เรื่องเด่น คำสอนหลวงพ่อเรื่อง “โลกธรรม ๘ ประการ”(หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ)

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย อกาลิโก!, 8 กันยายน 2017.

  1. อกาลิโก!

    อกาลิโก! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    609
    กระทู้เรื่องเด่น:
    531
    ค่าพลัง:
    +3,731
    หลวงพ่อ007-4 พลังจิต.jpg

    คำสอนหลวงพ่อเรื่อง “โลกธรรม ๘ ประการ”..


    .. เมื่อทรงความดีตามนี้ได้แล้ว หลังจากนี้ไปก็พิจารณาตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “จงอย่าติดในโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ”

    คืออย่าหวั่นไหว ให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่าคนก็ดี สัตว์ก็ดี ที่เกิดมาในโลกนี้ แม้แต่วัตถุธาตุที่ไร้วิญญาณ รูปปั้นที่ไร้วิญญาณก็ต้องกระทบกระทั่งกับอาการของโลกธรรม ๘ ประการ คือเขาไม่กระทบแต่โลกธรรมเข้าไปกระทบเอง

    “โลกธรรม ๘ ประการ” คือ
    ๑.”ได้ลาภ”
    ๒.”เสื่อมลาภ”

    ทีนี้คนก็ดี สัตว์ก็ดี ก็ต้องมีการหวังได้ ถ้าเราไม่ได้เราก็อดตาย ก็มีความจำเป็นจะต้องทำ จะต้องแสวงหาก็ขอให้แสวงหาด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่อง อย่าคดอย่าโกง อย่าลักอย่าขโมย อย่ายื้ออย่าแย่งของของเขา

    ชีวิตของเราเลี้ยงไม่มากมันก็ทรงตัวแล้วต่อไปมันก็ต้องตาย ต่อมาได้ลาภแล้ว ความเสื่อมลาภก็ต้องสลายมีขึ้นอีก เพราะลาภที่ได้มาเราได้มาเพื่อใช้สอย ฉะนั้นเราก็ต้องมั่นใจว่าลาภที่เราได้มานี่มันก็ต้องหมดไปวันหนึ่งข้างหน้า

    รวมความว่าได้ลาภมาแล้วอย่าดีใจเกินไป อย่าลืมตัวคิดว่าทรัพย์สมบัติส่วนนี้จะอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัย ถ้าลาภสลายตัวไปเราก็ไม่เสียใจ เพราะทราบอยู่แล้วว่าจำเป็นต้องใช้โลกธรรมคู่ที่ ๑ จำไว้ให้ดีว่าอย่าดีใจเมื่อได้ลาภ อย่าเสียใจเมื่อลาภหมด ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

    ๓.”การได้ยศ”
    ๔.”การเสื่อมยศ”

    ซึ่งการที่ได้ยศถาบรรดาศักดิ์ แล้วยศถาบรรดาศักดิ์เสื่อมไป อันนี้ก็เป็นของปกติเหมือนกัน ถ้าเขายกย่องสรรเสริญเราได้ เขาก็ตบเราให้ตกลงได้เหมือนกัน เขาชูเราได้ เขาก็เหวี่ยงเราลงได้ อย่าไปสนใจกับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

    เรื่องยศถาบรรดาศักดิ์อย่าสนใจให้มากเกินไป ท่านให้เรารับ แล้วเราก็คิดอยู่เสมอว่าท่านให้เราได้ ท่านก็ถอดถอนเราได้หรือเอาคืนได้เหมือนกัน ท่านให้มาเราพอใจ ท่านดึงเอากลับไป เราไม่เสียใจ ทำใจให้ปกติ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

    คนมียศถาบรรดาศักดิ์ขนาดไหนก็แก่ก็ตายเหมือนกัน คนไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ก็แก่ตายเหมือนกัน ความสุขหรือความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ว่ามียศหรือว่าไม่มียศ มันอยู่ที่ความฉลาดหรือสกปรก

    ทีนี้ถ้าเราไม่เกาะติดในยศ ไม่เสียใจเมื่อยศหมดไปก็ชื่อว่าเป็นคนฉลาด หัวโขนเขาครอบให้เมื่อไหร่ก็ได้ และเขาจะโยนทิ้งจากหัวเราไปเมื่อไหร่ก็ได้เป็นเรื่องของเขา เราก็สบายใจ

    ทำจิตให้เป็น “อุเบกขา” คือวางเฉยจากอารมณ์ทั้ง ๒ อย่าง คือได้ยศมาก็เฉย ไม่กระโดดโลดเต้น ยศหมดไปก็เฉยไม่กระโดดโลดเต้น จิตก็เป็นสุข

    ๕.”นินทา”
    ๖.”สรรเสริญ”

    ต่อไปก็คู่นินทากับสรรเสริญ นินทากับสรรเสริญนี่อย่าว่าแต่คนที่มีชีวิตหรือสัตว์ที่มีชีวิตเลยที่ถูกนินทาหรือถูกสรรเสริญแม้แต่รูปปั้นวัตถุธาตุต่างๆ ที่ไม่มีจิตใจ ก็ยังถูกนินทาและรับการสรรเสริญ

    รวมความว่าคนในโลกนี้เราหาคนดีจริงๆ ยาก คนดีจริงๆ ก็ได้แก่พระอรหันต์ เราหายากหน่อย

    ฉะนั้นคนในโลกนี้คนที่มีกิเลสมีมากกว่าคนที่หมดกิเลส เราต้องรักษากำลังใจไว้ให้เป็นปกติ เพราะเรารู้ตัวอยู่เสมอว่า เวลานี้เราอยู่กับคนที่มีกิเลส

    “กิเลสคือความสกปรกของจิต” เมื่อจิตสกปรก ปากของเขาก็สกปรกด้วย มือเท้าหรือร่างกายของเขาก็สกปรกด้วย ในเมื่อเราอยู่กับสิ่งสกปรกเราก็ต้องระมัดระวังอย่าตกใจเมื่อความสกปรกมันเข้ามาถึง

    ถ้าความสกปรกเข้ามาถึงคือการนินทาก็ดี การสรรเสริญก็ดี ให้เราทำใจวางเฉย เหมือนกับเราอยู่กลางแจ้ง แดดออกก็ยอมรับความร้อนถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ฝนตกก็ยอมรับความเย็นถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

    แต่ให้ถือว่าเราจะไม่ดีหรือไม่ชั่วเพราะความร้อนหรือความเย็น เราจะดีจะชั่วจะมีความเป็นสุขหรือไม่เป็นสุข อยู่ที่ผลของการปฏิบัติข้อนี้ฉันใด แม้คำนินทาและสรรเสริญก็เช่นเดียวกัน

    ถ้าหากใครเขาสรรเสริญเรา เราก็วางคำสรรเสริญไว้ ทำท่าเหมือนดีใจ แต่เฉยๆ ใครเขานินทาเราก็อย่าสร้างความเดือดร้อน อย่าสร้างความสะเทือนใจ คิดว่าคนนินทาคนก็คือคนเลว คนสรรเสริญคนคือพูดไม่ตรงตามความเป็นจริงก็คือคนเลว

    ในเมื่อความเลวเราไม่ต้องการเราก็ไม่ติดในคำนินทาและสรรเสริญ วางเฉยเสียทั้ง ๒ อย่าง ถือคติที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “นินทาและสรรเสริญ เป็นธรรมดาของชาวโลก”

    เขาชมเราว่าดี ถ้าเราเลว เราก็ไม่ดีไปตามคำเขาพูด ถ้าเราดี แต่เขาติเราว่าเลว เราก็ไม่เลวไปตามคำเขาพูด ก็รวมความว่าเราจะดีหรือเราจะเลวก็อยู่ที่ผลของการปฎิบัติ

    ย้อนหลังเข้าไปบรรดาท่านพุทธบริษัท อารมณ์ที่ทรงสะเก็ดของความดี อารมณ์ที่ทรงเปลือกของความดี เรามีครบถ้วนไหม อารมณ์ที่ทรงกระพี้ของความดีคือ “ปุพเพนิวาสานุสสติญาณคือการระลึกชาติ” เราทำไว้เสมอ คล่องตัวหรือเปล่า

    แก่นของความดีที่พระพุทธเจ้าสอนนั่นก็คือ “ทิพพจักขุญาณ” หรือ “จุตูปปาตญาณ”ที่ท่านตรัสไว้ใน “อุทุมพริกสูตร” เราทำคล่องตัวหรือเปล่า

    หลังจากนั้น “จงเอาใจของทุกท่านไปตั้งไว้ที่นิพพาน” คือใช้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ทำจิตโดยนิยมคือขึ้นชื่อว่ามนุสสโลกเป็นทุกข์เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก มีแต่ความวุ่นวาย เทวดา
    หรือพรหมมีสุขชั่วคราว อยู่ได้ไม่นานเท่าไหร่ก็ต้องเสด็จกลับ

    “ความสุขจริงๆ อยู่ที่นิพพาน”

    หลังจากนั้นก็ตั้งใจไว้ว่าขึ้นชื่อว่าการเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เป็นเทวดาก็ดี เป็นพรหมก็ดี จะไม่มีสำหรับเรา แล้วพยายามลิดรอนโลภะ ความโลภ ด้วยการให้ทานด้วย“จาคานุสสติกรรมฐาน”

    ลิดรอนความโกรธด้วย “พรหมวิหาร ๔”

    ลิดรอนความหลงด้วยจิตใจดี “เข้าใจตามความเป็นจริง” ตามที่กล่าวเมื่อกี้นี้ คือ“ไม่ติดในมนุสสโลก เทวโลก และพรหมโลก”

    เอาละ..บรรดาท่านพุทธบริษัทเวลาที่จะพูดหมดแล้ว ต่อนี้ไปขอบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ให้ทำสมาธิหรือวิปัสสนาญาณตามกำลังของท่าน จนกว่าจะถึงเวลาที่สมควรและการเจริญสมาธิของท่านในตอนนี้ท่านจะนั่งจะนอนจะยืนจะเดินก็ได้ตามอัธยาศัย เพราะปฎิบัติในที่ของตน เอาละ..บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ สวัสดี ..

    (พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน)
    ที่มาจาก.. ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๔๒๙ หน้าที่ ๒๗-๓๐



    ที่มา คำสอนหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง
     

แชร์หน้านี้

Loading...