ความเป็นมาของพระไตรปิฏก ตอน 71

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย guawn, 8 ธันวาคม 2006.

  1. guawn

    guawn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    10,642
    ค่าพลัง:
    +42,113
    ความเป็นมาของพระไตรปิฏก ตอน 71

    ธรรมะใต้ธรรมาสน์

    ไต้ ตามทาง



    ปัฏฐาน

    ปัฏฐาน แปลว่า ฐานทั่วไป หรือที่ตั้งอาศัยคือปัจจัยต่างๆ เป็นคัมภีร์แสดงเรื่องปัจจัย 24 คือแสดงให้เห็นว่าธรรม หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงสัมพันธ์กัน โดยเป็นปัจจัยแก่กันด้วยปัจจัยอย่างหนึ่งหรือหลายๆ อย่าง ในบรรดาปัจจัย 24 ประการ

    ข้อธรรมที่นำมาพิจารณา เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์อย่างนี้ ก็คือข้อธรรมในมาติกาทั้งหลายที่กล่าวกันมาแล้วข้างต้น ในตอนว่าด้วยคัมภีร์สังคณี ขอให้ดูปัจจัยบางข้อพร้อมด้วยตัวอย่างแสดงความสัมพันธ์อย่างกว้าง ดังนี้

    1. เหตุปัจจัย ปัจจัยโดยเหตุ เช่น เหตุ (คือโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโมหะ อโทสะ) เป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุปัจจัยแก่ธรรมทั้งหลายที่ประกอบด้วย และแก่รูปทั้งหลายที่เกิดจากธรรมที่ประกอบด้วยเหตุนั้น

    2. อารัมมณปัจจัย ปัจจัยโดยความเป็นอารมณ์ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เป็นปัจจัยแก่วิญญาณธาตุ คือความรู้แจ้งทาง ตา หู เป็นต้น โดยอารัมมณปัจจัย

    3. อนันตรปัจจัย ปัจจัยโดยความต่อลำดับ เช่น กุศลธรรมที่เกิดเป็นปัจจัย โดยอนันตรปัจจัยแก่กุศลธรรมที่เกิดภายหลัง

    4. สหชาตปัจจัย ปัจจัยโดยเกิดร่วมกัน เช่น มหาภูตรูปเป็นปัจจัยแก่อุปาทายรูป โดยสหชาตปัจจัย

    5. อัญญมัญญปัจจัย ปัจจัยโดยอาศัยซึ่งกันและกัน เช่น นามขันธ์ทั้ง 4 (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็นปัจจัยแก่กันโดยอัญญมัญญปัจจัย

    6. นิสสยปัจจัย ปัจจัยโดยเป็นที่อาศัย เช่น ขณะที่ปฏิสนธิ นามและรูปเป็นปัจจัยกันโดยนิสสยปัจจัย

    7. อุปนิสสยปัจจัย ปัจจัยโดยเป็นอุปนิสัย เช่น ปฐมฌาน เป็นปัจจัยแก่ทุติยฌานโดยอุปนิสสยปัจจัย

    8. กัมมปัจจัย ปัจจัยโดยกรรม เช่น กุศลกรรมและอกุศลกรรม เป็นปัจจัยแก่ขันธ์ที่เป็นวิบากโดยกัมมปัจจัย

    9. อัตถิปัจจัย ปัจจัยโดยการไม่มีอยู่ เช่น ตาเป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณและธรรมที่ประกอบกับจักขุวิญญาณนั้น โดยอัตถิปัจจัย

    10. นัตถิปัจจัย ปัจจัยโดยภาวะที่ไม่มีอยู่ เช่น จิตและเจตสิกที่ดับไปใหม่ๆ เป็นปัจจัยแก่จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นโดยเป็นนัตถิปัจจัย

    อย่างนี้เป็นการแสดงแบบหลักทั่วๆ ไป ต่อจากนี้ ท่านจะแสดงความสัมพันธ์แบบเฉพาะกรณีที่ลึกซึ้ง และซับซ้อนอีกมากมาย ขอยกตัวอย่างมาให้ดูอีกทั้งแบบหลักทั่วไปและแบบเฉพาะกรณีจากที่ต่างๆ หลายแห่งดังนี้

    - กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรม โดยอนุสยปัจจัย (เช่น อาศัยศรัทธาจึงให้ทาน จึงสมาทานศีล จึงบำเพ็ญฌาน จึงเจริญวิปัสสนา...)

    - กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรม โดยอุปนิสสยปัจจัย (เช่น ปรารภทานที่ได้ทำ ศีลที่ได้สมาทาน เกิดความยินดีเพลิดเพลิน ยึดเป็นอารมณ์หนักแน่นจนเกิดราคะ ทิฐิ : มีศรัทธาหรือศีล หรือปัญญา เป็นต้น แล้วเกิดมาคือถือตัวว่า ฉันดีกว่า เก่งกว่า หรือเกิดทิฐิเห็นว่าต้องประพฤติอย่างนี้เท่านั้นจึงถูกต้อง)

    - กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อัพยากตธรรม โดยอุปนิสสยปัจจัย (เช่น มีศรัทธา จึงทำให้ตนลำบากเดือดร้อน ได้รับทุกข์ด้วยการแสวงหา; กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่วิบากของมัน เป็นต้น)

    - อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรม โดยอุปนิสสยปัจจัย (เช่น อาศัยโทสะจึงฆ่าสัตว์ พูดเท็จ พูดคำหยาบ...)

    - อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรม โดยอุปนิสสยปัจจัย (เช่น อาศัยความอยาก ความปรารถนา อาศัยมานะ อาศัยทิฐิ จึงให้ทาน จึงรักษาอุโบสถ จึงทำฌานให้เกิดขึ้น กล่าวคำหยาบไปแล้ว เพื่อจะลบล้างผลของผรุสวาทนั้น จึงให้ทานรักษาศีล...)

    - อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อัพยากตธรรม โดยอุปนิสสยปัจจัย (เช่น เพราะราคะ จึงทำให้ตนลำบาก เดือดร้อน ได้รับทุกข์ ด้วยการแสวงหา, ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฐิ เป็นปัจจัยแก่สุขทางกาย หรือทุกข์ทางกาย เป็นต้น)

    - ธรรมที่ไม่ใช่จิต เป็นปัจจัยแก่ธรรมที่ไม่ใช่จิต โดยอารัมมณปัจจัย (เช่น ปรารภความดีที่ได้ทำไว้ เกิดความเพลิดเพลินอย่างยิ่ง)

    - โลกียธรรม เป็นปัจจัยแก่โลกียธรรม โดยอาศัย อารัมมณปัจจัย (เช่น พิจารณากุศลธรรมที่เคยสั่งสมไว้, อากาสานัญจายตนะ เป็นปัจจัยแก่วิญญาณัญจายตนะ...)

    รวมความว่า เนื้อหาของคัมภีร์ปัฏฐาน ก็คือการนำเอาข้อธรรมทั้งหลายในมาติกาของอภิธรรมทั้งหมด 122 มาติกา มาแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ เป็นเหตุให้เป็นปัจจัยแก่กัน โดย ปัจจัย 24 ประการ

    การอธิบายแม้จะยากและซับซ้อน แต่ก็มีขั้นตอนและระบบที่วางไว้อย่างเป็นระเบียบ ระบบ การจัดลำดับ และโครงการอธิบายเป็นอย่างไรจะไม่กล่าวในที่นี้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ

    ขอสรุปเพียงว่า ปัฏฐาน เป็นคัมภีร์ที่ใหญ่ มีเนื้อหามากและสำคัญมาก จึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "มหาปกรณ์" แปลว่าตำราใหญ่ หรือตำราสำคัญมาก กินเนื้อที่ในพระไตรปิฎกทั้งหมด 6 เล่ม คือ เล่มที่ 40 ถึง 45 ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายของพระไตรปิฎก ท่านกล่าวว่า ถ้าผู้ใดเข้าใจปัฏฐานหรือมหาปกรณ์นี้ดีแล้ว ก็เท่ากับเข้าใจอภิธรรมปิฎกทั้งหมด


    ref.http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03bud03081249&day=2006/12/08
     

แชร์หน้านี้

Loading...