ความเสี่ยงของจังหวัดกาญจนบุรี

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 18 มกราคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    0b8b4e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b984e0b8abe0b8a7-e0b884e0b8a7.jpg
    กาญจนบุรี – พิบัติภัยแผ่นดินไหว : ความเสี่ยงของจังหวัดกาญจนบุรี กับ ดร. ปริญญา พุทธาภิบาล นักธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี

    ดร. ปริญญา พุทธาภิบาล นักธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 4.9 (แมกนิจูด) เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.61 เวลา 22.39 นาฬิกา ที่ผ่านมา โดยมีจุดเหนือศูนย์แผ่นดินไหว อยู่บริเวณ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ความลึกเพียงประมาณ 2 กิโลเมตร จากผิวดิน ณ ตำแหน่งที่เส้นละติจูด 14.9372 องศาเหนือ และเส้นลองติจูด 99.1370 องศาตะวันออก ห่างจากเขื่อนวชิราลงกรณไปทางตะวันออกประมาณ 59.88 กิโลเมตร ระดับค่าอัตราเร่ง (g) สูงสุดบริเวณเขื่อนวชิราลงกรณ มีค่าเท่ากับ 0.01860 g และได้มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวตาม หรืออาฟเตอร์ช็อก 2 ครั้ง ในวันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2561 เวลา 00.01 และ 05.02 นาฬิกา ขนาด 1.6 และ 3.0 แมกนิจูด ตามลำดับ

    นอกจากนั้นยังเกิดแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 3.3 (แมกนิจูด) มีจุดเหนือศูนย์แผ่นดินไหวอยู่ บริเวณใกล้เคียง ที่ ความลึก 5.9 กิโลเมตร ซึ่งบริเวณดังกล่าว เป็นพื้นที่ ที่เคยเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 26 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.3 และ วันที่ 22 เม.ย. 26 สองครั้ง ขนาด 5.9 และขนาด 5.2 (แมกนิจูด) ไม่รวมอาฟเตอร์ช็อก และล่าสุดเมื่อเวลา17.48 น.ของวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกครั้งหนึ่งที่บริเวณ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ขนาด 2.1 แมกนิจูด ลึกจากผิวดิน 1 กม. Latitude (องศา) 14.9000 Longitude (องศา) 99.2200 ห่างจากเขื่อนศรีนครินทร์ ไปทางทิศเหนือ 55.59 ก.ม.ไม่มีรายงานความเสียหายรวมทั้งประชาชนไม่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน

    น่าดีใจที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน สังคมและประชาชนทั่วไป ได้ให้ความสนใจและติดตามข่าวสาร รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ ในแง่มุมต่าง ๆ บนข้อเท็จจริงและฐานข้อมูลที่จำกัด โชคดีที่สังคมไทยมีภูมิคุ้มกันมากพอ จึงไม่ได้สร้างความกังวลและตื่นตระหนกแก่สังคมมากนัก บางคนถามผมว่า แผ่นดินไหวที่เมืองกาญจนบุรี เกิดถี่ขึ้นไหม ? แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี ?? ช่วยวิเคราะห์ให้ฟังหน่อย

    โชคดีที่ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปศึกษาจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวข้างต้น โดยทางเรือ กับคณะทีมงานของนายช่างสุวิทย์ โคสุวรรณ นำโดยคุณเอกชัย แก้วมาตย์ จากกรมทรัพยากรธรณี และนายช่างอนนท์ โรจน์ณรงค์ ฝ่ายความปลอดภัยของเขื่อน กฟผ. และทีมงานของเขื่อนศรีนครินทร์

    โดยเข้าไปสำรวจพื้นที่จุดเกิดเหตุแผ่นดินไหว และพื้นที่รอบ ๆโดยทางเรือ เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มกราคม 2562 ในช่วงสั้น ๆ เพื่อร่วมประเมินความเสียหาย ผลกระทบ จากเหตุการณ์ข้างต้นที่อาจส่งผลต่ออาคาร สิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือนที่อยู่อาศัยหรือ พื้นที่ภูมิประเทศ จุดเหนือศูนย์แผ่นดินไหว อยู่ที่พิกัด 151/473 ในแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1:50,000 ลำดับชุด L7018ระวาง บ้านปลายนาสวน (4838 IV )

    ซึ่งเป็นส่วนปลายด้านใต้ของแขนงหนึ่ง ของโซนรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ที่วางตัวพาดในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ความยาวของรอยเลื่อนนี้ประมาณ 9-10 กิโลเมตร อยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือของสันเขื่อนศรีนครินทร์ประมาณ 55 กิโลเมตร

    ชาวแพในละแวกนั้นซึ่งมีประมาณยี่สิบครอบครัวเศษ รับรู้และรู้สึกถึงการเกิดแผ่นดินไหว และได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิดในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่พบความเสียหายที่เกิดกับเรือนแพ อาคารกุฏิสงฆ์ และอุโบสถ สแตนเลส ที่อยู่ใกล้ริมน้ำ เมื่อประเมินเบื้องต้นจากทิศทางการวางตัว และขนาดความยาวของรอยเลื่อน แขนงแนวนี้ คงไม่สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่จะสร้างความเสียหายในวงกว้างได้

    กาญจนบุรี กับความเสี่ยงต่อพิบัติภัยแผ่นดินไหว เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 9.2 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่มีศูนย์กลางการเกิดใต้ทะเล บริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ได้สร้างผลกระทบไม่น้อยต่อชุมชนในเขตจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวคือมีอาคารเรียนหลายหลังของโรงเรียนบ้านดินโส (รูปที่ 1) และโรงเรียนบ้านหินดาด (รูปที่ 2) รวมทั้งบ้านเรือนของราษฎรในละแวกนั้นอีกจำนวนหนึ่งในเขตพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

    ได้รับความเสียหายแตกร้าว น้ำในบ่อน้ำร้อนบ้านหินดาด ในเขตอำเภอทองผาภูมิ มีอุณหภูมิและความขุ่นเพิ่มขึ้นมาก และยังมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำในบ่อน้ำชาวบ้านเขาหลาว ตำบลวังมะนาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นรอยต่อเนื่องส่วนปลายด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงการเกิดเปลี่ยนแปลงของระบบน้ำบาดาลในพื้นที่เขตอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ด้วย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในบริเวณรอยเลื่อนมีพลังเจดีย์สามองค์

    มหาวิทยาลัยมหิดล ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากรอยเลื่อนมีพลังในบริเวณดังกล่าว จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้สาขาธรณีศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ทำการศึกษาวิจัยรอยเลื่อนมีพลังในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและบริเวณใกล้เคียง เป็นเวลาต่อเนื่องในปีพ.ศ. 2550-2552 รวม 3 ปี

    โดยมีภารกิจในการศึกษาวิจัยเชิงพื้นในประเด็นดังกล่าว และสาขาฯได้ดำเนินการติดตามต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ถึงปัจจุบัน ใน4 หัวข้อหลักคือ 1.) การศึกษาแผ่นดินไหวในอดีตโดยการขุดร่องสำรวจทางธรณีวิทยา 2.) การตรวจวัดหาอัตราการเคลื่อนตัวของแผ่นดินสองฝั่งรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และเจดีย์สามองค์ โดยใช้เครื่องวัดพิกัด จี พี เอส ความแม่นยำสูง 3) การติดตามตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงน้ำพุร้อน น้ำบาดาลตามแนวรอยเลื่อน และ 4) การเฝ้าสังเกตการณ์พฤติกรรมสัตว์

    ผลการศึกษาวิจัยได้สรุปไว้ดังนี้ แผ่นดินไหวในอดีต ทั้งที่ดำเนินการเองและข้อมูลจากผลการดำเนินการโดยกรมทรัพยากรธรณีและส่วนอื่น ๆ พบว่า กลุ่มแผ่นดินไหวในอดีตของพื้นที่มีอายุค่อนข้างมาก อาจแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มแรกเกิดมากในช่วง 438,000 ปี – 1800,00 ปีที่แล้ว กลุ่มที่สอง ช่วง 70,000 ปี-22,200 ปีที่แล้ว และกลุ่มที่สามช่วง 90,000 ปี -2,000 ปีที่แล้ว โดยมีขนาดความรุนแรง 6.2, 6.4 และ 6.8 (แมกนิจูด) ตามลำดับ

    ซึ่งอาจแปลความหมายได้ว่า การที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดค่อนข้างรุนแรงในพื้นที่ ต้องใช้เวลาสะสมพลังงานเป็นเวลานานมาก สอดคล้องกับ (1) ข้อมูลการตรวจวัดหาอัตราการเคลื่อนตัวของแผ่นดินสองฝั่งรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และเจดีย์สามองค์ ที่พบว่ามีความแตกต่างกันน้อยมากระดับมิลลิเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับความคลาดเคลื่อนของเครื่องมือ

    (2) ข้อมูลแสดงอัตราการเคลื่อนตัวของแผ่นดิน ณ. จุดวัดค่าพิกัดดาวเทียม เป็นมิลลิเมตรต่อปี โดย วิธี SEAMERGES GPS (Simon, et al., 2007) ซึ่งพบว่า พื้นที่ภาคเหนือ และบริเวณแหลมไทยการเคลื่อนอยู่ระหว่าง 2 มิลลิเมตรต่อปี และ 2-3 มิลลิเมตรต่อปีตามลำดับ

    ส่วนบริเวณพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก การเคลื่อนตัวอยู่ที่ ประมาณ 1 มิลลิเมตรต่อปี (รูปที่ 3) และข้อมูลแสดงการเคลื่อนที่ของแผ่นดินย่านหิมาลัยและข้างเคียง โดยTectonics Observatory at Caltech แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ขณะที่อนุทวีปอินเดียยังคงถูกดันให้เคลื่อนไปทางทิศเหนือเฉียงตะวันออก ในอัตราประมาณ 3.5 เซนติเมตรต่อปี บริเวณตะวันตกและภาคกลางของไทยมีการเคลื่อนในระดับมิลลิเมตรต่อปีไปทางตะวันออก ส่วนภาคเหนือและแหลมไทยมีอัตราและทิศทางการเคลื่อนที่ซับซ้อนมากน้อยตามลำดับ ดาวน้ำเงินเป็นตำแหน่งที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด ที่เมืองเสฉวนเมื่อปี ค.ศ. 2551

    ผลการติดตามตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงน้ำพุร้อน น้ำบาดาล ตามแนวรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และเจดีย์สามองค์ ได้แก่ ระดับน้ำ อุณหภูมิ ค่าความเป็นกรดเบส และสมบัติทางกายภาพอื่นๆ ของบ่อบาดาล และบ่อน้ำผิวดินสังเกตการณ์ จำนวน 6 สถานี ตลอดระยะเวลาโครงการฯ และต่อมาอีกหลายปี ไม่พบค่าที่แสดงการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้อมูลแหล่งน้ำพุร้อนในประเทศไทยจำนวนกว่า 90 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ แหล่งน้ำพุร้อนข้างต้นทั้งหมดเกิดในบริเวณแนวรอยเลื่อนมีพลัง หรือมีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนมีพลังโดยตรง

    ซึ่งความร้อนใต้พิภพเคลื่อนขึ้นมาตามรอยแตกนั้นๆจากระดับลึก ข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิของน้ำพุร้อนที่ผิวดินในแต่ละภูมิภาคจากกรมทรัพยากรธรณี ได้แสดงความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ อุณหภูมิของน้ำพุร้อนส่วนใหญ่ในแหล่งภาคเหนือ และภาคใต้คือ 80-100 องศาเซลเซียส และ 60-79 องศาเซลเซียส ตามลำดับ ส่วนอุณหภูมิของน้ำพุร้อนในแหล่งภาคกลางและภาคตะวันตก ต่ำกว่ามากเพียง 37-59 องศาเซลเซียส

    เมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลความถี่และความรุนแรงของการเกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ลักษณะอุณหภูมิของน้ำพุร้อนที่ปรากฏแตกต่างเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจน ว่า รอยเลื่อนมีพลังซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดน้ำพุร้อนใน ภาคเหนือ และภาคใต้ มีการขยับตัวหรือไหวตัวของแผ่นดิน คือเกิดแผ่นดินไหวบ่อยกว่า และหรือรุนแรงกว่า รอยเลื่อนมีพลังที่รองรับอยู่ใต้น้ำพุร้อน ในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคกลางของประเทศ

    นอกจากนั้น จากการศึกษาวิเคราะห์แนวการวางตัวของแหล่งน้ำพุร้อนตามแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และตำแหน่งที่ปรากฏความร้อนสูงผิดปรกติใต้พิภพในอ่าวไทย ยังพบว่าแนวการวางตัวของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์พาดผ่านบ้านเขาหลาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ก่อนลงอ่าวไทย

    และจุดแรกที่ต่อเนื่องยาวลงไปในอ่าวไทยนั้น มีลักษณะเหลื่อมกันกับแนวจุดอื่น ๆ ที่อยู่ถัดลงไป ลักษณะเช่นนี้ชี้ชัดว่า ส่วนปลายของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ในอ่าวไทย ถูกตัดผ่านด้วยรอยเลื่อนระนองที่วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันตกเฉียงใต้ ทางธรณีวิทยาข้างต้น เป็นตัวกำหนดให้รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ไม่สามารถเคลื่อนตัวในแนวราบได้อย่างอิสระ

    รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) เป็นคุณต่อเขตทวาย และภาคตะวันตกของไทย รอยเลื่อนสะกายเป็นรอยเลื่อนเหลื่อมขวา (Right Lateral Fault) วางตัวในแนวประมาณ เหนือ – ใต้ ในทะเลอันดามัน อยู่ประมาณกึ่งกลางระหว่างแนวตะเข็บที่เกิดจากการมุดตัวของแผ่นธรณีอินเดียใต้แผ่นธรณียูเรเซีย และเทือกเขาตะนาวศรี โดยรอยเลื่อนสะกายและแนวตะเข็บฯอยู่ห่างจากจังหวัดกาญจนบุรีไปทางทิศตะวันตกประมาณ 250-300 กิโลเมตร และ 550-600 กิโลเมตร ตามลำดับ

    แผ่นดินไหวรุนแรงและรุนแรงมากๆขนาด 7-9 แมกนิจูด ส่วนใหญ่จึงเกิดบริเวณระหว่างแนวตะเข็บดังกล่าวและรอยเลื่อนสะกาย หรือบริเวณซีกตะวันตกของรอยเลื่อนสะกาย โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ติดกับเขตทวายในเมียนมา (รูปที่ 7 & 8) เนื่องจากระนาบรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing fault plane) ในบริเวณนั้นเอียงเทไปทางทิศตะวันตก คลื่นแผ่นดินไหวจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเฉพาะในซีกตะวันตกของรอยเลื่อนสะกาย จึงถูกลดทอนความรุนแรงและถูกเบี่ยงเบนไปมาก ก่อนข้ามโซนรอยเลื่อนสะกายเข้าสู่เขตทวาย และประเทศไทย

    ระนาบรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing fault plane) ส่วนเหนือของอ่าวเมาะตะมะ ได้ถูกเปลี่ยนความลาดเอียงให้อยู่ในแนวดิ่ง รายงานการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศเมียนมาได้จากบันทึกการซ่อมเจดีย์เมืองพุกาม จำนวน 34 ครั้ง (ช่วง 2127 ปี ระหว่าง 197 ก่อน ค.ศ.-ค.ศ.1930) จากเมืองมัณฑะเลย์ เขาสกาย และอินวา จำนวน 19 ครั้ง (ช่วง527 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1429-1956) และจากเครื่องบันทึกแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี ค.ศ.1906 จำนวน 18 ครั้ง (ช่วง 97 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1906-2003)

    เห็นได้ชัดเจนว่า ส่วนต่อของรอยเลื่อนสะกายในแผ่นดิน ได้ก่อให้เกิดพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวสูงสุดในเมียนมา อย่างกว้างขวาง โดยได้จัดให้เขตทวายที่อยู่ติดกับกาญจนบุรีไปทางตะวันตกเป็นพื้นที่ๆมีความเสี่ยงต่อพิบัติภัยแผ่นดินไหวต่ำสุดของประเทศ หรือ Seismic low zone คือ zone I (รูปที่ ๙)
    สรุป

    ความตั้งใจในการนำเสนอข้อมูลทั้งหมดข้างต้น ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะเชิญชวนให้ท่านเชื่อ แต่ประสงค์ให้ท่านได้พิจารณาไตรตรองตามหลักกาลามสูตร ในส่วนของผมแล้ว ขอสรุปว่า สำหรับประเทศไทย ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคกลาง มีความเสี่ยงต่อพิบัติภัยแผ่นดินไหวน้อยลงเป็นลำดับ

    และในส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น ข้อน่าห่วงใยคือ ชั้นดินอ่อนหนาที่เรียกว่าชั้นดินกรุงเทพ ซึ่งเกิดจากสะสมตะกอนดินเลนบริเวณชายฝั่งทะเลในช่วงประมาณ 6,000 ถึง ประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว ซึ่งชายฝั่งทะเลโบราณนี้ทอดยาวถึงปทุมธานี อยุธยา และดอนตูม บางเลน จังหวัดนครปฐม ในด้านตะวันตก รวมถึงชั้นตะกอนน้ำพาที่ปิดทับ อาจขยายคลื่นพื้นผิวที่เกิดขึ้น

    กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการออกกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทาน คงทนของอาคารและพื้นดินที่รับรองอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับให้การก่อสร้างอาคาร บางประเภทที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวต้องออกแบบและก่อสร้างให้สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือน จากแผ่นดินไหวได้
    8b4e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b984e0b8abe0b8a7-e0b884e0b8a7-1.jpg
    8b4e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b984e0b8abe0b8a7-e0b884e0b8a7-2.jpg
    8b4e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b984e0b8abe0b8a7-e0b884e0b8a7-3.jpg
    8b4e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b984e0b8abe0b8a7-e0b884e0b8a7-4.jpg
    8b4e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b984e0b8abe0b8a7-e0b884e0b8a7-5.jpg
    8b4e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b984e0b8abe0b8a7-e0b884e0b8a7-6.jpg
    8b4e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b984e0b8abe0b8a7-e0b884e0b8a7-7.jpg
    8b4e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b984e0b8abe0b8a7-e0b884e0b8a7-8.jpg

    ขอบคุณที่มา
    https://mgronline.com/local/detail/9620000006269
     

แชร์หน้านี้

Loading...