ความหมายของพระไตรปิฎก และการทำสังคายนา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย Wisdom, 19 ธันวาคม 2006.

  1. Wisdom

    Wisdom ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 กรกฎาคม 2005
    โพสต์:
    1,669
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +26,542
    [​IMG]

    ความหมายของพระไตรปิฎก และการทำสังคายนา

    ความหมายของพระไตรปิฎก
    ศาสนาทุกศาสนาในปัจจุบัน มีคัมภีร์หรือตำราทางศาสนาเป็นหลักในการสั่งสอน แม้ว่าแต่เดิมจะมิได้มีการขีดเขียนเป็นอักษรก็ตาม แต่เมื่อมนุษย์ได้มีพัฒนาการทางด้านการพิมพ์คัมภีร์ทางศาสนาจึงได้รับการพิมพ์ด้วยเช่นกัน พระไตรปิฎก ก็เป็นคัมภีร์หลักในพระพุทธศาสนา ดุจคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนา คัมภีร์ อัลกุรอาน ในศาสนาอิสลาม และคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ ตามรูปศัพท์ คำว่า "พระไตรปิฎก" แยกศัพท์ออกเป็น พระ+ไตร+ปิฎก คำว่า พระ เป็นคำยกย่องแปลว่า ประเสริฐ ไตร ในภาษาบาลีใช้คำว่า ติ แปลว่า ๓ ปิฎก บาลีใช้คำว่า ปิฎก แปลได้ ๒ นัยคือ

    ๑. หมายถึง ภาชนะ (ภาชนตฺโถ) เช่นตะกร้า ดังประโยคบาลีที่ว่า อถ ปุริโส อาคจฺเฉยฺยํ กุทฺทาลปิฏกมาทาย แปลว่า คราวนั้น บุรุษคนหนึ่ง ได้ถือจอบและตะกร้ามา

    ๒. หมายถึง คัมภีร์ หรือ ตำรา (ปกณมฺปิ ปิฏกนฺติ วุจฺจติ) ดุจในประโยค ในกาลามสูตรว่า มา ปิฏกสมฺปทาเนน ท่านอย่าเชื่อเพียงเพราะอ้างตำราหรือคัมภีร์
    ดังนั้น พระไตรปิฎก จึงหมายถึง คัมภีร์ หรือ ตำรา ที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ ไม่ให้กระจัดกระจายคล้ายกระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะสำหรับใส่ของฉะนั้น

    จากพระธรรมวินัย สู่พระไตรปิฎก
    บทพระธรรมคุณ ที่มีอยู่ในพระสูตรหลายสูตร เช่น ธชัคคสูตร ได้แสดงไว้ชัด ว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ซึ่งแปลว่า พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว จะเห็นว่า คำว่า พระธรรมในที่นี้ หมายเอาทั้งธรรมและวินัย ที่พระองค์ตรัสและบัญญัติไว้ทั้งหมด หรือคำที่ให้อุปสมบทแบบ เอหิภิกขุอุปสัมปทาว่า สฺวากฺขาโต ธมฺโม พฺรหฺมจริยํ จรถ สมฺมาทุกฺขอนฺตกิริยาย ซึ่งแปลว่า "ธรรม ที่เรากล่าวไว้ดีแล้ว ท่านทั้งหลายจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ" คำว่าธรรมในที่นี้จึงหมายเอาทั้งวินัยที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ และธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ต่อมาใน สมัยใกล้จะปรินิพพาน มีศัพท์คู่ซึ่งพระองค์ทรงตรัสกับพระอานนท์ก่อนแต่จะปรินิพพาน ซึ่งปรากฏในมหาปรินิพพานสูตรว่า โย โว อานนฺท ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา ซึ่งแปลว่า ดูกรอานนท์ ธรรมวินัยที่เราแสดงบัญญัติไว้แก่พวกเธอ นั่นแหละจะเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลายเมื่อเราสิ้นไป
    มาถึงตอนนี้จะเห็นว่า ทรงตรัสไว้ชัดว่า พระธรรมและพระวินัย พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายว่า คำว่า ธรรม นั้นหมายถึง นิกายห้า คือ ทีฆนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย แต่ขุททกนิกายนั้น ได้รวมเอาอภิธรรมปิฎก หรือ สัตตัปปกรณ์เข้าไว้ด้วยแม้การสังคายนาครั้งแรก พระมหากัสสปเถระ ก็กล่าวชักชวนพระอรหันต์ทำการสังคายนาพระธรรมวินัยว่า หนฺท มยํ อาวุโส ธมฺมญฺจ วินยญฺจ สงฺคายาม แปลว่า เชิญเถอะ ท่านผู้อาวุโส เราจะสังคายนาพระธรรมและพระวินัยกัน (๗/๖๑๔/๓๘๐)
    คำว่า พระไตปิฎก ยังไม่มีกล่าวไว้ชัดเจน คงเรียกรวมว่าพระธรรมวินัย ดังได้กล่าวแล้ว แต่มีข้อความหลายแห่งในพระวินัยและพระสูตรที่มีคำว่า พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรมไว้ครบ เช่นใน มหาวิภังค์ สังฆาทิเสสข้อที่ ๗ ที่กล่าวไว้ว่า
    ทพฺโพ มลฺลปุตฺโต สภาคานํ ภิกฺขูนํ เอกชฺฌํ เสนาสนํ ปญฺญาเปติ, เย เต ภิกฺขุ สุตฺตนฺติกา, เตสํ เอกชฺฌํ เสนาสนํ ปญฺญาเปติ "เต อญฺญมญฺญํ สุตตนฺตํ สงฺคายิสฺสนฺตีติ, เย เต ภิกฺขุ วินยธรา, เตสํ เอกชฺฌํ เสนาสนํ ปญฺญาเปติ "เต อญฺญมญฺ ญํ วินยํ วินิจฺฉินิสฺสนฺตีติ,เย เต ภิกฺขุ อาภิธมฺมิกา, เตสํ เอกชฺฌํ เสนาสนํ ปญฺญาเปติ "เต อญฺญมญฺญํ อภิธมฺมํ สากจฺฉิสฺสนฺตีติ.
    แปลว่า พระทัพพมัลลบุตร ย่อมจัดเสนาสนะไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แก่ภิกษุทั้งหลายที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน กล่าวคือ ภิกษุเหล่าใดศึกษาเล่าเรียนพระสูตร ก็จัดเสนาสนะให้ภิกษุเหล่านั้นไว้ในกลุ่มเดียวกัน ด้วยคิดว่า พวกเธอจะได้สอบสวน พระสูตรกะกันและกัน ผู้ทรงวินัยก็จัดเสนาสนะไว้เดียวกัน ด้วยคิดว่า ภิกษุเหล่านั้นจะได้วินิจฉัย ข้อวินัย กะกันและกัน ภิกษุเหล่าใดเล่าเรียน พระอภิธรรม ก็จัดเสนาสนะ สำหรับภิกษุเหล่านั้นไว้กลุ่มเดียวกัน ด้วยคิดว่า ภิกษุเหล่านั้นจักสนทนาพระอภิธรรมกะกันและกัน (๑/๕๔๓/๓๖๙)

    อนึ่ง ในภิกขุณีวิภังค์ ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๒ ว่าปญฺหํ ปุจฺเฉยฺยาติ สุตฺตนฺเต โอกาสํ การาเปตฺวา วินยํ วา อภิธมฺมํ วา ปุจฺฉติ อาปตฺติ ปาจิตฺติยสฺสฯ วินเย โอกาสํ การาเปตฺวา สุตฺตนฺตํ วา อภิธมฺมํ วา ปุจฺฉติ อาปตฺติ ปาจิตฺติยสฺสฯ อภิธมฺเม โอกาสํ การาเปตฺวา สุตฺตนฺตํ วา วินยํ วา ปุจฺฉติ อาปตฺติปาจิตฺติยสฺสฯ
    แปลความว่า ภิกษุณี ผู้ถามปัญหากับภิกษุ ขอโอกาสอันใดต้องถามอันนั้น ถ้าขอโอกาสถามพระสูตรแล้ว กลับไปถามพระวินัยก็ดี ถามพระอภิธรรมก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ขอโอกาสถามพระวินัยกลับไปถามพระสูตรหรือพระอภิธรรม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ขอโอกาสถามพระอภิธรรม กลับไปถามพระสูตรหรือพระวินัยต้องอาบัติปาจิตตีย์ (๓/๔๗๗/๒๕๕)

    ยังมีข้อความใน อปทาน อุบาลีเถรวัตถุ หน้า ๖๓ มีว่า สุตฺตนฺตํ อภิธมฺมญฺจ วินยญฺจาปิ เกวลํ นวงฺคํ พุทฺธวจนํ เอสา ธมฺมสภา ตว แปลว่า (ข้าแต่พระจอมมุนี) พระสูตร พระอภิธรรม พระวินัย รวมพุทธวจนะ มีองค์ ๙ ทั้งสิ้นนี้ เป็นธรรมสภาของพระองค์ ฯลฯ

    ข้อความดังกล่าวแสดงถึงการเรียกพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม ได้มีมานานแล้ว แต่ยังไม่แยกออกชัด เป็น พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก อย่างที่ปรากฏในยุคตั้งแต่สังคายนาครั้งที่ ๓ เป็นต้นมา ดังคำบาลีว่า
    เตปิฏกํ พุทฺธวจนํ นาม พุทฺธสฺส ภควโต ธมฺมวินยสฺส สโมธานํ โหติ
    แปลว่า พระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎก เป็นที่รวมแห่งพระธรรมวินัยขององค์ภควันต์พุทธเจ้า

    จากมุขปาฐะสู่การจารึกใบลาน
    ตำราที่บรรจุพระพุทธพจน์ ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ได้สังคายนา หรือรวบรวมไว้เป็นหมวด เรียกว่า พระไตรปิฎก ได้ถ่ายทอดกันมาโดยระบบมุขปาฐะ หรือท่องจำ (Oral Tradition) ดุจสมัยก่อนๆ ในประเทศไทยของเรา ก็มีการนิยมต่อหนังสือค่ำ เจ็ดตำนานสิบสองตำนาน หรือท่องพระปาติโมกข์ โดยอาศัยการท่องปากต่อปากจากครูบาอาจารย์ จนจำได้แม่นยำ และสืบต่อกันมาถึงอนุชนรุ่นหลังพระไตรปิฎกก็เช่นกัน
    ตั้งแต่ สังคายนาครั้งแรก ศิษย์สายพระอุบาลีก็จดจำพระวินัยปิฎก ศิษย์สายพระอานนท์ ก็จดจำพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกสืบๆ กันมาโดยมิได้ขาดสาย
    ตัวอย่างสายพระอุบาลี ที่ท่านแสดงไว้ตามลำดับ ออกนามเฉพาะหัวหน้าสายดังนี้

    ในอินเดีย
    พระอุบาลีเถระ
    พระทารกเถระ
    พระโสณกเถระ
    พระสิคควเถระ
    พระโมคคัลลีบุตรเถระ
    ในลังกา
    พระมหินทเถระ
    พระอิฏฏิยเถระ
    พระอุตติยเถระ
    พระสัมพลเถระ
    พระภัททนามเถระ ฯลฯ

    การท่องจำนี้ ได้กระทำมาจนถึงสังคายนาครั้งที่ ๕ ในลังกาทวีป (ถ้านับเฉพาะที่ทำสังคายนาในศรีลังกาก็เป็นครั้งที่ ๒) ประมาณ พ.ศ. ๔๓๓ ในรัชสมัยของพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย โดยมีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน ทำที่ อาโลกเลณสถาน ณ มตเลชนบท หรือที่เรียกว่า มลัยชนบท

    สาเหตุของการจารึกพระพุทธวจนะ ลงในใบลานก็เพราะว่า ถ้าจะใช้วิธีท่องจำพระพุทธวจนะต่อไป ก็อาจมีข้อวิปริตผิดพลาด ได้ง่าย เพราะปัญญาในการท่องจำของกุลบุตรเสื่อมถอยลง นอกจากนั้นพระสงฆ์ยัง ได้รับความกระทบกระเทือนจากภัยธรรมชาติและภัยสงครามอยู่เนืองๆทำให้ไม่มีเวลาท่องจำพระพุทธวจนะจะทำให้ช่วงการสืบต่อขาดลงได้ มีคำกล่าวว่า ในการจารึกครั้งนี้ได้จารึกอรรถกถาลงไว้ด้วย
    มีผู้สงสัยว่า สมัยพุทธกาลคนไม่รู้จักการเขียนหนังสือหรืออย่างไร? จึงไม่ปรากฏว่ามีตำรับตำราจารึกไว้เป็นหลักฐาน แม้บริขารที่สำคัญของพระภิกษุ ก็ไม่ระบุหนังสือไว้ด้วย

    พระมหาเสฐียรพงษ์ ปุณฺณวณฺโณ ได้ประมวลทัศนะนี้ไว้ในหนังสือ ภาษาศาสตร์ ภาษาบาลี*(*พระมหาเสฐียรพงษ์ ปุณณวณโณ ภาษาศาสตร์ภาษาบาลี, ชุดวรรณไวทยากร, กรุงเทพฯไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๑๔) ไว้ว่า"ความจริงการเขียนหนังสือน่าจะมีมาก่อนพุทธกาลแล้ว ในพระไตรปิฎกเองก็มีข้อความเอ่ยถึงการขีดเขียนเป็นครั้งคราว เช่น ตอนหนึ่ง ห้ามภิกษุเล่นเกม "อักขริกา" ได้แก่ การทายอักษรในอากาศ หรือบนหลังเพื่อนภิกษุ วิชาเขียนหนังสือ (เลขา) ได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปะพิเศษอย่างหนึ่ง สิกขาบทบางข้อห้ามภิกษุณีเรียนศิลปะทางโลก หนึ่งในศิลปะเหล่านี้คือวิชาเขียนหนังสือ ในบทสนทนาภายในครอบครัวพ่อแม่ปรารภว่า จะให้บุตรเรียนวิชาอะไรดี ถ้าจะให้เรียนเขียนหนังสือ บุตรก็อาจยังชีพอยู่ได้อย่างสบาย แต่ก็อาจเจ็บนิ้วมือ ถ้าภิกษุเขียนหนังสือพรรณนาคุณ ของอัตตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตายเอง) ปรับทุกกฏทุกตัวอักษร ถ้ามีผู้อ่านพบข้อความนั้นเข้า เห็นดีเห็นงามด้วย แล้วฆ่าตัวตายตามนั้น ปรับอาบัติปาราชิก

    หลักฐานเหล่านี้แสดงว่า อักษรหรือการเขียนมีมาก่อนสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ที่พระพุทธองค์ไม่นิยมใช้ หันมาใช้วิธีมุขปาฐะแทน น่าจะทรงเห็นประโยชน์อานิสงส์บางสิ่งบางอย่างกระมัง หรือว่าระบบการขีดเขียนยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร ทั้งยังไม่มีอุปกรณ์การขีดการเขียนเพียงพอ ก็ยากที่จะทราบได้ แต่ข้อที่น่าคิดอยู่อย่างคือ วิธีเรียนด้วยมุขปาฐะนี้ นอกจากจะสร้างสัมพันธภาพอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้เรียนและ ผู้สอนแล้ว ยังเป็นการสร้างสมาธิฝึกจิตของผู้เรียนไปในตัวด้วย นักปราชญ์ยุคก่อนที่มีความคิดเช่นนี้ก็มีไม่น้อย เปลโต้เคยกล่าวไว้ว่า "การคิดอักษรขึ้นใช้ แทนการท่องจำ ทำให้มนุษย์ขาดอานุภาพแห่งความทรงจำ คือแทนที่จะจดจำจากอินทรีย์ภายใน ต้องอาศัยสัญลักษณ์นอกเข้าช่วย"

    พระเถระที่เกี่ยวข้องกับการเกิดของพระไตรปิฎก
    พระเถระในระยะที่พระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่
    ๑. พระจุนทะ เป็นพระเถระรูปหนึ่งที่มีความปรารถนาดีต่อวงการพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นน้องชายพระสารีบุตร ข้อความในสามคามสูตร ในมัชฌิม นิกาย อุปริปัณณาสก์ (๑๔/๕๑/๔๙) ครั้งหนึ่ง เมื่อนิครนถ์นาฏบุตร ได้สิ้นบุญไปใหม่ๆ ที่เมืองปาวา พระจุนทะได้เห็นความแตกแยกขัดแย้ง และระส่ำระสายในหมู่สาวกของนิครนถ์นาฏบุตร ที่ขัดแย้งกันในคำสอนของศาสดาของตนเอง จึงได้เข้าไปเล่าเหตุการณ์ให้พระอานนท์ฟัง แสดงความเป็นห่วงความมั่นคงแห่งพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า พระอานนท์ฟังเรื่องแล้วเห็นด้วย จึงได้พาไปเฝ้าพระศาสดา ทูลเรื่องให้ทรงทราบ และแสดงความเป็นห่วงว่า ขอการทะเลาะวิวาทอย่างนั้นอย่าเกิดมีในหมู่พระสาวกของพวกเราเลย เพราะไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

    การสังคายนา ๔ ครั้ง ในประเทศอินเดีย

    สังคายนาครั้งที่ ๑ (The First Council)

    สาเหตุผลการสังคายนา : ปรารภพระสุภัททะกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย
    ทำเมื่อ : พระศาสดาปรินิพพานล่วงแล้วได้ ๓ เดือน
    สถานที่ทำ : กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต
    เวลาทำ : ทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ
    การกสงฆ์ : พระอรหันต์ขีณาสพ ๕๐๐ รูป
    ประธานสงฆ์ : พระมหากัสสปเถระ
    ผู้วิสัชชนาพระวินัย : พระอุบาลีเถระ
    ผู้วิสัชชนาพระธรรม : พระอานนท์เถระ
    ผู้อุปถัมภ์ : พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งกรุงราชคฤห์

    มีผลที่สำคัญ ๔ อย่างคือ
    ๑. มีการร้อยกรองพระวินัยเป็นหมวดหมู่ โดยการทำของพระอุบาลี
    ๒. มีการรวบรวมพระธรรมเป็นหมวดหมู่ โดยการนำของพระอานนท์
    ๓. การปรับอาบัติพระอานนท์ให้แสดงอาบัติ
    ๔. การลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ
    ๕. การยอมรับมติของพระมหากัสสปะให้คงเถรวาทไว้

    บันทึกเพิ่มเติม
    คำกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยของพระสุภัททะ ผู้บวชในคราวแก่ มีความว่า
    "ดูกรเพื่อน ท่านอย่าโศก อย่าคร่ำครวญไปเลย เราพ้นเรียบร้อยแล้วจากมหาสมณะนั้น เราถูกประทุษร้าย (รบกวน) อยู่เรื่อยว่า สิ่งนี้ควรนะ สิ่งนี้ไม่ควรนะ ก็บัดนี้เราปรารถนาจะทำอะไร เราก็จะทำสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาจะทำอะไรก็จะไม่ทำสิ่งนั้น"(๗/๖๑๕/๓๘๐)ถ้อยคำที่น่าจารึกไว้ของพระมหากัสสปะคือ คำเชิญชวนให้ทำสังคายนา และคำขอร้องให้คงวินัยเดิมของพระพุทธเจ้าไว้ มีข้อความดังนี้ "มาเถอะเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เราจะสังคายนาพระธรรมวินัยกัน มิฉะนั้น ในภายหน้าอธรรมจะรุ่งเรือง ธรรมจะถูกต่อต้านสิ่งที่มิใช่วินัย จักรุ่งเรือง พระวินัยจะถูกต่อต้าน ในภายภาคหน้าคนที่กล่าวอธรรม จะมีกำลังกล้า คนที่กล่าวธรรมจักด้อยกำลัง คนที่กล่าวนอกพระวินัย จะมีกำลัง คนที่กล่าวพระวินัยจะด้อยกำลัง" (๗/๖๑๔/๓๘๐)
    ญัติคำขอร้องของพระมหากัสสปะต่อปัญหาที่ว่า อะไรคืออาบัติเล็กน้อย ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสอนุญาตว่า " ถ้าสงฆ์จำนงอยู่ พึงเพิกถอนได้" เมื่อที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกัน พระมหากัสสปะจึงเสนอญัติว่า "ขอให้สงฆ์ไม่บัญญัติข้อที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติไว้ไม่ถอนข้อที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว ประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ตามที่ทรงบัญญัติไว้" (๗/๖๒๑/๓๘๗)ปรากฏว่าที่ประชุมสงฆ์ได้ยอมรับมตินี้ด้วยดุษณีภาพ เป็นการวางรากฐานพุทธศาสนาแบบเถรวาทตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

    สังคายนาครั้งที่ ๒ (The Second Council)

    สาเหตุผลการสังคายนะ : ปรารภเหล่าภิกษุชาววัชชีบุตร ชาวเมืองไพศาลี มีความต้องการจะเลี่ยงพระวินัยจึงแสดงวัตถุ ๑๐ ประการซึ่งขัดกับหลักพระธรรมวินัย
    ทำเมื่อ : พระพุทธศักราช ๑๐๐ ปี
    สถานที่ทำ : ณ วาลุการาม เมืองไพศาลี เพื่อชำระวัตถุ ๑๐ ประการ
    เวลาทำ : ทำอยู่ ๘ เดือนจึงสำเร็จ
    ประธานสงฆ์ : พระยสกากัณฑกบุตร
    การกสงฆ์ : พระอรหันตขีณาสพ ๗๐๐ รูป
    ผู้ถาม : พระสัพพากามีเถระ
    ผู้แก้ : พระเรวตเถระ
    ผู้อุปถัมภ์ : พระเจ้ากาลาโศกราช แห่งกรุงไพศาลี

    ๑) ในแง่ของเถรวาทกล่าวได้ว่าสามารถชำระความถูกต้องของการตีความวินัยผิดให้ถูกต้องได้
    ๒) ก่อให้เกิดความแตกแยกทางความคิด (Schism) ในพุทธศาสนา
    ๓) เป็นบ่อเกิดของนิกายมหาสังฆิกะ ซึ่งไม่ยอมรับมติของสังคายนาครั้งนี้

    บันทึกเพิ่มเติม
    วัตถุ ๑๐ ประการของภิกษุชาววัชชีบุตร มีดังนี้
    ๑) สิงคิโลณกัปปะ - เก็บเกลือไว้ในกลักเขา (เขนง) ฉันได้ตลอด ซึ่งขัดกับอาบัติปาจิตตีย์ข้อที่ ๓๘ ห้ามฉันอาหารที่ค้างคืน
    ๒) ทวังคุลกัปปะ - เมื่อแดดบ่ายไปสองนิ้วยังฉันอาหารได้ ซึ่งขัดกับปาจิตตีย์ ข้อที่ ๓๗ ห้ามฉันอาหารในเวลาเที่ยงแล้วไป (วิกาล)
    ๓) คามันตรกัปปะ - เมื่อฉันอาหารในที่เขานิมนต์ไปแล้วเมื่อมีคนมาถวายอีกก็ฉันอีกได้ ซึ่งขัดกับปาจิตตีย์ข้อ ๓๕
    ๔) อาวาสกัปปะ - ทำอุโบสถหลายแห่งในสีมาเดียวกันได้ ซึ่งขัดกับหลักในมหาวรรคว่าต้องทำในสีมาเดียวกัน
    ๕) อนุมติกัปปะ - ทำสังฆกรรมไปก่อนฉันทะปริสุทธิทีหลังก็ได้ ซึ่งขัดกับหลักบุรพกิจ บุรพกรณ์ของอุโบสถ
    ๖) อาจิณณกัปปะ - อุปัชฌาย์อาจารย์ประพฤติปฏิบัติมาอย่างไร ทำตามได้ทันที
    แม้จะผิดหลักก็ตามซึ่งตามปกติเถรวาทถือธรรมวินัยเป็นประมาณ
    ๗) อมัตถิตกัปปะ - ฉันนมสดซึ่งยังไม่กลายเป็นนมเปรี้ยวได้หลังเพลแล้ว ซึ่งขัดกับปาจิตตีย์ข้อ ๓๕
    ๘) ชโลคิ ปาตุง - สุราซึ่งมีสีเหมือนเท้านกพิราบ ภิกษุฉันได้ซึ่งขัดกับสุราปน สิกขาบทในปาจิตตีย์ ข้อ ๕๑
    ๙) อสทกํ นิสีทนํ - ผ้านิสีทนะที่ไม่มีชายก็ใช้ปูนั่งได้ซึ่งขัดกับปาจิตตีย์ข้อ ๑๘
    ๑๐) ชาตรูปรชตํ - รับเงินและทองได้ ซึ่งขัดกับนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ข้อ ๑๘

    ในข้อสุดท้ายนี้พระสงฆ์ที่เข้าร่วมประชุมได้แสดงหลักการว่าขัดกับพุทธพจน์ที่ตรัสว่า พระจันทร์พระอาทิตย์ ย่อมเศร้าหมองไม่แจ่มใส ไม่รุ่งเรือง เพราะเหตุ ๔ คือ เมฆ หมอก ควันธุลี และอนุรินทราหู ฉันใด สมณะ และพราหมณ์ ก็เศร้าหมอง ไม่แจ่มใสไม่รุ่งเรือง เพราะเหตุ ๔ คือ ดื่มสุรา, เมถุน, เงินทอง และการประกอบมิจฉาชีพ (๗/๖๓๔/๓๙๘-๙)

    สังคายนา ครั้งที่ ๓ (The Third Council)

    สาเหตุผลของการสังคายนา : ปรารภเหล่าเดียรถีย์ประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน เข้ามาปลอมบวชในพระพุทธศาสนาเพื่อหวังลาภสักการะ
    เวลาที่ทำ : นับแต่พุทธปรินิพพานมา ๒๓๘ ปี
    สถานที่ทำ : ณ อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร
    เวลาทำ : ทำอยู่ตลอด ๙ เดือนจึงสำเร็จ
    การกสงฆ์ : พระมหาเถระ จำนวน ๑,๐๐๐ รูป
    ผู้ปุจฉา : พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระเจ้า ผู้เป็นประธาน
    ผู้วิสัชชนา : พระมัชฌันติกเถระ กับพระมหาเทวะเถระ
    ผู้อุปถัมภ์ : พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ผ่านเอกราช ณ ปาฏลีบุตรนคร

    ๑) สามารถขจัดอลัชชีในพระศาสนาได้ และรวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นบริสุทธิ์ผุดผ่อง
    ๒) มีการรวบรวมแยกพระไตรปิฎกเป็น ๓ อย่างสมบูรณ์คือพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก
    โดยเฉพาะได้บรรจุคัมภีร์กถาวัตถุ เข้าในอภิธรรมปิฎกด้วย
    ๓)ได้มีการส่งพระมหาเถระออกไปเป็นพระธรรมทูตในเมืองต่างๆ ถึง ๙ สาย สืบต่อพระศาสนามาจนถึงปัจจุบันในนานาประเทศ

    บันทึกเพิ่มเติม
    มีนักปราชญ์หลายท่านได้สันนิษฐานว่า เรื่องพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงอุปถัมภ์ตติยสังคายนี้ มีกล่าวไว้เฉพาะในคัมภีร์บาลีมหาวงศ์ ศาสตราจารย์ ทอมัส กล่าวว่า สังคายนาครั้งนี้ทำขึ้นโดยคณะสงฆ์ฝ่ายวิภัชชวาท ของลังกา นาย วี. เอ สมิท ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "ถ้าตติยสังคายนามีจริงก็เป็นเรื่องสำคัญมาก น่าจะมีกล่าวไว้ในศิลาจารึก แต่ศิลาจารึกเท่าที่ค้นพบได้และมีอยู่ มิได้กล่าวถึงเสียเลย จึงเชื่อว่า เป็นเรื่องของ ชาวลังกาแต่งขึ้นภายหลัง" ศาสตราจารย์เคิน ก็มีความสงสัยในเรื่องนี้เช่นกัน ศาสตราจารย์โอลเดลเบิร์กก็มิได้รับรองเรื่องพระมหินทเถระไปเผยแผ่พระศาสนาในลังกา ว่าเป็นเรื่องปรากฏขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม คัมภีร์มหาวงศ์ได้ให้ข้อมูลสังคายนา ครั้งที่ ๓ ไว้อย่างละเอียด พอจะประมวลได้ว่าในปีที่ ๘ จำเดิมแต่พระเจ้าอโศกทรงเสวยราชย์มา หมู่เดียรถีย์ปราศจากลาภสักการะพากันนุ่งห่มดุจภิกษุ ปลอมบวชเข้ามาอยู่กับคณะสงฆ์ มีจำนวนมาก และมาแสดงลัทธิธรรมให้ผิดคลองพระพุทธบัญญัติกระทำให้สังฆมณฑลยุ่งเหยิง แตกสามัคคีด้วยสัทธรรมปฏิรูป ถึงกับคณะสงฆ์มิได้ลงประกอบอุโบสถสังฆกรรมอยู่ถึง ๗ ปี ในระหว่างนั้น พระโมคคัลลีบุตรติสสะ หลีกเร้นไปจำเริญวิเวกอยู่ ณ อุโธตังคะบรรพตเบื้องบนแม่น้ำคงคา รอเวลาที่จะชำระศัตรูพระศาสนาและมอบภารกิจคณะสงฆ์ให้พระมหินทเถระดูแลแทน

    ครั้นถึงพรรษาที่ ๗ พระเจ้าอโศก โปรดให้อำมาตย์คนหนึ่ง ให้ถือรับสั่งไประงับอธิกรณ์ยังคณะสงฆ์ อำมาตย์ผู้นั้นทำเกินรับสั่ง คือเมื่อไปว่ากล่าวให้สงฆ์ทำอุโบสถสังฆกรรมไม่ได้ผล พระภิกษุฝ่ายสัมมาทิฏฐิอ้างว่า "ไม่อาจปลงใจจะทำสังฆกรรมร่วมกับฝ่ายเดียรถีย์" อำมาตย์ผู้นั้นก็ฆ่าภิกษุขัดขืนเสีย ๒-๓ รูป จนพระติสสะอนุชาของพระเจ้าอโศกเข้าไปห้าม อำมาตย์จึงกลับมากราบทูลเรื่องราวกับพระเจ้าอโศก พระเจ้าอโศกทรงสดับแล้ว ไม่สบายพระทัย กลัวบาปกรรมที่อำมาตย์ฆ่าฟันภิกษุจะพลอยได้แก่พระองค์ด้วย จึงได้อาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระมาตัดสินข้อสงสัยของพระองค์ และได้ทรงต้อนรับพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ดุจเดียวกับ ทรงต้อนรับพระอุปคุปต์ ในอโศกอวทาน พระเถระสามารถแก้ข้อสงสัยและความเดือดร้อนใจของพระองค์ได้ว่า การฆ่าฟันภิกษุเป็นบาปเฉพาะของอำมาตย์เท่านั้น เพราะทำเกินคำสั่ง พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใส อาราธนาให้ท่านเป็นประธานสงฆ์ในการชำระพระศาสนาให้บริสุทธิ์ พระโมคคัลลีบุตรจึงพำนักอยู่ที่อโศการาม แล้วพระเจ้าอโศกก็โปรดให้ประกาศชุมนุมสงฆ์จากจาตุรทิศมารวมกันที่อโศการาม ให้พระโมคคัลลีบุตรท่านไต่ถามลัทธิธรรมกับสงฆ์ทุกรูป ครั้นชำระพระศาสนาแล้ว

    พระเจ้าอโศกจึงอาราธนาให้พระสงฆ์ทำอุโบสถสังฆกรรมและพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเจ้าจึงถือโอกาสทำตติยสังคายนา โดยพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น คำถามที่ใช้ถามคือ "พระพุทธวจนะ ตรัสสั่งสอนอย่างไร?" ภิกษุที่เป็นเดียรถีย์ปลอมบวชก็ตอบเป็นทำนองสัสสตทิฏฐิบ้าง เป็นอุจเฉททิฏฐิบ้าง พระเจ้าอโศกก็ใช้พระราชอำนาจบังคับให้สึกออกไป กล่าวกันว่า ครั้งนั้นให้ภิกษุสละสมณเพศรวม ๖๐,๐๐๐ คน ฝ่ายภิกษุที่เป็นธรรมวาทีก็ตอบว่า พระพุทธวจนะตรัสสอนเป็นวิภัชชวาที

    งานพระธรรมทูต
    เสร็จจากการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ แล้ว พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระทราบโดยอนาคตังสญาณว่า ภายภาคหน้า พระพุทธศาสนาจะไม่รุ่งเรืองอยู่ในชมพูทวีป แต่จะไปตั้งมั่นอยู่ในประเทศแว่นแคว้นอื่นๆ จึงขอพระบรมราชูปถัมภ์จากพระเจ้าอโศก จัดส่งคณะสมณทูตออกเป็น ๙ สายคือ
    สายที่ ๑ คณะพระมัชฌันติกะ ไปที่แคว้นกัสมิระ และคันธาระ ปัจจุบันคือ แคชเมียร์
    สายที่ ๒ คณะพระมหาเทวะ ไปมหิสมณฑล คือรัฐการ์นาตกะหรือไมซอร์ ภาคใต้ของอินเดีย ฝั่งตะวันตก
    สายที่ ๓ คณะพระรักขิตะ ไปที่แคว้นวนวาสีประเทศ อยู่ตอนเหนือของรัฐไมซอร์ ภาคใต้ของอินเดีย
    สายที่ ๔ คณะพระธรรมรักขิตะ ไปที่แถบอปรันตกชนบทตอนเหนือของ บอมเบย์
    สายที่ ๕ คณะพระมหาธรรมรักขิตะ ไปแคว้นมหาราฎร์ แถบปูนาในปัจจุบัน
    สายที่ ๖ คณะพระมหารักขิตะ ไปที่โยนกประเทศ หรือตอนเหนือของอิหร่าน
    สายที่ ๗ คณะพระมัชฌิมะ และพระมหาเถระอีก ๔ รูป ไปยังดินแดนหิมวันตะ หรือเชิงเขาหิมาลัย ประเทศเนปาลปัจจุบัน
    สายที่ ๘ คณะพระโสณะ กับพระอุตตระ ไปที่สุวรรณภูมิคือเอเชียอาคเนย์ปัจจุบัน
    สายที่ ๙ พระมหินทเถระ ไปยังประเทศศรีลังกา ในสมัยพระเจ้าเทวา นัมปิยติสสะ จนพระพุทธศาสนาได้ปักหลักมั่นคงที่เกาะนี้จนถึงปัจจุบัน

    สังคายนาครั้งที่ ๔ (The Fourth Council)

    สาเหตุผลของการสังคายนา : ประสงค์จะบันทึกคัมภีร์ฝ่ายสัพพัตถิกวาท เป็นภาษาสํสกฤต และทำให้พุทธศาสนาแบบมหายานมั่นคง
    เวลาที่ทำ : ประมาณ พ.ศ. ๖๔๓ โดยมีพระเข้าร่วมกว่า ๕๐๐ รูป
    สถานที่ทำ : เมืองชาลันธร แคว้นกัสมีระ ตอนเหนือของประเทศอินเดีย
    ผู้อุปถัมภ์ : พระเจ้ากนิษกะ ได้ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งนี้

    การสังคายนาครั้งนี้ เนื่องจากเป็นครั้งแรกของฝ่ายมหายานจึงมีผล ดังนี้ :-

    ๑. มีการเขียนคำอธิบายพระไตรปิฎกหรืออรรถกถาเป็นภาษาสํสกฤตปิฎกละ ๑๐๐,๐๐๐ โศลก โดย ความอุปถัมภ์ของพระเจ้ากนิษกะ และการแนะนำของพระปารศวะมหาเถระ

    ๒. มีการประสานความคิดระหว่างนิกายต่างๆ ทั้ง ๑๘ นิกายแล้วจารึกอักษรคัมภีร์ทางศาสนาเป็นสํสกฤต ครั้งแรก ปรากฏว่าหลวงจีนยวนฉ่าง ได้กล่าวถึงการสังคายนาครั้งนี้ว่าได้มีการจารึกพระธรรมลงแผ่นทองเหลือง และเก็บไว้ในหีบทำด้วยศิลา เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นอันดีในพระเจดีย์แม้ว่าทางฝ่ายเถรวาทจะไม่บันทึกถึงการสังคายนาครั้งนี้ แต่ประวัติศาสตร์โดยทั่วไปก็จารึกไว้ จึงเป็นสังคายนาที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่พุทธศาสนิกฝ่ายอุตรนิกาย


    การสังคายนาที่ยอมรับกันในศรีลังกา
    ชาวลังกา คงยอมรับนับถือ การสังคายนาทั้ง ๓ ครั้งแรกในอินเดีย แต่ไม่รับรองสังคายนาครั้งที่ ๔ ของฝ่ายสัพพัตถิกวาท หรือผสมกันระหว่างเถรวาทกับมหายาน

    สังคายนาครั้งแรกในศรีลังกา ตามหลักฐานใน คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ได้กล่าวว่าหลังสังคายนาครั้งที่ ๓ ในอินเดียแล้ว พระมหินทเถระ พร้อมกับพระเถระรูปอื่นอีก ๕ รูปเดินทางไปประเทศศรีลังกา และได้พบกับพระเทวานัมปิยติสสะ และแสดงธรรมให้ฟังจนทรงเลื่อมใส ต่อมาท่านมหินทเถระประสงค์จะให้พระพุทธศาสนามั่นคงจึงได้จัดทำสังคายนาขึ้นที่ ถูปาราม เมืองอนุราธปุระ โดยมีพระมหินทเถระเป็นประธาน ในปี พ.ศ. ๒๓๘ เป็นการวางรากฐานให้ชาวลังกาท่องจำพุทธวจนะตามแบบอย่างที่ได้จัดไว้แล้วในคราวสังคายนาครั้งที่ ๓ ในอินเดีย

    สังคายนาครั้งที่ ๒ ในศรีลังกา ทำเมื่อ พ.ศ. ๔๓๓ ในรัชสมัยของพระเจ้าวัฏฏคามีณีอภัย
    โดยมี พระรักขิตมหาเถระ เป็นประธาน ณ อาโลกเลณสถาน มตเลชนบท
    สาเหตุที่ทำให้มีการจัดทำสังคายนาครั้งนี้ ก็เนื่องจากเห็นพ้องกันว่า ถ้าจะใช้วิธีท่องจำพระพุทธวจนะต่อไป ก็อาจมีข้อวิปริตผิดพลาดได้ง่าย เพราะปัญญาในการท่องจำของกุลบุตรเสื่อมถอยลง จึงตกลงจารึกพระพุทธวจนะลงในใบลาน
    สังคายนาครั้งที่ ๓ ในศรีลังกา กระทำเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ ที่รัตนปุระ ในศรีลังกา พระเถระชื่อ หิกขทุเว สิริสุมังคละ เป็นหัวหน้ากระทำอยู่ ๕ เดือน จึงเสร็จ เป็นการสังคายนาที่รู้กันเฉพาะในศรีลังกาเอง

    การสังคายนาที่ยอมรับกันในพม่า
    พม่า ได้นับสังคายนาในอินเดีย ๓ ครั้ง ว่าเป็นครั้งที่ ๑-๒-๓ และนับการ สังคายนาครั้งที่ ๒ ในศรีลังกาเมื่อ พ.ศ. ๔๓๓ ว่าเป็นครั้งที่ ๔ และมีสังคายนาพิเศษขึ้นในพม่าอีก ๒ ครั้งคือ การสังคายนาครั้งที่ ๕ (ปัญจสังคายนา) ในพม่า การสังคายนาครั้งนี้ทำใน รัชสมัยของพระเจ้ามินดง คือพระชาคราภิวังสะ พระนรินทาภิชชะ และ พระสุมังคลสามี ผลัดกับเป็นประธานโดยลำดับ มีผู้เชี่ยวชาญแตกฉานในพระปริยัติธรรม เข้าร่วมประชุม ๒,๔๐๐ ท่าน ทำอยู่ ๕ เดือน จึงเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๔
    ผลการสังคายนาครั้งนี้ นอกจากจารึกพระไตรปิฎกลงใบลานตามปกติแล้ว ยังโปรดให้มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในหินอ่อน ๗๒๙ แผ่น ณ เมืองมันดเล

    การสังคายนาครั้งที่ ๖ (ฉัฏฐสังคายนา)
    เนื่องในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ รัฐบาลพม่า มีจุดประสงค์มุ่งจะพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นข้อแรก และแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาพม่าออกพิมพ์ให้ครบ เพื่อเป็นอนุสรณ์ ๒๕ พุทธศตวรรษได้ทำระหว่าง ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๙๗-วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๔๙๙ จึงปิดงาน ในการนี้ได้เชิญชวนพุทธศาสนิกชนหลายประเทศไปร่วมด้วย โดยเฉพาะประเทศเถรวาทคือ พม่า, ลังกา, ไทย, ลาว เขมร มีการสร้างคูหาจำลอง ทำด้วยคอนกรีต จุคนได้หลายพันคนมีที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ไม่น้อยกว่า ๒,๕๐๐ ที่ ในเนื้อที่ ๒๐๐ ไร่เศษ เสร็จแล้วได้แจกจ่ายไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

    การสังคายนาในไทย
    หนังสือสังคีติวงศ์ คือประวัติแห่งการสังคายนา รจนาเป็นภาษาบาลีโดย สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้ลำดับความเป็นมาของการสังคายนาไว้ถึง ๙ ครั้งคือ

    สังคายนาครั้งที่ ๑-๒-๓ ทำในอินเดีย ดังที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น
    สังคายนาครั้งที่ ๔-๕ ทำในศรีลังกา ดังที่กล่าวแล้วในตอนที่ว่าด้วยการสังคายนาในศรีลังกา
    สังคายนาครั้งที่ ๖ ทำในศรีลังกา เมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ พระพุทธโฆสะได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถา คือคำอธิบาย
    พระไตรปิฎกจากภาษาลังกาเป็นภาษาบาลี ในรัชสมัยของพระเจ้ามหานาม
    สังคายนาครั้งที่ ๗ ทำในศรีลังกา เมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗ พระมหากัสสปเถระได้เป็นประธาน มีพระเถระร่วมด้วยกว่า ๑,๐๐๐ รูป ได้รจนาคำอธิบายอรรถกถาพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี เรียกว่า คัมภีร์ ฎีกา

    ชาวลังกาและชาวพุทธทั่วไปมิได้ถือว่าเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎก แต่ก็ทำให้รู้ว่ามีประวัติความเป็นมาแห่งอรรถกถาและฎีกาแห่งพระไตรปิฎกว่าเป็นมาอย่างไร

    สังคายนาครั้งที่ ๘ ทำในประเทศไทย ประมาณ พ.ศ.๒๐๒๐ พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ได้อาราธนาพระสงฆ์
    ที่ทรงพระไตรปิฎกหลายร้อยรูป ให้ช่วยชำระอักษรพระไตรปิฎกในวัดโพธารามเป็นเวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ การสังคายนาครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ ๑ ในประเทศไทย
    สังคายนาครั้งที่ ๙ ทำในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงอาราธนาพระสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญจำนวน ๒๑๘ รูป ราชบัณฑิต ที่เป็นอุบาสกอีก ๓๒ คน ช่วยกันชำระพระไตรปิฎกที่วัดมหาธาตุ แล้วจัดให้มีการจารึกลงในใบลาน สังคายนาครั้งนี้สำเร็จภายใน ๕ เดือน

    การสังคายนาของฝ่ายมหายาน

    เมื่อตรวจสอบหลักฐานหนังสือฝ่ายมหายาน แม้จะพบว่าสังคายนาผสมกับฝ่ายมหายานนั้นได้ทำในสมัยพระเจ้า กนิษกะ ประมาณ พ.ศ. ๖๔๓ ก็ตาม แต่ข้ออ้างต่างๆ มักจะพาดพิงไปถึงสังคายนาครั้งที่ ๑ และที่ ๒ กล่าวคือ

    (๑) การสังคายนาครั้งแรก ซึ่งมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหาข้างเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์มีคำกล่าวของฝ่ายมหายานว่า ภิกษุทั้งหลายผู้มิได้รับเลือกเป็นการกสงฆ์ได้ประชุมกันทำสังคายนาขึ้นอีกส่วนหนึ่ง เรียกว่า สังคายนานอกถ้ำ โดยเหตุที่พระภิกษุที่เข้าร่วมทำสังคายนานอกถ้ำมีจำนวนมาก จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังคายนามหาสังฆิกะ เป็นการประชุมของสงฆ์หมู่ใหญ่ เรื่องนี้มีกล่าวไว้ในหนังสือประวัติของหลวงจีนเฮี่ยงจัง นักจาริกแสวงบุญจากจีน เข้าไปสืบพระศาสนาในอินเดียด้วย การสังคายนาครั้งนี้ แบ่งออกเป็น ๕ ปิฎกคือ พระสูตรพระวินัย พระอภิธรรม ปกิณณกะ และ ธารณี

    (๒) การสังคายนาของภิกษุชาววัชชีบุตร ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพระยสกากัณฑกบุตร ประธานการสังคายนา ครั้งที่ ๒ กล่าวว่ามีพวกวัชชีบุตรถึง ๑๐,๐๐๐ รูปทำสังคายนาของตนที่เมืองกุสุมปุระ (ปาตลีบุตร) ให้ชื่อว่า มหาสังคีติ จนเป็นเหตุให้เกิดนิกายมหาสังฆิกะ แต่มหายานไม่กล่าวถึงวัตถุ ๑๐ ประการ แต่กล่าวถึงข้อเสนอ ๕ ประการของพระมหาเทวะ เกี่ยวกับพระอรหันต์ว่า
    ๑. พระอรหันต์อาจถูกมารยั่วยวนในความฝันจนอสุจิเคลื่อนได้
    ๒. พระอรหันต์อาจมีอัญญาณได้
    ๓. พระอรหันต์ อาจมีกังขาได้
    ๔. ผู้จะรู้ว่าตนบรรลุอรหัตตผล ก็โดยการแนะนำพยากรณ์ของผู้อื่น
    ๕. มรรคผลจะปรากฏต่อเมื่อบุคคลผู้บำเพ็ญเปล่งคำว่าทุกข์หนอจนเป็นเหตุให้เกิดการสังคายนาครั้งที่ ๒ แล้วพวกมหาสังฆิกะก็แยกออกมาทำสังคายนาของตน

    (๓) การสังคายนาของนิกายสัพพัตถิกวาท ทำในสมัยพระเจ้ากนิษกะ ประมาณปี พ.ศ. ๖๔๓
    (ค.ศ. ๑๐๐) ทำที่เมืองชาลันธร หรือ กัสมีระ โดยมีพระปารศวะเป็นที่ปรึกษา มีผู้เข้าร่วม ๕๐๐ รูป และได้แต่งอรรถกถาอธิบายพระไตรปิฎกดังนี้
    อรรถกถาพระสูตร ๑๐๐,๐๐๐ โศลก
    อรรถกถาพระวินัย ๑๐๐,๐๐๐ โศลก
    อรรถกถาพระอภิธรรม ๑๐๐,๐๐๐ โศลก
    เสร็จแล้วได้จารึกลงบนแผ่นทองแดง เก็บไว้ในหีบศิลา แล้วบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์การสังคายนาครั้งนี้เนื่องจากมหายานที่เข้าไปเจริญในประเทศต่างๆ ได้ปรุงแปรเป็นเอกลักษณ์ของชาตินั้นๆ ไป จึงต่างก็แตกสาขานิกายออกไปอีกมากมาย ยากแก่การจะรวมตัวกันแบบยุคแรกๆ จึงไม่กล่าวถึงการสังคายนา

    การชำระ การจารึกและการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย
    อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้ประมวลเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการชำระ การจารึกและการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย เป็น ๔ สมัยคือ
    สมัยที่ ๑ ชำระและจารึกลงในใบลาน กระทำที่เมืองเชียงใหม่สมัยพระเจ้า ติโลกราช ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐
    สมัยที่ ๒ ชำระและจารึกลงในใบลาน กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๓๑
    สมัยที่ ๓ ชำระและพิมพ์เป็นเล่มด้วยอักษรไทย กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๓๖
    สมัยที่ ๔ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๓ และมีงานสำคัญอีก ๓ อย่างที่ควรแก่การจัดเข้าไว้ในประวัติศาสตร์ของการเกิดขึ้นของการพิมพ์พระไตรปิฎกและคัมภีร์ในประเทศไทย คือ

    ๑. การพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทย ซึ่งเริ่มงานตั้งแต่ปี ๒๔๘๓ และมาเสร็จใน เดือนพฤษภาคม ๒๕๐๐ เสร็จทันฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษพอดี จัดพิมพ์เป็นเล่มสมุดจำนวน ๘๐ เล่ม ต่อมาในการพิมพ์ครั้งที่ ๒ ได้จัดพิมพ์เท่ากับจำนวนเล่มบาลีจำนวน ๔๕ เล่ม

    ๒. การจัดชำระและพิมพ์พระไตรปิฎก ฉบับ "มหาจุฬาเตปิฏกํ" ซึ่งเริ่มจัดทำตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระพุทธศาสนาครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ และได้จัดพิมพ์มาโดยลำดับ ขณะนี้พิมพ์เรียบร้อยแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ และปี ๒๕๒๘ ได้ประกอบพิธีเริ่มงานแปลพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คาดว่าจะเสร็จในปี ๒๕๔๒

    ๓. สมาคมศูนย์ค้นคว้าทางพระพุทธศาสนาวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร ได้ริเริ่มงานปริวรรตและแปลคัมภีร์ ตลอดถึงตีพิมพ์เผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ปี ๒๕๐๖ และต่อมาในปี ๒๕๑๖ ได้รับพระบรมราชานุญาตจัดตั้ง "มูลนิธิภูมิพโล" ขึ้น และทางมูลนิธิได้ทำโครงการปริวรรตอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่น ชำระและแปลพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นภาษาไทย เสนอคณะสงฆ์ผ่านกรมการศาสนา ได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม ตามมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๑/๒๕๑๖ และได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาล โดยให้เงินอุดหนุนเป็นรายปีผ่านกรมการศาสนาให้ดำเนินการตามโครงการนี้โครงการได้ปริวรรต ชำระ แปล และตีพิมพ์ผลงานทั้งคัมภีร์บาลี อรรถกถา ฎีกา และอื่นๆ ออกมาหลายเล่ม จนถึงปัจจุบัน

    ๑. คัมภีร์ดั้งเดิมคือบาลี เดิมพระพุทธพจน์อยู่ในลักษณะการจำแล้วบอกกันต่อๆ มา เมื่อมีการจารึกลงในใบลานจึงเกิดคัมภีร์ขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่ากันว่า บาลีพระไตรปิฎกซึ่งรวบรวมไว้ดังนี้ คัมภีร์ทั้งหมดนี้เรียกว่าคัมภีร์ดั้งเดิม (Original Pali) หรือบางทีเรียกว่าบาลีพุทธวจนะ (Canon)

    ๒. คำอธิบายพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้น ๒ เรียกว่า อรรถกถา หรือ วรรณนา (Commentaries) ซึ่งมีทั้งอรรถกถาพระวินัยปิฎก อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก และอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก และอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ที่อธิบายต่อเนื่องกันจนตลอดก็มี ที่อธิบายเฉพาะคัมภีร์ๆ ก็มีเช่น
    สมันตปาสาทิกา อรรถกถา พระวินัย
    สุมังคลวิลาสินี " ทีฆนิกาย
    ปปัญจสูทนี " มัชฌิมนิกาย
    สารัตถปกาสินี " สํยุตตนิกาย
    มโนรถปูรณี " อังคุตตรนิกาย
    ปรมัตถโชติกา " ขุททกนิกาย
    ธัมมปทัฏฐกถา " ขุททกนิกาย
    ปรมัตถทีปนี " ขุททกนิกาย
    ชาตกัฏฐกถา " ขุททกนิกาย
    สัทธัมมปัชโชติกา " ขุททกนิกาย
    สัทธัมมปกาสินี " ขุททกนิกาย
    วิสุทธชนวิลาสินี " ขุททกนิกาย
    มธุรัตถวิลาสินี " ขุททกนิกาย
    อัฏฐสาลินี " ธัมมสังคณี
    สัมโมหวิโนทนี " วิภังค์
    ปัญจปกรณัฏฐกถา หรือ ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ธาตุกถาปัฏฐาน
    อธิบายอรรถกถา เรียกว่า ฎีกา (Sub-commentaries) เป็นหลักฐานชั้น ๓ ตัวอย่างเช่น
    อธิบายสมันตปาสาทิกา เรียกว่า ฎีกาสารัตถทีปนี
    อภิธัมมัตถวิภาวินี ฎีกาอธิบาย พระอภิธรรม
    อธิบายฎีกา เรียกว่า อนุฎีกา (Sub-sub-commentaries) เป็นหลักฐานชั้น ๔ เช่น อนุฎีกาวิมติวิโนทนี ของพระวินัย เป็นต้น

    ๓. นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์ที่แต่งขึ้นว่าด้วยกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์บาลี อธิบายศัพท์ต่างๆ รวมเรียกว่า สัททาวิเสส เป็นชื่อที่เรียกกันในวงการนักปราชญ์บาลีฝ่ายไทย ดังปรากฏในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อทำสังคายนาในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๓๑ เพื่อชำระพระไตรปิฎกนั้น ได้มีการชำระคัมภีร์สัททาวิเสสต่างๆ ด้วย โดยมี พระพุฒาจารย์ เป็นแม่กอง เช่นมูลกัจจายนปกรณ์ รูปสิทธิธาตุปทีปิกา อภิธานัปปทีปิกา และสูจิ เป็นต้น พระไตรปิฎกเป็นของมีมาก่อน
    ส่วนอรรถกถาแต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. ๙๕๖ ส่วนฎีกาแต่งเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๕๘๗ คัมภีร์อนุฎีกานั้น แต่งขึ้นภายหลังฎีกายุคต่อๆ มาเป็นคำอธิบายฎีกา

    อีกต่อหนึ่งอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "แม้พระไตรปิฎกจะเป็นหลักฐานชั้น ๑ เมื่อพิจารณาตามหลักพุทธภาษิตในกาลามสูตร ท่านก็ไม่ให้ติดจนเกินไป ดังคำว่า มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าถือโดยอ้างตำรา เพราะอาจผิดพลาดตกหล่น หรือบางตอนอาจเพิ่มเติมขึ้น แสดงว่าพระพุทธศาสนาสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล สอบสวนดูให้เห็นประจักษ์แก่ใจตนเอง เป็นการสอนอย่างมีน้ำใจกว้างขวาง และให้เสรีภาพแก่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังเป็นการยืนยันให้นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อได้ประจักษ์ผลนั้นๆ ด้วยตนเอง แม้จะมีพระพุทธภาษิตเตือนไว้ มิให้ติดตำราจนเกินไป แต่ก็จำเป็นต้องรักษาตำราไว้ เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษา เพราะถ้าไม่มีตำราเลยจะยิ่งซ้ำร้าย เพราะจะไม่มีแนวทางให้รู้จักพระพุทธศาสนาเลย ฉะนั้น การศึกษาให้รู้และเข้าใจในพระไตรปิฎก จึงเป็นลำดับแรก เรียกว่า ปริยัติ การลงมือทำตามโดยควรแก่จิต อัธยาศัย เรียกว่าปฏิบัติ การได้รับผลแห่งการปฏิบัตินั้นๆ เรียกว่า ปฏิเวธ"*(*สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน,กรุงเทพฯ, มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๒๔, น. ๒๔ )

    สังคายนาครั้งที่ 8 : (เป็นครั้งแรกในไทย นับต่อจากลังกา ปี พ.ศ. 1587) เมื่อปี พ.ศ. 2020

    สาเหตุ : เพื่อชำระอักษรพระไตรปิฎก (จารึกลงในใบลานเป็นภาษาไทยล้านนา)
    สถานที่ : ณ วัดโพธาราม นครเชียงใหม่ ใช้เวลาสังคายนา 1 ปี
    ประธานสงฆ์ : พระธรรมทินเถระ และพระภิกษุคณาจารย์ผู้แตกฉานหลายร้อยรูป
    ผู้อุปถัมภ์ : พระเจ้าติโลกราช แห่งนครเชียงเชียงใหม่
    (หมายเหตุ ได้เก็บพระไตรปิฎกไว้ที่หอ มณเฑียร ที่วัดโพธาราม นครเชียงใหม่ )

    สังคายนาครั้งที่ 9 : ( เป็นครั้งที่ 2 ในไทย ) เมื่อปี พ.ศ. 2331

    สาเหตุ : เพื่อจัดให้มีการจารึกลงในใบลาน ( ภาษาขอม ) แก้ไขข้อผิดพลาด
    สถานที่ : ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ กรุงเทพฯ ใช้เวลาสังคายนา 5 เดือน
    ประธานสงฆ์ : พระสังฆราชเจ้า พร้อมพระสงฆ์ 218 รูป และราชบัณฑิต 32 คน
    ผู้อุปถัมภ์ : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    (หมายเหตุ ทรงให้ปิดทองห่อด้วยผ้ายก เชือกรัดถักด้วยไหม ใส่ตู้เก็บไว้ในหอ มณเฑียรธรรม)

    รัชกาลที่ 5 ต่อมาในระหว่าง พ.ศ. 2431-2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้คัดลอกพระไตรปิฎกอักษรขอมในใบลาน ( ฉบับรัชกาลที่ 1) ออกมาเป็นตัวอักษรไทย (บาลี) แล้วชำระแก้ไขและพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนังสือได้ 39 เล่ม นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป้นรูปเล่มหนังสือด้วยอักษรไทย

    รัชกาลที่ 7 ในระหว่าง พ.ศ. 2468-2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎก เป็นเล่มหนังสือได้ 45 เล่ม เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ (บาลี) พิมพ์ที่มหามกุฏราชวิทยาลัย

    รัชกาลที่ 8 ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล ทรงให้คณะสงฆ์ได้แปลพระไตรปิฎก ( ภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ) และได้จัดพิมพ์เป็นการฉลอง 25 ปี พุทธศตวรรษใน พ.ศ. 2500 เป็นเล่มหนังสือได้ 80 เล่ม ในการพิมพ์ครั้งต่อมาได้รวมเล่มลดจำนวนเหลือ 45 เล่ม เท่ากับฉบับภาษาบาลี

    รัชกาลที่ 9
    ใน พ.ศ. 2530 คณะสงฆ์และรัฐบาลไทยได้จัดงานสังคายนาพระธรรมวินัย ชำระพระไตรปิฎกทั้งฉบับภาษาบาลีและภาษาไทย และจัดพิมพ์ขึ้นใหม่เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับสังคายนา เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงพระชนมพรรษา ครบ 5 รอบ
     

แชร์หน้านี้

Loading...