จิตตนคร นครหลวงของโลก

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย สันโดษ, 17 พฤศจิกายน 2008.

  1. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    บทพระนิพนธ์ในองค์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

    [คัดลอกจากหนังสือ "จิตตนคร นครหลวงของโลก และแนวปฏิบัติในโพธิปักขิยธรรม ๓๗"
    (ปีพ.ศ. ๒๕๒๕)]

    ได้ทรงเรียบเรียงไว้สำหรับอ่านออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต
    ในรายการ "การบริหารทางจิต" เป็นประจำทุกเช้าวันอาทิตย์ ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ ถึง ๒๕๑๕






    <HR>






    <CENTER>[​IMG]</CENTER><CENTER>จิตตนคร นครหลวงของโลก [๐๕]</CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER> </CENTER>


    <CENTER>~ ๔๗ ~

    จิตตภาวนา</CENTER>


    ฝ่ายคู่บารมีของนครสามีก็มิใช่ว่าจะเฉยเมยทอดธุระปล่อยให้สมุทัยทำเอาข้างเดียว ได้พิจารณาว่าจะแก้ไขอย่างไรดี แม้จะมีพรรคพวกฝ่ายบารมี มีศีล หิริโอตตัปปะ เป็นต้น เข้ามาช่วยในจิตตนครบ้างแล้ว ก็ยังวางใจมิได้ เพราะนครสามียังรับไว้ใช้ทั้งสองฝ่าย บางทีก็แบ่งเขตกันในระหว่างหัวโจกสำคัญของสมุทัยคือโลโภ โทโส โมโห กับศีล หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น

    ก็ดูเหมือนกับบ้านเมืองทั่ว ๆ ไป ซึ่งวัดวาอารามก็สร้างกัน โรงฆ่าสัตว์ โรงสุรา ตลอดถึงโรงหนังโรงละครและสถานอบายมุขต่าง ๆ ก็สร้างกัน ศีลก็อยู่แต่ในวัด ออกนอกวัดก็เป็นถิ่นของโลโภ โทโส โมโห นักเลงหัวไม้ ถ้าไม่รีบปราบปรามสมุนสำคัญของสมุทัยที่เข้าไปแต่งอารมณ์ในจิตตนคร ก็น่ากลัวว่าวัดเองก็จะถูกพังทำลาย หรือถูกนักเลงหัวไม้เข้ายึด โดยขับไล่ศีลให้ออกไป ถ้าถึงขั้นนั้น ศีลเป็นต้น ก็จะต้องหนีออกไปจากจิตตนคร ฉะนั้น คู่บารมีจึงเข้าเฝ้ากราบทูลถามพระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมครูเจ้าได้ตรัสแนะนำวิธีแก้ไขด้วยวิธีที่เรียกว่า "จิตตภาวนา" โดยใช้นิมิตเครื่องกำหนดหลายอย่างกับโยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นคู่ปรับอโยนิโสมนสิการ คู่บารมีได้สดับพระบรมพุทโธวาท ก็มีความแช่มชื่น มองเห็นทางชนะ รีบปฏิบัติตามพระโอวาทแห่งพระบรมครูเจ้าทันที

    การทำจิตตภาวนา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าทำกรรมฐานนั้น เป็นทางแก้ไขความวุ่นวายในใจอย่างได้ผลควรแก่ความปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมระดับไหน ย่อมจะได้รับผลเป็นความสงบสุขของจิตใจระดับนั้น ผู้ปรารถนาความสงบสุขในจิตใจจึงควรได้รู้จักการทำจิตตภาวนา หรือทำกรรมฐานโดยทั่วกัน เพราะเป็นทางที่จะนำไปสู่ความสุขได้จริง








    <CENTER>[​IMG] [​IMG]</CENTER>
     
  2. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    <CENTER>~ ๔๘ ~

    อูฐผู้ก้าวหน้า</CENTER>


    องค์พระบรมครูตรัสแนะนำให้ใช้วิธีจิตตภาวนาที่แปลว่า "วิธีอบรมจิต" เพราะจำเป็นที่จะต้องชำระฟอกล้างฝึกข่มรักษาคุ้มครองป้องกันอย่างเต็มที่ จะทำกันอย่างเล่น ๆ ย่อหย่อนหาได้ไม่ ฝ่ายสมุทัยจะต้องระดมกำลังเต็มที่ยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อเห็นว่าฝ่ายคู่บารมีจะช่วงชิงอำนาจไปจากคน ถ้ายังไม่มีข้าศึกยกเข้ามาจากภายนอก หรือเกิดขึ้นภายในเพื่อที่จะยึดอำนาจ สมุทัยก็คงปล่อยไว้อย่างหย่อน ๆ หรือดังที่เรียกว่า "ผูกไว้อย่างหย่อน ๆ" คล้ายกับผูกสัตว์เลี้ยงไว้ แต่โรยเชือกให้เดินออกไปกินหญ้าได้ไกล ๆ จนบางทีสัตว์เลี้ยงนั้นนึกว่ามิได้ถูกผูก จะเดินให้ไกลออกไปอีก แต่สุดเชือกที่โรยไว้เสียแล้ว เชือกก็จะกระตุกไว้มิให้ไป ถึงตอนนี้สัตว์ที่เลี้ยงไว้นั้นจึงจะรู้สึกตนว่าถูกผูกไว้หาได้เป็นอิสระไม่ ถ้าถอยกลับมาเดินไปมาอยู่ในระยะที่เชือกหย่อน ๆ ก็จะรู้สึกคล้ายกับว่าเป็นอิสระไม่ถูกผูก ในเวลาสถานการณ์เป็นปรกติ สมุทัยก็ผูกไว้ดังนี้ ปล่อยให้ไปมาได้จนคล้ายกับเป็นอิสระเสรี ไม่คิดที่จะสลัดเชือกออก

    สมุทัยมีวิธีมาก ใช้เล่ห์เหลี่ยมต่าง ๆ อย่างที่คนทั่วไปตามไม่ทัน ดูก็คล้าย ๆ กับที่มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ฉลาดในโลกใช้เล่ห์หลอกสัตว์เลี้ยง เช่นหญ้าสำหรับเลี้ยงม้าเป็นหญ้าแห้งม้าไม่ยอมกิน คนก็หาแว่นตาสีเขียวสวมให้ม้า ม้ามองเห็นหญ้าเป็นสีเขียวคิดว่าเป็นหญ้าสด ก็กินหญ้าแห้งนั้น คนเลี้ยงม้าก็สบายไม่ต้องหาหญ้าสดให้ม้า ชาวนาในประเทศที่ใช้อูฐชักน้ำจากบ่อน้ำให้ลงลำรางไปสู่นา เขาผูกอูฐเข้ากับหลักที่ปักไว้ตรงบ่อ แล้วผูกอูฐกับหลักนั้นให้มีระยะห่างจากบ่อตามสมควร แล้วให้อูฐเดินวนบ่อชักน้ำขึ้นมา แต่อูฐจะไม่ยอมเดินวน คนจึงใช้ผ้าผูกตาอูฐเสีย แล้วให้อูฐเดิน อูฐจึงยอมเดิน เพราะเข้าใจว่าเดินไปข้างหน้าเรื่อย หาได้เดินวนไม่ แต่ที่แท้ก็เดินวนรับใช้ชักน้ำให้ชาวนาอยู่นั่นเอง เช่นเดียวกับม้าสวมแว่น ก็กินหญ้าแห้งโดยคิดว่าเป็นหญ้าสดอยู่นั่นเอง อูฐก็เป็นสุขอยู่ในการเดินวน เพราะคิดว่าเดินไปข้างหน้าอยู่เรื่อย และม้าก็เป็นสุขอยู่ในการกินหญ้าแห้ง โดยคิดว่าเป็นหญ้าสดอยู่นั่นเอง

    อันที่จริง อูฐนับว่าเป็นสัตว์ที่มีความคิดที่เรียกว่า "ก้าวหน้า" เพราะไม่ยอมเดินวน ชอบเดินไปข้างหน้าเรื่อย แต่ก็เสียกลมนุษย์ คนทั้งปวงของจิตตนครก็เป็นสุขอยู่กับการถูกผูกหย่อน ๆ อันที่จริงก็ต้องเดินวนอยู่ไปมาภายในระยะของเครื่องผูก ต้องบริโภคต้องใช้สิ่งที่ไม่ต่างจากหญ้าแห้ง จึงมีสถานการณ์ไม่ต่างกันไปมากนัก และสมุทัยจะไม่ว่ากระไรถ้าไม่คิดไม่ทำการสลัดออกไปจากอำนาจ คือถ้าไม่ก่อการล้มล้างอำนาจของสมุทัย ฝ่ายสมุทัยก็จะปล่อยไว้หย่อน ๆ คล้ายกับเป็นอิสระเสรีแล้ว

    ผู้ที่เคยเห็นอูฐเดินวนบ่อชักน้ำลงลำรางให้ชาวนา อาจจะขำหรืออาจจะสังเวช แต่สิ่งที่ควรจะรู้สึกที่สุดคือ ควรจะรู้สึกว่า สามัญชนก็มิได้ผิดจากอูฐในการถูกสมุทัยผูกให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะ ความทุกข์ที่อูฐได้รับในการถูกหลอกให้เดินวนอยู่เช่นนั้น เปรียบไม่ได้กับความทุกข์ที่ได้รับจากการถูกสมุทัยหลอกให้เวียนเกิดเวียนตายอยู่ตลอดเวลา อูฐนั้นไม่มีสติปัญญาความสามารถพอจะช่วยตัวเองให้ไม่ต้องเดินวนต่อไปได้ แต่มนุษย์สามารถช่วยตัวเองให้ไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในวัฏสงสารได้ เมื่อมนุษย์ยอมให้สมุทัยหลอกให้เดินวนเวียนอยู่โดยไม่คิดช่วยตัวเองให้พ้นจากอำนาจของสมุทัย มนุษย์จึงเป็นที่น่าสงสาร น่าสลดสังเวชยิ่งกว่าอูฐ และยิ่งกว่าม้าที่ถูกหลอกให้กินหญ้าแห้งมากมายนัก






    <CENTER>[​IMG] [​IMG]</CENTER>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 พฤศจิกายน 2008
  3. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    <CENTER>~ ๔๙ ~

    ปัญหา ๔ ข้อ
    </CENTER>


    อย่าว่าแต่อูฐ แม้ชาวจิตตนครเองซึ่งล้วนเป็นนักก้าวหน้า อันที่จริงก็ก้าวหน้าไปตามความอยาก คืออยากจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อยากจะเป็นนั่นเป็นนี่ อยากจะให้สิ่งที่ไม่ชอบหรือภาวะที่ไม่ชอบสิ้นไปหมดไป สิ่งที่อยากต่าง ๆ จึงเป็นจุดหมายสำหรับดำเนินไปหา การก้าวหน้าก็คือการตั้งหน้าก้าวไปสู่สิ่งที่อยากนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังน่าจะเรียกได้อีกว่าเป็นนักริเริ่ม คือริเริ่มความอยากหรือสิ่งที่อยากขึ้นใหม่อีก ถ้าจะถามว่าก้าวหน้าไปข้างไหน ก็คงจะตอบว่าไปสู่จุดหมายที่อยากนั่นแหละ ถ้าไปถึงจุดหมายที่หวังไว้สูงเร็ว ก็ชมกันว่าก้าวหน้าเร็ว ถ้าห้ามไม่ให้ตอบตามความอยาก ก็น่าจะพากันตอบได้ยากว่าจะไปข้างไหน นอกจากจะตอบว่า ก้าวหน้าไปสู่ที่สุดแห่งชีวิต ต่อจากนั้นก็ไม่รู้ว่าก้าวหน้าไปข้างไหน แม้แต่ก่อนชีวิตนี้ก็ไม่รู้อีกเหมือนกันว่ามาจากไหน รู้แต่ว่าจะต้องพบการจบชีวิตเป็นแน่แท้ ส่วนจะจบเมื่อไรก็หารู้ไม่ คู่บารมีเคยได้ฟังพระอาจารย์ศิษย์ขององค์พระบรมครู แสดงเรื่องบุตรีของนายช่างทอหูกคนหนึ่ง ในครั้งองค์พระบรมครูยังไม่เสด็จสู่มหาปรินิพพานธาตุ ว่าองค์พระบรมครูพุทธเจ้าได้ตรัสถามปัญหา ๔ ข้อ แก่บุตรีสาวของช่างทอหูก เธอได้กราบทูลตอบทั้ง ๔ ข้อ คำถามและคำตอบมีว่าดังนี้
    ๑ ถาม เจ้ามาจากไหน ตอบ ไม่ทราบพระเจ้าข้า
    ๒ ถาม เจ้าจักไปในที่ไหน ตอบ ไม่ทราบพระเจ้าข้า
    ๓ ถาม เจ้าไม่ทราบหรือ ตอบ ทราบพระเจ้าข้า
    ๔ ถาม เจ้าทราบหรือ ตอบ ไม่ทราบพระเจ้าข้า​
    ฝูงชนที่เฝ้าอยู่พากันยกโทษเด็กหญิงผู้นั้นว่ากราบทูลเหลาะแหละเหลวไหลกับพระพุทธเจ้า เป็นการไม่สมควร เมื่อตรัสถามว่ามาจากไหน ก็ควรจะกราบทูลว่ามาจากบ้านของตน เมื่อตรัสถามว่าจะไปไหน ก็ควรจะกราบทูลว่าจะไปโรงทอหูก องค์พระบรมครูทรงสดับเสียงอื้ออึงของมหาชน จึงตรัสขอให้สงบเสียง แล้วตรัสถามให้เด็กหญิงผู้นั้นอธิบายคำตอบ เด็กหญิงนั้นก็กราบทูลอธิบายว่า
    คำตอบที่ ๑ หมายความว่า ไม่ทราบว่ามาเกิดในชาตินี้จากที่ไหน
    คำตอบที่ ๒ ไม่ทราบว่าจุติคือเคลื่อนจากชาตินี้แล้ว จักไปเกิดในที่ไหน
    คำตอบที่ ๓ คือ ทราบว่าความตายจะมีแน่
    คำตอบที่ ๔ คือ ไม่ทราบว่าจะตายเมื่อไร​
    พระบรมครูประทานสาธุการ ทรงรับรองว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แล้วตรัสพระธรรมบทสั้น ๆ ว่า "โลกนี้มืด มีน้อยคนในโลกนี้จะมีปัญญาเห็นแจ้ง น้อยคนจะไปสวรรค์ นิพพาน เหมือนนกที่ติดข่าย น้อยตัวจะหลุดไปได้" เด็กหญิงผู้นั้นก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ออกจากที่เฝ้าถือกระเช้าด้ายไปให้บิดาที่โรงทอหูก บิดากำลังนั่งหลับอยู่ที่เครื่องทอหูก ผลักปลายกระสวยไปในความฝัน พอดีไปกระทบอุระของบุตรีเข้าโดยแรง เธอสิ้นชีวิตในขณะนั้น แต่เป็นผู้ที่องค์พระบรมครูได้โปรดแล้ว จึงมีคติดีเป็นที่แน่นอน พระบรมครูทรงมุ่งเสด็จไปโปรดเธอ เพราะเธอได้เจริญมรณสติมาถึงสามปีแล้ว ทรงทราบว่าเธอจะต้องตายในวันนั้นแน่ จึงเสด็จไปดักโปรดตรงทางที่เธอจะเดินผ่านไป และตรัสถามปัญหาในแนวปฏิบัติอยู่ของเธอ เธอจึงตอบได้ถูกต้อง ส่วนผู้อื่นมิได้ปฏิบัติ ก็ไม่รู้เรื่องอยู่เอง

    การเจริญมรณสติ หรือการมีสติระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เป็นหนทางเลิศหนทางหนึ่งที่จะยกจิตให้สูงขึ้นได้ พ้นจากความยึดมั่นผูกพันในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงได้ เมื่อมีสติระลึกไว้เสมอว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา วันหนึ่งเราจะต้องตาย เมื่อความตายมาถึง จะไม่มีผู้ใดติดตามไปเป็นเพื่อนเราได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่รักใคร่ห่วงใยเราเพียงไร จะไม่มีสมบัติใดที่เราจะนำติดตัวไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเพียงนิดน้อยเพียงไหนและไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราแสวงหามาสะสมไว้ด้วยความลำบากยากเข็ญเพียงไร เมื่อความตายมาถึง เราจะต้องละทุกคนทุกสิ่งไว้ในโลกนี้ เราจะต้องไปแต่ลำพังกับกรรมดีหรือกรรมชั่วที่เราทำไว้เท่านั้น ถ้าเราทำกรรมดีไว้ เราก็จะไปเป็นสุข สู่สุคติ ถ้าเราทำกรรมชั่วไว้ เราก็จะไปเป็นทุกข์ สู่ทุคติ พิจารณาเนือง ๆ ดังนี้ จะสามารถยังจิตให้เป็นอิสระ ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้โดยควรแก่ความปฏิบัติ ได้รับผลเป็นความสุข อันเป็นรสเลิศของความมีอิสระเสรี





    <CENTER>[​IMG] [​IMG]</CENTER>
     
  4. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    <CENTER>~ ๕๐ ~

    นครชายแดน</CENTER>


    จิตตภาวนา ที่องค์พระบรมครูตรัสแนะนำให้นำมาใช้แก้สถานการณ์ในจิตตนครนั้น คู่บารมีจำได้ขึ้นใจ ในพระพุทธพจน์ประกอบด้วยอุปมา มีใจความว่า มีนครชายแดนของพระราชา มีกำแพงและเสาระเนียดอันมั่นคง มี ๖ ประตู นายประตูของพระราชานั้นเป็นคนมีปัญญาเฉลียวฉลาด ห้ามคนที่ไม่รู้จักไม่ให้เข้า อนุญาตให้แต่คนที่รู้จักเข้าไปในเมืองนั้น ได้มีทูตด่วนคู่หนึ่งมาจากทิศตะวันออก คู่หนึ่งมาจากทิศตะวันตก คู่หนึ่งมาจากทิศเหนือ คู่หนึ่งมาจากทิศใต้ ถามนายประตูนั้นว่า เจ้าแห่งเมืองนี้อยู่ที่ไหน นายประตูก็ตอบว่า นครสามีคือเจ้าเมืองนั่งอยู่ที่ทางสี่แพร่งตรงกลางเมือง ทูตคู่นั้น ๆ จึงมอบยถาภูตพจน์ (คำตามที่เป็นจริง) แก่นครสามี ปฏิบัติตามมรรค (ทาง) ที่มาแล้ว

    อุปมานี้ผูกขึ้น เพื่อให้รู้ความดังนี้ คำว่า "นคร" นี้ เป็นชื่อของกายอันประกอบด้วยมหาภูตะ คือธาตุดินน้ำไฟลมทั้งสี่ ที่มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนม มีอันต้องอบนวด ต้องแตกทำลายเป็นธรรมดา คำว่า "มี ๖ ประตู" เป็นชื่อของอายตนะภายในทั้ง ๖ คำว่า "นายประตู" เป็นชื่อของสติ คำว่า "ทูตด่วนคู่หนึ่ง" เป็นชื่อแห่งสมถะและวิปัสสนา คำว่า "นครสามี" เป็นชื่อแห่งวิญญาณ คือจิต คำว่า "ทางสี่แพร่งตรงกลางเมือง" เป็นชื่อแห่งมหาภูตรูปทั้งสี่ คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม คำว่า "คำตามที่เป็นจริง" เป็นชื่อแห่งนิพพาน คำว่า "ทางตามที่มาแล้ว" เป็นชื่อมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีวิตชอบ) สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (ตั้งใจชอบ)

    คู่บารมีมีความรู้ในพระพุทธคุณซาบซึ้ง ว่าพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้จิตตนครโดยประจักษ์แจ้ง และได้ตระหนักแน่ว่าการที่จะแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายในจิตตนครให้ได้ผลดีที่แน่นอนนั้น มีอยู่วิธีเดียวคือตั้งสมถะและวิปัสสนาทั้งคู่นี้เป็นทูตเข้าไปแจ้งถ้อยคำตามที่เป็นจริงแก่นครสามี และการที่ทูตทั้งคู่นี้จะเข้าเมืองได้ ก็จำต้องมีสติเป็นนายประตูเมือง ถ้ามีผู้อื่นที่เป็นพรรคพวกของสมุทัยหรือคู่อาสวะเป็นนายประตู ก็จะต้องไม่ยอมให้ทูตทั้งคู่นี้เข้าไปแน่นอน ฉะนั้น ก็จะต้องหาทางให้สติได้มีหน้าที่เป็นนายประตูให้จงได้ก่อน วิธีดังนี้เองที่พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า จิตตภาวนา และทรงแนะให้ใช้นิมิต (เครื่องกำหนด) หลายอย่าง กับโยนิโสมนสิการ จะใช้กับใคร ก็ใช้กับนครสามีนั่นเอง พระพุทธองค์ต้องได้ตรัสรู้แล้วว่าใช้ได้ผลแน่ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ตรัสสอนให้ใช้ คู่บารมีจึงมีความเชื่อตั้งมั่นในองค์พระบรมครู รีบชักชวนโยนิโสมนสิการกับบรรดานิมิตที่ทรงแนะนำ ไปหานครสามีทันที

    จะเห็นได้ว่า จิตตภาวนาเป็นวิธีปฏิบัติที่ได้ผลแน่นอนในการแก้สถานการณ์วุ่นวายเลวร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นในจิตใจ พระพุทธองค์จึงทรงยกขึ้นมาตรัสแนะนำแก่คู่บารมี บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งนั้น ควรน้อมรับคำที่ทรงแนะนำมาปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความสงบสุขไม่มีความวุ่นวายในจิตใจ มากน้อยตามควรแก่ความปฏิบัติของตน ๆ






    <CENTER>[​IMG] [​IMG]</CENTER>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 พฤศจิกายน 2008
  5. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    <CENTER>~ ๕๑ ~

    โยนิโสมนสิการ อสุภนิมิต
    </CENTER>


    เมื่อคู่บารมีนำโยนิโสมนสิการและนิมิตต่าง ๆ เข้าเฝ้า ก็ยังไม่แน่ใจนักว่าจะผ่านประตูเมืองเข้าไปได้หรือไม่ แต่ก็นึกมั่นใจว่าฝ่ายของตนดำรงตำแหน่งนายประตู คือสติ และก็ได้พบสติเป็นนายประตูจริง ๆ สติเปิดประตูเมืองรับ คู่บารมีก็นำโยนิโสมนสิการและนิมิตต่าง ๆ เข้าพบนครสามีทันที ประจวบเวลาพอดีกับที่คู่อาสวะผละออกไป นับว่าเป็นเวลาปลอด นครสามีจึงต้อนรับคู่บารมีพร้อมกับคณะด้วยดี คู่บารมีได้แจ้งจำนงขอแสดงนิมิตต่าง ๆ ให้ดู และขอให้โยนิโสมนสิการเป็นผู้บรรยาย ดูก็น่าจะคล้ายกับขอฉายภาพยนตร์ให้ดู และให้โยนิโสมนสิการเป็นผู้แสดงพากย์ นครสามีก็ตกลง คู่บารมีก็แสดงนิมิตต่าง ๆ ดังนี้

    อสุภนิมิต นิมิตที่ไม่งาม เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนังของคนเป็นที่สกปรก แสดงให้เห็นเหมือนอย่างเห็นในภาพยนตร์ ให้เห็นถึงสีที่หมองคล้ำ ถึงทรวดทรงที่น่าเกลียด ถึงกลิ่นที่เหลือทน ถึงที่เกิดที่อยู่เกลือกกลั้วอยู่ด้วยสิ่งสกปรก แล้วแสดงของคนตาย พร้อมทั้งร่างกายที่เป็นศพทั้งหมดเป็นต้น โยนิโสมนสิการได้บรรยายประกอบภาพให้เห็นเป็นอสุภะจริงจัง และบรรยายให้ทุกคนรู้สึกว่า ผม ขน เป็นต้น รวมเข้าเป็นกายนี้ทั้งหมดของตน ก็เป็นเช่นนั้น ยังเป็นอยู่ก็น่ารังเกียจ ตายแล้วไม่ต้องพูดถึง ต้องเปื่อยเน่าน่ารังเกียจเต็มที่ โยนิโสมนสิการได้บรรยายให้เห็นว่า วัยที่ยังหนุ่มสาว ชีวิตที่รักษาร่างกายไว้มิให้เน่าเปื่อย เครื่องตบแต่งการตบแต่งต่าง ๆ เป็นเครื่องปกปิดเป็นเครื่องพราง มิให้เห็นความไม่สะอาดความปฏิกูลที่มีอยู่เป็นปรกติ เมื่อเพิกเอาเครื่องปกปิดออกเสีย ก็จะมองเห็นสิ่งปฏิกูลได้ชัดเจน แม้จะยังมีเครื่องปกปิด ก็ไม่อาจปิดบังสติปัญญาที่จะตรวจตราพิจารณาให้มองเห็นความจริงได้ ภาพอสุภะที่ปรากฏขึ้นนี้แหละ อสุภนิมิตทำให้กามฉันท์ซึ่งเป็นสมุนสำคัญของสมุทัยวิ่งหนีออกห่างไปทันที

    สติปัญญา จึงเป็นความสำคัญในการบริหารจิตยิ่งกว่าอะไรอื่นทั้งนั้น พยายามให้เผลอสติเผลอปัญญาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ การบริหารจิตก็จะได้ผลหนักแน่นมากมายพอสมควร การบริหารจิตได้ผลเพียงใด จะรู้ได้ที่ใจ ใจสงบสบายเพียงไหน ก็แสดงให้ปรากฏว่าการบริหารทางจิตให้ผลดีขึ้นเพียงนั้น เมื่อต้องการใจที่สงบสบายก็ต้องบริหารจิต





    <CENTER>[​IMG] [​IMG]</CENTER>
     
  6. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    <CENTER>~ ๕๒ ~

    เมตตาเจโตวิมุตติ</CENTER>


    ครั้นคู่บารมีแสดงอสุภนิมิต โดยมีโยนิโสมนสิการบรรยายประกอบพอสมควรแล้ว ก็แสดงนิมิตอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีคำเรียกว่า "เมตตาเจโตวิมุตติ" ซึ่งออกจะยาวและดูจะแปลกใหม่สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นต่อคำบาลี แต่ชื่อไม่สำคัญ ความสำคัญอยู่ที่ลักษณะหน้าตา ทั้งมีผู้บรรยายช่วยให้เข้าใจ ให้มองเห็นภาพประจักษ์

    นิมิตที่สองนี้มีลักษณะเป็นคนมีจิตใจดียิ้มแย้มแจ่มใส มองมาด้วยสายตาที่เป็นมิตรผู้มีความปรารถนาดีเต็มที่ ช่างคล้ายคลึงกับสายตาของมารดาบิดาผู้มีจิตใจเต็มเปี่ยมด้วยความรักมองไปยังบุตรธิดา หรือสายตาของบุตรธิดาเองผู้มีจิตใจเต็มเปี่ยมด้วยความเคารพรักมองดูมารดาบิดา สายตาของทั้งสองฝ่ายประสานกันด้วยความรักอันบริสุทธิ์ ประกอบด้วยความสุขอันอบอุ่น แสดงถึงจิตใจที่พ้นแล้วจากความขึ้งเคียดมุ่งร้ายแม้แต่น้อย แม้นครสามีก็ได้ซาบซึ้งถึงภาพนิมิตที่ปรากฏนั้น โยนิโสมนสิการจึงได้อธิบายประกอบอีก เป็นต้นว่า นั่นแหละที่เรียกว่า "เมตตาเจโตวิมุตติ" ซึ่งมีคำแปลว่า "ความหลุดพ้นแห่งใจด้วยเมตตา" หมายความว่า หลุดพ้นจากพยาบาทคือความคิดมุ่งร้ายด้วยอำนาจโทสะ เพราะเจริญเมตตาให้เกิดมีขึ้นในจิตใจ พยาบาทเป็นเครื่องเศร้าหมองทางจิตใจอย่างหนึ่ง มีขึ้นในเมื่อประสบอารมณ์คือเรื่องที่ไม่ชอบใจ เช่นมีใครมาทำร้ายด่าว่าให้เจ็บใจ จึงเกิดพยาบาทขึ้นคือเกิดความโกรธอย่างแรงจนถึงคิดมุ่งร้ายหมายให้เขาถึงความวิบัติอันตราย ก็ทำให้จิตใจเศร้าหมองเดือดร้อนเหมือนอย่างถูกไฟเผา แต่ก็สามารถหลุดพ้นจากพยาบาทดังกล่าวได้ด้วยอำนาจเมตตา

    อันเมตตานั้นคือความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข หรือความมีไมตรีจิตมิตรภาพ มีลักษณะตรงกันข้ามกับพยาบาท อันพยาบาทนั้นมุ่งร้ายหมายให้วิบัติ ส่วนเมตตามุ่งดีปรารถนาให้ประกอบด้วยสุขสมบัติ พยาบาทเป็นไฟเผาใจให้ร้อน เมตตาเป็นน้ำพรมใจให้เย็นเป็นสุข แต่เมตตาจะมีขึ้นในจิตใจได้ก็ต้องหัดปฏิบัติทำเมตตาภาวนา คืออบรมเมตตาให้มีขึ้น คือหัดแผ่ใจที่มีเมตตาออกไปแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเจาะจง หรือแผ่ออกไปโดยไม่เจาะจง โดยเจาะจงนั้น เช่นในบุคคลที่เป็นที่รัก เช่นในมารดาบิดาครูบาอาจารย์มิตรสหาย ในบุคคลที่เป็นปานกลาง ตลอดถึงในบุคคลที่เป็นศัตรูหรือที่ไม่ชอบพอกัน ท่านอาจารย์ผู้อธิบายพระพุทธวจนะอธิบายว่า ให้แผ่ไปในตนเองด้วยก่อน แล้วจึงแผ่ไปให้คนอื่นสัตว์อื่นด้วย สอนให้แผ่ไปในคนที่จะแผ่เมตตาออกไปง่ายก่อน เช่นในคนที่เป็นที่รัก แล้วจึงแผ่ไปในคนที่จะแผ่ยาก เช่นในศัตรู โดยไม่เจาะจงนั้นคือแผ่ไปในสรรพสัตว์ ไม่เลือกว่ามนุษย์หรือสัตว์ดิรัจฉาน หรือเทพดามารพรหมผู้ไหนองค์ไหน ตนไหนตัวไหน

    มิใช่แต่เมตตาข้อเดียว แผ่กรุณา ความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์ มุทิตา ความพลอยยินดีในความสุขความเจริญของผู้อื่น อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้ายในเมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติด้วยเพ่งพิจารณาถึงกรรมเป็นประมาณ เมื่อเมตตาเข้ามา พยาบาทสมุนของสมุทัยจะวิ่งหนีออกไปทันที จิตก็จะพ้นจากพยาบาทด้วยเมตตา นี้คือเมตตาเจโตวิมุตติ

    พยาบาทเป็นไฟเผาใจให้ร้อน เมตตาเป็นน้ำพรมใจให้เย็นเป็นสุข บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย ถ้าไม่ชอบให้ไฟเผาร้อน ก็ต้องพยายามอบรมเมตตาให้ยิ่งขึ้นเสมอไป จะได้มีใจเย็นเป็นสุขด้วยมีน้ำแห่งเมตตาพรมใจ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 พฤศจิกายน 2008
  7. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    <CENTER>[​IMG] [​IMG]</CENTER>




    <CENTER>~ ๕๓ ~

    อาโลกสัญญา</CENTER>


    ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ ดังนั้นเรื่องของใจคือเรื่องของจิตตนครจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกคน ควรที่ทุกคนจะได้ศึกษาให้เข้าใจแม้เพียงพอสมควร ได้กล่าวถึงเรื่องจิตตนครนี้ติดต่อกันมา และจะกล่าวต่อไป ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจพอสมควรดังกล่าวนั่นเอง

    นครสามีหรือเจ้าเมืองแห่งจิตตนครมีความโลเลไม่มั่นคง ฟังเสียงทั้งฝ่ายดีและฟังเสียงทั้งฝ่ายชั่ว คือฟังทั้งฝ่ายคู่บารมีและฟังทั้งฝ่ายคู่อาสวะ เป็นเหตุให้นครสามีปกครองจิตตนครให้ร่มเย็นเป็นสุขได้บ้าง ให้วุ่นวายเดือดร้อนไปบ้าง ฝ่ายคู่บารมีมีความมุ่งมั่นจะเอาชนะคู่อาสวะให้ได้ จึงนำคณะคือโยนิโสมนสิการกับนิมิตต่าง ๆ เข้าพบนครสามี ขอแสดงนิมิตต่าง ๆ โดยมีโยนิโสมนสิการเป็นผู้บรรยาย ได้เริ่มแสดงอสุภนิมิตเป็นประการแรก จนทำให้กามฉันท์สมุนสำคัญฝ่ายสมุทัยคือฝ่ายคู่อาสวะหนีไป แล้วจึงแสดงเมตตาเจโตวิมุตติ โดยมีโยนิโสมนสิการบรรยายอีกเช่นกัน ว่าเมื่อใดเมตตาเข้ามาสู่จิตตนคร เมื่อนั้นพยาบาทสมุนของสมุทัยก็จะวิ่งหนีออกไปทันที จิตจะพ้นจากพยาบาทด้วยเมตตา นี้คือเมตตาเจโตวิมุตติ

    อันชาวจิตตนครย่อมมีความเข้าใจภาษาทางจิตใจได้ดีกว่าชาวนครอื่น ๆ เป็นพิเศษ ฉะนั้น เมื่อได้เห็นภาพของคนมีจิตประกอบด้วยเมตตา ได้ฟังคำพากย์ประกอบเรื่องแห่งโยนิโสมนสิการ ก็เข้าใจความแห่งคำว่า "เมตตาเจโตวิมุตติ" แจ่มแจ้ง ว่าคือจิตพ้นจากพยาบาทด้วยเมตตา และวิธีแก้จิตให้พ้นจากพยาบาทก็ด้วยเมตตาภาวนา คือความอบรมเมตตา หรือที่เรียกว่า เมตตาผรณา แผ่เมตตา

    ครั้นคู่บารมีเห็นว่าควรจะแสดงต่อไปอีกได้แล้ว จึงแสดงนิมิตต่อไป คือฉายแสงสว่างโพลงขึ้น เป็นแสงที่ทำให้ตาสว่างใจสว่าง และแสดงภาพคนที่กระปรี้กระเปร่าเข้มแข็งไม่อ่อนแอ มีความเพียรเริ่มจับทำการงาน และมิใช่ทำ ๆ หยุด ๆ แต่ทำให้ติดต่อกันไป ทั้งให้ดำเนินก้าวหน้าไม่หยุดไม่ถอยหลังจนกว่าจะสำเร็จ ฝ่ายโยนิโสมนสิการก็แสดงพากย์ให้ได้ยินโดยชัดเจน ว่านี่แหละคือ "อาโลกะ แสงสว่าง" นี่แหละคือธาตุแท้แห่งความเพียร ซึ่งตรงกันข้ามกับลักษณะของลูกสมุนของสมุทัยผู้มีนามว่า ถีนมิทธะ คือความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

    นอกจากนี้ก็ได้เล่าถึงวิธีที่องค์พระบรมครูตรัสสอนพระโมคคัลลานะ สำหรับระงับความโงกง่วง มีใจความว่า ควรทำในใจถึงสัญญา (ข้อกำหนดใจพิจารณาหรือเพ่ง) ที่จะเป็นเหตุให้ความโงกง่วงครอบงำมิได้ หรือควรตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมที่ได้ฟังได้เรียนมาแล้วด้วยใจ หรือควรสาธยายธรรมที่ฟังที่เรียนแล้วโดยพิสดาร หรือควรยอนหูทั้งสองข้างและลูบตัวด้วยฝ่ามือ หรือควรลุกขึ้นยืน ลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาว หรือควรทำในใจถึงอาโลกสัญญา (ความสำคัญในแสงสว่าง) ตั้งความสำคัญว่ากลางวันไว้ในจิตให้เหมือนกันทั้งกลางวันกลางคืน มีใจเปิดเผยฉะนี้ ไม่มีอะไรห่อหุ้ม ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด หรือควรอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตใจไม่คิดไปภายนอก เมื่อปฏิบัติแก้ไปโดยลำดับดังนี้ ก็ยังละความง่วงไม่ได้ ก็ให้สำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้นไว้ในใจ พอตื่นแล้วก็ให้รีบลุกขึ้นด้วยความตั้งใจว่าจะไม่ประกอบสุขในการนอน จักไม่ประกอบสุขในการเอนข้างหลัง จักไม่ประกอบสุขในการเคลิ้มหลับ การปฏิบัติเพื่อแก้ความโงกง่วงทั้งปวงนี้ จำต้องใช้ความเพียรตั้งต้นแต่ต้องมีใจเข้มแข็งคิดเอาชนะความโงกง่วงให้จงได้ ปฏิบัติโดยลำดับ จนถึงทุกวิธีแล้วยังแก้ไม่ได้ ก็หมายความว่าร่างกายต้องการพักผ่อนจึงต้องให้พัก

    วิธีทั้งปวงนี้ สรุปเข้าในความทำใจให้สว่างหรือความเพียรกล้าแข็งก็ได้ เมื่อโยนิโสมนสิการกล่าวพากย์ไปดังนี้ ประกอบกับภาพของคนที่ปราศจากง่วงเหงาหาวนอนเพราะมีจิตใจสว่างแจ่มใส มีความเพียรแข็งแรง ไม่ท้อแท้อ่อนแอ สมุนของสมุทัยผู้มีนามว่า "ถีนมิทธะ" ก็หนีห่างออกไปทันที

    ความเพียรจริง ไม่ท้อแท้อ่อนแอ เป็นเหตุให้เกิดความสำเร็จได้ในทุกสิ่งทุกประการ ผู้มาบริหารจิตทั้งหลายควรเห็นค่าของความเพียร และเพิ่มพูนความเพียรในสิ่งที่ดีที่ชอบให้ยิ่งขึ้นเสมอไป ผลจะเป็นความสำเร็จในสิ่งที่ดีที่ชอบตามควรแก่ความปฏิบัติ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 พฤศจิกายน 2008
  8. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    <CENTER>[​IMG] [​IMG]</CENTER>




    <CENTER>~ ๕๔ ~

    อานาปานสติ</CENTER>


    คู่บารมีเห็นว่านครสามีไม่อิ่มไม่เบื่อต่อภาพและอธิบายภาพของโยนิโสมนสิการ และสังเกตเห็นได้ชัดว่ามีสีพักตร์แช่มชื่นแจ่มใส แสดงว่ามีจิตใจชื่นบานผ่องใส แต่ยังกระสับกระส่ายฟุ้งซ่านอยู่ เพราะมีเรื่องกังวลต่าง ๆ อยู่ในจิต คอยดึงจิตให้ฟุ้งออกไปคิดพะวงถึงอยู่เป็นระยะ ๆ แต่ก็เริ่มสงบสงัดจากกามคุณารมณ์และอกุศลธรรมทั้งหลาย จากพยาบาทมาดร้าย จากความง่วง ครั้นหายง่วงก็เริ่มคิดฟุ้งซ่านดังกล่าว คู่บารมีจึงแสดงภาพ "ความสงบใจ" ต่อไปอีกทันที

    เป็นภาพของลมหายใจที่มากระทบกับปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบนแล้วผ่านเข้าไปถึงหทัย และปรากฏอาการกระเพื่อมที่นาภี นี้เป็นลมขาเข้า แล้วแสดงภาพลมขาออก นาภีกระเพื่อม ลมจากหทัยมาออกที่ปลายจมูก ลมหายใจที่แสดงในภาพมองเห็นเป็นลำหรือเป็นเส้น คล้ายควันไฟที่ลอยเป็นลำหรือเส้นด้ายเข้าออก ๆ ต่อเนื่องกันไปไม่ขาดระยะ แต่ระยะเวลาของลมขาเข้าขาออกนั้น ๆ ยาวบ้าง สั้นบ้าง ต่างกัน คู่บารมีได้แสดงภาพของใจเป็นไฟพะเนียงที่พุ่งขึ้นจากกระบอกไฟพะเนียงขึ้นไปเป็นหลายสาย ฝ่ายโยสิโสมนสิการก็ได้แสดงพากย์ประกอบว่านั่นแหละใจ โดยปรกติเป็นอย่างไฟพะเนียงคือ ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ มากมาย หลายสายหลายเรื่องเหลือที่จะนับได้ เหมือนอย่างไฟพะเนียงที่พลุ่งขึ้นจากกระบอก เหลือที่จะนับเม็ดได้ว่าเท่าไรและกี่สาย ดูพลุ่งขึ้นไปพัลวันพัลเกสับสนไปหมด ถ้าเป็นไฟพะเนียงก็น่าดู แต่เมื่อเป็นใจ มีอาการที่พลุ่งพล่านเหมือนอย่างนั้นก็น่าเป็นบ้าตาย

    ครั้นแล้วคู่บารมีก็แสดงภาพของไฟพะเนียงที่สงบลงโดยลำดับ เพราะดินชนวนในกระบอกน้อยลงไป เมื่อหมดดินไฟก็มอดดับ โยนิโสมนสิการก็แสดงประกอบว่า ที่คนเราไม่พากันเป็นบ้าตายก็เพราะชนวนที่ทำให้ใจฟุ้งซ่านมีสิ้นไปหมดไปตามธรรมดาเป็นเรื่อง ๆ ไป ใจเมื่อฟุ้งขึ้นไปแล้วก็สงบเป็นเรื่อง ๆ เป็นระยะ ๆ ไป เหมือนไฟพะเนียงที่พลุ่งขึ้นแล้วก็ดับ เขาก็ใส่ดินชนวนเข้าใหม่และจุดอีกก็พลุ่งขึ้นอีก หมดดินก็ดับอีก จึงเป็นอันได้พักอยู่ในตัวเองเป็นระยะ ๆ ไปตามธรรมชาติธรรมดา แต่ก็ได้พักเป็นสุขอยู่ไม่นานก็ต้องพลุ่งขึ้นเป็นไฟพะเนียงไปใหม่อีก ถ้าดินชนวนแรงไป ไฟพลุ่งแรงไป กระบอกก็อาจแตกระเบิด ฉันใดก็ดี ถ้าเรื่องที่เป็นชนวนแรงไป ใจฟุ้งซ่านมากไป ก็อาจทำให้เป็นบ้าหรือเจ็บป่วยล้มตายลงได้ ดังที่มีตัวอย่างอยู่บ่อย ๆ

    ครั้นแล้วคู่บารมีได้แสดงภาพเป็นจุดไฟ ปรากฏขึ้นที่ลำหรือเส้นลมหายใจ ให้มองเห็นเป็นลำหรือเส้นไฟเข้าออก ๆ ดูคล้ายกับหายใจเป็นไฟเป็นลำเป็นเส้นเข้า ๆ ออก ๆ แล้วก็แสดงให้เหลืออยู่เพียงจุดไฟกลม ๆ เพียงจุดเดียวอยู่ที่ปลายจมูก แล้วก็ค่อยเลื่อนลงไปอยู่ที่หทัย บางคราวลองให้เลื่อนลงไปอยู่ที่นาภี แต่จุดไฟดวงเล็กนี้ต้องกระเพื่อมขึ้นลงเหมือนอย่างชิ้นไม้เล็ก ๆ ที่ลอยกระฉอกอยู่ในคลื่น จึงหลบขึ้นมาสว่างเป็นจุดอยู่ที่หทัยตรงกึ่งกลางอุระ ก็หายกระฉอก เป็นจุดไฟที่ตั้งสงบ โยนิโสมนสิการจึงอธิบายประกอบว่าจุดไฟนี้แหละคือใจ เมื่อมากำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจขาเข้าขาออก จนถึงมาตั้งกำหนดรู้อยู่เพียงจุดเดียวที่ปลายจมูกหรือที่อุระตามแต่จะสะดวก ใจก็จะสงบจากความฟุ้งซ่านรำคาญ นี้คือ "ความสงบใจ" เป็นเหตุให้อุทธัจจะกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ) หนีหายออกไปทันที

    ใจที่ไม่มีความฟุ้งซ่านรำคาญ เป็นใจที่มีความสงบสุข ทุกคนต้องการมีความสงบสุข แต่ทุกคนไม่ปฏิบัติเหตุให้เกิด "ความสงบใจ" คือไม่ฝึกหัดกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจดังกล่าว จึงไม่ค่อยได้มีความสงบใจ ไม่ค่อยได้มีความสงบสุข กำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเสมอ ๆ เมื่อไร เมื่อนั้นจะได้พบความสงบใจ เป็นความสุขสงบอย่างยิ่ง






    <CENTER>[​IMG] [​IMG]</CENTER>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 พฤศจิกายน 2008
  9. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    <CENTER>~ ๕๕ ~

    โยนิโสมนสิการ กุศล อกุศล</CENTER>


    ฝ่ายนครสามีผู้ครอบครองจิตตนครได้ค่อย ๆ มีจิตใจสงบจากความยินดียินร้าย มีจิตใจสว่าง เกิดความขะมักเขม้นไม่เฉื่อยชาเกียจคร้าน และได้พบความสงบใจอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน เป็นเหตุให้เกิดความชื่นชอบเลื่อมใสในองค์พระบรมครูพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระศาสดาแห่งคู่บารมี เพราะเท่ากับได้ประทานความสุขพิเศษทางจิตใจให้เกิดขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ สมาธินิมิตต่าง ๆ ที่คู่บารมีนำมาพร้อมกับโยนิโสมนสิการจากพุทธสำนักล้วนน่าดูน่าฟัง เมื่อดูและฟังแล้วใจสงบผ่องแผ้วมีสุข อยู่ห่างไกลจากพระองค์มากมาย ได้รับเพียงบางสิ่งที่ประทานมา ยังให้เกิดความสุขถึงเพียงนี้ หากได้ไปเฝ้าใกล้ชิดหรือเสด็จมาโปรดในที่เฉพาะหน้า จะได้รับความสุขสักเพียงไหน

    เมื่อคิดไปดังนี้ ก็พอดีเหลือบไปเห็นคู่อาสวะแอบโผล่หน้ามาดูแวบหนึ่ง จิตใจก็แวบออกไปถึงความสุขสนุกสนานต่าง ๆ ที่สมุทัยนำมาพร้อมกับสมุนทั้งปวง สมุทัยก็ได้สร้างสิ่งบันเทิงสุขให้เป็นอันมาก เป็นต้นว่าโรงหนังโรงละคร ได้ส่งอารมณ์เข้ามาแสดงเป็นภาพต่าง ๆ อย่างภาพยนตร์ มีคนพากย์ชื่อว่า "อโยนิโสมนสิการ" แสดงพากย์ประกอบไม่แพ้ผู้แสดงพากย์ของคู่บารมี เรียกร้องเสียงหัวเราะเฮฮาได้มากมายจากประชาชน ทำให้บ้านเมืองสนุกสนานไม่เงียบเหงา ส่วนวิธีของคู่บารมี รู้สึกว่าเงียบสงบไม่เอะอะ ทำให้บ้านเมืองเป็นเมืองเงียบสงบสงัด จึงเกิดมีความลังเลสงสัยขึ้นว่า จะเลือกเอาข้างไหน ข้างหนึ่งสนุกแต่ไม่สบาย อีกข้างหนึ่งสบายแต่ไม่สนุก ทั้งสองฝ่ายดูเหมือนจะมียิ่งหย่อนแตกต่างกันทำนองนี้ จะอย่างไรดี

    ครั้นคู่บารมีสังเกตเห็นนครสามีเกิดความลังเลดังนั้น ก็รีบแสดงภาพเปรียบเทียบระหว่างบุคคลสองฝ่าย คือกุศลกับอกุศลคู่หนึ่ง สิ่งมีโทษกับสิ่งไม่มีโทษคู่หนึ่ง สิ่งที่เลวกับสิ่งที่ประณีตคู่หนึ่ง สิ่งที่ดำกับสิ่งที่ขาวคู่หนึ่ง เปรียบเทียบกัน และโยนิโสมนสิการก็ได้แสดงพากย์อธิบายชี้แจงโดยชัดเจน ว่าอย่างนั้น ๆ แหละคือตัวอกุศล อย่างนั้น ๆ แหละคือกุศล เป็นต้น ครั้นนครสามีมองเห็นรู้จักหน้าตาของกุศลอกุศลเป็นต้น ก็เกิดความรู้ความเห็นขึ้นด้วยตนเองทันทีว่าพรรคพวกสมุทัยล้วนเป็นตัวอกุศล เป็นสิ่งที่มีโทษ เป็นสิ่งที่เลวและดำ ส่วนพรรคพวกคู่บารมีล้วนเป็นกุศล เป็นสิ่งที่ไม่มีโทษ เป็นสิ่งที่ประณีตคือดีและขาวสะอาด จึงมีจิตใจสิ้นสงสัยว่าฝ่ายไหนจะดีฝ่ายไหนจะเลว เกิดศรัทธาเลื่อมใสในองค์พระบรมครูยิ่งขึ้น ภาพเปรียบเทียบกับโยนิโสมนสิการผู้แสดงพากย์นี้ เป็นเหตุให้วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยไม่แน่นอน) หนีห่างออกไปทันที







    <CENTER>[​IMG] [​IMG]</CENTER>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 พฤศจิกายน 2008
  10. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    <CENTER>~ ๕๖ ~

    อุปมา ๕ ข้อ</CENTER>


    วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยไม่แน่นอน) หนีห่างออกไป เช่นเดียวกับที่กามฉันท์ (ความยินดีพอใจยินดีในกาม) พยาบาท (ความพยาบาทมุ่งร้าย) ถีนมิทธะ (ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม) และอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญ) ได้ถอยห่างออกไปก่อนแล้ว

    เมื่อนิวรณ์ทั้ง ๕ คือกามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ถอยห่างออกไป นครสามีก็มีหฤทัยปราศจากความยินดีในสิ่งล่อใจให้ยินดีทั้งหลาย มีจิตไม่มุ่งร้ายแต่มีเอ็นดูปรารถนาเกื้อกูลในสัตว์ทั้งปวง ไม่มีความง่วงเหงา มีใจสว่าง ประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะ ทั้งไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบในภายใน หมดความสงสัยลังเลใจแต่อย่างไรในกุศลธรรมทั้งปวง ฝ่ายคู่บารมีเห็นเป็นต่อ จึงฉายภาพเปรียบเทียบ เพื่อฟอกจิตของนครสามีให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น คือ
    [​IMG]๑ เป็นภาพชายผู้หนึ่ง กู้หนี้เขามาประกอบการงาน การงานของเขาสำเร็จผลเป็นอย่างดี จึงใช้หนี้เก่าให้หมดสิ้นแล้ว ก็ยังเหลือเลี้ยงบำรุงครอบครัว เขารู้สึกตัวว่าหมดหนี้สิน ทั้งยังมีทรัพย์เหลือสำหรับจับจ่ายใช้สอย ก็ได้ความบันเทิงใจความโสมนัส
    [​IMG]๒ เป็นภาพชายผู้หนึ่งป่วยหนัก มีทุกขเวทนากล้า บริโภคไม่ได้ อ่อนระโหยโรยแรงจนจะสิ้นกำลังกาย แต่ได้หายป่วยในเวลาต่อมา กลับบริโภคอาหารได้ กำลังกายกลับคืนมา เขานึกถึงว่าเมื่อก่อนนี้ป่วยหนัก บัดนี้หายป่วยบริโภคได้กลับมีกำลังเป็นปรกติ ก็ได้ความบันเทิงใจความโสมนัส
    [​IMG]๓ เป็นภาพบุรุษผู้หนึ่ง ถูกจองจำในเรือนจำ ต่อมาพ้นจากเรือนจำโดยสวัสดีไม่มีภัย ทั้งโภคทรัพย์อะไรก็ไม่เสื่อมเสีย เขานึกถึงเรื่องที่ต้องถูกจองจำเรื่อยมาจนพ้นจากเรือนจำโดยสวัสดีไม่มีภัย ทั้งไม่ขัดสนจนทรัพย์ ก็ได้ความบันเทิงใจความโสมนัส
    [​IMG]๔ เป็นภาพบุรุษผู้หนึ่ง เป็นทาสของเขา ตนไม่เป็นใหญ่เป็นนายของตน ต้องมีคนอื่นเป็นใหญ่เป็นนาย จะไปข้างไหนตามปรารถนาต้องการหาได้ไม่ ต่อมาพ้นจากความเป็นทาส กลับเป็นใหญ่แก่ตน ไม่ต้องมีคนอื่นเป็นนาย ไปไหน ๆ ได้ตามปรารถนา เขาคิดขึ้นมาว่าเมื่อก่อนนี้ต้องเป็นทาสไม่เป็นอิสระแก่ตน บัดนี้พ้นจากความเป็นทาสเป็นอิสระแก่ตนขึ้นแล้ว ก็ได้ความบันเทิงใจความโสมนัส
    [​IMG]๕ เป็นภาพบุรุษผู้หนึ่งเป็นคนมีทรัพย์ เดินทางไกลที่กันดาร ได้เดินทางผ่านไปได้โดยสวัสดีไม่มีภัย ทรัพย์ก็ไม่เสียหาย เขาระลึกถึงเรื่องการเดินทางไกลที่กันดารซึ่งผ่านพ้นออกไปได้โดยสวัสดี ไม่มีภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ก็ได้ความบันเทิงใจความโสมนัส

    ฝ่ายโยนิโสมนสิการก็ได้แสดงพากย์ประกอบทันทีว่า นิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ก็เปรียบเหมือนความเป็นหนี้ ความเป็นโรค ความต้องขังในเรือนจำ ความเป็นทาส และการเดินทางกันดาร ส่วนความพ้นจากนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ก็เหมือนอย่างพ้นจากหนี้ พ้นจากโรค พ้นจากเรือนจำ พ้นจากความเป็นทาส มีความเป็นไทแก่ตน พ้นจากทางกันดาร บรรลุถึงภูมิประเทศอันเกษม






    <CENTER>[​IMG] [​IMG]</CENTER>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 พฤศจิกายน 2008
  11. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    <CENTER>~ ๕๗ ~

    สมุทัยซบเซา</CENTER>


    เมื่อนครสามีมองเห็นภาพดังกล่าวแล้วก็มองเห็นชัดเจนว่า จิตใจที่กลุ้มกลัดอยู่ด้วยนิวรณ์ทั้ง ๕ มีกามฉันท์เป็นต้น ก็เหมือนอย่างต้องเป็นหนี้เขาเป็นต้น ครั้นสงบเสียได้อย่างนี้ก็คล้ายกับพ้นหนี้ พ้นโทษ หายโรค เป็นไทแก่ตน ผ่านทางกันดารถึงแดนเกษมได้ เป็นสุขยิ่งนัก เกิดปิติปราโมทย์ คู่บารมีเห็นว่าสมควรจะปล่อยให้นครสามีพิจารณาทบทวนและพักสงบอยู่ตามลำพัง จึงหยุดแสดงภาพต่อไป และโยนิโสมนสิการก็หยุดพากย์ ปล่อยให้นครสามีอยู่ตามลำพัง ฝ่ายนครสามีก็ได้สงบเพ่งดูจิตที่สงบและความสุขอันประณีตที่เกิดจากความสงบ เกิดความรู้ผุดขึ้นเองว่า
    "สุขที่ยิ่งไปกว่าความสงบไม่มี
    ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพระเจ้าไม่มี พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพระเจ้า
    ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพระเจ้าไม่มี พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพระเจ้า
    ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า
    ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ตลอดชีวิต"
    ได้เกิดปิติปราโมทย์ซาบซ่านทั้งกายและใจ ได้สงบอยู่กับความสุขที่ประณีตอันไม่เคยได้พบมานี้เป็นเวลานาน แล้วก็เข้าที่พักหลับอย่างสนิท แต่ก่อนเคยปรึกษาเรื่องราวอะไรต่าง ๆ กับมโนบนเตียงผทม ไม่เป็นอันหลับนอนจริง ๆ มโนเสนอแฟ้มเอกสารที่บันทึกไว้ต่าง ๆ เพราะชอบเรียกมโนมาเสนอเรื่องต่าง ๆ ในเวลาที่ควรจะพักนอน มโนก็พลอยมิได้พักไปด้วย แต่ครั้งนี้หาได้เรียกมโนเข้ามาไม่ มโนก็พลอยได้พักผ่อนเป็นสุขไปด้วย

    ฝ่ายสมุทัยที่คอยเฝ้าสังเกตเหตุการณ์อยู่ ได้เห็นรูปการณ์แปรเปลี่ยนไปในทางเป็นประโยชน์แก่คู่ปรปักษ์ดังนั้น ก็เสียใจ นั่งเศร้าซบเซาอยู่ที่ทางสี่แพร่งจิตตนคร คู่อาสวะเที่ยวตามหา พบสมุทัยนั่งเศร้าเสียใจอยู่ดังนั้นก็ปลอบโยนว่า ทำไมจึงหลบมานั่งเสียใจอยู่ดังนี้ ไม่เป็นประโยชน์อะไร ความจริงคู่อาสวะกับสมุทัยได้ช่วยกันสะสมกำลังซ่อนอยู่อีกมากมาย คู่บารมีเพิ่งจะนำพรรคพวกเข้ามา คิดว่ากำลังไม่กล้าแข็งนัก แม้จะเข้าถึงจิตใจของนครสามี จนถึงเปลี่ยนใจของนครสามีให้หันไปนับถือพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระบรมครูของคู่บารมีกับพรรคพวกได้ แต่ฝ่ายเราก็มีอุบายและเหตุผลที่จะไปพูดหว่านล้อมชักนำใจของนครสามีให้กลับมาอีก ถ้ามานั่งเศร้าเสียดังนี้ ก็เท่ากับยอมแพ้เสียตั้งแต่ยังไม่ทันเห็นตัวศัตรูเหมือนอย่างที่เขาว่า ม้าได้กลิ่นเสือก็หมดเรี่ยวแรง ลงนอนรอให้เถือเสียแล้ว ฉะนั้น จงลุกขึ้นมาหารือกันถึงวิธีที่จะต่อสู้แก้ไขสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่นี้ สมุทัยฟังเตือนจึงได้ความคิด จึงได้หารือกับคู่อาสวะถึงวิธีที่จะต่อสู้ต่อไป

    จากที่กล่าวมานี้ มีอยู่อย่างหนึ่งที่พอจะทำให้เห็นได้ว่า อันความไม่ดีนั้นมีหลายแบบหลายอย่าง ทั้งอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้น คือทั้งอย่างแสดงตัวและทั้งอย่างปลอมแปลง ต้องใช้ปัญญาพิจารณาได้รอบคอบ ให้ดี จึงจะสามารถพาใจให้พ้นจากภัยของความชั่วร้ายได้พอสมควร การมาบริหารจิตก็คือการมาพยายามอบรมปัญญาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ชั่วให้เห็นว่าชั่ว ให้เห็นว่าควรละ ดีให้เห็นว่าดี ให้เห็นว่าควรอบรมเพิ่มพูน ทั้งนี้เพื่อให้ห่างจากความทุกข์ ความไม่สงบ ได้มีความสุข ความสงบ ตามควรแก่ความปฏิบัติ






    ข้อมูลจาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=mantras&month=12-11-2008&group=13&gblog=6
     
  12. jaeea

    jaeea สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    33
    ค่าพลัง:
    +22
    ขออนุโมทนาด้วยครับ

    ปล.คุณสันโดษน่ารักจัง
    คนมีธรรมน่ารักเสมอ
     

แชร์หน้านี้

Loading...