ความเป็นมา ของพระไตรปิฎก

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย aprin, 28 กรกฎาคม 2009.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนา ดุจเดียวกับคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนา คัมภีร์อัลกุรอาน ของศาสนาอิสลาม และไตรเพท ของศาสนาพราหมณ์

    ตามรูปศัพท์ คำว่า "พระไตรปิฎก" (บาลี-ติปิฏกํ หรือ เตปิฏกํ) มาจาก พระ (คำยกย่องแปลว่าประเสริฐ) + ไตร (สาม) + ปิฎก (ปิฎก) รวมแล้วแปลว่า ปิฎกสามอันประเสริฐ

    เฉพาะคำว่า "ปิฎก" (บาลี-ปิฏกํ) พระอรรถกถาจารย์ได้ให้ความหมายไว้ 2 ประการ คือ

    1. ปิฎก หมายถึง คัมภีร์หรือตำรา ดังประโยคบาลีว่า มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าเชื่อถือโดยการอ้างตำรา

    2. ปิฎก หมายถึง ภาชนะ (เช่น ตะกร้า) ดังประโยคบาลีว่า อถ ปุริโส อาคจฺเฉยฺย กุทฺทาล ปิฏกมาทาย ครั้งนั้นบุรุษคนหนึ่งถือจอบและตะกร้าเดินมา

    ดังนั้น พระไตรปิฎกจึงหมายถึงคัมภีร์หรือตำราที่บรรจุคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า (และของพระสาวกสำคัญบางรูป) รวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ ดุจเดียวกับตะกร้าอันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่างๆ ไว้

    ปิฎกทั้ง 3 คือ

    1. พระวินัยปิฎก ว่าด้วยวินัย หรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม และการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์

    2. พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระสูตรหรือเทศนาที่ตรัสแก่บุคคลต่างๆ ในเวลาและสถานที่แตกต่างกัน เป็นรูปคำสนทนาโต้ตอบบ้าง คำบรรยายธรรมบ้าง เป็นรูปร้อยกรองบ้าง ร้อยแก้วบ้าง ร้อยแก้วผสมร้อยกรองบ้าง ตลอดถึงเทศนาของพระสาวกสำคัญบางรูป

    3. พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยหลักธรรมต่างๆ ที่อธิบายในแง่วิชาการล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุ การณ์ ส่วนมากเป็นคำสอนด้านจิตวิทยาและอภิปรัชญาในพระพุทธศาสนา

    การจัดรูปแบบพุทธวจนะในสมัยพุทธกาล

    สมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น หลักธรรมคำสอนต่างๆ ของพระองค์ยังมิได้จัดเป็นหมวดหมู่หรือเป็นระเบียบแบบแผนแต่อย่างใด ยังไม่มีพระไตรปิฎกบันทึกคำสอนดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน พุทธวจนะหรือคำสอนของพระพุทธเจ้ามีชื่อเรียกกันสมัยนั้น 2 อย่าง คือ

    (1) เรียก พฺรหฺมจริย (พรหมจรรย์) ดังพุทธวจนะที่ตรัสเมื่อครั้งทรงส่งพระอรหันตสาวก 60 รูป ไปเผยแผ่พระศาสนาครั้งแรกว่า

    จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ เทเสถ ภิกฺขเว ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยา ณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ

    ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะอันบริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง

    (2) เรียกว่า ธมฺมวินย (ธรรมวินัย) ดังพุทธวจนะที่ตรัสแก่พระอานนท์ พุทธอนุชาก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า

    โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา

    ดูก่อนอานนท์ ธรรม และ วินัย ใด ที่เราตถาคตแสดงไว้แล้ว

    บัญญัติไว้แล้ว ธรรม และ วินัย นั้น จะเป็นศาสดาของพวก

    เธอ เมื่อเราตถาคตล่วงลับไปแล้ว

    มีหลักฐานบางประการบ่งชี้ว่า

    ได้มีการแบ่งพุทธวจนะเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง บ้างแล้ว เช่น

    1. แบ่งเป็น นวังคสัตถุสาสน์ (สัตถุสาสน์ 9 ประการ) คือ

    (1) สุตตะ คำสอนประเภทร้อยแก้วล้วน อรรถกถาอธิบายว่า ได้แก่ อุภโตวิภังค์ (ปาติโมกข์ทั้งสองฝ่าย) ขันธกะ บริวาร นิเทศ และ พระสูตรในสุตตนิบาต รวมทั้งสูตรอื่นๆ ที่ไม่มีชื่อกำกับว่า "สูตร" ด้วย

    (2) เคยยะ คำสอนประเภทร้อยแก้วผสมร้อยกรอง หมายเอาพระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด โดยเฉพาะสคาถวรรคสังยุตตนิกาย

    (3) เวยยากรณะ คำสอนประเภทที่เป็นอรรถาธิบายโดยละเอียดเป็นร้อยแก้วล้วนๆ เช่น อภิธรรมปิฎก พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพระพุทธพจน์อื่นที่ไม่นับเข้าในองค์ 8 ข้อที่เหลือ

    (4) คาถา คำสอนประเภทร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนในสุตตนิบาต ที่ไม่มีชื่อกำกับว่า "สูตร"

    (5) อุทาน คำสอนประเภทที่เปล่งขึ้นจากแรงบันดาลใจของพระพุทธเจ้าและพระสาวกส่วนมากจะเป็นบทร้อยกรอง

    (6) อิติวุตตกะ คำสอนประเภทคำอ้างอิง ที่ยกข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ มาอ้างเป็นตอนๆ ได้แก่ พระสูตรสั้นๆ 110 สูตร ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "วุตฺตํ เหตํ ภควตา"

    (7) ชาตกะ (ชาดก) คำสอนประเภทนิทานชาดก หรือเรื่องราวในชาติปางก่อนของพระพุทธเจ้า ขณะเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่

    (8) อัพภูตธรรม คำสอนประเภทเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย เช่น พระพุทธองค์สมัยอยู่ในพระครรภ์พระนางสิริมหามายา นั่งสมาธิผินพระพักตร์ออกมาทางด้านหน้าพระอุทร ไม่แปดเปื้อนด้วยมลทินครรภ์เหมือนทารกธรรมดาทั่วไป นี้เป็นเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ เป็นต้น

    (9) เวทัลละ คำสอนประเภทคำถาม-คำตอบ เวทัลละ แปลว่า ได้ความรู้ ความปลื้มใจ หมายถึง ผู้ถามได้ความรู้และความปลื้มใจแล้ว ก็ถามต่อไปเรื่อยๆ

    การแบ่งพุทธวจนะเป็น 9 หมวดนี้ มีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล ก่อนที่จะมีพระไตรปิฎก เป็นการจัดรูปแบบหรือการแบ่งหมวดหมู่ที่เก่าแก่มาก เท่าที่มีหลักฐานปรากฏ

    2. แบ่งเป็น วรรค นอกจากแบ่งเป็นนวังคสัตถุสาสน์ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว มีเค้าส่อให้เห็นว่าพระพุทธวจนะ ได้ถูกรวบรวมเป็น "วรรค" แล้ว ส่วนจะมีกี่วรรคนั้นสืบไม่ได้ มีหลักฐานอยู่แห่งเดียว คือ ในพระวินัยปิฎกเล่าไว้ว่า พระโสณกุฏิกัณณะ สัทธิวิหาริกของพระมหากัจจายนะ ถูกพระอุปัชฌายะส่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อทูลขอให้พระองค์ทรงลดหย่อนสิกขาบทบางข้อ พระโสณกุฏิกัณณะพักอยู่ที่เดียวกับพระพุทธเจ้า ได้สวดพระพุทธวจนะส่วนที่เรียกว่า "อัฏฐกวรรค" โดยทำนองสรภัญญะ ให้พระพุทธเจ้าฟัง

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31

    ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก / ราชบัณฑิต


    http://www.matichon.co.th/khaosod/v...ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdOeTB5T0E9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2009
  2. Phanudet

    Phanudet เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    8,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +15,646
    ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ....
     
  3. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ปัญหาการนับสังคายนา

    น่าสังเกตว่า แม้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทด้วยกัน โดยเฉพาะไทย พม่าและลังกา ยังนับครั้งการสังคายนาไม่ตรงกัน เนื่องจากการสังคายนาบางครั้ง ไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศอื่น สรุปการนับสังคายนาของประเทศต่างๆ ดังนี้

    (๑) ประเทศศรีลังกา ยอมรับการสังคายนา ๓ ครั้งที่ประเทศอินเดีย และนับการสังคายนาที่ประเทศของตนต่อมาอีก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๖ หรือครั้งสุดท้ายของลังกา กระทำเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ ที่รัตนปุระ ประเทศศรีลังกา พระหิกขทุเวสิริสุมังคละ เป็นประธาน กระทำอยู่ ๕ เดือนจึงสำเร็จ การสังคายนาครั้งนี้เป็นที่รับรู้กันเฉพาะในศรีลังกาเท่านั้น

    (๒) ประเทศพม่า นับสังคายนาที่ทำที่อินเดีย ๓ ครั้ง แล้วนับครั้งที่ ๒ ที่ทำที่ศรีลังกา (สังคายนาครั้งที่ ๕ พ.ศ.๔๕๐ หรือ ๔๓๓) เป็นครั้งที่ ๔ และมีเพิ่มครั้งที่ ๕ และที่ ๖ ที่ประเทศพม่า คือ สังคายนาครั้งที่ ๕ ทำในรัชสมัยพระเจ้ามินดง พระชาคราภิวังสะ พระนรินทาภิธชะ และพระสุมังคลสามี ผลัดกันเป็นประธาน ท่ามกลางที่ประชุมพระและคฤหัสถ์ผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ๒,๔๐๐ ท่าน กระทำอยู่ ๕ เดือนจึงสำเร็จ สังคายนาครั้งนี้มีขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔

    สังคายนาครั้งที่ ๖ เนื่องในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษของพม่า รัฐบาลพม่าได้เชิญผู้นำชาวพุทธ ต่างประเทศ โดยเฉพาะสายเถรวาทเข้าร่วมด้วย จุดประสงค์ของการสังคายนาครั้งนี้ เพื่อพิมพ์พระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถาและคำแปลเป็นภาษาพม่า ได้ทำอยู่ ๒ ปี คือ ระหว่าง ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๙๗-๒๔ พฤษภาคม ๒๔๙๙ เสร็จแล้วได้แจกจ่ายพระไตรปิฎก ฉบับอักษรพม่าไปยังประเทศต่างๆ ด้วย

    (๓) ประเทศไทย ยอมรับการสังคายนาที่ทำตามกันมาโดยลำดับ ถือว่าเป็นประวัติที่ควรรู้เกี่ยวกับความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย ในหนังสือ สังคีติยวงศ์ รจนาเป็นภาษาบาลี โดยสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุ พนฯ (รจนาเมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม) ในรัชกาลที่ ๑ ได้จัดลำดับสังคายนาไว้ ๙ ครั้ง คือ

    สังคายนาครั้งที่ ๑-๒-๓ ทำในประเทศอินเดียดังกล่าวแล้ว

    สังคายนาครั้งที่ ๔-๕ ทำในประเทศลังกา

    สังคายนาครั้งที่ ๖ ทำในลังกา เมื่อ พ.ศ.๙๕๖ พระพุทธ โฆสาจารย์ ชาวอินเดีย ได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถา จากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี ในรัชสมัยพระเจ้ามหานาม การสังคายนาครั้งนี้มิได้ชำระพระไตรปิฎก หากแต่ชำระอรรถกถา ทางลังกาจึงไม่นับเป็นการสังคายนา

    สังคายนาครั้งที่ ๗ ทำในลังกา เมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗ พระกัสสปเถระ เป็นประธาน ได้รจนาและชำระคัมภีร์ฎีกาต่างๆ ร่วมกับภิกษุผู้เชี่ยวชาญพุทธธรรมกว่า ๑,๐๐๐ รูป

    สังคายนาครั้งที่ ๘ ทำในประเทศไทย พ.ศ. ๒๐๒๐ ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา มีพระธรรมทินนเถระ เป็นประธาน ร่วมกับพระเถระหลายร้อยรูปที่วัดโพธาราม ทำอยู่ ๑ ปี จึงสำเร็จ

    สังคายนาครั้งที่ ๙ ทำในประเทศไทย ในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๓๑ พระเถระ ๒๑๘ รูป ราชบัณฑิตคฤหัสถ์ ๓๒ คน ร่วมมือกันทำเป็นเวลา ๕ เดือนจึงสำเร็จ

    พระไตรปิฎกเกิดขึ้นเมื่อไร

    ถ้าอ่านประวัติการทำสังคายนามาตั้งแต่ต้น จะสังเกตได้ว่าสังคายนาครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ เท่านั้น มีบันทึกอยู่ในพระไตรปิฎก คือ มีอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ ข้อ ๖๑๔-๖๖๔ หน้า ๓๗๙-๔๒๓ วินัยปิฎก จุลลวรรค นอกนั้นไม่มีกล่าวถึง และการพูดถึงสังคายนาทั้ง ๒ ครั้งนี้ ไม่ได้พูดถึง "พระไตรปิฎก" ใช้คำว่า ธมฺมวินยสงฺคีติ (การสังคายนาพระธรรมและวินัย) แสดงว่า พระพุทธวจนะนั้นยังไม่มีการจัดแบ่งเป็น "ปิฎก" หากเรียกรวมๆ ว่า "ธรรมวินัย" เท่านั้น ต่อมาธรรมวินัยได้แยกออกเป็น ๓ ส่วน แต่ละส่วนเรียกกันว่า "ปิฎก" คือ ธรรม แยกเป็นสุตตันตปิฎก กับ อภิธรรมปิฎก ส่วนวินัยคงเป็นวินัยปิฎก

    คำถามต่อมาก็คือ พระพุทธวจนะ หรือพระธรรมวินัย ถูกจัดเป็นรูปแบบและประเภทดังกล่าวนี้เมื่อใด

    ในศิลาจารึกที่ค้นพบที่สาญจิสถูป (ซึ่งจารึกไว้ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๓ ก่อนสมัยพระเจ้าอโศก) มีรายนามผู้สร้างส่วนต่างๆ ของพระสถูปปรากฏอยู่ พร้อมกับคุณศัพท์แสดงคุณสมบัติของบุคคลนั้นๆ เช่น

    ธมฺมกถิกา ผู้กล่าวธรรมทั้งหลาย

    เปฏกินฺ ผู้ทรงจำปิฎกทั้งหลาย

    สุตฺตนฺติกา ผู้ทรงจำพระสูตร

    สุตฺตนฺตินี สตรีผู้ทรงจำพระสูตร

    ปญฺจเนกายิกา ผู้ทรงจำนิกายทั้ง ๕

    ในศิลาจารึกพระเจ้าอโศกที่ค้นพบที่ ภาบรา มีข้อความอ้างถึงพระสูตรต่างๆ ที่พระเจ้าอโศกทรงพิจารณาเห็นว่าดี และทรงแนะนำให้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หมั่นสดับตรับฟังและพิจารณาใคร่ครวญเสมอๆ เช่น

    อริยวํสานิ วงศ์แห่งพระอริยะ ทั้งหลาย

    อนาคตภยานิ ภัยในอนาคตทั้งหลาย

    มุนิคาถา คาถาของพระมุนี

    โมเนยฺยสุตฺต สูตรว่าด้วยความเป็นมุนี

    อุปติสฺสปสิน ปัญหาของพระอุปติสสะ

    คำแรกปรากฏอยู่ในทีฆนิกาย สังคีติสูตร คำที่สองมีอยู่ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต คำที่สามปรากฏใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต คำที่สี่มีอยู่ทั้งใน อังคุตตรนิกาย และ ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ คำสุดท้ายหมายถึงปัญหาของพระสารีบุตร มีทั่วไปในพระสูตรต่างๆ ไม่ทราบว่าพระเจ้าอโศกทรงเจาะจงเรื่องใด

    จากหลักฐานทั้งสองแห่งนี้ พอสรุปได้คร่าวๆ ว่า หลังจากสังคายนาครั้งที่สองเป็นต้นมา พระพุทธวจนะหรือพระธรรมวินัยถูกจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ในชื่อว่า "ปิฎก" และ "นิกายทั้งห้า" (ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย) แล้ว ระยะแห่งพัฒนาการของพระไตรปิฎกคงกินเวลายาวนานเกือบศตวรรษ กว่าจะลงตัวเป็นพระไตรปิฎกที่สมบูรณ์ และเชื่อว่าพอตกถึงรัชสมัยพระเจ้าอโศก พระไตรปิฎกคงสมบูรณ์ทุกคัมภีร์แล้ว ด้วยปรากฏหลักฐานบางแห่ง (อาทิ สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก) บอกว่า คัมภีร์กถาวัตถุ หนึ่งในจำนวนพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ได้ถูกรจนาและผนวกเข้าไว้ในอภิธรรมปิฎก โดยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เมื่อคราวทำสังคายนาครั้งที่สาม เหตุผลสนับสนุนอีกประการหนึ่ง คือ ในพระไตรปิฎกไม่มีข้อความใดกล่าวถึงพระเจ้าอโศกเลย แสดงว่าพระไตรปิฎกสำเร็จเป็นรูปร่างสมบูรณ์แล้วก่อนสมัยพระเจ้าอโศก

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก / ราชบัณฑิต

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdOeTB6TUE9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2009
  4. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    พระไตรปิฎกเป็นพุทธพจน์มากน้อยเพียงใด

    ถ้าจะถามว่าพระไตรปิฎกเป็นพระพุทธพจน์มากน้อยเพียงใด ตอบได้ทันที (เช่นเดียวกับกรณีพระอภิธรรมปิฎก) ว่าพระไตรปิฎกไม่ใช่พระพุทธพจน์ทั้งหมด แต่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

    ผู้ศึกษาย่อมทราบดีว่าพระไตรปิฎกมิใช่ "คำพูด" ของพระพุทธเจ้าทั้งหมด มีหลายสูตรที่เป็นเทศนาของพระเถระผู้ใหญ่บางรูป บางส่วนเป็นภาษิตของเทวดาที่พระพุทธเจ้าทรงรับรองว่าเป็นสุภาษิต เฉพาะสูตรในทีฆนิกาย ๓๔ สูตร มีสูตรที่เป็น "คำพูด" ของสาวกไม่น้อยกว่า ๕ สูตร ไม่จำต้องพูดถึงนิกายอื่นๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก

    แม้พระสูตรซึ่งเป็นเทศนาของพระพุทธเจ้าเอง ก็มีถ้อยคำของผู้รวบรวมปะหัวปะท้ายด้วย เช่น พระสูตรนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ใคร ที่ไหน มีเนื้อหาว่าอย่างไร หลังจากแสดงธรรมจบแล้วได้ผลอย่างไร ส่วนที่ถือว่าเป็น "คำพูด" ของพระองค์ก็คือตรงที่เนื้อหาสาระของพระสูตร แม้กระนั้นก็ตามก็เป็นการ quote ข้อความ ซึ่งผู้ที่ "โควต" อาจจำมาผิดพลาดจากที่ตรัสจริงๆ ก็ได้ แต่ "สาระ" ยังคงอยู่ครบ เฉพาะพระอภิธรรมปิฎกนั้น หลักฐานบ่งชัดแล้วว่ามิใช่ "คำพูด" ของพระพุทธเจ้า

    ถ้าคำว่า "พระพุทธพจน์" หมายถึง "คำพูด" จริงๆ ของพระพุทธเจ้า พระไตรปิฎกก็มิใช่พระพุทธพจน์ทั้งหมดดังกล่าวมา แต่ถ้าหมายถึงว่า เป็น "คำสอน" ของพระพุทธองค์หรือไม่ ไม่น่าจะมีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธว่าไม่ใช่ เพราะพระพุทธเจ้าทรงวางหลักการตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ ไว้แล้ว

    หลักตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ คือ

    ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อ

    ๑. วิราคะ ความคลายกำหนัด, ไม่ติดพัน มิใช่เพื่อความกำหนัดย้อมใจ การเสริมให้ติด

    ๒. วิสังโยค ความหมดเครื่องผูกรัด, ความไม่ประกอบทุกข์ มิใช่เพื่อผูกรัดหรือประกอบทุกข์

    ๓. อปจยะ ความไม่พอกพูนกิเลส มิใช่เพื่อพอกพูนกิเลส

    ๔. อัปปิจฉตา ความมักน้อย มิใช่เพื่อความมักมาก

    ๕. สันตุฏฐี ความสันโดษ มิใช่เพื่อความไม่สันโดษ

    ๖. ปวิเวก ความสงัด มิใช่เพื่อความคลุกคลีอยู่ในหมู่

    ๗. วิริยารัมภะ การประกอบความเพียร มิใช่เพื่อความเกียจคร้าน

    ๘. สุภรตา ความเป็นคนเลี้ยงง่าย มิใช่เพื่อความเลี้ยงยาก

    ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่าเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุสาสน์ (คำสอนของพระศาสดา) ตรงข้ามจากนี้ ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุสาสน์

    แสงจันทร์งาม ให้เหตุผลที่พระไตรปิฎกยังคงเป็นพระพุทธพจน์ไว้ ๔ ประการ ดังนี้

    ๑. ตามธรรมเนียมอินเดียนั้น การถ่ายทอดเรื่องราวทางศาสนาด้วยปาก มิใช่ทำอย่างสุกเอาเผากิน แต่กระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง และด้วยความเคารพอย่างสูง มิให้ข้อความใดๆ ผิดแผกไปจากเดิม ไม่เฉพาะข้อความเท่านั้นที่ต้องระมัดระวัง แม้การออกเสียงคำต่างๆ ก็ต้องให้ถูกต้องตามอักขระ ฐานกรณ์อย่างเคร่งครัด ต้องจำได้ขึ้นใจอย่างถูกต้อง ทั้ง "อรรถ" และ "พยัญชนะ" เฉพาะอย่างยิ่งในศาสนาฮินดูนั้น การออกเสียงคำว่า "โอม" คำเดียว อาจารย์อาจใช้เวลาหลายวันในการสอนศิษย์ให้ว่าได้ถูกต้อง วิธีการศึกษาทางพุทธศาสนาซึ่งได้รับอิทธิพลจากธรรมเนียมพราหมณ์ ก็คงจะเอาใจใส่ในการศึกษาถ่ายทอดอย่างระมัดระวังเช่นกัน

    ๒. ข้อที่ว่าอาจารย์บางท่านอาจแทรกมติของตนลงในสูตรบางสูตร แล้วอ้างว่าเป็นพุทธพจน์นั้นอาจเป็นไปได้ แต่คงมีน้อยที่สุด เพราะพระสาวกผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ย่อมมีความเคารพบูชาในคำสอนดั้งเดิมอย่างสูง ไม่กล้าอ้างคำพูดของตนว่าเป็นพุทธพจน์ ไม่กล้าถอนพุทธพจน์ดั้งเดิม ดังเราจะเห็นได้ว่า พระสูตรส่วนมากมีสาระสำคัญ หรือเนื้อหาแท้ๆ เพียงเล็กน้อย แต่มีคำบรรยายซ้ำๆ ซากๆ มากมาย ตามสำนวนนิยมสมัยนั้น พระสูตรที่มีความยาว ๓-๔ หน้า ถ้าจะสรุปเอาเฉพาะเนื้อหาแท้ๆ จะเหลือเพียงครึ่งหน้าเท่านั้น แม้กระนั้นพระอาจารย์ทั้งหลายก็ไม่กล้าตัดทอน คงจำสืบๆ กันมาอย่างนั้นด้วยความเคารพ

    ๓. ตามประวัติการสืบอายุพระพุทธศาสนานั้น ปรากฏว่าได้มีการทำสังคายนาชำระพระธรรมวินัยเป็นครั้งคราว การสังคายนาก็หมายถึงการประชุมพระเถระผู้จำพระธรรมวินัยได้ แล้วให้พระเถระรูปใดรูปหนึ่งสวดพระธรรมวินัยเท่าที่ตนจำได้ต่อที่ประชุม ขณะนั่งฟัง พระเถระอื่นๆ ก็คิดเทียบเคียงกับข้อที่ตนจำได้ ถ้าได้ฟังข้อความใดผิดแผกออกไป ก็ทักท้วงขึ้น เมื่อมีผู้ทักท้วงประธานในที่ประชุมก็จะขอให้องค์อื่นๆ สวดสูตรนั้นตามที่ตนได้เรียนมา ที่ประชุมจะพิจารณาถกเถียงกันหลายแง่หลายมุม ในที่สุดก็มีการลงมติเสียงข้างมากว่า ข้อความนั้นถูกต้อง ข้อความนี้ผิด ขอให้พระสงฆ์ทั้งปวงยึดถือตามข้อความที่ถูก ตัดข้อความที่ผิดออกเสีย แล้วสงฆ์ทั้งหมดก็สวดขึ้นพร้อมกัน (สังคายนา : สํ = พร้อมกัน + คายนา = การสวด) เพื่อยืนยันข้อความที่ถูกต้องนั้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากการทำสังคายนานั้นแล้ว พระเถระทั้งหลายก็นำเอาข้อความซึ่งที่ประชุมรับรองนั้นไปสอนศิษย์ต่อไป วิธีสังคายนาจึงจัดเป็นการกำจัดมติของเกจิอาจารย์ได้เป็นอย่างดี

    ๔. เหตุผลประการสุดท้ายยืนยันว่า พระไตรปิฎกส่วนใหญ่เป็นพุทธพจน์ คือ เนื้อของพระไตรปิฎกลงรอยกันเป็นอย่างดี มีจุดประสงค์แน่นอน มีวิธีการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์นั้นอย่างแจ่มแจ้ง ชัดเจน แม้จะมีความคิดบางอย่างซึ่งส่อแสดงว่ามิใช่พุทธพจน์แทรกอยู่บ้าง ก็หาทำให้พระไตรปิฎกเสียเอกภาพแต่อย่างใดไม่ คุณสมบัติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า คำสอนส่วนใหญ่ในพระไตรปิฎกมีแหล่งกำเนิดมาจากบุคคลคนเดียวกัน คือ พระพุทธเจ้า แม้จะมีวาทะของพระสาวกหรือมติของอาจารย์รุ่นหลังแทรกอยู่อย่างแนบเนียน ก็เป็นแต่เพียงคำอธิบายขยายความของพระพุทธพจน์ให้แจ่มแจ้งขึ้น ไม่มีวาทะใดเลยที่ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจไขว้เขวไปจากจุดมุ่งหมาย และวิธีการปฏิบัติแบบพุทธแท้และดั้งเดิม

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdOeTB6TVE9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2009
  5. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ในเทศนาเรื่อง "เพชรในพระไตรปิฎก" พุทธทาสภิกขุ มองเห็นว่าในพระไตรปิฎกยังมีส่วนที่มิใช่พุทธพจน์อีกมาก ถ้าคิดเทียบเปอร์เซ็นต์ของส่วนที่ควรตัดออก สำหรับนักศึกษาทั่วไปควรตัดออก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เหลืออยู่ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ สำหรับนักวิทยาศาสตร์ นักศึกษาโบราณคดี ครูบาอาจารย์ชั้นเลิศแล้ว ควรตัดออกได้อีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เหลือ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ควรตัดออกคือเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ เช่น เรื่องราหูจับอาทิตย์ ราหูจับจันทร์ ข้อความที่เป็นไปในลักษณะสัสสตทิฐิ เป็นตัว เป็นตน เป็นคนคนเดียวเวียนว่ายตายเกิด อันเป็นลักษณะทิฐินอกพุทธศาสนาและในขั้นสุดท้ายพระอภิธรรมปิฎกทั้งหมดควรตัดออกด้วย "ที่นี้ที่เหลือ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ก็มาเลือกเฟ้นได้โดยง่าย พบเครื่องขุดเพชรแล้วก็ขุดเพชร พบเพชรที่เรียกว่าหัวใจของพระไตรปิฎก คือ เพชรเม็ดเดียว ได้แก่ หลักคำสอนและวิธีการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติที่ว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"

    สำหรับพุทธทาสภิกขุ เครื่องชี้บ่งว่าเป็นพุทธพจน์หรือไม่ของพระไตรปิฎกมิได้อยู่ที่ "ข้อความ" นั้นๆ เป็น "คำพูด" ของพระพุทธเจ้าหรือไม่ หากอยู่ที่ "สาระ" ของคำสอนนั้นๆ เป็นหลักปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ได้จริงหรือไม่

    การถ่ายทอดพระไตรปิฎก

    ดังที่ทราบกันแล้วว่า สมัยพระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ เมื่อพระองค์เสด็จไปแสดงธรรมที่ไหน หรือทรงบัญญัติพระวินัยข้อไหน เมื่อใดสาวกที่ได้ยินได้ฟังก็ช่วยกันจดจำไว้ แล้วถ่ายทอดให้ศิษย์ด้วยวาจา เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการจารคำสอนลงเป็นลายลักษณ์อักษร

    เคยมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า สมัยพุทธกาลคนยังไม่รู้จักการเขียนหนังสือหรืออย่างไร จึงไม่ปรากฏว่ามีตำรับตำราจารึกไว้เป็นหลักฐาน แม้บริขารของพระภิกษุก็ไม่ระบุหนังสือไว้ด้วย

    พระมหาเสฐียรพงษ์ ปุณฺณวณฺโณ แสดงทรรศนะไว้ในหนังสือ ภาษาศาสตร์ อะไรคือ บาลี ว่า

    ความจริง การเขียนหนังสือน่าจะมีมาก่อนพุทธกาลแล้ว ในพระไตรปิฎกเอง ก็มีข้อความเอ่ยถึงการขีดเขียนเป็นครั้งคราว เช่น ตอนหนึ่ง ห้ามภิกษุเล่นเกม "อักขริกา" (ซึ่งพระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า ได้แก่ การเล่นทายอักษรในอากาศหรือบนหลังของเพื่อนภิกษุ) วิชาเขียนหนังสือ (เลขา) ได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปะพิเศษอย่างหนึ่ง สิกขาบทบางข้อห้ามภิกษุณีเรียนศิลปะทางโลก หนึ่งในศิลปะเหล่านี้มีวิชาเขียนหนังสือด้วยในบทสนทนาภายในครอบครัว พ่อปรารภว่าจะให้บุตรเรียนวิชาอะไรดี ถ้าจะให้เรียนเขียนหนังสือบุตรอาจยังชีพอยู่ได้สบาย แต่อาจเจ็บนิ้วมือ (เพราะเขียนหนังสือ) ถ้าภิกษุเขียนหนังสือพรรณนาคุณของอัตวินิบาตกรรม ปรับอาบัติทุกกฎทุกตัวอักษร ถ้ามีผู้อ่านพบข้อความนั้นเข้าเห็นดีเห็นงามด้วยแล้ว ฆ่าตัวตายตามนั้นปรับอาบัติปาราชิก หลักฐานเหล่านี้แสดงว่า อักษรหรือการเขียนหนังสือมีมาก่อนสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ที่พระพุทธองค์ไม่นิยมใช้หันมาใช้วิธีมุขปาฐะแทนน่าจะทรงเห็นประโยชน์อานิสงส์บางสิ่งบางอย่างกระมัง หรือว่าระบบการขีดเขียนยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร ทั้งยังไม่มีอุปกรณ์การขีดเขียนเพียงพอก็ยากจะทราบได้ แต่ที่น่าคิดอยู่อย่างหนึ่ง วิธีเรียนด้วยมุขปาฐะนี้ นอกจากจะสร้างสัมพันธภาพอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้เรียนและผู้สอนแล้ว ยังเป็นการสร้างสมาธิฝึกจิตของผู้เรียนไปในตัวด้วย นักปราชญ์ยุคก่อนมีความคิดเช่นนี้ก็มีไม่น้อย เปลโตเคยกล่าวไว้ว่า "การคิดอักษรขึ้นใช้แทนการท่องจำทำให้มนุษย์ขาดอานุภาพแห่งความทรงจำ คือ แทนที่จะจดจำจากอินทรีย์ภายใน ต้องอาศัยสัญลักษณ์ภายนอกเข้าช่วย

    ในพระสูตรหลายแห่ง เช่น อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต บอกวิธีศึกษาเล่าเรียนเพื่อให้การถ่ายทอดคำสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพไว้ ๕ ประการ คือ

    ๑. พหุสฺสุตา ต้องฟังให้มาก หาโอกาสสดับตรับฟังเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ให้มาก

    ๒. ธตา ฟังแล้วพยายามจำให้ได้ จับหลักหรือสาระได้ ทรงจำไว้แม่นยำ

    ๓. วจสา ปริจิตา ท่องบ่นสาธยายจนคล่องปาก

    ๔. มนสานุเปกฺขิตา เพ่งพินิจพิจารณาความหมายด้วยใจ จนนึกครั้งใดก็ปรากฏเนื้อความสว่างชัด

    ๕. ทิฏฺฐิยา สุปฏิวิทฺธา ขบให้แตก คือ ทำความเข้าใจลึกซึ้ง มองเห็นประจักษ์ด้วยปัญญา ทั้งแง่ความหมายและเหตุผล

    วิธีการทั้ง ๕ นี้ เอื้ออำนวยให้ระบบการถ่ายทอดหลักคำสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสืบทอดต่อๆ กันมาเป็นเวลานานหลังจากพุทธปรินิพพาน เนื่องจากคำสอนของพระพุทธองค์มีมากมายเกินความสามารถของปัจเจกบุคคลคนเดียวจะจดจำได้หมด จึงได้มีการแบ่งหน้าที่กันในหมู่สงฆ์ ให้บางรูปที่เชี่ยวชาญทางพระวินัยรับผิดชอบท่องจำพระวินัย เรียกว่า วินัยธร ให้บางรูปรับหน้าที่ท่องจำพระสูตร เรียกว่า ธัมมธร แม้พระสูตรก็แบ่งหน้าที่ท่องจำเป็นส่วนๆ เช่น ทีฆภาณกะ (ผู้ท่องจำสูตรขนาดยาว) มัชฌิมภาณกะ (ผู้ท่องจำสูตรขนาดกลาง) เป็นต้น ระยะต้นๆ ก็เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ต่อมาได้ขยายจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ละกลุ่มก็มีศิษย์ศึกษาเล่าเรียนอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อพระธรรมวินัยได้รับการจัดแบ่งเป็น ๓ ปิฎกแล้ว การท่องจำพุทธวจนะได้พัฒนาเป็นระบบยิ่งขึ้น ถึงกับ (เชื่อว่า) มี "อาจริยปรัมปรา" หรือ "สำนัก" สืบทอดคำสอน มี ๓ สำนักด้วยกัน แต่ละสำนักล้วนอ้างว่าสืบทอดกันมายาวนาน ดังนี้ คือ

    ๑. สำนักพระวินัยปิฎก สืบทอดมาแต่พระอุบาลีเถระ

    ๒. สำนักพระสุตตันตปิฎก สืบทอดมาแต่พระอานนทเถระ

    ๓. สำนักพระอภิธรรมปิฎก สืบทอดมาแต่พระสารีบุตรเถระ

    พระไตรปิฎกได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา ด้วยวิธี มุขปาฐะ หรือการท่องจำอย่างเป็นระบบ จนได้รับการจารลงเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๕ ในรัชสมัยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย ประเทศลังกา ระบบมุขปาฐะจึงได้เพลาความเข้มลง แต่ก็ยังถือปฏิบัติอยู่บ้างในบางประเทศ เช่น ไทย และพม่า มาจนบัดนี้

    ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก / ราชบัณฑิต

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB3TXc9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2009
  6. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    พระวินัยปิฎก

    ๑. โครงสร้างพระวินัยปิฎก

    ๒. เนื้อหาสาระ

    พระวินัยปิฎก บรรจุอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑-๘ มีเนื้อหาสาระ (โดยย่อ) ดังนี้

    ๑. มหาวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบท (ศีล) ของพระภิกษุ ๒๒๗ ข้อ คือ ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์ ๙๒ ปาฏิเทสนียะ ๔ เสขิยวัตร ๗๕ อธิกรณสมถะ ๗ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สิกขาบทในปาติโมกข์ (ภิกขุปาติโมกข์)

    ๒. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทของนางภิกษุณี หรือ ภิกขุนีปาติโมกข์ ๓๑๑ สิกขาบท

    ๓. มหาวรรค เล่าเรื่องตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เสด็จออกไปประกาศพระศาสนา การประทานอุปสมบทแก่ผู้มาขอบวช พูดถึงการอุปสมบท อุโบสถ การจำพรรษา เครื่องหนัง เภสัช กฐิน จีวร นิคหกรรม การออกจากอาบัติ การระงับอธิกรณ์ การทะเลาะวิวาท และสามัคคี

    ๔. จุลวรรค ว่าด้วยการบัญญัติปลีกย่อย เรื่องเสนาสนะ สังฆเภท วัตรปฏิบัติต่างๆ การงดสวดปาติโมกข์ เรื่องกำเนิดและพัฒนาการของภิกษุณีสงฆ์ ลงท้ายด้วยประวัติการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ และที่ ๒

    ๕. ปริวาร ประมวลเรื่องเบ็ดเตล็ด เกี่ยวกับสิกขาบทของภิกษุและภิกษุณี เป็นคู่มือศึกษาพระวินัย นำเสนอโดยแต่งเป็นคำถามคำตอบเพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

    พระวินัยปิฎก มีการแบ่งอีกอย่างหนึ่ง คือ อาทิกัมมิกะ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค และ ปริวาร ย่อเพื่อจำง่ายว่า อา-ปา-ม-จุ-ป ดังนี้

    อาทิกัมมิกะ ว่าด้วยสิกขาบทเกี่ยวกับอาบัติหนัก คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส และอนิยต

    ปาจิตตีย์ ว่าด้วยสิกขาบทเกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จนถึงเสขิยะ รวมตลอดถึงภิกขุนีวิภังค์ทั้งหมด

    มหาวรรค ว่าด้วย สิกขาบทนอกปาติโมกข์ ๑๐ ขันธกะ หรือ ๑๐ ตอน

    จุลวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์อีก ๑๒ ตอนสุดท้าย

    ปริวาร ว่าด้วยเรื่องปลีกย่อยหรือคู่มือศึกษาพระวินัย บรรจุคำถามคำตอบสำหรับซักซ้อมความรู้ความเข้าใจพระวินัย

    ๓. ข้อสังเกตบางประการและจุดที่ควรเน้น

    ๑) สถาบันสงฆ์เกิดและพัฒนาขึ้นเพราะกระแสสังคมผลักดัน

    - พระพุทธเจ้ามิได้กำหนดรูปแบบตายตัว เพียงวางไว้หลวมๆ ว่า ผู้บวชต้องประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติอย่างไรบ้างไม่มีรายละเอียด

    - ผู้มาบวชระยะแรกเป็นผู้ "เบื่อโลก" แล้ว จึงไม่ต้องมีสิกขาบท (ศีล) ว่าจะต้องทำอะไร ไม่ทำอะไร เพราะทำถูกต้องโดยอัตโนมัติแล้ว

    - พิธีบวชทำง่ายๆ เพียงตรัสว่า เอหิ ภิกขุ=จงเป็นภิกษุมาเถิด ก็เสร็จพิธี

    - คุณสมบัติผู้บวชก็มิได้กำหนดแน่ชัด ต่อเมื่อมีผู้อายุน้อย (ราหุล) มาบวช จึงกำหนดอายุ และวางคุณสมบัติอื่นๆ ด้วย

    ๒) สิกขาบท มิได้ตราขึ้นสำเร็จรูปเหมือนกฎหมาย หากตราขึ้นหลังมีการทำผิดแล้วมีขั้นตอน ดังนี้

    (๑) มีผู้ประพฤติไม่สมควรแก่สมณะ ชาวบ้านตำหนิติเตียน

    (๒) เรื่องรู้ถึงพระพุทธองค์ ทรงเรียกมาสอบสวนท่ามกลางสงฆ์ เมื่อยอมรับสารภาพทรงตำหนิ และทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามทำเช่นนั้นอีก ผู้ทำผิดคนแรกไม่เอาผิด เรียกว่า "อาทิกัมมิกะ" = ต้นบัญญัติ (เป็นที่อ้างอิงในทางชั่ว) ขั้นตอนนี้เรียก "บัญญัติ"

    (๓) เมื่อมีการล่วงละเมิดอีกเพราะมีช่องโหว่บางอย่าง ก็ทรงบัญญัติเพิ่มเติม เรียกว่า "อนุบัญญัติ"

    (๔) หลังบัญญัติแล้ว ถ้ามีการทำผิดสงฆ์ไม่สามารถตัดสินได้ พระพุทธเจ้าทรงวินิจฉัยเป็นเรื่องๆ ให้เป็นแบบอย่างการตัดสินใจในกาลต่อมา เรียกว่า "วินีตวัตถุ"

    (๕) สิกขาบทวิภังค์ และปทภาชนีย์ ให้คำนิยาม และอธิบายความของศัพท์ยากตลอดถึงตั้งสมมติฐานว่า ถ้าทำอย่างนั้นๆ จะผิดหรือไม่

    (๖) ข้อยกเว้น สิกขาบทแต่ละข้อมีข้อยกเว้น เช่น ไม่มีเจตนาไม่ผิด วิกลจริตไม่ผิด เป็นต้น

    ๓) อาบัติและการต้องอาบัติ

    (๑) ปาราชิก อาบัติหนัก ทำแล้วขาดจากความเป็นภิกษุทันที

    (๒) สังฆาทิเสส อาบัติหนักรองลงมา ทำผิดแล้วต้องให้ "อยู่กรรม"

    (๓) ถุลลัจจัย อาบัติหนักรองลงมาจากปาราชิก และสังฆาทิเสส เกิดขึ้นเมื่อตั้งใจจะละเมิดอาบัติ ๒ อย่างนั้นแล้วทำไม่สมบูรณ์ เช่น ตั้งใจจะฆ่าเขาแต่เขาไม่ตายต้องถุลลัจจัย บางทีเรียก อนิยต (ไม่แน่) แต่อนิยตไม่ใช่ชื่ออาบัติ

    (๔) ปาจิตตีย์ อาบัติเบา ทำผิดแล้ว "ปลงอาบัติตก"

    (๕) ปาฏิเทสนียะ ความผิดที่ต้อง "แสดงคืน" คือ ต้องอาบัติเกี่ยวกับบุคคลใด ให้แสดงกับบุคคลนั้น

    (๖) ทุกกฏ อาบัติเบา ส่วนมากเกี่ยวกับมารยาทต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม

    (๗) ทุพภาสิต "พูดไม่ดี" อาบัติเบาเกิดจากความผิดพลาดในการพูดไม่เหมาะสม

    ๔) จุดประสงค์ของการบัญญัติสิกขาบท

    ประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยส่วนรวม

    (๑) เพื่อความดีงามของพระสงฆ์

    (๒) เพื่อความผาสุกของพระสงฆ์

    ประโยชน์เฉพาะบุคคล

    (๓) เพื่อขจัดคนหน้าด้าน

    (๔) เพื่อความผาสุกของผู้ทรงศีล

    ประโยชน์คือความดีงามแห่งชีวิต

    (๕) เพื่อป้องกันความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

    (๖) เพื่อขจัดความเลวร้ายในอนาคต

    ประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชน

    (๗) เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส

    (๘) เพื่อให้ผู้เลื่อมใสแล้วเลื่อมใสยิ่งขึ้น

    ประโยชน์แก่พระศาสนา

    (๙) เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม

    (๑๐) เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย (สนับสนุนความมีระเบียบวินัย)

    ๕) กำเนิดภิกษุณีสงฆ์

    - นางปชาบดีโคตมี ทูลขอบวช เบื้องแรกทรงปฏิเสธ ต่อมาทรงบวชให้ตามที่พระอานนท์กราบทูลขอ โดยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ๘ ข้อ อย่างเคร่งครัด (ครุธรรม ๘)

    - ข้อน่าพิจารณา คือ เหตุผลที่ทรงปฏิเสธในเบื้องต้น และคำถามที่ว่าพระพุทธเจ้า (หรือพระพุทธศาสนา) ไม่สนับสนุนหรือ ที่ไม่อนุญาตให้สตรีบวช จริงหรือไม่เป็นเรื่องพึงพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน ก่อนจะสรุปอะไรง่ายๆ

    ๖) ได้เรียนรู้เทคนิคและวิธีการปกครองสงฆ์ และการแก้ปัญหาของพระพุทธเจ้า

    - คนหมู่มากต้องมีวินัย วินัยจึงบัญญัติสำหรับปกครองคนหมู่มากให้เรียบร้อย

    - การบัญญัติวินัย ทรงดูกฎหมายทางโลกด้วย ทรงปรึกษานักกฎหมาย และทรงให้มี "ประชาพิจารณ์" ด้วย

    - ทรงให้แก้ไขลดหย่อน และเพิ่มความเข้มงวด เพื่อความเหมาะสม

    - คำนึงถึงปัณณัตติวัชชะ และโลกวัชชะ เพื่อความสมบูรณ์ของข้อปฏิบัติ

    ๗) ในวินัยปิฎก มีพุทธประวัติตอนตรัสรู้ จนถึงประกาศพระศาสนาอย่างละเอียด

    ๘) มีการสังคายนา ๒ ครั้ง

    - การบันทึกสังคายนาไว้เพียง ๒ ครั้ง ทำให้สันนิษฐานว่าระยะเวลาที่พระธรรมวินัยได้แตกออกเป็นปิฎก ๓ ปิฎก มีขึ้นก่อนสังคายนาครั้งที่ ๓ เพราะถ้ามีภายหลังสังคายนาครั้งที่ ๓ คงถูกบันทึกไว้ด้วย ประมาณเวลาคร่าวๆ ของกำเนิดพระไตรปิฎก คือ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒-๓

    ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก/ราชบัณฑิต

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB3TkE9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2009
  7. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    พระสุตตันตปิฎก

    ๑. พระสุตตันตปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า "พระสูตร" เป็นประมวลเทศนาของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงแก่บุคคลต่างชั้น ต่างวรรณะ ตามโอกาสต่างๆ แต่ละสูตร มีทั้งบทนำ เนื้อหาสาระของพระเทศนา และบทสรุปว่าหลังจบพระเทศนาแล้วผู้ฟังได้รับผลอย่างไรบ้าง แบ่งเป็น ๕ นิกาย (เรียกย่อว่า ที.ม.สัง.อัง.ขุ.) คือ (๑) ทีฆนิกาย (รวมพระสูตรยาวๆ) (๒) มัชฌิมนิกาย (รวมพระสูตรขนาดกลาง) (๓) สังยุตตนิกาย (รวมพระสูตรที่มีเนื้อหาเดียวกันเข้าด้วยกัน) (๔) อังคุตตรนิกาย (รวมพระสูตรที่มีข้อธรรมจากน้อยไปหามาก) (๕) ขุททกนิกาย (รวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดที่ตกหล่นจากการรวบรวมเป็น ๔ นิกายข้างต้น)

    ๒. โครงสร้างพระสุตตันตปิฎก

    ๓. โครงสร้างทีฆนิกาย

    ๔. เนื้อหาสาระ

    ๔.๑ พรหมชาลสูตร เนื้อหาแบ่งเป็นสองตอน ตอนต้นว่าด้วยศีล ๓ ระดับ คือ (๑) ศีลระดับต้น (จุลศีล) (๒) ศีลระดับกลาง (มัชฌิมศีล) และ (๓) ศีลระดับสูง (มหาศีล) ตอนปลายว่าด้วยทิฐิ หรือทฤษฎี หรือปรัชญาของลัทธิต่างๆ ร่วมสมัยพุทธกาล มีทั้งหมด ๖๒ ทฤษฎี พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นมาอธิบายชี้ให้เห็นว่า พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนต่างจากทฤษฎีทั้ง ๖๒ นี้อย่างไร
    <TABLE cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=right border=0><TBODY><TR bgColor=#400040><TD>[​IMG]

    </TD></TR></TBODY></TABLE>


    ๔.๒ สามัญญผลสูตร ว่าด้วยผลของความเป็นสมณะ ชี้ให้เห็นว่าการเข้ามาบวชถือพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนานั้น ได้อานิสงส์ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับสูงสุดอย่างไร คือ

    ๔.๒.๑ พ้นจากสถานภาพเดิม หรือเลื่อนสถานภาพทางสังคม เช่น พ้นจากทาสกรรมกร ชาวนา เป็นพระภิกษุทรงศีล ได้รับการนับถือจากคนทั่วไปแม้กระทั่งพระมหากษัตริย์

    ๔.๒.๒ เมื่อสมบูรณ์ด้วยศีล สำรวมอินทรีย์ มีสติสัมปชัญญะ สันโดษ บำเพ็ญสมาธิ ก็จะได้ฌานระดับต่างๆ

    ๔.๒.๓ ได้วิชชา ๓ อันมีการทำอาสวะให้สิ้นไปในที่สุด

    4.3 อัมพัฏฐสูตร โต้ตอบกับอัมพัฏฐมาณพ ศิษย์ของโปกขรสาติพรมหมณ์ เรื่องวรรณะพราหมณ์กับวรรณะกษัตริย์ใครสูงกว่ากัน ทรงชี้แจงว่า "ความรู้และความประพฤติสำคัญกว่าชาติสกุล" "ใครก็ตามยังถือชาติ ถือโคตร ถืออาวาหะ วิวาหะ คนเหล่านั้นจะห่างไกลจากวิชชา (ความรู้) และจรณะ (ความประพฤติ) อย่างยอดเยี่ยม แต่เมื่อละการยึดติดสิ่งเหล่านั้นได้ จึงจะทำให้แจ้งซึ่งความรู้และความประพฤติอันยอดเยี่ยม"

    พระสูตรนี้กล่าวถึงประวัติศาสตร์แห่งศากยวงศ์ด้วย

    ๔.๔ โสณทัณฑสูตร โต้ตอบกับโสณทัณฑพราหมณ์ ด้วยเรื่องสมบัติ ๕ อย่างของพราหมณ์ ทรงให้พราหมณ์พิจารณาอย่างรอบคอบ แล้วให้ตัดข้อที่มีความสำคัญน้อยออกไปทีละข้อๆ ผลที่สุดเหลือแต่ศีลกับปัญญา แล้วทรงชี้ว่า ศีลกับปัญญา นี้แหละ เป็นคุณสมบัติที่แท้จริงของพราหมณ์ ชาติ ชั้น วรรณะ ไม่ใช่ตัวกำหนด

    ๔.๕ กูฏทันตสูตร ว่าด้วยการบูชายัญที่ถูกต้องและมีประโยชน์มาก คือ การสังคมสงเคราะห์ มิใช่ด้วยการฆ่าสัตว์บูชายัญดังที่นิยมทำกัน พระสูตรได้แสดงวิธีการแก้ปัญหาสังคมที่จะให้ผลดีที่สุดด้วย

    ๔.๖ มหาลิสูตร โต้ตอบกับมหาลิลิจฉวี ด้วยเรื่อง ตาทิพย์ หูทิพย์ ทรงชี้ว่า ผลสำเร็จระดับนี้มิใช่จุดหมายปลายทางของการประพฤติพรหมจรรย์ "ภิกษุทั้งหลายมิได้ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระองค์เพื่อเจริญสมาธิให้เป็นเหตุได้หูทิพย์ ตาทิพย์ เพราะยังมีคุณธรรมที่สูงกว่านั้นคือ การทำอาสวะให้สิ้นไป"

    ๔.๗ ชาลิยสูตร ทรงสนทนากับนักบวชสองคน คือ ชาลิยะ กับ มัณฑิยปริพาชกเรื่องสรีระ (ร่างกาย) กับชีวะ (จิต) ว่าผู้รู้เห็นความเป็นจริง ย่อมไม่กล่าวว่าสรีระกับชีวะเป็นอันเดียวกันหรือต่างกัน

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก / ราชบัณฑิต

    [FONT=Tahoma,]หน้า 32[/FONT]

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB3TlE9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2009
  8. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ๔.๘ มหาสีหนาทสูตร ตรัสแก่ชีเปลือยชื่อกัสสปะ (ไตร.ฉบับยุโรป "กัสสปสีหนาทสูตร") ว่าพระองค์มิได้ปฏิเสธตบะทุกชนิดว่าไม่ดีไปหมด (ในตัว "ตบะ" เองคงไม่ดีไม่ชั่ว ตบะอย่างเดียวกัน คนประพฤติคนหนึ่งอาจไปนรก อีกคนอาจไปสุคติก็มี) กัสสปะกล่าวว่า การบำเพ็ญวัตรปฏิบัติเข้มงวดต่างๆ เช่น เปลือยกายเป็นสิ่งประเสริฐ ทำได้ยากยิ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า เพียง "การแก้ผ้า" ใครๆ ก็ทำได้ มิได้ประเสริฐอะไร ความสมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เจริญเมตตาจิต ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ มีประโยชน์ที่สุด ทรงสรุปว่า พระองค์กล้าบันลือท่ามกลางบริษัท กล้าตอบปัญหา และทำให้ผู้ฟังเลื่อมใสปฏิบัติตามจนได้ผล ก็เพราะพระองค์เองทรงปฏิบัติจนได้ผลมาเองในเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ข้างต้นนั้น

    ๕.๘ โปฏฐปาทสูตร ตอบคำถามของโปฏฐปาทปริพาชก เกี่ยวกับเรื่องสัญญากับอัตตา ว่าเป็นอย่างเดียวกันหรือต่างกัน จนโปฏฐปาทะเข้าใจ และเห็นด้วยกับพระองค์ ว่าต่อมาเขามากราบทูลอีกว่า ตนถูกพวกปริพาชกติเตียนว่า คนขนาดเขาไปเชื่อพระสมณโคดมได้อย่างไร พระสมณโคดมไม่เคย "ยืนยันอะไรในแง่เดียว" เลย ไม่ชี้ชัดเลยว่าโลกเที่ยงหรือไม่ โลกมีที่สิ้นสุดหรือไม่ พระพุทธเจ้าตรัสแก่เขาว่าพระองค์ทรงพยากรณ์ปัญหา (ตอบปัญหา) หลายวิธี คือ ทรงใช้ทั้งวิธี "เอกังสิกะ" (ตอบยืนยันในแง่เดียว) และวิธี "อเนกังสิกะ" (ตอบหลายแง่, ตอบมีเงื่อนไข)

    ๔.๑๐ สุภสูตร เป็นพระสูตรที่พระอานนท์แสดงแก่สุภมาณพ สุภมาณพถามว่าสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ ทรงตรัสชักชวนประชาชนให้ตั้งอยู่ในธรรมะข้อใดมากที่สุด พระอานนท์ตอบว่า ทรงชักชวนประชาชนให้ตั้งอยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นอริยะมากที่สุด

    ๔.๑๑ เกวัฏฏสูตร ว่าด้วยปาฏิหาริย์ ๓ อย่าง คือ ๑. อิทธิปาฏิหาริย์ ๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ (ดักใจทายใจคนอื่นได้) และ ๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (แสดงธรรมจนเกิดผลดีน่าอัศจรรย์) พระองค์ทรงรังเกียจปาฏิหาริย์ ๒ ข้อข้างต้น ทรงสรรเสริญเฉพาะอนุสาสนีปาฏิหาริย์ (ทรงห้ามสาวกแสดงอิทธิปาฏิหาริย์โดยไม่จำเป็น) พระสูตรนี้เล่าถึงพระรูปหนึ่ง มีฤทธิ์เหาะไปถามข้อข้องใจของตนกับเทวดา พรหม ก็ไม่มีใครแก้ข้อสงสัยได้ ท้าวมหาพรหมบอกให้มาถามพระพุทธเจ้าเท่ากับแสดงว่าถึงจะมีฤทธิ์มากมาย ฤทธิ์ก็ช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ คำสอนที่ถูกต้องสำคัญกว่า

    ๔.๑๒ โลหิจจสูตร โลหิจจพราหมณ์เข้าใจผิดว่า ผู้ที่บรรลุธรรมแล้วไม่ควรสอนคนอื่น เพราะจะเป็นคนโลภ เช่น โลภอยากได้สาวก อยากได้ชื่อเสียง พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า คนที่ไม่สอนคนอื่นนั่นแหละเป็นคนโลภ เป็นคนเบียดเบียนคนอื่น ไม่อนุเคราะห์คนอื่น เหมือนผู้บริโภคของที่ควรบริโภคแต่เพียงผู้เดียว ไม่เผื่อแผ่แก่คนอื่น แล้วทรงแสดงศาสดา ๓ ประเภทที่ควรติ (๑. ปฏิบัติไม่ได้ตามที่สอนเขา ๒. ตนปฏิบัติไม่ได้ตามที่สอน แต่สาวกตั้งใจฟังคำสอนไม่ละทิ้ง ๓. ตนปฏิบัติได้ตามที่สอนเขา แต่สาวกไม่ตั้งใจฟังพากันละทิ้ง) และศาสดาที่ควรสรรเสริญ คือ ศาสดาที่มีคุณสมบัติสมบูรณ์ในตัวเอง ทั้งมีสาวกตั้งอยู่ในศีล ได้ฌานทั้ง ๔ และวิชชา ๘ ประการ

    ๔.๑๓ เตวิชชสูตร ว่าด้วยวิธีการปฏิบัติเพื่อเข้าถึง "พรหมัน" (หรือ "พระพรหม") จุดหมายสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ พราหมณ์หนุ่มสองคน คือ วาเสฏฐะ กับ ภารทวาชะ ต่างอ้างว่าตนรู้ทางที่จะเข้าถึงพระพรหม ตกลงกันไม่ได้จึงไปถามพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงทักว่า ที่พวกเขาอ้างว่ารู้วิธีการที่จะเข้าถึงพระพรหมนั้น เคยเห็นพระพรหมบ้างไหม พวกเขาบอกว่าไม่เคย ทรงถามต่อว่า อาจารย์, อาจารย์ของอาจารย์ ฯลฯ จนถึงเจ็ดชั่วยุคของพวกเขา มีใครเคยยืนยันไหมว่าเคยเห็นพระพรหม ได้รับคำตอบว่า "ไม่มี" จึงตรัสสำทับว่า ก็เมื่อพระพรหมตนก็ไม่เคยเห็น ย่อมฟังไม่ขึ้นพราหมณ์ผู้รู้ไตรเพทเหล่านี้ต่างก็สอนต่อๆ กันมาอย่างมืดบอด ไม่ต่างอะไรกับคนตาบอดจับเชือกจูงคนตาบอด คนต้น คนกลาง และคนปลาย ต่างมองไม่เห็นกัน ตอนท้ายพระสูตร พระองค์ทรงแสดงวิธีการเข้าถึงพระพรหม (ในความหมายของพระองค์) คือ ต้องออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ดำรงอยู่ในศีล ละนิวรณ์ แผ่เมตตาจิตไปสู่ทิศทั้งหลาย อย่างหาประมาณมิได้ อย่างนี้จึงจะถือว่าเข้าถึงพระพรหมจริง

    ๔.๑๔ มหาปทานสูตร ว่าด้วยประวัติของพระพุทธเจ้าในอดีต 6 พระองค์ คือ พระวิปัสสี, พระสิขี, พระเวสสภู, พระกกุสันธะ, พระโกนาคมนะ, พระกัสสปะ รวมเป็น ๗ ทั้งประวัติของพระโคตมะของเราด้วย พระสูตรนี้มีข้อความควรทราบ คือ "ธรรมดาของพระโพธิสัตว์" ๑๕ อย่าง เช่น เวลาลงสู่พระครรภ์มีสติสัมปชัญญะ อยู่ในพระครรภ์ไม่เปื้อนมลทิน ประสูติแล้วทรงดำเนินด้วยพระบาท ๗ ก้าว เป็นต้น มีในพระสูตรนี้ มิใช่ว่าอาจารย์รุ่นหลังแต่งพระพุทธประวัติว่าเอาเอง

    ๔.๑๕ มหานิทานสูตร ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท พระอานนท์นึกว่าปฏิจจสมุปบาทนี้ง่าย พระพุทธเจ้าทรงห้ามมิให้คิดเช่นนั้น แท้จริงเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง หยั่งรู้ได้ยากยิ่ง แล้วทรงแสดงปฏิจจสมุปบาท ทั้งฝ่ายอนุโลม (แต่น่าสังเกตว่ามิได้สาวไปถึงอวิชชา, สาวไปถึงวิญญาณแล้วย้อนกลับ) พระสูตรนี้แสดงปฏิจจสมุปบาทสังคมด้วย

    ๔.๑๖ มหาปรินิพพานสูตร บันทึกเหตุการณ์ช่วงสุดท้ายแห่งพระพุทธเจ้า จนถึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน เสด็จดำเนินออกจากเมืองไพศาลี, ไปอัมพลัฏจิกา, นาลันทา, ปาฏิกคาม, นาทิกคาม, อัมพวันของอัมพปาลี, เสด็จจำพรรษาที่เวฬุวคาม (ทรงปลงอายุสังขารที่นี่) ทรงเรียกประชุมสงฆ์ที่ป่ามหาวันแสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗, เสด็จไปภัณฑคาม, หัตถิคาม, อัมพคาม,โภคนคร (ทรงแสดงมหาปเทศ ๔ ที่นี่), เสด็จสู่เมืองปาวา (เสวยสูกร มัททวะของนายจุนทะ), ทรงประชวรหนัก เสด็จเมืองกุสินารา ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน ของพวกมัลลกษัตริย์ พระสูตรนี้มีหลักธรรมที่ควรทราบมาก โดยเฉพาะพระพุทธวจนะที่แสดง "เจตนารมณ์ของพระองค์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในอนาคต" (ซึ่งมีผลกระทบต่อสถาบันสงฆ์อย่างใหญ่หลวงในกาลต่อมา) และปัจฉิมโอวาทที่สำคัญยิ่ง

    ๔.๑๗ มหาสุทัสสนสูตร แสดงประวัติเมืองกุสินาราในอดีต เป็นเมืองใหญ่ ปกครองโดยพระเจ้ามหาสุทัสสนะ เป็นการเล่าพงศาวดารให้พระอานนท์ฟัง แต่ตอนท้ายทรงสรุปเห็นกฎของไตรลักษณ์น่าฟังยิ่ง

    พระเจ้าจักรพรรดิมหาสุทัสสนะ ถึงจะครองเมืองมากมาย แต่ก็ประทับอยู่เมืองเดียว มีปราสาทมากมายก็ประทับอยู่เพียงปราสาทเดียว มีช้างมากมายก็ขึ้นทรงเพียงเชือกเดียว มีมเหสีมากมายก็คอยปรนนิบัติคราวละคนเดียว มีพัสตราภรณ์มากมายก็นุ่งห่มได้คราวละชุดเดียว มีอาหารมากมายก็เสวยได้คราวละทะนานเดียว ผลสุดท้ายก็แตกดับ ดูเอาเถิด สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้แหละ

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก / ราชบัณฑิต

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd053PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB3Tmc9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2009
  9. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ๔.๑๘ ชนวสภสูตร ว่าด้วยพระเจ้าพิมพิสารถูกพระเจ้าอชาตศัตรูโอรสทรมานให้อดอาหารจนสิ้นพระชนม์ไปเกิดเป็นยักษ์ชื่อชนวสภะ (คำว่ายักษ์ในที่นี้หมายถึงเทวดาชั้นจาตุมหาราช)

    ๔.๑๙ มหาโควินทสูตร แสดงถึงโควินทพราหมณ์ปุโรหิตคนสำคัญของพระเจ้าทิสัมปติ แนะนำพระเจ้าแผ่นดิน จัดระบบการปกครองอย่างดี ต่อมาออกบวช สอนแนวทางเข้าถึงพระพรหมแก่ประชาชน ท้ายพระสูตรพระพุทธองค์ตรัสว่า โควินทพราหมณ์อย่างเก่งก็สอนแค่เข้าถึงพรหม แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เข้าถึงพระนิพพาน สูงกว่าพรหมโลก

    ๔.๒๐ มหาสมยสูตร แสดงถึงการประชุมของเทวดาทั้งหลาย มาเฝ้าพระพุทธเจ้าต่างก็กล่าวคาถาคนละบทแสดงความประพฤติชอบของพระสงฆ์และประกาศเข้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ

    ๔.๒๑ สักกปัญหสูตร กล่าวถึงพระอินทร์มาทูลถามปัญหา ๑๐ ข้อ ต่อพระพุทธเจ้า เช่น เทวดา มนุษย์ เป็นต้น มีอะไรผูกมัด (ริษยาและความตระหนี่) ริษยาและตระหนี่เกิดจากอะไร (เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รักและสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก) เป็นต้น พระอินทร์อาศัยปัญจสิขะคนธรรพ์ เป็นผู้พาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า หลังจากเข้าเฝ้าแล้ว ได้ประกาศตนถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ พระสูตรนี้มี "บทเพลงรัก" ของปัญจสิขะด้วย (โปรดอ่าน "เพลงรักจากพระไตรปิฎก" ของผู้บรรยายประกอบ)

    ๔.๒๒ มหาสติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยการตั้งสติอย่างใหญ่ ๔ อันเป็นเอกายนมรรค (ทางเอกและทางเดียวเพื่อทำให้แจ้งพระนิพพาน) ๔ คือ กายานุปัสสนา, เวทนานุปัสสนา, จิตตานุปัสสนา และ ธัมมานุปัสสนา

    ๔.๒๓ ปายาสิกราชัญญสูตร พระกุมารกัสสปะโต้ตอบกับพระยาปายาสิ ผู้ไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ หลังจากได้ทดลองพิสูจน์ตามกรรมวิธีต่างๆ ของตนแล้ว พระกุมารกัสสปะยกเหตุผลมาชี้แจงจนสามารถทำให้พระยาปายาสิละทิ้งความเห็นผิดของตนในที่สุด พระสูตรนี้น่าสนใจตรงที่ความสามารถของพระเถระ หาเหตุหาผลมาหักล้างฝ่ายที่คัดค้านได้อย่างคมคาย ควรศึกษาอย่างยิ่ง (กลวิธีการตอบคล้ายกับมิลินทปัญหามาก คมชัดแจ่มแจ้งด้วยอุปมา)

    ๔.๒๔ ปาฏิกสูตร พระสูตรนี้เล่าถึงสุนักขัตตลิจฉวี ขอให้พุทธองค์แสดงปาฏิหาริย์ พระองค์ตรัสว่าถึงจะแสดงหรือไม่แสดง พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ ย่อมนำผู้ปฏิบัติให้สิ้นทุกข์โดยชอบอยู่แล้ว สุนักขัตตะไม่พอใจลาสิกขาหนีไป ทรงเล่าถึงปาฏิกอเจลกะ (ชีเปลือย) ท้าพระพุทธเจ้าแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แข่งกับตน ครั้นเอาเข้าจริงไม่กล้าสู้หน้าพระ พุทธองค์

    ๔.๒๕ อุทุมพริกสูตร ว่าด้วยการโต้ตอบกับนิโครธปริพาชกเกี่ยวกับการบำเพ็ญตบะที่พวกปริพาชกถือว่าเป็นสิ่งสุดยอด พระองค์ตรัสว่า ตบะที่พวกเขาถือว่าบริสุทธิ์สุดยอด ยังมีข้อบกพร่อง เช่น คนบำเพ็ญตบะแล้วอิ่มเอิบใจเต็มไปด้วยความปรารถนายกตนข่มผู้อื่น เพราะตบะนั้นบำเพ็ญตบะเพราะใคร่จะได้ชื่อเสียง เป็นต้น แล้วทรงแสดงตบะที่เป็นยอดสูงขึ้นตามลำดับ คือ สังวร (ระวัง) ๔ อย่าง กำจัดนิวรณ์ ๕ เจริญพรหมวิหารแผ่ไปทั่วทิศ ระลึกชาติได้ ได้ทิพยจักษุเห็นสัตว์ตายเกิดตามอำนาจกรรม แล้วตรัสว่ายังมีสูงกว่านี้อีก จนปริพาชกแปลกใจว่าเท่านี้ก็สูงที่สุดแล้วยังมีสูงกว่านี้อีกหรือ ตรัสตอบว่า "พระผู้มีพระภาครู้เองแล้ว แสดงธรรมเพื่อให้คนรู้ตาม ฝึกตนเองได้แล้วจึงแสดงธรรมเพื่อฝึกคนอื่น สงบระงับเองแล้ว จึงแสดงธรรมเพื่อความสงบระงับ ข้ามพ้นเองแล้วจึงแสดงธรรมเพื่อการข้ามพ้น ดับเย็นเองแล้ว จึงแสดงธรรมเพื่อความดับเย็น" เท่ากับแสดงนัยให้เห็นว่ายอดของตบะก็คือการปฏิบัติเพื่อความดับเย็น (นิพพาน)

    ๔.๒๖ จักกวัตติสูตร แสดงความเสื่อม ความเจริญ แห่งศีลธรรมอันเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันไป เท่ากับเป็นการแสดงปฏิจจสมุปบาทหรือปัจจยาการแห่งทุกข์ของสังคม (โปรดดูข้อสังเกตข้างท้าย) ในพระสูตรนี้มีการกล่าวถึงพระศรีอาริยเมตไตรยด้วย

    ๔.๒๗ อัคคัญญสูตร แสดงวิวัฒนาการของโลก โลกเกิดขึ้นได้อย่างไร มนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างไร การแบ่งชั้นวรรณะ ระบอบการปกครอง ตลอดจนปัญหาสังคมเกิดขึ้นได้อย่างไร มีผู้กล่าวว่าพระพุทธเจ้ากล่าวตามความเชื่อเดิมของพวกพราหมณ์ แต่บางท่านว่าเป็นคติพุทธแท้ๆ แต่นั่นเป็นประเด็นย่อย ประเด็นหลักอยู่ที่

    ๑) ชี้ว่า โลกมิได้ "ถูกสร้างเบ็ดเสร็จ" ขึ้นมาทันที แต่เป็นผลของวิวัฒนาการมาเป็นขั้นเป็นตอนตามเหตุปัจจัย โดยกฎธรรมดาแห่งความสัมพันธ์ ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์

    ๒) ไม่ว่าคนจะเกิดมาอย่างไร ถูกแบ่งชั้นวรรณะอย่างไรก็ตาม สาระอยู่ที่ว่าทุกคนมีความเป็นคนทัดเทียมกัน ทุกคนสามารถประพฤติดีปฏิบัติชั่ว และได้รับผลตามกฎธรรมดาเสมอกัน เมื่อประพฤติถูกต้องก็บรรลุนิพพานเหมือนกันหมด

    ๓) จะเห็นกฎแห่งเหตุปัจจัยสัมพันธ์หรือปัจจยาการแห่งสังคมได้ชัดเจน คือมนุษย์มิใช่ผู้กำหนดสภาพแวด ล้อมอย่างเดียว และธรรมชาติแวดล้อมก็มิใช่ตัวกำหนดมนุษย์อย่างเดียว แต่เป็นกระบวนการอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นปัจจัยแก่กัน (ดูข้อสังเกตข้างท้าย)

    ๔.๒๘ สัมปสาทนียสูตร พระสารีบุตรประกาศความเลื่อมใส เชื่อมั่นในพระพุทธเจ้า ประกาศข้อที่น่าเลื่อมใสของพระพุทธเจ้า ๑๕ ข้อ แล้วสรุปย้ำว่า "ไม่มีสมณพราหมณ์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่จะยิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาคในทางตรัสรู้"

    ๔.๒๙ ปาสาทิกสูตร ว่าด้วยพระธรรมวินัยที่กล่าวไว้ไม่ดี และที่กล่าวไว้ดี รวมทั้งข้อปฏิบัติของสาวกตรัสแนะให้พระจุนทะจัดระเบียบพระธรรมวินัย ตรัสแนะลักษณะสอบสวนพระธรรมวินัย ตลอดถึงแนะข้อโต้ตอบกับลัทธิอื่นๆ ว่าถ้าเขากล่าวหาอย่างนั้นๆ จงตอบอย่าง นั้นๆ เป็นต้น มีข้อความนิยามความหมายของคำว่า "ตถาคต" (ที่พระองค์ใช้เป็นสรรพนามเรียกพระองค์เอง) ด้วย

    ๔.๓๐ ลักขณสูตร แสดงถึงมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ซึ่งเป็นผลให้มีคติเป็น ๒ ข้อ คือ ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าออกบวชจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่น่าสังเกต คือ ลักษณะทางกายภาพทั้ง ๓๒ ในพระสูตรไม่มีข้อใดที่เกินเลย หรือผิดมนุษย์ ดังหนังสือรุ่นหลังแต่งเลย และที่เน้นอย่างหนึ่งก็คือ ความสมบูรณ์พร้อมแห่งพระลักษณะเหล่านี้เกิดมีได้เพราะพระองค์ทรงสร้างกุศลกรรมต่างๆ ในชาติก่อน (ดูข้อสังเกตข้างท้าย)

    ๔.๓๑ สิงคาลกสูตร แสดงหลักธรรมพื้นฐานสำหรับผู้ครองเรือนจะพึงปฏิบัติเรียกว่าเป็น "ศีลของผู้ครองเรือน" เช่น ให้หลีกเลี่ยงอบายมุข รู้จักมิตรแท้มิตรเทียม เรื่องทิศหกเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว (โปรดดู นวโกวาท ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ และ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของพระราชวรมุนี ประกอบ)

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก / ราชบัณฑิต

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB3Tnc9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2009
  10. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย


    <TABLE cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=left border=0><TBODY><TR bgColor=#400040><TD>[​IMG]

    </TD></TR></TBODY></TABLE>
    พุทธศาสนาเป็น "มัชฌิมาปฏิปทา" (ทางสายกลาง) ไม่ใช่ทั้งสองอย่างข้างต้น พระพุทธเจ้าทรงสอนหลัก "ปฏิจจสมุปบาท" หรือ "อิทัปปัจจยตา" สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นหรือดับไป เพราะมีเงื่อนไขและหมดเงื่อนไข จะชี้ชัดลงไปตายตัวไม่ได้ แล้วแต่เงื่อนไข เช่น ถ้าตอบว่า "เกิด" ก็เป็นมิจฉาทิฐิ (สัสสตะ) ถ้าตอบว่า "ไม่เกิด" ก็เป็นมิจฉาทิฐิ (อุจเฉทะ)

    ๕.๘ วิธีการตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า มี ๒ อย่าง คือ

    - เอกังสิกธรรม (ตอบทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข, ตอบตรงไปตรงมา)

    - อเนกังสิกธรรม (ตอบมีเงื่อนไข)

    แต่ในอังคุตตรนิกายแบ่งซอยออกเป็น ๔ อย่าง โดยกระจายอเนกังสิกธรรมออกเป็นปฏิปุจฉา (ย้อนถาม) วิภัชชะ (แยกความตอบ) และฐปนียะ (ปัญหาไม่ควรตอบ) เป็น ๔ อย่างด้วยกัน โปรดดูแผนภูมิข้างล่างนี้



    ๕.๙ เรื่องปาฏิหาริย์ ในพระพุทธศาสนานั้นกล่าวถึงปาฏิหาริย์ ๓ อย่าง แสดงว่ายอมรับว่าปาฏิหาริย์มีจริง เช่น การแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ การรู้ใจคนอื่น ทายใจคนอื่นได้ มีจริงทำได้จริง แต่มีข้อที่น่ากำหนดไว้ในใจอย่างหนึ่ง คือ พระพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่าปาฏิหาริย์เหล่านั้นเป็นจุดสูงสุดของชีวิต ตรงข้ามพระองค์กลับยกย่องว่า การแสดงธรรมให้คนฟังรู้แจ้งเห็นจริงเท่านั้นเป็นปาฏิหาริย์อย่างแท้จริง พระองค์ไม่สนับสนุนให้สาวกแสดงปาฏิหาริย์ แม้กระทั่งพระองค์เองก็มิได้ทรงใช้อิทธิปาฏิหาริย์อย่างพร่ำเพรื่อ จะทรงใช้ก็ต่อเมื่อต้องการให้เป็นสื่อนำไปสู่อนุสาสนีปาฏิหาริย์เท่านั้น พระพุทธศาสนามิได้อยู่บนรากฐานของอิทธิปาฏิหาริย์ แม้จะตัดอิทธิฤทธิ์ออก พระธรรมคำสอนของพระองค์ก็ยังทำให้ผู้ปฏิบัติตามได้บรรลุมรรคผลอยู่เช่นเดิม
    <TABLE cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=right border=0><TBODY><TR bgColor=#400040><TD>[​IMG]

    </TD></TR></TBODY></TABLE>


    ๕.๑๐ ในกูฏทันตสูตร แสดงวิธีแก้ปัญหาสังคมที่จะให้ได้ผลที่สุด คือ อาชญากรรมปราบไม่ได้ด้วยวิธีการรุนแรง เช่น ฆ่า จองจำ เพราะยิ่งฆ่าก็ยิ่งจะมีมากขึ้น ตัวตายตัวแทน การปราบอาชญากรรมชนิดถอนรากถอนโคนนั้น จะต้องทำโดยการจัดระบบเศรษฐกิจให้ดี ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ให้ทุกคนมีอาชีพ มีรายได้พอแก่อัตภาพ นับว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ทันสมัย และใช้ได้กระทั่งทุกวันนี้ ด้วยวิธีนี้เท่านั้น "ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายจะปราศจากเสี้ยนหนาม ไม่ถูกบีบคั้นรื่นเริงบันเทิงใจ อุ้มลูกฟ้อนรำไปมาสนุกสนาน บ้านช่องก็ไม่ต้องปิดประตูลั่นกุญแจ"

    ๕.๑๑ หลักปฏิจจสมุปบาท นอกจากจะเป็นทฤษฎีว่าด้วยการเกิดและการดับแห่งทุกข์แล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้อธิบายกฎแห่งเหตุปัจจัยสัมพันธ์อื่นๆ ได้อีกด้วย พูดง่ายๆ ปฏิจจสมุปบาทเดิมเป็นหลักแสดงความเกิดทุกข์แห่งชีวิต แต่อย่างหลังแสดงความทุกข์แห่งสังคม ดังนี้

    อีกสูตรหนึ่ง (จักกวัตติสูตร) แสดงไว้ดังนี้

    ผู้ปกครองไม่ปันทรัพย์แก่ผู้ยากไร้-ความยากจนระบาดไปทั่ว-อทินนาทาน-การใช้อาวุธ-อภิชฌาพยาบาท-มิจฉาทิฐิ-อธรรมราคะ-ความละโมบ-มิจฉาธรรม-ไม่นับถือพ่อแม่ สมณพราหมณ์-อายุ วรรณะเสื่อม

    ใน อัคคัญญสูตร แสดงวิวัฒนาการของโลกตามหลักปัจจยาการสังคม ดังนี้

    คนเกียจคร้านสะสมอาหารไว้กิน ต้องแบ่งปันเขตแดนกัน คนโลภลักส่วนของคนอื่น เกิดการติเตียน กล่าวเท็จ ทำร้ายกัน ต้องตั้งคนมาปกครองเพื่อความสงบ เกิดกษัตริย์ขึ้น บางพวกเกิดความเบื่อหน่ายความชั่วร้ายของสังคม ออกบำเพ็ญฌานในป่า ท่องมนต์เขียนตำรา เกิดพราหมณ์ขึ้น คนมีครอบครัวประกอบอาชีพต่างๆ เกิดแพศย์ขึ้น คนนอกนี้ทำงานเล็กๆ น้อยๆ เกิดศูทรขึ้น เกิดการดูถูกกันในสังคม ทุกข์ของสังคมก็เกิด

    แต่ถ้าวรรณะทั้ง 4 บางพวกออกบวชเป็นสมณะปฏิบัติธรรมก็แก้ปัญหาการแบ่งวรรณะการดูถูกกันได้ ทุกข์ของสังคมก็หมดไป

    ๕.๑๒ พุทธปณิธานของพระพุทธเจ้า มีอยู่ในมหาปรินิพพานสูตร คือ พระองค์ตั้งพระทัยจะไม่ปรินิพพาน จนกว่าพุทธบริษัทของพระองค์จะมีความพร้อมทุกประการ คือ

    (๑) ศึกษาพระธรรมวินัยจนมีความรู้แตกฉานแกล้วกล้าในธรรม

    (๒) ปฏิบัติธรรมจนสามารถสัมผัสผลอันควรแก่การปฏิบัติ

    (๓) สามารถแสดงธรรมได้ดี ถ่ายทอดให้คนเข้าใจแจ่มแจ้ง

    (๔) เมื่อมีผู้กล่าวจ้วงจาบ หรือให้ร้ายบิดเบือนพระศาสนา ก็สามารถชี้แจงขจัดปัดเป่าให้หมดไป ทำการปกป้องพระศาสนาไว้ได้

    ๕.๑๓ สูกรมัททวะที่นายจุนทะถวายพระพุทธเจ้านั้น เราแปลกันว่า "เนื้อสุกรอ่อน" แต่น่าจะไม่ใช่ในอรรถกถาตีความไว้ ๓ นัย คือ

    (๑) เนื้อสุกรอ่อน

    (๒) ข้าวหุงด้วยนมโค

    (๓) ยาสมุนไพร บางท่านว่าเห็ดไม้จันทน์

    ข้อน่าเป็นไปได้น่าจะเป็นข้อ (๓) (โปรดอ่าน วิเคราะห์มหาปรินิพพานสูตร ของผู้บรรยายประกอบ)

    ๕.๑๔ มหาปุริสลักษณะในพระไตรปิฎก (ลักขณสูตร) เป็นข้อที่เป็นไปได้ เพราะไม่มีลักษณะอะไรเกินเลย ดังที่หนังสือรุ่นหลังเขียน (เช่น มีชีวหาใหญ่ หนังสือรุ่นหลังเขียนว่า มีพระชิวหายาวตวัดเลียรอบท้ายทอยได้ เป็นต้น) ขอนำมาลงไว้เพื่อศึกษาพิจารณาดังต่อไปนี้

    (๑) พระบาทประดิษฐานเป็นอันดี (เรียบงาม)

    (๒) ณ ฝ่าพระบาทมีจักร มีซี่กงบริบูรณ์

    (๓) ส้นพระบาทยาว

    (๔) พระองคุลียาว

    (๕) ฝ่าพระหัตถ์ ฝ่าพระบาทนุ่ม

    (๖) พระบาทและพระหัตถ์ลายดุจตาข่าย

    (๗) พระบาทเหมือนสังข์คว่ำ

    (๘) พระชงฆ์เรียวเหมือนแข้งทราย

    (๙) พระหัตถ์ทั้งสองยาวยืนคลำถึงพระชานุ

    (๑๐) พระคุยหะเร้นในฝัก

    (๑๑) พระฉวีดังทอง

    (๑๒) พระฉวีละเอียด

    (๑๓) พระโลมชาติเกิดขุมละเส้น

    (๑๔) พระโลมชาติปลายช้อนขึ้นขดเป็นทักษิณาวัตร

    (๑๕) พระวรกายตรง

    (๑๖) พระมังสะเต็มในที่ ๗ สถาน

    (๑๗) กึ่งพระกายท่อนบนเหมือนท่อนหน้าของสีหะ

    (๑๘) ระหว่างพระอังสะเต็ม

    (๑๙) วาเท่ากับพระวรกาย

    (๒๐) พระศอกลม

    (๒๑) ปลายเส้นประสาทรับรสอาหารอย่างดี

    (๒๒) พระหนุดุจคางราชสีห์

    (๒๓) พระทนต์ ๔๐ ซี่

    (๒๔) พระทนต์เรียบเสมอ

    (๒๕) พระทนต์ไม่ห่าง

    (๒๖) พระทาฐะขาวงาม

    (๒๗) พระชิวหาใหญ่

    (๒๘) พระสุรเสียงไพเราะดังเสียงพระพรหม

    (๒๙) พระเนตรดำสนิท

    (๓๐) ดวงพระเนตรดุจตาโค

    (๓๑) อุณาโลมขาวอ่อนเกิดระหว่างพระขนง

    (๓๒) พระเศียรดุจประดับกรอบพระพักตร์

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    ศาสตราจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

    [FONT=Tahoma,]หน้า 31[/FONT]

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB4TVE9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2009
  11. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ข้อที่น่าสังเกต "สุวณฺณวณฺโณ" พระฉวีวรรณดังทอง (ผิวเหลือง) ไม่ขาวเหมือนฝรั่ง (อารยัน) จึงมีผู้สังเกตว่า พระพุทธองค์ไม่ใช่อารยัน หรือฝรั่งแท้ คงเป็นเชื้อสายมงโกเลียน (เป็นเพียงข้อเสนอพิจารณาเท่านั้น)

    ๕.๑๕ พุทธวจนะตรัสกับพระอานนท์ว่า "อานนท์ ต่อไปภายหน้า ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยบ้างก็ได้" แสดงถึงเจตนารมณ์ของพระองค์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในอนาคต ทรงรู้ว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป สิกขาบทบางข้ออาจไม่เหมาะสม และยากจะรักษาไว้ได้ จึงทรงวางหลักการกว้างๆ ไว้ให้ แต่บังเอิญพระอานนท์มิได้ทูลถามว่าสิกขาบทเล็กน้อยคือข้อไหน พระสงฆ์จึงยุติกันไม่ได้ เลยมีมติคงไว้ตามเดิม จากจุดนี้เองทำให้พระสงค์แตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ ต่อมา

    ๕.๑๖ วิเคราะห์มหาปรินิพพานสูตร

    ๑. เรื่องวัสสการพราหมณ์เข้าเฝ้า

    วัสสการพราหมณ์เป็นปุโรหิตของพระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์ผู้ครองเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ในช่วงปลายพุทธกาล เจ้าชายอชาตศัตรูถูกพระเทวทัตยุยง จับพระราชบิดา คือ พระเจ้าพิมพิสารขังคุกให้อดอาหารจนสิ้นพระชนม์ พระเทวทัตเองก็แพ้ภัยตัวเอง ถูกแผ่นดินสูบ พระเจ้าอชาตศัตรูได้สำนึกในความผิดมหันต์ของตน จึงเข้าเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ถวายตนเป็นสาวก นับถือพระรัตนตรัย ถวายความอุปถัมภ์แด่พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขัน (หลังพุทธปรินิพพานก็ได้ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่หนึ่งจนเสร็จสิ้น)

    ในเวลานั้นมีแคว้นที่ยิ่งใหญ่อยู่แคว้นหนึ่ง มีระบอบการปกครองแบบ "สามัคคีธรรม" คือปกครองเป็นหมู่คณะเรียกว่าเหล่ากษัตริย์ "ลิจฉวี" โดยหัวหน้าหรือประชุมที่รับเลือกขึ้นมาบริหารประเทศผ่านรัฐสภาคณะผู้บริหารอยู่เป็นวาระ ครบวาระแล้วก็เลือกตั้งกันใหม่ แคว้นดังกล่าวนี้ชื่อแคว้นวัชชี มีเมืองหลวงชื่อไพศาลี แปลว่าเมืองที่กว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งก็ไพศาลสมชื่อ หนังสืออรรถกถาได้อธิบายความยิ่งใหญ่มั่งคั่งของเมืองนี้ไว้มากมาย

    มหาราชแห่งมคธรัฐ คือ พระเจ้าอชาตศัตรู มีพระประ สงค์จะครอบครองเมืองไพศาลี ยกทัพเข้าตีหลายครั้งไม่สำเร็จสักที จึงรับสั่งให้วัสสการพราหมณ์ไปเข้าเฝ้าพระ พุทธเจ้า ให้ไปเล่าถึงความแข็งแกร่งของแคว้นวัชชีของกษัตริย์ลิจฉวีให้พระพุทธองค์ทรงทราบ แล้วคอยกำหนดจดจำว่าพระพุทธองค์จะรับสั่งอย่างไร พูดง่ายๆ ว่าอยากให้ไปขอคำปรึกษาว่าทำอย่างไรจึงจะตีแคว้นวัชชีได้ แต่ไม่กล้าบอกให้วัสสการพราหมณ์กราบทูลตรงๆ เพราะถ้าทำอย่างนั้น พระพุทธองค์คงไม่ตรัสบอกแน่นอน การแนะนำให้เมืองหนึ่งไปโจมตีอีกเมืองหนึ่ง มิใช่วิสัยของพระบรมครูแห่งชาวโลกอยู่แล้ว

    วัสสการพราหมณ์คนนี้คงมิได้นับถือพระพุทธศาสนา สังเกตจากคำพูดที่กราบทูลพระพุทธองค์ว่า "โภ โคตม" (ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ) คนต่างลัทธิเท่านั้นที่ใช้คำพูดว่า "โคตม" กับพระพุทธองค์ สาวกพระพุทธองค์จะใช้คำว่า "ภนฺเต"

    วัสสการพราหมณ์กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า พระเจ้าอยู่หัวแห่งเมืองราชคฤห์ (อชาตศัตรูเวเทหิบุตร) ฝากถวายบังคมด้วยเศียรเกล้า แล้ววัสสการพราหมณ์ได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า พระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์แห่งมคธรัฐโจมตีแคว้นวัชชีอย่างไรก็ไม่สามารถจะตีแตกได้ แคว้นวัชชีของกษัตริย์ลิจฉวีเข้มแข็งเหลือเกิน

    พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสกับวัสสการพราหมณ์ ทรงหันไปตรัสกับพระอานนท์พุทธอุปัฏฐากซึ่งนั่งถวายงานพัดอยู่ข้างๆ ตรัสถามพระอานนท์ว่า เคยได้ยินไหมว่ากษัตริย์ลิจฉวีมีคุณสมบัติ ๗ ประการ อันเป็นทางทำให้มีแต่ความเจริญ ไม่มีเสื่อม ทรงถามทีละข้อๆ พระอานนท์กราบทูลว่าเคยได้ยิน คุณสมบัติ ๗ ประการ หรืออปริหานิยธรรม ๗ ประการที่เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีประพฤติอยู่เป็นประจำ ได้นำมาลงไว้แล้ว

    วัสสการพราหมณ์เป็นคนฉลาด พอได้ฟังอย่างนี้แล้วก็ได้คิดว่าที่พวกกษัตริย์ลิจฉวีเข้มแข็งข้าศึกศัตรูไม่สามารถเอาชนะได้เพราะมีความสมัครสมานสามัคคีกัน ทางเดียวที่จะตีแตกได้ต้องหาทางทำลายความสามัคคีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี

    ข้อนี้เป็นความฉลาดของวัสสการพราหมณ์เอง มิใช่พระพุทธเจ้าท่านชี้แนะแต่ประการใด จะหาว่าพระองค์ทรงบอกใบ้หรือชี้แนะให้กษัตริย์สองเมืองรบรากันนั้น ไม่ถูกต้องแน่นอน เพราะพระพุทธจริยาวัตรของพระองค์ทรงเต็มเปี่ยมด้วยพระมหากรุณา มุ่งให้สรรพสัตว์รักใคร่ปรองดองกันฉันญาติพี่น้อง ส่วนใครฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระองค์แล้วจะนำไปคิดไปใช้ในแง่ลบเบียดเบียนคนอื่น เป็นความผิดของผู้อื่นเอง

    หลังจากวัสสการพราหมณ์จากไปแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วทรงแสดงอปริหานิยธรรม (หลักแห่งความไม่เสื่อม) สำหรับพระภิกษุไว้ ๖ นัย ในที่นี้จะขอนำมาให้รับทราบไว้ ๒ นัย คือ

    ๑. อปริหานิยธรรม ๗ นัยที่ ๑

    ๑) หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

    ๒) พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจสงฆ์ที่จะต้องทำ

    ๓) ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ ไม่ล้มล้างสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้

    ๔) ภิกษุเหล่าใดเป็นใหญ่ เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายกเคารพนับถือภิกษุเหล่านั้นเห็นถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง ตีความง่ายๆ ก็คือ ให้เคารพพระผู้ใหญ่ เชื่อฟังคำตักเตือนสั่งสอนของพระผู้ใหญ่

    ๕) ไม่ลุอำนาจตัณหาที่เกิดขึ้น หมายความว่า ไม่ตกอยู่ในอำนาจความทะยานอยากเพราะความทะยานอยากจะชักจูงให้ออกนอกธรรมนอกวินัย

    ๖) ยินดีในเสนาสนะป่า คือ ยินดีอยู่อย่างสงบในป่าในดง

    ๗) ตั้งสติระลึกเสมอว่า เพื่อนพรหมจารีที่มีศีล ที่ยังไม่มาก็ขอให้มา ที่มาแล้วก็ขอให้อยู่เป็นสุข หมายความว่ามีความปรารถนาดีต่อเพื่อนพระภิกษุที่ทรงศีลด้วยกัน ยินดีต้อนรับให้ท่านเหล่านั้นมาอยู่ด้วยกันอย่างผาสุก

    ๒.อปริหานิยธรรม ๗ นัยที่ ๒

    ๑. ไม่มัวเพลิดเพลินในการงานต่างๆ เช่น การเย็บจีวร การทำบริขาร การก่อสร้าง จนเสียการศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรม

    ๒. ไม่มัวเพลิดเพลินในการพูดคุย

    ๓. ไม่มัวเพลิดเพลินกับการนอน

    ๔. ไม่มัวเพลิดเพลินกับการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ คือ การคบหาสมาคมกับคนมาก

    ๕. ไม่มีความปรารถนาลามก ไม่ตกอยู่ในความปรารถนาลามก ผิดสมณวิสัย

    ๖. ไม่คบมิตรชั่วที่ชักพาให้ประพฤตินอกธรรมนอกวินัยเป็นอลัชชี

    ๗. ไม่นิ่งนอนใจ พยายามฝึกฝนตนเพื่อให้ได้บรรลุคุณวิเศษยิ่งๆ ขึ้นไป

    ถ้าพระภิกษุทั้งหลายปฏิบัติตามนี้เคร่งครัด รับรองได้ว่าจะมีแต่ความเจริญในพระศาสนาไม่มีความเสื่อมเลย

    กล่าวถึงวัสสการพราหมณ์ หลังกลับจากเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจะไปทำอะไรนั้น พระสูตรนี้ไม่ได้พูดถึง แต่เราทราบจากแหล่งข้อมูลอื่นว่าวัสสการพราหมณ์ได้ไปกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรูให้ไปตีเมืองไพศาลีของกษัตริย์ลิจฉวี โดยวางกลอุบายอันแนบเนียน คือ "แผนยอมเจ็บตัว" ในที่สุดก็สามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนที่วางไว้

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB4TWc9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2009
  12. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย

    แผนยอมเจ็บตัวที่ว่าก็คือ ให้พระเจ้าอชาตศัตรูสั่งให้โบยด้วยหวายจนเนื้อแตกไปทั้งตัว แล้วก็ให้ไปปล่อยไว้ชายแดนเมืองไพศาลี หนีไปเข้ากับราชสำนักเมืองไพศาลี พยายามทำตนให้เป็นที่โปรด ปรานของพวกกษัตริย์ลิจฉวี จนได้รับความไว้วางใจตั้งให้เป็นพระอาจารย์ของยุวกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย เมื่อได้โอกาสวัสสการพราหมณ์จอมเจ้าเล่ห์ก็ยุยงให้เจ้าชายน้อยๆ ของพวกลิจฉวีแตกกัน เมื่อลูกๆ ทะเลาะกัน ก็พาลพาให้พ่อแม่ทะเลาะกันไปด้วย เพราะต่างฝ่ายต่างก็เข้าข้างลูกของตน

    เมื่อแน่ใจว่ากษัตริย์ลิจฉวีผู้เกรียงไกรแตกสามัคคีกัน แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ก็ส่งข่าวไปยังกษัตริย์แห่งมคธรัฐ ไม่ใช่ให้มารอ "เสียบ" แต่ให้ยกมาขยี้ให้แหลกลาญเลยทีเดียว ในที่สุดแคว้นวัชชีก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของแคว้นมคธ ภายใต้การปกครองของ อชาตศัตรูมหาราช

    เรื่องนี้ ชิต บุรทัต กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ ได้รจนาเป็นคำฉันท์ไพเราะเพราะพริ้งมาก ใช้เป็นหนังสือเรียนของเด็กไทยสมัยก่อนชื่อว่า สามัคคีเภทคำฉันท์ เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้วกระมัง ถ้าอยากรู้ว่าคนรุ่นปู่รุ่นพ่อเขาได้ศึกษาวรรณคดีที่มีอรรถรสลึกซึ้งกินใจ จนท่องบทอาขยานขึ้นใจกันอย่างไร ก็ขอให้ไปหามาอ่านดู

    ข้อมูลเกี่ยวกับวัสสการพราหมณ์น่าสนใจ แกถือตัวว่าเป็นมหาอำมาตย์ของราชสำนัก มีความรู้ดี จึงไม่ค่อยเคารพพระสงฆ์ (ข้อนี้ยืนยันว่าวัสสการพราหมณ์มิใช่ชาวพุทธ) ว่ากันว่า พระธนิยะถูกหาว่าลักไม้หลวงจนเป็นต้นเหตุปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ ก็เพราะวัสสการพราหมณ์เป็นคนเอาเรื่อง ครั้งหนึ่งเขาเห็นพระมหากัจจายนะเดินลงจากเขาคิชฌกูฏ พูดขึ้นว่า ท่านรูปนี้เป็นเหมือนลิง เมื่อมีผู้ขอให้ไปขอขมาเขาก็ไม่ยอม ภายหลังพระพุทธเจ้าทรงทราบตรัสว่า ถ้าวัสสการพราหมณ์ไม่ขอขมาท่านมหากัจจายนะ ตายไปจะเกิดเป็นลิงในพระเวฬุวัน

    วัสสการพราหมณ์ได้ยินก็กลัวจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ (แต่ไม่ยอมขอขมาพระ แสดงถึงความมีทิฐิมานะเหนียวแน่นจริงๆ) จึงไปปลูกไม้ผลไว้มากมายที่พระเวฬุวัน เผื่อเกิดเป็นลิงจริงตามพุทธพยากรณ์ จะได้มีผลไม้กิน ว่าอย่างนั้นเถอะ

    และแล้วเขาก็ไปเกิดเป็นลิงจริงๆ หลังจากสิ้นชีวิต ข้อมูลนี้มีบันทึกไว้ในอรรถกถาทีฆนิกาย โดยพระอรรถกถาจารย์นามพุทธโฆษาจารย์ครับ

    ๒. ข้อคิดเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัย และการบูชาเทวดา

    มีประเด็นที่จะคุยกันต่อเกี่ยวกับวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ของพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อแกได้คิดจากการที่ฟังพระพุทธเจ้าตรัสบอกพระอานนท์ว่า แคว้นวัชชีนั้นผู้คนมีความสามัคคีกันดีมาก จึงไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เขาจึงเข้าเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรู เตรียมวางแผนทำลายความสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชี ในขณะเดียวกันก็ร่วมมือกับสุนิธพราหมณ์สร้างเมือง "ยุทธศาสตร์" ไว้ที่ปาฏลิคามเพื่อป้องกันชาววัชชี

    ปาฏลิคามเป็นชายแดนระหว่างแคว้นมคธกับแคว้นวัชชี มีแม่น้ำคงคากั้นเป็นเขตแดน ทางมคธจึงได้สร้างเมืองยุทธศาสตร์ขึ้นที่จุดนั้น

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึงสถานที่นั้น พวกเขาได้นิมนต์พระองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ฉันภัตตาหาร ณ ที่อยู่ของตน เมื่อพระองค์เสวยเสร็จ ทรงอนุโมทนาแล้วเสด็จต่อไป มหาอำมาตย์ทั้งสองตามส่งเสด็จยังท่าน้ำ พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ สถานที่จักเป็นที่อยู่อันประเสริฐ เป็นทางค้าขาย เป็นนครอันเลิศ ชื่อว่าปาฏลีบุตร เป็นที่แก้ห่อภัณฑะ นครปาฏลีบุตรจักมีอันตราย ๓ ประการ คือ ไฟไหม้ น้ำท่วม และการยุให้แตกกัน

    พุทธพยากรณ์เป็นจริงในเวลาต่อมา กษัตริย์แห่งมคธรัฐได้ย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่เมืองใหม่นี้ เมืองหลวงใหม่นามว่าปาฏลีบุตร ได้เป็นเมืองท่า เป็นศูนย์กลางการค้าขาย เจริญรุ่งเรืองมาก แต่ก็ดังที่ทรงพยากรณ์ไว้ มีการยุแยงตะแคงรั่วกัน แตกสามัคคีกัน เกิดปฏิวัติรัฐประหารเปลี่ยนผู้ครองนครกันบ่อย

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงศ์กษัตริย์พิมพิสาร ประหนึ่งต้องอาถรรพณ์อชาตศัตรูฆ่าพิมพิสาร พระราชบิดาแห่งตนขึ้นครองราชย์ ท้ายรัชกาลอุภัยภัททะโอรสอชาตศัตรูก็ฆ่าอชาตศัตรูผู้เป็นพระราชบิดา ขึ้นครองบัลลังก์เช่นเดียวกัน แล้วในที่สุดก็ถูกโอรสของตนแย่งราชบัลลังก์โดยวิธีเดียวกัน จนประชาชนเห็นราชวงศ์นี้เป็นราชวงศ์ปิตุฆาต จึงร่วมใจกันปฏิวัติ โดยการนำของอำมาตย์คนหนึ่งเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ ว่ากันอย่างนั้น

    มีข้อที่น่าคิดอยู่นิดหนึ่ง ทันทีที่ทอดพระเนตรเห็นชัยภูมิพื้นที่นี้ พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า สถานที่นี้เทวดาชั้นสูง "หวงแหน" แล้วตรัสว่า เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่หวงแหนที่ใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ย่อมน้อมไปเพื่อสร้างนิเวศในส่วนนั้น เทวดาชั้นกลางหวงแหนที่ใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ชั้นกลางย่อมน้อมไปเพื่อสร้างนิเวศในส่วนนั้น

    นี่กระมังครับที่โบราณท่านว่า "เจ้าที่" สถานที่ทุกแห่งจะมีเทวดา หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ยึดครองหรือหวงแหนอยู่ ถ้าผู้ไปครอบครองหรือสร้างบ้านเรือนอยู่ไม่มี "บุญ" หรือ "บารมี" พอ หรือไปอยู่โดยไม่บอกเล่าเก้าสิบ หรือไม่ได้รับความยินยอมจาก "เจ้าที่" เหล่านั้น ก็อาจอยู่ด้วยความไม่ผาสุกก็ได้ ตำราดูชัยภูมิพื้นที่ ตำราดู "ฮวงจุ้ย" จึงเกิดขึ้น และยึดถือกันเคร่งครัดในหมู่ประชาชนบางพวก

    พระพุทธศาสนามิได้ปฏิเสธความมีอยู่แห่งเทวดาเหล่านี้ รวมถึงยอมรับว่ามีเทวดาระดับอื่นๆ ด้วย ในคัมภีร์ทางศาสนาก็พูดถึง "ภุมมเทวดา" และ "รุกขเทวดา" บ่อยครั้ง อย่างเช่นคราวภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ทูลลาพระพุทธเจ้าไปจำพรรษาในป่าแห่งหนึ่ง เหล่ารุกขเทวดาพากันลงจาก "วิมาน" (คือต้นไม้นั่นเอง) ของตนๆ มาอยู่บนพื้นดินเพื่อแสดงความเคารพพระสงฆ์ทั้งหมดก็คงจะจากไป แต่เมื่อเห็นพวกท่านไม่ไป จึงพากันหลอกหลอนให้เกิดความกลัว

    ภิกษุเหล่านั้นกลับไปหาพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสให้สวดแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทรงสอนให้ท่อง "กรณียเมตตสูตร" แล้วส่งกลับไปใหม่ เมื่อพวกเธอกลับไปใหม่ และสวดกรณียเมตตสูตรทุกเช้าเย็น จิตใจของเหล่ารุกขเทวดาทั้งหลายก็อ่อนโยน มีความรักใคร่ปรารถนาดีต่อพระสงฆ์ทั้งหลาย และพากันอารักขาให้พวกท่านจำพรรษาอยู่อย่างปลอดภัยตลอด ๓ เดือน

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd053PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB4TXc9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2009
  13. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    อีกเรื่องหนึ่งน่าคิดมาก คนที่ทรงศีลมีคุณธรรมนั้น เทวดาก็กลัวเกรง อนาถปิณฑิกเศรษฐีเป็นเศรษฐีที่ใจบุญ สร้างวัดพระเชตวันถวายพระพุทธเจ้า ถวายความอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาด้วยจิตศรัทธาอันเต็มเปี่ยม ตั้งโรงทานสี่มุมเมือง ใส่บาตรพระวันละหลายร้อยเป็นประจำ แม้บางครั้งการค้าขายจะขาดทุน ทรัพย์สินเงินทองร่อยหรอ ก็มิได้ลดจำนวนการทำบุญลง จนเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูคฤหาสน์ทนไม่ได้มาปรากฏตัว แล้วห้ามปรามว่า ไม่ให้ทำบุญมากขนาดนั้น ให้ลดๆ ลงบ้าง

    เมื่อเศรษฐีรู้ว่าผู้ที่มาห้ามคือเทวดาที่อาศัยอยู่ที่ซุ้มประตู จึงออกปากขับไล่ ไม่ต้องการให้เทวดาจิตใจคับแคบอย่างนี้มาอยู่ด้วย เทวดาถูกขับไล่ ไม่มีที่อยู่ ต้องไปขอพระพุทธคุณเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้ารับสั่งให้ไปขอขมาเศรษฐีเสีย เทวดาเธอจึงกลับไปขอขมา เศรษฐีได้ยกโทษให้ และอนุญาตให้อยู่ที่ซุ้มประตูตามเดิม

    เรื่องอย่างนี้บันทึกอยู่ในคัมภีร์พระศาสนา ปุถุชนบางท่านก็บอกว่าไม่ทราบว่าจะเชื่อหรือไม่เพราะมองไม่เห็น การอ้างว่าไม่อยากเชื่อเพราะตัวเองไม่เห็น ไม่มีน้ำหนักอะไร เหมือนคนตาบอดสองข้าง ปฏิเสธว่าไม่มีพระจันทร์และพระอาทิตย์ เพราะเขามองไม่เห็น คนตาดีที่เขามองเห็นมีอยู่มากมาย

    คนที่เขามี "อภิญญา" สามารถสื่อกับเทวดาได้ก็มีอยู่ แม้ปุถุชนธรรมดาๆ บางทีถ้าเทวดาเขาอยากจะติดต่อสื่อสารด้วยก็สามารถติดต่อได้ เช่น ผ่านความฝัน ผ่านความสังหรณ์ใจ หรือมองเห็นด้วยตาเนื้อ "จะว่าหลับอยู่ก็ไม่ใช่ ตื่นอยู่นี่แหละ มองเห็นหรือได้ยินเขาพูดกับเรา" (คำพูดอย่างนี้คงเคยได้ยินบางคนเขาเล่าให้ฟังมาบ้าง)

    พระพุทธเจ้าตรัสให้ถึงเทวดาเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏเช่นเดียวกับเรา บางสถานะเทวดาต่ำต้อยกว่ามนุษย์เสียอีก คือ ไม่มีโอกาสจะประพฤติพรหมจรรย์เพื่อพ้นทุกข์ดุจมนุษย์ เทวดาอยากเป็นพระอรหันต์ก็ต้องเกิดเป็นมนุษย์ก่อน ท่านจึงสอนให้ทำ "เทวตาพลี" (สงเคราะห์เทวดา)

    พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาสั่งสอนชาวโลกเพื่อพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง คือ เพื่อบรรลุนิพพาน ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล อันเป็นเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิตก็จริงอยู่ ใช่ว่าพระองค์จะละเลยประโยชน์และเป้าหมายธรรมดาๆ ที่โลกียชนพึงได้พึงถึง บางครั้งพระองค์ตรัสสอนหลักการและวิธีการสร้างความมั่นคงทางทรัพย์สิน พูดง่ายๆ ว่าทรงสอนวิธีหาเงินทอง ทรงสอนวิธีใช้เงินทองที่หามาได้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมไว้อย่างเป็นระบบ อยากจะสรุปย่อมาให้ดูเป็นตัวอย่างสักข้อหนึ่งอันเรียกว่า "โภคอาทิยะ" ประโยชน์ที่ควรได้จากโภคทรัพย์ ๕ ประการ คือ เมื่อแสวงหาทรัพย์มาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง และโดยวิธีสุจริตแล้ว พึงปฏิบัติดังนี้

    ๑) เลี้ยงตัว มารดา บิดา บุตร ภรรยา และคนในปกครองทั้งหลายให้มีความสุข

    ๒) บำรุงมิตรสหายและผู้ร่วมกิจการงานให้เป็นสุข

    ๓) ป้องกันภยันตราย พูดอย่างสมัยนี้ก็ว่าประกันภัยไว้บ้างหลายๆ กรมธรรม์หน่อย ว่าอย่างนั้นเถอะ

    ๔) ทำพลี (สงเคราะห์) ๕ อย่าง คือ

    - ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ ทั้งญาติฝ่ายตน และญาติฝ่ายสามี ภรรยา

    - อติถิพลี ต้อนรับแขก กันไว้บางส่วนเป็นงบต้อนรับแขก

    - ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับตามคติทางพุทธศาสนา

    - ราชพลี บำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น ทำได้มากก็เสียมาก อย่าได้หลบเลี่ยงภาษี

    - เทวตาพลี สงเคราะห์เทวดาตามความเชื่อถือ (ในกรณีเช่นนี้จะลงทุนสร้างศาลพระภูมิ หรือสถานที่ให้เทวดาอยู่ แล้วสักการบูชาตามความเหมาะสมก็ได้ หรือไม่สร้างศาลไม่ให้ที่อยู่ เวลาทำบุญกุศลใดมาก็ตั้งใจอุทิศให้เทวดา หรือแผ่เมตตาไปให้ อย่างนี้ก็จัดเข้าในเทวตาพลีเหมือนกัน)

    ๕) อุปถัมภ์บำรุงสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม ไม่ว่าพระสงฆ์ หรือ อุบาสก อุบาสิกาก็ตาม ใครที่ประพฤติธรรม เป็นผู้นำทางสติปัญญาแก่สังคม ก็ควรได้รับการอุปถัมภ์บำรุงตามสมควร

    เห็นได้ชัดว่า พระพุทธศาสนามิได้ตั้งหน้าตั้งตาจูงคนเข้าถึงนิพพานท่าเดียว ใครที่บารมียังไม่ถึง อยากจะ "เวียนว่าย" อยู่ในโลกียวิสัย ก็ผ่อนปรนให้อยู่ต่อไป และให้อยู่อย่างมีคุณค่านั่นคือพึ่งตนได้ทางเศรษฐกิจ แล้วก็ให้สังคมได้พึ่งได้ด้วย

    ขอวกกลับมายังวัสสการพราหมณ์และสุนิธพราหมณ์ ทั้งสองคิดว่าวันนี้ถ้าพระพุทธเจ้าเสด็จออกประตูเมืองประตูใด จะตั้งนามประตูตามพระนามของพระองค์ เสด็จข้ามแม่น้ำคงคา ณ ท่าใด จะตั้งชื่อตามพระนามของพระองค์เช่นกัน

    ที่เมืองปาฏลีบุตร จึงเกิดมี "ประตูโคตมะ" และ "ท่าน้ำโคตมะ" มาแต่บัดนั้น พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นผู้คนกำลังลงเรือแพข้ามน้ำอย่างขวักไขว่ จึงตรัสปริศนาธรรมให้นำไปคิดว่า

    อยากจะข้ามห้วงน้ำก็ต้องสร้างสะพานหรือพึ่งเรือแพ

    ขณะที่ชนบางหมู่เหล่ากำลังสร้างสะพานหรือผูกทุ่นอยู่ คนมีปัญญาเขาข้ามได้ตั้งนานแล้ว

    ๓. ธรรมะที่ทรงแสดงมากที่สุด

    คราวก่อนๆ ลืมบอกท่านผู้อ่านไปว่า อยากตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนแก่พระอานนท์บ้าง แก่พระภิกษุสงฆ์ที่มาเข้าเฝ้าตามรายทางบ้าง ว่าทรงเน้นธรรมะข้อใดมากที่สุด ในช่วงที่เสด็จพุทธดำเนินจากกรุงราชคฤห์ มุ่งตรงไปยังเมืองกุสินารา สถานที่ดับขันธปรินิพพาน

    ขณะประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์นั้น พระบาลีบันทึกไว้ว่าธรรมีกถา (อ่านว่า "ทำมีกะถา" แปลว่า ถ้อยแถลงเกี่ยวกับธรรมะ) เรื่องไตรสิกขา พระองค์ได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายบ่อยที่สุด ทรงสรุปสารประโยชน์ของไตรสิกขาไว้ว่า

    "อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ"

    ไตรสิกขา เป็นระบบฝึกฝนอบรมกาย วาจา ใจ หรือฝึกฝนอบรมใน ๓ ด้านใหญ่ๆ คือทางปัญญา ทางศีล และทางจิต ไตรสิกขา คือ สรุปเนื้อหาของอริยมรรคมีองค์ ๘ ไตรสิกขากับอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นอย่างเดียวกันนั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ถ้าใครพูดว่าแนวทางปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ คือ ไตรสิกขา เรียกว่าเขาพูดถูก หรือใครจะพูดว่าแนวทางปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เรียกว่าพูดถูกอีกเหมือนกัน

    เหมือนพูดว่า ท่านนายกฯ ชวนเป็นผู้นำที่ดีที่สุดในยุคโลกาภิวัตน์นี้ กับพูดว่า "ลูกแม่ถ้วน" เป็นนายกฯ ที่ดีที่สุดในโลกยุคโลกาภิวัตน์ นี้ก็ใช้ได้เหมือนกันครับ ยิ่งถ้าคนพูดเป็นลูกน้องใกล้ชิดยิ่งจะดีใหญ่!

    เพื่อความกระจ่าง ผมขอ "ขึ้นธรรมาสน์" เทศน์เรื่องนี้สักเล็กน้อย (อ้าว ไหนว่าจะเทศน์ใต้ธรรมาสน์ไง)

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB4TkE9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2009
  14. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ธรรมะเป็นอุปกรณ์หรือวิธีการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงที่สิ้นสุดทุกข์ เรียกโดยทั่วไปว่า มัชฌิมาปฏิปทา หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ คือ

    ๑. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบหรือความเข้าใจถูกต้อง

    ๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ

    ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ

    ๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ

    ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ

    ๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ

    ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ

    ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ

    ทั้ง ๘ ประการนั้น "มรรค" หรือแนวทางหรือหลักการที่จะต้องปฏิบัติควบคู่กันไปเป็นกระบวนการ มิใช่ยกขึ้นมาทำทีละอย่างๆ ให้เสร็จในตัวแบบบันได ๘ ขั้น อะไรทำนองนั้น หากแต่ต้องประสานกลมกลืนกัน เกี่ยวข้องสัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกัน ดุจเกลียวเชือก เกลียวฟั่นเข้าเป็นเชือกเส้นเดียวตั้งแต่ต้นจนปลายเชือก ฉะนั้น ในการปฏิบัติจริงจะเริ่มจากจุดไหนก็ได้ เช่น

    ๑. เริ่มที่ความรู้ความเข้าใจและความคิด (สัมมาทิฐิ, สัมมาสังกัปปะ = อธิปัญญาสิกขา)

    จะต้องมีความเข้าใจ หรือความเชื่อที่ถูกต้องตรงแนวทางเสียก่อน เมื่อมีพื้นฐานความเชื่อความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ค่อยขยายไปที่การควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา (สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ อธิศีลสิกขา) ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมและเอื้อต่อการพัฒนาที่สูงขึ้น จากนั้นจึงฝึกฝนอบรมจิตใจ (สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ อธิจิตตสิกขา) ซึ่งเป็นชั้นภายในละเอียดกว่าให้ได้ผลดีต่อไป

    ในระหว่างที่อบรมตามขั้นตอนต่างๆ นี้ องค์ประกอบแต่ละอย่างๆ จะค่อยพัฒนาตัวมันเอง และเสริมหรือเกื้อหนุนขั้นตอนนั้นๆ ให้เพิ่มพูนและชัดเจนยิ่งขึ้น

    เช่นองค์ประกอบทางปัญญา ในขณะที่ผู้ปฏิบัติฝึกฝนอบรมขั้นศีลหรือขั้นจิต ตัวปัญญาความรู้ความเข้าใจซึ่งเป็นพื้นฐานเดิมนั้นจะค่อยๆ พัฒนาแก่กล้าขึ้น, ชัดเจนขึ้น เกื้อหนุนให้องค์ประกอบทางด้านศีลและด้านจิตถูกต้องสมบูรณ์ขึ้น อาศัยศีลและจิตที่สมบูรณ์นั้นเอง ปัญญานั้นก็จะพัฒนาถึงขั้นรู้แจ้งเห็นจริง ทำจิตให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการฝึกฝนอบรม

    ๒. เริ่มที่การควบคุมพฤติกรรม (สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ = อธิศีลสิกขา)

    วิธีเน้นไปที่การฝึกฝนอบรมความประพฤติทางกายวาจาอย่างจริงจัง อาศัยความรู้ ความเข้าใจพอเป็นพื้นฐานเท่านั้น เมื่อศีลถูกต้องสมบูรณ์แล้วก็ก้าวเข้าไปสู่การฝึกฝนอบรมจิตใจอันเป็นขั้นประณีตยิ่งขึ้นจนถึงระดับสุดท้าย คือ ทำปัญญาให้แก่กล้าจนสามารถพ้นจากตัณหาอุปาทาน

    ระบบนี้นิยมทำกันทั่วไป จนเรียกติดปากชาวพุทธทั้งหลายว่า "ศีล-สมาธิ-ปัญญา" อาจเป็นเพราะว่าการควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา เห็นได้ง่าย และทำได้ง่ายกว่าการที่จะเริ่มต้นพัฒนาจิตหรือปัญญาก็ได้ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลาย

    ๓. เริ่มที่ฝึกฝนจิตหรือสมาธิ (สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ = อธิจิตตสิกขา)

    อาศัยความรู้ความเข้าใจพอเป็นพื้นฐานเท่านั้นแล้วเริ่มฝึกอบรมจิตอย่างเข้มงวด ในระหว่างนั้นองค์ประกอบแต่ละอย่างๆ จะค่อยเกิดขึ้นและเสริมเติมเต็มให้แก่กัน จิตเป็นสมาธิ แน่วแน่ใสสะอาดแล้ว พฤติกรรมหรือศีลก็จะเกิดขึ้นมาเอง เมื่อศีลสมาธิพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ปัญญาความรู้ความเข้าใจซึ่งเป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้วจะค่อยๆ พัฒนาแก่กล้าชัดเจนขึ้น เกื้อหนุนให้องค์ประกอบทางด้านศีลและสมาธิถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อาศัยศีลและจิตที่สมบูรณ์นั้นเอง ปัญญาก็จะสามารถรู้แจ้งเห็นจริงทำอาสวะให้หมดไปได้ในที่สุด

    ที่พูดมาทั้งหมดนี้เป็นหลักวิชา หลักวิชาจะแจ่มชัดขึ้นเมื่อลองปฏิบัติดู การเกิดประสบการณ์แต่ละขั้นตอนนั้น จะเป็นตัวทดสอบหลักวิชา และเกิดความเข้าใจยิ่งขึ้นด้วยตนเอง

    สรุปสั้นๆ ดังนี้

    ๑. สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สรุปลงในอธิปัญญาสิกขา

    ๒. สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สรุปลงในอธิศีลสิกขา

    ๓. สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สรุปลงในอธิจิตตสิกขา

    ความสัมพันธ์ของอริยมรรคมีองค์ ๘ กับไตรสิกขา มองเห็นได้ง่ายในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อมีความบริสุทธิ์ทางด้านความประพฤติ เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตน ไม่หวาดต่อการลงโทษ ไม่สะดุ้งระแวงต่อการประทุษร้ายของคู่เวร ไม่หวั่นใจเสียวใจต่อเสียงตำหนิหรือความรู้สึกไม่ยอมรับของสังคม และไม่มีความฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ เพราะความรู้สึกเดือดร้อนรังเกียจในความผิดของตน จิตใจจึงจะปลอดโปร่ง สงบแน่วแน่ มุ่งมั่นต่อสิ่งที่คิด คำที่พูด และการที่ทำได้ ยิ่งจิตไม่ฟุ้งซ่านสงบมุ่งมั่นแน่วแน่เท่าใด การคิดการพิจารณาการรับรู้สิ่งต่างๆ ก็ยิ่งชัดเจนและคล่องตัว เป็นผลดีในทางปัญญามากขึ้นเท่านั้น

    ความประพฤติที่บริสุทธิ์และเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตน เป็นเรื่องของศีล (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ)

    การที่จิตปลอดโปร่ง สงบแน่วแน่มุ่งมั่นต่อสิ่งที่คิด คำที่พูด การที่ทำ เป็นเรื่องของจิตหรือสมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)

    การรับรู้สิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น เข้าใจอะไรง่ายขึ้น อันเป็นผลจากจิตสงบนั้น เป็นเรื่องของปัญญา (สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ)

    ๔. พระสารีบุตรยืนยันความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า

    พระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จถึงนาฬนทคาม (บางแห่งเขียนนาลันทคาม) ประทับอยู่ที่ป่าวาทิกอัมพวันจึงเข้าเฝ้าถวายบังคม แล้วก็ประกาศความเลื่อมใสของตนว่า

    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่นซึ่งจะรู้เกินกว่าพระผู้มีพระภาค ในทางสัมโพธิญาณมิได้มี แล้วจักไม่มีและไม่มีอยู่ในปัจจุบัน"

    พระพุทธเจ้าตรัสถามพระสารีบุตรว่า ท่านพระสารีบุตรกำหนดด้วยใจรู้หรือว่าพระพุทธเจ้าในอดีต ในปัจจุบัน และในอนาคต มีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ มีวิหารธรรม (ธรรมเป็นเครื่องอยู่) อย่างนี้ มีวิมุตติ (การหลุดพ้น) อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้

    พระสารีบุตรกราบทูลว่า มิใช่อย่างนั้น (คือ ตัวท่านเองมิได้กำหนดรู้ใจของพระพุทธเจ้าทั้งหลายด้วยใจของตนเอง) พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นเธอรู้ได้อย่างไรว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่นซึ่งจะรู้เกินไปกว่าพระผู้มีพระภาคในเรื่องสัมโพธิญาณไม่มี ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ในเมื่อเธอก็มิได้มีญาณกำหนดรู้ใจของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    พระสารีบุตรกราบทูลยืนยันความเลื่อมใสของตน ว่าไม่มีใครจะรู้เกินกว่าพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน โดยพิจารณาจาก "แนวแห่งธรรม" (ธมฺมนฺวโย วิทิโต) ข้อความกราบทูลละเอียดมีดังนี้ครับ

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB4Tnc9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2009
  15. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่มีญาณเพื่อกำหนดรู้ซึ่งใจในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน แต่ว่าข้าพระองค์รู้แนวธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญปัจจันตนครของพระราชามีประตูมั่นคง มีกำแพงและเสาระเนียดมั่นคง มีประตูช่องเดียว คนเฝ้าประตูพระนครนั้น เป็นคนฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญา ห้ามคน ที่ไม่รู้จัก ปล่อยคนที่รู้จักให้เข้าไปได้ เขาเดินตรวจดูหนทางตามลำดับโดยรอบพระนครนั้น ไม่เห็นที่หัวประจบแห่งกำแพงหรือช่องกำแพงโดยที่สุดแม้เพียงแมวลอดออกได้ เขาพึงมีความรู้สึกว่าสัตว์ที่ตัวโตทุกชนิดจะเข้าออกนครนี้ ย่อมเข้าออกโดยประตูนี้ แม้ฉันใด แนวแห่งธรรมฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์รู้ว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้มีแล้วในอดีตกาลทุกพระองค์ ทรงละนิวรณ์ทั้ง ๕ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต กระทำปัญญาให้ทุรพล มีพระทัยตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จักมีในอนาคตกาลทุกพระองค์ จักทรงละนิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต กระทำปัญญาให้ทุรพล มีพระทัยตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง จักตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ก็ทรงละนิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต กระทำปัญญาให้ทุรพล มีพระทัยตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณฯ"

    สรุปใจความก็คือ พระสารีบุตรท่านมิได้รู้ใจของพระ พุทธเจ้าทั้งหลาย แต่ที่ยืนยันว่าไม่มีใครรู้เกินกว่าพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันในเรื่องสัมโพธิญาณ อาศัยการพิจารณาเปรียบเทียบเอา

    เหมือนเมืองที่มีประตูเข้าออกเพียงประตูเดียว ไม่มีช่องอื่นเลย นายประตูก็อนุมานเอาได้ว่าสัตว์ทุกชนิดย่อมเข้าออกทางช่องประตูนี้เท่านั้น เพราะไม่มีช่องอื่นเลย เช่นเดียวกัน การจะตรัสรู้ก็ต้องละนิวรณ์ ๕ บำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ ทางเดียวเท่านั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ผ่านแนวทางเหล่านี้ พระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ ไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน (ถ้ามีอีกองค์หนึ่งนอกเหนือจากพระโคตมพุทธะ แต่จริงๆ ไม่มีดอก สมมติเท่านั้นเอง เพราะพระพุทธเจ้ามีพร้อมกันสององค์ในยุคเดียวไม่ได้) หรือในอนาคต ก็ย่อมตรัสรู้ผ่านทางแนวทางนี้เช่นเดียวกัน

    วิธีคิดของพระสารีบุตร เรียกว่าวิธีหาเหตุผลโดยการอนุมาน คือ ยกประสบการณ์ที่ตนเองประจักษ์อยู่ว่า การละนิวรณ์ได้ บำเพ็ญสติปัฏฐานและโพชฌงค์ให้บริบูรณ์ ทำให้บรรลุธรรมได้ เพราะตัวท่านเองก็ได้บรรลุธรรมผ่านทางนี้ แล้วก็คิดต่อไปว่าพระโคตมพุทธองค์ปัจจุบันนี้ก็ตรัสรู้ผ่านทางนี้ เมื่อพระพุทธองค์ปัจจุบันตรัสรู้ผ่านทางนี้ พระพุทธเจ้าในอดีต อนาคต หรือแม้ (องค์อื่นถ้ามี) ในปัจจุบันนี้ ก็ย่อมตรัสรู้ผ่านทางนี้เหมือนกัน จึงไม่มีผู้อื่นใดที่บรรลุสัมโพธิญาณผ่านทางอื่น

    ฉะนั้น จึงไม่มีผู้ใดรู้เกินกว่าที่พระโคตมพุทธะทรงรู้ มีก็มีเท่าๆ กัน ไม่ยิ่งไม่หย่อนกว่ากัน

    การหาข้อสรุปโดยวิธีอนุมานนั้นชัดเจนแจ่มแจ้งที่สุดก็คือ การตอบคำถามว่าพระพุทธเจ้ามีตัวจริงหรือไม่ พระยามิลินท์ถามพระนาคเสน พระนาคเสนยืนยันว่ามี

    พระยามิลินท์ย้อนถามว่า ท่านนาคเสนเกิดทันหรือ เคยเห็นพระองค์จริงของพระพุทธเจ้าหรือ พระนาคเสนตอบว่า เกิดไม่ทัน และไม่เคยเห็น แต่รู้ได้ด้วยการอนุมาน

    "อนุมานอย่างไร" พระยามิลินท์ถาม

    แทนที่ท่านนาคเสนจะรีบตอบ ก็ย้อนถามพระยามิลินท์ว่า

    "ขอถวายพระพร กษัตริย์ปฐมวงศ์ของพระองค์มีไหม"

    "มีสิ พระคุณเจ้า"

    "พระองค์เกิดทันหรือ เคยเห็นหรือ"

    "เกิดไม่ทัน ไม่เคยเห็น พระคุณเจ้า"

    "อ้าว แล้วรู้อย่างไรว่ามีกษัตริย์ผู้เป็นต้นวงศ์"

    "ก็รู้ได้โดยการอนุมานเอาสิ พระคุณเจ้า"

    คราวนี้แทนที่พระนาคเสนจะเป็นคนอธิบายกลับกลายเป็นพระยา มิลินท์อธิบายว่าอนุมานอย่างไร พระยามิลินท์กล่าวว่า เมื่อมีพระองค์ท่านก็มีเสด็จพ่อ เมื่อมีเสด็จพ่อก็มีเสด็จปู่ ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ถึงกษัตริย์ผู้เป็นต้นวงศ์เอง โดยอาศัยการอนุมานอย่างนี้ จึงแน่ใจว่ากษัตริย์ผู้ทรงเป็นต้นวงศ์มีจริง

    พระนาคเสนก็สรุปโดยนัยเดียวกันว่า เมื่อมีท่านนาคเสนก็มีอุปัชฌาย์ มีอุปัชฌาย์ของอุปัชฌาย์ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ถึงพระพุทธเจ้าผู้ทรงประทานเพศบรรพชานี้ อาศัยการอนุมานอย่างนี้ จึงแน่ใจว่าพระพุทธเจ้าทรงมีตัวตนจริง

    ๕. ตรัสเรื่องโทษของศีลวิบัติ และอานิสงส์ของศีลสมบัติ

    ในมหาปรินิพพานสูตรนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่าคนทุศีลจะได้รับโทษอย่างไร คนมีศีลจะได้อานิสงส์ (ผลดี) อย่างไร ขอนำพุทธวจนะมาลงไว้ให้พิจารณา คราวหน้าค่อยวิจารณ์เพิ่มเติมก็แล้วกันดังนี้ครับ

    ว่าด้วยโทษของศีลวิบัติ ๕

    ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาครับสั่งกับพวกอุบาสกชาวปาฏลิคามว่า ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลายโทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ๕ ประการเหล่านี้ ๕ ประการเป็นไฉนฯ

    ๑. ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย คนทุศีล มีศีลวิบัติแล้วในโลกนี้ย่อมเข้าถึงความเสื่อมแห่งโภคะอย่างใหญ่ อันมีความประมาทเป็นเหตุ อันนี้เป็นโทษข้อที่หนึ่งแห่งศีลวิบัติของคนทุศีลฯ

    ๒. อีกข้อหนึ่ง เกียรติศัพท์อันชั่วของคนทุศีล มีศีลวิบัติแล้วย่อมกระฉ่อนไป อันนี้เป็นโทษข้อที่สองแห่งศีลวิบัติของคนทุศีลฯ

    ๓. อีกข้อหนึ่ง คนทุศีล มีศีลวิบัติแล้ว จะเข้าไปสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตติยบริษัทพราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท ย่อมครั่นคร้ามเก้อเขิน อันนี้เป็นโทษข้อที่สามแห่งศีลวิบัติของคนทุศีลฯ

    ๔. อีกข้อหนึ่ง คนทุศีล มีศีลวิบัติแล้ว ย่อมหลงกระทำกาละ อันนี้เป็นโทษข้อที่สี่แห่งศีลวิบัติของคนทุศีลฯ

    ๕. อีกข้อหนึ่ง คนทุศีล มีศีลวิบัติแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อันนี้เป็นโทษข้อที่ห้าแห่งศีลวิบัติของคนทุศีลฯ

    ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ๕ ประการเหล่านี้แลฯ

    ว่าด้วยอานิสงส์แห่งศีลสัมปทา ๕

    ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ๕ ประการเป็นไฉนฯ

    ๑. ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมได้รับกองโภคะใหญ่ อันมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่หนึ่งแห่งศีลสมบัติของคนมีศีลฯ

    ๒. อีกข้อหนึ่ง เกียรติศัพท์อันงามของคนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมขจรไป อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่สองแห่งศีลสมบัติของคนมีศีลฯ

    ๓. อีกข้อหนึ่ง คนมีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยศีล จะเข้าไปสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท ย่อมองอาจ ไม่เก้อเขิน อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่สามแห่งศีลสมบัติของคนมีศีลฯ

    ๔. อีกข้อหนึ่ง คนมีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมไม่หลงทำกาละ อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่สี่แห่งศีลสมบัติของคนมีศีลฯ

    ๕. อีกข้อหนึ่ง คนมีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยศีล เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ห้าแห่งศีลสมบัติของคนมีศีลฯ

    ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ๕ ประการเหล่านี้แลฯ

    ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก /ราชบัณฑิต

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31


    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB4T0E9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 19 สิงหาคม 2009
  16. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ศีลทำให้รวยจริงหรือไม่

    มีข้อที่น่าสังเกต คือ คนมีศีลย่อมถึงพร้อมด้วยโภคะ คนทุศีลย่อมเสื่อมจากโภคะ พูดง่ายๆ คือ คนมีศีลร่ำรวย คนทุศีลยากจน หลายท่านอาจเถียงในใจว่า ไม่จริงดอก คนทุศีลคอร์รัปชั่นฉิบหายวายวอดต่างหากรวยกว่าและรวยเร็วทันตาเห็น

    ถ้ามองเห็นเพียงผิวเผิน มองมุมเดียวอาจเห็นเช่นนั้น แต่ถ้าดูให้ลึกแล้วจะเห็นว่าคนที่ทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีศีล ไม่เบียดเบียน ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียรนั้น ย่อมมีแต่วันเจริญขึ้นตามลำดับ มีเงินมีทองตั้งเนื้อตั้งตัวได้อย่างมั่นคง

    ถึงจะรวยช้า แต่ก็มั่นคง ค่อยเป็นค่อยไป

    และที่สำคัญอย่างยิ่ง เขาจะมีแต่ความภาคภูมิใจ มีความสุขใจทุกครั้งที่รำลึกถึงความเป็นมาของทรัพย์สินว่า ทุกบาททุกสตางค์ได้มาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายอันบริสุทธิ์ยุติธรรมจริงๆ เป็น "ทรัพย์เย็น" คือ อำนวยต่อความเย็นใจสบายใจให้แก่เจ้าของ ไม่ต้องเดือดร้อนกังวลใจว่าจะมีใครเขามากล่าวหาฟ้องร้อง เพราะมิได้แย่งชิงใครเขามา

    คนเช่นนี้เรียกว่าได้เสวยผลแห่งโภคทรัพย์อย่างแท้จริง

    ตรงกันข้ามกับคนร่ำรวยด้วยความคดโกง เบียดเบียนแย่งชิงคนอื่นเขามา หรือทุจริตฉ้อโกงราษฎร์โกงหลวงมา เขาอาจได้ชื่อว่าร่ำรวยจริง แต่ทรัพย์สินเงินทองนั้นเป็น "ของร้อน" ไม่จีรังยั่งยืนเพราะความไม่มีศีลเป็นพื้นฐานของจิตใจ คนคนนั้นก็จะใช้จ่ายทรัพย์นั้นในทางผิด เช่น เล่นการพนันหรือมั่วสุมในอบายมุขต่างๆ ในที่สุดทรัพย์สมบัติที่มีนั้นก็ร่อยหรอและหมดไป นี่แหละที่โบราณว่าเป็น "ของร้อน"

    ภายในใจของคนคนนั้นก็ยิ่งร้อนยิ่งขึ้น หวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา จะกิน จะนอน ก็ไม่เป็นสุข กลัวใครเขาจะมาทำร้ายแย่งชิง กลัวตำรวจจะมาจับ เพราะทุกบาททุกสตางค์ที่มีล้วนแต่โกงเขามาทั้งนั้น ดังคำภาษิตบทหนึ่งว่า

    "กลืนข้าวดั่งกลืนอิฐ พิษบาปลุกแลบแสบไส้

    นั่งเบนซ์คันโก้ใหญ่ ดังอยู่กองไฟอเวจี

    ผิดศีลข้อสองสิ้น กินของราษฎร์ของหลวงป่นปี้

    ทรัพย์สมบัติที่มี คือน้ำตาตาสีที่ไหลริน"

    คนทุศีลที่ได้ทรัพย์มาด้วยความทุจริต อาจรวยทันตาเห็น แต่ถ้าคอยเฝ้าดูอย่างพินิจพิเคราะห์ เขาก็เสื่อมจากโภคทรัพย์ที่หามาได้โดยมิชอบนั้นทุกขณะ บางคนก็หมดเนื้อหมดตัวอย่างรวดเร็ว

    ที่สำคัญคือ เขาคนนั้นจะไม่มีความสุขใจ มีแต่ความร้อนรุ่มกระวนกระวายใจ จะกิน จะนอนก็ไม่เป็นสุข บางคนไปไหนทีมีมือปืนคอยคุ้มกันเต็มอัตราศึก อยู่ที่ไหนก็จัดอารักขาเต็มที่ แต่ก็หาความสงบใจมิได้

    คนทุศีลจึงไม่มีโอกาสได้เสวยผลแห่งโภคทรัพย์อย่างปลอดโปร่งเบาสบายแม้แต่นาทีเดียว พระท่านจึงว่า คนเช่นนี้ (ถึงจะมีเงินมากมาย) ก็คือคนยากจนนั่นเอง และจนสองชั้นเสียด้วย

    - จนคุณธรรมความดีงาม

    - จนเวลาแห่งการเสวยโภคทรัพย์อย่างเย็นสบายไร้กังวล

    เพื่อให้ทราบชัดยิ่งขึ้นว่า คนทุศีล หรือคนมีศีลวิบัตินั้น ได้รับโทษอย่างไรบ้าง ขอยกบาลีพระไตรปิฎกและอรรถกถามาให้อ่านดังนี้ครับ

    ศีลวิบัติมีโทษอย่างไรบ้าง

    กล่าวตามบาลีวิสุทธิมรรค ว่า "คนทุศีลย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ เพราะเป็นคนทุศีล และเพื่อนพรหมจรรย์ด้วยกันตักเตือนไม่ได้ จะเป็นผู้ถึงทุกข์ในเมื่อถูกติเตียน แม้เมื่อผู้มีศีลงดงามเขายกย่องตน ก็รู้สึกเดือดร้อน (เพราะตนหามีศีลไม่)

    และเพราะความเป็นผู้ทุศีลนั้น จะเป็นผู้มีผิวพรรณกระด้างเหมือนแผ่นป่านปอ

    อนึ่ง ผู้ที่เอาเยี่ยงคนทุศีลก็พลอยรับทุกข์ด้วยสิ้นกาลนาน เพราะฉะนั้น เขาจึงชื่อว่าเป็นผู้ป้ายทุกข์ (ให้แก่เพื่อนฝูง)

    รับเทยยธรรมของทายกเหล่าใด ก็ไม่เป็นผลใหญ่แก่ทายกเหล่านั้น เหตุนั้นจึงเป็นคนมีราคาน้อย สะสางยาก เหมือนหลุมคูถที่หมักหมมแรมปี เป็นผู้หมดท่าทั้งสองฝ่าย เหมือนดุ้นไฟ (ที่เผาศพไหม้ดำทั้งสองข้าง ไม่มีที่สำหรับจับโดยไม่ให้เปื้อนมือ)

    แม้เธอปฏิญญาความเป็นภิกษุอยู่ ก็หาเป็นภิกษุได้ไม่ เช่นเดียวกับลาที่เดินตามหลังฝูงโคเป็นผู้สะทกสะท้านเสมอ เช่นเดียวกับคนที่ก่อเวรไว้รอบตัว เป็นผู้ที่ใครๆ ไม่ควรอยู่ร่วมด้วยเหมือนซากศพของผู้ที่ตายแล้ว

    แม้เธอจะประกอบด้วยคุณค่ามีความรู้เป็นต้น ก็ไม่ควรเป็นที่สักการบูชาของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เหมือนไฟเผาศพในป่า ช้า ไม่ควรเป็นที่บำเรอของพราหมณ์ผู้บูชาไฟ

    เธอเป็นผู้ไม่ควรเพื่อบรรลุคุณวิเศษ เหมือนคนตาบอดอาภัพต่อการเห็นรูปฉะนั้น และเป็นผู้หมดหวังในพระสัทธรรม เช่นเดียวกับลูกคนจัณฑาลหมดหวังในราชบัลลังก์

    แม้จะสำคัญว่าตัวมีสุขก็จัดว่าถึงทุกข์ เพราะยังมีส่วนแห่งความทุกข์ ดังภิกษุที่กล่าวถึงในบาลีอัคคิขันโธปมสูตร

    โทษของคนทุศีลในอัคคิขันโธปมสูตร

    ในบาลีอัคคิขันโธปมสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงผู้ทุศีลรับเทยยธรรมของทายกซึ่งไม่เป็นการประเสริฐเลย มีใจความว่า

    - ยอมตายหรือรับทุกข์เจียนตายเพราะนอนกอดกองไฟเสียดีกว่าทุศีล

    - ยอมให้เขาเอาเชือกขนสัตว์พันแข้งชักไปมา ให้มันบาดจนถึงเยื่อในกระดูก ดีกว่าทุศีลแล้วยังยินดีต่อการอภิวาทของมหาชน

    - ยอมให้เขาแทงด้วยหอกที่หว่างอก ยังดีกว่าทุศีลแล้วยังยินดีต่อการไหว้กราบของมหาชน

    - ยอมให้เขาเอาแผ่นเหล็กแดงโชนนาบที่ตัว ยังดีกว่าทุศีลแล้วห่มจีวรที่มหาชนถวายด้วยสัทธา

    - ยอมกลืนก้อนเหล็กแดงโชน ดีกว่าทุศีลแล้วบริโภคก้อนข้าวของชาวเมือง

    - ยอมนั่งนอนบนเตียงตั่งเหล็กที่ร้อนแดงโชน ดีกว่าทุศีลแล้วใช้สอยเตียงตั่งที่มหาชนถวาย

    - ยอมให้เขาจับห้อยหัวลงต้มในหม้อโลหะร้อนโชน ดีกว่าทุศีลแล้วอยู่ในวิหารที่ผู้มีสัทธาสร้างถวาย

    (บาลีอัคคิขันโธปมสูตรนี้ คณะธรรมทานเคยนำลงในหนัง สือพิมพ์พุทธสาสนา เล่ม ๑ ปีที่ ๑ ภาคไตรปิฎกแปลหน้า ๔ ผู้ที่ปรารถนาทราบพิสดารจงดูในที่นั้น)

    โทษของคนทุศีลในวิสุทธิมรรค

    เมื่อท่านผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้พรรณนาโทษของคนทุศีล และอ้างบาลีอัคคิขันโธปมสูตรมาสาธกแล้ว ได้ย่นความในบาลีพระสูตรนี้เข้าเป็นใจความสั้นๆ ๑๐ ข้อ ผูกเป็นคาถาสืบไปว่า

    (๑) คนที่มีศีลแตกทำลาย ยังละกามสุขที่มีผลเผ็ดร้อนทนยากยิ่งกว่าทุกข์อันเกิดจากการนั่งกอดนอนกอดกองไฟไม่ได้ มันจะมีความสุขมาแต่ไหน?

    (๒) คนมีศีลวิบัติ จะต้องมีส่วนแห่งทุกข์อันเกิดจากการถูด้วยเชือกขนทรายอันเหนียว ดังฤๅจะชื่อว่ามีสุขอันเกิดแต่ความยินดีในการอภิวาทของมหาชน

    (๓) คนไร้ศีลหรือจะชื่อว่ามีความสุขอันเกิดแต่การยินดีต่อการประณมมือไหว้ของผู้มีสัทธา เพราะจะเป็นเหตุแห่งทุกข์ ยิ่งกว่าทุกข์เกิดแต่การแทงด้วยหอกที่หว่างอกเสียอีก

    (๔) คนไม่สำรวมหรือจะชื่อว่ามีสุขเกิดแต่การใช้จีวร อันเป็นเหตุให้ถูกนาบด้วยแผ่นเหล็กอันร้อนโพลงในนรก ซึ่งตนจะต้องเสวยสิ้นกาลนาน

    (๕) คนไม่มีศีล แม้ว่าก้อนข้าวจะเป็นของอร่อย ก็เปรียบเหมือนยาพิษอันแรงกล้า เพราะมันเป็นเหตุให้กลืนก้อนเหล็กอันร้อนแดงนั้น

    (๖) คนปราศจากศีล จะนั่งนอนบนเตียงและตั่ง ก็คือ การนั่งนอนบนเตียงและตั่งอันลุกโชน อันเป็นทุกข์เบียดเบียนตน แม้จะสำคัญว่าเป็นสุข แต่มันก็เป็นความทุกข์เหลือเข็ญ

    (๗) คนทุศีล จะยินดีนั่งนอนในวิหารที่เขาถวายด้วยสัทธาอย่างไรได้? เพราะที่แท้เป็นเหมือนตัวเองนั่งนอนอยู่ภายในหม้อเหล็กอันร้อนโชนทั่วแล้ว

    (๘) พระผู้มีพระภาคอันชาวโลกนับถือทั่วแล้ว ได้ตรัสตำหนิคนทุศีลว่ามีมรรยาทสกปรกนึกแล้วกินแหนงตัวเองได้ ภายในรกชัฏ เป็นคนบ้ากามลามกเน่าใน ทุด! ทุด!! ชีวิตของเขาผู้ไม่มีปัญญาหุ้มห่อร่างกายด้วยเครื่องหมายของสมณะ ก็ไม่เป็นสมณะ ดีแต่จะทำตัวเองให้ถูกเขากำจัดให้ถูกเขาขุดอยู่เสมอ

    (๙) ส่วนบุคคลผู้มีศีลในโลกนี้ ย่อมเว้นห่างกับคนทุศีล เช่นเดียวกับคนรักสะอาดเว้นห่างไกลจากคูถและซากศพฉะนั้น ชีวิตของคนทุศีลจะมีประโยชน์อะไร เพราะไม่พ้นจากภัยทั้งหลายแต่พ้นจากการบรรลุสุข ปิดประตูสวรรค์เสียเองแล้ว รังแต่จะจมลงไปสู่อบาย

    (๑๐) ใครอื่นที่ไหนหนอจะเป็นที่น่าสงสารแก่ผู้มีความกรุณาเท่ากับคนทุศีล เพราะความที่เขาเป็นคนทุศีลนั่นแล ฯ

    ทั้งหมดนี้เป็นโทษแห่งศีลวิบัติ..

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB4T1E9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 19 สิงหาคม 2009
  17. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ๖. เรื่องราวของนางอัมพปาลีคณิกา

    นางอัมพปาลีเป็นหญิงนครโสเภณี เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี ว่ากันว่านางเป็นลูกเลี้ยงของคนเฝ้าสวนหลวง เมื่อเติบโตมาเป็นผู้มีรูปโฉมงดงามยิ่ง เจ้าชายลิจฉวีต่างก็หมายปองถึงขนาดยื้อแย่งกันเพื่อจะครอบครองนางเพียงคนเดียว ในที่สุดได้ตกลงกันว่าแต่งตั้งนางให้เป็นนางนครโสเภณีจะดีกว่า เพราะจะได้เป็น "สมบัติกลาง" ที่ใครๆ ก็เชยชมได้แล้ว นางก็ได้รับแต่งตั้งเป็นนางนครโสเภณีมาแต่บัดนั้น

    โปรดเข้าใจว่าตำแหน่งนางนครโสเภณี เป็นตำแหน่งมีเกียรติที่ได้รับแต่งตั้งจากเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีผู้ครองเมืองไพศาลี เข้าใจว่าจะมีเงินเดือนกินด้วย นางนครโสเภณีมีส่วนในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างเมืองมาเที่ยวชมเมืองไพศาลี และนำทรัพย์เข้าประเทศมากมาย พูดอีกนัยหนึ่งตำแหน่งนางนครโสเภณีเป็นตำแหน่งที่ดึงดูดเงินตราเข้าประเทศได้อย่างดี

    เมื่อคราวพระเจ้าพิมพิสารมหาราชแห่งมคธรัฐมายังเมืองไพศาลีก็ได้เป็น "ขาประจำ" ของนางจนกระทั่งนางตั้งครรภ์คลอดบุตร นามว่า วิมลโกณทัญญะ ว่ากันว่า พระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้ให้กำเนิดแก่กุมารน้อยคนนี้

    พระเจ้าพิมพิสารคงรู้สึกประทับใจในวิธีการ "ดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศ" แบบนี้ของกษัตริย์ลิจฉวี เมื่อกลับไปถึงเมืองราชคฤห์ของพระองค์ จึงได้คัดเลือกสาวงามแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนางนครโสเภณี พระเจ้าพิมพิสารได้เสด็จยังสำนักคณิกานี้ จนนางนครโสเภณี นามว่า สาลวดี ได้ตั้งครรภ์ และให้กำเนิดแก่ชีวกโกมารภัจจ์และสิริมา

    นางคณิกาอีกคนหนึ่งชื่อปทุมวดี นางนี้ถูกนำมาจากแคว้นอวันดี มีบุตรนามว่า อภัยกุมาร ซึ่งก็เป็นผลผลิตของพระเจ้าพิมพิสารอีกเช่นกัน จึงไม่แปลกที่มีผู้กล่าวว่าพระเจ้าพิมพิสารสมัยยังหนุ่มแน่นนั้นเป็นกษัตริย์เจ้าสำราญ และอภัยกุมารผู้นี้เองที่ "เก็บเอา" ชีวกโกมารภัจจ์มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เนื่องเพราะพอคลอดออกมา นางสาลวดีผู้เป็นแม่สั่งให้เอาไปทิ้งที่หน้าประตูวังอภัยกุมารไปพบเข้าจึงนำมาเลี้ยงไว้

    ขณะที่นางอัมพปาลีพบพระพุทธเจ้านั้น เป็นช่วงสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระบรมศาสดาแล้ว นางได้สดับข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองไพศาลี นางก็นั่งยานอย่างดี (เทียบสมัยนี้ก็รถยี่ห้อดังแพงๆ นั่นแหละครับ) ไปหาพระพุทธเจ้า ลงจากยานแล้วก็เดินเข้าไปเฝ้าถึงที่ประทับ สดับพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้ฟังแล้วมีจิตเลื่อมใสแน่วแน่ในพระรัตนตรัย กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ไปเสวยภัตตาหาร ณ ที่พักของตน เมื่อทราบว่าพระพุทธองค์ทรงรับแล้ว ก็กลับไปด้วยดวงใจอันปลื้มปีติ สวนทางกับพวกลิจฉวีซึ่งก็กำลังไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อกราบทูลอาราธนาพระองค์ไปเสวยภัตตาหารที่ตำหนักของตนเช่นกัน พอรู้ว่านางอัมพปาลีอาราธนาพระองค์ก่อนแล้ว จึงต่อรองขอให้นางสละสิทธิ์ โดยเสนอให้เงินจำนวนแสนกหาปณะ นางอัมพปาลีปฏิเสธกล่าวว่า ถึงจะให้เมืองไพศาลีรวมทั้งชนบททั้งหลาย นางก็จะไม่ยอมสละสิทธิ์นี้

    เอาเมืองทั้งเมืองมาแลกก็ไม่ยอม ว่าอย่างนั้นเถอะ

    นางอัมพปาลีได้ถวายสวนมะม่วงของตนให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ อัมพปาลีวัน ระยะหนึ่ง แล้วก็เสด็จดำเนินไปยังเวฬุวคาม ทรงเข้าจำพรรษาสุดท้าย ณ เวฬุวคามนี้

    ณ ที่นี้เอง อาพาธอันแรงกล้าได้เกิดขึ้นแก่พระพุทธองค์ พระโรคประจำพระองค์ ภาษาบาลีเรียกว่า ปักขันทิกาพาธ แปลกันว่าโรคลงแดง หมายถึงถ่ายเป็นเลือด ฝรั่งเรียกว่า dysentery ไม่รู้ตรงหรือเปล่า

    ว่ากันว่าโรคนี้เป็นผลมาจากคราวที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอดอาหาร ระบบลำไส้ที่ไม่มีอาหารเป็นเวลานาน จึงรวนเรมาแต่บัดนั้น เมื่ออาพาธนี้เกิดขึ้นคราใด ทุกขเวทนาที่สุดและแสนจะเจ็บปวดก็เกิดขึ้นครานั้น เรียกว่าปวดแทบตายนั่นแหละครับ อาศัยพระพุทธองค์ทรงใช้พลังฌานสมาธิระงับไว้ได้ อาการป่วยจึงทุเลา พระองค์ตรัสกับพระอานนท์ถึงเรื่องนี้ว่า "ดูก่อนอานนท์ สมัยใดตถาคตเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำในใจซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่า สมัยนั้นกายของตถาคตย่อมผาสุก"

    พระพุทธองค์ไม่มีไม้ตาย

    พุทธวจนะที่น่าสังเกตนี้ก็คือ ทรงบอกพระอานนท์ว่าพระ พุทธองค์ไม่มี "อาจริยมุฏฐิ" (กำมือของอาจารย์) มีเท่าไร บอกหมด อะไรที่จะเป็นทางพ้นทุกข์ได้ตรัสบอกหมดแล้ว ไม่ปิดบังไม่มีอะไรกำไว้ในมือ

    "กำมืออาจารย์" นี้เทียบได้กับ "ไม้ตาย" ของครู ครูที่ฝึกวิชาต่างๆ เช่น วิชาฟันดาบ ยิงธนู ครูจะไม่สอนลูกศิษย์ทุกกระบวนท่า เพราะเกรงว่าศิษย์ที่อกตัญญูคิดล้างครู เมื่อได้เรียนจบวิชาไปแล้วอาจคิดกำจัดครูได้ จึงจำต้องสงวน "ไม้ตาย" ไว้

    แต่พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์ไม่ได้สงวน "ไม้ตาย" ดังกล่าวไว้ เพราะแนวทางการสอนของพระองค์สอนให้ละ ให้ปล่อยวาง ยิ่งสอนจนหมดเปลือกหมดไส้หมดพุงก็ยิ่งดี

    อีกเรื่องหนึ่งที่ตรัสให้พระอานนท์ฟังก็คือ พระพุทธองค์ไม่เคยมีความคิดว่าจะปกครองสงฆ์ ไม่เคยคิดจะให้สงฆ์เชิดชูพระองค์ พุทธวจนะนี้บ่งบอกถึงการที่พระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปไตยมิได้เผด็จการปกครองสงฆ์แบบเบ็ดเสร็จ ตรงข้ามพระองค์ทรงมอบภาระการบริหารสงฆ์และการทำสังฆกรรม เช่นอุปสมบท เป็นต้น แก่พระสงฆ์ มอบให้พระสงฆ์เป็นใหญ่ในการบริหารคณะสงฆ์แม้พระองค์เองก็ทรงเคารพสงฆ์

    ๗. พญามารทูลอาราธนาให้ปลงอายุสังขาร

    หลังจากออกพรรษาแล้ว พระองค์เสด็จออกจากเวฬุวคามเสด็จดำเนินไปตามลำดับประทับอยู่ที่ปาวาลเจดีย์ ณ ที่นี้เอง ทรง "บอกใบ้" ให้พระอานนท์ทราบเรื่องหนึ่ง แต่พระอานนท์ไม่ทราบ

    พระองค์ตรัสว่า ผู้ใดเจริญอิทธิบาทให้มากเต็มที่แล้ว ถ้าต้องการจะดำรงอยู่ตลอดกัปหรือเกินกว่ากัปก็อยู่ได้ เราตถาคตก็ได้เจริญอิทธิบาทสมบูรณ์เต็มที่แล้ว ถ้าตถาคตปรารถนาก็สามารถดำรงอยู่ตลอดกัปหรือเกินกว่ากัปได้

    ความหมายของคำนี้ก็คือ ถ้าพระองค์ต้องการจะยืดพระชนมายุไปอีกกัปหนึ่ง หรือเกินกว่ากัปหนึ่งก็ย่อมได้ กัปในที่นี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า ได้แก่ช่วงอายุ ๑๐ ปี หรือเกินกว่า ๑๐ ปีนิดหน่อย (รวมแล้วไม่เกิน ๒๐ ปี)

    ขณะนั้นพระพุทธองค์ทรงมีพระชนมายุ 80 พรรษาพอดี ถ้าจะยืดออกไปอีก "กัป" หนึ่ง (๑๐ ปี) ก็จะเป็น ๙๐ หรือยืดออกไปอีก ๒๐ ปี ก็จะครบ ๑๐๐ พอดี

    พระอานนท์ไม่ทราบว่าพระองค์ทรงบอกเป็นนัยว่า ให้กราบทูลขอให้อยู่ พระองค์จะใช้พลังแห่งอิทธิบาทที่ทรงบำเพ็ญมาจนสมบูรณ์เต็มที่ ยืดพระชนมายุออกไปอีก แต่พระอานนท์ก็คิดไม่ทัน

    พญามารนามวสวัตตีจึงได้โอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ทูลทวงสัญญาทันที พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าถึงเวลาแล้ว จึงทรง "ปลงอายุสังขาร" (คือ กำหนดพระทัยว่าจะปรินิพพาน)

    สาเหตุแผ่นดินไหว ๘ ประการ

    แผ่นดินได้กัมปนาทหวั่นไหว จนพระอานนท์ตกใจ รีบเข้าไปทูลถามว่าเกิดอะไรขึ้นแผ่นดินจึงไหวสะท้านอย่างนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่าแผ่นดินจะไหวเพราะสาเหตุ ๘ ประการ คือ

    ๑. ไหวเพราะลม

    ๒. ไหวเพราะสมณพราหมณ์ หรือเทวดาผู้มีฤทธิ์เจริญปฐพีสัญญาเล็กน้อย เจริญอาโปสัญญาอย่างแรงกล้า บันดาลให้แผ่นดินไหวได้

    ๓. ไหวเพราะพระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตก้าวลงสู่พระครรภ์

    ๔. ไหวเพราะพระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์

    ๕. ไหวเพราะพระโพธิสัตว์ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

    ๖. ไหวเพราะพระตถาคตหมุนกงล้อพระธรรม (แสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร)

    ๗. ไหวเพราะพระตถาคตปลงอายุสังขาร

    ๘. ไหวเพราะตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

    พระอานนท์ได้ฟังดังนั้นก็รู้ทันทีว่า แผ่นดินไหวเพราะพระพุทธเจ้าปลงอายุสังขาร จึงกราบทูลขอให้พระองค์ทรงยืดพระชนมายุต่อไปอีก พระองค์ตรัสว่า สายเสียแล้วอานนท์ เราได้บอกใบ้ให้เธอตั้งหลายครั้ง เธอก็ไม่รู้ความนัย ถ้าเธอขอเราตอนโน้น เราจะห้ามเธอเพียงสองครั้ง ครั้นขอครั้งที่สามเราก็จะรับ แต่เมื่อเลยมาถึงปานนี้ เป็นความผิดพลาดของเธอผู้เดียว

    ศาตราจารย์พิเศษ เวฐียรพงษ์ วรรณปก / ราชบัณฑิต

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB5TUE9PQ
     
  18. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ๘. เรื่องราวของมาร

    คราวที่แล้วเล่าถึงพญามารมาทูลขอให้พระพุทธองค์ปรินิพพานตามสัญญาที่ให้ไว้ พระพุทธองค์ทรง "ปลงอายุสังขาร" จนเกิดแผ่นดินไหวสะท้านสะเทือน พระอานนท์พุทธอนุชาตกใจจึงไปกราบทูลถามดังรายละเอียดที่กล่าวมาแล้วในตอนก่อน

    คำว่า "ปลงอายุสังขาร" ภาษาบาลีว่า "อายุสงฺขารํ โอสฺสชฺชิ" (ทรงสลัดปัจจัยเครื่องปรุงแต่งอายุ) หมายความว่าตกลงใจกำหนดการสิ้นอายุ หรือกำหนดพระทัยว่าจะปรินิพพาน

    วสวัตตีมารคือใคร คัมภีร์บอกว่าเป็นพญามาร หรือเจ้าแห่งมารทั้งหลายครองอยู่บนสวรรค์ชั้นที่ ๖ คือ ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี

    สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีเป็นอย่างไร บังเอิญผมได้อ่าน ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช มีพูดถึงสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี จึงขอถือโอกาสคัดลอกมาให้อ่านดังนี้ครับ

    สวรรค์ชั้นที่ ๖ ชื่อว่า ปรนิมมิตวสวัตตี เสียงไทยว่า ปรนิมมิตวสวัตตี แปลว่า ทำอำนาจของตนให้เป็นไปในโภคะทั้งหลายที่ผู้อื่นรู้ความคิดของจิตแล้วนิรมิตให้ ผู้ที่มาคอยนิรมิตให้นั้นไม่มี กล่าวว่าเป็นเทพพวกไหน ชั้นไหน คิดดูตามเค้าความ ก็น่าเห็นว่าต้องการแสดงความสุขสูงขึ้นอีกชั้นหนึ่ง มีผู้มาคอยนิรมิตสิ่งที่ใจปรารถนาให้ ไม่ต้องนิรมิตเอาเองเหมือนอย่างชั้นที่ ๕ แต่อีกนัยหนึ่ง คำว่าทำอำนาจให้เป็นไป ดูมีความว่าแผ่อำนาจไปครอบงำสิ่งที่ผู้อื่นเขานิรมิตไว้คือ ใช้อำนาจไปครอบครอง เหมือนอย่างคำว่า จักกวัตติ หรือ จักรพรรดิ แปลว่า ยังจักรให้เป็นไป คือ ใช้จักรแผ่อำนาจไปครอบครองโลก นัยนี้ดูก็เหมาะกับเรื่องพญามารที่จะกล่าวต่อไป

    สวรรค์ชั้นนี้ยิ่งสูงขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นนิมมานรตีอีกมาก ท่านว่ามีเทพเป็นราชาผู้ปกครองอยู่ ๒ ฝ่าย คือ เทวราชเรียกนามตามชื่อของชั้นสวรรค์ว่าปรนิมมิตวสวัตตีเทวราช ปกครองอยู่ฝ่ายหนึ่ง พญามารเป็นเทวราช ปกครองอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง เทวราชผู้ปกครองสวรรค์ชั้นนี้จึงมีอยู่ ๒ องค์ แบ่งเป็น ๒ ก๊ก เรียกนามว่า ปรนิมมิตวสวัตตีเทวราช เหมือนกัน องค์หนึ่งไม่เป็นมารปกครองเทพที่ไม่เป็นมารด้วยกัน แต่อีกองค์หนึ่งเป็นมาร ปกครองเทพที่เป็นมารด้วยกัน

    ฝ่ายที่ไม่เป็นมารไม่ค่อยมีเรื่องกล่าวถึงในคัมภีร์ทั้งหลาย ส่วนฝ่ายที่เป็นมารมีเรื่องกล่าวถึงอยู่มาก องค์เทวราชเองเรียกโดยเฉพาะว่า ปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราช หรือคำไทยว่า พญามาราธิราช แม้จะแบ่งเป็นสองก๊กก็ไม่มีเรื่องปรากฏในคัมภีร์ทั้งหลายว่าทั้ง ๒ ก๊กนี้ได้ทำสงครามกันเหมือนอย่างเทพและอสูรแห่งสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ มีแต่เรื่องพญามารลงมาป้องกันรังควานความตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์และพระสาวกทั้งหลาย เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว มารก็ยังมาเกี่ยวข้องอีกหลายคราวจนถึงมาทูลอาราธนาให้ปรินิพพาน

    สังเกตตามที่เล่าไว้ในคัมภีร์ทั้งหลายว่า เทวราชผู้เป็นมารนี้มีความกลัวเป็นข้อสำคัญอยู่ข้อหนึ่งว่าตนจะสิ้นอำนาจครอบครองโลก ไม่ประสงค์ให้ใครทั้งนั้นบรรลุมรรคผลนิพพาน หรือจะเรียกว่าวิมุตติหรือโมกขธรรมก็ได้ พูดง่ายๆ ก็คือไม่ประสงค์ให้ใครประสบความหลุดพ้นจากกองกิเลส เช่น ตัณหา อุปาทาน หรือ ราคะ โทสะ โมหะ และหลุดพ้นจากกองทุกข์ มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ประสงค์ให้ใครหลุดพ้นไปจากโลกเป็นโลกุตระ ที่แปลว่าเหนือโลก ก็คือพ้นโลกนั่นเอง เพราะเมื่อผู้ใดพ้นโลก หมายถึงว่ามีจิตใจพ้นกิเลสดังกล่าว ผู้นั้นก็พ้นอำนาจของมาร ซึ่งมารจะใช้อำนาจให้เป็นไปในผู้นั้นอีกไม่ได้ ความเป็นสวสวรรดิ (เทียบกับจักรวรรดิ) ของมารก็หมดสิ้นไป

    ฉะนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงแสวงหาโมกขธรรมทรงได้พบทางทรงดำเนินไปในทางจนถึงในราตรีที่จะตรัสรู้ ท่านเล่าว่าพญามารได้มาป้องกันรังควานอย่างสุดกำลัง พระโพธิสัตว์ก็ทรงผจญสู้อย่างเต็มที่ อย่างที่เรียกว่าเสี่ยงบารมี พูดอย่างสามัญว่าสู้ตายไม่ยอมถอย เช่น ทรงอธิษฐานพระหทัยตั้งความเพียรแน่วแน่ว่าจะไม่ยอมลุกขึ้นจากที่ประทับจนกว่าจะได้บรรลุผล แม้ว่าเนื้อเลือดทั้งหมดจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนังเอ็นกระดูกก็ตาม อาศัยพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาเต็มเปี่ยมแล้ว จึงทรงชนะมาร ทรงบำเพ็ญเพียรต่อไปจนได้ตรัสรู้

    แม้ต่อมาท่านก็เล่าว่า มารได้มาเกี่ยวข้องอีกมากครั้ง แสดงว่ายังคอยติดตามหาช่องโอกาสอยู่เรื่อยๆ เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเวไนยนิกรให้พ้นอำนาจของตนมากขึ้นทุกที จึงไม่ปรารถนาจะให้พระองค์ดำรงพระชนม์อยู่นาน

    และในที่สุดท่านก็เล่าว่า พระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขารตามคำอาราธนาของมารนั่นเอง แต่ก็ทรงปลงในเมื่อได้บำเพ็ญพุทธกิจสำเร็จตามที่ได้ทรงตั้งพระหทัยไว้แล้ว

    พญามาราธิราชเป็นเจ้าก๊กหนึ่งแห่งสวรรค์ชั้นที่หก ก็จะต้องทำบุญไว้มาก ไม่เช่นนั้นก็จะไม่บังเกิดในสวรรค์ชั้นสูงนี้ได้ แต่ก็จะต้องเข้าใจว่า ทำบุญเพียงเพื่อสวรรค์เท่านั้นดูก็ชอบกลอยู่ ท่านไม่กล่าวว่าพญามารได้มาขัดขวางใครที่ทำบุญ เช่น ทาน ศีล เป็นต้น เพื่อสวรรค์หรือที่เป็นภูมิเพียงเพื่อสวรรค์ มาขัดขวางแต่ผู้ปฏิบัติเพื่อ มรรค ผล นิพพาน เช่น พวกทำกรรมฐานเพื่อสิ้นกิเลส

    เรื่องของมารยังมีอีกมาก แต่จะงดไว้ก่อน เป็นอันว่าสวรรค์ชั้นนี้แบ่งเป็น 2 ก๊ก เหมือนอย่างขาวกับดำ และมีเจ้าครองอยู่ ๒ องค์ ที่ลงมาเกี่ยวข้องในประวัติพระพุทธศาสนามากก็คือพญามาร เรียกเต็มว่า ปรนิมมิตวสวัตตีเทวราช ฝ่ายที่เป็นมารแห่งโลกุตรธรรม

    มาร ๕ ประเภท

    ความจริงคำว่า "มาร" ท่านแบ่งออกเป็น ๕ ประเภทด้วยกัน คือ

    ๑. ขันธมาร มารคือขันธ์ ๕ ร่างกายไม่อำนวยให้ทำความดี เช่น เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ทำให้หมดโอกาสดีๆ ในชีวิต

    ๒. อภิสังขารมาร มารคือบุญบาป ความชั่วทำให้ขัดขวางมิให้บรรลุคุณธรรม และบางทีบุญก็ขัดขวางเช่นเดียวกัน เพราะเป็นเหตุให้เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ ผู้ที่ทำบุญไปเกิดในภพภูมิที่ดีเช่นสวรรค์ ก็หลงมัวเมาไม่รู้สร่าง อย่างนี้แหละที่ท่านว่าบุญก็เป็นมารมิให้บรรลุธรรม

    ๓. กิเลสมาร มารคือกิเลส โลภ โกรธ หลง เป็นมารเพราะขัดขวางมิให้บุคคลบรรลุผลสำเร็จอันดีงาม

    ๔. มัจจุมาร มารคือความตาย ความตายทำลายทุกสิ่งในชีวิต บางทีกำลังก้าวหน้าในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม ก็มาด่วนตายเสียก่อน ความตายจึงตัดโอกาสดีๆ ในชีวิต

    ๕. เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร เทวดาที่เกเรคอยขัดขวางมิให้คนทำดี หมายเอาเทวบุตรฝ่ายอันธพาลทั้งหลายอย่างสูง หมายเอาพญามารชื่อวสวัตตีที่กล่าวมาข้างต้น

    พญามารที่มาทูลขอให้พระพุทธองค์ปรินิพพานในพระสูตรนี้ ส่วนท่านว่าหมายเอาเทวปุตตมาร แต่มีทางสันนิษฐานได้อีกด้านหนึ่ง (ผิดถูกอย่างไรฝากให้พิจารณาด้วย) อาจหมายถึงขันธมารก็ได้ คือ ร่างกายของพระองค์ชราภาพมากแล้ว ไม่เอื้ออำนวยให้อยู่ต่อไปได้แล้ว สังขารมาเตือนว่าไม่ไหวแล้วนะ ว่าอย่างนั้นเถิด พระองค์ก็ทรงรู้ว่าคงอยู่ต่อไปไม่นานเกิน ๓ เดือน จึงทรงกำหนดพระทัยว่าจะปรินิพพานใน ๓ เดือนข้างหน้า

    พระพุทธวจนะที่ตรัสกับพระอานนท์เป็นเครื่องยืนยันความข้อนี้ว่า

    "ดูก่อนอานนท์ บัดนี้เราแก่เฒ่าแล้ว เป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับแล้ว วัยของเราเป็นมาถึง ๘๐ ปีแล้ว เกวียนเก่ายังใช้ได้เพราะการซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ ฉันใด กายของตถาคตก็ฉันนั้น ยังพอเป็นไปได้ คล้ายกับเกวียนที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่"

    เมื่อโบราณาจารย์ท่านว่า มารในที่นี้คือวสวัตตีมาร ก็ฟังท่านไปก่อน พญามารตนนี้ดูเหมือนจะตามจองล้างจองผลาญพระพุทธองค์มาตั้งแต่วันเสด็จออกบวชแล้วมาปรากฏตัว ยกมือห้ามว่าอย่าออกบวชเลย อีกไม่กี่เพลาท่านก็จะได้เป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แล้ว เจ้าชายสิทธัตถะทรงขับไล่ออกไป ถ้าพูดภาษาหนังกำลังภายในก็ว่า "ไสหัวไป" ว่าอย่างนั้นเถอะ

    เมื่อครั้งพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาก็มากระซิบบอกว่า ไปไม่ไหวแล้ว ไม่มีทางบรรลุสัมโพธิญาณดอก ตายเสียเถอะ อะไรทำนองนั้น

    พอพระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ มารตัวนี้มากระซิบอีกว่า บัดนี้พระองค์ก็บรรลุสัมโพธิญาณดังหวังแล้ว ปรินิพพานเสียเถอะ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า พระองค์จะไม่ปรินิพพานจนกว่าพรหมจรรย์ (พระศาสนา) ของพระองค์จะแพร่หลายมั่นคง

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31

    ˹ѧ��;��������ʴ�͹�Ź� : �ú�ء�� ʴ�ء����ͧ==
     
  19. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    เกณฑ์วัดว่าพระพุทธศาสนาแพร่หลายมั่นคง

    พระพุทธองค์ตรัสแก่พญามารว่า...

    "ตราบใดสาวกของพระองค์ยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วยังบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้ ตราบนั้นเราจักยังไม่ปรินิพพาน"

    ถอดความให้เข้าใจง่ายก็คือ พระองค์จะปรินิพพานก็ต่อเมื่อสาวกทั้งหลายของพระองค์มีคุณสมบัติเพียงพอ

    ๑. ศึกษาธรรมจนแตกฉานเป็นพหูสูต

    ๒. ปฏิบัติตามที่ศึกษามาจนถูกต้องและได้รับผลแห่งการปฏิบัติ

    ๓. มีความสามารถถ่ายทอด เผยแผ่ให้กับคนอื่นได้รู้ตาม

    ๔. กำจัด "ปรัปวาท" (การกล่าวร้ายเข้าใจผิดต่อพระศาสนา) ให้ราบคาบ หมายถึงมีวิญญาณของผู้ปกป้องพระพุทธศาสนา

    คุณสมบัติเหล่านี้จะต้องมีพรั่งพร้อมทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งระดับเถระ มัชฌิมะ และนวกะ สอดคล้องกับที่ตรัสไว้ในอีกแห่งหนึ่ง (ปาสาทิกสูตร ที.ปา ๑๑/๑๐๔) ว่า

    "พรหมจรรย์ (คือพระศาสนา) จะชื่อว่าสำเร็จผลแพร่หลายกว้างขวาง เป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เป็นปึกแผ่นถึงขั้นที่ว่าเทวดาและมนุษย์ประกาศไว้ดีแล้วต่อเมื่อมีองค์ประกอบต่อไปนี้ครบถ้วน คือ

    ๑. องค์พระศาสดา เป็นเถระ รัตตัญญู ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ

    ๒. มีภิกษุสาวกที่เป็นเถระ มีความรู้เชี่ยวชาญ ได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างดี แกล้วกล้า อาจหาญ บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ สามารถแสดงธรรมให้เห็นผลจริงจัง กำราบปรัปวาท (ลัทธิที่ขัดแย้งหรือวาทะฝ่ายตรงข้าม) ที่เกิดขึ้นให้สำเร็จเรียบร้อยโดยถูกต้องตามหลักธรรม และมีภิกษุสาวกชั้นปูนกลางและชั้นนวกะ ที่มีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น

    ๓. มีภิกษุณีสาวิกาชั้นเถรี ชั้นปูนกลาง และชั้นนวกะ ที่มีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น

    ๔. มีอุบาสกทั้งประเภทพรหมจารี และประเภทครองเรือนเสวยกามสุข ซึ่งมีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น

    ๕. มีอุบาสิกาทั้งประเภทพรหมจาริณี และประเภทครองเรือนเสวยกามสุข ซึ่งมีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น

    เพียงแต่ขาดอุบาสิกาประเภทครองเรือนเสียอย่างเดียว พรหมจรรย์ก็ยังไม่ชื่อว่าเจริญบริบูรณ์เป็นปึกแผ่นดี

    เมื่อเงื่อนไขทุกอย่างพร้อมแล้ว พญามารจึงเข้ามากราบทูลให้ปรินิพพานเท่ากับทวงสัญญาว่าบัดนี้ถึงเวลาที่พระองค์จะปรินิพพานแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงปลงอายุสังขารดังกล่าวแล้ว

    ความจริงการที่พระพุทธองค์ทรงมีพระชนมายุมาถึง ๘๐ พรรษา ด้วยพระวรกายที่ไม่สมบูรณ์นัก เพราะมีโรคประจำ คือ ปักขันทิกาพาธ เมื่อโรคกำเริบทีไรก็ทรงมีเวทนากล้า เรียกว่า "เจ็บปวดแทบตาย" ทุกครั้งเลย การที่อายุล่วงมาถึงวัยแก่หง่อมปานนี้ สังขารร่างกายมันเตือนให้รู้เองว่าจะอยู่ต่อไปอีกไม่นาน พระองค์ทรงทราบว่าร่างกายมันจะดับลงวันใด จึงทรงกำหนดวันปรินิพพาน อธิบายอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องเอาเทพเอามารมาเกี่ยวข้องด้วยก็ย่อมได้

    ๙. มหาปเทส (หลักตัดสินธรรมวินัย)

    หลังจากทรงปลงอายุสังขารแล้ว และไม่ทรง "ยืดพระชนมายุ" ออกไปอีกตามคำทูลขอของพระอานนท์แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสเล่าว่าพระองค์ทรงทำ "นิมิตโอภาส" (บอกใบ้) ให้พระอานนท์กราบทูลอาราธนาตั้งหลายครั้งที่ไหนบ้าง ท้ายที่สุดก็ทรงสรุปว่า "เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของเธอผู้เดียว"

    พระอานนท์ก็ได้แต่นั่งคอตก นึกเสียดายที่พลาดโอกาสอันยิ่งใหญ่ไปเสียแล้ว

    พระพุทธเจ้าก็เสด็จเข้าไปยังเมืองไพศาลี ติดตามด้วยพระอานนท์เพื่อ "โปรดสัตว์" ตอนเสด็จกลับจากบิณฑบาต ทรงเอี้ยวพระศอไปมองดูเมืองไพศาลี ประหนึ่งจะประทับภาพแห่งเมืองไพศาลีไว้ในความทรงจำพักหนึ่ง แล้วตรัสกับพระอานนท์ว่า "อานนท์ การเห็นเมืองไพศาลีของตถาคตครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว

    พระอาการที่ทรงเอี้ยวพระศอไปมองเมืองไพศาลีนี้ เรียกกันว่า "นาคาวโลก" แปลตามตัวว่า มองแบบนาค หรือมองแบบพญาช้าง ปัจจุบันนี้เรามาสร้างเป็นพระพุทธรูปปางหนึ่งเรียกว่า "ปางนาคาวโลก" เป็นพระพุทธรูปยืนปล่อยพระหัตถ์ซ้ายห้อยลง พระหัตถ์ขวาขึ้นเสมอพระอุระเอี้ยวพระพักตร์มองทางเบื้องหลัง

    หลังจากนั้นก็เสด็จไปภัณฑุคาม ตรัสเรียกให้ประชุมสงฆ์หมู่ใหญ่ เพราะทรงมีเรื่องสำคัญจะ "สั่งเสีย" เมื่อพระสงฆ์มาประชุมพร้อมกันที่ "อุปัฏฐานศาลา" (หอฉันและใช้เป็นที่ประชุมด้วยอย่างที่เรียกว่าศาลาอเนกประสงค์นั่นแล) ได้ตรัสสอนเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ เรื่องศีล สมาธิ ปัญญา นี้ทรงเน้นแล้วเน้นอีกว่าเป็นเรื่องสำคัญ อาศัยศีล สมาธิ ปัญญานี้แล จะทำให้วิมุตติหลุดพ้นจากการเวียนว่ายในสังสารวัฏ

    เมื่อเสด็จถึงโภคนคร ประทับอยู่ที่อานันทเจดีย์ ได้ตรัสเรื่องสำคัญแก่ภิกษุสงฆ์ คือ ถ้าต่อไปเกิดมีความสงสัยว่า อะไรเป็นธรรม อะไรเป็นวินัย หรืออะไรไม่เป็นธรรม อะไร ไม่เป็นวินัยก็ให้เอาหลัก "มหาปเทส ๔" เป็นเครื่องตัดสิน

    มหาปเทสทางธรรม

    มหาปเทส คือ ข้ออ้างอิงใหญ่หรือหลักใหญ่สำหรับอ้างเพื่อสอบถามเทียบเคียง มีอยู่ ๔ ประการคือ

    ๑. หากมีภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์ (คำสอนของพระศาสดา)

    ๒. หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีสงฆ์อยู่ พร้อมด้วยพระเถระ พร้อมด้วยปาติโมกข์ ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าสงฆ์ว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์

    ๓. หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นเถระจำนวนมากเป็นพหูสูตถึงอาคม (หมายถึงชำนาญพระพุทธพจน์ทั้ง ๕ นิกาย) ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา (แม่บท) ข้าพเจ้าสดับรับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์

    ๔. หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นเถระรูปหนึ่ง เป็นพหูสูตถึงอาคมทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์

    เธอทั้งหลายยังไม่พึงชื่นชอบ ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะ (เรียนทั้งความและคำ) เหล่านั้นให้ดีแล้วพึงสอบดูในพระสูตร เทียบดูในพระวินัย

    ก. ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในพระสูตรไม่ได้ เทียบเข้าในพระวินัยไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้มิใช่ดำรัสของพระผู้มีพระภาค ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้น, พระเถระเหล่านั้น, พระเถระรูปนั้น) ถือไว้ผิดพึงทิ้งเสีย

    ข. ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในพระสูตรได้ เทียบเข้าในพระวินัยได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่แท้ ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้น, พระเถระเหล่านั้น, พระเถระรูปนั้น) รับมาด้วยดี

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31

    ˹ѧ��;��������ʴ�͹�Ź� : �ú�ء�� ʴ�ء����ͧ==
     
  20. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    กล่าวโดยสรุปก็คือ การยกข้ออ้างหรือหลักฐานมีอยู่ ๔ คือ

    ๑. พุทธาปเทส ยกพระพุทธเจ้าขึ้นมาอ้าง

    ๒. สังฆาปเทส ยกคณะสงฆ์ทั้งคณะขึ้นมาอ้าง

    ๓. สัมพหุลเถราปเทส ยกพระเถระจำนวนมากขึ้นมาอ้าง

    ๔. เอกเถราปเทส ยกพระเถระรูปหนึ่งขึ้นมาอ้าง

    มหาปเทสทางพระวินัย

    มหาปเทสที่ว่ามาข้างต้น เป็นข้ออ้างอิงในเรื่องหลักธรรม แต่ยังมีมหาปเทสเฉพาะในทางวินัยอีก ๔ ข้อ (ดังที่ตรัสไว้ในพระวินัยปิฎกพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ ข้อ ๙๒) ดังนี้

    ๑. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามว่าไม่ควร แต่เข้ากันได้กับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร

    ๒. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามว่าไม่ควร แต่เข้ากันได้กับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร

    ๓. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตว่าควร แต่เข้ากันได้กับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร

    ๔. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตว่าควร แต่เข้ากันได้กับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร

    หลักมหาปเทส หรือข้ออ้างอิงใหญ่ มีให้ทดสอบทั้งในด้านหลักธรรม และในด้านพระวินัยเมื่อพระศาสดาไม่อยู่แล้ว ถ้าเกิดข้อถกเถียง หรือไม่แน่ใจว่า อย่างไหนเป็นธรรม อย่างไหนเป็นวินัยหรือไม่ ก็ให้เอาหลักมหาปเทสนี้ไปเทียบเคียง ถ้าเข้ากันได้ลงรอยกันได้ก็ควรเชื่อถือ ถ้าเข้ากันไม่ได้ลงกันไม่ได้ ก็ยังไม่พึงเชื่อถือ

    นี้นับว่าเป็นการมองเห็นการณ์ไกลขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทรงมอบหลักการไว้ให้แล้ว พระศาสดาจะอยู่หรือไม่ ก็จะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

    สมัยปลายพุทธกาล มีศาสดาชื่อ นิครนถ์นาฏบุตร (มหาวีระ) สิ้นชีพลง ศาสดามิได้ประมวลคำสอนเป็นหมวดหมู่ มิได้วางหลักเกณฑ์สำหรับตรวจสอบคำสอนไว้ สาวกต่างก็ถกเถียงกันจนทะเลาะวิวาทแตกแยกกัน มีคนนำความขึ้นกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่านี่แหละโทษของการไม่ "ร้อยกรอง" คำสอนให้เป็นระบบ ไม่ได้วางหลักการไว้ก่อนตาย พอตายลงก็เกิดความสับสน สาวกทุ่มเถียงทะเลาะกัน

    ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ในทางพระพุทธศาสนาเองก็ยังมิได้มีการร้อยกรองคำสอนเป็นระบบที่สมบูรณ์มีอยู่บ้าง เช่น การประมวลหลักคำสอนเป็น "นวังคสัตถุสาสน์" (คำสอนของพระศาสดา ๙ หมวด) แต่ก็ยังมีอีกมากที่จะต้องทำให้สมบูรณ์ พระสารีบุตรอัครสาวกจึงร้อยกรองคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหมวดหมู่ เรียกว่า "สังคีติสูตร" เป็นการนำเอาธรรมะมาจัดหมวดหมู่ ตั้งแต่ธรรมะหมวดหนึ่ง หมวดสอง หมวดสาม จนถึงหมวดสิบ และหมวดเกินสิบ

    แต่ทำยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ดี ท่านก็นิพพานเสียก่อน เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว งานด้านนี้จึงได้รับการสานต่อจนสำเร็จสมบูรณ์ โดย พระมหากัสสปะ พระอานนท์ พระอุบาลี และพระอรหันต์ทั้งหมดรวม 500 รูป ชาวพุทธเราจึงได้ "พระไตรปิฎก" อันบันทึกพุทธวจนะสืบทอดมาจนบัดนี้

    เพื่อไม่ให้พระสงฆ์ถกเถียงกันในบางเรื่องที่พระองค์มิได้ห้ามไว้ และมิได้อนุญาตไว้ พระองค์จึงทรงวาง "มหาปเทส" อันเป็นหลักสำคัญสำหรับการตรวจสอบเทียบเคียง ดังกล่าวข้างต้น

    ธรรมวินัยพระองค์ก็ทรงแสดงไว้ บัญญัติไว้แล้ว หลักเทียบเคียงพระธรรมวินัยเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น พระองค์ก็ทรงวางไว้ให้เป็นหลักแล้ว ถึงพระศาสดาจะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็มีสิ่งเหล่านี้เป็นศาสดาคอยตัดสินชี้ขาดแทน เป็นความอบอุ่นใจอย่างยิ่ง

    เมื่อมีคนถามพระอานนท์ว่า ศาสดาของท่านปรินิพพานไปแล้วท่านไม่รู้สึกว้าเหว่บ้างหรือ พระอานนท์ตอบท่านผู้นั้นว่า "เมื่อพระบรมศาสดาล่วงลับไป พระธรรมวินัยยังคงมีอยู่ พวกเราจึงไม่รู้สึกว้าเหว่แต่ประการใด"

    ถ้าเปรียบพระพุทธเจ้าดุจพ่อธรรมดาๆ ก็เป็นพ่อที่ได้จัดเตรียมทุกอย่างไว้ให้ลูกพร้อมสมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าในด้านการศึกษาอบรม ด้านสมบัติพัสถาน มีอะไรก็ได้สั่งเสียไว้หมดแล้ว ถึงจะตายก็ "ตายตาหลับ" คือ ไม่มีห่วงกังวล ลูกหลานอยู่เบื้องหลังก็ไม่ลำบากทุกข์ร้อน

    พวกเราโชคดีใช่ไหมครับที่มีพ่อที่สมบูรณ์แบบอย่างนี้

    ๑๐. สูกรมัททวะ : พระกระยาหารมื้อสุดท้าย

    คราวนี้มาว่าด้วยเรื่องพระสูตรน่าสนใจต่อ ผมยังคงนำเอาเรื่องราวในมหาปรินิพพานสูตรมาเล่าให้แฟนๆ ฟังตามเดิม เพราะเห็นว่าพระสูตรนี้สำคัญอย่างยิ่ง

    จากโภคนคร พระพุทธเจ้าติดตามด้วยพระอานนท์พุทธอนุชาและพระสงฆ์ก็เสด็จดำเนินด้วยพระบาทไปยังเมืองปาวา ในระหว่างทางก็พักอยู่ที่สวนมะม่วงของนายจุนทะกัมมารบุตร

    "กัมมารบุตร" แปลว่า บุตรนายช่างทอง

    นายจุนทะทราบข่าวพระพุทธเจ้าเสด็จมาพักที่สวนมะม่วงของตนก็เข้าไปเฝ้า ได้ฟังธรรมจากพระองค์ แล้วก็กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมพระสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน เมื่อรู้ว่าพระองค์ทรงรับแล้วก็กลับบ้าน เพื่อเตรียมภัตตาหารถวายในวันรุ่งขึ้น

    สิ่งที่นายจุนทะตระเตรียมไว้ก็มี

    ๑. ของเคี้ยวของฉันอันประณีต (ปณีตํ ขาทนียํ โภชนียํ)

    ๒. สูกรมัททวะอย่างพอเพียง (ปหูตํ สูกรมทฺทวํ)

    ที่ยกบาลีมากำกับ ก็เพื่อประโยชน์แก่การอภิปรายข้างหน้า เดี๋ยวก็ทราบเองว่าอภิปรายประเด็นไหน

    วิธีเตรียมการของนายจุนทะน่าสนใจ พระบาลีในพระสูตรว่าไว้ดังนี้ "นายจุนทะกัมมารบุตรให้ตระเตรียมของเคี้ยว ของฉัน อันประณีต และสูกรมัททวะเป็นอันมากในนิเวศน์ของตน โดยกาลล่วงไปแห่งราตรี" (ตสฺสา รตฺติยา อจฺจเยน)

    คำว่า "โดยกาลล่วงไปแห่งราตรี" หมายความว่า นายจุนทะแกใช้เวลาทั้งคืนนั้นปรุงอาหารและสิ่งที่เรียกว่า "สูกรมัททวะ" เพื่อถวายพระพุทธเจ้า

    พอรุ่งเช้าพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ก็ไปที่บ้านนายจุนทะตามคำนิมนต์ นายจุนทะก็นำอาหารไปถวาย ตรงนี้ก็น่าคิดอีก คือ

    ๑. อังคาส (ถวายอาหารให้ฉัน) พระพุทธเจ้าด้วยสูกร มัททวะที่เตรียมไว้เฉพาะ

    ๒. อังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยของเคี้ยว ของฉัน อันประณีต

    พระพุทธเจ้าเสวย "สูกรมัททวะ" แล้วก็รับสั่งให้นายจุนทะนำเอาที่เหลือไปฝังเสียในหลุมพร้อมรับสั่งว่า

    "เราตถาคตมองไม่เห็นใครในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก

    ที่บริโภคสูกรมัททวะ แล้วจะย่อยได้ดี นอกจากเราตถาคต"

    พุทธวจนะตรงนี้น่าสนใจอีกเช่นเดียวกัน

    เมื่อเสวยสูกรมัททวะเสร็จแล้วไม่นาน ก็เกิดอาพาธอย่างแรงกล้า พระโรคที่เรียกว่า "ปักขันทิกาพาธ" ก็กำเริบ พระพุทธองค์ทรงประชวรลงพระโลหิต (ถ่ายเป็นเลือด) พระอาการเพียบหนัก แต่ทรงข่มไว้ด้วยพลังสมาธิ ตรัสเรียกพระอานนท์ว่าเรามาเดินทางต่อไปยังกุสินาราเถอะ

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31


    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB5TlE9PQ
     

แชร์หน้านี้

Loading...