ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NAMOBUDDHAYA, 12 กรกฎาคม 2021.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    qpxaKDFIQr5J7gKWY1Iz1pGKKaufx3nansYGacZetyr&_nc_ohc=LsAOSU1kwDAAX-WjIlC&_nc_ht=scontent.fbkk22-6.jpg




    #ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง

    ญาติ แปลตามตัวอักษรว่า คนรู้จักกัน
    คนคุ้นเคยกัน พอจะรวมลงได้เป็น ๒ ประเภท
    ๑ ญาติโดยสายโลหิต คือ พงศ์พันธุ์
    ที่สืบสายเลือดกันลงมาเท่าที่พอจะนับได้
    ๒ ญาติโดยธรรม คือ ผู้ที่คุ้นเคยกัน
    เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน สุขๆด้วยกัน ทุกข์ๆ ด้วยกัน
    ญาติอย่างนี้ทรงเรียกว่า วิสสาสญาติ
    ทรงยกย่องว่าเป็นญาติอย่างยิ่ง
    พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปลูกญาติโดยคุณธรรม
    ญาติโดยสายโลหิตนั้นมีได้จำกัด
    แต่ญาติโดยธรรมมีได้ไม่จำกัด
    ใครมีคุณสมบัติปลูกมิตรได้มากก็ได้ญาติมาก
    อนึ่ง คนที่แม้จะเป็นญาติโดยสายโลหิต
    แต่ไม่เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน
    มีแต่จะแก่งแย่งแข่งดีกัน ใส่ร้ายป้ายสีกัน
    ด่าว่าเสียดสีให้เจ็บอาย ยามสุขก็ริษยา
    ยามทุกข์ก็กระหน่ำซ้ำเติม ญาติอย่างนี้
    เหมือนโรคในกาย ไม่มีประโยชน์ อย่ามีเสียดีกว่า
    คือ หลีกเสียให้ห่างไกล
    ส่วนคนที่ไม่ใช่ญาติ แต่มีคุณสมบัติแห่งญาติ
    กล่าวคือ เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือเมื่อขาดแคลน
    ช่วยค้ำเมื่อเซ ช่วยยกเมื่อล้ม ช่วยเตือนเมื่อเหลิง
    ช่วยให้กำลังใจเมื่อท้อถอย คนอย่างนี้เป็นมิตรแท้
    และเป็นญาติอย่างยิ่ง ดีกว่ามีเงินทองเสียอีก
    สมดังพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จ
    พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง “มิตร” ว่า
    “ผู้ใดเป็นผู้มีมิตร
    จิตคิดต้องกันหรรษา
    มีความยินดีปรีดา
    ยิ่งกว่ามีสินเงินทอง
    แม้มีสิ่งใดที่ข้องขัด
    มิตรช่วยกำจัดที่ขัดข้อง
    ช่วยทำให้สมอารมณ์ปอง
    กิจการทั้งผองช่วยคิด
    เต็มใจปรึกษาหารือ
    ไม่ถือเกินก้ำคำผิด
    สู้งดโกรธโทษนิตย์
    ผูกจิตมิตรไว้ด้วยไมตรี
    สิ่งใดควรหย่อนผ่อนตาม
    ผ่อนให้ทุกยามถึงที่
    แม้เห็นสิ่งไรไม่ดี
    ช่วยชี้ช่องธรรมนำทาง
    การใดจะได้เกิดผล
    ไม่คิดถึงตนกีดขวาง
    เป็นที่เชื่องใจไว้วาง
    มิได้อำพรางสิ่งใด
    ยามดีสรรเสริญเยินยอ
    แต่จะสอพลอก็หาไม่
    ที่ควรตำหนิติไป
    มิให้มิตรไซร้เพลี่ยงพล้ำ
    ไม่เป็นเพื่อนกินสิ้นผลาญ
    ยามจนไม่พาลช่วยกระหน่ำ
    จงมองดูชูค้ำ
    อุปถัมภ์ทำชอบตอบแทน
    หามิตรเช่นนี้เหลือยาก
    หาได้ลำบากยากแสน
    เอาใจไว้ดูอย่าแคลน
    รักแม้นพี่น้องร่วมอุทร
    อุตส่าห์รักษาน้ำจิต
    ให้สนิทสนมสามัคคีสโมสร
    คงจะไม่มีอนาทร
    ไม่มีเดือดร้อนสักเวลา”
    พระพุทธเจ้าตรัสว่า “วิสฺสาสา ปรมา รสา
    – ความคุ้นเคยเป็นรสอย่างยิ่ง”
    อาหารที่จืด หรือไม่สู้อร่อยนัก
    แต่เมื่อได้บริโภคกับคนที่รักกันคุ้นเคยกัน
    ย่อมช่วยทำให้รสอาหารดีขึ้น
    การนั่งรับประทานอาหารที่คุณภาพดีราคาแพง
    ต่อหน้าอมิตร หรือคนที่เกลียดชังกัน
    รสอาหารนั้นไม่อร่อย
    อนึ่ง รสแห่งความคุ้นเคยสนิทสนม
    เป็นรสที่ไม่จืดจางเร็ว
    เหมือนรสอาหารและเครื่องดื่ม
    เป็นรสที่สถิตอยู่ชั่วอายุ และยังจะติดตาม
    ไปชาติหน้าอีก ความคุ้นเคยรักใคร่จึงเป็นรสอย่างยิ่ง
    ==========
    #ธรรมบททางแห่งความดี เล่ม ๓
    ๑๕ #ว่าด้วยความสุข (สุขวรรควรรณนา)
    เรื่องที่ ๖ #ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง
    #อาจารย์วศิน อินทสระ
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...