ความเป็นมาของพระไตรปิฎก ตอนจบ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย guawn, 8 มกราคม 2007.

  1. guawn

    guawn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    10,642
    ค่าพลัง:
    +42,113
    ความเป็นมาของพระไตรปิฎก ตอนจบ

    คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์

    โดย ไต้ ตามทาง



    เมื่อภาษาทั้งสองนี้เข้ากันไม่ได้ในสาระสำคัญดังกล่าว นักปราชญ์ที่กล่าวนามมานี้จึงไม่เห็นด้วยกับความเชื่อที่ว่า ภาษาบาลีเป็นภาษาเดียวกับภาษามาคธี หรือมีวิวัฒนาการมาจากภาษามาคธี

    2. อีกพวกหนึ่งอาทิ เวสเตอร์การ์ด (Westergard) และ คูห์น (Kuhn) สันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดภาษาบาลีคือ เมืองอุชเชนี โดยอ้างศิลาจารึกพระเจ้าอโศกมหาราชที่ค้นพบที่คีรนา (Girma Inscription) ว่า ภาษาที่ใช้ในศิลาจารึกละม้ายคล้ายคลึงกับภาษาบาลีในส่วนสำคัญๆ และตามประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาก็บ่งว่า พระมหินทเถระ ประสูติและเจริญเติบโตที่เมืองอุชเชนี ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าเมื่อท่านไปสืบศาสนาที่ลังกา ก็จักต้องประกาศเผยแผ่ด้วยภาษา "น้ำนม" (mother tongue) ของตน

    3. อาร์.โอ.ฟรังเก (R.O.Franke) มีความเห็นว่า ถิ่นกำเนิดของภาษาบาลีไม่ควรอยู่แคบๆ แค่เมืองอุชเชนี ควรจะเป็นบริเวณตั้งแต่ตอนกลางของเทือกเขาวินธัย ไปจนถึงด้านตะวันตกแห่งเทือกเขาเดียวกัน สเตน โกโนว์ (Sten Konow) เห็นว่ากำเนิดภาษาบาลีอยู่แถบเทือกเขาวินธัยเช่นเดียวกันฟรังเกมีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ภาษาบาลีมีความใกล้เคียงกับภาษาไปศาจี

    4. โอลเดนเบอร์ก (Oldenberg) นักปราชญ์เยอรมันมีความเห็นว่า ภาษาบาลีถือกำเนิดที่แคว้นกลิงครัฐ นักปราชญ์ท่านนี้ปฏิเสธพงศาวดารเรื่องพระมหินท์ไปสืบศาสนาที่ประเทศลังกาว่าไม่มีความจริงทางประวัติศาสตร์ ตามความคิดเห็นของเขา พระพุทธศาสนาและพระไตรปิฎกไปสู่ลังกาโดยการติดต่อกันอย่างธรรมดาระหว่างเกาะลังกา กับแคว้นกลิงครัฐของอินเดีย ดังนั้น ภาษาพระไตรปิฎกจึงน่าจะเป็นภาษาของแคว้นกลิงครัฐมากกว่า ทั้งยังเห็นว่าภาษาบาลี มีลักษณะร่วมหลายอย่างที่คล้ายกันกับภาษาในศิลาจารึก ที่ค้นพบที่ Khandagiri ในแคว้นกลิงครัฐ

    ยังมีอีกหลายทัศนะที่แตกต่างออกไป ยกมาเท่านี้พอเป็นตัวอย่างเพื่อแสดงว่ามติเกี่ยวกับกำเนิดของภาษาบาลียังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ไม่ยุติลงได้ นักการศาสนาและนักประวัติศาสตร์ต่างก็ยกหลักฐานมาขัดแย้งกันคนละทางสองทาง ซึ่งล้วนมีเหตุผลน่ารับฟังทั้งนั้น ความยุ่งยากอีกประการหนึ่งก็เห็นจะอยู่ที่ชื่อของภาษานี้ไม่ปรากฏว่าเป็นชื่อเรียกภาษาถิ่นใดๆ มาก่อนในสมัยพุทธกาล เพิ่งปรากฏใช้เมื่อพระพุทธศาสนาแพร่ไปสู่ลังกาแล้ว ขณะเดียวกันพระอรรถกถาจารย์ ท่านใช้คำนี้ในความหมาย 2 ประการคือ บางครั้งท่านใช้หมายถึงคัมภีร์ชั้นต้นของพระพุทธศาสนา คือพระไตรปิฎก (ดังตัวอย่างเช่น ปาลิมตฺตํ อิธานีตํ นตฺถิ อฏฺฐกถา อิธ - ที่นำมานี้มีแต่พระไตรปิฎกเท่านั้น ไม่มีอรรถกถา เป็นต้น) แต่บางครั้งใช้เป็นชื่อของภาษา และในความหมายหลังนี้ท่านว่า บาลีเป็นภาษาเดียวกับมาคธี หรือมาคธิกโวหาร ที่เข้าใจว่าเป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าตรัส

    ที่น่าพิจารณาก็คือ พระอรรถกถาจารย์ท่านใช้คำแปลกดังนี้ สมฺมาสมฺพุทฺเธน วุตฺตปฺปกาโร มาคธิโก โวหาโร - ภาษามาคธี แบบ ที่พระพุทธเจ้าตรัส (ปการ-แบบ, ชนิด, อย่าง, สไตล์) คงหมายความว่า พระพุทธองค์ ทรงใช้ภาษามาคธีแน่นอน แต่เนื่องจากพระองค์มิใช่ชาวมคธโดยกำเนิดสำเนียงของพระองค์อาจผิดเพี้ยนจากชาวพื้นเมืองมคธ และทรงใช้ศัพท์ ใช้คำอันเป็นอารามิกโวหาร บรรยายคำสอนของพระองค์เป็น แบบ หรือสไตล์ของพระองค์โดยเฉพาะ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายในปัจจุบันนี้ เวลาพระเทศน์โดยใช้ภาษาเดียวกันกับเรา เรายังเห็นว่าเป็นภาษาหนึ่งต่างหากที่มีวิธีการพูดและใช้คำศัพท์เฉพาะ ยากที่จะเข้าใจ เพราะฉะนั้น มาคธีแบบที่พระพุทธเจ้าตรัส จึงเป็นอีกแบบหนึ่งของภาษาของชาวมคธ มิใช่มาคธีบริสุทธิ์ และได้กลายมาเป็นภาษากลางในการประกาศพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางต่อมา


    ref.http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03bud11080150&day=2007/01/08
     

แชร์หน้านี้

Loading...