ความสำคัญของ "หอพระไตรปิฏก"

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 21 เมษายน 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    "หอไตร" มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ หอมณเฑียรธรรม หอพระธรรมเฑียรธรรม หอพระธรรม หอธรรม ปฏิฆระ และหอพระไตรปิฏก

    หอไตร เป็นอาคารหรือสถานที่เก็บรักษาพระไตรปิฏกที่อยู่ประจำในแต่ละวัด

    ลักษณะของหอไตรที่พบมีอยู่ 3 แบบคือ หอไตรที่เป็นเครื่องไม้ทั้งหลัง หอไตรที่เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ และหอไตรที่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง

    *อาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์* ผู้เชี่ยวชาญ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เล่าว่า สังคมสมัยก่อนเต็มไปด้วยความงดงามของสิ่งก่อสร้างในพระพุทธศาสนา สะท้อนออกมาทางคำประพันธ์ ที่นักประพันธ์สมัยนั้นได้แต่งไว้ อย่างนิราศนรินทร์ ที่เขียนเมื่อปี 2352 ในสมัยต้นรัชกาลที่ 2

    โบสถ์ระเบียงมรฑปพื้น ไพหาร ธรรมาสน์ศาลาลาน พระแผ้ว

    หอไตรระฆังขาน ภายค่ำ ไขประทีปโคมแก้ว ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์

    เป็นการกล่าวถึงความสวยงามของพระอารามหลวงในกรุงเทพฯ ว่าประกอบด้วยโบสถ์ มณฑป วิหาร มีธรรมมาสน์ มีศาลา มีหอระฆัง และที่ขาดไม่ได้คือ "หอไตร"

    เป็นที่เก็บพระไตรปิฏก ซึ่งมีอยู่ 3 หมวดด้วยกัน คือ พระสูตร พระวินัย และ พระอภิธรรม

    แต่คัมภีร์ต่างๆ ที่นำไปเก็บในหอไตร นอกเหนือไปจากพระไตรปิฏก ก็ยังมีอีกมากมาย เช่น คัมภีร์อรรถกา ซึ่งขยายความที่ยากๆ ในพระไตรปิฏกอีกที หรือขยายเรื่องราวความเป็นมาในพระไตรปิฏก

    และถ้าในอรรถกายังยากอีก ก็มีคนเขียนขยายความในอรรถกาขึ้นมาเรียก ฏีกา หรือ อนุฏีกา เหล่านี้ก็จะรวมอยู่ด้วย

    ยังมีตำราสรรพวิทยาการแบบไทยๆ ซึ่งอาจจะมีทั้งคัมภีร์ที่จารด้วยตัวอักษรขอม ตัวอักษรไทย ที่พอมองเห็นและพออ่านได้ มีตำรายา ตำราทำผ้าประเจียด สำหรับให้ทหารติดตัวยามออกรบ คาถาหายตัวได้ และเรื่องพระมหาชนก ที่เป็นต้นฉบับโบราณ ซึ่งบางส่วนปลวกกินไปบ้างแล้ว

    คัมภีร์ในวัดสระเกศ มีทั้งในสภาพดี และกระจัดกระจาย ผุพังก็มาก มีการนำออกมากองไว้ เพื่อรอการชำระ เรียงหมวดหมู่ใหม่

    พระไตรปิฏกทางพุทธศาสนา ส่วนมากมักจะจารลงบนใบลานด้วยตัวอักษรขอม แต่ถ้าเป็นตำรายาต่างๆ จะเขียนเป็นตัวอักษรไทย

    การจารมี 2 ลักษณะ คือ จารตัวอักษรขอมภาษาไทย กับ ตัวอักษรขอมภาษาบาลี

    คือการเอาตัวอักษรขอมมาเขียนเป็นภาษาไทย เป็นต้น เพราะอักษรขอมสามารถเขียนเป็นภาษาไทยได้ เพียงแต่ว่าใช้ตัวอักษรของขอม ซึ่งไม่ต้องแปล แต่ถ้าเป็นตัวอักษรขอมภาษาบาลีแล้ว ต้องแปลออกมา

    คัมภีร์จะแบ่งเป็นสำรับ ในสำรับหนึ่งจะมีหลายผูก บางเรื่องมี 10-20 ผูก หนึ่งผูกมี 24 ลาน มีไม้ยึดหัวยึดท้ายแล้วห่อด้วยผ้าอีกที

    ในหอไตรนอกจากสรรพวิทยาการต่างๆ ที่จารลงในคัมภีร์แล้ว ยังมีศิลปะชั้นเลิศแฝงอยู่คือ "ผ้าห่อคัมภีร์" บางอย่างเป็นผ้ามีค่า เช่น ผ้าหักทองขวาง บางทีเป็นผ้าทอลายโบราณ สวยงามและเป็นของมีค่ามาก
     
  2. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    [​IMG][​IMG]อากาศฤดูร้อนปีนี้ ลมร้อนอ้าวระอุ ดูเหมือนจะร้อนมากกว่าทุกปี เหงื่อไหลไคลย้อยเหนอะหนะ

    แต่อาบน้ำก็หาย

    ใครบอกว่าร้อนลมร้อนแล้ว-ร้อนใจนั้น ร้อนยิ่งกว่า

    อาบน้ำวันละหลายครั้ง ร้อนใจก็ไม่จางหาย

    ที่พักพิงยามร้อนใจของสาธุชน "วัด" เป็นสถานร่มเย็น ไม่มีที่ใดปาน

    เข้าวัดร่มรื่น เย็นใจ สงบ ร้อนที่ว่าไม่บันยะบันยัง แค่ก้าวผ่านธรณีโบสถ์ความเย็นสงบก็แผ่ซ่าน

    ร้อนยามนี้ไปหาความร่มเย็นที่วัดเป็นดีที่สุด อยู่ใกล้วัดไหนก็ไปวัดนั้น

    กรุงเทพเมืองฟ้าอมร มีวัดเก่าแก่น่าเลื่อมใสศรัทธาอยู่มากมายหลายวัด ยิ่งระหว่างนี้ที่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กำลังผลิบาน วัดหลายแห่งในกรุงเทพฯ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญไปก็มาก

    เพราะวัดส่วนใหญ่ใน กทม.ล้วนแต่มีประวัติเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทยแทบทั้งสิ้น ทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนต้น ตอนกลาง

    ยิ่งวัดที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สำหรับปีนี้ทางรัฐบาลสนับสนุนเงินงบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาท ให้เป็นค่าทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์ ร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสครองราชย์ครบ 60 ปี

    "วัดสระเกศ" หรือวัดภูเขาทอง เป็นอีกแห่งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

    สิ่งสวยงามในวัด นอกจากพระอุโบสถ วิหาร มณฑป และเจดีย์บนบรมบรรพตแล้ว "หอไตร" ในวัดสระเกศ นับเป็นหนึ่งความงามของสถาปัตยกรรมในพระพุทธศาสนา ที่สะท้อนสภาพของสังคมช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ได้เป็นอย่างดี

    ความสำคัญของหอไตรนั้น ได้กูรูอย่าง *อาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์* ผู้เชี่ยวชาญ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร อธิบายให้ฟังว่า "หอไตร" หรือ "หอพระไตรปิฏก" ความจริงมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งสร้างเอาไว้สำหรับเก็บคัมภีร์ เก็บพระไตรปิฏก และตำราต่างๆ โดยเฉพาะ

    ที่จริงแล้วของเขมรก็มีหอไตรเหมือนกัน เป็นส่วนที่อยู่ข้างหน้าทางเข้าปราสาทหินต่างๆ เรียกว่า "บรรณาลัย" ซึ่งความหมายคือ ห้องเก็บคัมภีร์นั่นเอง

    พอมาเป็นของไทย ก็รับเอาสิ่งนี้เข้ามาในพระพุทธศาสนาด้วย แต่ได้ปรับรูปแบบเอาสถาปัตยกรรมแบบไทยเข้าไปใส่ให้มีลักษณะสวยงามตามศิลปะไทย แต่จุดประสงค์ยังคงเดิม คือเป็นห้องเก็บหนังสือ

    ในคติของพราหมณ์ ที่เก็บคัมภีร์ของเขาจะอยู่ข้างหน้าก่อนเข้าปราสาท แล้วเขมรก็รับเอาคตินี้ของพราหมณ์มา

    "เป็นความเข้าใจส่วนตัวของผมว่าหลังจากที่เรารับอิทธิพลเขมรเข้ามา รับอิทธิพลของพราหมณ์เข้ามา เราก็รับอิทธิพลเรื่องห้องเก็บหนังสือเข้ามาด้วย แต่ที่เก็บหนังสือของทางพุทธจะอยู่ภายในวัด"

    อาจารย์บุญเตือนให้ความรู้เพิ่มเติมว่า เท่าที่พบส่วนมากหอไตรของไทยจะแยกมาอยู่ในเขตสังฆาวาสหมด ซึ่งต่างจากคติของเขมรที่จะอยู่ในเขตศาสนสถาน

    และบางแห่งของไทยมีหอไตรหลายหลัง อย่างที่วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพน) มีหอไตรถึง 4 มุมวัดเลยทีเดียว เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีหอไตรกลางวัดอีกต่างหาก เป็นหอไตรอยู่ในเขตพุทธาวาส แปลกกว่าที่อื่น

    ที่อาจารย์บุญเตือนอ้างถึงคือ หอไตรกลางน้ำที่ตำหนักของพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเป็นที่เก็บหนังสือส่วนพระองค์ ข้างในมีจิตรกรรมฝาผนังสวยงามมาก

    ตามธรรมดา พระอารามหลวงนั้น มักมีหอไตรแทบทุกวัด และเท่าที่พบมักจะสร้างไว้กลางน้ำเป็นส่วนใหญ่ เพื่อป้องกันปลวก มด แมลง กัดกินคัมภีร์ หนังสือ

    หอไตร วัดสระเกศ ไม่ต่างจากหอไตรของวัดอื่นๆ คือเป็นที่เก็บหนังสือตำรับตำรา หรือพระไตรปิฏก

    และที่สำคัญคือ หอไตรวัดสระเกศ มีลวดลายศิลปกรรมและภาพจิตรกรรมที่อยู่ในหอ งดงาม มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมาก เพราะบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต วิถีสังคมของคนในสยามเมื่อเกือบสามร้อยปีที่ผ่านมา

    กาลเวลาที่เดินมาเกือบ 300 ปี ทำให้หอไตรที่เคยงดงามในอดีต ผุพังทรุดโทรม โดนปลวกแมลงกัดแทะเสียหาย ทั้งโครงสร้าง รวมไปถึง คัมภีร์ ตำรับตำรา ที่เก็บไว้ข้างในหอไตรด้วย

    หากปล่อยไว้ไม่ดูแล ศิลปะอันสูงค่านี้คงจะสูญหายไปในที่สุด

    ครั้นเมื่อพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จยังวัดสระเกศ ได้ทอดพระเนตรเห็นความทรุดโทรมของหอไตร จึงมีรับสั่งให้ปฏิสังขรณ์เสียใหม่หมดทั้งหลัง เพื่อรักษาหอไตรให้เป็นสมบัติของชาติต่อไป

    รายละเอียดของการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์หอไตร วัดสระเกศ นั้น *เจ้าคุณพรหมสุธี* รองเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เล่าว่า เดิมทีหอไตรแห่งนี้คือพระตำหนักของรัชกาลที่ 1 โปรดฯให้นำมาสร้างเป็นหอไตร โดยให้ยกมาทั้งหลัง แต่เมื่อมาถึงวัดมีขนาดใหญ่มาก ไม่สามารถนำเข้าไว้ในพื้นที่ได้ทั้งหมด จึงต้องตัดทอนบางส่วนออกไป

    "ครั้งแรกที่สร้าง เขาเล่าสืบทอดกันมาว่า เดิมบริเวณที่สร้างหอไตร เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงสรงและสระพระเกศาก่อนจะเสด็จฯเข้าวังที่ฝั่งธนบุรี หลังจากเสด็จกลับจากการรบที่เมืองเขมร ต่อมามีการถมสระเสียแล้วสร้างเป็นหอไตรขึ้น

    "ช่วงระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา หอไตรแห่งนี้ปิดตาย ไม่มีคนดูแล และเนื่องจากพื้นเป็นดิน จึงเกิดการอับชื้น ทำให้ปลวก แมลงต่างๆ กัดแทะจนไม้ที่ใช้สร้างหอไตรเริ่มผุพัง เมื่อพระพี่นางฯ เสด็จยังวัดสระเกศ ทอดพระเนตรเห็นความทรุดโทรม จึงรับสั่งให้บูรณะหอไตรใหม่หมด ทั้งข้างบนข้างล่าง และรับสั่งให้ปูพื้นใหม่ด้วย ท่านศึกษาเรื่องหอไตร มาดูบ่อย เพราะในเมืองไทยมีหอไตรเหลือไม่ถึง 10 หอแล้ว"

    เมื่อมีรับสั่งให้บูรณะปฏิสังขรณ์ ทางวัดได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้าซ่อมแซมใหม่หมดทั้งข้างบนข้างล่าง ต้องรื้อออกทั้งหลัง ช่างต้องยกตู้พระธรรมที่มีอยู่ในหอไตรออกไปหมด เพื่อถมดินปรับพื้นใหม่

    "ตอนที่รื้อเจอปลวกเยอะมาก กัดแทะพระไตรปิฏกเสียหายมากพอสมควร ต้องให้กรมศิลปากรมาช่วยดู แยกแยะออกเป็นหมวดหมู่ ดูว่ามีตำรา มีหนังสืออะไรบ้าง พอทำเสร็จแล้วจึงให้ยกตู้เข้ามาไว้อย่างเดิม"

    ในส่วนของพระไตรปิฏกที่อยู่ในตู้ กรมศิลปากรได้แยกประเภท และจัดเก็บใหม่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถแยกเก็บได้หมด เพราะมีจำนวนมาก ทั้งที่เป็นสมุดข่อย ใบลาน กระดาษก็มี

    รองเจ้าอาวาสบอกว่า ของที่เห็นอยู่นั้นเป็นของเก่าที่อยู่คู่มากับวัดสระเกศ ตั้งแต่สมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กรมศิลปากรมาจัดระเบียบใหม่ เรียงเล่ม เรียงเลข และเรียงเรื่องให้ใหม่หมด

    สำหรับตู้พระธรรมที่เก็บพระไตรปิฏก มัคนายกวัดบอกว่า บางตู้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

    "ฝรั่งมาเห็น ขนาดไม่ใช่คนไทย ยังบอกว่านี่ของอยุธยา หาค่าไม่ได้ ต้องรักษาให้ดี"

    หอไตรวัดสระเกศ แบ่งออกเป็นชั้นบน และชั้นล่าง สร้างจากไม้สักทั้งหลัง บางส่วนเป็นไม้จำหลัก แต่เมื่อถูกปลวกกัดแทะ เสาบางต้นเว้าแหว่งผุพังไป การบูรณะจึงต้องใช้ปูนเสริมเข้าไปเพื่อให้คงรูปต้นเสาดังเดิม

    มัคนายกวัดบอกเล่าว่า ข้างบนหอไตร ช่างไทยผู้สร้างหอไตรที่วัดนี้ได้บรรจงตกแต่ง โดยแสดงสภาพสังคมไทย จีน ฝรั่ง ไว้ครบ ลายรดน้ำที่เขียนบนบานหน้าต่างเป็นรูปฝรั่งสองชาติประจัญหน้ากัน ไว้ผมยาวสยายเต็มบ่า ใส่เสื้อเอวกิ่วพร้อมเครื่องประดับอลังการ สวมถุงน่องรองเท้า และหมวกตามยุคสมัย

    ใครไปเห็นก็ทำให้เกิดจินตนาการมองเห็นภาพว่าฝรั่งสมัยก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 เขาเป็นอย่างไร ไม่เหมือนฝรั่งยุคหลัง ที่นิยมตัดผมสั้นตามแบบชาวบ้านเมืองร้อน ส่วนผนังด้านหลังของหอไตรเป็นฉากท่าเรือสำเภาจีนวาดไว้อย่างวิจิตร งดงาม

    หอไตรวัดสระเกศ บูรณะเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา

    ความงดงามของหอไตรที่บูรณะใหม่ น่ายินดีว่าเหมือนของเดิมไม่ผิดเพี้ยน คงความเป็นศิลปะอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ให้อนุชนรุ่นหลังและคนทั่วไปได้เรียนรู้จากของจริง

    *พอผ่อนคลายความร้อนที่รุมเร้าจากทั้งกายและในใจ*
     

แชร์หน้านี้

Loading...