ความหมายของ 'คาถา'

ในห้อง 'รวมบทสวดมนต์และคาถา' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 27 มิถุนายน 2010.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    โดย ดังตฤณ

    พอพูดถึง " คาถา"

    คนส่วนใหญ่นึกถึงบทสวดอะไรสักบท ซึ่งถ้าเป็นไปในทางอาคม ก็มักออกในทางคำเสกเป่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิพลบางอย่าง อย่างน้อยที่สุดสวดคำศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้องชวนให้รู้สึกว่าใจมีความศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นในตัว

    ความหมายของคาถา ยังมีอีกความหมายหนึ่ง คือเป็นคําประพันธ์ประเภทร้อยกรองในภาษาบาลี ๔ บาท เรียกว่า หนึ่งคาถา

    โดยนัยนี้ไม่จำเป็นต้องศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์ เอาแค่พอเกิดการทรงจำที่เป็นประโยชน์หรือได้แง่คิดดีๆ ก็นับว่าใช้ได้

    หากพูดในเชิงใช้คาถาให้เป็นประโยชน์ ผมคิดว่าทั้งในเชิงอาคมและในเชิงปัญญาก็ผสมผสานกันได้ เพราะถ้าว่าในทางปฏิบัติแล้ว คาถาก็คือการร้อยเรียงถ้อยคำ ซึ่งเมื่อเปล่งเสียงออกมาเป็นวาจาแล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่งหรืออาจสัมผัสถึงกลุ่มพลังในทางมืดทางสว่างขึ้นมาได้

    คนที่เชี่ยวชาญคาถา ท่องคาถาได้มาก เข้าใจความหมายของภาษาได้ลึกซึ้ง อาจจำแนกได้ทีเดียวว่าแต่ละคาถา มีความสะเทือนถึงจิตต่างกันอย่างไร

    ยกตัวอย่างเช่นถ้าคาถาไหนเปล่งเสียงแล้ว ก่อให้เกิดศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็เอามาเป็นบทสวดสรรเสริญพระคุณในศาสนาของตน หรือถ้าเปล่งเสียงแล้วก่อให้เกิดกำลังจิตกล้าแข็ง ก็เอามาเป็นบทสวดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางฤทธิ์เดช

    การสวดคนเดียวกับสวดหลายคนมีผลต่างกัน เพราะคลื่นเสียงที่เกิดขึ้นนั้น มาเดี่ยวกับมาคู่ก็แตกต่างแล้วและยิ่งถ้าผสมรวมเป็นหมู่คณะ ก็ยิ่งแตกต่างมากขึ้นเป็นเงาตามจำนวน

    ความสะเทือนอันศักดิ์สิทธิ์ที่แผ่ไปในอากาศ ย่อมทำให้อากาศในย่านนั้นสว่าง ความสะเทือนอันศักดิ์สิทธิ์ที่แผ่ไปกระทบวัตถุ ย่อมก่อความสว่างเพิ่มขึ้นกับตัววัตถุ นี่เป็นเรื่องธรรมดาที่พวกเล่นคาถาจน "เห็น" ความสว่างของคาถา ย่อมเข้าใจดีกับทั้งแยกแยะได้ ว่าอันไหนสว่างกว่ากัน สวดเดี่ยว สวดคู่ หรือสวดเป็นหมู่คณะ แล้วให้ผลผิดแผกแตกต่างได้เพียงใด

    ผมเคยพูดถึงคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในความเห็นส่วนตัว อันได้แก่บทสวดอิติปิโส เพราะไม่เคยเห็นบทสวดไหนก่อความสว่างได้เท่า

    วันนี้จะขอพูดถึงคาถาที่เป็นประโยชน์ เห็นผลเร็วที่สุดในโลก แล้วก็ไม่ต้องท่องจำมากมาย เป็นอะไรสั้นๆ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องทำความเข้าใจประกอบไปด้วย ไม่ใช่ท่องๆ แล้วก็เกิดประโยชน์สูงสุดขึ้นมาได้เอง

    อานิสงส์ของคาถานี้ ที่จะมีแก่ผู้สวดอย่างเข้าใจทันที ได้แก่
    ๑) ระงับใจให้เย็นลง
    ๒) แก้ฟุ้งซ่านได้
    ๓) แก้ทุกข์เรื้อรังทางใจได้
    ๔) ท่องบ่นแล้วฉลาดขึ้น
    ๕) ปัดเสนียดจัญไรไสยศาสตร์ได้


    ฟังโฆษณาสรรพคุณแล้วอาจนึกว่ามาแนวขายยา แต่ขอให้สังเกตว่าสรรพคุณที่ผมโฆษณาไว้นี้ เป็นเรื่องเห็นผลทันทีเดี๋ยวนี้เลย ไม่ใช่รอชาติหน้าชาติไหน ถ้าใครทดลองพิสูจน์ก็จะเห็นตามจริงได้ไม่ยาก

    ผมพบคาถานี้ตั้งแต่ครั้งสวด เมื่อบวชพระยี่สิบกว่าปีก่อน แต่เป็นส่วนหนึ่งของบทสวดที่ยาวเหยียด และคนก็ไม่ค่อยแยกเอามาท่องกัน ช่วงหลังๆผมมีโอกาสใช้บ่อย เลยอยากนำมาแบ่งปันกันครับ

    คาถานี้เป็นพุทธพจน์ ว่าเต็มๆ คือ

    สัพเพ สังขารา อนิจจา
    สัพเพ สังขารา ทุกขา
    สัพเพ ธัมมา อนัตตา


    ความหมายคือ

    สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายไม่เที่ยง
    (เพราะ) สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
    (และ) สิ่งทั้งหลาย อันรวมถึงสิ่งไม่ปรุงแต่งอย่างนิพพาน
    ก็ไม่ใช่ตัวตนที่บังคับเอาหรือถือมั่นไว้ได้


    บางแห่งพระผู้มีพระภาคก็กล่าวย่นย่อเฉพาะความไม่เที่ยง และความไม่ใช่ตัวตน (อนิจจัง อนัตตา) ผมพบว่าคนส่วนใหญ่ถ้าจับเอาแค่ สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ จิตจะยังมีกำลังเป็นอันเดียว ทำนองเดียวกับพูดประโยคเดียว มีต้นมีปลายชัดเจน
    ไม่เลื่อนลอยไปเสียก่อน จึงเหมาเอาตามอัตโนมัติว่าใช้เป็นคาถาสั้นได้ และก็ได้ผลครับ คุณทดลองแล้วจะรู้ด้วยตัวเอง เพราะพระคาถานี้เป็นพุทธพจน์ที่ท่องบ่นบ่อยๆ หรือท่องบ่นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จะมีอิทธิพลให้ปล่อยวางได้เร็ว ลองใช้อุปเท่ห์แยกตามจุดประสงค์เป็นข้อๆ

    ๑) ถ้ากำลังโกรธจัด
    ให้ยอมรับตามจริงว่าโกรธ กำลังเกิดโทสะร้อนแรง รับรู้สภาพความร้อนนั้น แล้วท่องว่า

    สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ

    เพียงรอบเดียว คุณจะรู้สึกถึงความร้อนที่ลดระดับลงฮวบฮาบ โดยเฉพาะถ้าประกอบด้วยความเข้าใจว่าโทสะเป็นสังขาร เป็นของปรุงแต่ง ถ้าใจไม่ไปกระทบกับเรื่องขัดใจก็ไม่โกรธ ความโกรธไม่เที่ยงเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวตน

    ๒) กำลังฟุ้งซ่านจัด
    ให้ยอมรับตามจริงว่าปั่นป่วน จิตกำลังดิ้นพล่าน รับรู้สภาพความพล่านไปนั้น แล้วท่องว่า

    สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ

    เพียง ๓ รอบ คุณจะรู้สึกถึงความฟุ้งที่เบาบางลง โดยเฉพาะถ้าประกอบด้วยความเข้าใจว่าความฟุ้งเป็นสังขาร เป็นของปรุงแต่ง ถ้าใจไม่ถูกปล่อยให้ซ่านไปก็ไม่ฟุ้ง ความฟุ้งไม่เที่ยงเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวตน

    ๓) กำลังทุกข์เรื้อรังทางใจ
    ให้ยอมรับตามจริงว่าเป็นทุกข์ รับรู้สภาพใจทั้งหมดที่รู้สึกเป็นทุกข์หนักนั้น แล้วท่องว่า

    สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ

    ท่องเรื่อยๆ ซ้ำไปซ้ำมาเป็นสิบรอบ หรือถ้ายังไหวก็เป็นร้อยๆ รอบ คุณจะรู้สึกถึงความทุกข์ทางใจที่ลดระดับอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะถ้าประกอบด้วยความเข้าใจว่าทุกข์เป็นสังขาร เป็นของปรุงแต่ง ถ้าไม่เอาใจไปผูกกับเหตุร้อนก็ไม่ทุกข์ ทุกข์ทางใจไม่เที่ยงเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวตน

    ๔) กำลังทึบโง่
    ให้ยอมรับตามจริงว่ากำลังทึบๆ ตันๆ คิดอะไรไม่ออก อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง หรือหัวช้าไม่แล่นเหมือนเก่า รับรู้สภาพใจทั้งหมดที่ทึบตันนั้น แล้วท่องว่า

    สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ

    ท่องครั้งละรอบ แต่บ่อย สังเกตว่าแต่ละครั้งที่ท่อง ใจจะโปร่งขึ้น เมื่อใจจะกลับมาทึบก็ให้ท่องอีก สลับอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สึกโปร่งจริง เนิ่นนาน คุณจะรู้สึกฉลาดขึ้น โดยเฉพาะถ้าประกอบด้วยความเข้าใจว่าที่โง่ ก็เพราะยึดสิ่งที่ไม่ควรยึด พอเลิกยึดก็หายโง่ ความโง่เป็นของปรุงแต่ง ละเหตุแห่งความโง่ก็ไม่โง่ได้ ความโง่ไม่เที่ยงเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวตน

    ๕) กำลังสงสัยว่าโดนไสยศาสตร์ครอบงำ
    ให้ยอมรับตามจริงว่าจิตใจมืดมัว คอยแต่จะคิดไม่ดี รับรู้สภาพใจทั้งหมดที่แย่ๆ นั้น แล้วท่องว่า

    สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ

    หลับตาท่องสักสิบรอบยี่สิบรอบใส่น้ำสะอาดหนึ่งแก้ว คือเอาน้ำหนึ่งแก้วมาอยู่ตรงหน้า ในระยะที่สามารถรู้สึกถึงความสะเทือนจากปาก จนกระทั่งรู้สึกด้วยใจว่าน้ำตรงหน้าใสสว่าง จากนั้นเอาน้ำราดกระหม่อมตนเอง เอามือลูบกระหม่อมและสวดต่อไปด้วย คุณจะรู้สึกถึงความว่างโล่งที่เทียบกันได้ชัดกับตอนมืด โดยเฉพาะถ้าประกอบด้วยความเข้าใจว่าคุณไสยเป็นสังขาร เป็นของปรุงแต่ง เป็นของมืด ถ้าเอาแสงสว่างมาไล่ก็หายสูญ คุณไสยไม่เที่ยงเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวตน

    โดยย่นย่อ คาถานี้เป็นไปเพื่อใจ
    มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน
    เมื่อใจสุกสว่างเต็มดวงแล้ว
    ก็ไม่มีอกุศลใดมาแทรกแซงได้ครับ


    http://variety.teenee.com
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติและความเป็นมาของพระคาถา

    เมื่อครั้งสมัยพุทธกาลพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจาก การสังคายนาพระพุทธศาสนาครั้งที่ 3 (ตติยสังคายนา) แล้ว พระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียเริ่มร่วงโรยลง และต่อมาได้ย้ายไปประดิษฐานในลังกา ศาสนาพุทธกับพราหมณ์ในอินเดียสมัยนั้น ได้ผสมผสาน กันมา จนเกิดมีลัทธิ พุทธตันตระ (ลัทธิพุทธศาสนาอันเกี่ยวกับการใช้คาถา-อาคม พระคาถา)เกิดขึ้น อีกลัทธิหนึ่ง

    ศาสนาพราหมณ์ในขณะนั้น มีความมั่นคงเลื่อมใส ในลัทธิไสยศาสตร์มาก มีการใช้เวทมนตร์"คาถา"เป่าพ่นปลุกเสกและลงเลขยันต์ ประกอบ อาถรรพณ์ต่างๆแม้ในทางพระพุทธศาสนาก็ใช่ว่าจะปฏิเสธเสียทีเดียว เพราะ พระพุทธศาสนาเองก็ยังมีคุณอัศจรรย์ ที่จัดเป็น ปาฏิหาริย์ไว้ 2 อย่าง คือ

    1. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนที่เป็นอัศจรรย์

    2. อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์ที่เป็นอัศจรรย์ถึงกับ พระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่อง พระโมคคัลลานะ เถระไว้เป็น ยอดของพระภิกษุที่ทรงอิทธิฤทธิ์ หากแต่ พระองค์ไม่ทรงยกย่อง อิทธิปาฏิหาริย์เท่ากับ อนุสาสนีปาฏิหาริย์

    การใช้เวทมนตร์คาถานั้น ผลสำเร็จ จะเกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่ดวงจิตสำรวมเป็นสมาธิ และสมาธินี้ท่านจัดบนฐาน แห่ง วิปัสสนาญาณถึงแม้หาก ว่าปุถุชนเราจะบรรลุได้อย่างสูงไม่เกินฌานสมาบัติก็ตามกระนั้นก็สามารถที่จะแสดง อิทธิฤทธิ์ ได้ตามภูมิของตน เช่น พระเทวทัตต์หนแรกที่เธอได้รูปฌาน เธอก็ยังสามารถบิดเบือน แปลงกายกระทำอวด ให้อชาตศัตรูกุมารหลงใหลเลื่อมใสได้

    ส่วนอารมณ์ของรูปฌานนั้น ท่านใช้กสิณบ้างใช้คาถาบริกรรมบ้าง สุดแต่นิสัยของผู้บำเพ็ญปฏิบัติ โดยเฉพาะ ที่ใช้คาถาบริกรรมนั้น ผู้บริกรรม จะรู้ถึงเนื้อความของคาถาที่บริกรรมนั้น หรือไม่ก็ตามนั่นมิใช่สิ่ง ที่เป็นปัญหาที่สำคัญ เพราะความมุ่งหมายต้องการแต่จะให้สมาธิเท่านั้น

    เพื่อผลในทางอิทธิปาฏิหาริย์ที่ตนมุ่งหวังปรารถนา พระคาถาและการทำสมาธิแบบนี้ ได้เจริญ แพร่หลาย มากขึ้น ได้เกิดมีคณาจารย์มุ่งสั่งสอนเวทมนตร์กัน และได้ดัดแปลงแก้ไขวิธีการทางไสยศาสตร์ ของพราหมณ์มาใช้ โดยคัดตัดตอนเอาเนื้อมนต์ของพราหมณ์นั้นออกเสีย บรรจุพระพุทธมนต์ แทรกเข้าไปแทน เพราะมาคิดเห็นกันว่ามนต์พราหมณ์ยังเรืองอานุภาพถึงอย่างนี้ ถ้าหากว่า เป็นพุทธมนต์ คงจะยิ่งกว่าเป็นแน่

    ฉะนั้นในการใช้เวทมนตร์คาถาที่พวกเราพุทธศาสนิกชนปฏิบัติกันทุกวันนี้ จึงล้วนแล้วแต่เป็นพระพุทธมนต์ที่ท่าน โบราณาจารย์ดัดแปลง แก้ไขเลียนแบบอย่างวิธีทางลัทธิไสยศาสตร์เดิมมาเท่านั้นหาใช่เป็นลัทธิไสยศาสตร์ ของพราหมณ์ดังที่บางท่านเข้าใจกันไม่

    การรวบรวมคัมภีร์พระเวทพระคาถา อย่างจริงจังเกิดขึ้นในสมัย เจ้าพระคุณพระมงคลราชมุนี (สนธิ์) วัดสุทัศน์ฯ แต่เมื่อครั้ง ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศรีสัจจญาณมุนีอยู่นั้นพระคุณท่านเป็น ผู้สนใจในศาสตร์ ประเภทนี้อยู่มาก จึงได้พยายามรวบรวมขึ้นไว้จากสรรพตำราต่างๆ ส่วนมากเป็นของ สมเด็จ พระสังฆราช (แพ) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาจารย์ของท่าน อันได้รับสืบต่อมาจาก สมเด็จพระวันรัต (แดง) ท่านได้ตั้ง ปณิธานที่จะให้วิชาเหล่านี้ได้เผยแพร่ต่อไปเพราะเกรงว่าจะสาบสูญเสียหมด

    ในการรวบรวมคัมภีร์พระเวท พระคาถาเหล่านี้ข้อความบางแห่งพอ ที่จะมี ต้นฉบับสอบทาน ก็ได้จัดการ สอบทานแก้ไข ให้ถูกต้อง ตามต้นฉบับเดิม ซึ่งได้คัดลอกสืบต่อกันมา แต่ก็ยังมีอักขระพระคาถา เนื้อมนต์นั้นบางทีก็มีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง สำหรับบทที่หาต้นฉบับ สอบทานไม่ได้ ก็คงไว้ ตามรูปเดิม ซึ่งถ้าหากได้ผ่านสายตาท่าน ผู้รู้ทั้งหลายก็ได้โปรด กรุณา แก้ไขต่อเติมเสีย ให้ครบถ้วน เพื่อจะได้เป็นตำราที่ถูกต้องบริบูรณ์ ดุจต้นฉบับ ของเดิมเพื่อเป็นการเทิดทูน วิทยาการอันประเสริฐ รวมทั้งได้ดำรงคงอยู่เป็นแนวศึกษาของชั้นหลังสืบต่อไป

    คาถา รวมพระคาถา ความหมายของคำว่า “คาถา” พระคาถา และวิชาอาคมในความหมายของคนปัจจุบันการใช้ "คาถา" ให้มีความศักดิ์สิทธิ์ คาถาเป็นองค์ภาวนาเพื่อสร้างกระแสจิต ในนี้จะมีบท คาถาต่างๆ ทั้ง คาถาชินบัญชร คาถาทางเมตตามหานิยม คาถาทางคงกระพันชาตรี คาถาแคล้วคลาด คาถาแผ่ส่วนกุศล คาถาแผ่เมตตา คาถากันของไม่ดี หัวใจพระคาถาต่างๆ คาถาบูชาเทพเจ้า คาถาบูชาพระพุทธรูปต่างๆ ซึ่งคาถาต่างๆเป็นที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ สมัยก่อนคนจะใช้คาถาต่างๆได้สัมฤทธิผลกันมากเนื่องจากมีความเชื่อความศรัทธาและสัจจะเป็นสำคัญ ส่วนการท่องหรือตัวอักษรอักขระการออกเสียงต่างๆ อาจจะมีแตกต่างกันไปบ้าง ส่วนสำคัญอยู่ที่ความมั่นใจและตั้งมั่นมากกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆแค่ บทสวดมนต์ต่างๆการออกเสียงในส่วนของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน ก็ต่างกันแล้ว แต่ทำไมถึงมีความศักดิ์สิทธิ์เหมือนกันละ ก็เพราะความตั้งมั่น ไม่สงสัยในครูบาอาจารย์ที่อบรมสั่งสอนมา

    คาถาใด ๆ ก็ตาม ถ้าหากว่าเราจะต้องท่องให้จำได้ ก็จะต้องทำใจให้บริสุทธิ์ อาบน้ำชำระล้างสิ่งโสโครกให้สะอาดเสียก่อน แล้วก็นำดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระ แล้วก็ระลึกเป็นการขอพรบารมี ให้ท่องได้ง่ายจำได้แม่น แล้วก็กราบตำรานั้น 3 ครั้ง ต่อจากนั้นก็เปิดขึ้นมาท่องจำ หนังสือนั้นอย่าเหยียบอย่าข้าม อย่านั่งทับหรือนอนทับ ขณะท่องอย่านอนหลับให้หนังสือทับคาอก จะทำให้ปัญญาเสื่อม

    เมื่อจะท่องหรือจะใช้พระคาถาใด ๆ ทุก ๆ พระคาถา จะต้องตั้ง นะโม 3 จบก่อน

    นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

    นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

    นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

    ความหมายของคำว่า “คาถา”

    แต่คาถาและวิชาอาคมในความหมายของคนปัจจุบัน ยังมีนัยอีกหลายประการนัยแรกตรงกับความหมายของพระเวท ใช้อ้อนวอนเซ่นสรวงบูชาและขอพรอำนาจแม้แต่การเชื่อว่าเป็นรหัสที่ได้รับจาก เทพเจ้าเป็นพิชอักขระมีความหมายในตัวเองต้องท่องบ่นให้ถูกต้องทุกคำ ห้ามแก้ไขการเรียนควรเรียนจากปากเพื่อรักษาสำเนียงโบราณไว้ ซึ่งทำให้คาถาเพี้ยนอยู่ทุกวันนี้นัยที่สองเป็นสิ่งลึกลับ มีอำนาจและมีตัวตน ใช้ได้เหมือนเครื่องมือสำเร็จรูปคาถาเมตตาบริกรรมภาวนาแล้วเมตตา คาถาทรหดบริกรรมภาวนาแล้วอยู่คงคาถาทั้งปวงมีอาถรรพณ์ เรียนแล้วไม่เจริญ มีพลังสร้างโทษแก่ผู้ใช้ได้สามารถสูบตัวตนของอาคมได้ คล้ายกับตำนานอสูรสูบพระเวทของพระพรหมตอนหลับแผลงฤทธิ์วุ่นวายจนพระนารายณ์ ต้องอวตารไปปราบ เกิดเป็นคำว่าอาคมเข้าตัว (เข้าหัวใจเข้าสมอง) เป็นที่เกรงกลัวกันมากสำหรับคนเรียนคาถายุคใหม่ สับสนกับคำว่าของถ้าเข้าตัวแล้วจะทำให้อายุสั้น บ้าใบ้วิกลจริต ตาบอดฉิบหายตายโหง คล้ายกับผิดครู ซึ่งโบราณนั้นต้องการให้อาคมเข้าตัวอย่างที่สุดก่อนทำการใดๆ ท่านให้เรียกอาคม เรียกอักขระเข้าตัวก่อนเรียนวิชาต้องเรียนจนกว่าอาคมเข้าหนัง เนื้อ และกระดูกไม่มีใครเลยที่กลัวอาคมเข้าตัว แต่กลัวผิดครูถ้าใช้คาถาแล้วฉิบหายตายโหงทันตาแสดงว่าผู้เรียนนั้นใช้คาถา ไปในทางเลวอย่างแน่นอนเพราะกรรมไม่ใช่เพราะตัวอาคม การเรียกอาคมเข้าตัวนี้สนับสนุนว่า อาคม หมายถึงวิชาความรู้ แต่การสูบอาคมหรือคัดทิ้งแท้จริงเป็นการสูบปราณหรือลดพลังปราณคุ้มครองตัว ของฝ่ายตรงข้ามการจะทำได้ต้องมีปราณที่แข็งแกร่งทัดเทียมกันเป็นอย่างน้อย (ให้ศึกษาบทความเรื่องจิตและกายทิพย์) การให้โทษต่อสุขภาพร่างกายของปราณอย่างที่เรียกว่าอาคมเข้าตัวนั้นเกิดจาก การที่ปราณแตกกระจายหรือถูกกระแทกโดยปราณของผู้อื่นอย่างรุนแรงการกระทำ ย่ำยี การคัดของก็ใช้หลักการเดียวกันนี้

    แรกเริ่มของการเรียนไสยศาสตร์ทั่วไปจะได้รับคาถาไหว้ครูบทไม่ยาวนักเพื่อ ฝึกความจำ จากนั้นจะได้รับคาถายาวขึ้น จนกระทั่งถึงโองการและแม่บทคัมภีร์ต่างๆ เมื่อเข้าใจเรื่องการใช้ภูต ปราณ และจิต อย่างคล่องแคล่วแล้วคาถาไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่อาจจะมีความเคยชินว่าในการใช้พลังจิตต้องมีคาถาบูรพาจารย์มักยกคาถา สั้นๆมาใช้ ดังคำว่าสูงสุดคืนสู่สามัญจากกระบวนท่าเป็นไร้กระบวนท่า คาถาที่ได้รับตอนแรกเรียนเช่น พุทโธ นะมะพะทะนะโมพุทธายะ ฯลฯจึงเป็นคาถาที่บูรพาจารย์นำกลับมาใช้แสดงฤทธิ์จนเลื่องลือถึงทุกวันนี้ เคยพบหลายท่านที่คล่องแคล่วในการวางอารมณ์และถ่ายปราณไม่ได้ใช้คาถาใดในการ แสดงวิชาเลย

    เมื่อเข้าใจว่าการใช้คาถาเป็นองค์ภาวนาเพื่อสร้างกระแสจิต ในตนสร้างความเชื่อมั่น และโน้มน้าวจิตตามวัตถุประสงค์ เราจะพบเห็นการแปลงคาถา เช่นสวาหะ แปลงเป็นสวาหาย สวาหับ สวาโหม ฯลฯ การนำคำพ้องเสียงมาใช้โดยไม่สนใจความหมายเช่น อุทธังอัทโธ แปลว่า เบื้องล่างเบื้องบน นำมาใช้ในวิชามหาอุด เป็นต้นดังนั้นหลักใหญ่ของการใช้คาถาคือความสม่ำเสมอของอารมณ์ในขณะนั้น( ไม่ใช่ความนิ่งไร้อารมณ์)ความเชื่อมั่นไร้ความลังเลสงสัยในกระแสทั้งสามและ อำนาจของกระแสจิตในตนคาถาทั้งปวงจะขลังหรือไม่ขึ้นอยู่กับอุปาทานข้อนี้ และ ๑.อำนาจสัจจะ๒.อำนาจคุณพระและ ๓.อำนาจเคราะห์กรรม (พึงศึกษาบทความเรื่องคุณพระต่อไป)การใช้คาถาทั้งปวงเมื่อเข้าถึงคุณพระได้ ย่อมเกิดอานุภาพความยาวและความยากของภาษาที่ใช้มีผลต่อการเข้าถึงคุณพระพอ สมควรดังนั้นควรเลือกบทที่ชอบ จิตเกาะได้ดี อารมณ์สม่ำเสมอ หรือเกิดปีติ


    ที่มา :: www.dhamboon.com

    <!-- Reply_Detail_Display -->
     
  3. ชินจัน

    ชินจัน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    61
    ค่าพลัง:
    +150

แชร์หน้านี้

Loading...