ความเป็นมาของพระไตรปิฏก ตอน 63

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย guawn, 27 พฤศจิกายน 2006.

  1. guawn

    guawn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    10,642
    ค่าพลัง:
    +42,113
    ความเป็นมาของพระไตรปิฏก ตอน 63

    คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์

    ไต้ ตามทาง



    (35) วาเสฏฐสูตร สูตรนี้ซ้ำกับวาเสฏฐสูตร มัชฌิมนิกาย พระไตรปิฎก เล่มที่ 13

    (36) โกกาลิกสูตร กล่าวถึงพระโกกาลิกศิษย์พระเทวทัต กล่าวร้ายพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ถูกตักเตือนแล้วไม่ยอมเลิกรา ในที่สุดก็ป่วยหนักเป็นโรคพุพอง แผลใหญ่ขึ้นทุกที จนต้องนอนใบตอง ถึงแก่มรณภาพ (ข้อความนี้ซ้ำกับทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ 24)

    (37) นาลกสูตร พระนาลกะหลานชายอสิตดาบส ถามเรื่องโมไนยปฏิบัติ (ข้อปฏิบัติเพื่อความเป็นมุนี) พระพุทธเจ้าอธิบายให้ฟัง เป็นต้นว่าต้องเป็นผู้มั่นคงเห็นการด่าและการไหว้เหมือนกัน (คือไม่ยินดียินร้าย) รักษาใจให้สงบ ละกาม ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นต้น

    (38) ทวยตานุปัสสนาสูตร สูตรนี้สอนให้พิจารณาธรรมเป็นคู่ๆ เช่น พิจารณาถึงทุกข์กับเหตุเกิดทุกข์คู่หนึ่ง หรือพิจารณาความดับทุกข์กับทางดับทุกข์คู่หนึ่ง เป็นต้น เท่ากับให้รู้จักพิจารณาโดยแยบคาย มองอะไรก็ให้หัดมองสองด้าน คือ ด้านเหตุ-ด้านผล หรือแง่บวก-แง่ลบ

    ฆ. อัฏฐกวรรค ที่ 4

    (39) กามสูตร ตรัสถึงโทษของกามและสอนให้งดเว้นกามทั้งหลาย อย่าตกอยู่ในอำนาจของมัน ดังเช่นเรือรั่วปล่อยให้น้ำเข้า ควรตั้งสติให้ดีวิดน้ำ (คือกาม) ออก พยุงเรือ (คือจิตใจของตัวเอง) ให้ลุถึงฝั่ง

    (40) คุหัฏฐกสูตร สูตรเปรียบเทียบคนติดอยู่ในถ้ำ โดยใจความสอนให้รู้จักโทษของกาม แล้วเลิกความยึดมั่นถือมั่น มีข้อความไพเราะกินใจหลายตอน

    เช่น "ท่านทั้งหลายจงดูเหล่าชนที่ยึดมั่นว่า "ของฉันๆ" กำลังดิ้นรนอยู่เหมือนปลาในแอ่งน้ำน้อยที่แห้งขอด"

    (41) สุทธัฏฐกสูตร ว่าด้วยมิให้ถือว่าความเห็นของตนเท่านั้นยอดเยี่ยม เช่น ถ้าเห็นว่าครูของตนเป็นต้นประเสริฐที่สุด ผู้อื่นนอกจากครูของตนเลวหมด เพราะถ้าถืออย่างนี้ไม่พ้นทะเลาะวิวาทกัน

    (42) ชราสูตร สูตรนี้ว่าด้วยความแก่ แสดงให้เห็นว่าชีวิตนี้มีน้อยนัก อย่างมากคนเราก็อายุ 100 ปีก็ตาย ถ้าอยู่เกิน 100 ปี ย่อมตายเพราะความแก่โดยแน่แท้ สูตรนี้สอนให้พิจารณาถึงธรรมดาของชีวิต

    (45) ติสสเมตเตยยสูตร พระพุทธเจ้าตรัสสอนติสสเมตเตยยมาณพ เรื่องโทษของกาม ควรศึกษาวิเวก

    (46) ปสูรสูตร สูตรนี้ตรัสสอนปริพาชกชื่อ ปสูระ ว่าการยึดติดในสัจจะเฉพาะอย่าง (คือ ในความจริงบางแง่บางส่วน) ย่อมโต้เถียงกันไม่สิ้นสุด

    (47) มาคัณฑิยสูตร ตรัสสอนมาคัณฑิยพราหมณ์ว่าพระองค์ไม่ไยดีพวกธิดามารที่มายั่วยวนไม่จำต้องพูดถึงธิดาที่สวยงามของเขา (พราหมณ์บอกยกลูกสาวให้พระพุทธเจ้า) ตรัสแสดงความน่าเกลียด ของกาย และสอนให้ละมานะ ทิฐิ

    (48) ปุราเภทสูตร ตอบคำถาม คนมีความเห็นอย่างไร มีปกติอย่างไร จึงจะเรียกว่าเป็นผู้สงบ โดยชี้ไปที่การละตัณหา มานะ ทิฐิ เป็นต้น ได้ก่อนสรีระจะแตกดับ (ก่อนตาย) (หมายความว่าผู้สงบที่แท้จริงคือพระอรหันต์)

    (49) กลหวิวาสูตร ตรัสสาเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท ว่ามาจากความรัก ความรักมาจากความพอใจ เป็นต้น คนที่มีวาทะว่าขาดสูญ ก็ทะเลาะกับคนที่มีวาทะว่าเที่ยง แต่พระอรหันต์ผู้หลุดพ้นแล้วไม่ทะเลาะกับใคร

    (50) จุฬวิยูหสูตร ตรัสสอนว่าการยึดมั่นถือมั่นในหลักทฤษฎีของตนทำให้เกิดการดูถูกความเห็นคนอื่นว่าใช้ไม่ได้ ความจริงแท้ มีอย่างเดียวเท่านั้นที่เห็นกันไปต่างๆ นั้น เพราะคนไม่รู้จริง ผู้ที่รู้จริง ไม่ได้โต้เถียง และไม่ทะเลาะกับใคร

    (51) มหาวิยูหสูตร ข้อความคล้ายกับสูตรข้างต้น สอนให้เห็นโทษของการทะเลาะวิวาท และไม่ให้ยึดมั่นในความเห็น

    (52) ตุวฏกสูตร ตรัสสอนผู้ที่ละ "ปปัญจสังขา" (ตัณหา มานะ ทิฐิ) ได้ก็นับว่าเป็นผู้สงบแท้จริง (นิพฺพาติ)

    (53) อัตตทัณฑสูตร แสดงความสลดสังเวชพระทัยที่ทรงเห็นหมู่สัตว์ดิ้นรนด้วยตัณหา และทิฐิ ดุจปลาในหนองน้ำแห้งขอด ภัยมาถึงตัวแล้วยังไม่รู้สึก มัวแต่ทะเลาะวิวาทกันอย่างไร้แก่นสาร

    (54) สารีปุตตสูตร พระสารีบุตรกล่าวโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า ว่าด้วยคุณสมบัติของภิกษุที่ดี เช่น อดทนต่อสัมผัสของเหลือบยุง เป็นต้น พากเพียรพยายาม แผ่เมตตาไปยังหมู่สัตว์ทั้งหลาย ไม่ลุอำนาจแห่งความโกรธและการดูหมิ่นคนอื่น เป็นต้น

    ง. ปารายนวรรค วรรคที่ 5 ว่าด้วยการตอบปัญหาของมาณพ 16 คน ที่ไปทูลถามพระพุทธเจ้ารวมเป็น 16 สูตร คำถามและคำตอบเกี่ยวกับวิธีการทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งสิ้น

    2.6 วิมานวัตถุ ว่าด้วยวิมานของเทวดาในหมวดนี้ไม่เรียกว่า "สูตร" เหมือนหมวดอื่นแต่เรียกว่า "วิมาน" ชื่อของวิมานนั้นเรียกตามรูปร่างวิมานบ้าง ตามชื่อของเจ้าของวิมานบ้าง เรื่องราวส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่พระมหาโมคคัลลานะ ถามเทพบุตรเทพธิดา ถึงอดีตกรรมที่ส่งผลให้มาเกิดในวิมานนั้นๆ ได้รับคำตอบเป็นรายๆ ไป รวมทั้งหมด 85 รายด้วยกัน

    สาระของวิมานวัตถุมิได้อยู่ที่ความสวยงามของของวิมานหรือความรุ่งเรืองของเทพบุตรเทพธิดา ที่ปรากฏ แต่อยู่ที่การแสดงผลของกุศลกรรมหรือความดีที่แต่ละคนได้ทำมา เช่น ผลของการรักษาศีล การให้ทาน จุดไต้ตามไฟให้แสงสว่างแก่คนเดินทาง การฟังธรรม การรักษาศีลอุโบสถ เป็นต้น

    ที่น่าสังเกตก็คือ แม้เป็นกิจกรรมเล็กน้อย แต่ตั้งใจทำด้วยจิตใจเลื่อมใสบริสุทธิ์ ก็ให้ผลอย่างมหาศาล เช่น เพียงการยกมือไหว้ผู้ทรงศีล หรือการให้ของเล็กน้อยเป็นทานด้วยใจบริสุทธิ์ ก็นำให้ไปเกิดในวิมาน สมดังพุทธวจนะในพระสูตรหนึ่งว่า "แม้คิดเรื่องที่เป็นกุศลเพียงครู่เดียว ก็มีผลมาก ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการลงมือกระทำ"

    2.7 เปตวัตถุ เล่าเรื่องเปรตโดยเน้นประเด็นใหญ่ 2 ประเด็นคือความทุกข์ทรมานต่างๆ และรูปร่างอันน่าเกลียดน่ากลัวของเปรตเหล่านั้น และผลกรรมชั่วที่กระทำไว้แต่ชาติเป็นมนุษย์ มีทั้งหมด 51 เรื่อง จัดเป็นวรรคได้ 5 วรรค

    ข้อที่น่าสังเกตคือ คำว่า "เปรต" ในเปตวัตถุนี้มีใช้ 2 ความหมาย คือหมายถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว ธรรมดาๆ นำมาเล่าไว้เพื่อเตือนสติว่า คนที่อยู่ข้างหลังควรทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้คนที่ล่วงลับไปแล้ว อีกอย่างหนึ่ง หมายถึง ผู้ที่กระทำกรรมชั่วแล้วตายไปเกิดเป็นเปรตได้รับทุกข์ทรมานต่างๆ



    ref.http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03bud11101149&day=2006/11/10
     

แชร์หน้านี้

Loading...