเบียน ก็ถูกต้อง เพราะผู้ที่ได้ปฏิบัติตามย่อมพบกับความสะอาดหมดจดบริสุทธิ์ เกิดความสว่างไสวในจิตใจ หันเหจากตัวที่เรียกว่าสิ่งเกาะเกี่ยวหรือกิเลสทั้งปวง หมู่ชนใดที่ถือในศีลเจพรตนี้ย่อมเกิดสันติสุข สงบ ร่มเย็น และ มีความสามัคคีกลมเกลียว มีใจที่บริสุทธิ์ ต่อกันและกัน ผู้ที่เป็นฆราวาสหากได้กระทำการปฏิบัติรักษาศีลอันบริสุทธิ์คือศีลเจพรตนี้ จิตย่อมมีความสูงขึ้นเพราะว่าเป็นส่วนช่วย สนับสนุนเกื้อกูลส่งเสริมในศีล ๕ ข้อของพระพุทธองค์ให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น

    ฆราวาสทั้งหลาย จงอย่าได้เข้าใจผิดว่าการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่จะต้องยึดติด หรือเกิดความเสียดายในรสชาด หรือเกิดความกลัวว่าการบริโภคเพียงแต่พืชผักจะเป็นโทษต่อร่างกาย เพราะสิ่งเหล่านี้พระมหาโพธิสัตว์ และพระโพธิสัตว์ทุกๆ พระองค์ ได้ถือปฏิบัติจนได้บรรลุถึงความสุขอันแท้จริง และทรงเป็นผู้ที่มีความเมตตาอย่างสูงส่งด้วยการอธิษฐานจิตอยู่คู่โลกเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ และส่งเสริมให้กระทำแต่ความดี ฉะนั้น ทางสายนี้ย่อมเป็นทางประเสริฐ และเกื้อหนุนให้ก้าวเดินเพื่อบรรลุถึงความดีงามต่อไปยิ่งขึ้น



    อานิสงส์ของการบำเพ็ญศีลเจพรต

    การสมาทานศีลเจพรตเพื่อเว้นจากการเบียดเบียนสัตว์โดยละจากการบริโภคเนื้อสัตว์ เป็นการ สร้างเมตตาธรรมให้เกิดขึ้นกับจิตใจของผู้ที่สมาทานศีล เพราะเป็นการช่วยให้ ลดละจากความโหดร้ายอำมหิตของจิตใจ หรือ ความดุร้ายที่มีอยู่ในกมลสันดาน ของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม และจะเกิดผลดีอย่างยิ่งต่อผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ เพราะศีลข้อการละจากการเบียดเบียนนี้จะเป็นเครื่อง เสริมการปฏิบัติธรรมให้จิตมีความสงบ เพื่อนำสู่อำนาจสมาธิที่จะชักจูงให้ชีวิตมีความสงบสุขและมีจิตใจที่เยือกเย็น ซึ่งพอจะสรุปอานิสงส์ได้เป็นหัวข้อดังนี้คือ .-

    (๑) หยุดการก่อศัตรู เพิ่มมากขึ้นจนเป็นหนี้กรรมใหม่ ที่เรียกกันว่า เจ้ากรรมนายเวร ทั้งหลาย

    (๒) เป็นการ สะสมสร้างบุญกุศล และ สามารถอุทิศให้กับเจ้ากรรมนายเวร ได้อีกทางหนึ่ง

    (๓) เป็นผลให้ ก่อเกิดจิตใจโอบอ้อมอารี

    (๔) มีพรหมวิหารธรรม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

    (๕) ทำให้ จิตใจ สงบ เยือกเย็น และ บังเกิดผลในการประพฤติปฏิบัติธรรม ได้อย่างรวดเร็ว

    (๖) สุขภาพร่างกายแข็งแรงและเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผิวพรรณ หรือทางเดินอาหาร ตลอดจนความเบาบางจากโรคภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการบริโภคเนื้อสัตว์
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • bk2 (2).jpg
      bk2 (2).jpg
      ขนาดไฟล์:
      91.4 KB
      เปิดดู:
      113
    • B2CD.jpg
      B2CD.jpg
      ขนาดไฟล์:
      45.9 KB
      เปิดดู:
      80
  2. mahalap

    mahalap ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2008
    โพสต์:
    1,272
    ค่าพลัง:
    +4,208
    ไฟล์เสียง เอ็มพี 3 B2CD.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • SideA.mp3
      ขนาดไฟล์:
      28.5 MB
      เปิดดู:
      84
    • SideB.mp3
      ขนาดไฟล์:
      28.6 MB
      เปิดดู:
      89
  3. mahalap

    mahalap ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2008
    โพสต์:
    1,272
    ค่าพลัง:
    +4,208
    หนังสือ " ศีลเจพรต " bk2 (2).jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • newBook2.pdf
      ขนาดไฟล์:
      5.1 MB
      เปิดดู:
      91

แชร์หน้านี้

Loading...