จาคานุสสติ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 15 พฤศจิกายน 2011.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,077
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,669
    จาคานุสสติ


    เทศน์ ณ วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย


    วันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๒



    วันนี้จะเทศนาเรื่อง จาคานุสสติให้ฟัง



    จาคานุสสติ
    ในที่นี้ท่านให้ระลึกถึง จาคะ การสละของๆ ตนเป็นอารมณ์ เพื่อให้จิตสงบนั่นเอง ถ้าหากไม่มีสติมันก็ไม่เป็นภาวนา ต้องมีสติจึงจะเป็นภาวนาคือ ระลึกได้ในทานที่เราสละไปตั้งนานแล้ว เมื่อมาระลึกถึงก็เกิดความปลื้มปีติขึ้นมา ทำให้จิตสงบได้ อันนั้นแหละ เป็นจาคานุสสติ



    เราทำบุญทำทาน การกุศล สิ่งใด มากหรือน้อยไม่เป็นปัญหา มันอยู่ที่อนุสสติ อนุสสติมีมากมันก็สงบมาก อนุสสติไม่มีหรือมีน้อย ก็สงบน้อยหรือไม่สงบเลย



    การที่จะให้มีสติระลึกได้นั้น มันยากอยู่เหมือนกัน ต้องอาศัยปัญญาอีกด้วย ถ้าไม่เกิดปัญญา มันก็ไม่มีอนุสสติ และก็ไม่ระลึกถึงด้วย มันต้องเสาะแสวงหาถึงเรื่องจาคะ การบริจาคของเรา เช่น วัตถุทานสิ่งใดที่เราให้ท่านไปแล้วนั้น อย่าเป็นเพียงแต่ว่าให้เฉยๆ ต้องคิดถึงคุณค่า ประโยชน์ในวัตถุทานด้วยว่า วัตถุทานเราได้มาโดยชอบหรือไม่ เราหามาได้โดยง่ายหรือยาก



    โดยทั่วไปแล้ว การทำทานที่จะให้ได้รับผลโดยสมบูรณ์นั้นต้องครบอาการ ๓ คือ ประกอบด้วยการมีศรัทธา มีวัตถุทาน และมีผู้รับทาน



    บางทีการที่เราจะทำทานมันก็ยากอยู่ มีศรัทธา มีวัตถุทาน แต่ปฏิคาหกผู้รับทานนั้นขาดไป บางทีมีวัตถุทาน แต่ไม่มีเจตนาที่จะทำทาน มันก็ขาดไปเหมือนกัน ต้องมีวัตถุทานด้วย มีเจตนาด้วย แล้วก็มีผู้รับทานด้วยถึงจะพร้อมอาการ ๓ แต่ว่าการที่จะมีผู้รับทานนั้น คนที่รับทานนั้น สมควรแก่ทานของเราหรือไม่ นั่นเป็นข้อสำคัญอีกเหมือนกัน



    อนึ่ง ท่านให้คิดถึงประโยชน์ของทานวัตถุ ส่วนที่เราสละไป เช่น สร้างกุฏิ วิหาร หรือศาลา ตัวอย่างเช่น ศาลาหลังนี้แหละ เราสร้างไว้เพียง ๑๐๐ บาท ๑,๐๐๐ บาท เท่านั้นเอง แต่ได้ใช้ประโยชน์มากมายตั้งหลายสิบปี ถ้าเราไม่ลงทุนสร้าง หรือไม่มีศรัทธาสร้างแล้วก็จะไม่ได้นั่งทำความสงบ และไม่ได้นั่งสบายอย่างนี้ จะต้องตากแดดตากฝน ดังนั้นวัตถุที่เราทานไปจึงเป็นของมีค่ามาก หากเราจะไปซื้อวัตถุสิ่งใด เป็นอาหารการกินการบริโภคของเราด้วยเงินร้อยบาท ไม่กี่วันก็หมดไป อันนี้เรามาทำบุญมาจาคะให้เป็นวัตถุถาวร แต่ไม่ใช่เราคนเดียว บุคคลอื่นๆ อีกหลายๆ คนมาจากจตุรทิศทั้งสี่ก็ได้มาพึ่งพาอาศัย ได้มาอยู่เย็นเป็นสุข



    นอกจากผู้ที่มาพึ่งพาอาศัย นอกจากพระเจ้าพระสงฆ์แล้ว ยังมีผู้ที่มาทำความเพียรภาวนา ฝึกฝนอบรมจิตใจจนได้ผลผลิตสงบเยือกเย็น อันนี้อานิสงส์มากที่สุด หากคิดอย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ จึงค่อยเกิดปิติเรียกว่า อนุสสติ คือ มีสติระลึกได้นั่นเอง



    คราวนี้มาพูดถึงเรื่อง จาคะ ด้านภาวนาดูบ้าง เมื่อพูดถึงด้านภาวนากันแล้ว จะเห็นว่า จาคะ เป็นเรื่องของภาวนาโดยแท้ ท่านเรียกว่าเป็น อนุสสติภาวนา อย่างหนึ่ง



    ในขณะที่เรานั่งภาวนา เราจะเอาอะไรมาเป็นทานวัตถุ นอกจากอารมณ์ที่เกิดจากใจเท่านั้น และการภาวนาก็ไม่ให้ส่งจิตออกไปภายนอก ให้กำหนดจิตนิ่งแน่วอยู่ในที่เดียว เมื่ออารมณ์อันใดเกิดขึ้นมาที่ใจ ก็ให้สละจาคะออกไปเสีย นี่แหละจึงจะเป็น จาคะอันแท้จริง



    เกี่ยวกับ ทาน ท่านพูดไว้เป็นหลายนัย ฟังให้ดี ทานํ เทติ เทติ ก็คือเทให้นั่นเอง เทของอยู่ในกระจาด หรืออยู่ในภาชนะต่างๆ ทานํ คือ ทาน แปลว่า การให้ เราให้คนอื่นไปเรียกว่า ทาน ดังนั้น ทานํ เทติ จึงเป็นทานวัตถุโดยเฉพาะ แต่ในที่นี้ท่านบอกให้ จาคะ ท่านไม่ได้บอก ทานํ เทติ จาคะของภายในใจ



    ของที่เราจะจาคะมีมากมายเหลือเกิน เช่น โลภ โกรธ หลง ล้วนแต่เป็นสิ่งที่น่าจาคะทั้งนั้น จาคะ หมายความว่า สละ
    เข้ากับศัพท์บาลีที่ท่านว่า จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย



    จาโค ปฏินิสฺสคฺโค
    สละคืนของเดิมไป



    มุตฺติ อนาลโย
    ไม่มีอาลัยในสิ่งที่จาคะแล้ว



    ลองพิจารณาดูว่า จาคะตรงนั้นจะจาคะอะไร ก็จาคะสิ่งที่มีอยู่ที่ใจของเรานั่นเอง ใจมันผูกพันในสิ่งใด สละให้ไป จะเป็นวัตถุสิ่งของก็ได้ จะเป็นอารมณ์ต่างๆ ก็ได้ จาคะได้ทั้งนั้นแหละ มีเยอะแยะอยู่ในตัวของเรา ทานตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตายก็ไม่มีที่สิ้นสุด



    เราเป็นคนมี เป็นคนรวย มีสารพัดวัตถุทั้งปวงหมดในตัวของเรานี้ ท่านจัดไว้เป็นพวกใหญ่ๆ ๓ อย่าง นั่นคือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือราคะ โทสะ โมหะ มี ๓ อย่างเท่านี้แหละ แต่สละไม่หมดสักที



    ทีนี้เรามาฝึกหัดค่อย จาคะ ทีละนิดละหน่อย เช่น เรามาอยู่วัดมันคิดถึงบ้าน มีความกังวลเกี่ยวข้องพัวพันต่างๆ ก็ค่อยๆ จาคะไป คิดถึงลูกหลานก็ค่อยจาคะไป ความรัก ความชัง ความเกลียด ความโกรธค่อยจาคะไป จาคะไปทีละเล็กทีละน้อย มันก็ค่อยหมดไป แต่พวกเราไม่ยอมจาคะกัน เราทั้งหลายจึงพากันเป็นคนมี เป็นคนรวยสารพัด ทุกอย่างมีในตัวของเรานี้หมด จึงสอนให้พากัน จาคะ เสียให้เป็นอนุสสติ ระลึกถึงสิ่งที่มีมากอยู่ภายในใจของตนนี่แหละ แล้วก็จาคะสละไป



    บางคนอาจสงสัยว่าจาคะให้ใคร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย คืนของเก่าไปแล้ว ก็ไม่มีอาลัยอีก ดังเทศนาให้ฟังมาแล้ว ทุกสิ่งเป็นของเก่าทั้งหมด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรัก ความชัง มันเป็นของเก่าทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัตถุ มันเป็นนามธรรม คราวนี้ใครเล่าจะเป็นผู้รับเอา ก็นามธรรมนั่นแหละมารับเอาไป บุคคลใดยังถือว่าเราว่าเขาอยู่ บุคคลนั้นก็รับเอาไปครองไว้ในจิตของตน พระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกของพระองค์ ท่านสละทิ้งไว้ในโลกนี้แล้วเข้าสู่พระนิพพาน มนุษย์ปุถุชนคนเราเกิดขึ้นมาภายหลัง เห็นว่าเป็นของดี พากันกอบเอาโกยเอามาเป็นของตนๆ จึงน่าสลดสังเวชคนเราแท้



    กิเลสทั้งหลายเกิดอยู่ในหมู่ปุถุชนอย่างนั้นแหละ เมื่อไม่มีเหตุมากระทบก็ดูเหมือนว่ามันไม่มี แต่เมื่อมีเหตุกระทบเข้าปับ มันจะพุ่งขึ้นมาทันที เปรียบเหมือนตะกอนนอนอยู่ก้นตุ่ม น้ำใสๆ ที่เราเห็นอยู่นั้นเปรียบได้กับจิตที่ไม่กังวลเกี่ยวข้อง ครั้นพอถูกกระทบเข้าปับเข้า คราวนี้แหละขุ่นขึ้นมาทันที จึงว่า ทำให้มันมากเจริญให้มันยิ่ง จึงจะเป็นไปเพื่อความรู้ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อพระนิพพาน



    นี่แหละ ไม่ใช่อื่นไม่ใช่ไกลอะไร นิพพานอยู่ตรงนี้ ตรง จาคะ นี่แหละ สิ่งสำหรับ จาคะ ก็ไม่ต้องไปหาที่อื่นไกล มีอยู่ในตัวของเราแล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง มีอยู่ในตัวของเราทั้งหมด เราพากันพยายาม จาคะ ตรงนี้ล่ะ สละจาคะคืนเดิมไปเสีย ไม่มีอาลัยมันก็หมดเรื่อง



    จึงว่า อุตส่าห์พยายาม ให้เห็น ให้รู้จัก ตัวของเรา ทุกคนพยายาม ตรวจดูตัวของตน ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเกิดที่ตัวของเรา ครั้นถ้าเราไม่เห็นตัวของเราแล้ว เราก็ไม่เห็น ความโลภ ความโกรธ ความหลง แท้ที่จริงจิตใจของเราเป็นของใสสะอาดบริสุทธิ์ แต่เราไปยึดเอาความโลภ ความโกรธ ความหลง มาใส่มันก็เลยขุ่นมัวไปหมด


    ถ้าหากใจเป็นของไม่ใสสะอาดแต่เดิมแล้ว พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายจะทำให้บริสุทธิ์ได้อย่างไร ต้องเป็นของใสสะอาดอยู่แต่เดิมล่ะซี ท่านจึงสามารถทำความบริสุทธิ์ให้กับใจได้ โดยที่ท่านชำระส่วนปลีกย่อยที่มันลอยขึ้นมาติดอยู่ที่เปลือก เปลือกคือ อายตนะทั้งหกของท่าน ซึ่งเป็นของบริสุทธิ์แต่เดิม


    พิจารณาดูเถิดที่เราชำระอยู่นี้ ล้วนแล้วแต่เป็นของเก่าทั้งนั้น


    ความโลภ ที่เราอยากได้นั่น แล้วอยากได้นี่ไม่มีที่สิ้นสุดก็เป็นของเก่า มันใช้ให้เรา และคนอื่นๆทะเยอทะยาน ดิ้นรน กระเสือกกระสน อยากได้ไม่พอสักที


    ความโกรธ ก็เป็นของเก่า มันทำให้เราและคนอื่นๆ ตกนรกทั้งเป็น หัวโขนหัวนี้ใครสวมเข้าแล้วทำหน้าตาให้เป็นยักษ์เป็นมารเหมือนกันหมดแต่ไหน แต่ไรมาเป็นเช่นเดียวกันนี้ทั้งนั้น


    ความหลง ก็เช่นเดียวกันเป็นของเก่า เมื่อความหลงเกิดในบุคคลใดแล้ว จะทำให้บุคคลนั้นไม่รู้จักผิดจักถูก เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิดไปหมด


    เมื่อเราไม่โลภมันก็เฉยๆ เมื่อเราไม่โกรธมันก็เฉยๆ เมื่อเราไม่หลงมันก็เฉยๆ คราวนี้เมื่อไปโลภ ไปโกรธ ไปหลงขึ้นมา มันก็มีอยู่ในตัวของเรานั่นเอง มันไม่หมดไม่สิ้นกันสักที กิเลสเหล่านี้ไม่ตายไปจากโลกสักที มีโลกเมื่อไรมันก็เกิดมาเมื่อนั้น


    ตามสำนวนคำพูดที่ท่านว่า พระพุทธเจ้าทรงทำลายกิเลสให้สิ้นไป ทรงทำลายกิเลสให้หมดไป คือ พระองค์ทรงชำระพระทัยของพระองค์เอง กิเลสไม่ได้หมดไปไหน มันก็อยู่อย่างนั้แหละ แต่ทรงชำระพระทัยของพระองค์ให้บริสุทธิ์ต่างหาก คนใดยังเกิดมาอยู่ คนใดยังหลงมัวเมาอยู่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ไปหุ้มห่อคนนั้นเอง ส่วนพระองค์นั้นพ้นไปแล้ว ของเหล่านี้จึงว่าเป็นของเก่า


    ถ้าเราพิจารณาดู รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะว่าเป็นของเก่า ความโลภ ความโกรธ ความหลงทิฐิมานะว่าเป็นของเก่า เป็นของมีมาแต่ไหนแต่ไรอยู่ในโลกนี้แล้ว เมื่อโลภ โกรธ หลงเกิดขึ้น ก็จะเห็นว่าของเหล่านี้ท่านใช้มาแล้วทั้งนั้น ทุกกาลทุกสมัย มิใช่ของเพิ่งเกิดในตัวของเรา แต่เรามาใช้ของเก่าที่ท่านใช้ ที่ท่านทิ้งแล้ว เหมือนกับเขฬะที่ท่านบ้วนทิ้ง ฉะนั้นเพราะฉะนั้น ขอทุกคนจงภาวนากำหนดพิจารณา จาคานุสสตโดยนัยที่อธิบายมานี้ เอวํ


    นั่งสมาธิ


    ท่านอาจารย์อบรมนำก่อน


    คนเรานับแต่เกิดมา ไม่มีการเสียสละสักที ของภายในก็เป็นของหนักอยู่แล้ว ยังไม่พอ ยังต้องไปยึดของภายนอกอีก พระพุทธเจ้าทรงเทศนาว่า


    <table border="0" width="100%"> <tbody><tr bgcolor="#ffffff"> <td width="47%"> ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา </td> <td width="53%"> ขันธ์ห้านี้เป็นของหนักแล</td> </tr> <tr bgcolor="#ffffff"> <td height="42"> ภารหาโร จ ปุคฺคโล
    </td> <td>แต่บุคคลก็ยังไปแบกเอาเป็น</td> </tr> <tr bgcolor="#ffffff"> <td height="42">
    </td> <td>ภาระอยู่
    </td> </tr> <tr bgcolor="#ffffff"> <td height="38"> ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก</td> <td>ผู้นำภาระทั้งหลายเหล่านี้ เป็นทุกข์
    </td> </tr> <tr bgcolor="#ffffff"> <td>
    </td> <td>ในโลก </td> </tr> <tr bgcolor="#ffffff"> <td> ภารานิกฺเขปนํ สุขํ</td> <td>ทิ้งภาระอันนั้นเสียแล้วเป็นสุข </td> </tr> <tr bgcolor="#ffffff"> <td> นิกฺขิปิตฺวา ครุ ํ ภารํ </td> <td>เมื่อปล่อยวางภาระหนักได้แล้ว</td> </tr> <tr bgcolor="#ffffff"> <td>
    อญฺญํ ภารํ อนาทิย
    </td> <td>และไม่ยึดถือเอาภาระอย่างอื่นอีก</td> </tr> <tr bgcolor="#ffffff"> <td>
    </td> <td>จึงจะพ้นทุกข์ในโลกนี้ </td> </tr> <tr bgcolor="#ffffff"> <td>
    </td> <td>ไม่มีทุกข์อื่นอีกต่อไป</td> </tr> </tbody></table>

    ขันธ์ห้า ได้แก่ รูป ๑ เวทนา ๑ สัญญา ๑ สังขาร ๑ วิญญาณ หรือเรียกย่อๆ ว่า รูป กับ นาม สิ่งที่เห็นด้วยตาเนื้อเรียกว่า รูป สิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ แต่มีความรู้สึก รู้ในใจ เรียกว่านาม


    โลก คือ ขันธ์ห้า อันนี้เรียกว่า ขันธโลก คนเกิดมาในโลกนี้จึงได้ ขันธโลก แล้วจะให้ทิ้งอย่างไร ถ้าทิ้งมันก็ยังอยู่อย่างเดิม แม้เมื่อตายไปทิ้งรูปแล้ว แต่จิตก็ยังถือว่ามีรูปอยู่ ส่วนอีก ๔ อย่างคือ เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ นั้น ไม่ต้องพูดถึง ต้องมีอยู่ดีๆ นั่นเอง


    พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปล่อยวาง เพราะรูปเป็นของไม่ใช่ของเรา เราจะไปยึดถือว่าเป็นของเราก็ไม่ได้อะไร มันหากเป็นอยู่อย่างนั้นมีหน้าที่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดาของมัน เราจะไปยึดไปถือก็เท่านั้น ไม่ยึดไม่ถือก็เท่านั้น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ทำนองเดียวกัน


    ขันธ์ห้าของเราทำไมจึงต้องทิ้ง ทำไมจึงต้องละ เพราะทิ้งหรือไม่ทิ้งก็ต้องละอยู่แล้ว เช่น เมื่อเราตาย ขันธ์ห้า คือ รูป ต้องทิ้งหมด เอาไปด้วยก็ไม่ได้ เวทนา มันก็เป็นของหนักหน่วง สัญญา สังขาร มันเป็นของหนักหน่วงที่สุด ถ้าไปเอาสัญญา ความจดจำนั่นนี่ เอาสังขาร ความปรุง ความแต่ง เอา วิญญาณ ความรู้สึกมาไว้ในตัวของเราแล้ว มันหนักที่สุด บางคนหนักจนเป็นโรคประสาทเป็นบ้าเสียจนตายก็มี


    ดังนั้นการนำ ขันธ์ห้า นี้ไปจึงเป็นการหนัก พระอริยสงฆ์สาวกหรือพระพุทธเจ้าท่านปล่อยวาง ขันธ์ห้า หมดแล้วสบาย โล่งอก โล่งใจ ไม่มีกังวลเกี่ยวข้อง ไปที่ไหนๆ ก็ไม่มีกังวลเกี่ยวข้อง ถึงมีขันธ์อยู่พระองค์ก็ทิ้งขันธ์ไม่ยึดถือ ถึงสังขารของพระองค์ยังไม่ดับแตก พระองค์ก็ไม่มีพันธะอะไรทั้งหมด ทิ้งหมด


    หากจะมีคนถามว่า ทำไมจึงต้องฉันอาหารอยู่ ต้องตอบว่าเป็นไปตามสังขาร เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องเป็นไปตามเรื่อง เป็นสักแต่ว่ากิริยา ไม่ใช่ทำกันจริงๆ จังๆ ทำสักแต่ว่าทำ เป็นกิริยาเท่านั้น


    พระพุทธเจ้าท่านทรงปฏิบัติแล้วมีความเบา มีความปลอดโปร่งแล้วจึงทรงสอนให้พวกเราทำตาม เพื่อจะได้เบาอย่างพระองค์ ผู้จะเห็นด้วยในเรื่องเหล่านี้ มีน้อยนักน้อยหนา การปล่อยวางมันยากที่สุด เพราะเป็นแต่ชื่อ ไม่มีตนไม่มีตัว พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกของพระองค์ท่านปล่อยวางได้แล้ว ท่านจึงสอนให้ปล่อยวางเสีย


    การถือ ขันธ์ห้า มันเป็นทุกข์ บางคนถือจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ นอนหลับไปแล้วผวาตื่นตกใจก็มี เพราะความถือมันมีมานานแล้วจนเคยชิน บางคนภาวนาจิตรวมลงว่างโล่งไปหมด กลับตื่นผวาตกใจกลัวตายก็มี เพราะปล่อยแล้วมันว่างไม่มีที่พึ่ง


    คนเราตั้งแต่เกิดมาไม่เคยปล่อยวาง มีแต่ยึดถือเอาทั้งนั้น ไม่ว่าของนอกกายหรือในกาย พอมาภาวนาจิตรวมเข้าเป็นภวังค์ ถึงซึ่งจิตดวงเดิม ไม่ยึดถืออะไรทั้งหมดเลยกลัวตาย


    ความจริงมันไม่ว่างหมดหรอก ตัวผู้กลัวมันยังปรากฏอยู่ ถ้าไม่มีผู้กลัวความตายก็จะไม่ปรากฏ ผู้ภาวนาไม่รู้จักจับเอาตัวผู้กลัว นั้นต่างหาก ถ้าจับเอาผู้กลัวนั้นได้แล้ว ความกลัวก็จะหายไป จิตก็จะตั้งมั่นเข้าไปอีก


    นี่คือ จาคานุสสติ ระลึกถึงการสละปล่อยวางจนจิตว่างโล่งหมด ไม่มีอะไรให้ยึดถือ เป็นจาคานุสสติที่แท้จริง


    เมื่อจิตสละปล่อยวางยังไม่ถึงขั้นนั้น ก็ขอให้ตั้งสติกำหนดระลึกเอา จาคะ เป็นอารมณ์ ขณะที่ระลึกถึง จาคะ อยู่นั้น อย่าได้ระลึกถึง จาคะอย่างเดียว ให้กำหนดเอา ผู้ระลึก นั้นด้วย เมื่อจับ ผู้ระลึกได้ จาคะ ก็หายไป จิตก็เป็นอันเดียว ลงมือทำสมาธิได้


    คัดลอกจาก www.thewayofdhamma.org/topic/top_49.html
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 พฤศจิกายน 2011
  2. amarpinky

    amarpinky เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    423
    ค่าพลัง:
    +522

แชร์หน้านี้

Loading...