เรื่องเด่น คติความเชื่อของคนไทย ทำไมต้องบูชา เจ้าป่า เจ้าเขา

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 8 กันยายน 2021.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    คติความเชื่อของคนไทย ทำไมต้องบูชา เจ้าป่า เจ้าเขา

    สำนักวรรณกรรมเเละประวัติศาสตร์ เคยให้ข้อมูลเรื่องเทวดาประจำถิ่น เคยให้ความรู้เรื่อง เทวดาประจำถิ่นหรือประจำท้องถิ่น ไว้ว่า

    จากกรณีข่าว "น้องจีน่า" ที่หลายคนกำลังให้ความสนใจกันอยู่ตอนนี้ โดยผู้ต้องสงสัยมีการกล่าวอ้างถึงความเชื่อเรื่องเจ้าที่ ผีถ้ำ ทางสำนักวรรณกรรมเเละประวัติศาสตร์ เคยให้ข้อมูลเรื่องเทวดาประจำถิ่น ไว้ว่า

    เทวดา หมายถึง ผู้ที่อยู่ต่างภพกับมนุษย์และมีอำนาจเหนือธรรมชาติ ดลบันดาลให้เกิดสิ่งต่างๆขึ้นได้ทั้งร้ายและดี ในประเทศไทยคำว่า “เทวดา” เป็นคำยืมจากภาษาบาลี ซึ่งโดยความหมายแล้วกินความตั้งแต่เทวดาหรือเทพเจ้าในศาสนาฮินดู (พราหมณ์) พุทธศาสนา รวมไปถึงเทวดาประจำถิ่นตามความเชื่อพื้นเมืองด้วย


    lg.jpg


    เทวดาประจำถิ่นหรือประจำท้องถิ่น ในประเพณีไทยเทวดาประจำท้องถิ่นนี้มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ได้แก่ เทวดาที่คอยดูแลรักษาประจำถิ่นที่ เช่น พระภูมิเจ้าที่ เจ้าทุ่ง เจ้าป่า เจ้าเขา ซึ่งเป็นใหญ่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ บ้างก็เรียกว่า เทพารักษ์ หากเป็นกรณีเทวดาที่สถิตอยู่ตามต้นไม้เรียกว่า รุกขเทวดา นอกจากนี้ ในหลายกรณี เมื่อบรรพบุรุษของครอบครัวหรือชุมชนเสียชีวิตลงก็อาจมีการยกย่องให้เป็นผีบรรพบุรุษ ซึ่งอาจรวมได้เป็นเทวดาประจำท้องถิ่นประเภทหนึ่งด้วย



    นอกจากเทวดาประจำถิ่นที่ คติความเชื่อของไทยยังมีการนับถือเทวดาประจำเมืองอีกด้วย โดยเมื่อสถาปนาบ้านเมืองขึ้นครั้งแรกก็ต้องตั้งศาลหรือหอขึ้นไว้เพื่อเป็นที่สถิตของผีบ้านผีเมือง บางครั้งเราก็เรียกขานเทวดาประเภทนี้ว่า ผีเสื้อเมืองหรือ พระเสื้อเมือง บ้างก็เรียกว่า ผีหลวง ทั้งนี้ ยังมีเทวดาอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับการนับถือด้วยว่าเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก เช่น พระแม่คงคา พระแม่โพสพ เป็นต้น

    สำหรับคติในการบูชาบวงสรวงเทวดานั้นสามารถพบได้ในพิธีและประเพณีหลายอย่างของไทย นัยว่าหากเราต้องดำเนินชีวิตสัมพันธ์กับพื้นที่หรือสิ่งใด รวมถึงถ้าจะทำกิจการงานใดเป็นพิเศษ ก็จำต้องสังเวยบอกกล่าวให้เทวดาทราบ เพื่อความสุขสวัสดีหรือบันดาลการบรรลุผลสำเร็จตามแต่กรณี มิฉะนั้นหากมิได้บวงสรวงสังเวยหรือปฏิบัติผิดจารีตธรรมเนียม เทวดาอาจจะบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ร้ายต่างๆได้ การบวงสรวงสังเวยนี้ มีอาทิ การตั้งศาลหรือหอ ในกรณีของเทวดาพระภูมิเจ้าที่ การไหว้ครู ในกรณีของเทวดาแห่งศิลปวิทยาต่างๆ การบวงสรวงเมื่อจะทำการตัดโค่นไม้ใหญ่ ในกรณีของรุกขเทวดา หรือหากคนไทยสมัยก่อนจะปลูกเรือนก็ต้องบวงสรวงทำบัตรพลีไหว้พระภูมิเจ้าที่เพื่อขอที่ดินต่อผู้รักษาพื้นดินก่อน บัตรพลีดังกล่าวมีหมากพลู มะพร้าวอ่อน ขนมต้ม กล้วยน้ำว้า เป็นต้น


    lg.jpg


    อย่างไรก็ดี คติในการบูชาบวงสรวงเทวดานั้นจะพบเห็นโดยมากในความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์และความเชื่อท้องถิ่น ในพุทธศาสนานั้น การบูชาเทวดามิได้มีระบุไว้ในพระบาลีแต่อย่างใด และแม้ชาวพุทธจะทำการบูชาเทวดาหรือเทพ ก็จะให้สถานะด้อยกว่าพระพุทธรูป เช่นในบ้านเรือนทั่วไป หิ้งบูชาพระจะอยู่เหนือแท่นบูชาทวยเทพต่างๆ โดยที่ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ การบูชาเทวดามีหลักการปฏิบัติกำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งพิธีจำนวนมากต้องให้พราหมณ์เป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างผู้บวงสรวงกับเทพเจ้า แม้ในสังคมไทยปัจจุบันคติการบูชาเทวดาก็มิได้เสื่อมถอยลงไปแม้แต่น้อย ดังจะเห็นได้จากศาลเทพเจ้าขนาดใหญ่ที่มีผู้คนจำนวนมากเข้าไปสักการะกราบไหว้

    กล่าวโดยสรุป คติความเชื่อเรื่องเทวดาหรือเทพเจ้าในสังคมไทยนี้มีมาแต่ครั้งก่อนสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย โดยในชั้นต้นความเชื่อเรื่องเทวดาน่าจะมีอยู่ในรูปของเทวดาประจำถิ่น หรือเทวดาที่เกี่ยวพันกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนอยู่แล้วครั้นเมื่อชาวไทยยอมรับนับถือพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ความเชื่อเรื่องเทวดาจึงได้พัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบที่ชัดเจนโดยเฉพาะในคติทางศาสนาพราหมณ์อย่างไรก็ตาม คติความเชื่อเรื่องเทวดาก็ได้ผสมผสานกันในพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อท้องถิ่น โดยจะมีสัดส่วนแตกต่างกันไปตามกลุ่มชนหรือพิธีกรรมต่างๆ และยังคงเป็นความเชื่อที่ดำเนินคู่ไปกับหลักการทางศาสนามาตราบจนปัจจุบัน



    ขอขอบคุณ สำนักวรรณกรรมเเละประวัติศาสตร์
    https://www.thainewsonline.co/lifestyle/820817
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 9 กันยายน 2021

แชร์หน้านี้

Loading...