ความเป็นมาของพระไตรปิฎก ตอน 77

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย guawn, 5 มกราคม 2007.

  1. guawn

    guawn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    10,642
    ค่าพลัง:
    +42,113
    ความเป็นมาของพระไตรปิฎก ตอน 77

    คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์

    ไต้ ตามทาง



    จากร่องรอยของคำว่า "มูลภาสา" นี้เอง ทำให้น่าคิดว่า บาลีจะต้องเป็นภาษาดั้งเดิมของเผ่าอารยันที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยยังอยู่ภูมิภาคส่วนกลางของทวีปเอเชีย จนกระทั่งอพยพโยกย้ายเข้าไปยังแถบลุ่มแม่น้ำสินธุและขยายอาณาเขตเข้าไปยังลุ่มแม่น้ำคงคาและพรหมบุตร หรือถิ่นที่เรียกว่ามัธยมประเทศ จนถึงสมัยพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ถ้าหากเชื่อว่าบาลีเป็นมูลภาสา (ภาษาดั้งเดิม) ของเผ่าอารยัน บาลีก็ต้องเป็นแม่ของภาษาอินโด-อารยันอื่นๆ ถิ่นโน้นบ้าง ถิ่นนี้บ้าง และถิ่นที่อ้างนั้นบางแห่งก็ห่างไกลกันลิบลับ เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่จะคิดว่าภาษาบาลี มาจากภาษาอารยันถิ่นต่างๆ น่าจะเป็นว่าภาษาถิ่นต่างๆ มาจากภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาแม่หรือมูลภาสามากกว่า อีกประการหนึ่ง ถ้ายอมรับว่า บาลีเป็นภาษาดั้งเดิมของชนเผ่าอารยัน และเป็นภาษาแม่ของภาษาอินโด-อารยันอื่นๆ ก็แสดงว่า ภาษาบาลีเก่ากว่าภาษาสันสกฤต และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาษาไวทิกะ (ภาษาพระเวท) เพราะในวรรณคดีบาลีชั้นต้นกล่าวถึงเพียงภาษาพระเวท หรือภาษาฉันทสะเท่านั้น ไม่กล่าวถึงภาษาสันสกฤต ทั้งคำบาลีที่เรียกภาษาสันสกฤตว่า "สกฺกฏภาสา" ก็เพิ่งจะมาปรากฏหลังพุทธปรินิพพาน เมื่ออาจารย์ปาณินิได้แต่งไวยากรณ์แล้ว ชื่อว่า "สันสกฤต" (แปลว่า ทำใหม่ ปรับปรุงใหม่) ก็ฟ้องอยู่แล้วว่า ภาษานี้เกิดภายหลังปรากฤต หรือภาษาเดิมอื่นๆ

    เมื่อเทียบกันดู ภาษาบาลีใกล้ชิดกับภาษาพระเวทมากกว่าภาษาสันสกฤต เช่น เยหิ เตหิ เยภิ เตหิ เหมือน เยหิสฺ เตหิสฺ เยภิสฺ เตภิสฺส ในภาษาาพระเวท ไม่เป็น ไย : ไต : อย่างภาษาสันสกฤต และภาษาบาลีมี ตฺวาน ปัจจัย เช่นเดียวกับภาษาพระเวท ซึ่งภาษาสันสกฤตไม่มีดังนี้เป็นต้น



    ถิ่นกำเนิดภาษาบาลี

    เมื่อยอมรับว่า ภาษาบาลีก็คือภาษามาคธี ก็ไม่น่าจะมีปัญหาว่า ภาษาบาลีมีถิ่นกำเนิดที่ไหนเพราะชื่อ "มาคธี" (ภาษาที่พูดกันอยู่ที่แคว้นมคธ) ก็บ่งบอกถิ่นกำเนิดอยู่แล้วในตัว แต่เรื่องมันไม่ง่ายอย่างนั้น ยังมีนักปราชญ์อีกหลายท่านมีความคิดเห็นขัดแย้งกันอยู่ในเชิงวิชาการในที่นี้จึงขอประมวลเพื่อศึกษาดังต่อไปนี้

    1. บูร์นูฟ (Burnouf) และลาสเซน (Lassen) ไม่ยอมรับว่าภาษาบาลีเป็นภาษาเดียวกับ (หรือมีรากฐานมาจาก) ภาษามาคธี โดยให้เหตุผลว่า ภาษาทั้งสองมีความแตกต่างกันในลักษณะสำคัญหลายอย่างอาทิ

    - ในภาษามาคธีมี ล อย่างเดียว เสียง ร เดิมในภาษาสันสกฤตจะกลายเป็น ล หมด แต่ในภาษาบาลีมีทั้ง ร และ ล ในบางกรณี ร อาจกลายเป็น ล ได้บ้าง แต่ก็มิใช่กฎตายตัว เช่น ลุชฺชติ เอลณฺฏ ลุทฺท อนฺตริกฺข มาลุต กุมฺภีล

    - ในภาษามาคธีไม่มีเสียง ส เสียง ส ในภาษาสันสกฤตเมื่อเขียนเป็นมาคธีจะกลายเป็น ศ หมด แต่จะคงรูปเป็น ส ตามเดิมในภาษาบาลี

    - นัยกลับกัน ศ ในภาษาสันสกฤตจะกลายเป็น ส ในภาษาบาลี แต่จะคงรูปเดิมในภาษามาคธี

    - ย ระหว่างสระทั้งสอง (intervocalic ya) จะคงรูปไว้ในภาษาบาลี แต่จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นในภาษามาคธี เช่น แปลงเป็น ช หรือลบทิ้งเสีย เช่น อริย แปลงเป็น อริช หรือลบ ย ทิ้งเป็น อริอ (เขียนเป็นอักษรโรมัน จะเห็นชัดขึ้นดังนี้ ari-y-a=ari-j-a or ari -a)

    -อ การันต์ ปฐมาวิภัติ เอกพจน์ ทั้งปุงลิงค์ และนปุงสกลิงค์ ในภาษามาคธี จะลงท้ายด้วยเสียง เอ แต่ในภาษาบาลี ปุงลิงค์ เป็น โอ นปุงสกลิงค์ เป็น อํ นานๆ ครั้งจะปรากฏเสียง เอ บ้างแต่มิใช่กฎตายตัว

    เมื่อภาษาทั้งสองนี้เข้ากันไม่ได้ในสาระสำคัญดังกล่าว นักปราชญ์ที่กล่าวนามมานี้จึงไม่เห็นด้วยกับความเชื่อที่ว่า ภาษาบาลีเป็นภาษาเดียวกับภาษามาคธี หรือมีวิวัฒนาการมาจากภาษามาคธี

    2. อีกพวกหนึ่งอาทิ เวสเตอร์การ์ด (Westergard) และ คูห์น (Kuhn) สันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดภาษาบาลีคือ เมืองอุชเชนี โดยอ้างศิลาจารึกพระเจ้าอโศกมหาราชที่ค้นพบที่คีรนา (Girma Inscription) ว่า ภาษาที่ใช้ในศิลาจารึกละม้ายคล้ายคลึงกับภาษาบาลีในส่วนสำคัญๆ และตามประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาก็บ่งว่า พระมหินทเถระ ประสูติและเจริญเติบโตที่เมืองอุชเชนี ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าเมื่อท่านไปสืบศาสนาที่ลังกา ก็จักต้องประกาศเผยแผ่ด้วยภาษา "น้ำนม" (mother tongue) ของตน

    3. อาร์.โอ.ฟรังเก (R.O.Franke) มีความเห็นว่า ถิ่นกำเนิดของภาษาบาลีไม่ควรอยู่แคบๆ แค่เมืองอุชเชนี ควรจะเป็นบริเวณตั้งแต่ตอนกลางของเทือกเขาวินธัย ไปจนถึงด้านตะวันตกแห่งเทือกเขาเดียวกัน สเตน โกโนว์ (Sten Konow) เห็นว่ากำเนิดภาษาบาลีอยู่แถบเทือกเขาวินธัยเช่นเดียวกันฟรังเกมีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ภาษาบาลีมีความใกล้เคียงกับภาษาไปศาจี

    4. โอลเดนเบอร์ก (Oldenberg) นักปราชญ์เยอรมันมีความเห็นว่า ภาษาบาลีถือกำเนิดที่แคว้นกลิงครัฐ นักปราชญ์ท่านนี้ปฏิเสธพงศาวดารเรื่องพระมหินท์ไปสืบศาสนาที่ประเทศลังกาว่าไม่มีความจริงทางประวัติศาสตร์ ตามความคิดเห็นของเขา พระพุทธศาสนาและพระไตรปิฎกไปสู่ลังกาโดยการติดต่อกันอย่างธรรมดาระหว่างเกาะลังกา กับแคว้นกลิงครัฐของอินเดีย ดังนั้น ภาษาพระไตรปิฎกจึงน่าจะเป็นภาษาของแคว้นกลิงครัฐมากกว่า ทั้งยังเห็นว่าภาษาบาลี มีลักษณะร่วมหลายอย่างที่คล้ายกันกับภาษาในศิลาจารึก ที่ค้นพบที่ Khandagiri ในแคว้นกลิงครัฐ

    ยังมีอีกหลายทัศนะที่แตกต่างออกไป ยกมาเท่านี้พอเป็นตัวอย่างเพื่อแสดงว่ามติเกี่ยวกับกำเนิดของภาษาบาลียังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ไม่ยุติลงได้ นักการศาสนาและนักประวัติศาสตร์ต่างก็ยกหลักฐานมาขัดแย้งกันคนละทางสองทาง ซึ่งล้วนมีเหตุผลน่ารับฟังทั้งนั้น ความยุ่งยากอีกประการหนึ่งก็เห็นจะอยู่ที่ชื่อของภาษานี้ไม่ปรากฏว่าเป็นชื่อเรียกภาษาถิ่นใดๆ มาก่อนในสมัยพุทธกาล เพิ่งปรากฏใช้เมื่อพระพุทธศาสนาแพร่ไปสู่ลังกาแล้ว ขณะเดียวกันพระอรรถกถาจารย์ ท่านใช้คำนี้ในความหมาย 2 ประการคือ บางครั้งท่านใช้หมายถึงคัมภีร์ชั้นต้นของพระพุทธศาสนา คือพระไตรปิฎก (ดังตัวอย่างเช่น ปาลิมตฺตํ อิธานีตํ นตฺถิ อฏฺฐกถา อิธ - ที่นำมานี้มีแต่พระไตรปิฎกเท่านั้น ไม่มีอรรถกถา เป็นต้น) แต่บางครั้งใช้เป็นชื่อของภาษา และในความหมายหลังนี้ท่านว่า บาลีเป็นภาษาเดียวกับมาคธี หรือมาคธิกโวหาร ที่เข้าใจว่าเป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าตรัส

    ที่น่าพิจารณาก็คือ พระอรรถกถาจารย์ท่านใช้คำแปลกดังนี้ สมฺมาสมฺพุทฺเธน วุตฺตปฺปกาโร มาคธิโก โวหาโร - ภาษามาคธี แบบ ที่พระพุทธเจ้าตรัส (ปการ-แบบ, ชนิด, อย่าง, สไตล์) คงหมายความว่า พระพุทธองค์ ทรงใช้ภาษามาคธีแน่นอน แต่เนื่องจากพระองค์มิใช่ชาวมคธโดยกำเนิดสำเนียงของพระองค์อาจผิดเพี้ยนจากชาวพื้นเมืองมคธ และทรงใช้ศัพท์ ใช้คำอันเป็นอารามิกโวหาร บรรยายคำสอนของพระองค์เป็น แบบ หรือสไตล์ของพระองค์โดยเฉพาะ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายในปัจจุบันนี้ เวลาพระเทศน์โดยใช้ภาษาเดียวกันกับเรา เรายังเห็นว่าเป็นภาษาหนึ่งต่างหากที่มีวิธีการพูดและใช้คำศัพท์เฉพาะ ยากที่จะเข้าใจ เพราะฉะนั้น มาคธีแบบที่พระพุทธเจ้าตรัส จึงเป็นอีกแบบหนึ่งของภาษาของชาวมคธ มิใช่มาคธีบริสุทธิ์ และได้กลายมาเป็นภาษากลางในการประกาศพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางต่อมา


    ref.http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03bud06050150&day=2007/01/05
     

แชร์หน้านี้

Loading...